visa blog : สำหรับคนไทยค่ะ
  • Home
  • Blog

กฏเปลี่ยน 1 July 2021

2/7/2021

 
ไม่ทั้งหมด แต่สรุปมาให้เท่าที่สรุปได้นะคะ

  1. Partner visa ที่มีข่าวว่าสปอนเซอร์จะต้องยื่นใบสมัครและได้รับอนุมัติก่อน ผู้สมัครถึงจะยื่นใบสมัครวีซ่าได้ ณ ตอนนี้ (2 July 21 9pm) ยังไม่ปรับใช้นะคะ คาดว่าจะปรับใช้ในปีนี้แหละค่ะ (เมื่อไหร่ ยังไม่ได้ประกาศออกมา)
  2. ค่ายื่นวีซ่าหลายๆตัว (แต่ไม่ทุกตัว) ขึ้นราคา เช็คค่ายื่นกันที่นี่ค่ะ
  3. ค่ายื่น Citizenship application ก็ขึ้นราคา เช็คได้ที่นี่
  4. ค่ายื่นอุทธรณ์ Migration Review application ขึ้นราคา เป็น $3000
  5.  ค่าอุทธรณ์ Refugee Review application (Protection visa ด้วย) = $1846 (ชำระถ้าแพ้คดี)
  6. ค่าตรวจสุขภาพก็ขี้นราคาค่ะ เช็คได้ที่นี่
  7. ใบสมัคร Bridging visa E ยื่นผ่านอีเมล์ไม่ได้แล้วนะคะ เป็นทาง ImmiAccount หรือทางเมล์/courier เท่านั้น (คนเขียนเชื่อว่าประเด็นนี้ไม่กระทบน้องๆเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ก็ยื่นผ่าน ImmiAccount กัน จะมีก็ Professionals บางคน รวมถึงคนเขียนด้วย ที่บางทีก็ยื่นผ่านอีเมล์ด้วยเหตุผลทางเทคนิค)
  8. อาชีพยอดฮิต Chef ตอนนี้อยู่ใน Priority Migration Skilled Occupation List (PMSOL) ด้วย  อาชีพอยู่ใน PMSOL ดียังไง ดีเพราะ Nomination และวีซ่าแบบมีนายจ้างสปอนเซอร์จะได้รับการพิจารณาเร็ว (Priority Processing)

The Priority Migration Skilled Occupation List
ตอนนี้มี 41 อาชีพ (* คืออาชีพที่เพิ่มมาเมื่อ June 2021):


  • Chief Executive or Managing Director (111111)
  • Construction Project Manager (133111)
  • Accountant (General) (221111)*
  • Management Accountant (221112)*
  • Taxation Accountant (221113)*
  • External Auditor (221213)*
  • Internal Auditor (221214)*
  • Surveyor (232212)*
  • Cartographer (232213)*
  • Other Spatial Scientist (232214)*
  • Civil Engineer (233211)*
  • Geotechnical Engineer (233212)*
  • Structural Engineer (233214)*
  • Transport Engineer (233215)*
  • Electrical Engineer (233311)*
  • Mechanical Engineer (233512)
  • Mining Engineer (excluding Petroleum) (233611)*
  • Petroleum Engineer (233612)*
  • Medical Laboratory Scientist (234611)*
  • Veterinarian (234711)
  • Orthotist or Prosthetist (251912)*
  • General Practitioner (253111)
  • Resident Medical Officer (253112)
  • Psychiatrist (253411)
  • Medical Practitioners nec (253999)
  • Midwife (254111)
  • Registered Nurse (Aged Care) (254412)
  • Registered Nurse (Critical Care and Emergency) (254415)
  • Registered Nurse (Medical) (254418)
  • Registered Nurse (Mental Health) (254422)
  • Registered Nurse (Perioperative) (254423)
  • Registered Nurses nec (254499)
  • Multimedia Specialist (261211)*
  • Analyst Programmer (261311)*
  • Developer Programmer (261312)
  • Software Engineer (261313)
  • Software and Applications Programmers nec (261399)*
  • ICT Security Specialist (262112)*
  • Social Worker (272511)
  • Maintenance Planner (312911)
  • Chef (351311)*

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com


ยื่นอุทธรณ์ AAT ไม่ทันเวลา

28/11/2018

 
UPDATE: 14 December 2018

จากที่คนเขียนโพสไปเมื่อวันที่ 28 November ว่า "ยื่นอุทธรณ์ AAT ไม่ทันเวลา อาจจะยังมีหวัง" (อ่านเนื้อหาเดิมได้ด้านล่าง)

.... ปรากฏว่าเป็นความหวังที่สั้นมากค่ะ .... เพราะ the Federal Court (Full Court) ได้มีคำตัดสินกลับไปเป็นแนวทางแบบเดิมๆที่เคยเป็นมา คือ.... ยื่นอุทธรณ์ไม่ทันเวลา = No jurisdiction = AAT ไม่สามารถพิจารณาเคสได้

เราคงต้องมาดูกันต่อว่าจะมีการยื่นอุทธรณ์ไปถึง the High Court หรือไม่ และผลจะเป็นยังไง

ที่มา: Beni v Minister for Immigration and Border Protection [2018] FCAFC 228 (14 December 2018)


Original post: 28 November 2018

โพสนี้มาแบบสั้นๆ แต่สำคัญมากสำหรับอนาคตของใครหลายๆคน

ที่ผ่านๆมา หากมีการยื่นอุทธรณ์ที่ไป AAT เลยระยะเวลาที่กฏหมายกำหนดไว้ AAT จะถือว่าหน่วยงานไม่มีอำนาจในการพิจารณาเคส (No jurisdiction)

เมื่อวันที่ 19 November 2018 the Federal Court (single judge) ได้มีคำตัดสินว่า AAT สามารถพิจารณาใบสมัครอุทธรณ์ที่ยื่นไม่ทันเวลา (Out of time) ได้  ซึ่งคาดว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ใครหลายๆคนที่ยื่นอุทธรณ์ไม่ทันเวลา ไม่ว่าจะสำหรับคนที่พลาดไปแล้ว (แต่เจ้าตัวยังอยู่ในประเทศออสเตรเลีย) หรือคนที่อาจจะพลาดยื่นไม่ทันเวลาในอนาคต

แต่คำตัดสินนี้ ไม่ได้แปลว่าทุกคนเรื่อยๆเฉื่อยๆได้นะคะ ระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ก็เป็นอะไรที่เราต้องใส่ใจและพยายามยื่นให้ทันเวลา เพราะคำตัดสินนี้ ไม่ได้แปลว่า AAT จะต้องรับพิจารณาทุกเคสที่ยื่นไม่ทันเวลา (ไม่อย่างงั้นก็คงไม่ต้องมีระยะเวลาเลย) แต่แปลว่า AAT มีสิทธิ์พิจารณาเป็นเคสๆไปว่าเคสมีที่มาที่ไปยังไง มีเหตุผลน่าเห็นใจตรงไหน ถึงได้ยื่นไม่ทันเวลา และถ้าเห็นดีเห็นงาม ก็สามารถที่จะรับเรื่องไว้ได้ (ในอดีตคือไม่ต้องคิด ไม่ต้องพิจารณา เพราะถือว่า No jurisdiction ยังไงก็ไม่รับเรื่อง)

สำหรับใครที่งงๆว่าคำตัดสินของเคสนึง มาเกี่ยวอะไรกับเคสอื่นๆด้วย .... กฏหมายของออสเตรเลีย นอกจากยึดถือตัวบทกฏหมายแล้ว ยังถือว่าคำตัดสินของศาลเป็นบรรทัดฐาน เป็นแนวทางเอามาปรับใช้กับเคสอื่นที่มีลักษณะคล้ายๆกันด้วยค่ะ

ป.ล. ณ วันนี้ เคสนี้ถือเป็นบรรทัดฐาน แนวทางใหม่สำหรับ AAT .... แต่อนาคตไม่แน่นอนค่ะ ถ้าอิมมิเกรชั่นอุทธรณ์คำตัดสินนี้ และศาลที่สูงกว่าตัดสินเป็นอื่น บรรทัดฐาน แนวทางก็เปลี่ยนอีก หรืออิมมิเกรชั่นอาจจะมีการแก้กฏหมาย เพื่อให้ AAT ไม่สามารถพิจารณาเคสยื่นไม่ทันเวลาได้ (อะไรก็เกิดขึ้นได้)

กฏหมายอิมมิเกรชั่นเปลี่ยนกันอยู่เรื่อยๆค่ะ ตราบใดที่ยังไม่ได้ PR หรือเป็น Australian citizen ก็คงต้องติดตามและอัพเดทกฏหมายกันนะคะ

ที่มา: Brown v Minister for Home Affairs (No.2) [2018] FCA 1787 (19 November 2018)

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

AAT review application - Subclass 186 NOmination

15/11/2018

 
เคสที่คนเขียนจะแชร์วันนี้เป็นเคสมหาหิน และเป็นเคสที่ใช้ชั่วโมงการทำงานเยอะมากถึงมากที่สุด

ข้อคิดในเคสนี้อยู่ในเนื้อหา (ไม่มี ป.ล. 1, 2, 3, 4) หวังว่าน้องๆจะได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดในเคสนี้ และเอาไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์กับเคสตัวเองนะคะ 

โพสนี้แอดวานซ์นิดนึงนะคะ สำหรับคนที่พอมีความเข้าใจเงื่อนไขของวีซ่า 186 หรือ 187 มาบ้างแล้ว สำหรับมือใหม่ รบกวนตามอ่านลิงค์ที่ให้ไว้ตัวแดงๆในโพสนี้ก่อน จะได้พอเข้าใจว่าคนเขียนพูดถึงอะไร และสำคัญยังไง

คุณลูกความติดต่อมาขอคำแนะนำหลังจากอิมมิเกรชั่นปฏิเสธ Nomination สำหรับวีซ่า Subclass 186 แบบ Temporary Residence Transition Stream (TRT) ..... เหตุผลที่ปฏิเสธก็มี 2 ข้อด้วยกัน คือ

  • นายจ้างมีประวัติไม่ทำตามเงื่อนไขการเป็นสปอนเซอร์หลายข้อ เคยถูกปรับ เคยติดบาร์ห้ามสปอนเซอร์พนักงานเพิ่ม
  • เนื่องจากอิมมิเกรชั่นเจอว่าลูกจ้างทำหน้าที่อื่นนอกเหนือจากหน้าที่ของตำแหน่งที่ได้รับการสปอนเซอร์มา อิมมิเกรชั่นเลยตัดสินว่าลูกจ้างไม่ได้ทำงานในตำแหน่งที่จ้างครบ 2 ปี ในระหว่างที่ถือวีซ่า 457
(จริงๆแล้วเหตุผลการปฏิเสธคือข้อล่างเท่านั้น แต่ข้อบนเป็นที่มาที่ไปสำคัญของการถูกปฏิเสธ เพราะฉะนั้นจากคำตัดสิน เคสนี้มี 2 ประเด็น)

เท้าความข้อกฏหมายนิดนึง....... เคสนี้เข้ากฏเก่า (Transitional arrangements) ...... คือต้องทำงานในระหว่างถือวีซ่า 457 อย่างน้อย 2 ปี ถึงจะขอพีอาร์ได้ (กฏปัจจุบันคือต้องทำงานในวีซ่า 457 / TSS-482 อย่างน้อย 3 ปี ถึงจะขอพีอาร์ได้)

จากข้อมูลที่ลูกความให้มา คนเขียนคิดว่าเราน่าจะหาข้อโต้แย้งเหตุผลทั้ง 2 ข้อนี้ได้ (หมายถึงโต้แย้งกันทางข้อกฏหมายนะคะ ไม่ใช่โต้แย้งแบบตามใจฉัน)

เคสนี้จริงๆยื่นใหม่ได้ เพราะลูกความยังถือวีซ่า 457 อยู่อีกระยะใหญ่ แต่แนวโน้มที่จะถูกปฏิเสธอีกรอบก็มีสูง  และลูกความก็ยังไม่มีผลภาษาอังกฤษสำหรับกฏปัจจุบัน (เทียบเป็น IELTS ก็ 6 ทุกพาร์ท) ..... สรุปว่าเคสนี้การยื่นอุทธรณ์ดูแล้วจะเข้าท่าที่สุด (จริงๆยื่นอุทธรณ์ด้วย และเมื่อได้ผลภาษาอังกฤษก็ยื่นใหม่ด้วยก็ได้ แต่ลูกความไม่สน ไม่สอบ วัดใจกันไปเลยค่ะ ลุยทางเดียว บอกว่าถ้าไม่ชนะที่ชั้นอุทธรณ์ก็จะแพ๊คกระเป๋ากลับบ้าน .... คนเขียนแอบเครียดเลย กลัวครอบครัวนี้ต้องแพ๊คกระเป๋าจริงๆ)

ว่าแล้วลูกความก็เซ็นสัญญาให้คนเขียนดูแลเคสอุทธรณ์ .... และแล้วเซอร์ไพร์สก็มา ....... งานงอกแบบจริงๆจังๆ ไม่เคยมีเคสไหนงานงอกขนาดนี้

เบื้องลึกของเคส ..... ข้อมูลที่ไม่ได้ระบุในคำตัดสิน แต่เจอระหว่างทางคือ

  • ลูกความใช้วันลา (annual leave เพื่อกลับไทย) เกินไปเยอะมาก รวมระยะเวลาทำงานอยู่ในประเทศออสเตรเลียทั้งหมด (นับแล้วนับอีก นับไป 5-6 รอบ - wishful thinking) นับยังไงก็ได้ไม่ถึง 2 ปี ณ วันยื่น Nomination (ถามว่าทำไม๊ ทำไม ทำไปได้ไง รออีกนิดให้มันครบ 2 ปี++++ แล้วค่อยยื่นไม่ได้เหรอ วีซ่าเหลืออีกตั้งนาน จะรีบไปไหน - ไม่แอบเครียดแล้ว เครียดอย่างแรง)
  • รายละเอียด Leave period ที่ให้ไปที่ชั้นอิมมิเกรชั่นก็ไม่ถูกต้อง อิมมิเกรชั่นเช็คได้จาก Movement record (เครียดหนักเข้าไปอีก) - ลูกความบอกว่า honest mistake แต่ Tribunal อาจจะมองว่าโกหกก็ได้ เพราะ Leave period ที่ไม่ถูกต้องนับเวลาได้ครบ 2 ปี แต่พอเช็คจาก Movement record แล้ว กลับนับเวลาได้ไม่ถึง 2 ปี - เครียดไหมล่ะ เริ่มเห็น Credibility issue (ปัญหาความน่าเชื่อถือ) ที่ปลายขอบฟ้า
  • เอเจนต์เดิมเอาค่าเทรนนิ่ง (Training expenditure) ที่เกิดขึ้นก่อนที่นายจ้างจะได้เป็นสปอนเซอร์มานัวๆเป็นค่าเทรนนิ่งในระหว่างที่มีลูกจ้างถือ 457 (คือมันใช้ไม่ได้นะคะ)  -         ลูกความบอกว่าไม่รู้ ก็จ่ายตามที่เอเจนต์แนะนำให้จ่าย และอิมมิเกรชั่นก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องเทรนนิ่ง ก็แปลว่าไม่มีปัญหาสิ - คือจริงๆแล้ว
    • อิมมิเกรชั่นไม่จำเป็นต้องลิสทุกเหตุผลที่สามารถปฏิเสธได้ ลิสเหตุผลเดียวก็ปฏิเสธได้แล้วค่ะ
    • และถึงแม้อิมมิเกรชั่นจะนัวๆโอเคกับบางเรื่อง    Tribunal ไม่จำเป็นต้องนัวๆโอเคด้วยนะคะ เพราะการพิจารณา Nomination refusal outcome เป็นการพิจารณาใหม่หมดในทุกเงื่อนไขของ Nomination และต้องบอกว่า Tribunal แม่นข้อกฏหมายกว่าอิมมิเกรชั่นเยอะมาก ... ข้อดีคือเราคุยภาษาเดียวกัน (ภาษากฏหมาย) ข้อเสียคือถ้าหาข้อกฏหมายมาสนับสนุนข้อเท็จจริง (ที่ไม่ค่อยจะสวยหรู) ไม่ได้ เคสก็ Hopeless
  • สัญญาระบุให้จ่ายค่าจ้างทุกอาทิตย์ แต่จ่ายกันรายเดือนมั่ง รายสองอาทิตย์มั่ง ทุกวันที่ 15 มั่ง สรุปว่าผิดตั้งแต่ไม่ทำตามที่สัญญาระบุไว้ แถมยังนำเสนอว่ามีการจ่ายเงินครบถ้วนได้ยากมาก .... ทำยังไงดีล่ะ ...... ไม่นำเสนอ-เคสก็อาจจะไปไม่รอด นำเสนอ-เคสก็อาจจะดูไม่ดี (สรุปว่าต้องเลือกเอาระหว่างสถานการณ์ที่แย่กับแย่กว่า)

และบลา...บลา...บลา.... คือมีปัญหาอื่นอีกมากมาย เงื่อนไขการพิจารณา Nomination มีกี่ข้อ มีปัญหาเกือบทุกข้อ .....คนเขียนก็คิดไม่ถึงว่าสาระพันปัญหามันจะมารวมกันอยู่ในเคสๆเดียวนี้แหละ (ลูกความสามารถมาก) ปรากฏว่าอธิบายยังไงลูกความก็ไม่เข้าใจว่าเคสตัวเองอาการหนักมาก  Positive thinking สุดๆ (ซึ่งก็เข้าใจได้ คนส่วนใหญ่ก็คิดว่าเมื่อตัวเองคิดดีทำดี ก็ต้องได้ดี ทำผิดพลาดแบบไม่ตั้งใจก็พยายามแก้ไข ก็ต้องให้อภัยกันสิ ... ในความเป็นจริงกฏหมายอิมมิเกรชั่นโหดร้ายกว่านั้นนะคะ ........  บางครั้ง Tribunal ก็มองอีกมุม เช่นกฏหมายเป็นอะไรที่คุณต้องรู้ จะมาบอกไม่รู้ไม่ได้ ไม่อย่างงั้นทุกคนก็อ้างแบบนี้ ก็ได้วีซ่ากันหมดสิ ..... หรือมองว่าคุณพยายามโกหก สร้างเรื่องเพื่อให้ได้วีซ่ารึเปล่า .... บางครั้ง Tribunal ก็เห็นใจ แต่กฏหมายอาจจะไม่เปิดช่องให้ใช้ความเห็นใจมาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณา)

สรุปว่าหายใจเข้าลึกๆหายใจออกยาวๆ ทำ Research หาข้อกฏหมายมาแก้ปัญหาไปทีละเปลาะ ส่วนที่ไม่มีข้อกฏหมายมาช่วย คนเขียนก็ไปนำเสนอมุมมองใหม่ๆเอาที่ Tribunal ละกัน 

เคสนี้ก็ลูกความในฝันอีกแล้วค่ะ เคสยากมากจริงๆ แต่แนะนำอะไร ลูกความทำทุกอย่าง .... ทำให้คนเขียนแก้ไขปัญหาหลายๆจุดให้คุณลูกความได้ทางเอกสาร และเหลือประเด็นหลักๆ (ซีเรียสๆ) ไว้ลุยกันวัน Hearing เพราะเอกสารอย่างเดียวเอาไม่อยู่

ปรากฏว่าวัน Hearing คนเขียนแอบกุมขมับ เพราะรู้สึกว่า Tribunal member ออกแนวติดลบกับเคสพอสมควร (ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะประเด็นที่ซีเรียสและไม่น่าจะให้ผ่านมีหลายประเด็น ประกอบกับลูกความและพยานก็ตื่นเต้นตอบคำถามได้ไม่ดีและไม่ละเอียดพอ) คนเขียนก็มีการโต้เถียงทางข้อกฏหมายกับ Tribunal member ในวันนัด แต่เนื่องจากมีหลายประเด็น เวลาก็หมดซะก่อน แต่ Tribunal member ก็ยังอนุญาติให้คนเขียนทำ Written Submissions โต้เถียงเคสเพิ่มเติมได้ (โอกาสสุดท้ายของเรา) .... สรุปว่าผ่านค่ะ .... ลูกความไม่ต้องแพ๊คกระเป๋ากลับบ้านแล้ว ... เย้ ... หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง  (เคสนี้ลูกความอยู่คนละรัฐกับคนเขียน ตั้งแต่ต้นจนจบเรายังไม่เคยเจอกันตัวเป็นๆ ..... อ้าว แล้ว Hearing กันยังไง??? - Video conference คือคำตอบ) 

คนเขียนจะไม่ลงรายละเอียดว่าโต้เถียงอะไรไปบ้าง แค่ Submissions โต้เถียงทางข้อกฏหมายอย่างเดียวก็ 10 หน้าแล้ว เอกสารประกอบรวมๆในเคสนี้ก็น่าจะราวๆ 400-600 หน้า และแนวทางการโต้เถียงและการแก้ปัญหาของแต่ละเคสก็ไม่เหมือนกัน   แค่ยื่นต่างช่วงเวลากันก็อาจจะใช้กฏหมายกันคนละตัวแล้ว   ถึงแม้นายจ้างจะเคยมีประวัติถูกปรับหรือติดบาร์เหมือนกัน เหตุผลที่มาที่ไปของการถูกปรับหรือติดบาร์ก็ต่างกัน  ถึงแม้ลูกจ้างจะเคยถูกกล่าวหาว่าทำหน้าที่อื่นนอกเหนือจากหน้าที่ของตำแหน่งที่ได้รับสปอนเซอร์เหมือนกัน แต่ลักษณะงาน ธุรกิจ หรือเอกสารประกอบต่างกัน แนวทางการทำเคสก็ต่างกัน (สรุปว่าเคสใครเคสมันค่ะ เคสอุทธรณ์ไม่มีแพทเทิร์น) ....      แต่สิ่งที่ลูกความเคสอุทธรณ์ทุกคนควรมีคือ Being proactive ใส่ใจและเต็มที่กับเคสตัวเองค่ะ อย่าคาดหวังว่าเมื่อมีเอเจนต์หรือทนายความดูแลแล้ว เราจะไม่ต้องทำอะไรเลย ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ค่ะ เราทำงานกันเป็นทีม ทีมข้อกฏหมาย + ทีมข้อเท็จจริง (คุณลูกความนั่นเอง)  ลูกความยกความดีความชอบให้คนเขียนเต็มๆ แต่คนเขียนคืนกลับไปครึ่งนึง ถ้าลูกความไม่ใส่ใจเคสตัวเอง เคสก็ออกมาดีไม่ได้ เราไม่มีเวทมนต์ hard work + team work ล้วนๆค่ะ

หวังว่าข้อมูลในโพสนี้จะเป็นประโยชน์กับน้องๆที่หมายตาวีซ่า Subclass 186 หรือ 187 นะคะ

ขอบคุณที่อ่าน ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ ก็แชร์ได้เลยค่ะ ไม่ต้องขออนุญาตกัน

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

ค่ายื่นใบสมัครอุทธรณ์ Administrative Appeals Tribunal (AAT)

24/8/2018

 
วันนี้มาให้ข้อมูลสั้นๆเกี่ยวกับค่ายื่นใบสมัครอุทธรณ์ (Review application) ที่ชั้น AAT หรือชื่อเต็มๆว่า Administrative Appeals Tribunal

Migration review application เป็นการยื่นอุทธรณ์ในกรณีถูกปฏิเสธวีซ่า ถูกปฏิเสธ Nomination หรือ Sponsorship หรือการถูกยกเลิกวีซ่า เป็นต้น

  • ค่ายื่นอุทธรณ์คือ $1,764
  • ถ้าชนะที่ชั้นอุทธรณ์ได้ค่ายื่นคืน 50%
  • ใครชนะที่ชั้นอุทธรณ์แล้วไม่เห็นเงินนี้ภายใน 4 อาทิตย์ ก็ควรติดต่อ AAT, ทนายความ หรือเอเจนต์ที่ดูแลเคสของเราค่ะ
Refugee review application เป็นการยื่นอุทธรณ์เกี่ยวกับวีซ่าลี้ภัย

  • ตอนยื่นไม่มีค่าใช้จ่าย
  • ถ้าแพ้ที่ชั้นอุทธรณ์ จะต้องชำระค่ายื่นให้ AAT $1,764
  • เบี้ยวไม่ชำระ ถือว่าติดหนี้รัฐ อาจจะมีผลกระทบกับวีซ่าตัวถัดไป
ป.ล. อาจจะไม่บ่อยเท่าค่ายื่นวีซ่า แต่ค่ายื่นอุทธรณ์ก็มีการขึ้นราคานะคะ

รายละเอียดอื่นเกี่ยวกับ AAT เขียนไว้ในโพสนี้ ซึ่งตอนที่เขียน ชื่อหน่วยงานคือ MRT (Migration Review Tribunal)


.... รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม .... มีประโยชน์โปรดแชร์ ....

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

แชร์ประสบการณ์ Partner visa - Schedule 3 waiver Request

13/10/2017

 
คนเขียนเพิ่งแจ้งข่าวดีให้กับลูกความคู่นึงไป ข่าวดีของคนที่ยื่นวีซ่าก็คงไม่มีอะไรนอกจากวีซ่าออกแล้ว

เคสนี้เป็นเคสที่เราดูแลกันมายาวนานพอสมควร ลูกความติดต่อคนเขียนมาตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว ลูกความไม่ถือวีซ่ามาระยะใหญ่ แต่มีแฟนออสซี่ แต่เนื่องจากกฏเกณฑ์นโยบายการขอวีซ่าคู่ครองของคนที่ไม่มีวีซ่า ก็เปลี่ยนมาระยะนึงแล้ว ซึ่งทำให้โอกาสการได้วีซ่าในเคสแบบนี้ยากขึ้นมาก

ทางเลือกของคนไม่ถือวีซ่าที่ต้องการยื่นวีซ่าคู่ครอง (ก็ได้เคยโพสไปแล้วว่า) มีอยู่สองทาง คือการกลับออกไปยื่นวีซ่าแบบนอกประเทศออสเตรเลีย หรือเสี่ยงยื่นวีซ่าแบบในประเทศออสเตรเลียถ้าคิดว่าเคสของเรามีเหตุผลที่น่าเห็นใจจริงๆ (Schedule 3 waiver request) คนเขียนใช้คำว่า"เสี่ยง" เพราะต่อให้เราคิดว่าเรามีเหตุผลน่าเห็นใจแค่ไหน เหตุผลอาจจะไม่มากพอในมุมมองของอิมมิเกรชั่น ซึ่งก็อาจจะทำให้เราถูกปฏิเสธวีซ่าได้ เมื่อถูกปฏิเสธวีซ่าในกรณีแบบนี้ ก็มีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งอุทธรณ์ก็มีความเสี่ยง อาจจะชนะหรือแพ้ ไม่มีใครตอบได้

จากประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้ คนเขียนคิดว่าเคสนี้เป็นเคสที่น่าเห็นใจจริงๆ แต่เนื่องจากว่าคนเขียนก็ไม่ใช่คนตัดสินเคส ลูกความก็ต้องเป็นคนตัดสินใจเองว่าจะเลือกทางไหนที่ตัวเองพอรับได้ ระหว่าง

1. กลับไปยื่นที่ไทย ซึ่งการพิจารณาน่าจะเร็วกว่าและมีโอกาสได้วีซ่าสูงกว่า (ถ้าความสัมพันธ์หนักแน่นมั่นคงและมีหลักฐานสนับสนุนที่ดี) แต่ก็คงจะต้องรออยู่ที่ไทยจนกว่าจะได้วีซ่า เพราะการขอวีซ่าท่องเที่ยวมาในระหว่างรอคงไม่ผ่านเนื่องจากเคยอยู่เป็นผีที่ออสเตรเลียมาระยะใหญ่ และถ้าวีซ่าคู่ครองไม่ผ่านจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ก็คงต้องรออยู่ที่ไทยจนกว่าอุทธรณ์จะผ่าน หรือได้วีซ่าประเภทอื่น

หรือ

2. เสี่ยงยื่นที่นี่ ซึ่งโอกาสที่จะถูกปฏิเสธที่ชั้นอิมมิเกรชั่นก็สูงพอสมควร แต่โอกาสที่จะชนะที่ชั้นอุทธรณ์ก็พอมี ถ้าถูกปฏิเสธ ก็มีโอกาสตัดสินใจว่าจะกลับไปวีซ่ายื่นใหม่ที่ไทยดี หรือจะเสี่ยงลุยต่อไปชั้นอุทธรณ์ดี ถ้าไม่ผ่านที่ชั้นอุทธรณ์ ก็คงจะได้กลับไปยื่นใหม่ที่ไทยจริงๆ ยกเว้นว่าจะมีเหตุให้อุทธรณ์ต่อในชั้นอื่นได้ (ซึ่งในบางเคสก็มีความเป็นไปได้)

คนเขียนง่ายๆ ถ้าลูกความลุย คนเขียนก็ลุยค่ะ แต่ก่อนลุย ลูกความต้องเข้าใจพื้นฐานเคสของตัวเองจริงๆก่อน ...
ทำงานกับคนเขียนไม่มีการเพ้นท์ภาพสวยหรู ไม่มีโลกสวย เราเอาเรื่องจริงมาคุยกัน คนเขียนไม่เห็นประโยชน์ที่จะบอกลูกความว่าเคสง่ายๆเดี๋ยวก็ได้วีซ่า ถ้าในความเป็นจริงมันไม่ใช่

สรุปว่าลูกความเลือกเสี่ยงยื่นที่นี่ คนเค้ารักกันอยากอยู่ดูแลกัน (และที่สำคัญมีเหตุผลน่าเห็นใจ) คนเขียนก็ลุย ลูกความก็ลุยค่ะ และเราก็ถูกปฏิเสธ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดคาด แต่ผิดหวัง คนเขียนก็ถามว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือจะกลับไปยื่นที่ไทย ในใจก็นึกว่าในเมื่อลุยมาถึงตรงนี้แล้ว ก็ควรจะลุยต่อ ไม่อย่างงั้นก็ควรยื่นที่ไทยตั้งแต่แรก นึกแต่ไม่ได้พูดเพราะนี่คือชีวิตของลูกความ และทั้งสองทางต่างก็มีข้อดี/ข้อเสียของมันเอง ก็ต้องให้ลูกความเลือกและตัดสินใจเอาเอง คนเขียนไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินใจแทน แต่มีหน้าที่ให้คำแนะนำประกอบการตัดสินใจ

ลูกความตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ คนเขียนชื่นใจมาก ไม่ได้ชื่นใจเพราะลูกความตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ แต่เพราะขออะไรไปก็จะพยายามหาให้อย่างรวดเร็ว แบบไม่ต้องตามไม่ต้องถามซ้ำ (proactive แบบสุดๆ) และเราก็ชนะที่ชั้นอุทธรณ์ เคสถูกส่งกลับไปให้อิมมิเกรชั่นพิจารณาต่อ และในที่สุดคุณลูกความก็ได้วีซ่าสมใจ ซึ่งในเคสนี้ลูกความได้วีซ่าคู่ครองแบบถาวรเลยด้วยค่ะ  .... คนเขียนชื่นใจและดีใจเหมือนได้วีซ่าซะเอง  ... นับรวมเวลาตั้งแต่เข้ามาขอคำปรึกษาเบื้องต้นจนถึงวันนี้ 4 ปี กับอีก 2 เดือน

หลายๆคนอาจจะสงสัยว่าแล้วจะบอกไหมว่าเหตุผลที่น่าเห็นใจมันคืออะไร ... ไม่บอก ... ความลับของลูกความบอกไม่ได้ ... และบอกไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะแต่ละเคสก็มีลักษณะเฉพาะตัว ก็ต้องพิจารณากันเป็นเคสๆไป  สำหรับบางคนที่เหมารวมว่าคนไม่มีวีซ่า/ผีจะไม่มีทางขอวีซ่าคู่ครองแบบในประเทศได้และต้องกลับไปยื่นแบบนอกประเทศเท่านั้น ก็ต้องบอกว่าไม่จริงเสมอไป

คนเขียนเคยโพสไว้นานแล้วว่าเคสบางเคสทนายหรือเอเจนต์ต้องทำงานกับเรานานเป็นปีๆ เลือกคนที่คลิ๊กกับเรานะคะ จะได้ทำงานด้วยกันอย่างสบายใจ

นอกเรื่อง .... มีน้องๆถามเกี่ยวกับ Bridging visa มาค่อนข้างเยอะ คนเขียนร่างไว้แล้วแต่ยังไม่เสร็จ รออีกแป๊บ...
ที่ถามๆกันมาก็จะพยายามตอบให้นะคะ (ถ้าตอบได้) อาจจะตอบเป็นการส่วนตัว หรือทาง Blog ในหัวข้อ ถาม-ตอบ จิปาถะ (ไม่มีความจำเป็นต้องเช็ค Blog ทุกวันนะคะ ถ้าตอบทาง Blog จะแจ้งให้ทราบว่าตอบให้แล้วใน Blog)
คำถามที่คนเขียนไม่ได้ตอบ คือคำถามที่ต้องดูเอกสารประกอบหรือต้องซักถามกันเพิ่มเติมหรือต้องอธิบายกันแบบยาวๆ ในกรณีแบบนี้รบกวนนัดปรึกษารับคำแนะนำกันแบบเป็นเรื่องเป็นราวนะคะ

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

Partner visa กับคนที่วีซ่าขาด

17/8/2017

 

มีน้องๆที่วีซ่าขาดติดต่อเข้ามาอยู่เรื่อยๆนะคะ หนู/ผมมีแฟนเป็นชาวออสเตรเลีย/เป็นพีอาร์ จะยื่นวีซ่าคู่ครองที่นี่ได้ไหม

คำตอบคือถ้าไม่มีเหตุผลน่าเห็นใจจริงๆ ยากค่ะ  แปลว่าถ้ามีเหตุผลที่หนักแน่นจริงและสามารถนำเสนอได้ พิสูจน์ได้  ก็ยังมีโอกาส (แต่ไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน)

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ถ้าสามารถพิสูจน์ความสัมพันธ์ได้ถึงสองปี หรือมีลูกด้วยกัน หรือมีเหตุผลน่าเห็นใจพอสมควรก็โอเคแล้ว

แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ อิมมิเกรชั่นปรับเปลี่ยนนโยบายภายในใหม่ (ตัวบทกฏหมายยังคงเดิม) การพิจารณาก็จะเพ็งเล็งไปที่ทำไมผู้สมัครถึงไม่มีวีซ่า ทำไมเป็นผีมาหลายปี ได้พยายามติดต่ออิมมิเกรชั่นเพื่อแก้ไขสถานะของตัวเองหรือไม่ หรืออยู่เป็นผีไปเพื่อรอเวลายื่นวีซ่า

ในบางเคสถึงแม้จะมีเหตุผลน่าเห็นใจจริงๆ (เช่นมีลูกเล็กด้วยกัน สปอนเซอร์ป่วยไม่สบาย ต้องการคนดูแล) อิมมิเกรชั่นก็ยังไม่สนใจ ปฏิเสธแบบไม่เห็นใจใดๆทั้งสิ้น สนใจอย่างเดียวคือการมีประวัติการอยู่เป็นผีมาก่อนการยื่นวีซ่า

เพราะฉะนั้นใครที่ยังไม่เป็นผี ก็ไม่ต้องพยายามจะเป็นนะคะ (จริงๆแล้ว ไม่ต้องเคสผีหรอกค่ะ เคสถือ Bridging visa ก็ต้องพิสูจน์เหตุผลน่าเห็นใจด้วยเช่นกัน)

เคสผี และเคส ฺBridging visa ถ้าไม่มีเหตุผลที่น่าเห็นใจจริงๆ ก็ต้องแนะนำให้กลับไปยื่นแบบนอกประเทศ แปลว่าจะไปยื่นไปรอที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่ในประเทศออสเตรเลีย แต่เพราะว่าระยะเวลาการรอก็ประมาณ 8-12 เดือน หรือนานกว่านั้นในบางเคส ส่วนใหญ่ก็จะกลับไปยื่นไปรอที่ประเทศบ้านเกิดของตัวเองกัน

ประวัติการอยู่เป็นผีมาก่อน เช่นการอยู่เลยกำหนดวีซ่า การเคยถูกปฏิเสธเพราะอิมมิเกรชั่นไม่เชื่อว่าตั้งใจจะเป็นนักเรียนจริง หรือการถูกยกเลิกวีซ่าเพราะทำผิดเงื่อนไขวีซ่า โดยทั่วไปแล้วไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับการยื่นวีซ่าคู่ครองแบบนอกประเทศ ถ้าหลักฐานความสัมพันธ์แน่น โอกาสผ่านก็สูงค่ะ การติดบาร์ 3 ปี จากการอยู่เลยกำหนดวีซ่าหรือการถูกยกเลิกวีซ่า ไม่ได้มีผลกับวีซ่าคู่ครองแบบนอกประเทศนะคะ

เคสที่น่ากังวัลคือเคสที่มีประเด็นอื่นพ่วงมาด้วย เช่น มีปัญหาสุขภาพ มีประวัติคดีอาญา เคยถูกปฏิเสธหรือถูกยกเลิกวีซ่าเพราะเคยให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในใบสมัครเก่า หรือเคยมีการปลอมแปลงเอกสาร  ประเด็นพวกนี้อาจจะมีผลกับการพิจารณา ซึ่งก็ต้องมาดูว่าควรจะเสี่ยงออกไปหรือไม่ เพราะออกไปแล้วอาจจะไม่ได้กลับเข้ามา

คนเขียนมีลูกความทั้งสองประเภทนะคะ ประเภทที่ต้องแนะนำให้ยื่นแบบนอกประเทศ เพราะไม่มีเหตุผลน่าเห็นใจอะไรที่เข้าข่ายให้ได้ลุ้นเลย

กับประเภทที่เข้าข่ายมีเหตุผลน่าเห็นใจที่อิมมิเกรชั่นอาจจะพิจารณาออกวีซ่าคู่ครองแบบในประเทศให้ ซึ่งเทรนปัจจุบันต้องบอกว่ายาก และอาจจะมีหวังที่ชั้นอุทธรณ์ซะมากกว่า  ลูกความกลุ่มนี้ก็ต้องยอมรับว่าค่าใช้จ่ายจะสูงเพราะมีแนวโน้มไปถึงชั้นอุทธรณ์ และก็ต้องยอมรับความไม่แน่นอน เพราะถ้าอุทธรณ์ไม่ผ่าน ก็ต้องเสียตังค์เสียเวลาต่อเพราะอาจจะต้องยื่นแบบนอกประเทศในที่สุด

คนเขียนมีเคสนึงที่เพิ่งชนะที่ชั้นอุทธรณ์เมื่อเร็วๆนี้ เคสนี้ถึงแม้จะมีเหตุผลที่น่าเห็นใจ คนเขียนก็ยังเสนอแนะให้ยื่นแบบนอกประเทศ เพราะห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายและความไม่แน่นอนว่าเคสจะไปจบตรงไหน ค่าใช้จ่ายจะปานปลายไปเท่าไหร่ ในขณะที่ถ้ายื่นแบบนอกประเทศ เคสนี้ไม่ควรจะติดปัญหาอะไรเลย แต่ลูกความก็ยืนยันจะยื่นที่นี่เพราะความรักและความต้องการที่จะดูแลกัน (บวกกับความกลัวว่าจะไม่ได้กลับมา ทั้งๆที่บอกแล้วว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรถ้ายื่นนอกประเทศ)  ลูกความลุยคนเขียนก็ลุยค่ะ แล้วเราก็ถูกปฏิเสธที่ชั้นอิมมิเกรชั่น.... (แน่นอนว่าลูกความเศร้า แต่รับได้ เพราะทราบความเสี่ยงมาตั้งแต่ต้นแล้วก่อนตัดสินใจยื่นแบบในประเทศ) ....เราก็ลุยต่อ และเราก็ชนะที่ชั้นอุทธรณ์...... เย้

คนเขียนก็มาลุยมาลุ้นเคสอื่นที่รออุทธรณ์ต่อ...  ไม่ได้แปลว่าเคสที่ไปถึงอุทธรณ์แล้วจะต้องผ่านทุกเคสนะคะ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่างประกอบกัน ที่สำคัญมากคือลูกความต้องเต็มร้อยกับงาน

คนเขียนไม่โลกสวยนะคะ และแนะนำลูกความอย่างจริงใจตรงไปตรงมา ยากก็บอกว่ายาก ไม่น่าจะมีปัญหาก็บอกว่าไม่น่าจะมีปัญหา แต่ผ่านแน่ๆได้วีซ่าแน่ๆบอกไม่ได้ เพราะไม่ใช่คนตัดสินเคส .... แถมบางเคสก็งานงอกระหว่างทาง เช่นลืมแจ้งชื่อเดิม ลืมแจ้งว่ามีลูก ลืมว่าเคยมีคดี ลืมว่าเคยเปลี่ยนชื่อ ลืมแจ้งสถานะว่าเคยแต่งงาน (มีลืมว่าเคยแต่งงานมาก่อนด้วยนะ !!)

เขียนซะยาว หวังว่าข้อมูลจะเป็นประโยชน์นะคะ... คนเขียนไม่มีแพท์เทิร์น เขียนเมื่ออยากเขียน เขียนเมื่อมีเวลา ... ขอบคุณน้องๆที่โทรมาบอกว่ายังติดตาม.... จะพยายามเขียนถี่ขึ้น...

เดี๋ยวคราวหน้ามาต่อกันด้วย Protection visa วีซ่ายอดฮิตของคนบางกลุ่ม (จริงๆ ร่างไว้นานแล้ว แต่ยังไม่มีเวลาขัดเกลา รอต่อไปอีกนิดนะคะ)


Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

ข้อคิดในการใช้บริการด้านวีซ่า

10/5/2017

 
มีน้องๆโทรมาหาคนเขียนบ่อยมาก เรื่องปัญหาถูกเอเจนต์ลอยแพ หรือถ้าไม่อยากถูกลอยแพก็ต้องชำระเงินเพิ่ม

วันนี้ก็เช่นกันค่ะ น้องใช้บริการเอเจนต์ในการยื่นอุทธรณ์ไปที่ Administrative Appeals Tribunal (AAT)
[เมื่อก่อนคือ Migration Review Tribunal (MRT) บทความเดิมที่คนเขียนๆไว้นานแล้ว ยังคงปรับใช้ได้อยู่นะคะ]
น้องรอเรื่องที่ยื่นไปที่ AAT มาเกีอบปี ตอนนี้มีเอกสารเรียกให้ไป AAT Hearing (คืออะไร ช่วยอ่านบทความเดิมนะคะ)  เอเจนต์แจ้งน้องว่าถ้าจะให้ช่วยต่อ จะต้องชำระเงินเพิ่ม ไม่อย่างงั้นก็จะเลิกช่วย  น้องไม่มีเงินที่จะชำระเพิ่ม ตอนนี้ก็ต้องเตรียมตัวไป AAT ตามลำพัง เหลือเวลาเตรียมตัวอยู่นิดเดียว เอกสารก็ไม่มี ติดต่อ AAT ก็ไม่เป็น คนเขียนก็แนะนำเท่าที่แนะนำได้นะคะ

ขอนอกเรื่องนิดนึงนะคะ ทุกครั้งที่คนเขียนสะกดคำว่า Agent เป็นภาษาไทย ก็เกิดอาการไม่แน่ใจทุกทีว่าที่ถูกควรเป็น "เอเจนต์" หรือ "เอเจนท์" ... แต่คนเขียนชอบ "เอเจนต์" มากกว่าก็จะสะกดแบบนี้ จนกว่าจะมีคนแจ้งเข้ามาว่าสะกดผิดนะคะ

เข้าเรื่องกันต่อ... เรื่องขอเรื่องคืออยากให้ข้อคิดและข้อมูลที่น้องๆบางคนอาจจะไม่ทราบ

1. กฏข้อบังคับของ Registered Migration Agent ระบุว่าเอเจนต์จะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนเริ่มงาน           ว่าบริการที่เอเจนต์เสนอจะทำให้ลูกความมีอะไรบ้าง ประมาณการณ์ค่าบริการและค่าใช้จ่ายอื่นๆเช่นค่ายื่นใบ
    สมัครวีซ่า/ค่ายื่นอุทธรณ์   ค่าตรวจสุขภาพ ค่าใบตำรวจ เป็นต้น

2. ในส่วนของค่าบริการ บางเอเจนต์อาจจะให้จ่ายรวดเดียวเป็นก้อนใหญ่เลย ซึ่งคลอบคลุมงานทั้งหมดที่ต้องทำ
    บางเอเจนต์อาจจะให้มีการผ่อนจ่ายเป็นงวดๆ บางเอเจนต์อาจจะให้มีการจ่ายตามสเต็ปของงานที่ทำหรือจะทำ
    ในอนาคต หรือจะมีการคิดค่าบริการกันเป็นรายชั่วโมง ขึ้นอยู่กับการตกลงกันค่ะ แต่ละเอเจนต์ก็มีวิธีการคิดและ
    วิธีชำระค่าใช้จ่ายและค่าบริการแตกต่างกันไป

3. การเรียกค่าใช้จ่ายในการทำงานเพิ่ม ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิด ถ้า

         * มีการแจ้งค่าใช้จ่าย ค่าบริการกันล่วงหน้าแล้ว และเรียกชำระกันเป็นงวดๆ (Instalment) หรือตามสเต็ป
            ของงานที่จะเกิดขี้น
            (ซึ่งจริงๆในกรณีนี้ไม่ถือเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่ม ถ้าได้มีการตกลงกันแบบนี้ไว้ล่วงหน้าแล้ว คือทราบอยู่แล้วว่าจะ
            มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นเมื่อเวลาใดเวลาหนึ่งมาถึง หรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น)

        * เป็นงานที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย เช่น กฏหมายเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน งานงอกเพราะลูกความ
            บอกไม่หมด หรืองานงอกเพราะอิมมิเกรชั่นไปเจอข้อมูลที่ลูกความก็ไม่เคยทราบมาก่อน แล้วกลาย
            เป็นปัญหาที่จำเป็นต้องมีการแก้ไข และเป็นเหตุให้เอเจนต์ต้องใช้เวลาเกินกว่าที่คาดไว้ในการทำเคส

4. การเรียกค่าใช้จ่ายที่ไม่โอเค คืออยู่ๆนึกอยากเรียกเก็บก็เรียกเก็บ ลูกความไม่ทราบมาก่อน ไม่ได้มีการตกลงกัน
    ไว้ล่วงหน้า ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจ และที่สำคัญไม่ได้เตรียมเงินไว้

ในกรณีของน้องที่ยกตัวอย่างข้างบน การที่เอเจนต์เรียกเก็บเงินเมื่อมีเอกสารจาก AAT เรียกให้ไป Hearing คงไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดแต่อย่างใด ถ้าเอเจนต์ได้มีการแจ้งเป็นลายลักษณ์ให้ลูกความทราบตั้งแต่แรกแล้วว่าเมื่อ AAT เรียกมาจะมีค่าบริการเท่านั้นเท่านี้ที่ต้องชำระ (ก็คือต่างฝ่ายต่างเข้าใจตรงกัน ลูกความก็มีหน้าที่เก็บเงินเผื่อค่าใช้จ่ายตรงนี้ เมื่อถึงเวลาเรียกเก็บก็ชำระ ถ้าลูกความไม่สามารถชำระได้ เอเจนต์จะไม่ทำงานต่อก็เป็นสิทธิ์ของ
เอเจนต์)  แต่ถ้าลูกความไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าจะมีค่าใช้จ่ายงอกขึ้นมา ก็ไม่ได้มีการเก็บเงินเผื่อไว้ เอเจนต์จะมาแจ้งค่าบริการเพิ่มภายหลัง ด้วยเงื่อนไขว่าถ้าไม่จ่ายจะถอนตัว คนเขียนว่าไม่แฟร์ และที่สำคัญไม่ถูกต้องตามกฏข้อบังคับของ Registered Migration Agent นะคะ

*** ทำวีซ่า ทำอุทธรณ์... ทำสัญญาการทำงานเป็นลายลักษณ์อักษรนะคะ
     ก่อนเซ็น... อ่าน
     สงสัย... ถามก่อนเซ็น


บทความเก่าของคนเขียนเกี่ยวกับการเลือก Registered Migration Agent หรือ Immigration Lawyer ยังคงปรับใช้ได้อยู่นะคะ

ป.ล. Registered Migration Agent ไม่ได้เป็นทนายความกันทุกคน
       ทนายความก็ไม่ได้เป็น Registered Migration Agent กันทุกคน
       แต่ทนายความที่จะให้การช่วยเหลือทางด้านวีซ่าได้จะต้องเป็น Registered Migration Agent ด้วย
       Registered Migration Agent ทุกคนจะมีเลขประจำตัว (MARN) 7 หลัก

ทุกคนมีวิธีพิจารณาและตัดสินใจเลือกเอเจนต์ใดเอเจนต์หนึ่งแตกต่างกันไป แต่อย่างน้อยๆก่อนตัดสินใจก็ควรจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจนะคะ

หน่วยงานที่ควบคุมดูแล Registered Migration Agent คือ Office of the Migration Agents Registration Authority

น้องสามารถใส่ชื่อ, นามสกุล, ชื่อธุรกิจ, สถานที่ตั้ง หรือเลขประจำตัว (MARN) 7 หลัก เพื่อเช็คได้ว่า
- เป็นเอเจนต์จริงๆ ไม่ได้มีการแอบอ้าง
- เป็นเอเจนต์ที่ยังมีใบอนุญาติอยู่ ไม่ได้หมดอายุ หรือถูกยกเลิกไปแล้ว
- เป็นเอเจนต์ที่เป็นทนายความด้วยหรือไม่ เอเจนต์ที่เป็นทนายความด้วย ก็จะมีคำว่า "This registered
  migration agent is also an Australian Legal Practitioner."
- เอเจนต์อยู่ในฐานะอะไร เช่น เป็น Employee, consultant หรือ Owner / Director
- เอเจนต์ทำงานกี่ที่ (บางคนไม่ได้ทำงานประจำ แต่เป็น consultant / subcontractor ให้กับเอเจนต์อื่นอีกที)
- ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และ website (ถ้ามี)


Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

แชร์ประสบการณ์ - บทเรียนราคาแพง

13/8/2015

 
เป็นอีกหนึ่งโพสต์ที่เขียนไว้นานแล้ว ไม่เสร็จซะที
คือคนเขียนไม่ใช่นักเขียนมืออาชีพนะคะ ต้องมี Mood เหมาะๆถึงจะเขียนออก บวกกับต้องมีเวลาด้วย นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงภาษาที่ใช้ด้วย พยายามให้อ่านและเข้าใจได้ง่าย และไม่วิชาการจนเกินไป -- ไม่รู้สำเร็จรึเปล่า
เอาเป็นว่าในที่สุดโพสต์นี้ก็คลอดแล้ว คนเขียนหวังว่าคนอ่านจะได้ประโยชน์และข้อคิดจากโพสต์บ้างนะคะ

เรื่องมีอยู่ว่าคุณลูกความมาขอคำปรึกษาค่ะ เริ่มด้วยการแจ้งคนเขียนว่า ตอนนี้คุณลูกความถือ
Bridging visa อยู่ เพราะยื่นอุทธรณ์ไปที่ MRT (ตอนนี้เป็น AAT แล้วนะคะ) แต่เนื่องจากเรื่องอุทธรณ์ไม่ประสบความสำเร็จ ฺBridging visa ที่ถืออยู่ก็กำลังจะหมดไป คุณลูกความเล่าว่าทนายคนที่ทำเรื่องให้แจ้งว่ามีอยู่ 2 ทางเลือก คือ

    A. กลับไปยื่นใบสมัครขอวีซ่าตัวที่ต้องการยื่น (ซึ่งเป็นวีซ่าชั่วคราว) มาใหม่จากไทย หรือ

    B. ยื่นอุทธรณ์ไปที่ศาล (Federal Circuit Court) โดยทนายคนนี้บอกว่านอกจากมีโอกาสชนะแล้ว การยื่นเรื่อง
        ไปที่ศาลก็จะทำให้ได้ Bridging visa ที่จะอยู่ที่ออสเตรเลียต่อไปอย่างถูกกฏหมาย


คุณลูกความอยากทราบความเห็นคนเขียนว่าจะเลือกทางไหนดี ถึงจะมีโอกาสได้วีซ่าคืนมามากที่สุด

ฟังดูแล้วเหมือนจะดีนะ มีตั้ง 2 ทางเลือก ไม่ได้ประชดนะคะ บางเคสถึงแม้จะไม่ประสบความสำเร็จ ก็ยังมีหลายทางเลือกได้ จริงๆนะ .......แต่ ไม่ใช่เคสนี้.....

หลังจากสัมภาษณ์กันอยู่นานสองนาน เพื่อให้แน่ใจว่าคนเขียนได้ข้อมูลที่ถูกต้อง คนเขียนก็สรุปข่าวร้ายให้คุณลูกความฟังเป็นข้อๆดังนี้

    1. คุณลูกความไม่ได้ถือวีซ่ามานานมากแล้ว ที่คิดว่าถือ Bridging Visa อยู่นั้น มันไม่จริง จากประวัติที่ลูกความให้มา รับรองได้ว่าเป็นผีมานานแล้ว คุณลูกความคิดว่าคนเขียนล้อเล่น 
แหม่..ใครจะมาล้อเล่นเรื่องแบบนี้ ว่าแล้วก็ขอเช็คสถานะวีซ่าจากระบบ VEVO ของอิมให้เลย ซึ่งก็ไม่ได้โชว์ว่าคุณลูกความถือวีซ่าอะไรอยู่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วก็แปลว่าไม่ได้ถือวีซ่านั่นแหละค่ะ (โดยส่วนน้อยแปลว่าอาจจะมีการขัดข้องทางเทคนิคเกิดขึ้น)

ลูกความแย้งว่า เป็นไปไม่ได้นะ เพราะใช้บริการทนายความมาตั้งแต่ต้น จะมีปัญหาแบบนี้ได้ยังไง และทนายก็บอกเองว่าถือ Bridging visa อยู่ ... ว่าแล้วก็ตั้งท่าจะร้องไห้ .... คือกฏหมายด้านนี้เปลี่ยนบ่อยและซับซ้อนค่ะ สำหรับเคสนี้ ทนายอาจจะเข้าใจข้อกฏหมายผิดๆมาตั้งแต่ต้น หรือไม่ก็หลอกลูกความมาโดยตลอด คนเขียนไม่อาจทราบได้

    2. การกลับไปยื่นวีซ่าตัวที่ต้องการจากไทยก็ทำไม่ได้ เนื่องจากประวัติและความที่เป็นผีมานาน ทำให้เมื่อกลับออกไปก็ไม่สามารถขอวีซ่าตัวที่ต้องการซึ่งเป็นวีซ่าชั่วคราวได้ เพราะจะติดบาร์ไปอีก 3 ปี

    3. การยื่นเรื่องไปที่ศาล (Federal Circuit Court) ก็ไม่มีโอกาสชนะ เพราะจากที่คนเขียนได้อ่านข้อวินิจฉัยของอิมมิเกรชั่นและของ MRT (อุทธรณ์) คำตัดสินของทั้งสองชั้นก็เป็นไปตามหลักกฏหมาย (คนเขียนอยากบอกว่าจริงๆแล้ว เคสนี้มีสิทธิ์ชนะที่ MRT แต่คุณทนายลืม(รึเปล่า?)แจ้งลูกความให้ไปขึ้นศาล และตัวเองก็ลืม(รึเปล่า?)ไปศาล (MRT) ด้วย!! - MRT ก็เลยตัดสินไปตามเอกสารเดิมที่มี คือเห็นตามอิมนั่นเอง) เมื่อเคสเป็นแบบนี้แล้ว คิดว่าการยื่นอุทธรณ์ไปที่ Federal Circuit Court จะชนะหรือคะ ถ้าแพ้คดีที่ Federal Circuit Court คุณลูกความก็จะเสียค่าทนายความและค่าขึ้นศาลให้ทั้งฝ่ายของตัวเองและฝ่ายของอิมมิเกรชั่นด้วย (ซึ่งคาดว่าเกินหมื่นเหรียญแน่ๆ) แล้วจะทำไปเพื่ออะไร นอกจากนั้นยื่นเรื่องไปก็ไม่ได้ทำให้ได้ Bridging visa เหมือนที่ทนายได้บอกไว้ เพราะคุณลูกความไม่มีสิทธิได้ Bridging visa มาตั้งแต่ต้น ถึงได้เป็นผีมาตั้งนานแล้ว!!!!

จบแล้วค่ะ คำแนะนำที่ให้กับคุณลูกความ
(ข่าวร้ายล้วนๆ) - จริงๆแล้วรายละเอียดเยอะมาก เล่าได้ไม่หมดค่ะ

วันถัดมาคุณลูกความเข้าไปหาอิมและโทรกลับมายืนยันว่า ตัวเองเป็นผีมานานแล้วจริงๆ แถมยังถูกอิมโวยมาอีกตังหากว่าเป็นไปได้ยังไงเป็นผีมาตั้งนานแล้วไม่รู้ตัว ให้เวลา 2 อาทิตย์สำหรับแพ็คกระเป๋ากลับบ้าน!!

เคสนี้น่าสงสารมากค่ะ เพราะลูกความลงทุนทำธุรกิจของตัวเองด้วย สุดท้ายต้องบอกขายแบบขาดทุนในระยะเวลา 2 อาทิตย์ เพราะอิมไม่ขยายเวลาให้อยู่ต่อ เนื่องจากไม่เชื่อว่าคุณลูกความเป็นผีโดยไม่ได้ตั้งใจ - แต่คนเขียนเชื่อ

ถ้ารออ่านว่าคนเขียนจะทำอะไรให้ได้บ้าง บอกเลยว่าทำอะไรให้คุณลูกความไม่ได้
กว่าจะถึงมือคนเขียนก็สายเกินแก้ คือว่าไม่ได้มีเวทมนต์นะคะ เป็นนักกฏหมายค่ะ ก็ต้องว่ากันไปตามตัวบทกฏหมาย คนเขียนก็พยายามแก้ทุกโจทย์นะคะ แต่ไม่ใช่ว่าทุกโจทย์จะมีทางแก้


สุดท้ายก่อนจากกัน คนเขียนแจ้ง (ข่าวดีเล็กๆ) แก่คุณลูกความว่ามีวีซ่าชนิดที่ไม่ติดบาร์ 3 ปีอยู่นะ พร้อมแจ้งเงื่อนไขหลักๆของวีซ่าที่คุณลูกความอาจจะมีสิทธิ์ในอนาคต ลูกความรู้สึกดีขึ้นมานิดนึง แต่ก็ต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งกันใหม่จากไทย เพราะเจ้าตัวยังมีคุณสมบัติไม่ถึงสำหรับวีซ่าชนิดที่ไม่ติดบาร์นี้

บทเรียนราคาแพงสำหรับลูกความท่านนี้ สอนอะไรคนอ่านบ้างคะ

# Second opinion (ความเห็นที่สอง) บางครั้งก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ... แต่ควรจะหา Second opinion ให้ถูกเวลาด้วยนะคะ คือก่อนการตัดสินใจทำอะไรซักอย่าง -- จริงๆแล้วเคสนี้ คุณลูกความก็มาหา Second opinion ก่อนที่จะเดินสเต็ปต่อไปนะคะ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีมาก เพียงแต่ว่าเคสนี้พลาดมาตั้งแต่ต้นแล้ว Second opinion เลยช่วยอะไรไม่ได้มาก นอกจากการได้รู้สถานะจริงๆของตัวเอง และไม่ต้องเสียเงินทอง หรือถูกหลอก(รึเปล่า?)อีกต่อไป

## เมื่อทนายความ หรือเอเจนต์ที่ดูแลเรา แจ้งว่าเราได้วีซ่าแล้ว หรือแจ้งว่าตอนนี้เราถือวีซ่าตัวใดตัวหนึ่งอยู่ (เช่น ในกรณีนี้ Bridging visa ) เพื่อป้องกันความผิดพลาด เราก็ควรขอหลักฐานการถือวีซ่าตัวนั้นๆไว้ด้วยนะคะเพื่อความแน่ใจ ถ้าเกรงใจไม่กล้าขอ หรือขอแล้วไม่ให้ เช็คเองได้ค่ะ จาก VEVO

ป.ล. ถ้าถึงจุดที่ต้อง
เกรงใจไม่กล้าขอ หรือขอแล้วไม่ให้ คนเขียนว่าเปลี่ยนทนายความ หรือเอเจนต์จะดีกว่าค่ะ

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com

ว่าด้วยเรื่อง MRT - Migration Review tribunal

17/4/2015

 
เกริ่นไว้ตั้งแต่สิงหาปีที่แล้วว่าจะแชร์ข้อคิดและประสบการณ์เกี่ยวกับการอุทธรณ์ไปที่ MRT ...ถ้าใครตั้งใจรอนี่คงแก่ไปเลยเนอะ ต้องขอโทษด้วยนะคะงานยุ่งมากค่ะ

MRT คืออะไร ชื่อเต็มๆก็ตามหัวเรื่องเลยค่ะ Migration Review Tribunal
ถ้าตามภาษาของนักแปลนี่เรียกยากและยาวมาก จะมีคำว่า 'ทวิภาคี' อะไรซักอย่างอยู่ด้วย ถ้าคุณนักแปลมาอ่านเจอเข้าก็แจ้งชื่อเต็มๆเข้ามาได้นะคะ

คนเขียนก็ไม่ใช่นักแปลและบอกตรงๆว่าจำไม่ได้จริงๆว่าเค้าเรียกกันเต็มๆว่ายังไง เอาภาษาชาวบ้านและคำอธิบายแบบยาวๆไปแล้วกันนะคะ จะได้เห็นภาพ

MRT คือหน่วยงานรับอุทธรณ์สำหรับคนที่ถูกปฏิเสธหรือยกเลิกวีซ่าโดยอิมมิเกรชั่น ลักษณะก็จะคล้ายๆศาลเล็กๆ แต่ก็ไม่ใช่ศาล และไม่มีพิธีรีตรองมากเท่าศาล คนที่มีหน้าที่ตัดสินเคส ภาษาอังกฤษเรียกว่า Tribunal Member ก็มีหน้าที่พิจารณาเอกสาร สืบพยานบุคคล ไต่ถาม ซักถามคำถามมากมาย เพื่อพิจารณาว่าจะตัดสินยืนตามอิมมิเกรชั่นดี หรือจะมีคำสั่งให้อิมมิเกรชั่นเอาเคสกลับไปพิจารณาใหม่

        ป.ล.1.     เราจะไม่คุยกันเรื่อง RRT หรือ Refugee Review Tribunal นะคะ เพราะเป็นหน่วยรับอุทธรณ์ของ                            Protection/Humanitarian visa ซึ่งไม่ค่อยเกี่ยวกับคนไทยซักเท่าไหร่

กลับมาเรื่อง MRT กันต่อ

ไม่ใช่ว่าทุกเคสที่ถูกปฏิเสธหรือยกเลิกวีซ่า จะมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ไปที่ MRT นะคะ และสำหรับเคสที่มีสิทธิ ก็ไม่ได้หมายความว่าควรจะยื่นอุทธรณ์เสมอไป กลับมาที่ประโยคเดิมๆ คือเราต้องพิจารณาสถานการณ์เฉพาะตัวของเคสนั้นๆ ว่าควรจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ ถ้าตัดสินใจได้แล้วว่าควรยื่น ก็ต้องยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กฏหมายกำหนดไว้ ซึ่งก็คือภายใน 21 วัน (หรือ 70 วัน ในกรณีที่ผู้สมัครอยู่นอกประเทศออสเตรเลีย) นับจากวันที่ถือว่าได้รับแจ้งว่าถูกปฏิเสธวีซ่า หรือ ภายใน 7 วัน นับจากวันที่ถือว่าได้รับแจ้งว่าถูกยกเลิกวีซ่า

        ป.ล.2      ถูกปฏิเสธวีซ่า กับถูกยกเลิกวีซ่าไม่เหมือนกันนะคะ ตามนี้ค่ะ

        ป.ล.3 
    นับจากวันที่ถือว่าได้รับแจ้งว่า ถูกปฏิเสธวีซ่า หรือถูกยกเลิกวีซ่า ไม่ได้แปลว่าจะนับจากวันที่(จริงๆ)                         ที่เราได้รับรู้หรือได้รับแจ้งข้อมูลเสมอไปนะคะ การนับวันขึ้นอยู่กับวิธีการแจ้งของอิมว่าแจ้งทาง
                        อีเมล์หรือทางไปรษณีย์ (หรือ by hand, by fax) ในหนังสือแจ้ง (notification letter) จะระบุวิธีการ                         นับวันไว้ให้ค่ะ  นับดีๆ อย่าให้พลาดนะคะ การยื่นเลยกำหนดแม้เพียง 1 วัน ก็อาจจะมีผลโดย                                    กฏหมายทำให้ MRT ไม่สามารถพิจารณาเคสของเราได้ ภาษากฏหมายเรียกว่า "no jurisdiction"                         หรือการไม่มีอำนาจในการพิจารณา

จำเป็นต้องใช้บริการจาก Registered Migration Agent หรือ Immigration Lawyer ในการดำเนินเรื่องที่ MRT หรือไม่

คำตอบคือไม่จำเป็นค่ะ - ถ้าเรารู้ว่าเราถูกปฏิเสธหรือถูกยกเลิกวีซ่าเพราะอะไร และทราบว่าจะตอบคำถามยังไง หรือยื่นเอกสารอะไรในชั้นอุทธรณ์เพื่อที่จะได้มีโอกาสในการได้วีซ่าคืนมาให้มากที่สุด  ซึ่งต้องบอกว่าไม่ง่าย เพราะถ้าง่าย คนเขียนและ Professional(s) คนอื่นๆคงตกงานกันไปหมดแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจำเป็นต้องมีคนช่วยในการทำอุทธรณ์ สรุปว่า Solo ได้ค่ะ  

เกิดอะไรขึ้นในวันพิจารณาเคส (MRT hearing)

ผู้ยื่นอุทธรณ์และพยาน (ถ้ามี) ก็จะถูกซักถามโดย Tribunal Member (คนที่มีหน้าพิจารณาและตัดสินเคส) ถ้าภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง อย่าลืมขอใช้บริการล่ามไว้ล่วงหน้าด้วยนะคะ โดยทาง MRT จะเป็นคนจัดหาล่ามให้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มค่ะ 
และ MRT ก็จะไม่ใช้ล่ามที่หามาเอง หรือทนายหรือเอเจนต์หามาให้ด้วย (ขอบอก) เพราะฉะนั้นใครที่คิดว่าจะเอาเพื่อนมาเป็นล่าม เผื่อช่วยเราได้ก็ลืมความคิดนี้ไปได้เลย และสำหรับใครที่ถูกทนายความ หรือเอเจนต์เรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนค่าบริการของล่ามสำหรับ MRT  hearing .... คิดเอาเองนะคะ ว่าควรจะทำยังไงดี

ปัญหาที่พบบ่อย ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการพิจารณาคือ การตอบไม่ตรงคำถาม หรือตอบตรงคำถามแต่ไม่คลอบคลุม ข้อมูลบางอย่าง Tribunal Member อาจจะไม่ได้ถาม แต่ถ้าเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์และสามารถช่วยเคสเราได้ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเอ่ยถึงในช่วงเวลาที่เหมาะสม หรือยื่นเอกสารเพิ่มเติม ปัญหาของคนที่ทำเคสเองก็คือไปไม่ถึงจุดที่ว่านี่ คือมองไม่เห็นข้อมูลหรือเอกสารที่อาจจะช่วยเคสของเราได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วเป็นข้อมูลที่ต้องนำข้อกฏหมายและนโยบายมาประกอบการพิจารณา รวมถึงการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกเพื่อหาข้อมูลที่ว่านี่ ถ้ามีหรือหาเจอ ก็ต้องมาพิจารณาว่าสมควรจะดึงข้อมูลที่ว่านี่ออกมาให้ใช้หรือไม่ หรือรูปคดีอาจจะเปลี่ยนไปเมื่อเจอข้อมูลที่ว่านี่ (คิดไม่ออกว่าจะยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมยังไงดีโดยที่ไม่ต้องเท้าความกันแบบยาวๆ ขอติดไว้ก่อน)


ผลการพิจารณาของ MRT

ถ้า MRT ไม่เห็นตามคำวินิจฉัยของอิม (ภาษาชาวบ้าน คือเราชนะคดี) โดยส่วนใหญ่แล้วก็จะมีคำสั่งให้อิมเอาเคส
กลับไปพิจารณาใหม่ตามแนวทางที่ MRT ระบุไว้ ในบางเคสก็อาจจะมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งไปเลย โดยไม่ต้องมีการพิจารณาใหม่โดยอิมมิเกรชั่น

ถ้า MRT ยืนตามคำวินิจฉัยของอิม (เราแพ้คดีนั่นเอง) เราก็มีเวลา 28 วันที่จะแพ๊คกระเป๋ากลับบ้าน ยกเว้นแต่ว่าเรายังถือวีซ่าอื่น หรือมีทางเลือกอื่นที่ทำให้เราสามารถอยู่ในประเทศออสเตรเลียได้อย่างถูกกฏหมาย


วิชาการไปมั๊ยเนี่ยะ??? 

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com

    Author


    พี่เก๋ - กนกวรรณ ศุโภทยาน เป็นทนายความไทย และทนายความของประเทศออสเตรเลีย (Immigration Lawyer)

    มีประสบการณ์เป็นทนายความเฉพาะทาง ด้าน IMMIGRATION ของประเทศออสเตรเลีย รับวางแผนการขอวีซ่า ยื่นใบสมัครขอวีซ่าทุกประเภท ช่วยเหลือในชั้นอุทธรณ์ที่ Administrative Appeals Tribunal และในชั้นศาลค่ะ

    ต้องการคำแนะนำ หรือความช่วยเหลือ ติดต่อได้ที่ Immigration Success Australia
    mb: 0428 191 889 หรือ www.immigrationsuccessaustralia.com

    Archives

    July 2021
    June 2021
    March 2021
    February 2021
    January 2021
    December 2020
    November 2020
    October 2020
    September 2020
    July 2020
    June 2020
    May 2020
    April 2020
    March 2020
    February 2020
    March 2019
    January 2019
    November 2018
    October 2018
    August 2018
    July 2018
    June 2018
    April 2018
    October 2017
    September 2017
    August 2017
    May 2017
    April 2017
    August 2015
    April 2015
    December 2014
    September 2014
    August 2014
    June 2014
    March 2014
    January 2014
    October 2013
    September 2013
    July 2013
    June 2013

    Categories

    All
    วีซ่า
    อุทธรณ์
    วีซ่าคู่ครอง
    101
    102
    103
    143
    173
    186
    187
    190
    300
    309
    4020
    408
    445
    457
    462
    476
    482
    485
    489
    491
    500
    870
    AAT
    Accountant
    Administrative Appeals Tribunal
    Adoption Visa
    Approved Nomination
    Australia
    Australian
    Australian Citizenship
    Australian Immigration
    Bar
    Bricklayer
    Bridging Visa
    Bridging Visa A
    Bridging Visa E
    BVA
    BVE
    Changes To Immigration Law
    Changing Courses
    Chef
    Child Visa
    Consolidated Sponsored Occupations List
    COVID 19
    COVID-19
    CSOL
    Decision Ready
    Decision-ready
    Decision Ready Application
    Decision-ready Application
    De Facto Relationship
    Employer Sponsored
    English Exemption
    ENS
    Exercise Physiologist
    Family
    Family Violence
    Federal Circuit Court
    Graduate Work
    GTE
    Hydrogeologist
    Ielts
    Immigration
    Immigration Lawyer
    Judicial Review
    Jurisdictional Error
    Migration Agent
    Migration Review Tribunal
    MRT
    Nomination
    Orphan Relative Visa
    Overstay
    Parent
    Partner Visa
    PIC 4020
    Post Study Work
    Processing Period
    Protection Visa
    Public Interest Criteria
    Public Interest Criterion
    Regional Australia
    Regional Visas
    Registered Migration Agent
    Rma
    RSMS
    Section 48
    Section 48 Bar
    Self Sponsorship
    Skilled Migration
    Skilled Occupations List
    Skilled Work Regional
    Skills Assessment
    SOL
    Sponsor
    Sponsorship
    Student Visa
    Substantive Visa
    Training
    Tsmit
    Unlawful
    Visa Cancellation
    Visa Refusal
    Wall And Floor Tiler
    Working And Holiday Visa

    RSS Feed

Powered by Create your own unique website with customizable templates.