เคสแรก
ลูกความรักกัน แต่งงานกันที่ไทย คนนึงตัดสินใจมาเรียนที่นี่ อีกคนทำงานอยู่ที่ไทย ต้องห่างกันนานหลายปี ระยะทางและความห่างเป็นปัญหา ไม่มีอะไรจะคุยกัน สุดท้ายหาเรื่องทะเลาะกัน ลงเอยที่การหย่ากันตามกฏหมายออสเตรเลีย
กลับมาเจอกันไม่นานหลังจากหย่า สรุปว่ายังรักกัน เปลี่ยนใจจะไม่หย่าแล้ว (คือคิดว่าแต่งที่ไทย หย่าที่ออสเตรเลีย ระบบไม่ลิงค์กัน ไม่บอกก็ไม่มีใครรู้) .... ไม่ทันแล้วค่ะ หย่าก็คือหย่า แต่งที่ไทยและหย่าที่ออสเตรเลียก็คือหย่าอย่างถูกต้องตามกฏหมาย ไม่ต่างอะไรกับการหย่าที่ไทย (ใครมีปัญหาคล้ายๆกัน และคิดว่าไทยกับออสเตรเลีย ระบบไม่ลิงค์กัน ไม่บอกก็ไม่มีใครรู้ว่าใครแต่งใครหย่า ขอร้องว่าอย่า shortcut ถ้าไม่อยากมีปัญหาให้ปวดหัวที่หลัง ... ปวดหัวมากด้วย PIC4020 การให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง false or misleading information ถ้าถูกเช็คเจอ ใบสมัครอาจจะถูกปฏิเสธพร้อมติดบาร์อีก 3 ปี)
เคสนี้ Strategy ของเราหลายสเต็ป เข้าตามตรอกออกตามประตูแบบสุดๆ ปัญหาคืออิมมิเกรชั่นอาจจะคิดว่าการหย่าก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่าหมดรักกัน ไม่มั่นคงต่อกันจริงๆ (not a genuine and committed relationship) ประกอบกับลูกความอยู่กันคนละประเทศมานาน ทะเลาะกัน ห่างกัน หย่ากัน เอกสารพิสูจน์ความสัมพันธ์ก็น้อยมาก คำอธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆสำหรับเคสนี้
เคสนี้เราทำงานด้วยกัน 4 ปีกว่า ตั้งแต่ลูกความหย่ากันยันได้พีอาร์ (Strategy ได้ผล ไม่มีถูกปฏิเสธ ไม่ต้องไปอุทธรณ์ เย้) ลูกความก็อยู่ซิดนีย์เหมือนคนเขียน แต่เราก็ไม่เคยเจอกัน
เพราะฉะนั้นน้องๆที่ถามว่าเราจะทำงานด้วยกันยังไงเพราะน้องอยู่ไทย/อยู่ต่างรัฐ คนเขียนอยู่ซิดนีย์ .... ทำได้ค่ะ ผ่านอีเมล์ + โทรศัพท์ (+ apps ต่างๆที่เหมาะสม)
เคสที่สอง
ลูกความคู่นี้ (หรือสองคู่นี้) ไม่ใช่คนไทยค่ะ แต่เป็นลูกความคนเขียนมา 10 ปีได้ ... เดี๋ยวนะ ... อย่าเพิ่งคิดว่าทำเคสยังไงใช้เวลา 10 ปี !
ลูกความเดิมทีเป็นคู่เหมือนค่ะ อายุต่างกันหลายสิบปี ตอนทำเคสนี้คนเขียนก็ว่าเสี่ยงอยู่แล้วเพราะอายุห่างกันมาก แต่ความรักไม่มีขอบเขต ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดอายุใช่ไหม สรุปว่าผ่านค่ะ ได้พีอาร์สมใจ
วันดีคืนดีลูกความติดต่อมา
ลูกความ: ชั้นเลิกกับแฟนแล้วนะ
คนเขียน: อ้าว... เสียใจด้วยนะ
ลูกความ: ไม่เป็นไร ชั้นมีแฟนใหม่แล้วนะ
คนเขียน: ว้าว... ดีใจด้วยนะ
ลูกความ: เป็นคนละเพศแล้วนะ และอยากให้ทำเคสให้
คนเขียน: ......
อึ้งไปนาน หลังจากหายอึ้งก็สัมภาษณ์แบบเจาะลึก คนเขียนไม่ได้สงสัยว่าความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง เราอยู่ในยุคที่เปิดกว้างและยอมรับว่าอะไรๆก็เป็นไปได้ทั้งนั้น แต่กังวลแทนลูกความว่าอิมมิเกรชั่นจะคิดยังไงกับประวัติแบบนี้ บอกเลยว่าเป็นเคสความเสี่ยงสูง เคสอาจจะถูกปฏิเสธ เราอาจจะต้องไปถึงชั้นอุทธรณ์ สรุปว่าลูกความยืนยันว่าจะให้คนเขียนทำเคสให้ ...... สรุปว่าทำก็ทำ ... การวางแผนงาน (Strategy) การอธิบายความสัมพันธ์เป็นจุดสำคัญของเคสอีกแล้ว
Stage 1 ผ่านฉลุยอย่างรวดเร็ว
Stage 2 ถูกดอง 2 ปีกว่า
(อย่าคิดว่า Stage 2 เป็นอะไรที่ง่ายๆ แค่ยื่นเอกสารประมาณเดิมก็พอนะคะ ไม่เสมอไปค่ะ ลูกความที่ติดต่อมาหาคนเขียนหลังจากที่ถูกปฏิเสธ Stage 2 ก็เยอะ)
หลายครั้งที่ลูกความโทรมาถามว่าทำไมนานจังเลย เพื่อนยื่นทีหลังได้พีอาร์แล้ว โทรตามไหม อยากได้พีอาร์เร็วๆ
คำอธิบายของคนเขียนคือ อย่าเอาเคสของตัวเองไปเทียบกับเคสเพื่อน เคสเพื่อนมีประเด็นแบบนี้ไหม (ไม่มี) Processing Centre หรือเจ้าหน้าที่คนเดียวกันไหม (ไม่ทราบ)
สำหรับบางเคส (รวมถึงเคสนี้ด้วย) คนเขียนไม่ตามค่ะ อยากดองๆไป ในระหว่างถูกดองก็พัฒนาความสัมพันธ์ไป ถามว่าถ้าเคสแน่น อิมมิเกรชั่นจะเอาจุดไหนมาปฏิเสธ
ตามเร็วแล้วอาจจะถูกปฏิเสธ กับถูกดองแล้วอาจจะผ่าน เลือกเอา
ไม่มีใครอยากรอ อยากได้วีซ่าเร็วๆกันทั้งนั้น การที่ทนายความหรือเอเจนต์ตามเคสให้ ลูกความก็แฮ๊ปปี้เพราะดูเหมือนได้รับความเอาใจใส่ แต่บางเคสที่ไม่ได้ตาม ไม่ได้แปลว่าลืมหรือไม่ใส่ใจ .... ไม่มีใครต้องการให้ลูกความไม่แฮ๊ปปี้หรอกค่ะ
การอีเมล์ตามเคสกับอิมมิเกรชั่น คนเขียนใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที + ลูกความแฮ๊ปปี้
คนเขียนใช้เวลา 15-30 นาที ในการอธิบายเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ตามเคสให้ + ความเสี่ยงที่ลูกความก็จะยังไม่แฮ๊ปปี้ต่อไป
เพราะฉะนั้น ....... ถ้าตามเคสแล้ว มีผลดีกับเคส คนเขียนก็ทำไปแล้ว (make sense ไหมคะ)
บางเคสไม่มีใครตอบได้ว่าจะออกหัวหรือก้อย ทำได้แค่ดีที่สุด ถ้ารักกันจริงและไม่มีทางเลือกอื่น ก็ต้องลุยไปข้างหน้า ไม่ลองไม่รู้ (ใช่ไหม) ทั้ง 2 เคส คนเขียนวาง Strategy ให้ลูกความแบบคร่าวๆ ทราบอยู่แล้วว่าเคสแบบนี้เราคาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นระหว่างทาง แผนก็ต้องปรับเปลี่ยนกันไปตามหน้างาน คนเขียนไม่ชอบให้ความหวังลูกความ รับได้กับความเสี่ยงเราก็ทำงานด้วยกันได้
ทั้งสองเคสลูกความรู้ตั้งแต่ต้นว่าโอกาสที่เคสจะถูกปฏิเสธที่สเต็ปใดสเต็ปหนึ่งมีสูง คนเขียนไม่เคยรับประกันความสำเร็จของงาน ทำได้แค่ดีที่สุด ทั้งสองเคสเราผ่านในทุกสเต็ปค่ะ
ป.ล. นานๆทีก็จะมีน้องโยนหินถามทางมาว่าคนเขียนรับทำเคสจ้างแต่ง เพื่อนช่วยเพื่อน ญาติช่วยญาติไหม
ตอบกันชัดๆไปเลยนะคะ
- ถ้าความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องจริง ไม่รับทำเคส
- ถ้ารับเคสมาแล้ว มาทราบระหว่างทาง ก็เลิกทำเคสระหว่างทาง
- ถ้าความสัมพันธ์เป็นเรื่องจริง ต่อให้คบกันมาไม่นาน ต่อให้มีความยุ่งยากซับซ้อนแค่ไหน ถ้าคุณยอมรับความเสี่ยงได้ คนเขียนไม่มีปัญหาในการทำเคสให้ (คนเขียนไม่แคร์เรื่อง 100% success rate ถ้า play safe ตลอด ลูกความที่เคสยากแต่อยากลอง ก็พลาดโอกาส และคนเขียนก็พลาดโอกาสที่จะได้พัฒนาตัวเองด้วย)
Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com