เคสนี้เป็นเคสที่เราดูแลกันมายาวนานพอสมควร ลูกความติดต่อคนเขียนมาตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว ลูกความไม่ถือวีซ่ามาระยะใหญ่ แต่มีแฟนออสซี่ แต่เนื่องจากกฏเกณฑ์นโยบายการขอวีซ่าคู่ครองของคนที่ไม่มีวีซ่า ก็เปลี่ยนมาระยะนึงแล้ว ซึ่งทำให้โอกาสการได้วีซ่าในเคสแบบนี้ยากขึ้นมาก
ทางเลือกของคนไม่ถือวีซ่าที่ต้องการยื่นวีซ่าคู่ครอง (ก็ได้เคยโพสไปแล้วว่า) มีอยู่สองทาง คือการกลับออกไปยื่นวีซ่าแบบนอกประเทศออสเตรเลีย หรือเสี่ยงยื่นวีซ่าแบบในประเทศออสเตรเลียถ้าคิดว่าเคสของเรามีเหตุผลที่น่าเห็นใจจริงๆ (Schedule 3 waiver request) คนเขียนใช้คำว่า"เสี่ยง" เพราะต่อให้เราคิดว่าเรามีเหตุผลน่าเห็นใจแค่ไหน เหตุผลอาจจะไม่มากพอในมุมมองของอิมมิเกรชั่น ซึ่งก็อาจจะทำให้เราถูกปฏิเสธวีซ่าได้ เมื่อถูกปฏิเสธวีซ่าในกรณีแบบนี้ ก็มีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งอุทธรณ์ก็มีความเสี่ยง อาจจะชนะหรือแพ้ ไม่มีใครตอบได้
จากประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้ คนเขียนคิดว่าเคสนี้เป็นเคสที่น่าเห็นใจจริงๆ แต่เนื่องจากว่าคนเขียนก็ไม่ใช่คนตัดสินเคส ลูกความก็ต้องเป็นคนตัดสินใจเองว่าจะเลือกทางไหนที่ตัวเองพอรับได้ ระหว่าง
1. กลับไปยื่นที่ไทย ซึ่งการพิจารณาน่าจะเร็วกว่าและมีโอกาสได้วีซ่าสูงกว่า (ถ้าความสัมพันธ์หนักแน่นมั่นคงและมีหลักฐานสนับสนุนที่ดี) แต่ก็คงจะต้องรออยู่ที่ไทยจนกว่าจะได้วีซ่า เพราะการขอวีซ่าท่องเที่ยวมาในระหว่างรอคงไม่ผ่านเนื่องจากเคยอยู่เป็นผีที่ออสเตรเลียมาระยะใหญ่ และถ้าวีซ่าคู่ครองไม่ผ่านจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ก็คงต้องรออยู่ที่ไทยจนกว่าอุทธรณ์จะผ่าน หรือได้วีซ่าประเภทอื่น
หรือ
2. เสี่ยงยื่นที่นี่ ซึ่งโอกาสที่จะถูกปฏิเสธที่ชั้นอิมมิเกรชั่นก็สูงพอสมควร แต่โอกาสที่จะชนะที่ชั้นอุทธรณ์ก็พอมี ถ้าถูกปฏิเสธ ก็มีโอกาสตัดสินใจว่าจะกลับไปวีซ่ายื่นใหม่ที่ไทยดี หรือจะเสี่ยงลุยต่อไปชั้นอุทธรณ์ดี ถ้าไม่ผ่านที่ชั้นอุทธรณ์ ก็คงจะได้กลับไปยื่นใหม่ที่ไทยจริงๆ ยกเว้นว่าจะมีเหตุให้อุทธรณ์ต่อในชั้นอื่นได้ (ซึ่งในบางเคสก็มีความเป็นไปได้)
คนเขียนง่ายๆ ถ้าลูกความลุย คนเขียนก็ลุยค่ะ แต่ก่อนลุย ลูกความต้องเข้าใจพื้นฐานเคสของตัวเองจริงๆก่อน ...
ทำงานกับคนเขียนไม่มีการเพ้นท์ภาพสวยหรู ไม่มีโลกสวย เราเอาเรื่องจริงมาคุยกัน คนเขียนไม่เห็นประโยชน์ที่จะบอกลูกความว่าเคสง่ายๆเดี๋ยวก็ได้วีซ่า ถ้าในความเป็นจริงมันไม่ใช่
สรุปว่าลูกความเลือกเสี่ยงยื่นที่นี่ คนเค้ารักกันอยากอยู่ดูแลกัน (และที่สำคัญมีเหตุผลน่าเห็นใจ) คนเขียนก็ลุย ลูกความก็ลุยค่ะ และเราก็ถูกปฏิเสธ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดคาด แต่ผิดหวัง คนเขียนก็ถามว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือจะกลับไปยื่นที่ไทย ในใจก็นึกว่าในเมื่อลุยมาถึงตรงนี้แล้ว ก็ควรจะลุยต่อ ไม่อย่างงั้นก็ควรยื่นที่ไทยตั้งแต่แรก นึกแต่ไม่ได้พูดเพราะนี่คือชีวิตของลูกความ และทั้งสองทางต่างก็มีข้อดี/ข้อเสียของมันเอง ก็ต้องให้ลูกความเลือกและตัดสินใจเอาเอง คนเขียนไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินใจแทน แต่มีหน้าที่ให้คำแนะนำประกอบการตัดสินใจ
ลูกความตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ คนเขียนชื่นใจมาก ไม่ได้ชื่นใจเพราะลูกความตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ แต่เพราะขออะไรไปก็จะพยายามหาให้อย่างรวดเร็ว แบบไม่ต้องตามไม่ต้องถามซ้ำ (proactive แบบสุดๆ) และเราก็ชนะที่ชั้นอุทธรณ์ เคสถูกส่งกลับไปให้อิมมิเกรชั่นพิจารณาต่อ และในที่สุดคุณลูกความก็ได้วีซ่าสมใจ ซึ่งในเคสนี้ลูกความได้วีซ่าคู่ครองแบบถาวรเลยด้วยค่ะ .... คนเขียนชื่นใจและดีใจเหมือนได้วีซ่าซะเอง ... นับรวมเวลาตั้งแต่เข้ามาขอคำปรึกษาเบื้องต้นจนถึงวันนี้ 4 ปี กับอีก 2 เดือน
หลายๆคนอาจจะสงสัยว่าแล้วจะบอกไหมว่าเหตุผลที่น่าเห็นใจมันคืออะไร ... ไม่บอก ... ความลับของลูกความบอกไม่ได้ ... และบอกไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะแต่ละเคสก็มีลักษณะเฉพาะตัว ก็ต้องพิจารณากันเป็นเคสๆไป สำหรับบางคนที่เหมารวมว่าคนไม่มีวีซ่า/ผีจะไม่มีทางขอวีซ่าคู่ครองแบบในประเทศได้และต้องกลับไปยื่นแบบนอกประเทศเท่านั้น ก็ต้องบอกว่าไม่จริงเสมอไป
คนเขียนเคยโพสไว้นานแล้วว่าเคสบางเคสทนายหรือเอเจนต์ต้องทำงานกับเรานานเป็นปีๆ เลือกคนที่คลิ๊กกับเรานะคะ จะได้ทำงานด้วยกันอย่างสบายใจ
นอกเรื่อง .... มีน้องๆถามเกี่ยวกับ Bridging visa มาค่อนข้างเยอะ คนเขียนร่างไว้แล้วแต่ยังไม่เสร็จ รออีกแป๊บ...
ที่ถามๆกันมาก็จะพยายามตอบให้นะคะ (ถ้าตอบได้) อาจจะตอบเป็นการส่วนตัว หรือทาง Blog ในหัวข้อ ถาม-ตอบ จิปาถะ (ไม่มีความจำเป็นต้องเช็ค Blog ทุกวันนะคะ ถ้าตอบทาง Blog จะแจ้งให้ทราบว่าตอบให้แล้วใน Blog)
คำถามที่คนเขียนไม่ได้ตอบ คือคำถามที่ต้องดูเอกสารประกอบหรือต้องซักถามกันเพิ่มเติมหรือต้องอธิบายกันแบบยาวๆ ในกรณีแบบนี้รบกวนนัดปรึกษารับคำแนะนำกันแบบเป็นเรื่องเป็นราวนะคะ
Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com