visa blog : สำหรับคนไทยค่ะ
  • Home
  • Blog

HOT NEWS ข่าวดีของคนติด Section 48 bar

30/10/2021

 
Hot news ..... ใครติด Section 48 Bar .... สามารถยื่นวีซ่า

  • Subclass 190 -Skilled Nominated visa
  • Subclass 491Skilled Work Regional (Provisional) visa
  • Subclass 494 Skilled Employer Sponsored Regional (Provisional) visa

แบบในประเทศออสเตรเลียได้ตั้งแต่วันที่ 13 November 2021

โพสนี้ มาเร็ว ไปเร็ว แค่ต้องการแจ้งข่าวดี

คนเขียนเชื่อว่าต้องมีน้องหลายๆคนที่จะได้ประโยชน์จากข่าวนี้ ดีใจด้วยนะคะ



Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com


อย่ารอจนวันที่วีซ่าหมดอายุ

2/7/2021

 
คนเขียนเคยโพสเรื่องนี้นานแล้ว (พร้อมตัวอย่าง) .... แต่ก็มีเหตุให้อยากเตือนกันอีกรอบ

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา ระบบ ImmiAccount ปิดปรับปรุงช่วงค่ำๆ และใช้ได้อีกทีเช้าวันที่ 1 กรกฏาคม (ระบบปิดปรับปรุง 30 มิถุนายน เป็นเรื่องปกติของอิมมิเกรชั่นนะคะ ระวังล่วงหน้าไว้ได้เลย)

วันที่ 1 กรกฏาคม ImmiAccount ใช้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

วันนี้ 2 กรกฏาคม ตั้งแต่เช้า จนป่านนี้ (7pm++) ImmiAccount ใช้ไม่ได้เลย

คนเขียน ไม่เจอปัญหาใหญ่ เพราะไม่ยื่นใบสมัครวันสุดท้ายอยู่แล้ว (ถ้าไม่จำเป็น) จะมีก็แค่ปัญหากวนใจ อยากยื่นเอกสารเพิ่ม อยากอัพเดพข้อมูล อยากร่างใบสมัครให้ลูกความ แต่เข้าระบบไม่ได้

แต่คนเขียนอ่านโพสจากเอเจนต์หลายคน ที่ลูกความของเค้าเป็นผีไปเรียบร้อย (หรือกำลังจะเป็น) เพราะยื่นวีซ่าไม่ได้ (และเชื่อว่ามีน้องบางคน เจอปัญหาเดียวกัน) จากเคสสบายๆ กลายเป็นเคสน่าปวดหัวไปเลย

เพราะฉะนั้น สำคัญมากที่น้องๆจะเผื่อเวลา ให้เวลาตัวเอง ให้เวลาทนายหรือเอเจนต์ที่ดูแลเราด้วย


Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com

Q & A : Bridging visa E ต้องขอก่อนหรือหลังวีซ่าหมด

7/11/2020

 
Q: อยากสอบถามเรื่อง Bridging Visa E ค่ะ พอดีว่าติด Section 48 bar จาก 485 visa refusal แล้วต้องกลับไทยภายใน 28 วัน แต่ว่ายังหาไฟลท์กลับไทยไม่ได้ เลยต้องการยื่นขอ BVE ไม่ทราบว่าต้องขอก่อนหรือหลังวีซ่าหมดหรอคะ

A: ถ้าตอนนี้ถือ BVE อยู่แล้ว = ต่อก่อนวีซ่าหมด
ถ้าตอนนี้ถือวีซ่าอื่น เช่น BVA = ต่อวันถัดไปหลังวีซ่าหมด (เช่น BVA หมดวัน 14, ยื่นใบสมัคร BVE วันที่ 15)

ป.ล.1    วีซ่าถูกปฏิเสธ น่าจะมี 35 วันนะคะ ไม่ใช่ 28 วัน ลองเช็ค VEVO ดูอีกครั้งว่าวีซ่าหมดวันไหนแน่
ป.ล.2    ในกรณี 485 ถูกปฏิเสธ น่าจะมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์นะคะ ลองพิจารณาดูว่าเป็นเคสที่ควรจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่



Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com


แชร์ประสบการณ์ Consultation รอบที่ 2

5/10/2020

 
คนเขียนมีน้องๆนัดขอคำปรึกษาเบื้องต้น (Initial Consultation) กันเป็นปกตินะคะ บางคนก็

  • ชัดเจนมาเลยว่าต้องการทำวีซ่าอะไร (แต่บางครั้งคนเขียนก็เสนอวีซ่าตัวอื่นที่เหมาะสมกว่า)
  • ไม่ทราบอะไรเลยและต้องการหาแนวทาง หรือวางแผนอนาคต
  • มีปัญหาด่วนมาให้แก้ไขให้
  • มีเวลาตั้งเยอะแต่ไม่ทำอะไร เหลือ 1 อาทิตย์บ้าง 3 วันบ้าง
  • วีซ่าจะหมดวันพรุ่งนี้ วันนี้เพิ่งติดต่อมา

ปกติคนเขียนไม่ทำงานวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ  บางวัน 5ทุ่ม เที่ยงคืน ตี3 ยังนั่งทำงาน แต่จะพยายามเลิกรับโทรศัพท์หลัง 1ทุ่ม

สำหรับเคสด่วน นัดปรึกษาวันเสาร์อาทิตย์ หรือแม้กระทั่ง 3-4 ทุ่ม คนเขียนก็จัดให้นะคะ แต่ด่วนของลูกความ กับด่วนของคนเขียน คนละเรื่องกัน เช่น


  • ลูกความเพิ่งแพ้ที่ชั้นอุทธรณ์มา ต้องการทราบว่าจะอุทธรณ์ต่อหรือจะกลับไทยดี เคสนี้มี 35 วัน จริงๆเคสนี้ไม่ด่วน แต่ไฟล์กลับไทยช่วงโควิดมีไม่เยอะ และเต็มเร็วมาก เพราะฉะนั้นเวลาเป็นเรื่องสำคัญ และอาจจะมีผลกระทบกับวีซ่าของลูกความในอนาคต (ถ้าตัดสินใจจะกลับ แต่กลับไม่ได้ก่อนวีซ่าหมด) เคสนี้คนเขียนดูเคสให้วันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็น 3 วัน Long weekend สงสารตัวเองนิดนึง แต่ด่วนก็คือด่วน จัดให้
  • เคสที่ลูกความถูกเอเจนต์ลอยแพ และมี deadline คนเขียนก็ดูเคสให้แบบด่วน ส่วนจะรับทำเคสหรือไม่อีกเรื่องนึง
  • เคสที่วีซ่าจะหมดวันพรุ่งนี้ แต่เพิ่งติดต่อมา อันนี้ด่วนของคุณ ไม่ด่วนสำหรับคนเขียนนะคะ

เข้าเรื่องดีกว่า ...... คนเขียนก็จะมีลูกความบางคนที่เคยทำ Initial Consultation แล้ว หายไปพักนึง ก็ขอนัดอีกรอบ หรืออีก 2 รอบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร รอบแรกอาจจะเป็นการหาแนวทาง รอบสองอาจจะพร้อมทำเรื่องยื่นวีซ่า หรือติดปัญหาอะไรบางอย่าง หรือสถานะของลูกความเปลี่ยน หรือกฏหมายเปลี่ยน

เคส Consultation รอบที่ 2 ที่คนเขียนแอบเซ็ง(และเสียดายแทน) ก็จะประมาณ 4 เคสข้างล่างค่ะ


เคสที่ 1

Initial Consultation .... เคส Partner visa .... ลูกความไม่ถือวีซ่า คนเขียนแนะนำเคสนี้ให้ยื่นในประเทศออสเตรเลียเท่านั้น โน๊ตตัวโตๆไว้ในไฟล์ว่า "Complex case - Onshore only"   เหตุผลคือนอกจากจะไม่ถือวีซ่าแล้ว ประวัติทางวีซ่าก็ dodgy จะด้วยความตั้งใจหรือได้รับคำแนะนำผิดๆคนเขียนไม่ทราบ รวมถึงประวัติส่วนตัว ที่คนเขียนเชื่อว่าถ้าออกไปแล้วจะไม่ได้กลับเข้ามา

4 ปี ผ่านไป ลูกความติดต่อมาขอ Consultation รอบที่ 2 ... ปรากฏว่าตอนนี้กลับประเทศตัวเองไปแล้ว ..... 
       
                                                                       What!  Why?

                     .... ก็แนะนำแล้วว่าไม่ให้กลับ ให้ยื่น Onshore = ยื่นในประเทศออสเตรเลีย

ลูกความบอกว่าขอโทษนะที่ตอนนั้นไม่เชื่อยู หลังจากที่คุยกันเสร็จ เอาไปเล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อนแนะนำคนอื่นที่เป็นคนชาติเดียวกันให้ เลยใช้บริการเค้าแทน ถูกเรียกเก็บเงินตลอดแล้วไม่ทำอะไรให้เลย .....  4 ปีผ่านไป คนนี้ก็แนะนำให้กลับออกไปยื่น Offshore Partner visa บอกว่าง่ายและเร็ว นี่กลับมาประเทศตัวเองได้หลายเดือนแล้ว เงินก็โอนไปแล้ว เค้ายังไม่ได้ยื่นวีซ่าให้ แถมติดต่อไม่ได้ด้วย

เคสนี้มีตั้งแต่การอยู่เกินวีซ่า เปลี่ยนชื่อกลับมาใหม่ ไม่แจ้งชื่อเดิม ยื่นสาระพัดวีซ่า รวมถึง Protection visa ยื่นเอกสารปลอม อยู่เกินวีซ่าต่ออีก 10 กว่าปี ที่สำคัญมีประวัติคดีอาญาร้ายแรง ประเภทที่อิมมิเกรชั่นจะต้องปฏิเสธวีซ่า ยกเว้นว่าจะมีเหตุผลน่าเห็นใจ ..... (ประวัติทางวีซ่าโชกโชนขนาดนี้ ความเห็นใจของอิมมิเกรชั่นจะมีเหลืออยู่แค่ไหน ..... แถมตอนนี้ลูกความอยู่นอกออสเตรเลีย เหตุผลหลายๆอย่างที่อาจจะเอามาใช้ได้ ถ้าลูกความอยู่ในออสเตรเลียก็หายไปด้วย) .... เพราะฉะนั้นยื่น Offshore ไม่มีทางง่ายและเร็ว ..... มีความเป็นไปได้สูงมากที่อาจจะไม่ได้กลับเข้ามาอีกนาน หรืออาจจะไม่ได้กลับเข้ามาอีกเลย

คนเขียนบอกเลยว่าในบางเคส Offshore is NOT an option!  และการพยายามหาทางให้ลูกความอยู่ที่ประเทศออสเตรเลียต่อ ง่ายกว่าการพยายามเอาลูกความกลับมานะคะ


เคสที่ 2

Initial Consultation .... ลูกความไม่ถือวีซ่า ติด section 48 บาร์ด้วย ทางเลือกสำหรับทำพีอาร์ไม่มี คนเขียนคิดว่ากลับไทยติดบาร์ 3 ปีน่าจะดีกว่า ดูประวัติแล้ว หลังบาร์ 3 ปี น่าจะมีโอกาสได้กลับมา

7 ปีผ่านไป ลูกความติดต่อมาขอ Consultation รอบ 2 ...... ปรากฏว่าตอนนี้ก็ยังอยู่ที่นี่ เชื่อเพื่อนและนายหน้ายื่น Protection visa ไปเรียบร้อย จากนั้นก็ไปอ่านเจอจากหลายแหล่ง รวมถึง VisaBlog ของคนเขียนด้วยว่าไม่ควรยื่น Protection visa ตอนนี้เริ่มกังวลกับผลเสียที่จะตามมา

คนเขียนก็งงกับเคสนี้นะคะ จะว่าไฺม่เคยรู้จักคนเขียนมาก่อนก็ไม่ใช่ เพราะเคยนัดปรึกษากันมาแล้ว แทนที่จะปรึกษาว่าควรหรือไม่ควรยื่น Protection visa ก่อนยื่น ก็ไม่ทำ ...... ยื่นไปแล้ว ค่อยมากังวล ค่อยมาหาคำปรึกษา .... ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าน้องคิดอะไร


เคสที่ 3

Initial Consultation ..... เคส Partner visa เป็นเคสที่ตรงไปตรงมา ไม่ได้มีประเด็นซีเรียสอะไรที่น่ากังวล แต่คนเขียนก็อธิบายเงื่อนไข Requirements ของ Partner visa และบอกจุดที่ควรระวังให้ทราบ น้องถามว่า
ถาม ...... จำเป็นต้องใช้บริการคนเขียนไหม
ตอบ ..... น้องต้องถามตัวเองว่าเข้าใจกฏหมาย เงื่อนไข เอกสาร หลักฐาน ของการทำ Partner visa แค่ไหน แต่ละคนก็มีขีดความสามารถแตกต่างกันไป คนที่ทำเองแล้วผ่านก็เยอะแยะ คนที่ทำเองแล้วถูกปฏิเสธก็มี เคสที่มาให้คนเขียนทำอุทธรณ์ให้ก็เยอะ
ถาม ...... ถ้าน้องจะทำเคสเอง และเสียค่าปรึกษาเพื่อขอคำแนะนำเป็นระยะๆ และให้คนเขียนตรวจเช็คเอกสารให้ก่อนยื่นล่ะ
ตอบ ..... ไม่มีบริการนี้ค่ะ สำหรับคนเขียนมีแค่ 2 ทาง ทำเคส หรือไม่ทำเคส  เคส Partner visa เหมือนกัน แต่ Strategy (แผนการทำงาน) ของแต่ละเคสไม่เหมือนกัน เคสที่ไม่มีประเด็นซีเรียส ไม่ได้แปลว่าไม่มีจุดที่ควรระวัง บางเคสเราเห็นปัญหาระหว่างการเตรียมยื่น และการตัดสินใจยื่นหรือไม่ยื่นเอกสารบางชิ้น นำเสนอหรือไม่นำเสนอข้อมูลบางอย่างเป็นอะไรที่ต้องคิด ต้องตัดสินใจทั้งนั้น  สำหรับคนเขียน Quality control เป็นเรื่องสำคัญ และเคสที่มาให้ดูแลแบบครึ่งๆกลางๆเป็นอะไรที่ Control ยากมาก

ลูกความตัดสินใจทำเคสเอง

...... 2 ปีผ่านไป ลูกความขอนัด Consultation รอบ 2 ... ส่งคำตัดสินปฏิเสธ Partner visa มาให้อ่าน พลาดไปกับการเลือกเอกสารพิสูจน์ความสัมพันธ์


เคสที่ 4

Initial Consultation .... ลูกความเลิกกับแฟนคนเดิม มีแฟนคนใหม่ คนเขียนแนะนำวีซ่าที่คิดว่าเหมาะสมให้ และแนะนำให้ Declare ข้อมูลกับอิมมิเกรชั่น เคสนี้ลูกความอยู่ในจุดที่ไม่มีหน้าที่ต้อง Declare  แต่สำหรับเคสนี้ Strategically แล้ว ลูกความควร Declare

ลูกความหายไป 2 ปีกว่า ขอนัด Consultation รอบ 2 เคสถูกปฏิเสธเพราะประเด็นนี้เลย ถามว่าแนะนำแล้วทำไมถึงไม่ทำ ลูกความบอกว่ายื่นวีซ่าที่คนเขียนแนะนำ แต่ให้เอเจนต์อีกคนดูแลเคสและยื่นวีซ่าให้ ซึ่งเอเจนต์บอกว่าไม่มีหน้าที่ต้อง Declare ก็ไม่ต้อง Declare ก็เลยทำตามที่เอเจนต์แนะนำ ...... 

ทนาย และเอเจนต์แต่ละคนก็มีสไตล์การทำงาน และ Strategy (แผนการทำงาน) ของแต่ละเคสแตกต่างกันไปนะคะ  ชอบสไตล์การทำงานแบบไหน   ชอบ Strategy ของใคร  ใช้บริการคนนั้น   คนที่วาง Strategy ให้  โดยปกติก็จะมีแพลนอยู่ในหัวแล้ว (หวังว่านะ) ว่ารายละเอียดและสเต็ปการเดินเคส รวมถึงการยื่นเอกสารควรจะเป็นแบบไหนและเพราะอะไร และถ้าอะไรบางอย่างเกิดขึ้นระหว่างทาง ควรจะเดินเคสต่อยังไง



Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com


Partner visa - Grant time for Stage 2 - PR

7/5/2020

 
ช่วงนี้เทรนการพิจารณา Stage 2 Partner visa (PR) คือ เร็วถึงเร็วมากนะคะ คนเขียนมีโอกาสได้แจ้งข่าวดีให้กับน้องๆหลายคนเลย

ต้องขอบคุณอิมมิเกรชั่นที่ถึงแม้จะไม่ได้ประกาศอะไรออกมา แต่เราก็ทราบได้จากการกระทำว่าหน่วยงานใน
อิมมิเกรชั่นเองก็พยายามช่วยหลายๆคนให้ได้พีอาร์โดยเร็ว

พอได้พีอาร์แล้ว หลายๆคนก็อาจจะได้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินที่รัฐบาลเสนอช่วยอยู่ ณ ตอนนี้ เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19

น้องๆที่ยื่นเอกสาร Stage 2 Partner visa ไปแล้ว อาจจะสงสัยว่าเราจะได้วีซ่าเร็วๆกับเค้าบ้างไหม ไม่มีใครตอบได้ แต่อย่างนึงที่น้องๆทำได้คือ

- เช็คเอกสารของตัวเองว่ายื่นเอกสารครบตามที่อิมมิเกรชั่นต้องการหรือไม่ (Decision Ready Application)

- ยื่นเอกสารครบไม่พอนะคะ เอกสารที่ยื่นต้องมีคุณภาพด้วย

- มีประเด็นอะไรที่อาจจะเป็นปัญหาหรือไม่ ถ้ามี เป็นประเด็นง่ายๆที่เราสามารถนำเสนอได้เลย เพื่อความรวดเร็วในการพิจารณา หรือเป็นประเด็นที่เราไม่ควรจะไปเปิดประเด็น (งงใช่ไหมล่า .... มันอธิบายยากนะตรงนี้ มันคือ Strategy การทำงานของแต่ละเคส)  ถ้าแนวโน้มเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ ก็คงไม่ต้องหวังการพิจารณาที่รวดเร็วนะคะ เอาแค่หวังผ่านดีกว่า เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น

ในเคส Stage 2 ของคนเขียน ก็มีประเด็นแตกต่างกันไป ยกตัวอย่าง 2 เคส

เคสนี้ประเด็นง่าย แต่ลูกความคิดมากเกินไป overthinking ไม่อยากให้ใส่รายละเอียดบางอย่าง เพราะกลัวว่าเคสจะเกิดปัญหา แต่ถ้าไม่ให้รายละเอียดก็ดูเหมือนความสัมพันธ์จะไม่แน่น คนเขียนพิจารณาแล้วไม่เห็นว่ามันจะเป็นปัญหาตรงไหน อยู่ที่การนำเสนอมากกว่า สรุปลูกความยอมทำตามคำแนะนำ เคสผ่านไปแล้วอย่างรวดเร็ว นอกจากจะได้พีอาร์เร็วแล้ว ยังได้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลด้วย

อีกเคสนึง ลูกความทำ Stage 1 กับเอเจนต์อื่น แต่ไม่แฮ๊ปปี้ มาให้คนเขียนดูแล Stage 2 ให้ (ค่ะ เปลี่ยนเอเจนต์ระหว่างทางก็ทำได้ ถ้าไม่แฮ๊ปปี้ อย่าทน)   แน่นอนเคสแบบนี้ต้องเช็คประวัติและเอกสารกันค่อนข้างเยอะ โดยสรุปคือ
- ลูกความถึงกำหนดยื่น Stage 2 ตั้งแต่ 15 เดือนก่อนที่จะมาเจอคนเขียน (คือเลทไป 15 เดือนแล้ว ยังไม่ได้ยื่นเอกสารเลย) คือเอเจนต์ไม่ได้แจ้งให้ทราบ ไม่ได้แนะนำอะไรเลย
- ถามไปถามมาน้องมีลูกด้วย ลูกแต่ละคน ก็มีปัญหาเฉพาะของตัวเอง และมีทั้งอยู่ไทย และที่ออสเตรเลีย แถมคนที่อยู่ที่ออสเตรเลียวีซาก็กำลังจะหมด
- สปอนเซอร์ก็มีประวัติคดีอาญาชนิดที่ถ้าพ่วงลูกด้วย เคสอาจจะมีปัญหา
- การเงินก็ต้องเอามาพิจารณา เนื่องจากมีลูกหลายคน พ่วงลูกด้วยค่าใช้จ่ายโดยรวมถูกกว่าการได้พีอาร์คนเดียวแล้วค่อยมาทำวีซ่าให้ลูกๆภายหลัง
- จะยื่น Stage 2 คนเดียว หรือจะพ่วงลูกด้วยดี ตอนนี้ก็เลทมาตั้ง 15 เดือนแล้ว จะพ่วงลูกมีหลายสเต็ปที่ต้องทำ ยิ่งเลทไปกันใหญ่  บวกประวัติคดีอาญาของสปอนเซอร์เข้าไปให้กังวลอีก

อ่านข้างบน อาจจะคิดว่าคนเขียนคงแนะนำให้ยื่นคนเดียวให้รอดก่อนค่อยหาทางเอาลูกมา แต่ไม่ค่ะ หลังจากนั่งคิดนอนคิดตีลังกาคิด บวกกับการทำ Research และวางแผนงาน (Strategy) คนเขียนแนะนำให้ทำเรื่องพ่วงลูกเลย  ไหนๆก็เลทมา 15 เดือนแล้ว ก็เลทกันต่อไป (Why not?) แต่เลทแบบอยู่ในความดูแลของคนเขียน แผนต้องมา งานต้องเดิน ไม่ใช่เลทแบบตามมีตามเกิดไม่ทำอะไรเลย  ถ้านับจากวันที่ Stage 2 Partner visa พร้อมพิจารณา เคสนี้ใช้เวลา 5 เดือน ซึ่งถือว่าเร็วมากสำหรับเคสแบบนี้ (ก่อนหน้านี้เราก็ลุยกับเคสของลูกๆและประวัติของสปอนเซอร์ไป เหนื่อยแต่จบ ได้พีอาร์พร้อมกันทุกคน แถมประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้อีกเยอะ)

ป.ล.1  ไม่ใช่ทุกเคสที่ควรจะพ่วงลูกนะคะ บางเคสก็ต้องยอมยืดเยื้อ และเสียค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า เอาตัวเองให้รอดก่อน เรื่องลูกค่อยว่ากันภายหลัง

ป.ล. 2   ช่วงนี้มีน้องๆถามกันมาเยอะนะคะว่าเคยถูกปฏิเสธวีซ่า หรือเคยถูกยกเลิกวีซ่า ติด Section 48 บาร์ หรือตอนนี้ไม่ถือวีซ่า จะยื่น Partner visa ในประเทศออสเตรเลียได้ไหม  ...... คำตอบคือยื่นได้ค่ะ คนเขียนทำเคสประมาณนี้มาแล้วหลายเคส เช่นเคสนี้ หรือโพสนี้ ....แต่... เคสที่ติด Section 48 บาร์ ไม่ใช่ทุกเคสนะคะที่เหมาะสมกับการยื่นแบบในประเทศออสเตรเลีย

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

แชร์ประสบการณ์ ความสำคัญของความเห็นที่สอง

24/1/2019

 
เคสนี้เป็นเรื่องของลูกความแถบยุโรบคู่หนึ่งที่มาด้วย Working Holiday visa และทำวีซ่า 457 กับเอเจนต์อื่น

ลูกความติดต่อมาหาคนเขียนครั้งแรกกลางปี 2016 Standard Business Sponsorship (SBS) application          ถูกปฏิเสธเพราะเอเจนต์คำนวนค่าเทรนนิ่งผิด เอเจนต์แนะนำให้ยื่นอุทธรณ์ คนเขียนแนะนำให้ยื่นเรื่องใหม่เข้าไปที่อิมมิเกรชั่น เพราะเป็นประเด็นที่แก้ไขได้ และยื่นใหม่เร็วกว่ายื่นอุทธรณ์แน่นอน ลูกความอยากเปลี่ยนมาให้คนเขียนดูแล แต่นายจ้างยังมั่นคงกับเอเจนต์เดิม (ปัญหาโลกแตก ต้องปล่อยให้นายจ้างลูกจ้างตกลงกันเอาเอง)

เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ลูกความติดต่อมาอีกครั้งเมื่อธันวาคม 2018 และจะให้คนเขียนยื่นขอพีอาร์ให้

คนเขียนก็คิดว่าลูกความต้องการต่อยอดจาก 457 เป็นวีซ่าพีอาร์ 186 .... คือดูจากเวลาแล้วน่าจะใช่ น่าจะถือ 457 (เข้ากฏเก่า) มาแล้ว 2 ปี

ปรากฏว่าความเป็นจริงห่างไกลจากที่คิดไว้เยอะเลยค่ะ ที่หายไป 2 ปีกว่า คนเขียนวิเคราะห์ได้ตามข้างล่าง คือต้องวิเคราะห์เองจากเอกสาร เพราะถามอะไรลูกความก็ทำหน้างงๆ --- คืองงอะไร ไม่เข้าใจ จะว่าภาษาไม่ดีก็ไม่ใช่ เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาเกิด ....... สรุปว่าเพราะเอเจนต์ไม่เคยอธิบายอะไรเลย ....และลูกความก็เกรงใจ ....... ไม่กล้าถาม!!!! .....เอกสารที่คนเขียนขอไป ตอนแรกก็ไม่มีให้ คือเกรงใจไม่กล้าขอจากเอเจนต์ จนคนเขียนต้องบอกว่าถ้าไม่มีเอกสารก็ไม่ต้องมา หมดปัญญาช่วย .... คือจะให้นั่งเทียนหรือไง ถามอะไรก็ตอบไม่ได้ ขออะไรก็ไม่มี

สรุปว่าเคสนี้

1. SBS ที่แนะนำให้ยื่นใหม่ ผ่านไปได้ด้วยดี
2. Nomination ไม่ผ่าน และตอนนี้เรื่องอยู่ที่ชั้นอุทธรณ์
3. วีซ่า 457 ก็แน่นอน..ไม่ผ่าน (เพราะ Nomination ไม่ผ่าน) และเรื่องอยู่ที่ชั้นอุทธรณ์เหมือนกัน (และเอเจนต์ก็ยื่นใบสมัครวีซ่าเลท คือหลังวันที่ 18 April 2017 ต่อให้ลูกความได้วีซ่า ก็เข้ากฏใหม่ อาชีพ STSOL ต่อยอดจาก 457 ไปพีอาร์ไม่ได้)

ที่หนักกว่านั้นคือเช็ค VEVO แล้วไปเจอว่าจากที่เคยถือ Bridging visa B (BVB) อยู่ กลายเป็นตอนนี้ไม่มีวีซ่า

..... สรุปว่าสองคนที่นั่งอยู่ตรงหน้าคนเขียนไม่มีวีซ่า!!!!!  แต่ต้องการยื่นพีอาร์ (แบบในประเทศออสเตรเลียด้วยนะ)

..... เอิ่ม......แก้ปัญหาสำคัญก่อนดีไหม ..... ทำไมอยู่ๆถึงไม่มีวีซ่า

เหมือนเดิมค่ะ ลูกความตอบไม่ได้ ตอบได้แต่ว่าหลังจากที่เช็ค VEVO เองแล้วเจอว่าไม่มีวีซ่า ก็รีบบอกเอเจนต์       เอเจนต์ก็รีบยื่นเรื่องขอ Bridging visa E (BVE) ให้   ตอนนี้คือกำลังรออิมมิเกรชั่นออก BVE ให้

คนเขียนก็ .... เอะ .... แล้วมันใช่เหรอ .... จากที่ถือ BVB อยู่ดีๆ ไปเป็นผีได้ยังไง????

..... คนทำงานด้านนี้ต้องถามคำถามนี้ซิคะ จะหลับหูหลับตายื่น BVE ให้ลูกความโดยไม่หาคำตอบได้ยังไง และประวัติลูกความก็เสียไปจากการอยู่แบบไม่ถือวีซ่า .... มันใช่เหรอ

ถ้ามันมีเหตุผลอันสมควร มีที่มาที่ไปทำให้กลายเป็นคนไม่มีวีซ่า ก็ต้องยอมรับสภาพ
แต่จากที่คนเขียนสัมภาษณ์ลูกความ และวิเคราะห์จากเอกสาร คนเขียนไม่เจอเหตุอะไรเลยที่อยู่ๆลูกความจะกลายเป็นผี ไม่มีวีซ่า คือค่อนข้างมั่นใจว่าต้องมีความผิดพลาดอะไรบางอย่างเกิดขึ้น และลูกความควรจะยังถือ BVB อยู่

แต่....เนื่องจากคนเขียนก็ไม่ใช่เอเจนต์ที่ดูแลลูกความ จะมาฟันธง รู้ดีไปกว่าเจ้าของเคสได้ยังไง (ใช่ไหม?)
คนเขียนเลยแนะนำให้ลูกความเป็นกบฏกับเอเจนต์!   เอ้ย....ไม่ใช่...
.... แนะนำให้ถามเอเจนต์ถึงเหตุผลที่มาที่ไปของการที่อยู่ๆลูกความไม่มีวีซ่า ถ้าหาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้ ก็ต้องไปสู้รบกับอิมมิเกรชั่นเอา BVB คืนมาให้ลูกความ ไม่ใช่ไปสมัคร BVE ให้ลูกความ (BVE คือวีซ่าตัวที่แย่ที่สุดในบรรดา BV ทั้งหมด ถ้าเรามีสิทธิ์ถือ BV ที่ดีกว่า ทำไมจะยอมถือ BVE - อ่านเรื่อง BV ต่างๆได้ที่นี่)

ลองนึกเล่นๆถึงสถานะของลูกความในกรณีที่ถือ BVB vs BVE ดูนะคะ

การกลับมาถือ BVE แน่นอนว่าเปลี่ยนสถานะจากผี เป็นมีวีซ่า .... สำหรับเอเจนต์เป็นทางออกที่ง่ายที่สุด ไม่ต้องคิด ไม่ต้องทำ Research ไม่ต้องไปนั่งทบทวนประวัติลูกความ ไม่ต้องไปง้างกับอิมมิเกรชั่น .... แต่ผลกระทบต่อลูกความตามมาแบบยาวๆ  เพราะตอนนี้ลูกความติด section 48 จากการถูกปฏิเสธวีซ่า 457 ทำให้ยื่นพีอาร์ในประเทศไม่ได้ จะออกไปยื่นพีอาร์แบบนอกประเทศแล้วกลับมารอเรื่องในประเทศก็ไม่ได้ เพราะ BVE ออกไปได้ กลับเข้ามาไม่ได้ ก็ต้องรอผลวีซ่าอยู่นอกประเทศเท่านั้น ลองนึกต่อว่าถ้าวีซ่าพีอาร์ไม่ผ่าน และต้องการจะขอวีซ่าชั่วคราวเพื่อกลับมา ก็คาดว่าจะติดบาร์ 3 ปี จากประวัติที่เคยอยู่แบบไม่มีวีซ่านั่นเอง)  ..... อีกทางเลือกนึง ก็คือต้องรอจน Nomination ที่ชั้นอุทธรณ์ผ่านและได้วีซ่า 457 ก่อนค่อยยื่นพีอาร์แบบในประเทศ ... แล้วถ้า Nomination ไม่ผ่าน ไม่ได้วีซ่า 457 ล่ะ (ย้อนกลับไปอ่านย่อหน้านี้อีกรอบค่ะ)

การกลับมาถือ BVB แน่นอนลูกความยังติด section 48 จากการถูกปฏิเสธวีซ่า 457 .... แต่ก็สามารถบินออกไปเพื่อยื่นพีอาร์แบบนอกประเทศและกลับมารอพีอาร์ในประเทศได้ในระหว่างที่รอผลอุทธรณ์ของ 457 .... ในกรณีที่วีซ่า 457 ไม่ผ่าน หรือวีซ่าพีอาร์ไม่ผ่าน .... ลูกความก็ยังมีสิทธิ์ยื่นขอวีซ่าชั่วคราวตัวอื่นเพื่อจะกลับเข้ามาในประเทศออสเตรเลียได้โดยไม่ติดบาร์ 3 ปี (เพราะไม่เคยมีประวัติเป็นผีมาก่อน)

โพสนี้แอดวานซ์นิดนึง อ่านแล้วงงก็ไม่แปลก ...... ถ้าอ่านแล้วเข้าใจหมดเลย ก็เก่งมากค่ะ แสดงว่าเข้าใจกฏหมายอิมมิเกรชั่นได้ดีระดับนึงเลยทีเดียว

สิ่งที่อยากจะบอกก็คือ การมีเอเจนต์หรือทนายความดูแลเคสให้เราเป็นเรื่องที่ดี แต่หัดตั้งคำถาม หัดวิเคราะห์เองด้วย ถ้าไม่แน่ใจในแนวทาง ก็หาความเห็นที่สองค่ะ ชีวิตเป็นของเรา เราต้องดูแลชีวิตและอนาคตของตัวเองด้วย

เคสนี้ ลูกความโทรมาขอบคุณที่อธิบายจนเค้าเข้าใจเคสตัวเองและฮึดไปไฟท์กับเอเจนต์ จนเอเจนต์ต้องถอน BVE application  และไฟท์กับอิมมิเกรชั่นจนได้ BVB คืนมาในที่สุด (ถือวีซ่าผิด  ชีวิตเปลี่ยนนะคะ)   ..... ส่วนวีซ่าพีอาร์ที่ลูกความต้องการยื่น เราก็หาทางจนได้ค่ะ (457 ต่อยอดไปพีอาร์ ...ไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกคน ...ไม่ง้อก็ได้)

.... รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม .... มีประโยชน์ โปรดแชร์ ....

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

แชร์ประสบการณ์ Partner visa - Schedule 3 waiver Request

13/10/2017

 
คนเขียนเพิ่งแจ้งข่าวดีให้กับลูกความคู่นึงไป ข่าวดีของคนที่ยื่นวีซ่าก็คงไม่มีอะไรนอกจากวีซ่าออกแล้ว

เคสนี้เป็นเคสที่เราดูแลกันมายาวนานพอสมควร ลูกความติดต่อคนเขียนมาตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว ลูกความไม่ถือวีซ่ามาระยะใหญ่ แต่มีแฟนออสซี่ แต่เนื่องจากกฏเกณฑ์นโยบายการขอวีซ่าคู่ครองของคนที่ไม่มีวีซ่า ก็เปลี่ยนมาระยะนึงแล้ว ซึ่งทำให้โอกาสการได้วีซ่าในเคสแบบนี้ยากขึ้นมาก

ทางเลือกของคนไม่ถือวีซ่าที่ต้องการยื่นวีซ่าคู่ครอง (ก็ได้เคยโพสไปแล้วว่า) มีอยู่สองทาง คือการกลับออกไปยื่นวีซ่าแบบนอกประเทศออสเตรเลีย หรือเสี่ยงยื่นวีซ่าแบบในประเทศออสเตรเลียถ้าคิดว่าเคสของเรามีเหตุผลที่น่าเห็นใจจริงๆ (Schedule 3 waiver request) คนเขียนใช้คำว่า"เสี่ยง" เพราะต่อให้เราคิดว่าเรามีเหตุผลน่าเห็นใจแค่ไหน เหตุผลอาจจะไม่มากพอในมุมมองของอิมมิเกรชั่น ซึ่งก็อาจจะทำให้เราถูกปฏิเสธวีซ่าได้ เมื่อถูกปฏิเสธวีซ่าในกรณีแบบนี้ ก็มีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งอุทธรณ์ก็มีความเสี่ยง อาจจะชนะหรือแพ้ ไม่มีใครตอบได้

จากประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้ คนเขียนคิดว่าเคสนี้เป็นเคสที่น่าเห็นใจจริงๆ แต่เนื่องจากว่าคนเขียนก็ไม่ใช่คนตัดสินเคส ลูกความก็ต้องเป็นคนตัดสินใจเองว่าจะเลือกทางไหนที่ตัวเองพอรับได้ ระหว่าง

1. กลับไปยื่นที่ไทย ซึ่งการพิจารณาน่าจะเร็วกว่าและมีโอกาสได้วีซ่าสูงกว่า (ถ้าความสัมพันธ์หนักแน่นมั่นคงและมีหลักฐานสนับสนุนที่ดี) แต่ก็คงจะต้องรออยู่ที่ไทยจนกว่าจะได้วีซ่า เพราะการขอวีซ่าท่องเที่ยวมาในระหว่างรอคงไม่ผ่านเนื่องจากเคยอยู่เป็นผีที่ออสเตรเลียมาระยะใหญ่ และถ้าวีซ่าคู่ครองไม่ผ่านจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ก็คงต้องรออยู่ที่ไทยจนกว่าอุทธรณ์จะผ่าน หรือได้วีซ่าประเภทอื่น

หรือ

2. เสี่ยงยื่นที่นี่ ซึ่งโอกาสที่จะถูกปฏิเสธที่ชั้นอิมมิเกรชั่นก็สูงพอสมควร แต่โอกาสที่จะชนะที่ชั้นอุทธรณ์ก็พอมี ถ้าถูกปฏิเสธ ก็มีโอกาสตัดสินใจว่าจะกลับไปวีซ่ายื่นใหม่ที่ไทยดี หรือจะเสี่ยงลุยต่อไปชั้นอุทธรณ์ดี ถ้าไม่ผ่านที่ชั้นอุทธรณ์ ก็คงจะได้กลับไปยื่นใหม่ที่ไทยจริงๆ ยกเว้นว่าจะมีเหตุให้อุทธรณ์ต่อในชั้นอื่นได้ (ซึ่งในบางเคสก็มีความเป็นไปได้)

คนเขียนง่ายๆ ถ้าลูกความลุย คนเขียนก็ลุยค่ะ แต่ก่อนลุย ลูกความต้องเข้าใจพื้นฐานเคสของตัวเองจริงๆก่อน ...
ทำงานกับคนเขียนไม่มีการเพ้นท์ภาพสวยหรู ไม่มีโลกสวย เราเอาเรื่องจริงมาคุยกัน คนเขียนไม่เห็นประโยชน์ที่จะบอกลูกความว่าเคสง่ายๆเดี๋ยวก็ได้วีซ่า ถ้าในความเป็นจริงมันไม่ใช่

สรุปว่าลูกความเลือกเสี่ยงยื่นที่นี่ คนเค้ารักกันอยากอยู่ดูแลกัน (และที่สำคัญมีเหตุผลน่าเห็นใจ) คนเขียนก็ลุย ลูกความก็ลุยค่ะ และเราก็ถูกปฏิเสธ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดคาด แต่ผิดหวัง คนเขียนก็ถามว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือจะกลับไปยื่นที่ไทย ในใจก็นึกว่าในเมื่อลุยมาถึงตรงนี้แล้ว ก็ควรจะลุยต่อ ไม่อย่างงั้นก็ควรยื่นที่ไทยตั้งแต่แรก นึกแต่ไม่ได้พูดเพราะนี่คือชีวิตของลูกความ และทั้งสองทางต่างก็มีข้อดี/ข้อเสียของมันเอง ก็ต้องให้ลูกความเลือกและตัดสินใจเอาเอง คนเขียนไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินใจแทน แต่มีหน้าที่ให้คำแนะนำประกอบการตัดสินใจ

ลูกความตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ คนเขียนชื่นใจมาก ไม่ได้ชื่นใจเพราะลูกความตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ แต่เพราะขออะไรไปก็จะพยายามหาให้อย่างรวดเร็ว แบบไม่ต้องตามไม่ต้องถามซ้ำ (proactive แบบสุดๆ) และเราก็ชนะที่ชั้นอุทธรณ์ เคสถูกส่งกลับไปให้อิมมิเกรชั่นพิจารณาต่อ และในที่สุดคุณลูกความก็ได้วีซ่าสมใจ ซึ่งในเคสนี้ลูกความได้วีซ่าคู่ครองแบบถาวรเลยด้วยค่ะ  .... คนเขียนชื่นใจและดีใจเหมือนได้วีซ่าซะเอง  ... นับรวมเวลาตั้งแต่เข้ามาขอคำปรึกษาเบื้องต้นจนถึงวันนี้ 4 ปี กับอีก 2 เดือน

หลายๆคนอาจจะสงสัยว่าแล้วจะบอกไหมว่าเหตุผลที่น่าเห็นใจมันคืออะไร ... ไม่บอก ... ความลับของลูกความบอกไม่ได้ ... และบอกไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะแต่ละเคสก็มีลักษณะเฉพาะตัว ก็ต้องพิจารณากันเป็นเคสๆไป  สำหรับบางคนที่เหมารวมว่าคนไม่มีวีซ่า/ผีจะไม่มีทางขอวีซ่าคู่ครองแบบในประเทศได้และต้องกลับไปยื่นแบบนอกประเทศเท่านั้น ก็ต้องบอกว่าไม่จริงเสมอไป

คนเขียนเคยโพสไว้นานแล้วว่าเคสบางเคสทนายหรือเอเจนต์ต้องทำงานกับเรานานเป็นปีๆ เลือกคนที่คลิ๊กกับเรานะคะ จะได้ทำงานด้วยกันอย่างสบายใจ

นอกเรื่อง .... มีน้องๆถามเกี่ยวกับ Bridging visa มาค่อนข้างเยอะ คนเขียนร่างไว้แล้วแต่ยังไม่เสร็จ รออีกแป๊บ...
ที่ถามๆกันมาก็จะพยายามตอบให้นะคะ (ถ้าตอบได้) อาจจะตอบเป็นการส่วนตัว หรือทาง Blog ในหัวข้อ ถาม-ตอบ จิปาถะ (ไม่มีความจำเป็นต้องเช็ค Blog ทุกวันนะคะ ถ้าตอบทาง Blog จะแจ้งให้ทราบว่าตอบให้แล้วใน Blog)
คำถามที่คนเขียนไม่ได้ตอบ คือคำถามที่ต้องดูเอกสารประกอบหรือต้องซักถามกันเพิ่มเติมหรือต้องอธิบายกันแบบยาวๆ ในกรณีแบบนี้รบกวนนัดปรึกษารับคำแนะนำกันแบบเป็นเรื่องเป็นราวนะคะ

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

Protection visa

23/8/2017

 
วีซ่าผู้ลี้ภัย (Protection visa) เป็นอีกวีซ่านึงที่น้องๆโทรถามอยู่เรื่อยๆ ส่วนใหญ่ถามว่ารับทำไหม และค่าใช้จ่ายเท่าไหร่  แปลกใจที่ไม่มีใครถามว่าตัวเองเข้าข่ายมีโอกาสที่จะได้วีซ่าตัวนี้หรือไม่

คนเขียนสงสัยว่าน้องๆไปเอาความคิดที่จะขอ Protection visa มาจากไหน น้องที่โทรมาส่วนใหญ่จะฟันธงมาเลยว่าต้องการให้ทำ Protection visa ไม่ถามด้วยว่าตัวเองมีทางเลือกอื่นหรือไม่

วีซ่าตัวนี้มีไว้สำหรับคนที่ไม่สามารถกลับไปประเทศของตัวเองได้ เพราะเหตุผลตามลิงค์นี้ เช่นในบางประเทศไม่ยอมรับคนที่รักชอบเพศเดียวกัน คนที่นับถือศาสนาหรือลัทธิย่อย หรือชนกลุ่มน้อย หรือในบางประเทศก็มีกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมือง จนเป็นเหตุให้มีความกลัวว่าจะถูกทำร้ายหรือจะถูกฆ่าตาย โดยที่กฏหมาย
ผู้รักษากฏหมายและรัฐบาลไม่สามารถปกป้องคุ้มครองเค้าได้ หรือไม่สนใจที่จะคุ้มครอง หรือคุ้มครองไปตามพิธีแต่ไม่ให้ความเป็นธรรม นอกจากนี้ยังต้องมาดูว่าการย้ายไปอยู่พื้นที่อื่นจะทำให้ปัญหาความกลัวว่าจะถูกทำร้ายและ
ไม่ได้รับความเป็นธรรมหมดไปหรือไม่ 

คนไทยแทบจะไม่มีเหตุที่เข้าข่ายว่าจะได้ Protection visa เลย (ใช้คำว่าแทบจะ เพราะบางเคสก็มีความเป็นไปได้ และก็เคยมีคนไทยได้ Protection visa มาแล้ว... แต่น้อยมากๆ) เคสที่ดูเหมือนจะเข้าข่าย ก็ยังไม่ทราบเลยว่าจะได้วีซ่ามารึเปล่าขึ้นอยู่กับน้ำหนักพยานหลักฐานและความน่าเชื่อถือ

เคสประมาณยืมเงินแล้วหนีหนี้มาออสเตรเลียเพราะถูกเจ้าหนี้ทวงหรือจะถูกฟ้องศาล ไปก่อคดีอาญามาและกำลังจะถูกจับ อยู่เมืองไทยตกงานเลยอยากมาอยู่ออสเตรเลียเพราะหางานทำง่าย ไม่ใช่สาเหตุที่ออสเตรเลียจะออก Protection visa ให้นะคะ 

เวลาน้องๆโทรมา คนเขียนจะถามว่าเหตุผลที่ต้องการขอ Protection visa คืออะไร กลัวอะไรที่ทำให้กลับประเทศไทยไม่ได้ คำตอบที่ได้คือไม่มีค่ะ เห็นเพื่อนๆขอกัน เห็นได้อยู่ต่อ เห็นได้ทำงาน เห็นทนาย/เอเจนต์บอกว่าเดี๋ยววีซ่าออกก็จะได้พีอาร์เลย เห็นว่าทำง่ายใครๆก็ทำกัน (สงสัยว่า "ใครๆ" ที่ว่านี่ มีใครได้ Protection visa กันบ้าง)

สำหรับน้องๆที่ยังถือวีซ่าอยู่ เช่นวีซ่าท่องเที่ยว วีซ่านักเรียน วีซ่า 457 ขอร้องว่าอย่าตัดอนาคตตัวเองด้วยการยื่น Protection visa ถ้าตัวเองไม่มีเหตุแห่งความกลัวตามลิงค์  ....ถ้าจำเป็นจะต้องยื่นวีซ่าอะไรซักอย่างเพื่ออยู่ต่อ ก็ควรจะยื่นวีซ่าที่ตัวเองอาจจะมีสิทธิ์ได้วีซ่านั้น (ไม่ว่าจะที่ชั้นอิมมิเกรชั่น หรือที่ชั้นอุทธรณ์) จะดีกว่า

ปกติแล้วคนเขียนไม่รับทำ Protection visa นะคะ .... ใช้คำว่าปกติ เพราะก็มีกรณีไม่ปกติที่คนเขียนอาจจะพิจารณารับทำอยู่บ้าง... ซึ่งน้อยมาก (ตั้งแต่ทำงานด้านนี้มา มีไม่ถึง 10 เคส และมีอยู่เคสเดียวในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา) เคสที่รับทำก็จะเป็นเคสที่ไม่มีทางเลือกอื่น (นอกจากการกลับออกไปและอาจจะไม่ได้กลับเข้ามา) และที่ทำก็เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกความได้ไปต่อในการพิจารณาชั้นอื่น ที่อาจจะทำให้ได้วีซ่าไม่ว่าจะวีซ่าชั่วคราวหรือวีซ่าถาวร (ใช้คำว่า "อาจจะ" เพราะผลลัพท์จริงๆ จะได้หรือไม่ได้วีซ่า จะได้วีซ่าชั่วคราวหรือวีซ่าถาวร วีซ่าที่ได้จะมีเงื่อนไขอะไร หรือจะต้องแพ็คกระเป๋ากลับไทยในที่สุด ไม่มีใครตอบได้ ... ซึ่งลูกความก็ต้องยอมรับความเสี่ยงและผลลัพธ์ที่อาจจะไม่ใช่อย่างใจคิดให้ได้ ก่อนที่จะเริ่มงานกัน)

ชักงงรึเปล่า ประโยคนึงบอกว่าการยื่น Protection visa เป็นการตัดอนาคต อีกประโยคบอกว่าเป็นการเปิดโอกาส

สรุปดีกว่า.... เคส Protection visa ของคนไทยส่วนใหญ่เป็นเคสที่จะไม่ประสบความสำเร็จ เป็นการชะลอเวลากลับบ้าน และเมื่อถูกปฏิเสธก็คาดว่าจะติด section 48 บาร์ ซึ่งอาจจะทำให้ไม่สามารถยื่นวีซ่าแบบในประเทศตัวอื่นที่อาจจะมีสิทธิ์ยื่นได้ในอนาคต เคสที่ปั้นเรื่องขึ้นมาก็อาจจะถูกปฏิเสธพร้อมติดบาร์ 3 ปีจาก Public Interest Criterion 4020 ..... ถ้าทราบอยู่แล้วว่าผลลัพธ์จะเป็นประมาณนี้ แล้วยังอยากจะทำ Protection visa ก็ไม่มีใครห้ามได้ (แต่คนเขียนไม่รับทำ)  ถ้าไม่ทราบเพราะถูกหลอกว่าทำได้ง่ายๆและในที่สุดจะได้พีอาร์ ก็ทราบซะนะคะว่าตัวเองถูกหลอก (เคส Protection visa ของคนไทยที่เข้าข่ายจะได้วีซ่า คนเขียนคิดว่ามีไม่ถึง 1%)
..... มีน้องๆมาบอกว่าเห็นเพื่อนๆ คนรู้จักทำกับนายหน้าบ้าง เอเจนต์บ้าง บางคนทำกับทนายความด้วย เสียเงินเป็นหมื่นเหรียญและเค้าสัญญาว่าจะได้พีอาร์ พอถามว่าแล้วตกลงเพื่อนได้พีอาร์รึเปล่า น้องบอกยังไม่เห็นมีใครได้เลย บางคนแพ็คกระเป๋ากลับบ้านไปแล้ว.... อ้าว... รู้อย่างนี้แล้ว จะมาถามหา อยากทำ Protection visa เพื่ออะไร..... ถ้าจะเสียเงินเป็นหมื่นเหรียญ เอาเงินนี้ไปเสียกับการทำวีซ่าที่ตัวเองมีสิทธิ์ลุ้นดีกว่าไหมคะ

เคสที่คนเขียนอาจจะพิจารณารับทำคือเคสที่ไม่มีทางเลือกอื่นที่เหมาะสมกว่านอกจากการยื่น Protection visa และมีเหตุผลที่น่าเห็นใจที่เข้าข่ายว่าอาจจะมีโอกาสได้วีซ่า ณ จุดใดจุดหนึ่งในกระบวนการทางด้านคนเข้าเมืองซึ่งก็ไม่ได้มีแค่การยื่นวีซ่าและการยื่นอุทธรณ์เท่านั้น (ซึ่งเหตุผลน่าเห็นใจ ก็อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเหตุผลทาง Protection visa เลย แต่ต้องน่าเห็นใจจริงๆ)  และเคสประมาณนี้เราดูแลกันเป็นปีหรือหลายปี เพราะเคสจะไม่ได้จบแค่การยื่น Protection visa นะคะ

ปล. "เข้าข่ายว่าอาจจะมีโอกาสได้วีซ่า" แปลว่ามีความเป็นไปได้ มีความน่าจะเป็น โดยพิจารณาจากเทรนการตัดสิน และนโยบายของรัฐบาลหรือรัฐมนตรีว่าการคนเข้าเมืองในช่วงเวลานั้นๆ ไม่ได้แปลว่าจะได้วีซ่าแน่ๆ นะคะ เพราะไม่ว่าจะรัฐบาล รัฐมนตรี หรือนโยบาย ก็มีการเปลี่ยนแปลงได้ ... ถึงได้บอกว่าไม่ว่าใครก็รับประกันความสำเร็จของงานไม่ได้...

ไม่ได้บอกว่าคนไทยไม่มีสิทธิ์ได้ Protection visa แค่บอกว่าโอกาสได้ยากมาก
ไม่ได้บอกว่าคนเขียนไม่รับทำ Protection visa อ่านเงื่อนไขก็จะทราบว่าคนเขียนรับทำ (น้อยมาก)

ลิงค์จาก: www.border.gov.au

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

Partner visa กับคนที่วีซ่าขาด

17/8/2017

 

มีน้องๆที่วีซ่าขาดติดต่อเข้ามาอยู่เรื่อยๆนะคะ หนู/ผมมีแฟนเป็นชาวออสเตรเลีย/เป็นพีอาร์ จะยื่นวีซ่าคู่ครองที่นี่ได้ไหม

คำตอบคือถ้าไม่มีเหตุผลน่าเห็นใจจริงๆ ยากค่ะ  แปลว่าถ้ามีเหตุผลที่หนักแน่นจริงและสามารถนำเสนอได้ พิสูจน์ได้  ก็ยังมีโอกาส (แต่ไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน)

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ถ้าสามารถพิสูจน์ความสัมพันธ์ได้ถึงสองปี หรือมีลูกด้วยกัน หรือมีเหตุผลน่าเห็นใจพอสมควรก็โอเคแล้ว

แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ อิมมิเกรชั่นปรับเปลี่ยนนโยบายภายในใหม่ (ตัวบทกฏหมายยังคงเดิม) การพิจารณาก็จะเพ็งเล็งไปที่ทำไมผู้สมัครถึงไม่มีวีซ่า ทำไมเป็นผีมาหลายปี ได้พยายามติดต่ออิมมิเกรชั่นเพื่อแก้ไขสถานะของตัวเองหรือไม่ หรืออยู่เป็นผีไปเพื่อรอเวลายื่นวีซ่า

ในบางเคสถึงแม้จะมีเหตุผลน่าเห็นใจจริงๆ (เช่นมีลูกเล็กด้วยกัน สปอนเซอร์ป่วยไม่สบาย ต้องการคนดูแล) อิมมิเกรชั่นก็ยังไม่สนใจ ปฏิเสธแบบไม่เห็นใจใดๆทั้งสิ้น สนใจอย่างเดียวคือการมีประวัติการอยู่เป็นผีมาก่อนการยื่นวีซ่า

เพราะฉะนั้นใครที่ยังไม่เป็นผี ก็ไม่ต้องพยายามจะเป็นนะคะ (จริงๆแล้ว ไม่ต้องเคสผีหรอกค่ะ เคสถือ Bridging visa ก็ต้องพิสูจน์เหตุผลน่าเห็นใจด้วยเช่นกัน)

เคสผี และเคส ฺBridging visa ถ้าไม่มีเหตุผลที่น่าเห็นใจจริงๆ ก็ต้องแนะนำให้กลับไปยื่นแบบนอกประเทศ แปลว่าจะไปยื่นไปรอที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่ในประเทศออสเตรเลีย แต่เพราะว่าระยะเวลาการรอก็ประมาณ 8-12 เดือน หรือนานกว่านั้นในบางเคส ส่วนใหญ่ก็จะกลับไปยื่นไปรอที่ประเทศบ้านเกิดของตัวเองกัน

ประวัติการอยู่เป็นผีมาก่อน เช่นการอยู่เลยกำหนดวีซ่า การเคยถูกปฏิเสธเพราะอิมมิเกรชั่นไม่เชื่อว่าตั้งใจจะเป็นนักเรียนจริง หรือการถูกยกเลิกวีซ่าเพราะทำผิดเงื่อนไขวีซ่า โดยทั่วไปแล้วไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับการยื่นวีซ่าคู่ครองแบบนอกประเทศ ถ้าหลักฐานความสัมพันธ์แน่น โอกาสผ่านก็สูงค่ะ การติดบาร์ 3 ปี จากการอยู่เลยกำหนดวีซ่าหรือการถูกยกเลิกวีซ่า ไม่ได้มีผลกับวีซ่าคู่ครองแบบนอกประเทศนะคะ

เคสที่น่ากังวัลคือเคสที่มีประเด็นอื่นพ่วงมาด้วย เช่น มีปัญหาสุขภาพ มีประวัติคดีอาญา เคยถูกปฏิเสธหรือถูกยกเลิกวีซ่าเพราะเคยให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในใบสมัครเก่า หรือเคยมีการปลอมแปลงเอกสาร  ประเด็นพวกนี้อาจจะมีผลกับการพิจารณา ซึ่งก็ต้องมาดูว่าควรจะเสี่ยงออกไปหรือไม่ เพราะออกไปแล้วอาจจะไม่ได้กลับเข้ามา

คนเขียนมีลูกความทั้งสองประเภทนะคะ ประเภทที่ต้องแนะนำให้ยื่นแบบนอกประเทศ เพราะไม่มีเหตุผลน่าเห็นใจอะไรที่เข้าข่ายให้ได้ลุ้นเลย

กับประเภทที่เข้าข่ายมีเหตุผลน่าเห็นใจที่อิมมิเกรชั่นอาจจะพิจารณาออกวีซ่าคู่ครองแบบในประเทศให้ ซึ่งเทรนปัจจุบันต้องบอกว่ายาก และอาจจะมีหวังที่ชั้นอุทธรณ์ซะมากกว่า  ลูกความกลุ่มนี้ก็ต้องยอมรับว่าค่าใช้จ่ายจะสูงเพราะมีแนวโน้มไปถึงชั้นอุทธรณ์ และก็ต้องยอมรับความไม่แน่นอน เพราะถ้าอุทธรณ์ไม่ผ่าน ก็ต้องเสียตังค์เสียเวลาต่อเพราะอาจจะต้องยื่นแบบนอกประเทศในที่สุด

คนเขียนมีเคสนึงที่เพิ่งชนะที่ชั้นอุทธรณ์เมื่อเร็วๆนี้ เคสนี้ถึงแม้จะมีเหตุผลที่น่าเห็นใจ คนเขียนก็ยังเสนอแนะให้ยื่นแบบนอกประเทศ เพราะห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายและความไม่แน่นอนว่าเคสจะไปจบตรงไหน ค่าใช้จ่ายจะปานปลายไปเท่าไหร่ ในขณะที่ถ้ายื่นแบบนอกประเทศ เคสนี้ไม่ควรจะติดปัญหาอะไรเลย แต่ลูกความก็ยืนยันจะยื่นที่นี่เพราะความรักและความต้องการที่จะดูแลกัน (บวกกับความกลัวว่าจะไม่ได้กลับมา ทั้งๆที่บอกแล้วว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรถ้ายื่นนอกประเทศ)  ลูกความลุยคนเขียนก็ลุยค่ะ แล้วเราก็ถูกปฏิเสธที่ชั้นอิมมิเกรชั่น.... (แน่นอนว่าลูกความเศร้า แต่รับได้ เพราะทราบความเสี่ยงมาตั้งแต่ต้นแล้วก่อนตัดสินใจยื่นแบบในประเทศ) ....เราก็ลุยต่อ และเราก็ชนะที่ชั้นอุทธรณ์...... เย้

คนเขียนก็มาลุยมาลุ้นเคสอื่นที่รออุทธรณ์ต่อ...  ไม่ได้แปลว่าเคสที่ไปถึงอุทธรณ์แล้วจะต้องผ่านทุกเคสนะคะ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่างประกอบกัน ที่สำคัญมากคือลูกความต้องเต็มร้อยกับงาน

คนเขียนไม่โลกสวยนะคะ และแนะนำลูกความอย่างจริงใจตรงไปตรงมา ยากก็บอกว่ายาก ไม่น่าจะมีปัญหาก็บอกว่าไม่น่าจะมีปัญหา แต่ผ่านแน่ๆได้วีซ่าแน่ๆบอกไม่ได้ เพราะไม่ใช่คนตัดสินเคส .... แถมบางเคสก็งานงอกระหว่างทาง เช่นลืมแจ้งชื่อเดิม ลืมแจ้งว่ามีลูก ลืมว่าเคยมีคดี ลืมว่าเคยเปลี่ยนชื่อ ลืมแจ้งสถานะว่าเคยแต่งงาน (มีลืมว่าเคยแต่งงานมาก่อนด้วยนะ !!)

เขียนซะยาว หวังว่าข้อมูลจะเป็นประโยชน์นะคะ... คนเขียนไม่มีแพท์เทิร์น เขียนเมื่ออยากเขียน เขียนเมื่อมีเวลา ... ขอบคุณน้องๆที่โทรมาบอกว่ายังติดตาม.... จะพยายามเขียนถี่ขึ้น...

เดี๋ยวคราวหน้ามาต่อกันด้วย Protection visa วีซ่ายอดฮิตของคนบางกลุ่ม (จริงๆ ร่างไว้นานแล้ว แต่ยังไม่มีเวลาขัดเกลา รอต่อไปอีกนิดนะคะ)


Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

อย่ารอจนวินาทีสุดท้าย

26/5/2017

 
คนเขียนจะบอกลูกความ และน้องๆที่โทรมาขอคำปรึกษาเสมอว่า อย่ารอจนวินาทีสุดท้ายนะคะ พร้อมแล้วยื่นเลย (ในบางเคสไม่พร้อมที่สุด ยังต้องยื่นเลยเพราะรอแล้วอาจจะพลาดโอกาสได้)

"ยื่น" ที่ว่านี่คือ ยื่นใบสมัครวีซ่า ยื่นอุทธรณ์นะคะ

จริงๆแล้วมันเป็นอะไรที่เข้าใจได้ง่าย แต่บางคนไม่พยายามที่จะเข้าใจ หรือไม่ได้ใส่ใจ แต่บางอย่างพลาดแล้วพลาดเลยนะคะ ...... ยกตัวอย่างดีกว่าจะได้เห็นภาพ

ตัวอย่างที่ 1

น้องอยู่ในวีซ่า 485 กำลังจะหมดอายุ น้องยื่นวีซ่านักเรียนเข้าไปก่อนวีซ่าหมดอายุ 1 วัน ชำระค่าใบสมัครวีซ่าผ่านบัตรเครดิต ปรากฏว่าเงินค่าประกันสุขภาพตัดบัตรวันนั้นพอดี วงเงินที่เหลือไม่พอให้อิมมิเกรชั่นหักค่าใบสมัครวีซ่านักเรียน กว่าอิมมิเกรชั่นจะแจ้งให้ทราบ กว่าจะมีเงินพอให้หักค่าวีซ่านักเรียน วีซ่า 485 ก็หมดอายุไปแล้ว 4 วัน

แปลว่าไม่สามารถยื่นวีซ่านักเรียนในประเทศออสเตรเลียได้ เพราะวีซ่าที่ยื่นไปถึงแม้ว่าจะทันเวลา แต่เก็บค่ายื่นไม่ได้ เป็น invalid application  พอเก็บค่ายื่นได้ วีซ่า 485 ก็หมดอายุไปแล้ว ก็เป็น invalid application อยู่ดี

"invalid application" คือใบสมัครที่อิมมิเกรชั่นไม่สามารถพิจารณาได้ คือจะออกวีซ่าให้ก็ไม่ได้ จะปฏิเสธก็ไม่ได้ (ก็ไม่ต้องหวังยื่นอุทธรณ์ด้วย เพราะไม่มีการปฏิเสธวีซ่าเกิดขึ้น) อิมมิเกรชั่นทำได้อย่างเดียว คืนเงินค่าสมัครให้

ตัวอย่างที่ 2

น้องอยู่ในวีซ่านักเรียน กำลังจะหมดอายุ น้องจะยื่นวีซ่านักเรียนต่อ เอเจนต์งานยุ่ง น้องก็ยุ่งกับภาระกิจอื่น เอเจนต์บอกว่าไม่เป็นไรน้องยังยื่นวีซ่านักเรียนได้ภายใน 28 วันหลังวีซ่านักเรียนตัวเดิมหมดอายุ

ถูกต้องนะคะ ทำได้ค่ะ แต่หนเดียวเท่านั้น ปรากฏว่าเอเจนต์ไม่ทราบว่าใช้ได้แค่หนเดียว หรือไม่ทราบว่าน้องเคยยื่นช้ามาแล้วหนนึง เลยเรื่อยเฉื่อยๆและยื่นวีซ่านักเรียนตัวใหม่เข้าไปหลังวีซ่านักเรียนหมดอายุ

เหมือนข้อ 1 ค่ะ ไม่สามารถยื่นวีซ่านักเรียนในประเทศออสเตรเลียได้แล้ว และวีซ่าที่ยื่นไปก็เป็น invalid application

ตัวอย่างที่ 3

น้องถือวีซ่า 457 ซึ่งไม่มีทางต่อยอดไปเป็นพีอาร์หรือต่อ 457 อีกครั้งได้ (ด้วยเหตุผลหลายๆอย่างที่จะไม่เอ่ยถึง) น้องไปหาเอเจนต์นักเรียนเพื่อจะขอวีซ่านักเรียนใหม่ (บางเคสมีลุ้นนะคะ อาจจะผ่าน อาจจะไม่ผ่าน ไม่ลองไม่รู้)

น้องไปหาเอเจนต์แต่เนิ่นๆ จ่ายเงิน เลือกคอร์ส ส่งเอกสาร เอเจนต์งานยุ่งลืมยื่น เลยวันที่วีซ่า 457 หมดอายุไปสองวัน แถมบอกน้องว่าไม่เป็นไรวีซ่าหมดอายุก็ยื่นได้ ถ้ายื่นภายใน 28 วัน

ไม่ถูกต้องนะคะ วีซ่า 457 ไม่อยู่ในลิสของวีซ่าที่ถ้าหมดอายุแล้วจะยังยื่นวีซ่านักเรียนได้ภายใน 28 วัน

แปลว่าในเคสนี้ก็ไม่สามารถยื่นวีซ่านักเรียนในประเทศออสเตรเลียได้แล้วค่ะ และวีซ่าที่ยื่นไปเป็น invalid application

ตัวอย่างที่ 4

น้องถูกปฏิเสธวีซ่า ต้องยื่นอุทธรณ์ไปที่ AAT ให้ทันเวลา (21 วัน นับจากวันที่ถือว่าได้รับแจ้ง) ตั้งใจจะยื่นวันสุดท้ายและวินาทีสุดท้าย ระบบขัดข้องปิดปรับปรุง พลาดค่ะ เลยกำหนดยื่นไป 1 วัน

แปลว่า AAT ไม่มีสิทธิ์พิจารณาเคสอุทธรณ์นี้ค่ะ (no jurisdiction)

ตัวอย่างที่ 5

เคสนี้หลายปีมากแล้วนะคะ ลูกความติดต่อคนเขียนมาเนิ่นๆ ขอคำปรึกษาจะทำพีอาร์ผ่านวีซ่า 457 ที่ถือมาเกิน 2 ปีแล้ว ลูกความอายุเกิน 50 ภาษาอังกฤษไม่ได้ คนเขียนแจ้งว่าถ้าจะยื่นก็ต้องรีบยื่นนะคะ ก่อน 30 มิถุนายน (ปีอะไรจำไม่ได้แล้ว) พลาดแล้วพลาดเลยเพราะกฏจะเปลี่ยนวันที่ 1 กรกฏาคม บอกด้วยว่าเป็น Paper application นะคะ และขอยกเว้นทั้งอายุและภาษาต้องทำ Submissions + เอกสารอีกมากมาย ถ้าจะยื่นแจ้งกันแต่เนิ่นๆ จะได้มีเวลา
เตรียมเคสให้แน่นๆ เผื่อเวลาสำหรับส่งไปรษณีย์ courier อะไรไว้ด้วย

คนเขียนตามลูกความอยู่หลายครั้ง เพราะกลัวจะพลาดโอกาสสุดท้ายและพีอาร์จะหลุดลอยไป 

ปรากฏว่าลูกความติดต่อมาให้ทำเคสให้ในวันที่ 30 มิถุนายน ... สี่โมงเย็น .....
....วันสุดท้ายที่มีสิทธิ์ยื่น .... และเป็นวันเสาร์ ...............


พอแล้วมั้งคะสำหรับตัวอย่าง พอเห็นภาพนะคะ ..... สรุปสั้นๆ

1. เคสส่วนใหญ่ เมื่อพร้อมก็ควรยื่น อย่ารอจนวินาทีสุดท้าย

2. เคสบางเคส ต้องดูลาดเลาว่ายื่นตอนไหนถึงจะเหมาะสม และเพิ่มโอกาสในการได้วีซ่า

3. เคสบางเคสไม่พร้อมก็ต้องยื่น เพราะวีซ่ากำลังจะหมด เวลาการยื่นอุทธรณ์ใกล้เข้ามา หรือกฏกำลังจะเปลี่ยน

4. ไม่มีคำแนะนำแบบตายตัว ที่จะปรับใช้ได้กับทุกเคสนะคะ แต่ละเคสมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง  ไม่แน่ใจว่าเคสของตัวเองควรจะทำยังไง หาคำแนะนำแต่เนิ่นๆ จะได้มีเวลาเตรียมตัวทำเคสแน่นๆ

5. รับผิดชอบชีวิตตัวเองด้วยนะคะ อย่าเอาชีวิตตัวเองไปฝากไว้กับคนอื่นอย่างเดียว
(ไม่ได้แนะนำให้ทำเคสเองหรือไม่ทำเคสเอง ... ทำเองได้ถ้าสามารถ ... แต่หมายความว่าถ้าจะใช้บริการเอเจนต์ก็ติดตามเคสตัวเองด้วยว่าเคสไปถึงไหนแล้ว ต้องการอะไรเพิ่ม จะยื่นได้ทันเวลาไหม ... เราต้อง Proactive ค่ะ)

ป.ล.1 คนเขียนชอบลูกความที่ Proactive ค่ะ โทรถาม โทรตาม โทรขออัพเดท โทรเช็คเอกสาร ไม่ว่าเลย ชอบด้วยซ้ำ ... ถามซ้ำเดิมๆก็ได้ สงสัยถามมา อธิบายแล้วอธิบายอีกก็ได้ไม่ว่ากัน

แถม ตัวอย่างที่ 6 (เมื่อเร็วๆนี้เองค่ะ)

น้องถือวีซ่านักเรียนที่กำลังจะหมด จะต่อวีซ่านักเรียน จ่ายเงิน ส่งเอกสาร รอเอเจนต์ยื่นเรื่องให้ รอแล้วรออีก โทรมาถามคนเขียนว่าทำยังไงดีคะ เอเจนต์ไม่ยื่นให้ซะที กังวลมากเหลืออีก 2 วันวีซ่าจะหมดอายุ

คนเขียนแจ้งน้องให้ทราบว่าวีซ่านักเรียนหมด ก็ยังสามารถต่อวีซ่านักเรียนภายใน 28 วันได้หนึ่งครั้ง แต่อย่าสบายใจเพราะน้องอาจจะไม่ทราบว่าตัวเองเคยใช้สิทธิ์นี้มาแล้วหรือยัง เอเจนต์อาจจะเคยยื่นช้าแต่ไม่ได้แจ้งน้อง หรือถึงไม่เคยยื่นช้าเลย ทำไมจะต้องเคยด้วย ถ้าเรายังอยู่ในภาวะที่สามารถยื่นได้ทันเวลา

สรุปว่าคนเขียนแนะนำให้น้องไปนั่งกดดันเอเจนต์ให้ยื่นให้ทันเวลา ไม่ยื่นไม่ต้องกลับ นั่งอยู่ที่นั่นแหละ (ไม่รู้ว่าน้องจะกล้ารึเปล่านะ) อีกทางเลือกนึง เปลี่ยนเอเจนต์ค่ะ

ป.ล.2 คนเขียนไม่ได้โพสทุกคำถามคำตอบที่ส่งเข้ามานะคะ ถ้าข้อมูลไม่เพียงพอที่จะพิจารณาและให้คำตอบที่เอาไปปรับใช้ได้จริง ก็จะไม่ได้ตอบนะคะ

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

เมื่อวีซ่านักเรียนถูก Cancelled - student visa cancellation

8/3/2014

 
คงไม่มีใครอยากถูกยกเลิกวีซ่าหรอกนะคะ ทางที่ดีที่สุดคือตั้งใจเรียน ทำattendance ให้ครบตามจำนวนที่กำหนด สอบให้ผ่าน เพื่อที่จะได้ไม่เกิดปัญหา -- สรุปว่าปฏิบัติตามกฏ กติกา แล้วชีวีตจะปลอดภัย และอยู่ในออสเตรเลียได้อย่างมีความสุข

ในกรณีที่ปัญหาเกิดขึ้นแล้ว วีซ่านักเรียนได้ถูกยกเลิกไปเรียบร้อย ก็ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องพยายามแก้ปัญหากันไป คนเขียนมีอดีตนักเรียนหลายคนที่ติดต่อเข้ามาเพราะวีซ่านักเรียนถูกยกเลิก บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองอยู่แบบไม่มีวีซ่ามาเป็นปี ที่ติดต่อคนเขียนก็เพราะต้องการทำวีซ่าตัวอื่นเช่น วีซ่าคู่ครอง หรือวีซ่า 457 และก็ได้รู้ตอนที่เข้ามาคุยกับคนเขียนนั่นเองว่าตัวเองเป็นผี (แบบไม่รู้ตัวว่าเป็นผี) มานานมาก โชคดีที่ไม่ถูกจับ ส่งตัวกลับเมืองไทย

กรณีที่เห็นบ่อยก็เช่น เปลี่ยนที่อยู่ และ/หรือ อีเมล์ แต่ไม่ได้แจ้งให้ทางโรงเรียนและอิมทราบ ผลก็คือไม่ได้รับจดหมาย หรือ Notification ที่ทางโรงเรียน หรืออิมส่งมา และวีซ่าก็ถูกยกเลิกในที่สุด  ในกรณีที่ถือวีซ่าติดตามแฟน หากวีซ่าหลักถูกยกเลิก วีซ่าของคนที่ติดตามก็จะถูกยกเลิกตามไปด้วย

สำหรับอดีตนักเรียนหมาดๆ ที่วีซ่าเพิ่งจะถูกยกเลิกไป เราต้องคิดเร็ว และทำเร็วค่ะ เพราะต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ถือว่าได้รับ Notification ตามกฏหมาย
   
คนเขียนเสียดายแทนน้องหลายๆคน ที่ปล่อยให้ตัวเองพลาดอุทธรณ์ -- ในหลายๆเคส แม้เจ้าตัวจะคิดว่าไม่มีหวัง เมื่อเข้ามาคุยกัน ให้คนเขียนสัมภาษณ์แบบเจาะลึก บางเคสต้องบอกว่ามีโอกาสมากที่จะได้วีซ่าคืน เพราะฉะนั้นอย่าเสียโอกาสค่ะ  บางเคสก็เป็นเพียงแค่การชลอเวลากลับเมืองไทย สิ่งที่อยากจะบอกก็คือ อย่าเพิ่งถอดใจค่ะ และควรขอคำแนะนำจาก Professional โดยเร็วที่สุด

มีน้องบางคนบอกว่าไปปรึกษา Migration Agent แล้ว แต่ Agent บอกว่าเคสไม่มีหวัง เลยไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ คนเขียนอยากจะเปรียบเทียบการใช้บริการด้านนี้กับการไปหาหมอ อะไรที่สำคัญกับชีวิตและอนาคต ก็ควรมี Second opinion หรือ Third opinion เพราะหมอแต่ละคนก็มีความเห็น มุมมอง และวิธีการรักษาแตกต่างกันไป ไม่ต่างจาก Immigration Lawyer หรือ Migration Agent หรอกค่ะ  คนที่บอกว่าหมดหวัง เค้าอาจจะคิดแบบนั้นจริงๆ จะด้วยประสบการณ์ที่แตกต่าง มุมมองเฉพาะตัว หรืออาจจะไม่ได้สัมภาษณ์กันแบบเจาะลึก หลายๆครั้งเมื่อลงลึกในแต่ละเคส จากที่เหมือนจะไม่มีทางออกและหมดหวัง กลับกลายเป็นพอมีความหวัง แน่นอนว่าคงไม่มี Professional คนไหนรับประกันได้ว่าน้องจะได้วีซ่าคืนแน่ๆ แต่เมื่อมีความหวัง และยังอยากจะอยู่ที่นี่ต่อ ก็ต้องลุยไปข้างหน้า - ยื่นอุทธรณ์ (หรือไม่ก็แพ็คกระเป๋าเตรียมกลับบ้าน) 

Visa Cancellation ในความเห็นของคนเขียนถือเป็น Complex case คือเคสที่มีความซับซ้อน เนื่องจากว่าเมื่อวีซ่าถูกยกเลิกแล้ว ผลกระทบที่ตามมาก็คือ Section 48 Bar (คืออะไร?? อ่านได้ ที่นี่ ค่ะ) ยังไม่หมดค่ะ ยังถูก Bar ไม่ให้สมัครวีซ่าอีกหลายๆชนิด (รวมถึงวีซ่า 457) ในระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วีซ่าถูกยกเลิกด้วย ไม่ว่าจะยื่นใน หรือนอกประเทศออสเตรเลีย ในบางเคสก็อาจจะถูก Bar ด้วยกฏตัวอื่นๆเพิ่มขึ้นมาอีก

เห็นมั๊ยคะว่าเคสวีซ่า Cancellation นั้นไม่ง่ายเลย ยื่นอุทธรณ์ไปแล้วก็ไม่ควรปล่อยเลยตามเลย แต่ควรมีการวางแผนการใช้ชีวิตระหว่างรอ เพื่อที่จะทำให้เคสของเรามีความหวังมากที่สุด และมองหา Backup plan แต่ละเคส Backup plan ไม่เหมือนกันค่ะ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เฉพาะตัวของเคสนั้นๆ

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

จะยื่นวีซ่า จำเป็นต้องใช้ Migration Agent หรือไม่

10/10/2013

 
คำตอบคงแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนตอบแต่ถ้าถามคนเขียน แน่นอนว่าคำตอบต้องเป็นว่า "ควรจะ" หรือในบางกรณี "ต้องใช้" ถ้าไม่อยากเสียเงิน เสียเวลา เสียประวัติ และในบางเคสเสียอนาคตที่จะได้อยู่ในประเทศนี้

การที่เรายื่นขอวีซ่าแล้วจะได้หรือไม่ได้วีซ่านั้น อิมพิจารณาอยู่บนพื้นฐานของ:-
    1.  ตัวบทกฏหมายคนเข้าเมือง และ
    2.  นโยบายของรัฐบาลในช่วงเวลานั้นๆ 
อย่างที่เคยกล่าวมาแล้ว บางครั้งเรายื่นเอกสารตาม checklist ที่หาได้จากเวปของอิม ไม่เพียงพอ และมีหลายเคสที่ถูกปฏิเสธทั้งที่ยื่นเอกสารทุกอย่างที่อิมต้องการ  เหตุผลส่วนใหญ่ของการถูกปฏิเสธก็เพราะเอกสารที่ยื่นไปไม่มีคุณภาพ

ในความเห็นของคนเขียนนะคะ คนที่อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้บริการของ Registered Migration Agent (RMA) หรือ Immigration Lawyer ก็คือคนที่ยื่นวีซ่าที่ไม่มีความซับซ้อนมาก เช่นวีซ่าท่องเที่ยว, อ่านข้อมูลจากอิมแล้วเข้าใจ, และไม่ได้มีประวัติทางอิมมิเกรชั่นที่ซับซ้อน เช่นไม่เคยถูกปฏิเสธ หรือยกเลิกวีซ่า, ไม่เป็นผี, วีซ่าตัวปัจจุบันไม่มีเงื่อนไขที่ทำให้ยากต่อการยื่น

คนที่ "ควรจะ" หรือ "ต้องใช้" บริการของ Professional ก็คือคนที่ยื่นวีซ่าที่ค่อนข้างซับซ้อน และมีข้อกำหนดมากมาย เช่น 457, ENS, RSMS, Partner visa และคนที่มีประวัติทางอิมมิเกรชั่นที่ยุ่งเหยิง ส่วนใหญ่เจ้าตัวจะรู้ดีว่าประวัติตัวเองมีความเสี่ยงหรือไม่

ยกตัวอย่าง Partner visa

หลายคนอาจจะเถียงอยู่ในใจว่า Partner visa ง่ายนิดเดียวทำเองก็ได้  สำหรับคนเขียนคิดว่าจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก ขึ้นอยู่กับเคสแต่ละเคส  คนที่ทำเองและได้วีซ่ามาแล้ว ก็ต้องว่าง่ายล่ะ  คนที่ทำเองแล้วถูกปฏิเสธมา ก็มานั่งเสียใจว่า รู้อย่างงี้ใช้บริการ Professional ตั้งแต่แรกดีกว่า

คนเขียนมีคนที่ถูกปฏิเสธ Partner visa ติดต่อเข้ามามากมาย บางคนก็ใช้บริการ Agent ที่ไม่ใส่ใจ ไม่ตาม และสะเพร่าในการทำงาน บางคนก็อ่านเอง ทำเอง, ทำตามเพื่อนบอก, แฟนออสซี่ยืนยันว่าเค้าทำได้ สารพัดเหตุผล ......ปัญหาก็คือ เมื่อมาถึงจุดที่ถูกปฏิเสธวีซ่า บางเคสก็โชคดีพอมีทางแก้ไข แต่เสียตังค์เพิ่ม และแน่นอนเสียเวลา ..... บางเคสก็ไม่มีทางแก้ นอกจากจะต้องออกจากประเทศออสเตรเลีย

เมื่อเร็วๆนี้คนเขียนได้ให้คำปรึกษากับลูกความชาวเม็กซิกัน ซึ่งมาหาคนเขียนหลังจากที่ได้ยื่น Partner visa เข้าไปเอง รอมาปีกว่า ก็ได้รับจดหมายจากอิมขอเอกสารเพิ่มเติม เจ้าตัวเริ่มกังวลว่าควรยื่นเอกสารอะไรบ้าง เพื่อที่วีซ่าจะได้ผ่านแน่ๆ  หลังจากคนเขียนได้อ่านจดหมายจากอิม และซักถามประวัติอยู่ชั่วโมงกว่า ก็สรุปได้ว่า....ไม่ว่ายื่นเอกสารอะไรเข้าไปเคสนี้ก็ไม่ผ่าน (ถ้าผ่านก็ฟลุกล่ะ)  ลูกความร้องไห้ พร้อมบอกคนเขียนว่าก่อนยื่นก็ไปหา Agent มา Agent บอกว่าไม่มีปัญหายื่นได้ เจ้าตัวก็เลยยื่นเอง คนเขียนก็ตอบไม่ได้ (เพราะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์) ว่า Agent คนนั้นไม่ดูเคสให้ละเอียด หรือไม่เชี่ยวชาญพอเลยให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือให้ข้อมูลถูกต้อง แต่ลูกความต้องการประหยัดเลยทำไปตามมีตามเกิด (และตามความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง)  ผลสุดท้ายเคสนี้แทนที่จะเป็นการประหยัดตังค์ กลายเป็นเคสที่ทั้งแพง เพราะจะต้องเสียตังค์ซ้ำซ้อน และเสียเวลาไปอีกอย่างน้อยๆ 2-3 ปี .....  ณ จุดนี้จะไม่ให้ Professional ทำก็ไม่ได้แล้ว เพราะกลายเป็น Complex case ซึ่งแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายสูงไปตามความยากของงาน ..... ถามว่าคุ้มกันไหม กับเวลาที่เสียไป

นอกจากปัญหาวุ่นวายนี้แล้ว ตลอดเวลาปีว่าที่รอเรื่องมา ลูกความท่านนี้ถือ Bridging visa ที่ไม่สามารถทำงานได้ ด้วยความไม่รู้ และไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง ก็ทำงานหลบๆซ่อนๆ เสี่ยงต่อการถูกจับมาปีกว่า ทั้งๆที่ไม่จำเป็นเลย เพราะลูกความท่านนี้จริงๆแล้วสามารถที่จะขอเปลี่ยนเงื่อนไขให้ทำงานได้

บางครั้งความไม่รู้ ทำให้เราพลาดสิ่งที่ไม่ควรจะพลาด เสียโอกาสที่ไม่ควรจะเสีย

คนเขียนไม่ได้บอกว่าทุกคนจำเป็นต้องใช้บริการของ Registered Migration Agent หรือ Immigration Lawyer นะคะ  แต่ละคนก็ต้องใช้วิจารณญานของตัวเอง ว่าเคสของเราจำเป็นต้องใช้บริการของ Professional หรือไม่  เราเข้าใจข้อกฏหมายและนโยบายที่อิมจะเอามาปรับใช้แค่ไหน และยอมรับความเสี่ยงที่จะทำเองและอาจมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้หรือไม่

คนเขียนแค่รู้สึกเสียดายโอกาสของหลายๆคน ที่ถ้าทำให้ถูกต้องตั้งแต่แรก ก็คงไม่มาอยู่ที่จุดนี้ที่ต้องเสียตังค์ซ้ำซ้อน และชีวิตก็จะยังไม่แน่นอนไปอีกหลายปี

สำหรับคนที่เดินผิดพลาด เอาใจช่วยค่ะ
สำหรับคนที่กำลังตัดสินใจว่าจะทำเองดีหรือไม่ คิดให้ถี่ถ้วน อ่านแล้วอ่านอีก ถ้ามั่นใจ ลุยเลยค่ะ แต่อย่าทำอะไรครึ่งๆกลางๆ ถ้าจะทำเองทำให้ดีที่สุด จะได้ไม่มาเสียใจทีหลัง ถ้าไม่มั่นใจในความสามารถตัวเอง ใช้บริการ Professional ค่ะ มีมากมายทั้งคนไทย และชาติอื่น รวมถึงออสซี่ด้วย

Blog ถัดไป .... วิธีเลือก Registered Migration Agent / Immigration Lawyer ....

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

อยู่แบบผีๆ ไม่ดีมั้ง

14/6/2013

 
การอยู่ในประเทศออสเตรเลียโดยไม่มีวีซ่า (unlawful non-citizen) หรือที่เราเรียกกันว่า “เป็นผี” นั้น ไม่สมควรอย่างยิ่งค่ะ  

ทำไมล่ะ

ผี ไม่มีใบอนุญาติให้ทำงานค่ะ หากถูกจับได้ว่าอยู่โดยไม่มีวีซ่า ไม่ว่าจะทำงานหรือไม่ก็ตาม อาจถูกจับ และส่งเข้าศุนย์ควบคุมตัว (Detention Centre) เพื่อรอส่งตัวกลับประเทศของตัวเอง เมื่อถูกส่งตัวกลับแล้ว คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมีปัญหาในการขอวีซ่ากลับเข้ามาในประเทศออสเตรเลียอีกครั้ง

นายจ้างที่รับผีเข้าทำงาน ก็จะมีความผิดตามกฏหมาย โทษทั้งจำ และปรับ กฏหมายตัวนี้มีมานานแล้วค่ะ ในอดีตทางการไม่ได้บังคับใช้เข้มงวดมากนัก  แต่ในปัจจุบันบังคับใช้มากขึ้น  เป็นเหตุให้นายจ้างหลายๆคนเลิกจ้างผี เนื่องจากค่าปรับค่อนข้างสูงค่ะ

ถามว่านายจ้างอ้างว่าไม่รู้ว่าลูกจ้างเป็นผีได้มั๊ย  ตามกฏหมายแล้วฟังไม่ขึ้นค่ะ เพราะเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่ต้องเช็คให้แน่ใจว่าลูกจ้างมีใบอนุญาติให้ทำงานในประเทศออสเตรเลียหรือไม่

ผี มีทางเลือกมั๊ย

เราต้องดูเป็นกรณีไปค่ะ มีหลายๆเคส ที่ลูกความหลายคนซึ่งเป็นผีมาหลายปี ณ ตอนนี้เป็น PR หรือเป็น Australia citizen ไปเรียบร้อยแล้ว บางเคสใช้เวลาถึง 2 ปี หรือมากกว่านั้นในการดำเนินการ ในระหว่างนั้นบางเคสก็สามารถขอใบอนุญาติทำงานได้ระหว่างรอ

ฝากถึงคุณผีทั้งหลาย ถ้าคุณได้รับคำแนะนำที่ดี คุณอาจจะไม่ต้องอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆ และถูกส่งกลับประเทศไทยในที่สุด  เวลาที่เสียไปในระหว่างเป็นผี (ถ้าทำได้) ควรจะเปลี่ยนให้เป็นเวลาที่ใช้ในการรอวีซ่ามากกว่า ไม่ว่าจะเป็นวีซ่าชั่วคราว หรือวีซ่าถาวร  (Seek and you shall find)

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

    Author


    พี่เก๋ - กนกวรรณ ศุโภทยาน เป็นทนายความไทย และทนายความของประเทศออสเตรเลีย (Immigration Lawyer)

    มีประสบการณ์เป็นทนายความเฉพาะทาง ด้าน IMMIGRATION ของประเทศออสเตรเลีย รับวางแผนการขอวีซ่า ยื่นใบสมัครขอวีซ่าทุกประเภท ช่วยเหลือในชั้นอุทธรณ์ที่ Administrative Appeals Tribunal และในชั้นศาลค่ะ

    ต้องการคำแนะนำ หรือความช่วยเหลือ ติดต่อได้ที่ Immigration Success Australia
    mb: 0428 191 889 หรือ www.immigrationsuccessaustralia.com

    Archives

    July 2021
    June 2021
    March 2021
    February 2021
    January 2021
    December 2020
    November 2020
    October 2020
    September 2020
    July 2020
    June 2020
    May 2020
    April 2020
    March 2020
    February 2020
    March 2019
    January 2019
    November 2018
    October 2018
    August 2018
    July 2018
    June 2018
    April 2018
    October 2017
    September 2017
    August 2017
    May 2017
    April 2017
    August 2015
    April 2015
    December 2014
    September 2014
    August 2014
    June 2014
    March 2014
    January 2014
    October 2013
    September 2013
    July 2013
    June 2013

    Categories

    All
    วีซ่า
    อุทธรณ์
    วีซ่าคู่ครอง
    101
    102
    103
    143
    173
    186
    187
    190
    300
    309
    4020
    408
    445
    457
    462
    476
    482
    485
    489
    491
    500
    870
    AAT
    Accountant
    Administrative Appeals Tribunal
    Adoption Visa
    Approved Nomination
    Australia
    Australian
    Australian Citizenship
    Australian Immigration
    Bar
    Bricklayer
    Bridging Visa
    Bridging Visa A
    Bridging Visa E
    BVA
    BVE
    Changes To Immigration Law
    Changing Courses
    Chef
    Child Visa
    Consolidated Sponsored Occupations List
    COVID 19
    COVID-19
    CSOL
    Decision Ready
    Decision-ready
    Decision Ready Application
    Decision-ready Application
    De Facto Relationship
    Employer Sponsored
    English Exemption
    ENS
    Exercise Physiologist
    Family
    Family Violence
    Federal Circuit Court
    Graduate Work
    GTE
    Hydrogeologist
    Ielts
    Immigration
    Immigration Lawyer
    Judicial Review
    Jurisdictional Error
    Migration Agent
    Migration Review Tribunal
    MRT
    Nomination
    Orphan Relative Visa
    Overstay
    Parent
    Partner Visa
    PIC 4020
    Post Study Work
    Processing Period
    Protection Visa
    Public Interest Criteria
    Public Interest Criterion
    Regional Australia
    Regional Visas
    Registered Migration Agent
    Rma
    RSMS
    Section 48
    Section 48 Bar
    Self Sponsorship
    Skilled Migration
    Skilled Occupations List
    Skilled Work Regional
    Skills Assessment
    SOL
    Sponsor
    Sponsorship
    Student Visa
    Substantive Visa
    Training
    Tsmit
    Unlawful
    Visa Cancellation
    Visa Refusal
    Wall And Floor Tiler
    Working And Holiday Visa

    RSS Feed

Powered by Create your own unique website with customizable templates.