เคสแรก
เคสนี้ เป็น Referral จากอดีตลูกความซึ่งเริ่มจากเป็นผี แต่ตอนนี้เป็นพลเมืองออสเตรเลียไปเรียบร้อยแล้ว ... ลูกความฟันธงมาเลยว่าต้องการให้ทำ Parent visa ให้กับคุณพ่อ ซึ่งมาด้วยวีซ่าท่องเที่ยวและวีซ่ากำลังจะหมด
หลังจากสัมภาษณ์กันอยู่พักใหญ่ คนเขียนคิดว่าคุณพ่อทำ Parent visa แบบในประเทศออสเตรเลียได้ และก็จะได้ Bridging visa เพื่ออยู่รอวีซ่าในประเทศออสเตรเลียด้วย .... แต่ด้วยลักษณะเฉพาะของเคส คนเขียนเสนอวีซ่าอีกตัวให้เป็นทางเลือกด้วย ซึ่งบอกลูกความไปตามตรงว่าวีซ่าตัวนี้คนเขียนยังไม่เคยทำ และวีซ่าตัวนี้มีเงื่อนไขการผ่านยากกว่า Parent visa คือเคสยากกว่านั่นแหละ แต่คนเขียนคิดว่าเหมาะสมและจะให้ประโยชน์กับลูกความมากกว่า ทั้งช่วงรอและหลังวีซ่าผ่าน (ถ้าวีซ่าผ่านนะ)
คนเขียนให้ลูกความเลือกเองระหว่าง Parent visa ที่ลูกความต้องการทำ (และคนเขียนก็ทำเป็นปกติ)
หรือจะทำวีซ่าอีกตัว ที่คนเขียนก็ไม่เคยทำ และเอกสารการพิสูจน์เงื่อนไขต่างๆก็ซับซ้อนกว่า ความเสี่ยงสูงกว่า แต่ให้ประโยชน์มากกว่า
เมื่อมีทางเลือก เราให้ทางเลือกค่ะ .... ส่วนการตัดสินใจเป็นของลูกความ
.... ติ๊กต๊อก .... ติ๊กต๊อก ....
ลูกความเลือกวีซ่าตัวใหม่ ไอเดียบรรเจิดของคนเขียน ...... รอดไหม? .... รอดสิ
เคสที่ไม่เคยทำ ไม่ใช่แปลว่าทำไม่ได้ หรือจะทำได้ไม่ดี .... ไม่เสมอไปค่ะ ....
นักกฏหมาย เราไม่ท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทอง เรารู้ว่าเราควรจะหาข้อมูลจากตัวบทกฏหมายไหน เราเข้าใจวิธีตีความของกฏหมาย เราปรับบทกฏหมายให้เข้ากับข้อเท็จจริง (สถานการณ์ของลูกความ)
สมัยคนเขียนเรียนกฏหมาย ไม่ว่าจะที่ไทยหรือที่นี่ ข้อสอบส่วนใหญ่เป็น Open-book exams (เปิดหนังสือตอบ) เพราะไม่มีโรงเรียนสอนกฏหมายที่ไหน คาดหวังว่านักกฏหมายจะต้องจำมาตรานั้นนี้ได้ .... จำได้ ... แต่ปรับใช้ไม่เป็น ... ก็จบ
เคสที่สอง
เคสนี้ เป็น Referral จากเพื่อนทนายความ ... คุณแม่มาด้วย Tourist visa (วีซ่าท่องเที่ยว) เหลือเวลาอีก 2 เดือนวีซ่าจะหมด ต้องการทำ Parent visa และต้องการให้คุณแม่อยู่ที่ออสเตรเลียตลอดระหว่างรอ เพราะคุณแม่ไม่มีที่จะไป ตัวคนเดียวและกลับไป ก็ไม่มีที่อยู่ ..... ใครที่เป็นลูกคนเดียวและเหลือผู้ปกครองอยู่คนเดียว คงเข้าใจความรู้สึกคุณลูก
ปัญหาคือ ..... คุณแม่อายุยังไม่มากพอที่จะยื่น Parent visa แบบในประเทศออสเตรเลียได้ .... ต้องยื่นแบบนอกประเทศออสเตรเลีย ซึ่งคุณแม่ก็จะไม่ได้ Bridging visa เพื่อรอผลวีซ่าในประเทศออสเตรเลีย จะยื่น Tourist visa อีกรอบ ก็คาดว่าจะไม่ผ่าน
สรุปว่าโจทย์คือ .... เหลือวีซ่าอยู่ 2 เดือน ทำยังไงก็ได้ให้คุณแม่อยู่ในประเทศออสเตรเลียในระหว่างรอวีซ่าซึ่งใช้เวลารอ 3 - 4 ปี
โจทย์นี้ ไม่ยากสำหรับคนเขียน อยู่ที่ลูกความจะมั่นใจในคนเขียน และ Strategy ของคนเขียนไหม และจะรับแรงกดดันที่อาจจะมาจากอิมเกรชั่นได้หรือไม่ เพราะจากประสบการณ์ มีแน่ๆ ส่วนจะกดดันมากน้อยแค่ไหน อีกเรื่องนึง
ลูกความถามว่าแล้วยูจะคอยไกด์ชั้นไปตลอดใช่ไหม ... แน่นอนสิคะ แผนงานของเราใช้เวลา 3-4 ปี มี 4-5 สเต็ป ขึ้นอยู่กับว่าอะไรเกิดขึ้นบ้างระหว่างทาง ไม่ไกด์ลูกความ เคสก็ไปไม่รอดสิ
สรุปว่าเคสนี้ ลูกความแฮ๊ปปี้มากที่คุณแม่ได้อยู่ที่ออสเตรเลียตลอดระยะเวลารอวีซ่า ลูกความต้องพาคุณแม่ออกไปนอกประเทศรอบนึงค่ะ เพื่อที่อิมมิเกรชั่นจะได้ออก Parent visa ให้ได้ (ตอนทำเคสนี้ กฏหมายคือยื่นใบสมัครแบบนอกประเทศออสเตรเลีย ต้องอยู่นอกประเทศออสเตรเลียตอนวีซ่าออก)
Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com