visa blog : สำหรับคนไทยค่ะ
  • Home
  • Blog

แชร์ประสบการณ์ เคสเกือบ Hopeless

24/12/2023

 
เคสนี้ น้องลูกความติดต่อมาจากไทย

น้องเป็นนักเรียนที่ออสเตรเลียมาหลายปี .... สัมภาษณ์กันอยู่นาน .... สรุปได้ว่า ....


  • ปัญหาเกิดเมื่อน้องต่อ Student visa เอง ซึ่งตอนนั้นวีซ่าที่ถืออยู่หมดอายุไปแล้วด้วย .... ปรากฏว่าใบสมัคร invalid (ยื่นไม่ถูกต้อง อิมมิเกรชั่นไม่รับใบสมัคร)
  • น้องก็พยายามแก้ปัญหาเองต่อไปอีก .... ปรากฏว่าไม่รอด
  • สุดท้ายต้องขอ Bridging visa E และกลับไทย
  • แต่กว่าจะกลับไทย น้องอยู่แบบไม่ถือวีซ่านานเกิน ติดบาร์ 3 ปี ไปเรียบร้อย
  • เนื่องจากยังเหลือเรียนอีก 1 วิชา น้องก็ติดต่อเอเจนต์ให้ยื่นวีซ่านักเรียนให้ (เข็ดทำเอง)
  • อิมมิเกรชั่นปฏิเสธวีซ่า สั้นๆง่ายๆ อยู่ออสเตรเลียมานาน ไม่เชื่อว่าเป็นนักเรียนจริง

น้องติดต่อคนเขียนหลังจากถูกปฏิเสธวีซ่า .... เครียดมาก ไม่คิดว่าจะถูกปฏิเสธวีซ่า ข้าวของที่ออสเตรเลียก็ไม่ได้แพ๊ค ค่าเช่าก็ยังต้องเสีย ตัวอยู่ไทย ไม่มีงานทำ

คนเขียนขอดูเอกสารว่าวีซ่านักเรียนที่ถูกปฏิเสธยื่นอะไรไปบ้าง .... ปรากฏว่ามีจดหมายอธิบายว่าทำไมถึงมีความผิดพลาดเรื่องวีซ่า ทำไมยื่นในออสเตรเลียไม่ทัน จนมีประวัติไม่ถือวีซ่าและต้องกลับมายื่นวีซ่าจากไทย .... พูดง่ายๆคือจดหมายนี้เป็นการพยายามขอยกเว้นการติดบาร์ 3 ปีนั่นเอง

แต่ .... ลืมอะไรไปรู้ไหม ??? .... ลืมตอบโจทย์ประเด็น Genuine Temporary Entrant (GTE) .... ในจดหมายไม่มีระบุว่าทำไมถึงต้องกลับมาเรียนที่ออสเตรเลีย เรียนที่ไทยได้หรือไม่ได้ etc. .... จะไปคิดเองเออเองว่าอิมมิเกรชั่นต้องคิดได้เองสิว่านักเรียนเหลืออยู่ 1 วิชา ก็ต้องตั้งใจเป็นนักเรียน กลับมาเรียนให้จบรึเปล่า

ขีดเส้นใต้ 3 เส้น .... ผู้สมัครมีหน้าที่นำเสนอข้อมูล เอกสาร หลักฐาน .... อิมมิเกรชั่นไม่มีหน้าที่คิดเอง .... และถ้าปล่อยให้คิดเอง อาจจะได้ความคิดติดลบ (เช่นเคสนี้เป็นต้น)

ในเมื่อข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ .... คนเขียนแนะนำให้ยื่นวีซ่านักเรียนใหม่ ทำเอกสารให้แน่นกว่าเดิม .... แต่เสี่ยงแน่ๆ ทั้งประเด็น GTE และประเด็นติดบาร์ 3 ปี

น้องบอกว่าแต่น้องถูกปฏิเสธแค่ประเด็น GTE แปลว่าอิมมิเกรชั่นต้องโอเคกับประเด็นติดบาร์ 3 ปีแล้วสิ

ไม่จริง .... อิมมิเกรชั่นแค่ดึงมาประเด็นเดียวก็ปฏิเสธได้แล้ว จะเขียนอะไรเยอะแยะ .... แต่ไม่ได้แปลว่ายื่นใบสมัครรอบหน้าจะไม่เอามาทุกประเด็นมาพิจารณา แปลว่าต้องกังวลทั้ง 2 ประเด็น !!!! .... อ้อ อย่าลืมว่านอกจากมีประวัติอยู่ออสเตรเลียแบบไม่มีวีซ่า ตอนนี้มีประวัติถูกปฏิเสธวีซ่าเพิ่มเข้ามาด้วย .... ยากสิ .... But it is what it is, you can't change the past.

คนเขียน:   .... [ช่วยคิดอย่างเต็มที่] .... ไม่อยากลองเสี่ยงยื่นใหม่ ก็ลองคุยกับโรงเรียนไหม เหลืออยู่ 1 วิชา ขอเรียนออนไลน์ได้ไหม และก็ให้เพื่อนช่วยแพ๊คของส่งกลับ บอกเลิกการเช่าจะได้ไม่ต้องเสียตังค์ไปเรื่อยๆ ???

ลูกความ:   แต่หนูอยากกลับไปออสเตรเลีย !!!

คนเขียน:   โอเค ชัดเจน .... อยากกลับ ก็ต้องลองยื่นใหม่ไง .... อ้อ .... อย่าลืมขอ CoE ด้วยนะ (อีก 1 ปัญหา โรงเรียนไม่อยากออก CoE ให้ เนื่องจากน้องถูกปฏิเสธวีซ่ามาแล้วรอบนึง)

วันถัดมา .... น้องอีเมล์มาบอกว่า .... โรงเรียนให้น้องจบ !!!!

อ้าว .... เรียนจบ ก็ขอวีซ่านักเรียนไม่ได้แล้วสิ .... แปลว่าที่คิดๆไว้ว่าจะทำเคสวีซ่านักเรียนนี้ยังไง ลบทิ้ง

โจทย์ใหม่ .... ก็ต้องเริ่มคิดใหม่ ดูเอกสารกันใหม่ ทำ Research ใหม่ด้วย  .... แล้วเราก็เห็นทางออก ....
Subclass 485 Temporary Graduate visa นั่นเองค่ะ

วีซ่า 485 โดยตัวกฏหมายปกติแล้วผู้สมัครหลัก (น้องลูกความ) จะต้องอยู่ที่ออสเตรเลียตอนยื่นใบสมัคร แต่คนทำงานด้านนี้เราต้องตามกฏหมายอย่างใกล้ชิด ซึ่งเรารู้ว่าช่วงโควิด รัฐบาลอนุญาตให้ยื่นวีซ่า 485 จากนอกออสเตรเลีย แต่ที่ต้องทำ research ใหม่หมด เพราะเคสน้องไม่ใช่เคสตรงไปตรงมา มีประเด็นให้น่ากังวลอยู่หลายประเด็น ทั้งประวัติวีซ่า และประวัติการศึกษาเลย แต่ต้องบอกว่าน้องมีโอกาสได้วีซ่า 485 นี้มากกว่าตอนที่คิดว่าจะต้องยื่นวีซ่านักเรียนแน่นอน

คนเขียนบอกน้องว่า ไม่คิดนานนะคะ จะทำก็รีบๆทำ เพราะกฏหมายที่ออกมาช่วงโควิด ทยอยยกเลิกไปเยอะแล้ว คนเขียนเชื่อว่าเคส 485 แบบยื่นนอกออสเตรเลียจะหายไปเร็วๆนี้

.... น้องลุย คนเขียนก็ลุย และอย่างรวดเร็ว กลัวกฏหมายจะเปลี่ยนซะก่อน

เคสนี้ คนเขียนเลือกที่จะไม่เปิดประเด็นเลยซักประเด็นเดียว แต่เลือกเอกสารอย่างระมัดระวัง และเราวางแผนไว้แล้วว่าถ้าอิมมิเกรชั่นยังมีคำถามเพิ่ม เราจะโต้เถียงยังไง และจะยื่นเอกสารอะไรเพิ่ม 

รอเรื่องอยู่ 2 เดือนกว่าๆ วีซ่าผ่าน ไม่มีคำถาม ไม่ขออะไรเพิ่ม .... เจอน้องกรี๊ดใส่ หูดับไป 2 วิ

หลังจากที่น้องได้วีซ่าไม่กี่วัน กฏหมายเปลี่ยนจริงๆอย่างที่คาดไว้ .... กฏปัจจุบันผู้สมัครหลักวีซ่า 485 ยื่นได้ในออสเตรเลียเท่านั้น

กฏหมายด้านอิมมิเกรชั่นเปลี่ยนตลอด .... ถ้าอยู่ออสเตรเลีย หรืออยากมาออสเตรเลีย ตามข่าวด้วย .... ถ้าไม่มั่นใจในความรู้ความสามารถของตัวเอง หา Professional มาช่วยเราค่ะ อย่าลืมว่าไม่มีใครรู้ทุกเรื่อง เก่งทุกเรื่อง


Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com

อย่ารอจนวันที่วีซ่าหมดอายุ

2/7/2021

 
คนเขียนเคยโพสเรื่องนี้นานแล้ว (พร้อมตัวอย่าง) .... แต่ก็มีเหตุให้อยากเตือนกันอีกรอบ

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา ระบบ ImmiAccount ปิดปรับปรุงช่วงค่ำๆ และใช้ได้อีกทีเช้าวันที่ 1 กรกฏาคม (ระบบปิดปรับปรุง 30 มิถุนายน เป็นเรื่องปกติของอิมมิเกรชั่นนะคะ ระวังล่วงหน้าไว้ได้เลย)

วันที่ 1 กรกฏาคม ImmiAccount ใช้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

วันนี้ 2 กรกฏาคม ตั้งแต่เช้า จนป่านนี้ (7pm++) ImmiAccount ใช้ไม่ได้เลย

คนเขียน ไม่เจอปัญหาใหญ่ เพราะไม่ยื่นใบสมัครวันสุดท้ายอยู่แล้ว (ถ้าไม่จำเป็น) จะมีก็แค่ปัญหากวนใจ อยากยื่นเอกสารเพิ่ม อยากอัพเดพข้อมูล อยากร่างใบสมัครให้ลูกความ แต่เข้าระบบไม่ได้

แต่คนเขียนอ่านโพสจากเอเจนต์หลายคน ที่ลูกความของเค้าเป็นผีไปเรียบร้อย (หรือกำลังจะเป็น) เพราะยื่นวีซ่าไม่ได้ (และเชื่อว่ามีน้องบางคน เจอปัญหาเดียวกัน) จากเคสสบายๆ กลายเป็นเคสน่าปวดหัวไปเลย

เพราะฉะนั้น สำคัญมากที่น้องๆจะเผื่อเวลา ให้เวลาตัวเอง ให้เวลาทนายหรือเอเจนต์ที่ดูแลเราด้วย


Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com

ถาม-ตอบ COVID-19 กับผลกระทบต่อวีซ่า

28/3/2020

 
โพสนี้ คนเขียนรวบรวมคำถามที่น้องๆถามเข้ามาเกี่ยวกับผลกระทบกับวีซ่าจาก COVID-19 นะคะ

Original post: 28 March 2020 ตัวหนังสือสีเทาอ่อน
Update 1: 4 April 2020 ตัวหนังสือสีน้ำเงิน          



ถือวีซ่าท่องเที่ยว ไม่ติด 8503 (No further stay condition)

===>>  ยื่นขอต่อวีซ่าท่องเที่ยว หรือมีวีซ่าตัวอื่นที่เรามีคุณสมบัติถึงก่อนวีซ่าตัวเดิมหมดอายุ


ถือวีซ่าที่ติด No further stay condition : 8503, 8534 หรือ 8535

===>>  ยื่นขอยกเว้นเงื่อนไข No further stay แต่เนิ่นๆ 2 เดือนก่อนวีซ่าตัวเดิมหมดอายุ เพราะระยะการพิจารณาต้องใช้เวลาพอสมควร

===>> เมื่ออิมมิเกรชั่นยกเว้นเงื่อนไข ก็สามารถยื่นขอวีซ่าท่องเที่ยวหรือวีซ่าตัวอื่นที่เรามีคุณสมบัติถึง

===>> ยื่นขอวีซ่าตัวใหม่ก่อนได้รับยกเว้นเงื่อนไข = Invalid application 


ถือวีซ่า 457 หรือ 482 แต่นายจ้างให้หยุดงานชั่วคราว เพราะธุรกิจต้องปิดให้บริการตามรัฐบาลกำหนด

===>>  ใช้ Annual leave (paid leave) ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน Employment Contract นอกจากจะยังมีรายได้แล้ว ยังสามารถนับเวลาสำหรับการยื่น PR ได้ด้วย

===>>  นายจ้างให้หยุดแบบไม่จ่ายค่าจ้าง (stand down) หรือมีการทำ Leave without pay ควรมีการทำบันทึกไว้ด้วยนะคะเผื่ออิมมิเกรชั่น (Monitoring Unit) มาตรวจในภายหลัง อย่าลืมว่านายจ้างมีหน้าที่ต้อง Keep records

===>> ตามนโยบายของอิมมิเกรชั่น Leave without pay 3 เดือนไม่น่าจะมีปัญหา โน๊ตว่าตอนนี้อิมมิเกรชั่นใช้ Flexible approach (ยืดหยุ่นให้ตามสถานการณ์ของแต่ละเคส ย้ำที่ขีดเส้นใต้) ซึ่ง ณ จุดนี้ยังไม่ชัดเจนว่า Flexible approach คือแค่ไหน ยังไงบ้าง  โน๊ตว่าระยะเวลาที่ใช้ Leave without pay โดยปกติจะนับเป็นเวลาสะสมสำหรับการยื่น PR ไม่ได้นะคะ (ถ้านโยบายเปลี่ยน หรือมีอัพเดทอะไร ก็จะมาอัพเดทให้ทราบที่โพสนี้)

===>>  สามารถนับเวลาระหว่างหยุดงานชั่วคราวสำหรับการยื่น PR ได้ ไม่ว่าจะหยุดแบบได้รับหรือไม่ได้รับค่าจ้าง

===>>  รัฐอนุญาตให้ถอนเงินจาก Superannuation fund ได้ $10,000 สำหรับปีภาษีนี้


ถือวีซ่า 457 หรือ 482 แต่นายจ้างให้หยุดงานชั่วคราว เพราะธุรกิจต้องปิดให้บริการตามรัฐบาลกำหนด สามารถทำงานที่อื่นในระหว่างที่นายจ้างให้หยุดงานได้ไหม

===>>  ตามกฏหมายแล้วไม่ได้ค่ะ  สำหรับวีซ่า 457 ผิดเงื่อนไข 8107  ส่วนวีซ่า 482 ผิดเงื่อนไข 8607
คือนายจ้างใหม่ต้องมี Approved Nomination ก่อน เราถึงจะทำงานได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขวีซ่า พอนายจ้างเดิมเรียกตัวกลับไปทำงาน นายจ้างเดิมก็ต้องทำ Nomination ใหม่และรอ Approve ก่อน เราถึงจะกลับไปทำงานได้ค่ะ

===>>  แล้วจะอยู่ยังไง ยังต้องกินต้องใช้ ยังมีค่าใช้จ่าย นั่นแหละคือปัญหา ซึ่งอิมมิเกรชั่นทราบ และคนเขียนคาดว่า (wishful thinking) อิมมิเกรชั่นจะมีประกาศแนวทางที่ยืดหยุ่นในประเด็นนี้เร็วๆนี้ค่ะ  (ถ้ามีความคืบหน้า จะมาอัพเดทให้ที่โพสนี้นะคะ)
  
===>>  รัฐอนุญาตให้ถอนเงินจาก Superannuation fund ได้ $10,000 สำหรับปีภาษีนี้


ถือวีซ่า 457 หรือ 482 แต่นายจ้างเลิกจ้างถาวร

===>>  หางานใหม่ที่นายจ้างพร้อมจะสปอนเซอร์และยื่น Nomination application ภายใน 60 วัน 

===>>  ตอนนี้อิมมิเกรชั่นใช้ Flexible approach (ยืดหยุ่นให้ตามสถานการณ์ของแต่ละเคส) อาจจะยืดหยุ่นในเรื่องเวลา แต่ก็ยังไม่มีประกาศออกมา เพราะฉะนั้น พยายามหานายจ้างใหม่ให้ได้ภายใน 60 วัน  ถ้าหาไม่ได้ ก็ไปลุ้นกับ Flexible approach ของอิมมิเกรชั่นเอาดาบหน้าค่ะ

===>>  รัฐระบุว่าถ้าถูกเลิกจ้างและหาสปอนเซอร์ใหม่ไม่ได้ภายในเงื่อนไข 60 วัน ก็ควรจะกลับออกไปค่ะ (คือยังไม่มีความยืดหยุ่นในส่วนนี้) 

===>>  ถ้ามีการ Re-employed หลังจากเรื่อง COVID-19 จบลง ก็สามารถนับเวลาการทำงานในประเทศออสเตรเลียสำหรับการยื่น PR ได้ (โน๊ตว่าตอนนี้คนเขียนไม่แน่ใจว่าหมายถึงการ Re-employed โดยนายจ้างเดิมเท่านั้น หรือนายจ้างใหม่ก็สามารถนับเวลาได้ด้วย รอประกาศเพิ่มเติมค่ะ)



ถือวีซ่า 457 หรือ 482 แต่นายจ้างลดชั่วโมงการทำงาน และลดค่าจ้าง

===>>  จริงๆแล้วทำไม่ได้นะคะ เพราะ 457 และ 482 เป็นวีซ่าที่นายจ้างสปอนเซอร์มาทำงาน full-time ในตำแหน่งที่ขาดแคลน

===>>  ตอนนี้ยังไม่มีประกาศจากอิมมิเกรชั่นที่จะยกเว้นเงื่อนไข full-time แต่คนเขียนคิดว่า (wishful thinking อีกแล้ว) อิมมิเกรชั่นน่าจะประกาศแนวทางที่ยืดหยุ่นในประเด็นนี้เร็วๆนี้ เพราะเป็นสถานการณ์ที่ธุรกิจส่วนใหญ่จะต้องเลือกระหว่างลดชั่วโมง ลดค่าจ้าง vs หยุดงานแบบไม่มีค่าจ้าง vs เลิกจ้าง

===>>  ถ้านายจ้างไม่มีทางเลือกและจำเป็นที่จะต้องลดชั่วโมงการทำงานและลดค่าจ้าง อย่างนึงที่ควรจะต้องทำให้ได้ คือจ่ายค่าจ้างในเรทที่ถูกต้องในลักษณะ Pro-rata คือเคยจ่ายชั่วโมงละเท่าไหร่ตอนทำงาน full-time ก็จ่ายชั่วโมงละเท่าเดิม ไม่มีการลดเรทค่าแรงนะคะ 

===>>  นายจ้างสามารถลดชั่วโมงการทำงานได้โดยไม่ผิด Sponsorship obligations และลูกจ้างก็ไม่ผิดเงื่อนไขวีซ่า 


ถือ Bridging visa A ระหว่างรอผลการพิจารณาวีซ่า 186 แต่นายจ้างให้หยุดงานชั่วคราวแบบไม่จ่ายค่าจ้าง เพราะธุรกิจต้องปิดให้บริการตามที่รัฐบาลกำหนด

===>>  ไม่มีปัญหาค่ะ ธุรกิจเปิดเมื่อไหร่ก็กลับไปทำต่อนะคะ

===>>  รัฐอนุญาตให้ถอนเงินจาก Superannuation fund ได้ $10,000 สำหรับปีภาษีนี้


ตอนนี้ยื่นใบสมัครวีซ่าถาวร หรือวีซ่า 820 (Stage1 Partner visa) ไปแล้ว อยู่ระหว่างรอการพิจารณา

===>>  ขอ Medicare ได้ค่ะ ไม่จำเป็นต้องรอให้วีซ่าเดิมหมดอายุ ยื่นใบสมัครเรียบร้อยก็ยื่นขอ Medicare ได้เลยค่ะ

===>> ขอ Stimulus package จาก Centrelink ไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิ์ของคนที่ถือพีอาร์ หรือเป็น Australian citizen เท่านั้น

===>>  ตอนนี้มีหลายๆหน่วยงานพยายามล๊อบบี้ให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือคนที่ถือวีซ่าชั่วคราวด้วย แต่ยังไม่มีนโยบายอะไรออกมานะคะ

===>>  รัฐอนุญาตให้ถอนเงินจาก Superannuation fund ได้ $10,000 สำหรับปีภาษีนี้


ตอนนี้ถือวีซ่าทำงาน 491, 494 (Regional visas)

===>>  ขอ Medicare ได้ค่ะ  แต่ขอ Stimulus package จาก Centrelink ไม่ได้ (อ่านข้างบนนะคะ)

===>>  รัฐอนุญาตให้ถอนเงินจาก Superannuation fund ได้ $10,000 สำหรับปีภาษีนี้


ตอนนี้อยู่ที่ออสเตรเลีย แต่วีซ่าหมดอายุไปแล้ว

===>>  ติดต่อขอคำแนะนำค่ะ อาจจะยังมีวีซ่าที่สามารถยื่นได้

===>>  ถ้าต้องการแค่รอเวลาสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย กลับไทยได้เมื่อไหร่ก็จะกลับและไม่ได้คิดที่จะขอวีซ่าอื่น ติดต่ออิมมิเกรชั่นเพื่อขอ Bridging visa E เพื่อที่จะอยู่ที่นี่ได้อย่างถูกกฏหมายในระหว่างรอ


ตอนนี้อยู่ประเทศไทย แต่กลับมาที่ออสเตรเลียไม่ได้ และ Bridging visa B หมดอายุ

===>>  Bridging visa B ต่ออายุไม่ได้ และไม่สามารถสมัครได้ถ้าอยู่นอกประเทศออสเตรเลีย เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย อาจจะลองยื่นใบสมัครวีซ่าท่องเที่ยว หรือวีซ่าอื่นที่มีคุณสมบัติถึง


ตอนนี้อยู่ประเทศไทย ถือวีซ่านักเรียน แต่กลับเข้ามาไม่ได้

===>>  ติดต่อโรงเรียน หรือ Education Agent เพื่อทำเรื่องขอ Defer คอร์ส

===>>  ถ้าวีซ่านักเรียนหมดอายุในระหว่างที่อยู่ไทย เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ก็ต้องยื่นใบสมัครเพื่อขอวีซ่านักเรียนตัวใหม่ค่ะ


ตอนนี้เรื่องอยู่ที่ชั้นอุทธรณ์ AAT จะต้องรออีกนานไหม

===>>  AAT ยังพิจารณาเคสอยู่นะคะ การ Hearing ก็จะเป็นทางโทรศัพท์ หรือ Video link แทน ความล่าช้า (จากที่ปกติก็ล่าช้าอยู่แล้ว) ก็เป็นอะไรที่เข้าใจได้นะคะ เพราะต้องปรับเปลี่ยนหลายอย่างให้เหมาะสมกับสถานการณ์ COVID-19 แต่อย่างน้อย AAT ก็ยังไม่ได้มีประกาศหยุดการพิจารณา


ป.ล. มีหลายคำถามที่คนเขียนก็ไม่มีคำตอบให้นะคะ ต้องรอรัฐบาลหรืออิมมิเกรชั่นประกาศเพิ่มเติม ก็ตอบให้เท่าที่ตอบได้ และจะมาอัพเดทให้เมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติม  คำถามเกี่ยวกับ Centrelink รบกวนถามหน่วยงานโดยตรงนะคะ


Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

แชร์ประสบการณ์ ความสำคัญของความเห็นที่สอง

24/1/2019

 
เคสนี้เป็นเรื่องของลูกความแถบยุโรบคู่หนึ่งที่มาด้วย Working Holiday visa และทำวีซ่า 457 กับเอเจนต์อื่น

ลูกความติดต่อมาหาคนเขียนครั้งแรกกลางปี 2016 Standard Business Sponsorship (SBS) application          ถูกปฏิเสธเพราะเอเจนต์คำนวนค่าเทรนนิ่งผิด เอเจนต์แนะนำให้ยื่นอุทธรณ์ คนเขียนแนะนำให้ยื่นเรื่องใหม่เข้าไปที่อิมมิเกรชั่น เพราะเป็นประเด็นที่แก้ไขได้ และยื่นใหม่เร็วกว่ายื่นอุทธรณ์แน่นอน ลูกความอยากเปลี่ยนมาให้คนเขียนดูแล แต่นายจ้างยังมั่นคงกับเอเจนต์เดิม (ปัญหาโลกแตก ต้องปล่อยให้นายจ้างลูกจ้างตกลงกันเอาเอง)

เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ลูกความติดต่อมาอีกครั้งเมื่อธันวาคม 2018 และจะให้คนเขียนยื่นขอพีอาร์ให้

คนเขียนก็คิดว่าลูกความต้องการต่อยอดจาก 457 เป็นวีซ่าพีอาร์ 186 .... คือดูจากเวลาแล้วน่าจะใช่ น่าจะถือ 457 (เข้ากฏเก่า) มาแล้ว 2 ปี

ปรากฏว่าความเป็นจริงห่างไกลจากที่คิดไว้เยอะเลยค่ะ ที่หายไป 2 ปีกว่า คนเขียนวิเคราะห์ได้ตามข้างล่าง คือต้องวิเคราะห์เองจากเอกสาร เพราะถามอะไรลูกความก็ทำหน้างงๆ --- คืองงอะไร ไม่เข้าใจ จะว่าภาษาไม่ดีก็ไม่ใช่ เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาเกิด ....... สรุปว่าเพราะเอเจนต์ไม่เคยอธิบายอะไรเลย ....และลูกความก็เกรงใจ ....... ไม่กล้าถาม!!!! .....เอกสารที่คนเขียนขอไป ตอนแรกก็ไม่มีให้ คือเกรงใจไม่กล้าขอจากเอเจนต์ จนคนเขียนต้องบอกว่าถ้าไม่มีเอกสารก็ไม่ต้องมา หมดปัญญาช่วย .... คือจะให้นั่งเทียนหรือไง ถามอะไรก็ตอบไม่ได้ ขออะไรก็ไม่มี

สรุปว่าเคสนี้

1. SBS ที่แนะนำให้ยื่นใหม่ ผ่านไปได้ด้วยดี
2. Nomination ไม่ผ่าน และตอนนี้เรื่องอยู่ที่ชั้นอุทธรณ์
3. วีซ่า 457 ก็แน่นอน..ไม่ผ่าน (เพราะ Nomination ไม่ผ่าน) และเรื่องอยู่ที่ชั้นอุทธรณ์เหมือนกัน (และเอเจนต์ก็ยื่นใบสมัครวีซ่าเลท คือหลังวันที่ 18 April 2017 ต่อให้ลูกความได้วีซ่า ก็เข้ากฏใหม่ อาชีพ STSOL ต่อยอดจาก 457 ไปพีอาร์ไม่ได้)

ที่หนักกว่านั้นคือเช็ค VEVO แล้วไปเจอว่าจากที่เคยถือ Bridging visa B (BVB) อยู่ กลายเป็นตอนนี้ไม่มีวีซ่า

..... สรุปว่าสองคนที่นั่งอยู่ตรงหน้าคนเขียนไม่มีวีซ่า!!!!!  แต่ต้องการยื่นพีอาร์ (แบบในประเทศออสเตรเลียด้วยนะ)

..... เอิ่ม......แก้ปัญหาสำคัญก่อนดีไหม ..... ทำไมอยู่ๆถึงไม่มีวีซ่า

เหมือนเดิมค่ะ ลูกความตอบไม่ได้ ตอบได้แต่ว่าหลังจากที่เช็ค VEVO เองแล้วเจอว่าไม่มีวีซ่า ก็รีบบอกเอเจนต์       เอเจนต์ก็รีบยื่นเรื่องขอ Bridging visa E (BVE) ให้   ตอนนี้คือกำลังรออิมมิเกรชั่นออก BVE ให้

คนเขียนก็ .... เอะ .... แล้วมันใช่เหรอ .... จากที่ถือ BVB อยู่ดีๆ ไปเป็นผีได้ยังไง????

..... คนทำงานด้านนี้ต้องถามคำถามนี้ซิคะ จะหลับหูหลับตายื่น BVE ให้ลูกความโดยไม่หาคำตอบได้ยังไง และประวัติลูกความก็เสียไปจากการอยู่แบบไม่ถือวีซ่า .... มันใช่เหรอ

ถ้ามันมีเหตุผลอันสมควร มีที่มาที่ไปทำให้กลายเป็นคนไม่มีวีซ่า ก็ต้องยอมรับสภาพ
แต่จากที่คนเขียนสัมภาษณ์ลูกความ และวิเคราะห์จากเอกสาร คนเขียนไม่เจอเหตุอะไรเลยที่อยู่ๆลูกความจะกลายเป็นผี ไม่มีวีซ่า คือค่อนข้างมั่นใจว่าต้องมีความผิดพลาดอะไรบางอย่างเกิดขึ้น และลูกความควรจะยังถือ BVB อยู่

แต่....เนื่องจากคนเขียนก็ไม่ใช่เอเจนต์ที่ดูแลลูกความ จะมาฟันธง รู้ดีไปกว่าเจ้าของเคสได้ยังไง (ใช่ไหม?)
คนเขียนเลยแนะนำให้ลูกความเป็นกบฏกับเอเจนต์!   เอ้ย....ไม่ใช่...
.... แนะนำให้ถามเอเจนต์ถึงเหตุผลที่มาที่ไปของการที่อยู่ๆลูกความไม่มีวีซ่า ถ้าหาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้ ก็ต้องไปสู้รบกับอิมมิเกรชั่นเอา BVB คืนมาให้ลูกความ ไม่ใช่ไปสมัคร BVE ให้ลูกความ (BVE คือวีซ่าตัวที่แย่ที่สุดในบรรดา BV ทั้งหมด ถ้าเรามีสิทธิ์ถือ BV ที่ดีกว่า ทำไมจะยอมถือ BVE - อ่านเรื่อง BV ต่างๆได้ที่นี่)

ลองนึกเล่นๆถึงสถานะของลูกความในกรณีที่ถือ BVB vs BVE ดูนะคะ

การกลับมาถือ BVE แน่นอนว่าเปลี่ยนสถานะจากผี เป็นมีวีซ่า .... สำหรับเอเจนต์เป็นทางออกที่ง่ายที่สุด ไม่ต้องคิด ไม่ต้องทำ Research ไม่ต้องไปนั่งทบทวนประวัติลูกความ ไม่ต้องไปง้างกับอิมมิเกรชั่น .... แต่ผลกระทบต่อลูกความตามมาแบบยาวๆ  เพราะตอนนี้ลูกความติด section 48 จากการถูกปฏิเสธวีซ่า 457 ทำให้ยื่นพีอาร์ในประเทศไม่ได้ จะออกไปยื่นพีอาร์แบบนอกประเทศแล้วกลับมารอเรื่องในประเทศก็ไม่ได้ เพราะ BVE ออกไปได้ กลับเข้ามาไม่ได้ ก็ต้องรอผลวีซ่าอยู่นอกประเทศเท่านั้น ลองนึกต่อว่าถ้าวีซ่าพีอาร์ไม่ผ่าน และต้องการจะขอวีซ่าชั่วคราวเพื่อกลับมา ก็คาดว่าจะติดบาร์ 3 ปี จากประวัติที่เคยอยู่แบบไม่มีวีซ่านั่นเอง)  ..... อีกทางเลือกนึง ก็คือต้องรอจน Nomination ที่ชั้นอุทธรณ์ผ่านและได้วีซ่า 457 ก่อนค่อยยื่นพีอาร์แบบในประเทศ ... แล้วถ้า Nomination ไม่ผ่าน ไม่ได้วีซ่า 457 ล่ะ (ย้อนกลับไปอ่านย่อหน้านี้อีกรอบค่ะ)

การกลับมาถือ BVB แน่นอนลูกความยังติด section 48 จากการถูกปฏิเสธวีซ่า 457 .... แต่ก็สามารถบินออกไปเพื่อยื่นพีอาร์แบบนอกประเทศและกลับมารอพีอาร์ในประเทศได้ในระหว่างที่รอผลอุทธรณ์ของ 457 .... ในกรณีที่วีซ่า 457 ไม่ผ่าน หรือวีซ่าพีอาร์ไม่ผ่าน .... ลูกความก็ยังมีสิทธิ์ยื่นขอวีซ่าชั่วคราวตัวอื่นเพื่อจะกลับเข้ามาในประเทศออสเตรเลียได้โดยไม่ติดบาร์ 3 ปี (เพราะไม่เคยมีประวัติเป็นผีมาก่อน)

โพสนี้แอดวานซ์นิดนึง อ่านแล้วงงก็ไม่แปลก ...... ถ้าอ่านแล้วเข้าใจหมดเลย ก็เก่งมากค่ะ แสดงว่าเข้าใจกฏหมายอิมมิเกรชั่นได้ดีระดับนึงเลยทีเดียว

สิ่งที่อยากจะบอกก็คือ การมีเอเจนต์หรือทนายความดูแลเคสให้เราเป็นเรื่องที่ดี แต่หัดตั้งคำถาม หัดวิเคราะห์เองด้วย ถ้าไม่แน่ใจในแนวทาง ก็หาความเห็นที่สองค่ะ ชีวิตเป็นของเรา เราต้องดูแลชีวิตและอนาคตของตัวเองด้วย

เคสนี้ ลูกความโทรมาขอบคุณที่อธิบายจนเค้าเข้าใจเคสตัวเองและฮึดไปไฟท์กับเอเจนต์ จนเอเจนต์ต้องถอน BVE application  และไฟท์กับอิมมิเกรชั่นจนได้ BVB คืนมาในที่สุด (ถือวีซ่าผิด  ชีวิตเปลี่ยนนะคะ)   ..... ส่วนวีซ่าพีอาร์ที่ลูกความต้องการยื่น เราก็หาทางจนได้ค่ะ (457 ต่อยอดไปพีอาร์ ...ไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกคน ...ไม่ง้อก็ได้)

.... รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม .... มีประโยชน์ โปรดแชร์ ....

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

แชร์ประสบการณ์ Partner visa - Schedule 3 waiver Request

13/10/2017

 
คนเขียนเพิ่งแจ้งข่าวดีให้กับลูกความคู่นึงไป ข่าวดีของคนที่ยื่นวีซ่าก็คงไม่มีอะไรนอกจากวีซ่าออกแล้ว

เคสนี้เป็นเคสที่เราดูแลกันมายาวนานพอสมควร ลูกความติดต่อคนเขียนมาตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว ลูกความไม่ถือวีซ่ามาระยะใหญ่ แต่มีแฟนออสซี่ แต่เนื่องจากกฏเกณฑ์นโยบายการขอวีซ่าคู่ครองของคนที่ไม่มีวีซ่า ก็เปลี่ยนมาระยะนึงแล้ว ซึ่งทำให้โอกาสการได้วีซ่าในเคสแบบนี้ยากขึ้นมาก

ทางเลือกของคนไม่ถือวีซ่าที่ต้องการยื่นวีซ่าคู่ครอง (ก็ได้เคยโพสไปแล้วว่า) มีอยู่สองทาง คือการกลับออกไปยื่นวีซ่าแบบนอกประเทศออสเตรเลีย หรือเสี่ยงยื่นวีซ่าแบบในประเทศออสเตรเลียถ้าคิดว่าเคสของเรามีเหตุผลที่น่าเห็นใจจริงๆ (Schedule 3 waiver request) คนเขียนใช้คำว่า"เสี่ยง" เพราะต่อให้เราคิดว่าเรามีเหตุผลน่าเห็นใจแค่ไหน เหตุผลอาจจะไม่มากพอในมุมมองของอิมมิเกรชั่น ซึ่งก็อาจจะทำให้เราถูกปฏิเสธวีซ่าได้ เมื่อถูกปฏิเสธวีซ่าในกรณีแบบนี้ ก็มีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งอุทธรณ์ก็มีความเสี่ยง อาจจะชนะหรือแพ้ ไม่มีใครตอบได้

จากประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้ คนเขียนคิดว่าเคสนี้เป็นเคสที่น่าเห็นใจจริงๆ แต่เนื่องจากว่าคนเขียนก็ไม่ใช่คนตัดสินเคส ลูกความก็ต้องเป็นคนตัดสินใจเองว่าจะเลือกทางไหนที่ตัวเองพอรับได้ ระหว่าง

1. กลับไปยื่นที่ไทย ซึ่งการพิจารณาน่าจะเร็วกว่าและมีโอกาสได้วีซ่าสูงกว่า (ถ้าความสัมพันธ์หนักแน่นมั่นคงและมีหลักฐานสนับสนุนที่ดี) แต่ก็คงจะต้องรออยู่ที่ไทยจนกว่าจะได้วีซ่า เพราะการขอวีซ่าท่องเที่ยวมาในระหว่างรอคงไม่ผ่านเนื่องจากเคยอยู่เป็นผีที่ออสเตรเลียมาระยะใหญ่ และถ้าวีซ่าคู่ครองไม่ผ่านจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ก็คงต้องรออยู่ที่ไทยจนกว่าอุทธรณ์จะผ่าน หรือได้วีซ่าประเภทอื่น

หรือ

2. เสี่ยงยื่นที่นี่ ซึ่งโอกาสที่จะถูกปฏิเสธที่ชั้นอิมมิเกรชั่นก็สูงพอสมควร แต่โอกาสที่จะชนะที่ชั้นอุทธรณ์ก็พอมี ถ้าถูกปฏิเสธ ก็มีโอกาสตัดสินใจว่าจะกลับไปวีซ่ายื่นใหม่ที่ไทยดี หรือจะเสี่ยงลุยต่อไปชั้นอุทธรณ์ดี ถ้าไม่ผ่านที่ชั้นอุทธรณ์ ก็คงจะได้กลับไปยื่นใหม่ที่ไทยจริงๆ ยกเว้นว่าจะมีเหตุให้อุทธรณ์ต่อในชั้นอื่นได้ (ซึ่งในบางเคสก็มีความเป็นไปได้)

คนเขียนง่ายๆ ถ้าลูกความลุย คนเขียนก็ลุยค่ะ แต่ก่อนลุย ลูกความต้องเข้าใจพื้นฐานเคสของตัวเองจริงๆก่อน ...
ทำงานกับคนเขียนไม่มีการเพ้นท์ภาพสวยหรู ไม่มีโลกสวย เราเอาเรื่องจริงมาคุยกัน คนเขียนไม่เห็นประโยชน์ที่จะบอกลูกความว่าเคสง่ายๆเดี๋ยวก็ได้วีซ่า ถ้าในความเป็นจริงมันไม่ใช่

สรุปว่าลูกความเลือกเสี่ยงยื่นที่นี่ คนเค้ารักกันอยากอยู่ดูแลกัน (และที่สำคัญมีเหตุผลน่าเห็นใจ) คนเขียนก็ลุย ลูกความก็ลุยค่ะ และเราก็ถูกปฏิเสธ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดคาด แต่ผิดหวัง คนเขียนก็ถามว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือจะกลับไปยื่นที่ไทย ในใจก็นึกว่าในเมื่อลุยมาถึงตรงนี้แล้ว ก็ควรจะลุยต่อ ไม่อย่างงั้นก็ควรยื่นที่ไทยตั้งแต่แรก นึกแต่ไม่ได้พูดเพราะนี่คือชีวิตของลูกความ และทั้งสองทางต่างก็มีข้อดี/ข้อเสียของมันเอง ก็ต้องให้ลูกความเลือกและตัดสินใจเอาเอง คนเขียนไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินใจแทน แต่มีหน้าที่ให้คำแนะนำประกอบการตัดสินใจ

ลูกความตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ คนเขียนชื่นใจมาก ไม่ได้ชื่นใจเพราะลูกความตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ แต่เพราะขออะไรไปก็จะพยายามหาให้อย่างรวดเร็ว แบบไม่ต้องตามไม่ต้องถามซ้ำ (proactive แบบสุดๆ) และเราก็ชนะที่ชั้นอุทธรณ์ เคสถูกส่งกลับไปให้อิมมิเกรชั่นพิจารณาต่อ และในที่สุดคุณลูกความก็ได้วีซ่าสมใจ ซึ่งในเคสนี้ลูกความได้วีซ่าคู่ครองแบบถาวรเลยด้วยค่ะ  .... คนเขียนชื่นใจและดีใจเหมือนได้วีซ่าซะเอง  ... นับรวมเวลาตั้งแต่เข้ามาขอคำปรึกษาเบื้องต้นจนถึงวันนี้ 4 ปี กับอีก 2 เดือน

หลายๆคนอาจจะสงสัยว่าแล้วจะบอกไหมว่าเหตุผลที่น่าเห็นใจมันคืออะไร ... ไม่บอก ... ความลับของลูกความบอกไม่ได้ ... และบอกไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะแต่ละเคสก็มีลักษณะเฉพาะตัว ก็ต้องพิจารณากันเป็นเคสๆไป  สำหรับบางคนที่เหมารวมว่าคนไม่มีวีซ่า/ผีจะไม่มีทางขอวีซ่าคู่ครองแบบในประเทศได้และต้องกลับไปยื่นแบบนอกประเทศเท่านั้น ก็ต้องบอกว่าไม่จริงเสมอไป

คนเขียนเคยโพสไว้นานแล้วว่าเคสบางเคสทนายหรือเอเจนต์ต้องทำงานกับเรานานเป็นปีๆ เลือกคนที่คลิ๊กกับเรานะคะ จะได้ทำงานด้วยกันอย่างสบายใจ

นอกเรื่อง .... มีน้องๆถามเกี่ยวกับ Bridging visa มาค่อนข้างเยอะ คนเขียนร่างไว้แล้วแต่ยังไม่เสร็จ รออีกแป๊บ...
ที่ถามๆกันมาก็จะพยายามตอบให้นะคะ (ถ้าตอบได้) อาจจะตอบเป็นการส่วนตัว หรือทาง Blog ในหัวข้อ ถาม-ตอบ จิปาถะ (ไม่มีความจำเป็นต้องเช็ค Blog ทุกวันนะคะ ถ้าตอบทาง Blog จะแจ้งให้ทราบว่าตอบให้แล้วใน Blog)
คำถามที่คนเขียนไม่ได้ตอบ คือคำถามที่ต้องดูเอกสารประกอบหรือต้องซักถามกันเพิ่มเติมหรือต้องอธิบายกันแบบยาวๆ ในกรณีแบบนี้รบกวนนัดปรึกษารับคำแนะนำกันแบบเป็นเรื่องเป็นราวนะคะ

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

Partner visa กับคนที่วีซ่าขาด

17/8/2017

 

มีน้องๆที่วีซ่าขาดติดต่อเข้ามาอยู่เรื่อยๆนะคะ หนู/ผมมีแฟนเป็นชาวออสเตรเลีย/เป็นพีอาร์ จะยื่นวีซ่าคู่ครองที่นี่ได้ไหม

คำตอบคือถ้าไม่มีเหตุผลน่าเห็นใจจริงๆ ยากค่ะ  แปลว่าถ้ามีเหตุผลที่หนักแน่นจริงและสามารถนำเสนอได้ พิสูจน์ได้  ก็ยังมีโอกาส (แต่ไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน)

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ถ้าสามารถพิสูจน์ความสัมพันธ์ได้ถึงสองปี หรือมีลูกด้วยกัน หรือมีเหตุผลน่าเห็นใจพอสมควรก็โอเคแล้ว

แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ อิมมิเกรชั่นปรับเปลี่ยนนโยบายภายในใหม่ (ตัวบทกฏหมายยังคงเดิม) การพิจารณาก็จะเพ็งเล็งไปที่ทำไมผู้สมัครถึงไม่มีวีซ่า ทำไมเป็นผีมาหลายปี ได้พยายามติดต่ออิมมิเกรชั่นเพื่อแก้ไขสถานะของตัวเองหรือไม่ หรืออยู่เป็นผีไปเพื่อรอเวลายื่นวีซ่า

ในบางเคสถึงแม้จะมีเหตุผลน่าเห็นใจจริงๆ (เช่นมีลูกเล็กด้วยกัน สปอนเซอร์ป่วยไม่สบาย ต้องการคนดูแล) อิมมิเกรชั่นก็ยังไม่สนใจ ปฏิเสธแบบไม่เห็นใจใดๆทั้งสิ้น สนใจอย่างเดียวคือการมีประวัติการอยู่เป็นผีมาก่อนการยื่นวีซ่า

เพราะฉะนั้นใครที่ยังไม่เป็นผี ก็ไม่ต้องพยายามจะเป็นนะคะ (จริงๆแล้ว ไม่ต้องเคสผีหรอกค่ะ เคสถือ Bridging visa ก็ต้องพิสูจน์เหตุผลน่าเห็นใจด้วยเช่นกัน)

เคสผี และเคส ฺBridging visa ถ้าไม่มีเหตุผลที่น่าเห็นใจจริงๆ ก็ต้องแนะนำให้กลับไปยื่นแบบนอกประเทศ แปลว่าจะไปยื่นไปรอที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่ในประเทศออสเตรเลีย แต่เพราะว่าระยะเวลาการรอก็ประมาณ 8-12 เดือน หรือนานกว่านั้นในบางเคส ส่วนใหญ่ก็จะกลับไปยื่นไปรอที่ประเทศบ้านเกิดของตัวเองกัน

ประวัติการอยู่เป็นผีมาก่อน เช่นการอยู่เลยกำหนดวีซ่า การเคยถูกปฏิเสธเพราะอิมมิเกรชั่นไม่เชื่อว่าตั้งใจจะเป็นนักเรียนจริง หรือการถูกยกเลิกวีซ่าเพราะทำผิดเงื่อนไขวีซ่า โดยทั่วไปแล้วไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับการยื่นวีซ่าคู่ครองแบบนอกประเทศ ถ้าหลักฐานความสัมพันธ์แน่น โอกาสผ่านก็สูงค่ะ การติดบาร์ 3 ปี จากการอยู่เลยกำหนดวีซ่าหรือการถูกยกเลิกวีซ่า ไม่ได้มีผลกับวีซ่าคู่ครองแบบนอกประเทศนะคะ

เคสที่น่ากังวัลคือเคสที่มีประเด็นอื่นพ่วงมาด้วย เช่น มีปัญหาสุขภาพ มีประวัติคดีอาญา เคยถูกปฏิเสธหรือถูกยกเลิกวีซ่าเพราะเคยให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในใบสมัครเก่า หรือเคยมีการปลอมแปลงเอกสาร  ประเด็นพวกนี้อาจจะมีผลกับการพิจารณา ซึ่งก็ต้องมาดูว่าควรจะเสี่ยงออกไปหรือไม่ เพราะออกไปแล้วอาจจะไม่ได้กลับเข้ามา

คนเขียนมีลูกความทั้งสองประเภทนะคะ ประเภทที่ต้องแนะนำให้ยื่นแบบนอกประเทศ เพราะไม่มีเหตุผลน่าเห็นใจอะไรที่เข้าข่ายให้ได้ลุ้นเลย

กับประเภทที่เข้าข่ายมีเหตุผลน่าเห็นใจที่อิมมิเกรชั่นอาจจะพิจารณาออกวีซ่าคู่ครองแบบในประเทศให้ ซึ่งเทรนปัจจุบันต้องบอกว่ายาก และอาจจะมีหวังที่ชั้นอุทธรณ์ซะมากกว่า  ลูกความกลุ่มนี้ก็ต้องยอมรับว่าค่าใช้จ่ายจะสูงเพราะมีแนวโน้มไปถึงชั้นอุทธรณ์ และก็ต้องยอมรับความไม่แน่นอน เพราะถ้าอุทธรณ์ไม่ผ่าน ก็ต้องเสียตังค์เสียเวลาต่อเพราะอาจจะต้องยื่นแบบนอกประเทศในที่สุด

คนเขียนมีเคสนึงที่เพิ่งชนะที่ชั้นอุทธรณ์เมื่อเร็วๆนี้ เคสนี้ถึงแม้จะมีเหตุผลที่น่าเห็นใจ คนเขียนก็ยังเสนอแนะให้ยื่นแบบนอกประเทศ เพราะห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายและความไม่แน่นอนว่าเคสจะไปจบตรงไหน ค่าใช้จ่ายจะปานปลายไปเท่าไหร่ ในขณะที่ถ้ายื่นแบบนอกประเทศ เคสนี้ไม่ควรจะติดปัญหาอะไรเลย แต่ลูกความก็ยืนยันจะยื่นที่นี่เพราะความรักและความต้องการที่จะดูแลกัน (บวกกับความกลัวว่าจะไม่ได้กลับมา ทั้งๆที่บอกแล้วว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรถ้ายื่นนอกประเทศ)  ลูกความลุยคนเขียนก็ลุยค่ะ แล้วเราก็ถูกปฏิเสธที่ชั้นอิมมิเกรชั่น.... (แน่นอนว่าลูกความเศร้า แต่รับได้ เพราะทราบความเสี่ยงมาตั้งแต่ต้นแล้วก่อนตัดสินใจยื่นแบบในประเทศ) ....เราก็ลุยต่อ และเราก็ชนะที่ชั้นอุทธรณ์...... เย้

คนเขียนก็มาลุยมาลุ้นเคสอื่นที่รออุทธรณ์ต่อ...  ไม่ได้แปลว่าเคสที่ไปถึงอุทธรณ์แล้วจะต้องผ่านทุกเคสนะคะ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่างประกอบกัน ที่สำคัญมากคือลูกความต้องเต็มร้อยกับงาน

คนเขียนไม่โลกสวยนะคะ และแนะนำลูกความอย่างจริงใจตรงไปตรงมา ยากก็บอกว่ายาก ไม่น่าจะมีปัญหาก็บอกว่าไม่น่าจะมีปัญหา แต่ผ่านแน่ๆได้วีซ่าแน่ๆบอกไม่ได้ เพราะไม่ใช่คนตัดสินเคส .... แถมบางเคสก็งานงอกระหว่างทาง เช่นลืมแจ้งชื่อเดิม ลืมแจ้งว่ามีลูก ลืมว่าเคยมีคดี ลืมว่าเคยเปลี่ยนชื่อ ลืมแจ้งสถานะว่าเคยแต่งงาน (มีลืมว่าเคยแต่งงานมาก่อนด้วยนะ !!)

เขียนซะยาว หวังว่าข้อมูลจะเป็นประโยชน์นะคะ... คนเขียนไม่มีแพท์เทิร์น เขียนเมื่ออยากเขียน เขียนเมื่อมีเวลา ... ขอบคุณน้องๆที่โทรมาบอกว่ายังติดตาม.... จะพยายามเขียนถี่ขึ้น...

เดี๋ยวคราวหน้ามาต่อกันด้วย Protection visa วีซ่ายอดฮิตของคนบางกลุ่ม (จริงๆ ร่างไว้นานแล้ว แต่ยังไม่มีเวลาขัดเกลา รอต่อไปอีกนิดนะคะ)


Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

แชร์ประสบการณ์ - บทเรียนราคาแพง

13/8/2015

 
เป็นอีกหนึ่งโพสต์ที่เขียนไว้นานแล้ว ไม่เสร็จซะที
คือคนเขียนไม่ใช่นักเขียนมืออาชีพนะคะ ต้องมี Mood เหมาะๆถึงจะเขียนออก บวกกับต้องมีเวลาด้วย นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงภาษาที่ใช้ด้วย พยายามให้อ่านและเข้าใจได้ง่าย และไม่วิชาการจนเกินไป -- ไม่รู้สำเร็จรึเปล่า
เอาเป็นว่าในที่สุดโพสต์นี้ก็คลอดแล้ว คนเขียนหวังว่าคนอ่านจะได้ประโยชน์และข้อคิดจากโพสต์บ้างนะคะ

เรื่องมีอยู่ว่าคุณลูกความมาขอคำปรึกษาค่ะ เริ่มด้วยการแจ้งคนเขียนว่า ตอนนี้คุณลูกความถือ
Bridging visa อยู่ เพราะยื่นอุทธรณ์ไปที่ MRT (ตอนนี้เป็น AAT แล้วนะคะ) แต่เนื่องจากเรื่องอุทธรณ์ไม่ประสบความสำเร็จ ฺBridging visa ที่ถืออยู่ก็กำลังจะหมดไป คุณลูกความเล่าว่าทนายคนที่ทำเรื่องให้แจ้งว่ามีอยู่ 2 ทางเลือก คือ

    A. กลับไปยื่นใบสมัครขอวีซ่าตัวที่ต้องการยื่น (ซึ่งเป็นวีซ่าชั่วคราว) มาใหม่จากไทย หรือ

    B. ยื่นอุทธรณ์ไปที่ศาล (Federal Circuit Court) โดยทนายคนนี้บอกว่านอกจากมีโอกาสชนะแล้ว การยื่นเรื่อง
        ไปที่ศาลก็จะทำให้ได้ Bridging visa ที่จะอยู่ที่ออสเตรเลียต่อไปอย่างถูกกฏหมาย


คุณลูกความอยากทราบความเห็นคนเขียนว่าจะเลือกทางไหนดี ถึงจะมีโอกาสได้วีซ่าคืนมามากที่สุด

ฟังดูแล้วเหมือนจะดีนะ มีตั้ง 2 ทางเลือก ไม่ได้ประชดนะคะ บางเคสถึงแม้จะไม่ประสบความสำเร็จ ก็ยังมีหลายทางเลือกได้ จริงๆนะ .......แต่ ไม่ใช่เคสนี้.....

หลังจากสัมภาษณ์กันอยู่นานสองนาน เพื่อให้แน่ใจว่าคนเขียนได้ข้อมูลที่ถูกต้อง คนเขียนก็สรุปข่าวร้ายให้คุณลูกความฟังเป็นข้อๆดังนี้

    1. คุณลูกความไม่ได้ถือวีซ่ามานานมากแล้ว ที่คิดว่าถือ Bridging Visa อยู่นั้น มันไม่จริง จากประวัติที่ลูกความให้มา รับรองได้ว่าเป็นผีมานานแล้ว คุณลูกความคิดว่าคนเขียนล้อเล่น 
แหม่..ใครจะมาล้อเล่นเรื่องแบบนี้ ว่าแล้วก็ขอเช็คสถานะวีซ่าจากระบบ VEVO ของอิมให้เลย ซึ่งก็ไม่ได้โชว์ว่าคุณลูกความถือวีซ่าอะไรอยู่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วก็แปลว่าไม่ได้ถือวีซ่านั่นแหละค่ะ (โดยส่วนน้อยแปลว่าอาจจะมีการขัดข้องทางเทคนิคเกิดขึ้น)

ลูกความแย้งว่า เป็นไปไม่ได้นะ เพราะใช้บริการทนายความมาตั้งแต่ต้น จะมีปัญหาแบบนี้ได้ยังไง และทนายก็บอกเองว่าถือ Bridging visa อยู่ ... ว่าแล้วก็ตั้งท่าจะร้องไห้ .... คือกฏหมายด้านนี้เปลี่ยนบ่อยและซับซ้อนค่ะ สำหรับเคสนี้ ทนายอาจจะเข้าใจข้อกฏหมายผิดๆมาตั้งแต่ต้น หรือไม่ก็หลอกลูกความมาโดยตลอด คนเขียนไม่อาจทราบได้

    2. การกลับไปยื่นวีซ่าตัวที่ต้องการจากไทยก็ทำไม่ได้ เนื่องจากประวัติและความที่เป็นผีมานาน ทำให้เมื่อกลับออกไปก็ไม่สามารถขอวีซ่าตัวที่ต้องการซึ่งเป็นวีซ่าชั่วคราวได้ เพราะจะติดบาร์ไปอีก 3 ปี

    3. การยื่นเรื่องไปที่ศาล (Federal Circuit Court) ก็ไม่มีโอกาสชนะ เพราะจากที่คนเขียนได้อ่านข้อวินิจฉัยของอิมมิเกรชั่นและของ MRT (อุทธรณ์) คำตัดสินของทั้งสองชั้นก็เป็นไปตามหลักกฏหมาย (คนเขียนอยากบอกว่าจริงๆแล้ว เคสนี้มีสิทธิ์ชนะที่ MRT แต่คุณทนายลืม(รึเปล่า?)แจ้งลูกความให้ไปขึ้นศาล และตัวเองก็ลืม(รึเปล่า?)ไปศาล (MRT) ด้วย!! - MRT ก็เลยตัดสินไปตามเอกสารเดิมที่มี คือเห็นตามอิมนั่นเอง) เมื่อเคสเป็นแบบนี้แล้ว คิดว่าการยื่นอุทธรณ์ไปที่ Federal Circuit Court จะชนะหรือคะ ถ้าแพ้คดีที่ Federal Circuit Court คุณลูกความก็จะเสียค่าทนายความและค่าขึ้นศาลให้ทั้งฝ่ายของตัวเองและฝ่ายของอิมมิเกรชั่นด้วย (ซึ่งคาดว่าเกินหมื่นเหรียญแน่ๆ) แล้วจะทำไปเพื่ออะไร นอกจากนั้นยื่นเรื่องไปก็ไม่ได้ทำให้ได้ Bridging visa เหมือนที่ทนายได้บอกไว้ เพราะคุณลูกความไม่มีสิทธิได้ Bridging visa มาตั้งแต่ต้น ถึงได้เป็นผีมาตั้งนานแล้ว!!!!

จบแล้วค่ะ คำแนะนำที่ให้กับคุณลูกความ
(ข่าวร้ายล้วนๆ) - จริงๆแล้วรายละเอียดเยอะมาก เล่าได้ไม่หมดค่ะ

วันถัดมาคุณลูกความเข้าไปหาอิมและโทรกลับมายืนยันว่า ตัวเองเป็นผีมานานแล้วจริงๆ แถมยังถูกอิมโวยมาอีกตังหากว่าเป็นไปได้ยังไงเป็นผีมาตั้งนานแล้วไม่รู้ตัว ให้เวลา 2 อาทิตย์สำหรับแพ็คกระเป๋ากลับบ้าน!!

เคสนี้น่าสงสารมากค่ะ เพราะลูกความลงทุนทำธุรกิจของตัวเองด้วย สุดท้ายต้องบอกขายแบบขาดทุนในระยะเวลา 2 อาทิตย์ เพราะอิมไม่ขยายเวลาให้อยู่ต่อ เนื่องจากไม่เชื่อว่าคุณลูกความเป็นผีโดยไม่ได้ตั้งใจ - แต่คนเขียนเชื่อ

ถ้ารออ่านว่าคนเขียนจะทำอะไรให้ได้บ้าง บอกเลยว่าทำอะไรให้คุณลูกความไม่ได้
กว่าจะถึงมือคนเขียนก็สายเกินแก้ คือว่าไม่ได้มีเวทมนต์นะคะ เป็นนักกฏหมายค่ะ ก็ต้องว่ากันไปตามตัวบทกฏหมาย คนเขียนก็พยายามแก้ทุกโจทย์นะคะ แต่ไม่ใช่ว่าทุกโจทย์จะมีทางแก้


สุดท้ายก่อนจากกัน คนเขียนแจ้ง (ข่าวดีเล็กๆ) แก่คุณลูกความว่ามีวีซ่าชนิดที่ไม่ติดบาร์ 3 ปีอยู่นะ พร้อมแจ้งเงื่อนไขหลักๆของวีซ่าที่คุณลูกความอาจจะมีสิทธิ์ในอนาคต ลูกความรู้สึกดีขึ้นมานิดนึง แต่ก็ต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งกันใหม่จากไทย เพราะเจ้าตัวยังมีคุณสมบัติไม่ถึงสำหรับวีซ่าชนิดที่ไม่ติดบาร์นี้

บทเรียนราคาแพงสำหรับลูกความท่านนี้ สอนอะไรคนอ่านบ้างคะ

# Second opinion (ความเห็นที่สอง) บางครั้งก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ... แต่ควรจะหา Second opinion ให้ถูกเวลาด้วยนะคะ คือก่อนการตัดสินใจทำอะไรซักอย่าง -- จริงๆแล้วเคสนี้ คุณลูกความก็มาหา Second opinion ก่อนที่จะเดินสเต็ปต่อไปนะคะ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีมาก เพียงแต่ว่าเคสนี้พลาดมาตั้งแต่ต้นแล้ว Second opinion เลยช่วยอะไรไม่ได้มาก นอกจากการได้รู้สถานะจริงๆของตัวเอง และไม่ต้องเสียเงินทอง หรือถูกหลอก(รึเปล่า?)อีกต่อไป

## เมื่อทนายความ หรือเอเจนต์ที่ดูแลเรา แจ้งว่าเราได้วีซ่าแล้ว หรือแจ้งว่าตอนนี้เราถือวีซ่าตัวใดตัวหนึ่งอยู่ (เช่น ในกรณีนี้ Bridging visa ) เพื่อป้องกันความผิดพลาด เราก็ควรขอหลักฐานการถือวีซ่าตัวนั้นๆไว้ด้วยนะคะเพื่อความแน่ใจ ถ้าเกรงใจไม่กล้าขอ หรือขอแล้วไม่ให้ เช็คเองได้ค่ะ จาก VEVO

ป.ล. ถ้าถึงจุดที่ต้อง
เกรงใจไม่กล้าขอ หรือขอแล้วไม่ให้ คนเขียนว่าเปลี่ยนทนายความ หรือเอเจนต์จะดีกว่าค่ะ

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com

Section 48 Bar คืออะไร

31/7/2013

 
คนเขียนกำลังมองหาทางออกให้น้องคนนึง ซึ่งอยู่เป็นผีมาหลายปี ซึ่งต้องลงไปดูหลายข้อกฏหมาย เลยนึกขึ้นได้ว่ายังไม่ได้ post เรื่อง Section 48 bar ที่สัญญาไว้เมื่อวันที่ 19/07/13

แล้วตกลง Section 48 Bar มันคืออะไร และสำคัญอย่างไร

Section 48 หรือมาตรา 48 ของกฏหมายคนเข้าเมือง เขียนไว้ว่า
คนที่ไม่ได้ถือ Substantive visa (ซึ่งก็คือวีซ่าทั้งหลาย ที่ไม่ใช่ Bridging visa) และนับจากที่เข้ามาในประเทศออสเตรเลียครั้งล่าสุด หากได้ถูกปฏิเสธ หรือยกเลิกวีซ่า คนเหล่านี้ไม่สามารถต่อวีซ่าในประเทศออสเตรเลียได้ ยกเว้นวีซ่าบางประเภทเท่านั้น

ป.ล. ถูกปฏิเสธ กับถูกยกเลิกวีซ่า ความหมายต่างกันนะคะ อ่านได้ที่ post แรก 14/06/13 ค่ะ

ในความเห็นคนเขียนนะคะ การปล่อยให้วีซ่าถูกปฏิเสธ หรือถูกยกเลิก โดยที่ไม่คิดให้ถี่ถ้วน หรือพยายามหาทางออกอื่น (ถ้ามี) ไม่ใช่เรื่องที่ดีเลยค่ะ เพราะท้ายที่สุดแล้วเจ้าตัวอาจจะได้รับผลกระทบของมาตรา 48 ไม่สามารถยื่นวีซ่าในประเทศออสเตรเลียได้

ก็ยื่นนอกประเทศสิ ไม่เห็นมีปัญหา???

อาจจะมี หรือไม่มีปัญหา ตอบไม่ได้ค่ะ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละเคส ขึ้นอยู่กับความจำเป็น และความอยากที่จะกลับเข้ามาอยู่ในประเทศออสเตรเลีย  ปัญหาที่เห็นคือ
1.     วีซ่าบางประเภทหากยื่นนอกประเทศแล้วไม่ผ่าน ผู้ยื่นไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ยกเว้นว่าจะมีความผิดพลาดทางข้อกฏหมายเกิดขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายก็จะสูง  ในขณะที่วีซ่าประเภทเดียวกัน หากยื่นในประเทศออสเตรเลีย แล้วถูกปฏิเสธจะมีสิทธิอุทธรณ์ (แต่ถ้าถูก Section 48 Bar ซะแล้ว ก็ไม่สามารถยื่นได้  ถูกมั๊ยคะ)
2.     วีซ่าบางประเภทแม้จะยื่นนอกประเทศ แล้วไม่ผ่านก็มีสิทธิอุทธรณ์ แต่การอุทธรณ์ส่วนใหญ่ใช้เวลานานค่ะ 12-15 เดือน ซึ่งผู้อุทธรณ์ส่วนใหญ่ก็จะไม่สามารถขอวีซ่ากลับเข้ามาในประเทศออสเตรเลียได้ในระหว่างอุทธรณ์

เพราะฉนั้น หากท่านใดอยู่ในระหว่างอิมพิจารณาเคส และก่ำกึ่ง ว่าจะติด Section 48 Bar ซึ่งที่ทำได้คือ ขอรับคำแนะนำที่ถูกต้องแต่เนิ่นๆค่ะ เพื่อจะได้มีเวลาวางแผนงาน โดยเฉพาะคนที่อยากเป็น PR บางครั้้งเราต้องมองยาว และวางแผนไกลๆค่ะ บางเคสอาจจะไม่มีทางเลือก ยังไงก็ต้องติด Section 48 Bar ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น เราก็ต้องมาแก้ปัญหากันไปหลังติดมาตรา 48 จะมีทางออกยังไง อันนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์รายบุคคลนะคะ

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

    Author


    พี่เก๋ - กนกวรรณ ศุโภทยาน เป็นทนายความไทย และทนายความของประเทศออสเตรเลีย (Immigration Lawyer)

    มีประสบการณ์เป็นทนายความเฉพาะทาง ด้าน IMMIGRATION ของประเทศออสเตรเลีย รับวางแผนการขอวีซ่า ยื่นใบสมัครขอวีซ่าทุกประเภท ช่วยเหลือในชั้นอุทธรณ์ที่ Administrative Appeals Tribunal และในชั้นศาลค่ะ

    ต้องการคำแนะนำ หรือความช่วยเหลือ ติดต่อได้ที่ Immigration Success Australia
    mb: 0428 191 889 หรือ www.immigrationsuccessaustralia.com

    Archives

    December 2023
    November 2023
    October 2023
    July 2023
    September 2022
    July 2022
    January 2022
    December 2021
    November 2021
    October 2021
    September 2021
    July 2021
    June 2021
    March 2021
    February 2021
    January 2021
    December 2020
    November 2020
    October 2020
    September 2020
    July 2020
    June 2020
    May 2020
    April 2020
    March 2020
    February 2020
    March 2019
    January 2019
    November 2018
    October 2018
    August 2018
    July 2018
    June 2018
    April 2018
    October 2017
    September 2017
    August 2017
    May 2017
    April 2017
    August 2015
    April 2015
    December 2014
    September 2014
    August 2014
    June 2014
    March 2014
    January 2014
    October 2013
    September 2013
    July 2013
    June 2013

    Categories

    All
    วีซ่า
    อุทธรณ์
    วีซ่าคู่ครอง
    101
    102
    103
    143
    173
    186
    187
    190
    300
    309
    4020
    408
    417
    445
    457
    462
    476
    482
    485
    489
    491
    494
    500
    870
    AAT
    Accountant
    Administrative Appeals Tribunal
    Adoption Visa
    Agriculture Visa
    Approved Nomination
    Australia
    Australian
    Australian Citizenship
    Australian Immigration
    Bar
    Bricklayer
    Bridging Visa
    Bridging Visa A
    Bridging Visa E
    BVA
    BVE
    Changes To Immigration Law
    Changing Courses
    Chef
    Child Visa
    Consolidated Sponsored Occupations List
    COVID 19
    COVID-19
    CSOL
    Decision Ready
    Decision-ready
    Decision Ready Application
    Decision-ready Application
    De Facto Relationship
    Employer Sponsored
    English Exemption
    ENS
    Exercise Physiologist
    Family
    Family Violence
    Federal Circuit Court
    Graduate Work
    GTE
    Hydrogeologist
    Ielts
    Immigration
    Immigration Lawyer
    Judicial Review
    Jurisdictional Error
    Migration Agent
    Migration Review Tribunal
    MRT
    Nomination
    Orphan Relative Visa
    Overstay
    Parent
    Partner Visa
    PIC 4020
    Post Study Work
    Processing Period
    Protection Visa
    Public Interest Criteria
    Public Interest Criterion
    Regional Australia
    Regional Visas
    Registered Migration Agent
    Rma
    RSMS
    Section 48
    Section 48 Bar
    Self Sponsorship
    Skilled Migration
    Skilled Occupations List
    Skilled Work Regional
    Skills Assessment
    SOL
    Sponsor
    Sponsorship
    Student Visa
    Substantive Visa
    Training
    Travel Exemption
    Tsmit
    Unlawful
    Visa Cancellation
    Visa Refusal
    Wall And Floor Tiler
    Working And Holiday Visa

    RSS Feed

Powered by Create your own unique website with customizable templates.