visa blog : สำหรับคนไทยค่ะ
  • Home
  • Blog

จดทะเบียนความสัมพันธ์ (Relationship Registration) South Australia

27/8/2017

 
เมื่อเดือนที่แล้วคนเขียนไปเจอมาว่าร่างกฏหมายการจดทะเบียนความสัมพันธ์ของรัฐ South Australia ผ่านสภามาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2016 แล้ว คนเขียนเชื่อว่าน่าจะมีผลบังคับใช้เร็วๆนี้ .... คือจริงๆน่าจะบังคับใช้มาตั้งนานแล้ว ก็ไม่ทราบว่ารัฐบาลรออะไร ....

คนเขียนเลยบอกน้องๆลูกความที่อยู่ในความสัมพันธ์ฉันท์ De facto แต่ยังไม่ครบ 12 เดือน (หรือเกิน 12 เดือนแล้ว แต่หลักฐานไม่แน่น) ให้คอยติดตามกับทางหน่วยงานรัฐบาลว่าเมื่อไหร่กฏหมายตัวนี้จะบังคับใช้ 

และตอนนี้ (เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2017) ที่ South Australia ก็สามารถจดทะเบียนความสัมพันธ์ได้แล้วนะคะ ลูกความของคนเขียนคาดว่าจะเป็นคู่แรกๆที่ได้ใช้กฏหมายนี้

ป.ล.1      รัฐอื่นที่ยังไม่มีกฏหมายรองรับการจดทะเบียนความสัมพันธ์ ก็อาจจะมีได้ซักวันนึงนะคะ
               เพราะฉะนั้นอย่าด่วนสรุป ไม่อย่างงั้นเราอาจจะพลาดโอกาสดีๆได้

ป.ล.2      เงื่อนไขการจดทะเบียนความสัมพันธ์ของแต่ละรัฐไม่เหมือนกันนะคะ 
               บางรัฐที่รับจดทะเบียนความสัมพันธ์อยู่แล้ว ก็อาจจะมีการเปลี่ยนเงื่อนไขได้
               ก่อนจะยื่นใบสมัครก็เช็คเงื่อนไขกันด้วยนะคะ จะได้เตรียมเอกสารให้ครบ ไม่เสียเวลาหรือเสียตังค์ฟรี

ข้อมูลการจดทะเบียนความสัมพันธ์ของ South Australia อยู่ที่ https://www.sa.gov.au/topics/family-and-community/births,-deaths-and-marriages/register-a-relationship

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

สรุปเคสน่าสนใจ..... บุตรบุญธรรม

23/8/2017

 
คนเขียนมีเคสน่าสนใจที่จะมาสรุปให้ฟังค่ะ ไม่ใช่เคสของคนเขียนเองนะคะแต่เป็นเคสที่ตีพิมพ์ไว้ และประชาชนคนทั่วไปก็สามารถเข้าไปอ่านได้  (ถ้าเป็นเคสของตัวเอง คนเขียนจะลงลึกไม่ได้ เพราะมีหน้าที่รักษาความลับของลูกความ)

เคสนี้เป็นวีซ่าบุตรบุญธรรมที่ถูกปฏิเสธในชั้นอิมมิเกรชั่น และก็ไม่ประสบความสำเร็จที่ชั้นอุทธรณ์ Administrative Appeals Tribunal (AAT) ก็เลยมาร้องต่อศาล Federal Circuit Court และก็ไม่ประสบความสำเร็จอยู่ดี

เคสนี้เป็นเคสที่ป้าหรือน้าไม่แน่ใจ (เรียกว่า"ป้า" แล้วกันนะคะ เพื่อความสะดวก) ซึ่งเป็นพลเมืองของออสเตรเลียแล้ว ต้องการที่จะนำหลานอายุ 17 มาอยู่ด้วย (ซึ่งเป็นลูกของพี่หรือลูกของน้องก็ไม่แน่ใจ - คิดซะว่าเป็นลูกของน้องนะคะ เพื่อความสะดวก)  - พ่อแม่แท้ๆจะแก่หรืออ่อนกว่าพ่อแม่บุญธรรมในกรณีนี้ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ และภาษาอังกฤษใช้คำว่า sister คนเขียนก็ไม่ทราบว่าใครแก่กว่าใคร รู้แค่ว่าแม่ที่แท้จริงกับคนที่อยากเป็นแม่บุญธรรมเป็นพี่น้องกัน)

เคสนี้ตามที่อ่าน ป้าไม่ได้มีการทำเรื่องบุตรบุญธรรมที่ประเทศไทย (คือไม่มีหลักฐานว่าทำ) แต่มีการร้องขอต่อศาลที่ประเทศออสเตรเลีย (Family Court of Australia) ให้มีสิทธิ์ในการปกครอง (parenting orders) หลานอายุ 17 คนนี้  ซึ่งพ่อแม่ที่แท้จริงของหลานก็ยังมีชีวิตอยู่และเซ็นยินยอมให้สิทธิ์ในการปกครองลูกตัวเองแก่ป้า เพื่อที่จะได้มาเรียน มาอาศัยอยู่ที่ออสเตรเลีย

ตอนแรกป้าเริ่มด้วยวีซ่า Orphan relative แปลเป็นไทยว่าวีซ่าสำหรับญาติที่เป็นกำพร้า วีซ่าถูกปฏิเสธเพราะพ่อแม่แท้จริงก็ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ได้ตาย ไม่ได้สูญหาย ไม่ได้พิการ

ป้าเลยยื่นวีซ่าบุตรบุญธรรมแทน ประเด็นสำคัญที่โต้เถียงโดยป้าคือ

1. ป้าอ้างถึงคำสั่งของศาลออสเตรเลียที่ให้อำนาจป้าปกครองหลาน (parenting orders)

  - ศาลบอกว่าให้อำนาจปกครองหลาน ไม่ได้เป็นเอกสารที่แปลว่าหลานได้กลายเป็นบุตรบุญธรรมของป้าแล้ว

2. ป้าบอกว่าไปหา Department of Family and Community Services (FACS) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่พิจารณาอนุมัติการรับบุตรบุญธรรมแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับพิจารณา (เพราะหน่วยงานจะพิจารณาอนุมัติบุตรบุญธรรม ที่ไม่ใช่แบบญาติรับญาติมาเป็นบุตร) ป้าโต้เถียงว่า การที่ FACS ไม่ยอมรับเรื่องพิจารณาการรับบุตรบุญธรรมของป้า ป้าถือเป็นการอนุมัติบุตรบุญธรรมแล้วโดยปริยาย (???? ตรงนี้ คนเขียนงงๆนะคะ ว่าการไม่รับเรื่องไว้พิจารณา จะถือว่าเป็นการอนุมัติได้อย่างไร อาจจะมีรายละเอียดทางเอกสารมากกว่าที่เขียนไว้ในคำตัดสินเคสนี้นะคะ ถึงทำให้ป้าคิดแบบนี้)

  - ศาลบอกว่าการที่ FACS ปฏิเสธที่จะพิจารณาเคสญาติรับญาติมาเป็นบุตรบุญธรรม จะมานัวๆว่ามีการอนุมัติได้ยังไง ต้องมีเอกสารอนุมัติที่ชัดเจนสิ

3. ป้าบอกว่าจริงๆแล้วป้าเป็นแม่บุญธรรมตามธรรมเนียมไทย (Customary/informal adoption) มานานแล้ว เพราะที่ประเทศไทยหลานมักจะอยู่ในความดูแลของปู่ย่าตายาย ในกรณีนี้นอกจากตายายแล้ว ป้าก็ช่วยดูแลและรับภาระทางการเงินส่งหลานเรียน ทำไม AAT (หน่วยรับอุทธรณ์แรก) ไม่ถามถึงจุดนี้ในวันพิจารณา และไม่ยอมพิจารณาในประเด็นนี้

  - ศาลบอกว่า ถ้าคิดว่าประเด็นไหนสำคัญและอยากให้พิจารณา ป้ามีหน้าที่นำเสนอต่อ AAT นะคะ ... AAT ไม่ได้มีหน้าที่ๆจะต้องถามทุกอย่างที่ป้าอยากให้ถาม

  - และถ้าป้าจะบอกว่า ป้าได้นำเสนอต่อ AAT แล้ว ว่าป้าเป็นแม่บุญธรรมตามธรรมเนียมไทยมานานแล้ว แต่ AAT กลับไม่เอามาพิจารณา ศาลบอกว่าไหนล่ะหลักฐานว่าได้นำเสนอต่อ AAT แล้ว ไม่เห็นเอามาแสดงต่อศาล (Federal Circuit Court) เลย ... อ้างลอยๆไม่ได้นะ

  - และหลักฐานที่ศาลมีในเคสนี้ ก็ไม่มีชิ้นไหนเลยที่สื่อว่าได้มีการรับบุตรบุญธรรมกันมาก่อนแล้วจากประเทศไทย มีแต่เอกสารที่สื่อว่าป้าและสามีมาพยายามทำเรื่องรับบุตรบุญธรรมในประเทศออสเตรเลีย
 
           ... เคสอิมมิเกรชั่นเป็นเคสที่ว่ากันตามหลักฐาน และการพิสูจน์หลักฐานนะคะ
                                                 ไม่ว่าจะที่ชั้นอิมมิเกรชั่น ชั้นอุทธรณ์ที่ AAT
                             ชั้นอุทธรณ์ที่ Federal Circuit Court / Federal Court หรือ High court
                                                  หรือชั้นอื่นๆที่บางเคสเปิดโอกาสให้ไปได้

ศาลโน๊ตไว้ด้วยว่า เคสนี้จริงๆแล้วเป็นเคสที่ต้องยื่นแบบนอกประเทศเท่านั้น แต่ตัวหลานอยู่ในประเทศออสเตรเลียตอนยื่น (ซึ่งแค่จุดนี้จุดเดียวก็ไม่รอดแล้ว และ AAT จะไม่พิจารณาจุดอื่นเลยก็ได้)

คนเขียนโน๊ตว่าป้าและสามีไม่ได้แต่งทนายมาช่วยในเคส Federal Circuit Court (อาจจะมีคนช่วยอยู่เบื้องหลัง
รึเปล่า อันนี้ไม่แน่ใจ)

เคสบุตรบุญธรรมในกรณีที่ผู้ขอรับบุตรธรรมเป็นพีอาร์ หรือพลเมืองของออสเตรเลียไปแล้ว มีความซับซ้อนสูง และความเสี่ยงสูง ต้องใช้เวลาพิจารณากันนานเพราะข้อมูลเยอะ และต้องพิจารณากันเป็นเคสๆไปนะคะ

ปกติแล้วคนเขียนจะโพสที่มาของข้อมูล แต่เนื่องจากเคสนี้เป็นเคสคนไทย แหล่งข้อมูลระบุชื่อนามสกุลชัดเจน
ถึงแม้ว่าเคสนี้จะได้ตีพิมพ์ให้คนทั่วไปหาอ่านได้  และคนเขียนก็ไม่ได้มีหน้าที่รักษาความเป็นส่วนตัวให้กับป้าและหลานในเคสนี้  แต่ด้วยวัฒนธรรมไทยและเคารพในความเป็นส่วนตัวของป้าหลานคู่นี้ คนเขียนขอแจ้งแหล่งข้อมูลแค่ว่าเป็นคำตัดสินของ Federal Circuit Court ปี 2017

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

Protection visa

23/8/2017

 
วีซ่าผู้ลี้ภัย (Protection visa) เป็นอีกวีซ่านึงที่น้องๆโทรถามอยู่เรื่อยๆ ส่วนใหญ่ถามว่ารับทำไหม และค่าใช้จ่ายเท่าไหร่  แปลกใจที่ไม่มีใครถามว่าตัวเองเข้าข่ายมีโอกาสที่จะได้วีซ่าตัวนี้หรือไม่

คนเขียนสงสัยว่าน้องๆไปเอาความคิดที่จะขอ Protection visa มาจากไหน น้องที่โทรมาส่วนใหญ่จะฟันธงมาเลยว่าต้องการให้ทำ Protection visa ไม่ถามด้วยว่าตัวเองมีทางเลือกอื่นหรือไม่

วีซ่าตัวนี้มีไว้สำหรับคนที่ไม่สามารถกลับไปประเทศของตัวเองได้ เพราะเหตุผลตามลิงค์นี้ เช่นในบางประเทศไม่ยอมรับคนที่รักชอบเพศเดียวกัน คนที่นับถือศาสนาหรือลัทธิย่อย หรือชนกลุ่มน้อย หรือในบางประเทศก็มีกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมือง จนเป็นเหตุให้มีความกลัวว่าจะถูกทำร้ายหรือจะถูกฆ่าตาย โดยที่กฏหมาย
ผู้รักษากฏหมายและรัฐบาลไม่สามารถปกป้องคุ้มครองเค้าได้ หรือไม่สนใจที่จะคุ้มครอง หรือคุ้มครองไปตามพิธีแต่ไม่ให้ความเป็นธรรม นอกจากนี้ยังต้องมาดูว่าการย้ายไปอยู่พื้นที่อื่นจะทำให้ปัญหาความกลัวว่าจะถูกทำร้ายและ
ไม่ได้รับความเป็นธรรมหมดไปหรือไม่ 

คนไทยแทบจะไม่มีเหตุที่เข้าข่ายว่าจะได้ Protection visa เลย (ใช้คำว่าแทบจะ เพราะบางเคสก็มีความเป็นไปได้ และก็เคยมีคนไทยได้ Protection visa มาแล้ว... แต่น้อยมากๆ) เคสที่ดูเหมือนจะเข้าข่าย ก็ยังไม่ทราบเลยว่าจะได้วีซ่ามารึเปล่าขึ้นอยู่กับน้ำหนักพยานหลักฐานและความน่าเชื่อถือ

เคสประมาณยืมเงินแล้วหนีหนี้มาออสเตรเลียเพราะถูกเจ้าหนี้ทวงหรือจะถูกฟ้องศาล ไปก่อคดีอาญามาและกำลังจะถูกจับ อยู่เมืองไทยตกงานเลยอยากมาอยู่ออสเตรเลียเพราะหางานทำง่าย ไม่ใช่สาเหตุที่ออสเตรเลียจะออก Protection visa ให้นะคะ 

เวลาน้องๆโทรมา คนเขียนจะถามว่าเหตุผลที่ต้องการขอ Protection visa คืออะไร กลัวอะไรที่ทำให้กลับประเทศไทยไม่ได้ คำตอบที่ได้คือไม่มีค่ะ เห็นเพื่อนๆขอกัน เห็นได้อยู่ต่อ เห็นได้ทำงาน เห็นทนาย/เอเจนต์บอกว่าเดี๋ยววีซ่าออกก็จะได้พีอาร์เลย เห็นว่าทำง่ายใครๆก็ทำกัน (สงสัยว่า "ใครๆ" ที่ว่านี่ มีใครได้ Protection visa กันบ้าง)

สำหรับน้องๆที่ยังถือวีซ่าอยู่ เช่นวีซ่าท่องเที่ยว วีซ่านักเรียน วีซ่า 457 ขอร้องว่าอย่าตัดอนาคตตัวเองด้วยการยื่น Protection visa ถ้าตัวเองไม่มีเหตุแห่งความกลัวตามลิงค์  ....ถ้าจำเป็นจะต้องยื่นวีซ่าอะไรซักอย่างเพื่ออยู่ต่อ ก็ควรจะยื่นวีซ่าที่ตัวเองอาจจะมีสิทธิ์ได้วีซ่านั้น (ไม่ว่าจะที่ชั้นอิมมิเกรชั่น หรือที่ชั้นอุทธรณ์) จะดีกว่า

ปกติแล้วคนเขียนไม่รับทำ Protection visa นะคะ .... ใช้คำว่าปกติ เพราะก็มีกรณีไม่ปกติที่คนเขียนอาจจะพิจารณารับทำอยู่บ้าง... ซึ่งน้อยมาก (ตั้งแต่ทำงานด้านนี้มา มีไม่ถึง 10 เคส และมีอยู่เคสเดียวในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา) เคสที่รับทำก็จะเป็นเคสที่ไม่มีทางเลือกอื่น (นอกจากการกลับออกไปและอาจจะไม่ได้กลับเข้ามา) และที่ทำก็เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกความได้ไปต่อในการพิจารณาชั้นอื่น ที่อาจจะทำให้ได้วีซ่าไม่ว่าจะวีซ่าชั่วคราวหรือวีซ่าถาวร (ใช้คำว่า "อาจจะ" เพราะผลลัพท์จริงๆ จะได้หรือไม่ได้วีซ่า จะได้วีซ่าชั่วคราวหรือวีซ่าถาวร วีซ่าที่ได้จะมีเงื่อนไขอะไร หรือจะต้องแพ็คกระเป๋ากลับไทยในที่สุด ไม่มีใครตอบได้ ... ซึ่งลูกความก็ต้องยอมรับความเสี่ยงและผลลัพธ์ที่อาจจะไม่ใช่อย่างใจคิดให้ได้ ก่อนที่จะเริ่มงานกัน)

ชักงงรึเปล่า ประโยคนึงบอกว่าการยื่น Protection visa เป็นการตัดอนาคต อีกประโยคบอกว่าเป็นการเปิดโอกาส

สรุปดีกว่า.... เคส Protection visa ของคนไทยส่วนใหญ่เป็นเคสที่จะไม่ประสบความสำเร็จ เป็นการชะลอเวลากลับบ้าน และเมื่อถูกปฏิเสธก็คาดว่าจะติด section 48 บาร์ ซึ่งอาจจะทำให้ไม่สามารถยื่นวีซ่าแบบในประเทศตัวอื่นที่อาจจะมีสิทธิ์ยื่นได้ในอนาคต เคสที่ปั้นเรื่องขึ้นมาก็อาจจะถูกปฏิเสธพร้อมติดบาร์ 3 ปีจาก Public Interest Criterion 4020 ..... ถ้าทราบอยู่แล้วว่าผลลัพธ์จะเป็นประมาณนี้ แล้วยังอยากจะทำ Protection visa ก็ไม่มีใครห้ามได้ (แต่คนเขียนไม่รับทำ)  ถ้าไม่ทราบเพราะถูกหลอกว่าทำได้ง่ายๆและในที่สุดจะได้พีอาร์ ก็ทราบซะนะคะว่าตัวเองถูกหลอก (เคส Protection visa ของคนไทยที่เข้าข่ายจะได้วีซ่า คนเขียนคิดว่ามีไม่ถึง 1%)
..... มีน้องๆมาบอกว่าเห็นเพื่อนๆ คนรู้จักทำกับนายหน้าบ้าง เอเจนต์บ้าง บางคนทำกับทนายความด้วย เสียเงินเป็นหมื่นเหรียญและเค้าสัญญาว่าจะได้พีอาร์ พอถามว่าแล้วตกลงเพื่อนได้พีอาร์รึเปล่า น้องบอกยังไม่เห็นมีใครได้เลย บางคนแพ็คกระเป๋ากลับบ้านไปแล้ว.... อ้าว... รู้อย่างนี้แล้ว จะมาถามหา อยากทำ Protection visa เพื่ออะไร..... ถ้าจะเสียเงินเป็นหมื่นเหรียญ เอาเงินนี้ไปเสียกับการทำวีซ่าที่ตัวเองมีสิทธิ์ลุ้นดีกว่าไหมคะ

เคสที่คนเขียนอาจจะพิจารณารับทำคือเคสที่ไม่มีทางเลือกอื่นที่เหมาะสมกว่านอกจากการยื่น Protection visa และมีเหตุผลที่น่าเห็นใจที่เข้าข่ายว่าอาจจะมีโอกาสได้วีซ่า ณ จุดใดจุดหนึ่งในกระบวนการทางด้านคนเข้าเมืองซึ่งก็ไม่ได้มีแค่การยื่นวีซ่าและการยื่นอุทธรณ์เท่านั้น (ซึ่งเหตุผลน่าเห็นใจ ก็อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเหตุผลทาง Protection visa เลย แต่ต้องน่าเห็นใจจริงๆ)  และเคสประมาณนี้เราดูแลกันเป็นปีหรือหลายปี เพราะเคสจะไม่ได้จบแค่การยื่น Protection visa นะคะ

ปล. "เข้าข่ายว่าอาจจะมีโอกาสได้วีซ่า" แปลว่ามีความเป็นไปได้ มีความน่าจะเป็น โดยพิจารณาจากเทรนการตัดสิน และนโยบายของรัฐบาลหรือรัฐมนตรีว่าการคนเข้าเมืองในช่วงเวลานั้นๆ ไม่ได้แปลว่าจะได้วีซ่าแน่ๆ นะคะ เพราะไม่ว่าจะรัฐบาล รัฐมนตรี หรือนโยบาย ก็มีการเปลี่ยนแปลงได้ ... ถึงได้บอกว่าไม่ว่าใครก็รับประกันความสำเร็จของงานไม่ได้...

ไม่ได้บอกว่าคนไทยไม่มีสิทธิ์ได้ Protection visa แค่บอกว่าโอกาสได้ยากมาก
ไม่ได้บอกว่าคนเขียนไม่รับทำ Protection visa อ่านเงื่อนไขก็จะทราบว่าคนเขียนรับทำ (น้อยมาก)

ลิงค์จาก: www.border.gov.au

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

Partner visa กับคนที่วีซ่าขาด

17/8/2017

 

มีน้องๆที่วีซ่าขาดติดต่อเข้ามาอยู่เรื่อยๆนะคะ หนู/ผมมีแฟนเป็นชาวออสเตรเลีย/เป็นพีอาร์ จะยื่นวีซ่าคู่ครองที่นี่ได้ไหม

คำตอบคือถ้าไม่มีเหตุผลน่าเห็นใจจริงๆ ยากค่ะ  แปลว่าถ้ามีเหตุผลที่หนักแน่นจริงและสามารถนำเสนอได้ พิสูจน์ได้  ก็ยังมีโอกาส (แต่ไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน)

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ถ้าสามารถพิสูจน์ความสัมพันธ์ได้ถึงสองปี หรือมีลูกด้วยกัน หรือมีเหตุผลน่าเห็นใจพอสมควรก็โอเคแล้ว

แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ อิมมิเกรชั่นปรับเปลี่ยนนโยบายภายในใหม่ (ตัวบทกฏหมายยังคงเดิม) การพิจารณาก็จะเพ็งเล็งไปที่ทำไมผู้สมัครถึงไม่มีวีซ่า ทำไมเป็นผีมาหลายปี ได้พยายามติดต่ออิมมิเกรชั่นเพื่อแก้ไขสถานะของตัวเองหรือไม่ หรืออยู่เป็นผีไปเพื่อรอเวลายื่นวีซ่า

ในบางเคสถึงแม้จะมีเหตุผลน่าเห็นใจจริงๆ (เช่นมีลูกเล็กด้วยกัน สปอนเซอร์ป่วยไม่สบาย ต้องการคนดูแล) อิมมิเกรชั่นก็ยังไม่สนใจ ปฏิเสธแบบไม่เห็นใจใดๆทั้งสิ้น สนใจอย่างเดียวคือการมีประวัติการอยู่เป็นผีมาก่อนการยื่นวีซ่า

เพราะฉะนั้นใครที่ยังไม่เป็นผี ก็ไม่ต้องพยายามจะเป็นนะคะ (จริงๆแล้ว ไม่ต้องเคสผีหรอกค่ะ เคสถือ Bridging visa ก็ต้องพิสูจน์เหตุผลน่าเห็นใจด้วยเช่นกัน)

เคสผี และเคส ฺBridging visa ถ้าไม่มีเหตุผลที่น่าเห็นใจจริงๆ ก็ต้องแนะนำให้กลับไปยื่นแบบนอกประเทศ แปลว่าจะไปยื่นไปรอที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่ในประเทศออสเตรเลีย แต่เพราะว่าระยะเวลาการรอก็ประมาณ 8-12 เดือน หรือนานกว่านั้นในบางเคส ส่วนใหญ่ก็จะกลับไปยื่นไปรอที่ประเทศบ้านเกิดของตัวเองกัน

ประวัติการอยู่เป็นผีมาก่อน เช่นการอยู่เลยกำหนดวีซ่า การเคยถูกปฏิเสธเพราะอิมมิเกรชั่นไม่เชื่อว่าตั้งใจจะเป็นนักเรียนจริง หรือการถูกยกเลิกวีซ่าเพราะทำผิดเงื่อนไขวีซ่า โดยทั่วไปแล้วไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับการยื่นวีซ่าคู่ครองแบบนอกประเทศ ถ้าหลักฐานความสัมพันธ์แน่น โอกาสผ่านก็สูงค่ะ การติดบาร์ 3 ปี จากการอยู่เลยกำหนดวีซ่าหรือการถูกยกเลิกวีซ่า ไม่ได้มีผลกับวีซ่าคู่ครองแบบนอกประเทศนะคะ

เคสที่น่ากังวัลคือเคสที่มีประเด็นอื่นพ่วงมาด้วย เช่น มีปัญหาสุขภาพ มีประวัติคดีอาญา เคยถูกปฏิเสธหรือถูกยกเลิกวีซ่าเพราะเคยให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในใบสมัครเก่า หรือเคยมีการปลอมแปลงเอกสาร  ประเด็นพวกนี้อาจจะมีผลกับการพิจารณา ซึ่งก็ต้องมาดูว่าควรจะเสี่ยงออกไปหรือไม่ เพราะออกไปแล้วอาจจะไม่ได้กลับเข้ามา

คนเขียนมีลูกความทั้งสองประเภทนะคะ ประเภทที่ต้องแนะนำให้ยื่นแบบนอกประเทศ เพราะไม่มีเหตุผลน่าเห็นใจอะไรที่เข้าข่ายให้ได้ลุ้นเลย

กับประเภทที่เข้าข่ายมีเหตุผลน่าเห็นใจที่อิมมิเกรชั่นอาจจะพิจารณาออกวีซ่าคู่ครองแบบในประเทศให้ ซึ่งเทรนปัจจุบันต้องบอกว่ายาก และอาจจะมีหวังที่ชั้นอุทธรณ์ซะมากกว่า  ลูกความกลุ่มนี้ก็ต้องยอมรับว่าค่าใช้จ่ายจะสูงเพราะมีแนวโน้มไปถึงชั้นอุทธรณ์ และก็ต้องยอมรับความไม่แน่นอน เพราะถ้าอุทธรณ์ไม่ผ่าน ก็ต้องเสียตังค์เสียเวลาต่อเพราะอาจจะต้องยื่นแบบนอกประเทศในที่สุด

คนเขียนมีเคสนึงที่เพิ่งชนะที่ชั้นอุทธรณ์เมื่อเร็วๆนี้ เคสนี้ถึงแม้จะมีเหตุผลที่น่าเห็นใจ คนเขียนก็ยังเสนอแนะให้ยื่นแบบนอกประเทศ เพราะห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายและความไม่แน่นอนว่าเคสจะไปจบตรงไหน ค่าใช้จ่ายจะปานปลายไปเท่าไหร่ ในขณะที่ถ้ายื่นแบบนอกประเทศ เคสนี้ไม่ควรจะติดปัญหาอะไรเลย แต่ลูกความก็ยืนยันจะยื่นที่นี่เพราะความรักและความต้องการที่จะดูแลกัน (บวกกับความกลัวว่าจะไม่ได้กลับมา ทั้งๆที่บอกแล้วว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรถ้ายื่นนอกประเทศ)  ลูกความลุยคนเขียนก็ลุยค่ะ แล้วเราก็ถูกปฏิเสธที่ชั้นอิมมิเกรชั่น.... (แน่นอนว่าลูกความเศร้า แต่รับได้ เพราะทราบความเสี่ยงมาตั้งแต่ต้นแล้วก่อนตัดสินใจยื่นแบบในประเทศ) ....เราก็ลุยต่อ และเราก็ชนะที่ชั้นอุทธรณ์...... เย้

คนเขียนก็มาลุยมาลุ้นเคสอื่นที่รออุทธรณ์ต่อ...  ไม่ได้แปลว่าเคสที่ไปถึงอุทธรณ์แล้วจะต้องผ่านทุกเคสนะคะ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่างประกอบกัน ที่สำคัญมากคือลูกความต้องเต็มร้อยกับงาน

คนเขียนไม่โลกสวยนะคะ และแนะนำลูกความอย่างจริงใจตรงไปตรงมา ยากก็บอกว่ายาก ไม่น่าจะมีปัญหาก็บอกว่าไม่น่าจะมีปัญหา แต่ผ่านแน่ๆได้วีซ่าแน่ๆบอกไม่ได้ เพราะไม่ใช่คนตัดสินเคส .... แถมบางเคสก็งานงอกระหว่างทาง เช่นลืมแจ้งชื่อเดิม ลืมแจ้งว่ามีลูก ลืมว่าเคยมีคดี ลืมว่าเคยเปลี่ยนชื่อ ลืมแจ้งสถานะว่าเคยแต่งงาน (มีลืมว่าเคยแต่งงานมาก่อนด้วยนะ !!)

เขียนซะยาว หวังว่าข้อมูลจะเป็นประโยชน์นะคะ... คนเขียนไม่มีแพท์เทิร์น เขียนเมื่ออยากเขียน เขียนเมื่อมีเวลา ... ขอบคุณน้องๆที่โทรมาบอกว่ายังติดตาม.... จะพยายามเขียนถี่ขึ้น...

เดี๋ยวคราวหน้ามาต่อกันด้วย Protection visa วีซ่ายอดฮิตของคนบางกลุ่ม (จริงๆ ร่างไว้นานแล้ว แต่ยังไม่มีเวลาขัดเกลา รอต่อไปอีกนิดนะคะ)


Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

    Author


    พี่เก๋ - กนกวรรณ ศุโภทยาน เป็นทนายความไทย และทนายความของประเทศออสเตรเลีย (Immigration Lawyer)

    มีประสบการณ์เป็นทนายความเฉพาะทาง ด้าน IMMIGRATION ของประเทศออสเตรเลีย รับวางแผนการขอวีซ่า ยื่นใบสมัครขอวีซ่าทุกประเภท ช่วยเหลือในชั้นอุทธรณ์ที่ Administrative Appeals Tribunal และในชั้นศาลค่ะ

    ต้องการคำแนะนำ หรือความช่วยเหลือ ติดต่อได้ที่ Immigration Success Australia
    mb: 0428 191 889 หรือ www.immigrationsuccessaustralia.com

    Archives

    December 2023
    November 2023
    October 2023
    July 2023
    September 2022
    July 2022
    January 2022
    December 2021
    November 2021
    October 2021
    September 2021
    July 2021
    June 2021
    March 2021
    February 2021
    January 2021
    December 2020
    November 2020
    October 2020
    September 2020
    July 2020
    June 2020
    May 2020
    April 2020
    March 2020
    February 2020
    March 2019
    January 2019
    November 2018
    October 2018
    August 2018
    July 2018
    June 2018
    April 2018
    October 2017
    September 2017
    August 2017
    May 2017
    April 2017
    August 2015
    April 2015
    December 2014
    September 2014
    August 2014
    June 2014
    March 2014
    January 2014
    October 2013
    September 2013
    July 2013
    June 2013

    Categories

    All
    วีซ่า
    อุทธรณ์
    วีซ่าคู่ครอง
    101
    102
    103
    143
    173
    186
    187
    190
    300
    309
    4020
    408
    417
    445
    457
    462
    476
    482
    485
    489
    491
    494
    500
    870
    AAT
    Accountant
    Administrative Appeals Tribunal
    Adoption Visa
    Agriculture Visa
    Approved Nomination
    Australia
    Australian
    Australian Citizenship
    Australian Immigration
    Bar
    Bricklayer
    Bridging Visa
    Bridging Visa A
    Bridging Visa E
    BVA
    BVE
    Changes To Immigration Law
    Changing Courses
    Chef
    Child Visa
    Consolidated Sponsored Occupations List
    COVID 19
    COVID-19
    CSOL
    Decision Ready
    Decision-ready
    Decision Ready Application
    Decision-ready Application
    De Facto Relationship
    Employer Sponsored
    English Exemption
    ENS
    Exercise Physiologist
    Family
    Family Violence
    Federal Circuit Court
    Graduate Work
    GTE
    Hydrogeologist
    Ielts
    Immigration
    Immigration Lawyer
    Judicial Review
    Jurisdictional Error
    Migration Agent
    Migration Review Tribunal
    MRT
    Nomination
    Orphan Relative Visa
    Overstay
    Parent
    Partner Visa
    PIC 4020
    Post Study Work
    Processing Period
    Protection Visa
    Public Interest Criteria
    Public Interest Criterion
    Regional Australia
    Regional Visas
    Registered Migration Agent
    Rma
    RSMS
    Section 48
    Section 48 Bar
    Self Sponsorship
    Skilled Migration
    Skilled Occupations List
    Skilled Work Regional
    Skills Assessment
    SOL
    Sponsor
    Sponsorship
    Student Visa
    Substantive Visa
    Training
    Travel Exemption
    Tsmit
    Unlawful
    Visa Cancellation
    Visa Refusal
    Wall And Floor Tiler
    Working And Holiday Visa

    RSS Feed

Powered by Create your own unique website with customizable templates.