visa blog : สำหรับคนไทยค่ะ
  • Home
  • Blog

แชร์ประสบการณ์วีซ่า 482 Work experience & De Facto partner

1/7/2023

 
วันนี้คนเขียนมาแชร์ประสบการณ์เคสวีซ่า 482 ที่น้องลูกความกังวลเรื่องประสบการณ์ และเรื่องการพ่วงแฟนในใบสมัครเดียวกัน

เคสนี้ น้องนัดปรึกษากับคนเขียนมา 2 รอบในเรื่องของตัวเอง และ 1 รอบในเรื่องของแฟน ก่อนที่จะตัดสินใจลุยงานกัน

น้องมีนายจ้างที่ต้องการสปอนเซอร์ แต่น้องมีประสบการณ์ไม่ถึง 2 ปีตามนโยบายของอิมมิเกรชั่น และน้องไม่มีวุฒิการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสายงาน

ดูเผินๆเหมือนไม่น่าจะทำได้ น้องไปหาคำปรึกษาจากหลายที่ ได้รับคำแนะนำว่าประสบการณ์ยังไม่ถึงบ้าง ทำไม่ได้บ้าง

มาถึงคนเขียน น้องได้รับคำแนะนำให้

1. สะสมประสบการณ์เพิ่ม คือรอไปก่อน หรือ
2. ใช้ประสบการณ์ที่มีเทียบวุฒิการศึกษา ซึ่งน่าจะช่วยให้น้องยื่น 482 ได้เร็วขึ้น

น้องเลือกที่จะเทียบวุฒิการศึกษา และยื่น 482 เลย ก่อนวีซ่าตัวปัจจุบันจะหมด

คนเขียนถือว่าเป็นเคสมีความเสี่ยง (แต่คนเขียนไม่กังวลเท่าไหร่ เพราะทำเคสประสบการณ์ไม่ตรง ประสบการณ์ไม่ถึงตามนโยบายของอิมมิเกรชั่นมาก็หลายเคส แต่ทำเคสคนอื่นผ่าน ไม่ได้แปลว่าเคสน้องจะต้องผ่านด้วย โดยสรุปคือจากประสบการณ์และเนื้อหาเคสน้อง คนเขียนว่าน่าจะรอด แต่จะมาให้ความหวัง 100% คงไม่ได้ 1. ไม่ใช่คนตัดสินเคส และ 2. เราไม่หลอกกัน เสี่ยงก็คือเสี่ยง ถ้าอยากจะยื่นเร็วต้องยอมรับสภาพ ถ้าไม่อย่างเสี่ยงก็ทำงานเก็บประสบการณ์ต่อไป)

ปัญหาที่คนเขียนกังวลมากกว่าเรื่องประสบการณ์ของน้อง คือการพ่วงแฟนน้อง น้องเป็นคู่เหมือน ไม่ได้แต่งงาน ไม่ได้จดทะเบียนความสัมพันธ์ (และไม่ใช่ทุกรัฐที่รับจดทะเบียนความสัมพันธ์) แฟนน้องเคยอยู่ออสเตรเลียด้วยกัน แต่ตอนนี้ติดอยู่นอกออสเตรเลีย แยกกันอยู่มาเกือบปี พยายามจะกลับเข้ามา แต่มาไม่ได้ ถูกปฏิเสธวีซ่ามาแล้ว 2 รอบ เอกสารหลักฐานความสัมพันธ์มีไม่เยอะ ไม่มี Joint อะไรซักอย่าง ไม่ว่าจะ Joint lease, Joint bank account หรือ Joint bill  เรื่องของเรื่องคือต้องคิดว่าจะทำยังไงให้อิมมิเกรชั่นเชื่อว่าสองคนนี้เป็นแฟนกันฉันท์ De facto จริง ไม่ใช่แค่เพื่อนกัน

อิมมิเกรชั่นขอเอกสารเพิ่มในเรื่องของความสัมพันธ์ (น้องยังมีถามอีกว่าไม่ขออะไรเพิ่มเรื่องประสบการณ์หรือคะพี่ คือยังกังวลไม่เลิก แต่ไม่มีค่ะ อิมมิเกรชั่น Happy กับเอกสารและการสรุปประเด็นกฏหมายที่คนเขียนทำขึ้นมาเพื่อช่วยน้อง)

เอกสารความสัมพันธ์เพิ่มเติม เป็นอะไรที่ต้องคิดเยอะมาก เพราะจริงๆคือเอกสารที่เป็นชิ้นเป็นอันยื่นไปหมดแล้ว ต้องเป็นการทำคำอธิบายแล้ว ณ จุดนี้ .... แต่ทั้งน้องและแฟนเขียนได้ .... ไม่โอเคเลย ..... คือ ... ให้รายละเอียดความสัมพันธ์ไม่พอนะคะ ต้องให้แบบตอบโจทย์ด้วย (การตอบโจทย์ในที่นี้ คือ จะให้รายละเอียดความสัมพันธ์ยังไง ให้อิมมิเกรชั่นสามารถเอาข้อกฏหมายมาปรับเทียบได้ง่ายๆ ว่าควรจะเชื่อดีไหมว่าสองคนนี้มี De facto relationship ต่อกันจริง)

หลายคนคิดว่าการทำงานของทนายความ เอเจนต์ ไม่เห็นมีอะไร แค่ส่งต่อเอกสารให้อิมมิเกรชั่น .... คนที่ทำแบบนั้นคงมีจริง แต่คนเขียนบอกเลยว่าทนายความและเอเจนต์ที่ทำงานจริงๆ เนื้องานไม่ใช่การส่งต่อเอกสารเลยค่ะ เนื้องานคือการพิจารณาเอกสารและข้อมูลที่ลูกความให้มา จากนั้นก็คิดว่าจะทำยังไงให้เอกสารและเนื้อหาของเคสเข้าข้อกฏหมายมากที่สุด เพิ่มโอกาสให้ลูกความได้วีซ่ามากที่สุด

เคสนี้ ตั้งแต่ต้นจนจบ รวมถึงที่อิมมิเกรชั่นขอเอกสารเพิ่ม ใช้เวลา 5 อาทิตย์ สรุปว่าประสบการณ์ของน้องโอเค และอิมมิเกรชั่นเชื่อในความสัมพันธ์ของน้องและแฟน ในที่สุดสองคนนี้ก็ได้กลับมาอยู่ด้วยกันตามเดิม
~The End~

ป.ล. ไม่รับปากว่าเคสจะต้องผ่าน ไม่ได้แปลว่าจะไม่ทำเต็มที่นะคะ

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com


Partner visa สปอนเซอร์แฟนคนที่ 3

18/9/2022

 
คนเขียนมีน้องโทรมาถามกันเป็นระยะๆ

พี่คะ แฟนหนูเคยสปอนเซอร์แฟนมาแล้ว 2 คน เค้าจะสปอนเซอร์หนูได้ไหมคะ
พี่คะ แล้วถ้าหนูมีลูกด้วยกัน มันจะทำให้เคสง่ายขึ้นไหมคะ

คำถามสั้น คำตอบไม่สั้น -- คนเขียนไม่ค่อยตอบว่าทำได้ หรือทำไม่ได้ บอกตามตรงว่าคำตอบแบบนี้ สำหรับคนเขียนรู้สึกว่าเป็นคำตอบไร้สาระ ตอบแบบไม่มีความรับผิดชอบ
 * ตอบว่าทำได้ ก็เป็นคำตอบให้ความหวัง แต่จริงๆอาจจะทำไม่ได้
 * ตอบว่าทำไม่ได้ ก็เป็นคำตอบตัดความหวัง แต่จริงๆอาจจะทำได้ ก็ได้ 

กฏหมายคนเข้าเมืองอนุญาตให้สปอนเซอร์แฟนได้แค่ 2 คนค่ะ (Sponsorship limitation) ... ถ้าต้องการสปอนเซอร์แฟนคนที่ 3 ต้องโชว์เหตุผลน่าเห็นใจ แจกแจงไปว่าทำไมอิมมิเกรชั่นถึงควรจะอนุญาตให้สปอนเซอร์อีกได้ ซึ่งไม่ง่าย

แต่ละเคสเราต้องดูเนื้อหา เข้าใจเคสในรายละเอียด บางเคสต้องคิดหลายวัน บางเคสคิดกันเป็นเดือน บางเคสคิดไปตลอดระยะเวลาการทำงาน เพราะเป็นเคสความเสี่ยงสูง

ถ้าใครจับพลัดจับผลู ได้แฟนที่สปอนเซอร์ไปแล้ว 2 คน ทางเลือกของน้อง คือ
1. เลิก
2. เป็นแฟนกันไป แต่น้องหาวีซ่าอื่นยื่น ... ที่ไม่ใช่ Partner visa
3. ลุยไปข้างหน้ากับ Partner visa แต่เข้าใจว่าเคสไม่ง่าย เพราะต้องพิสูจน์เหตุผลน่าเห็นใจ

สำหรับปีนี้ คนเขียนจบเคสสปอนเซอร์แฟนคนที่ 3 ไป 2 เคส

เคสแรก เป็นคู่ต่าง (ชาย-หญิง) ไม่มีลูกด้วยกัน ----- ลูกความกลัวเคสยากไม่พอสำหรับคนเขียน ระหว่างรอเคส คุณสปอนเซอร์ก็ไปมีคดีอาญา ให้คนเขียนแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพิ่มด้วย

เคสที่สอง เป็นคู่เหมือน  (ชาย-ชาย) ก็แน่นอน ไม่มีลูกด้วยกัน ----- เคสนี้ ระยะเวลาความสัมพันธ์ค่อนข้างสั้น และอิมมิเกรชั่นก็เรียกเคสเร็วกว่าที่คาดไว้ ...  แผนงาน (Strategy) ที่วางไว้ เป็นอันต้องปรับใหม่หมด แก้ปัญหาเฉพาะหน้าอีกแล้ว

ทั้งสองเคส ลูกความน่ารักมาก Proactive .... ขออะไร ได้ .... ให้ทำอะไร ทำ
ทั้งสองเคส คนเขียนแจ้งค่าใช้จ่ายชั้นอุทธรณ์เผื่อไว้เลยตั้งแต่ก่อนเริ่มงาน เพราะเป็นเคสความเสี่ยงสูง (ทำงานกับคนเขียน ไม่มีโลกสวยนะคะ)
ทั้งสองเคส ได้เอาเงินเก็บที่เตรียมไว้สำหรับชั้นอุทธรณ์ไปทำอย่างอื่น เพราะเคสผ่านไปได้ด้วยดีที่ชั้นอิมมิเกรชั่น

เคสแรก (ชาย-หญิง) ใช้เวลาเกือบ 3 ปี
เคสที่สอง (ชาย-ชาย) ใช้เวลา 8 เดือน

ลูก .....  ถ้าจะมีลูกเพราะอยากมี จัดไป .... ถ้าจะมีลูก เพราะคิดว่าจะช่วยเรื่องวีซ่า ขอร้องอย่าทำ

1. ไม่แฟร์กับเด็กที่จะให้เค้าเกิดมาด้วยเหตุผลแบบนี้
2. ไม่มีลูกด้วยกัน เคสก็ผ่านได้
3. มีลูกด้วยกัน ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำให้เคสง่ายขึ้นเสมอไป คนตัดสินเคสทั้งชั้นอิมมิเกรชั้น และชั้นอุทธรณ์ ก็คนเหมือนเราๆนี่แหละ ... บางคนก็มีความเห็นอกเห็นใจ ... บางคนก็ไม่สน ไม่แคร์ ... และถ้าเคสถูกปฏิเสธ นอกจากตัวเองจะเดือนร้อนแล้ว ยังเอาเด็กตัวเล็กๆที่ไม่รู้เรื่องอะไร มาเดือนร้อนไปด้วย ... และถ้าบังเอิญความสัมพันธ์ไปไม่รอดล่ะ ??



Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com


แชร์ประสบการณ์ Partner visa

27/6/2021

 
วันนี้คนเขียนมาแชร์เคสวีซ่าคู่ครองที่ค่อนข้างซับซ้อน 2 เคส

เคสแรก

ลูกความรักกัน แต่งงานกันที่ไทย คนนึงตัดสินใจมาเรียนที่นี่ อีกคนทำงานอยู่ที่ไทย ต้องห่างกันนานหลายปี ระยะทางและความห่างเป็นปัญหา ไม่มีอะไรจะคุยกัน สุดท้ายหาเรื่องทะเลาะกัน ลงเอยที่การหย่ากันตามกฏหมายออสเตรเลีย

กลับมาเจอกันไม่นานหลังจากหย่า สรุปว่ายังรักกัน เปลี่ยนใจจะไม่หย่าแล้ว (คือคิดว่าแต่งที่ไทย หย่าที่ออสเตรเลีย ระบบไม่ลิงค์กัน ไม่บอกก็ไม่มีใครรู้) .... ไม่ทันแล้วค่ะ หย่าก็คือหย่า แต่งที่ไทยและหย่าที่ออสเตรเลียก็คือหย่าอย่างถูกต้องตามกฏหมาย ไม่ต่างอะไรกับการหย่าที่ไทย (ใครมีปัญหาคล้ายๆกัน และคิดว่าไทยกับออสเตรเลีย ระบบไม่ลิงค์กัน ไม่บอกก็ไม่มีใครรู้ว่าใครแต่งใครหย่า ขอร้องว่าอย่า shortcut ถ้าไม่อยากมีปัญหาให้ปวดหัวที่หลัง ... ปวดหัวมากด้วย PIC4020 การให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง false or misleading information ถ้าถูกเช็คเจอ ใบสมัครอาจจะถูกปฏิเสธพร้อมติดบาร์อีก 3 ปี)

เคสนี้ Strategy ของเราหลายสเต็ป เข้าตามตรอกออกตามประตูแบบสุดๆ ปัญหาคืออิมมิเกรชั่นอาจจะคิดว่าการหย่าก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่าหมดรักกัน ไม่มั่นคงต่อกันจริงๆ (not a genuine and committed relationship) ประกอบกับลูกความอยู่กันคนละประเทศมานาน ทะเลาะกัน ห่างกัน หย่ากัน เอกสารพิสูจน์ความสัมพันธ์ก็น้อยมาก คำอธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆสำหรับเคสนี้

เคสนี้เราทำงานด้วยกัน 4 ปีกว่า ตั้งแต่ลูกความหย่ากันยันได้พีอาร์ (Strategy ได้ผล ไม่มีถูกปฏิเสธ ไม่ต้องไปอุทธรณ์ เย้) ลูกความก็อยู่ซิดนีย์เหมือนคนเขียน แต่เราก็ไม่เคยเจอกัน 

เพราะฉะนั้นน้องๆที่ถามว่าเราจะทำงานด้วยกันยังไงเพราะน้องอยู่ไทย/อยู่ต่างรัฐ  คนเขียนอยู่ซิดนีย์ .... ทำได้ค่ะ ผ่านอีเมล์ + โทรศัพท์ (+ apps ต่างๆที่เหมาะสม)


เคสที่สอง

ลูกความคู่นี้ (หรือสองคู่นี้) ไม่ใช่คนไทยค่ะ แต่เป็นลูกความคนเขียนมา 10 ปีได้    ... เดี๋ยวนะ ... อย่าเพิ่งคิดว่าทำเคสยังไงใช้เวลา 10 ปี !

ลูกความเดิมทีเป็นคู่เหมือนค่ะ อายุต่างกันหลายสิบปี ตอนทำเคสนี้คนเขียนก็ว่าเสี่ยงอยู่แล้วเพราะอายุห่างกันมาก แต่ความรักไม่มีขอบเขต ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดอายุใช่ไหม สรุปว่าผ่านค่ะ ได้พีอาร์สมใจ

วันดีคืนดีลูกความติดต่อมา
ลูกความ:   ชั้นเลิกกับแฟนแล้วนะ
คนเขียน:   อ้าว... เสียใจด้วยนะ
ลูกความ:   ไม่เป็นไร ชั้นมีแฟนใหม่แล้วนะ
คนเขียน:   ว้าว... ดีใจด้วยนะ
ลูกความ:   เป็นคนละเพศแล้วนะ และอยากให้ทำเคสให้
คนเขียน:   ......

อึ้งไปนาน หลังจากหายอึ้งก็สัมภาษณ์แบบเจาะลึก คนเขียนไม่ได้สงสัยว่าความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง เราอยู่ในยุคที่เปิดกว้างและยอมรับว่าอะไรๆก็เป็นไปได้ทั้งนั้น  แต่กังวลแทนลูกความว่าอิมมิเกรชั่นจะคิดยังไงกับประวัติแบบนี้ บอกเลยว่าเป็นเคสความเสี่ยงสูง เคสอาจจะถูกปฏิเสธ เราอาจจะต้องไปถึงชั้นอุทธรณ์ สรุปว่าลูกความยืนยันว่าจะให้คนเขียนทำเคสให้ ...... สรุปว่าทำก็ทำ ... การวางแผนงาน (Strategy) การอธิบายความสัมพันธ์เป็นจุดสำคัญของเคสอีกแล้ว

Stage 1 ผ่านฉลุยอย่างรวดเร็ว
Stage 2 ถูกดอง 2 ปีกว่า
(อย่าคิดว่า Stage 2 เป็นอะไรที่ง่ายๆ แค่ยื่นเอกสารประมาณเดิมก็พอนะคะ ไม่เสมอไปค่ะ ลูกความที่ติดต่อมาหาคนเขียนหลังจากที่ถูกปฏิเสธ Stage 2 ก็เยอะ)

หลายครั้งที่ลูกความโทรมาถามว่าทำไมนานจังเลย เพื่อนยื่นทีหลังได้พีอาร์แล้ว โทรตามไหม อยากได้พีอาร์เร็วๆ  

คำอธิบายของคนเขียนคือ อย่าเอาเคสของตัวเองไปเทียบกับเคสเพื่อน เคสเพื่อนมีประเด็นแบบนี้ไหม (ไม่มี) Processing Centre หรือเจ้าหน้าที่คนเดียวกันไหม (ไม่ทราบ) 

สำหรับบางเคส (รวมถึงเคสนี้ด้วย) คนเขียนไม่ตามค่ะ อยากดองๆไป ในระหว่างถูกดองก็พัฒนาความสัมพันธ์ไป ถามว่าถ้าเคสแน่น อิมมิเกรชั่นจะเอาจุดไหนมาปฏิเสธ

ตามเร็วแล้วอาจจะถูกปฏิเสธ กับถูกดองแล้วอาจจะผ่าน เลือกเอา

ไม่มีใครอยากรอ อยากได้วีซ่าเร็วๆกันทั้งนั้น การที่ทนายความหรือเอเจนต์ตามเคสให้ ลูกความก็แฮ๊ปปี้เพราะดูเหมือนได้รับความเอาใจใส่ แต่บางเคสที่ไม่ได้ตาม ไม่ได้แปลว่าลืมหรือไม่ใส่ใจ .... ไม่มีใครต้องการให้ลูกความไม่แฮ๊ปปี้หรอกค่ะ 

การอีเมล์ตามเคสกับอิมมิเกรชั่น คนเขียนใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที + ลูกความแฮ๊ปปี้
คนเขียนใช้เวลา 15-30 นาที ในการอธิบายเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ตามเคสให้ + ความเสี่ยงที่ลูกความก็จะยังไม่แฮ๊ปปี้ต่อไป
เพราะฉะนั้น ....... ถ้าตามเคสแล้ว มีผลดีกับเคส คนเขียนก็ทำไปแล้ว (make sense ไหมคะ)

บางเคสไม่มีใครตอบได้ว่าจะออกหัวหรือก้อย ทำได้แค่ดีที่สุด ถ้ารักกันจริงและไม่มีทางเลือกอื่น ก็ต้องลุยไปข้างหน้า ไม่ลองไม่รู้ (ใช่ไหม) ทั้ง 2 เคส คนเขียนวาง Strategy ให้ลูกความแบบคร่าวๆ ทราบอยู่แล้วว่าเคสแบบนี้เราคาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นระหว่างทาง แผนก็ต้องปรับเปลี่ยนกันไปตามหน้างาน คนเขียนไม่ชอบให้ความหวังลูกความ รับได้กับความเสี่ยงเราก็ทำงานด้วยกันได้ 

ทั้งสองเคสลูกความรู้ตั้งแต่ต้นว่าโอกาสที่เคสจะถูกปฏิเสธที่สเต็ปใดสเต็ปหนึ่งมีสูง คนเขียนไม่เคยรับประกันความสำเร็จของงาน ทำได้แค่ดีที่สุด ทั้งสองเคสเราผ่านในทุกสเต็ปค่ะ

ป.ล. นานๆทีก็จะมีน้องโยนหินถามทางมาว่าคนเขียนรับทำเคสจ้างแต่ง เพื่อนช่วยเพื่อน ญาติช่วยญาติไหม
ตอบกันชัดๆไปเลยนะคะ
  - ถ้าความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องจริง ไม่รับทำเคส
  - ถ้ารับเคสมาแล้ว มาทราบระหว่างทาง ก็เลิกทำเคสระหว่างทาง
  - ถ้าความสัมพันธ์เป็นเรื่องจริง ต่อให้คบกันมาไม่นาน ต่อให้มีความยุ่งยากซับซ้อนแค่ไหน ถ้าคุณยอมรับความเสี่ยงได้ คนเขียนไม่มีปัญหาในการทำเคสให้ (คนเขียนไม่แคร์เรื่อง 100% success rate ถ้า play safe ตลอด ลูกความที่เคสยากแต่อยากลอง ก็พลาดโอกาส และคนเขียนก็พลาดโอกาสที่จะได้พัฒนาตัวเองด้วย)



Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com


NEWS อิมมิเกรชั่นเตรียมออกวีซ่าให้โดยไม่ต้องเดินทางออกนอกประเทศ

12/2/2021

 
ข่าวดีสำหรับหลายๆคน ....... อิมมิเกรชั่นประกาศมาแล้วนะคะว่า

ตั้งแต่วันที่ 27 February 2021 --- อิมมิเกรชั่นคาดว่าจะออกวีซ่าต่อไปนี้ให้ได้ในประเทศออสเตรเลีย (ผู้สมัครไม่ต้องออกไปรอนอกประเทศ)


  • Partner (subclass 309) visa
  • Prospective Marriage (subclass 300) visa
  • Dependent Child (subclass 445) visa
  • Child (subclass 101) visa
  • Adoption (subclass 102) visa

และตั้งแต่วันที่ 24 March 2021 --- ก็คาดว่าจะออกวีซ่าต่อไปนี้ให้ได้ในประเทศออสเตรเลีย

  • Contributory Parent (subclass 143) visa
  • Contributory Parent (subclass 173) visa
  • Parent (subclass 103) visa

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com


Q & A : สปอนเซอร์ / Sponsor สำหรับ Partner visa

24/1/2021

 
Q: สอบถามเรื่อง partner visaค่ะ

แฟนเป็น citizen ค่ะ เคยประสบอุบัติเหตุ รัฐบาลว่าเป็น disability ตอนนี้กลับไปทำงานปกติ และลาออกจากงานแล้วเพราะกำลังจะมี business ร่วมกัน  จากข้อมูลเบื้องต้น แฟนสามารถเป็น sponsor ให้ได้ไหมคะ


A: มีคำถามประมาณนี้มาให้ตอบอยู่เรื่อยๆนะคะ ขอตอบในนี้แล้วกันจะได้เป็นประโยชน์กับคนอื่นด้วย

สำหรับกฏหมาย ณ ปัจจุบัน สปอนเซอร์จะตกงาน จะ disable หรือจะทำธุรกิจส่วนตัว ไม่ใช่ประเด็นที่อิมมิเกรชั่นจะดูในส่วนของสปอนเซอร์ค่ะ



Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com


Q & A : Partner visa & สถานะการทำงานและการเงินของสปอนเซอร์

4/1/2021

 
Q: ระหว่างหาข้อมูลเรื่อง partner visa บังเอิญเจอ blog นี้ขึ้นมา มีคำถามที่สงสัยว่าถ้าจะทำ partner visa de facto กับแฟน ซึ่งเราสองคนอยู่ในประเทศออสเตรเลียทั้งคู่ แฟนเป็น citizen ที่นี่ ตัวเราถือวีซ่า 485 แต่ตอนนี้เค้า unemployed ไม่ทราบว่าอิมมิเกรชั่นเค้าจะดูตัวคนสปอนเซอร์รึเปล่าคะว่าหน้าที่การงานเป็นยังไง financial situation เป็นยังไงบ้าง

A: กฏหมาย ณ ปัจจุบัน ไม่ดูค่ะ (อนาคตอาจจะเปลี่ยนได้)


Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com


Q & A : Partner visa & Bridging visa A (BVA)

13/11/2020

 
Q: ขณะนี้อาศัยอยู่ออสเตรเลียด้วย Visitor Visa ต้องการยื่นขอ Partner Visa แบบ onshore  แต่ติดตรงที่ระหว่างรอวีซ่าตัวจริง ทำอย่างไรถึงจะสามารถเรียนและทำงานในออสเตรเลียไปด้วยได้ เข้าใจว่า BVA ที่จะได้ระหว่างรอ จะเป็นเงื่อนไขเดียวกับ Visitor Visa subclass 600 ที่ถืออยู่ ณ ปัจจุบัน

ขอคำแนะนำเบื้องต้น เรื่องว่าควรยื่นประเภทวีซ่าที่เหมาะสม ที่จะสามารถเรียนและทำงานในออสเตรเลียได้


A: ตอนที่ถือวีซ่าท่องเที่ยวก็ทำตามเงื่อนไขวีซ่าท่องเที่ยว เมื่อ Bridging visa เริ่มมีผลบังคับใช้ สามารถเรียนและทำงานได้ค่ะ 
 
จากข้อมูลที่ให้มาซึ่งค่อนข้างจำกัด Partner visa น่าจะเป็นวีซ่าที่เหมาะสมแล้วนะคะ แต่ไม่ทราบรายละเอียดลึกๆ ก็ไม่ทราบว่าเคสจะมีประเด็นอะไรให้ต้องกังวลหรือไม่



Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com


Partner visa - Grant time for Stage 2 - PR

7/5/2020

 
ช่วงนี้เทรนการพิจารณา Stage 2 Partner visa (PR) คือ เร็วถึงเร็วมากนะคะ คนเขียนมีโอกาสได้แจ้งข่าวดีให้กับน้องๆหลายคนเลย

ต้องขอบคุณอิมมิเกรชั่นที่ถึงแม้จะไม่ได้ประกาศอะไรออกมา แต่เราก็ทราบได้จากการกระทำว่าหน่วยงานใน
อิมมิเกรชั่นเองก็พยายามช่วยหลายๆคนให้ได้พีอาร์โดยเร็ว

พอได้พีอาร์แล้ว หลายๆคนก็อาจจะได้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินที่รัฐบาลเสนอช่วยอยู่ ณ ตอนนี้ เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19

น้องๆที่ยื่นเอกสาร Stage 2 Partner visa ไปแล้ว อาจจะสงสัยว่าเราจะได้วีซ่าเร็วๆกับเค้าบ้างไหม ไม่มีใครตอบได้ แต่อย่างนึงที่น้องๆทำได้คือ

- เช็คเอกสารของตัวเองว่ายื่นเอกสารครบตามที่อิมมิเกรชั่นต้องการหรือไม่ (Decision Ready Application)

- ยื่นเอกสารครบไม่พอนะคะ เอกสารที่ยื่นต้องมีคุณภาพด้วย

- มีประเด็นอะไรที่อาจจะเป็นปัญหาหรือไม่ ถ้ามี เป็นประเด็นง่ายๆที่เราสามารถนำเสนอได้เลย เพื่อความรวดเร็วในการพิจารณา หรือเป็นประเด็นที่เราไม่ควรจะไปเปิดประเด็น (งงใช่ไหมล่า .... มันอธิบายยากนะตรงนี้ มันคือ Strategy การทำงานของแต่ละเคส)  ถ้าแนวโน้มเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ ก็คงไม่ต้องหวังการพิจารณาที่รวดเร็วนะคะ เอาแค่หวังผ่านดีกว่า เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น

ในเคส Stage 2 ของคนเขียน ก็มีประเด็นแตกต่างกันไป ยกตัวอย่าง 2 เคส

เคสนี้ประเด็นง่าย แต่ลูกความคิดมากเกินไป overthinking ไม่อยากให้ใส่รายละเอียดบางอย่าง เพราะกลัวว่าเคสจะเกิดปัญหา แต่ถ้าไม่ให้รายละเอียดก็ดูเหมือนความสัมพันธ์จะไม่แน่น คนเขียนพิจารณาแล้วไม่เห็นว่ามันจะเป็นปัญหาตรงไหน อยู่ที่การนำเสนอมากกว่า สรุปลูกความยอมทำตามคำแนะนำ เคสผ่านไปแล้วอย่างรวดเร็ว นอกจากจะได้พีอาร์เร็วแล้ว ยังได้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลด้วย

อีกเคสนึง ลูกความทำ Stage 1 กับเอเจนต์อื่น แต่ไม่แฮ๊ปปี้ มาให้คนเขียนดูแล Stage 2 ให้ (ค่ะ เปลี่ยนเอเจนต์ระหว่างทางก็ทำได้ ถ้าไม่แฮ๊ปปี้ อย่าทน)   แน่นอนเคสแบบนี้ต้องเช็คประวัติและเอกสารกันค่อนข้างเยอะ โดยสรุปคือ
- ลูกความถึงกำหนดยื่น Stage 2 ตั้งแต่ 15 เดือนก่อนที่จะมาเจอคนเขียน (คือเลทไป 15 เดือนแล้ว ยังไม่ได้ยื่นเอกสารเลย) คือเอเจนต์ไม่ได้แจ้งให้ทราบ ไม่ได้แนะนำอะไรเลย
- ถามไปถามมาน้องมีลูกด้วย ลูกแต่ละคน ก็มีปัญหาเฉพาะของตัวเอง และมีทั้งอยู่ไทย และที่ออสเตรเลีย แถมคนที่อยู่ที่ออสเตรเลียวีซาก็กำลังจะหมด
- สปอนเซอร์ก็มีประวัติคดีอาญาชนิดที่ถ้าพ่วงลูกด้วย เคสอาจจะมีปัญหา
- การเงินก็ต้องเอามาพิจารณา เนื่องจากมีลูกหลายคน พ่วงลูกด้วยค่าใช้จ่ายโดยรวมถูกกว่าการได้พีอาร์คนเดียวแล้วค่อยมาทำวีซ่าให้ลูกๆภายหลัง
- จะยื่น Stage 2 คนเดียว หรือจะพ่วงลูกด้วยดี ตอนนี้ก็เลทมาตั้ง 15 เดือนแล้ว จะพ่วงลูกมีหลายสเต็ปที่ต้องทำ ยิ่งเลทไปกันใหญ่  บวกประวัติคดีอาญาของสปอนเซอร์เข้าไปให้กังวลอีก

อ่านข้างบน อาจจะคิดว่าคนเขียนคงแนะนำให้ยื่นคนเดียวให้รอดก่อนค่อยหาทางเอาลูกมา แต่ไม่ค่ะ หลังจากนั่งคิดนอนคิดตีลังกาคิด บวกกับการทำ Research และวางแผนงาน (Strategy) คนเขียนแนะนำให้ทำเรื่องพ่วงลูกเลย  ไหนๆก็เลทมา 15 เดือนแล้ว ก็เลทกันต่อไป (Why not?) แต่เลทแบบอยู่ในความดูแลของคนเขียน แผนต้องมา งานต้องเดิน ไม่ใช่เลทแบบตามมีตามเกิดไม่ทำอะไรเลย  ถ้านับจากวันที่ Stage 2 Partner visa พร้อมพิจารณา เคสนี้ใช้เวลา 5 เดือน ซึ่งถือว่าเร็วมากสำหรับเคสแบบนี้ (ก่อนหน้านี้เราก็ลุยกับเคสของลูกๆและประวัติของสปอนเซอร์ไป เหนื่อยแต่จบ ได้พีอาร์พร้อมกันทุกคน แถมประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้อีกเยอะ)

ป.ล.1  ไม่ใช่ทุกเคสที่ควรจะพ่วงลูกนะคะ บางเคสก็ต้องยอมยืดเยื้อ และเสียค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า เอาตัวเองให้รอดก่อน เรื่องลูกค่อยว่ากันภายหลัง

ป.ล. 2   ช่วงนี้มีน้องๆถามกันมาเยอะนะคะว่าเคยถูกปฏิเสธวีซ่า หรือเคยถูกยกเลิกวีซ่า ติด Section 48 บาร์ หรือตอนนี้ไม่ถือวีซ่า จะยื่น Partner visa ในประเทศออสเตรเลียได้ไหม  ...... คำตอบคือยื่นได้ค่ะ คนเขียนทำเคสประมาณนี้มาแล้วหลายเคส เช่นเคสนี้ หรือโพสนี้ ....แต่... เคสที่ติด Section 48 บาร์ ไม่ใช่ทุกเคสนะคะที่เหมาะสมกับการยื่นแบบในประเทศออสเตรเลีย

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

Partner visa วีซ่าคู่ครอง กฏเปลี่ยนกำลังจะมา

29/11/2018

 
UPDATE: 12 April 2019

ถึงแม้กฏหมายใหม่เกี่ยวกับ family sponsorship จะให้มีผลบังคับใช้วันที่ 17 April 2019

ทางอิมมิเกรชั่นได้ชี้แจ้งมาว่า ในวันที่ 17 April 2019 กฏหมายใหม่นี้จะนำมาปรับใช้กับวีซ่าใหม่ก่อน ซึ่งก็คือ วีซ่าผู้ปกครอง (วีซ่าพ่อแม่) แบบชั่วคราว  Sponsored Parent (Temporary) visa

ส่วนวีซ่าคู่ครอง Partner visa จะยังไม่เอากฏใหม่นี้มาปรับใช้  สรุปว่าเคสของน้องๆที่วีซ่าใกล้จะหมดและยังไม่ได้ยื่น Partner visa ก็ยังพอมีเวลาค่ะ   ส่วนเคสที่ได้ยื่นไปแล้วก่อนหน้าที่จะมีประกาศนี้  ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีค่ะ เพราะอิมมิเกรชั่นก็ไม่ได้แจ้งมาว่าจะนำกฏหมายใหม่มาปรับใช้กับ Partner visa เมื่อไหร่  ซึ่งก็แปลว่าเมื่อไหร่ก็ได้นับแต่วันที่ 17 April 2019 เป็นต้นไป เพราะมีกฏหมายมารับรองแล้ว

ค่ายื่นวีซ่าต่างๆ ก็จะมีการขึ้นราคาอีก 5.4% นับจากวันที่ 1 July 2019


UPDATE: 9 April 2019

กฏใหม่ จะเริ่มปรับใช้วันที่ 17 April 2019 นะคะ


UPDATE: 23 January 2019

จากที่คนเขียนโพสไปเมื่อวันที่ 29 November 2018 ว่ามีร่างกฏหมายผ่านทั้งสภาล่างและสภาสูงเมื่อวันที่ 28 November 2018 (อ่านเนื้อหาเดิมได้ด้านล่าง)

ร่างกฏหมายนี้ ออกมาเป็นกฏหมายเมื่อวันที่ 10 December 2018 นะคะ ที่คนเขียนไม่ได้อัพเดทให้ทราบก่อนหน้านี้ เพราะต้องการจะรอดูว่าจะให้มีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ และในทางปฏิบัติอิมมิเกรชั่นจะปรับใช้ยังไง จะได้อัพเดทให้ทราบกันรอบเดียว .... แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า

.... แปลว่า..จะปรับใช้เมื่อไหร่ก็ได้ในช่วง 6 เดือนนับจากวันที่ผ่านเป็นกฏหมาย ส่วนอิมมิเกรชั่นจะประกาศกฏเปลี่ยนให้ทราบล่วงหน้า หรือประกาศแล้วปรับใช้ทันทีเลย ก็ต้องรอดูกันต่อไปค่ะ


Original post: 29 November 2018

โพสนี้มาแบบสั้นๆ แต่สำคัญอีกแล้วค่ะ

มีร่างกฏหมายผ่านทั้งสภาล่างและสภาสูงเมื่อวานนี้นะคะ ยังไม่เป็นกฏหมาย แต่เนื่องจากผ่านทั้งสองสภามาแล้ว ก็คาดว่าจะเป็นกฏหมายเร็วๆนี้ ส่วนรายละเอียดลึกๆจะเป็นยังไง จะมีผลบังคับใช้เร็วหรือช้าแค่ไหน ต้องคอยดูกันต่อไป อาจจะประกาศออกมาก่อนและปรับใช้ใน 1-6 เดือน (แจ้งล่วงหน้า) หรืออาจจะเหมือนตอนกฏเปลี่ยนของ 457 ประกาศแล้วมีผลเลย ก็เซอร์ไพร์สและรับสภาพกันไป

กฏปัจจุบัน - ใบสมัครวีซ่าคู่ครอง (Partner visa) และใบสมัครสปอนเซอร์จะยื่นไปพร้อมๆกัน หรือจะยื่นใบสมัครสปอนเซอร์ตามหลังก็ได้

กฏที่ "คาดว่า" จะนำมาปรับใช้ (จากจุดประสงค์ของร่างกฏหมายฉบับนี้ บวกกับข้อมูลที่อิมมิเกรชั่นได้ประกาศไว้นานแล้ว)  คือต้องการให้สปอนเซอร์ยื่นใบสมัครของตัวเองตังหากก่อน   และเมื่อใบสมัครของสปอนเซอร์ผ่านแล้ว ผู้สมัคร Partner visa ถึงจะสามารถยื่นใบสมัครวีซ่าได้

ปกติแล้วคนเขียนจะไม่โพสอะไรที่ยังไม่เป็นตัวบทกฏหมาย แต่ร่างกฏหมายฉบับนี้สำคัญสำหรับคนที่วีซ่ากำลังจะหมด ถ้ามาเจอกฏเปลี่ยนกระทันหัน ต้องรอให้สปอนเซอร์ยื่นใบสมัครและได้รับการ Approve ก่อน ก็อาจจะยื่น Partner visa ไม่ทันก่อนที่วีซ่าตัวปัจจุบันจะหมดอายุ 

เคสที่อยู่ระหว่างเตรียมเอกสารหรือเอกสารยังไม่แน่น ก็ต้องเลือกเอาระหว่างยื่นแบบหลวมๆ เสี่ยงถูกปฏิเสธวีซ่า หรือเสี่ยงเข้ากฏใหม่ ยื่นไม่ทันเพราะต้องรอสปอนเซอร์ Approval ก่อน และอาจจะต้องยื่นวีซ่าตัวอื่นเข้าไปแทน

เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน จุดประสงค์ของโพสนี้ ไม่ได้เป็นการแนะนำว่าให้ทุกคนรีบยื่นก่อนกฏเปลี่ยน แค่ต้องการแจ้งข่าวให้ทราบ จะได้เอาไปประกอบการพิจารณา .... อย่าลืมว่าเคสแต่ละเคสมีที่มาที่ไปไม่เหมือนกัน วิธีการทำงานก็แตกต่างกันไปนะคะ.... There is no "one size fits all" scenario.

มีความคืบหน้า ก็จะมาอัพเดทให้ทราบในโพสนี้นะคะ

ที่มา: Migration Amendment (Family Violence and Other Measures) Bill 2016

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

Partner visa & Domestic and family violence ความรุนแรงในครอบครัว และวีซ่าคู่ครอง

13/10/2018

 
เมื่อไม่นานมานี้คนเขียนได้แจ้งข่าวดีให้กับลูกความคนนึง ตอนน้องติดต่อมาหาคนเขียน น้องถือวีซ่าคู่ครองแบบชั่วคราว (stage 1 - Temporary Partner visa) แต่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว (ภาษากฏหมายคือ Family violence หรือ Domestic violence)

น้องบอกว่าไม่ไหวแล้วค่ะพี่ รอมา 23 เดือน กำลังจะใกล้ยื่นเอกสารวีซ่าคู่ครองแบบถาวร (Stage 2 - Permanent Partner visa) แต่ถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงทำร้ายทรัพย์สินด้วย ทนจนทนไม่ไหวแล้ว .... ว่าแล้วถามว่า 'เอะ...หรือหนูควรจะทน เพราะใกล้ได้พีอาร์แล้ว'

ในมุมมองของคนเขียนนะคะ ต่อให้รอมา 23 เดือน ก็ไม่ควรทนอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้อีกต่อไป ใช่ค่ะ อีก 1 เดือนก็จะถึงเวลายื่นเอกสารสำหรับ stage 2 - Permanent Partner visa แต่ก็ไม่ใช่ว่ายื่นเอกสารปุ๊บจะได้วีซ่าปั๊บ เดี๋ยวนี้รอผลกันร่วมปี เผลอๆเลยปีด้วย วันนี้อาจจะแค่เจ็บตัว วันหน้าอาจจะเสียโฉม พิการ ถึงตาย ไม่มีใครตอบได้ คุ้มไหมกับการได้พีอาร์ 

ป.ล. เคสวีซ่าคู่ครองที่ความสัมพันธ์สิ้นสุดลงระหว่างทาง มี 3 กรณีด้วยกันที่ผู้สมัครอาจจะได้พีอาร์
  1. สปอนเซอร์ตาย
  2. มีลูกด้วยกัน
  3. มีความรุนแรงเกิดขึ้นในครอบครัว จะเป็นทางร่างกายหรือทางจิตใจก็ได้ แต่ทางร่างกายอาจจะหาหลักฐานมาพิสูจน์ได้ง่ายกว่า

เคสนี้สปอนเซอร์ก็ไม่ได้ตาย ลูกก็ไม่มี แต่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ถือเป็นเคสที่มีความเป็นไปได้

เคสนี้น้องไม่เคยแจ้งตำรวจ ไม่เคยไปหาหมอ จิตแพทย์ หรือนักสังคมสงเคราะห์ หลักฐานความรุนแรงที่น้องมี คือรูป 3 ใบ (3 ใบเท่านั้น!!!!) โชว์รอยถลอกที่เกิดกับน้อง 1 ใบ และการบาดเจ็บของสปอนเซอร์ที่ทำร้ายน้อง 2 ใบ และข้อความโต้ตอบกันผ่านไลน์ ซึ่งก็แรงด้วยกันทั้งคู่ สรุปว่าหลักฐานโชว์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นน้อยมาก และเป็นหลักฐานที่อิมมิเกรชั่นอาจจะตีความเป็นอื่นได้ (รูปสปอนเซอร์บาดเจ็บเนี่ยนะ ตกลงใครทำร้ายใครกันแน่ ใช่ค่ะคนเขียนเชื่อลูกความ ไม่มีเหตุผลที่จะไม่เชื่อ แต่คนทำงานต้องมองทุกมุม มองเผื่อมุมที่อิมมิเกรชั่นอาจจะมองด้วย - ก็เค้าเป็นคนตัดสินเคส)

เคสนี้คนเขียนอธิบายให้น้องฟังว่า มี 3 ทางคือ
  1. แพ๊คกระเป๋ากลับบ้าน
  2. หาวีซ่าอื่นเพื่อจะอยู่ที่ออสเตรเลียต่อไป
  3. ลุยไปข้างหน้ายื่น Permanent Partner visa ผ่าน Family violence provisions ซึ่งก็คือการยื่นเอกสารเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวเข้าไป แต่ต้องเผื่อใจเพราะเราอาจจะต้องไปถึงชั้นอุทธรณ์ (เพราะเอกสารน้อยและไม่แน่น) และเราอาจจะแพ้ที่ชั้นอุทธรณ์ก็ได้ (ว่าแล้วก็แจ้งประโยคเดิมๆให้น้องฟังว่า ไม่สามารถรับประกันความสำเร็จของงานได้ แต่รับประกันได้ว่าจะทำเคสให้ดีที่สุด เต็มความสามารถ)

มีหลายเคสมากที่คนเขียนแจ้งล่วงหน้าเลยว่าเคสอาจจะไปถึงชั้นอุทธรณ์ บางเคสแจ้งค่าบริการชั้นอุทธรณ์ล่วงหน้าเลยด้วย บางคนอาจจะรู้สึกห่อเหี่ยว แต่คนเขียนคิดว่าเราควรเอาความเป็นจริงมาคุยกัน จะได้เอาข้อมูล (ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยง ระยะเวลา และค่าใช้จ่าย) ไปประกอบการตัดสินใจ และก็หลายเคสมากที่เราไม่ต้องไปชั้นอุทธรณ์ และได้วีซ่ามาที่ชั้นอิมมิเกรชั่นนั่นแหละ

คนเขียนจริงใจ ตรงไปตรงมาค่ะ ถ้ารับได้ เชื่อใจกันก็ทำงานด้วยกันได้ สรุปว่าน้องลุย คนเขียนก็ลุยค่ะ

..... สรุปว่าคนเขียนวางแผนเคสไปกุมขมับไป

เริ่มแรกเลย เราแจ้งอิมมิเกรชั่นค่ะว่าความสัมพันธ์ของเราจบลงแล้ว (เคส Partner visa ที่ยังอยู่ในการพิจารณา ไม่ว่าระหว่างรอผลวีซ่า Stage 1 หรือ Stage 2 ของ Partner visa ถ้าความสัมพันธ์สิ้นสุดลง ผู้สมัครมีหน้าที่แจ้ง
อิมมิเกรชั่น)  เมื่อเรามีหน้าที่ เราทำหน้าที่ค่ะ ดูดีไว้ก่อน (ดีกว่าสปอนเซอร์เป็นคนแจ้งหรือเพื่อนผู้ไม่หวังดีเป็นคนแจ้งเป็นไหนๆ)  แต่ไม่ใช่แจ้งแล้วไม่ทำอะไรเลยนะคะ  การวางแผนงาน (Strategies ต่างๆ) ต้องมีแล้วตั้งแต่ก่อนแจ้ง (หมดเวลากุมขมับ แผนต้องมา งานต้องเดิน) เพราะเมื่อแจ้งแล้ว อิมมิเกรชั่นก็จะเริ่มขอเอกสารและคำอธิบายซึ่งมีกำหนดเวลาให้ตอบคำถาม ไม่ตอบตามเวลาเราอาจจะได้ไปชั้นอุทธณ์ทั้งที่ยังไม่ได้สู้ที่ชั้นอิมมิเกรชั่นเลย

ถึงแม้เคสน้องจะไม่ใช่เคสในฝัน คือมันไม่ง่าย แต่น้องเป็นลูกความในฝัน แนะนำให้ทำอะไรน้องทำทุกอย่าง อย่างรวดเร็วและเต็มที่ ถึงแม้จะสับสนในชีวิตและจิตตก เราก็ทำงานกันไปปลอบกันไป  คนเขียนตีเอกสารกลับไปหลายรอบ ส่วนใหญ่เป็น Statements (หมายถึงจดหมายคำอธิบายของน้องและเพื่อนๆ ไม่ใช่แบงค์สเตทเมนท์) คือเอกสารไม่แน่นไม่ปึ๊ก เอกสารคลาดเคลื่อนคลุมเครือ เราไม่ยื่น คือหลักฐานในเคสนี้ก็น้อยอยู่แล้ว ขืนส่ง Statements และเอกสารแบบเกือบดีเข้าไป เราคงได้ไปชั้นอุทธรณ์จริงๆ

ตีเอกสารกลับ ฟังดูโหด แต่จริงๆคือการขอให้แก้ไขนั่นแหละค่ะ พร้อมไกด์ให้ว่าควรจะแก้ไขประมาณไหน เพิ่มข้อมูลอะไร หาหลักฐานประเภทไหนเพิ่ม เคสที่มีหลักฐานน้อย คนเขียนก็ต้องมีไอเดียบรรเจิด ก็ต้องคิดนอกกรอบกันนิดนึง (บางคนอาจจะไม่แคร์ ลูกความมีเอกสารแค่ไหนก็ยื่นไปแค่นั้น แต่สำหรับคนเขียน...การช่วยลูกความคิดหาเอกสารเพิ่มเติม คนเขียนถือเป็นเนื้องาน อะไรช่วยได้ และอยู่ในกรอบของกฏหมาย คนเขียนทำทั้งนั้น)

สรุปว่าในที่สุดเอกสารเราก็แน่นค่ะ (ก็แน่นเท่าที่แน่นได้นั่นแหละค่ะ)  .... 1 ปี + 1 เดือนนับจากที่เราแจ้งอิมมิเกรชั่นว่าความสัมพันธ์สิ้นสุดลง น้องก็ได้พีอาร์มาครองสมใจ  เคสนี้ ...
  1. ไม่มีการถูกสัมภาษณ์
  2. ไม่มีการขอเอกสารเพิ่มเติม
  3. ไม่มีการส่งตัวไปหา Independent expert (ถ้าอิมมิเกรชั่นไม่เชื่อว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นจริง ลูกความก็จะถูกส่งตัวไปหา Independent expert ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ทางด้านจิตวิทยาของอิมมิเกรชั่น/รัฐบาลเพื่อขอความเห็นว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และความเห็นของเค้าก็เป็นที่สุด)

เคสนี้ น้องก็เป็นอีกหนึ่งลูกความที่อยู่คนละรัฐกับคนเขียน การทำงานของเราก็ผ่านโทรศัพท์ อีเมล์และไลน์ ตั้งแต่เริ่มการปรึกษาเบื้องต้นจนน้องได้พีอาร์ไปแล้วเราก็ยังไม่เคยเจอกันเลย

ป.ล.1   เคส Family violence ไม่ได้พิสูจน์แค่ว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นนะคะ ก่อนที่อิมมิเกรชั่นจะดูเรื่องความรุนแรง อิมมิเกรชั่นดูก่อนว่าเรากับสปอนเซอร์มีความสัมพันธ์กันจริงหรือเปล่า เพราะฉะนั้นหลักฐานความสัมพันธ์ก็จะต้องมีเช่นกัน  บางเคสที่คนเขียนทำมา ลูกความถูกยึดพาสปอร์ต กลับเข้าบ้านไม่ได้ ไม่มีเอกสารจะพิสูจน์ความสัมพันธ์เลย เพราะคุณสปอนเซอร์เก็บไว้ หรือทำลายไปหมด เคสแบบนี้ก็เป็นเคสที่ต้องใช้ไอเดียบรรเจิด ช่วยลูกความหาเอกสาร

ป.ล.2   เคส Partner visa เป็นเคสที่ต้องเก็บเอกสารความสัมพันธ์อยู่แล้วจนกว่าจะได้พีอาร์มาครอง น้องๆทั้งหลาย ไม่ว่าจะมีปัญหาหรือไม่มีปัญหากับแฟนก็ควรจะเก็บเอกสารพวกนี้ไว้เองด้วย เช่นแสกนลง USB ถ่ายรูปเก็บไว้ในมือถือ หรือเก็บใน cloud account เผื่อเกิดปัญหาขึ้นมากลับเข้าบ้านไม่ได้ เอกสารถูกยึดถูกทำลาย อย่างน้อยก็ยังมีบางอย่างที่เราพอจะมีและเอามาใช้ได้

.... รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม .... มีประโยชน์โปรดแชร์ ....

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

แชร์ประสบการณ์ Partner visa - Schedule 3 waiver Request

13/10/2017

 
คนเขียนเพิ่งแจ้งข่าวดีให้กับลูกความคู่นึงไป ข่าวดีของคนที่ยื่นวีซ่าก็คงไม่มีอะไรนอกจากวีซ่าออกแล้ว

เคสนี้เป็นเคสที่เราดูแลกันมายาวนานพอสมควร ลูกความติดต่อคนเขียนมาตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว ลูกความไม่ถือวีซ่ามาระยะใหญ่ แต่มีแฟนออสซี่ แต่เนื่องจากกฏเกณฑ์นโยบายการขอวีซ่าคู่ครองของคนที่ไม่มีวีซ่า ก็เปลี่ยนมาระยะนึงแล้ว ซึ่งทำให้โอกาสการได้วีซ่าในเคสแบบนี้ยากขึ้นมาก

ทางเลือกของคนไม่ถือวีซ่าที่ต้องการยื่นวีซ่าคู่ครอง (ก็ได้เคยโพสไปแล้วว่า) มีอยู่สองทาง คือการกลับออกไปยื่นวีซ่าแบบนอกประเทศออสเตรเลีย หรือเสี่ยงยื่นวีซ่าแบบในประเทศออสเตรเลียถ้าคิดว่าเคสของเรามีเหตุผลที่น่าเห็นใจจริงๆ (Schedule 3 waiver request) คนเขียนใช้คำว่า"เสี่ยง" เพราะต่อให้เราคิดว่าเรามีเหตุผลน่าเห็นใจแค่ไหน เหตุผลอาจจะไม่มากพอในมุมมองของอิมมิเกรชั่น ซึ่งก็อาจจะทำให้เราถูกปฏิเสธวีซ่าได้ เมื่อถูกปฏิเสธวีซ่าในกรณีแบบนี้ ก็มีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งอุทธรณ์ก็มีความเสี่ยง อาจจะชนะหรือแพ้ ไม่มีใครตอบได้

จากประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้ คนเขียนคิดว่าเคสนี้เป็นเคสที่น่าเห็นใจจริงๆ แต่เนื่องจากว่าคนเขียนก็ไม่ใช่คนตัดสินเคส ลูกความก็ต้องเป็นคนตัดสินใจเองว่าจะเลือกทางไหนที่ตัวเองพอรับได้ ระหว่าง

1. กลับไปยื่นที่ไทย ซึ่งการพิจารณาน่าจะเร็วกว่าและมีโอกาสได้วีซ่าสูงกว่า (ถ้าความสัมพันธ์หนักแน่นมั่นคงและมีหลักฐานสนับสนุนที่ดี) แต่ก็คงจะต้องรออยู่ที่ไทยจนกว่าจะได้วีซ่า เพราะการขอวีซ่าท่องเที่ยวมาในระหว่างรอคงไม่ผ่านเนื่องจากเคยอยู่เป็นผีที่ออสเตรเลียมาระยะใหญ่ และถ้าวีซ่าคู่ครองไม่ผ่านจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ก็คงต้องรออยู่ที่ไทยจนกว่าอุทธรณ์จะผ่าน หรือได้วีซ่าประเภทอื่น

หรือ

2. เสี่ยงยื่นที่นี่ ซึ่งโอกาสที่จะถูกปฏิเสธที่ชั้นอิมมิเกรชั่นก็สูงพอสมควร แต่โอกาสที่จะชนะที่ชั้นอุทธรณ์ก็พอมี ถ้าถูกปฏิเสธ ก็มีโอกาสตัดสินใจว่าจะกลับไปวีซ่ายื่นใหม่ที่ไทยดี หรือจะเสี่ยงลุยต่อไปชั้นอุทธรณ์ดี ถ้าไม่ผ่านที่ชั้นอุทธรณ์ ก็คงจะได้กลับไปยื่นใหม่ที่ไทยจริงๆ ยกเว้นว่าจะมีเหตุให้อุทธรณ์ต่อในชั้นอื่นได้ (ซึ่งในบางเคสก็มีความเป็นไปได้)

คนเขียนง่ายๆ ถ้าลูกความลุย คนเขียนก็ลุยค่ะ แต่ก่อนลุย ลูกความต้องเข้าใจพื้นฐานเคสของตัวเองจริงๆก่อน ...
ทำงานกับคนเขียนไม่มีการเพ้นท์ภาพสวยหรู ไม่มีโลกสวย เราเอาเรื่องจริงมาคุยกัน คนเขียนไม่เห็นประโยชน์ที่จะบอกลูกความว่าเคสง่ายๆเดี๋ยวก็ได้วีซ่า ถ้าในความเป็นจริงมันไม่ใช่

สรุปว่าลูกความเลือกเสี่ยงยื่นที่นี่ คนเค้ารักกันอยากอยู่ดูแลกัน (และที่สำคัญมีเหตุผลน่าเห็นใจ) คนเขียนก็ลุย ลูกความก็ลุยค่ะ และเราก็ถูกปฏิเสธ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดคาด แต่ผิดหวัง คนเขียนก็ถามว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือจะกลับไปยื่นที่ไทย ในใจก็นึกว่าในเมื่อลุยมาถึงตรงนี้แล้ว ก็ควรจะลุยต่อ ไม่อย่างงั้นก็ควรยื่นที่ไทยตั้งแต่แรก นึกแต่ไม่ได้พูดเพราะนี่คือชีวิตของลูกความ และทั้งสองทางต่างก็มีข้อดี/ข้อเสียของมันเอง ก็ต้องให้ลูกความเลือกและตัดสินใจเอาเอง คนเขียนไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินใจแทน แต่มีหน้าที่ให้คำแนะนำประกอบการตัดสินใจ

ลูกความตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ คนเขียนชื่นใจมาก ไม่ได้ชื่นใจเพราะลูกความตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ แต่เพราะขออะไรไปก็จะพยายามหาให้อย่างรวดเร็ว แบบไม่ต้องตามไม่ต้องถามซ้ำ (proactive แบบสุดๆ) และเราก็ชนะที่ชั้นอุทธรณ์ เคสถูกส่งกลับไปให้อิมมิเกรชั่นพิจารณาต่อ และในที่สุดคุณลูกความก็ได้วีซ่าสมใจ ซึ่งในเคสนี้ลูกความได้วีซ่าคู่ครองแบบถาวรเลยด้วยค่ะ  .... คนเขียนชื่นใจและดีใจเหมือนได้วีซ่าซะเอง  ... นับรวมเวลาตั้งแต่เข้ามาขอคำปรึกษาเบื้องต้นจนถึงวันนี้ 4 ปี กับอีก 2 เดือน

หลายๆคนอาจจะสงสัยว่าแล้วจะบอกไหมว่าเหตุผลที่น่าเห็นใจมันคืออะไร ... ไม่บอก ... ความลับของลูกความบอกไม่ได้ ... และบอกไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะแต่ละเคสก็มีลักษณะเฉพาะตัว ก็ต้องพิจารณากันเป็นเคสๆไป  สำหรับบางคนที่เหมารวมว่าคนไม่มีวีซ่า/ผีจะไม่มีทางขอวีซ่าคู่ครองแบบในประเทศได้และต้องกลับไปยื่นแบบนอกประเทศเท่านั้น ก็ต้องบอกว่าไม่จริงเสมอไป

คนเขียนเคยโพสไว้นานแล้วว่าเคสบางเคสทนายหรือเอเจนต์ต้องทำงานกับเรานานเป็นปีๆ เลือกคนที่คลิ๊กกับเรานะคะ จะได้ทำงานด้วยกันอย่างสบายใจ

นอกเรื่อง .... มีน้องๆถามเกี่ยวกับ Bridging visa มาค่อนข้างเยอะ คนเขียนร่างไว้แล้วแต่ยังไม่เสร็จ รออีกแป๊บ...
ที่ถามๆกันมาก็จะพยายามตอบให้นะคะ (ถ้าตอบได้) อาจจะตอบเป็นการส่วนตัว หรือทาง Blog ในหัวข้อ ถาม-ตอบ จิปาถะ (ไม่มีความจำเป็นต้องเช็ค Blog ทุกวันนะคะ ถ้าตอบทาง Blog จะแจ้งให้ทราบว่าตอบให้แล้วใน Blog)
คำถามที่คนเขียนไม่ได้ตอบ คือคำถามที่ต้องดูเอกสารประกอบหรือต้องซักถามกันเพิ่มเติมหรือต้องอธิบายกันแบบยาวๆ ในกรณีแบบนี้รบกวนนัดปรึกษารับคำแนะนำกันแบบเป็นเรื่องเป็นราวนะคะ

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

จดทะเบียนความสัมพันธ์ (Relationship Registration) South Australia

27/8/2017

 
เมื่อเดือนที่แล้วคนเขียนไปเจอมาว่าร่างกฏหมายการจดทะเบียนความสัมพันธ์ของรัฐ South Australia ผ่านสภามาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2016 แล้ว คนเขียนเชื่อว่าน่าจะมีผลบังคับใช้เร็วๆนี้ .... คือจริงๆน่าจะบังคับใช้มาตั้งนานแล้ว ก็ไม่ทราบว่ารัฐบาลรออะไร ....

คนเขียนเลยบอกน้องๆลูกความที่อยู่ในความสัมพันธ์ฉันท์ De facto แต่ยังไม่ครบ 12 เดือน (หรือเกิน 12 เดือนแล้ว แต่หลักฐานไม่แน่น) ให้คอยติดตามกับทางหน่วยงานรัฐบาลว่าเมื่อไหร่กฏหมายตัวนี้จะบังคับใช้ 

และตอนนี้ (เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2017) ที่ South Australia ก็สามารถจดทะเบียนความสัมพันธ์ได้แล้วนะคะ ลูกความของคนเขียนคาดว่าจะเป็นคู่แรกๆที่ได้ใช้กฏหมายนี้

ป.ล.1      รัฐอื่นที่ยังไม่มีกฏหมายรองรับการจดทะเบียนความสัมพันธ์ ก็อาจจะมีได้ซักวันนึงนะคะ
               เพราะฉะนั้นอย่าด่วนสรุป ไม่อย่างงั้นเราอาจจะพลาดโอกาสดีๆได้

ป.ล.2      เงื่อนไขการจดทะเบียนความสัมพันธ์ของแต่ละรัฐไม่เหมือนกันนะคะ 
               บางรัฐที่รับจดทะเบียนความสัมพันธ์อยู่แล้ว ก็อาจจะมีการเปลี่ยนเงื่อนไขได้
               ก่อนจะยื่นใบสมัครก็เช็คเงื่อนไขกันด้วยนะคะ จะได้เตรียมเอกสารให้ครบ ไม่เสียเวลาหรือเสียตังค์ฟรี

ข้อมูลการจดทะเบียนความสัมพันธ์ของ South Australia อยู่ที่ https://www.sa.gov.au/topics/family-and-community/births,-deaths-and-marriages/register-a-relationship

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

    Author


    พี่เก๋ - กนกวรรณ ศุโภทยาน เป็นทนายความไทย และทนายความของประเทศออสเตรเลีย (Immigration Lawyer)

    มีประสบการณ์เป็นทนายความเฉพาะทาง ด้าน IMMIGRATION ของประเทศออสเตรเลีย รับวางแผนการขอวีซ่า ยื่นใบสมัครขอวีซ่าทุกประเภท ช่วยเหลือในชั้นอุทธรณ์ที่ Administrative Appeals Tribunal และในชั้นศาลค่ะ

    ต้องการคำแนะนำ หรือความช่วยเหลือ ติดต่อได้ที่ Immigration Success Australia
    mb: 0428 191 889 หรือ www.immigrationsuccessaustralia.com

    Archives

    December 2023
    November 2023
    October 2023
    July 2023
    September 2022
    July 2022
    January 2022
    December 2021
    November 2021
    October 2021
    September 2021
    July 2021
    June 2021
    March 2021
    February 2021
    January 2021
    December 2020
    November 2020
    October 2020
    September 2020
    July 2020
    June 2020
    May 2020
    April 2020
    March 2020
    February 2020
    March 2019
    January 2019
    November 2018
    October 2018
    August 2018
    July 2018
    June 2018
    April 2018
    October 2017
    September 2017
    August 2017
    May 2017
    April 2017
    August 2015
    April 2015
    December 2014
    September 2014
    August 2014
    June 2014
    March 2014
    January 2014
    October 2013
    September 2013
    July 2013
    June 2013

    Categories

    All
    วีซ่า
    อุทธรณ์
    วีซ่าคู่ครอง
    101
    102
    103
    143
    173
    186
    187
    190
    300
    309
    4020
    408
    417
    445
    457
    462
    476
    482
    485
    489
    491
    494
    500
    870
    AAT
    Accountant
    Administrative Appeals Tribunal
    Adoption Visa
    Agriculture Visa
    Approved Nomination
    Australia
    Australian
    Australian Citizenship
    Australian Immigration
    Bar
    Bricklayer
    Bridging Visa
    Bridging Visa A
    Bridging Visa E
    BVA
    BVE
    Changes To Immigration Law
    Changing Courses
    Chef
    Child Visa
    Consolidated Sponsored Occupations List
    COVID 19
    COVID-19
    CSOL
    Decision Ready
    Decision-ready
    Decision Ready Application
    Decision-ready Application
    De Facto Relationship
    Employer Sponsored
    English Exemption
    ENS
    Exercise Physiologist
    Family
    Family Violence
    Federal Circuit Court
    Graduate Work
    GTE
    Hydrogeologist
    Ielts
    Immigration
    Immigration Lawyer
    Judicial Review
    Jurisdictional Error
    Migration Agent
    Migration Review Tribunal
    MRT
    Nomination
    Orphan Relative Visa
    Overstay
    Parent
    Partner Visa
    PIC 4020
    Post Study Work
    Processing Period
    Protection Visa
    Public Interest Criteria
    Public Interest Criterion
    Regional Australia
    Regional Visas
    Registered Migration Agent
    Rma
    RSMS
    Section 48
    Section 48 Bar
    Self Sponsorship
    Skilled Migration
    Skilled Occupations List
    Skilled Work Regional
    Skills Assessment
    SOL
    Sponsor
    Sponsorship
    Student Visa
    Substantive Visa
    Training
    Travel Exemption
    Tsmit
    Unlawful
    Visa Cancellation
    Visa Refusal
    Wall And Floor Tiler
    Working And Holiday Visa

    RSS Feed

Powered by Create your own unique website with customizable templates.