visa blog : สำหรับคนไทยค่ะ
  • Home
  • Blog

แชร์ประสบการณ์ Skills Assessment

11/12/2021

 
วันนี้คนเขียนมาแชร์ประสบการณ์การทำ Skills Assessment ตำแหน่ง Restaurant Manager

เคสนี้ น้องติดต่อคนเขียนมา 5 เดือนก่อนวีซ่าหมดอายุ  ..... มองเผินๆเหมือนน้องติดต่อมาเนิ่นๆ เวลาเหลือเฟือ ... แต่พอมองระยะเวลาภาพรวม และวีซ่าที่น้องต้องการยื่น เวลาเหลือไม่เยอะเลย เพราะสเต็ปที่ต้องทำก่อนการยื่นวีซ่ามีเยอะ และแต่ละสเต็ปก็ต้องใช้เวลาในการเตรียมเคส และเวลาในการรอผล

ส่วนใหญ่น้องที่ให้คนเขียนทำ Skills Assessment ก็จะให้คนเขียนทำงานส่วนอื่นด้วย เพราะฉะนั้นต่อให้เราเริ่มงานกันที่ Skills Assessment คนเขียนไม่ได้พิจารณาเอกสารสำหรับการยื่น Skills Assessment เท่านั้น แต่พิจารณาเผื่อไปถึงสเต็ปอื่นด้วย

Skills Assessment เคสนี้ ระยะเวลาพิจารณาปกติคือ 10-12 อาทิตย์ (3 เดือน) และมี Option ให้เลือกเป็น Priority processing ได้ด้วย ซึ่งจะทราบผลภายใน 10 วันทำการ .... คนเขียนให้น้องเลือก เพราะระยะเวลายังพอยื่นแบบปกติได้ แต่น้องก็เลือกแบบ Priority processing

ข้อดีของ Priority processing คือเร็ว  ..... ข้อเสียคือจะไม่มีการขอเอกสารเพิ่ม ถ้าพลาด เอกสารไม่ครบ หรือไม่ดีพอ ก็ถูกปฏิเสธเลย 

เคสนี้ คนเขียนตีเอกสารกลับไปให้น้องแก้ รวมทั้งขอเอกสารเพิ่มหลายครั้ง เพราะเราพลาดไม่ได้ โดยเฉพาะเคสนี้ ที่น้องรับค่าจ้างเป็นเงินสด

Q:   เอะ รับเงินสดได้ด้วยเหรอ ???
A:   ได้สิ ไม่มีกฏหมายห้ามรับค่าจ้างเป็นเงินสด ... ตราบใดที่มีการจ่ายภาษี และทำทุกอย่างกันอย่างถูกต้องตามกฏหมาย (แต่รับเงินเข้าบัญชี ดีที่สุด เพราะพิสูจน์ง่ายกว่า = เคสมีความเสี่ยงน้อยกว่า)

น้องเห็นคนเขียนตีเอกสารกลับ ขอเอกสารเพิ่ม ก็กังวลว่าเคส Skills Assessment จะมีปัญหาไหม ซึ่งคนเขียนบอกเลยว่า ... ไม่ค่ะ ... คนเขียนมั่นใจว่าเคส Skills Assessment ไม่มีปัญหา .... แต่อย่างที่เกริ่นไป คนเขียนพิจารณาเอกสารเผื่อสเต็ปอื่นไปด้วยเลย (Why not?) ในเมื่อคนเขียนก็เป็นคนทำสเต็ปต่อไปให้ลูกความ และเห็นข้อมูลและปัญหาอื่นอยู่ เราก็มองไกลนิดนึง แก้ปัญหาล่วงหน้าไปพร้อมๆกับการเตรียมยื่น Skills Assessment เลย

เคสนี้ Skills Assessing Authority ตอบรับการพิจาณาเคสเป็นแบบ Priority Processing วันศุกร์ .... วันพุธ ตี 2 คนเขียนได้รับอีเมล์ว่า Skills Assessment ผ่านแล้ว .... ม้วนเดียวจบ ใช้เวลา 2 วันทำการ ! .
... รับเงินสด เอกสารก็แน่นได้ (ในบางเคส) .... จบไป 1 สเต็ป มีเวลาหายใจ และเตรียมสเต็ปถัดไป

ป.ล. เคสรับเงินสด แบบสดจริงๆ ไม่มีบันทึก ไม่จ่ายภาษี ไม่ต้องคิดเลยนะคะ เสมือนไม่ได้ทำงาน .... เพราะฉะนั้น ถ้าคิดว่าวันนึงอาจจะต้องการยื่นวีซ่าที่ต้องใช้ประสบการณ์การทำงาน .... หางานที่เข้าระบบ และเสียภาษี

คนเขียนมีน้องหลายคนที่มาปรึกษา ประสบการณ์การทำงานสูงหลายปีเลย แต่รับ cash in hand ทั้งหมด ไม่มี record อะไรทั้งสิ้น สะดวกนายจ้าง สะดวกลูกจ้าง รับเงินสดเต็มๆ แต่สุดท้ายจบอยู่ตรงนั้น ไปต่อไม่ได้ .... ฝากไว้ให้คิด

Tip: พยายามทำงานในสายอาชีพที่เลือกให้ได้อย่างน้อย 20 ชั่วโมงต่ออาทิตย์ .... เพราะ Skills Assessing Authority หลายๆที่ ไม่พิจารณาระยะเวลาการทำงานที่น้อยกว่า 20 ชั่วโมงต่ออาทิตย์เลยนะคะ



Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com 



HOT NEWS ข่าวดีของคนติด Section 48 bar

30/10/2021

 
Hot news ..... ใครติด Section 48 Bar .... สามารถยื่นวีซ่า

  • Subclass 190 -Skilled Nominated visa
  • Subclass 491Skilled Work Regional (Provisional) visa
  • Subclass 494 Skilled Employer Sponsored Regional (Provisional) visa

แบบในประเทศออสเตรเลียได้ตั้งแต่วันที่ 13 November 2021

โพสนี้ มาเร็ว ไปเร็ว แค่ต้องการแจ้งข่าวดี

คนเขียนเชื่อว่าต้องมีน้องหลายๆคนที่จะได้ประโยชน์จากข่าวนี้ ดีใจด้วยนะคะ



Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com


แชร์ประสบการณ์ Consultation & Section 48 Bar

4/9/2021

 

น้องลูกความเคสนี้ ไม่ใช่คนไทยค่ะ  Referred มาจากอดีตลูกความที่คนเขียนเคยทำ 457 และ 186 ให้ และน้องเป็นซิติเซ่นไปเรียบร้อยแล้ว

น้องเริ่มมาปรึกษาคนเขียนหนแรกปี 2018


  • น้องถือวีซ่า 457 และต้องการยื่นพีอาร์  ENS 186
  • หลังจากซักถามกันอยู่พักนึง คำแนะนำของคนเขียนคือ น้องมีทุกอย่าง ยกเว้น Competent English ซึ่งน้องจะต้องมีก่อนยื่นวีซ่า สรุปคือยังขอพีอาร์วีซ่า 186 ไม่ได้
  • น้องถามว่า แล้วจะทำไงเพราะ 457 ใกล้หมดอายุ และอิมมิเกรชั่นก็ยกเลิกวีซ่าประเภท 457 ไปแล้ว ยื่นอีกไม่ได้แล้ว
  • คนเขียนแนะนำว่าน้องยื่น 482 ได้ และไม่ได้กระทบกับการขอพีอาร์ 186 ในอนาคต แต่ต้องยื่น 186 ก่อน mid-March 2022 เนื่องจากเป็นเคส Transitional arrangements

ปี 2019 นายจ้างของน้อง ติดต่อมาหาคนเขียน

  • สรุปว่านายจ้างและน้องตัดสินใจยื่น 482 Nomination & visa applications ..... DIY ... ทำเองค่ะ !!!!
  • คนเขียนไม่เคยทำเคสให้นายจ้างหรือน้องลูกความ และไม่ได้คาดหวังว่าลูกความจะต้องมาใช้บริการ แต่ก็ไม่คิดว่าจะทำกันเอง  ใจกล้ามากค่ะ .... เคสนายจ้างสปอนเซอร์มีหลายประเด็นที่ต้องระวัง พลาดนิดเดียว เคสปลิวได้เลย
  • สรุปว่า Nomination ผ่าน แต่วีซ่าไม่ผ่าน
  • อ่านคำตัดสิน และขอเอกสารต่างๆมานั่งดู ทำ Research และเช็คข้อกฏหมาย (ใช้เวลาไป 3 ชั่วโมง ชาร์จลูกความ 1 ชั่วโมง)
  • คำแนะนำของคนเขียนคือ ถูกปฏิเสธเพราะประโยคเดียวที่น้องเขียน (นายจ้างช่วยเขียน เพราะคิดว่าจะช่วยเคส) ประโยคเดียวจริงๆ จบเคสนี้ไปเลย ..... ปกติแล้วพออ่านคำตัดสิน คนเขียนจะพอเห็นแนวทางการโต้เถียง แล้วเราค่อยมา Perfect เคสกันระหว่างรอ Hearing จะชนะ หรือไม่ชนะ ไม่รู้ แต่อย่างน้อยเราเห็นแนวทาง .... แต่สำหรับเคสนี้ ณ ตอนให้คำปรึกษา คนเขียนคิดไม่ออกจริงๆว่าจะเถียงกับ AAT ยังไงให้เคสรอด
  • การทำเคสเอง บางทีก็เจอแบบนี้ เจ้าตัวคิดว่าเขียนอย่างนี้ ต้องช่วยเคสแน่ๆ ปรากฏว่าสำหรับเคสนี้ ไม่ใช่เลย ตายสงบ ศพไม่สีชมพู ศพเกรียม
  • ด้วยสถานการณ์เฉพาะของเคสนี้ คนเขียนบอกลูกความตามตรงว่าเคส AAT มีความหวังน้อย  แต่เห็นวิธีที่น้องลูกความจะไม่ติด section 48 และสามารถยื่นวีซ่าต่อในประเทศออสเตรเลียได้ ในระหว่างยื่นอุทธรณ์ และถือ ฺBridging visa (เห็นไหมว่าแคร์ คิดว่าเคส AAT อาจจะไม่รอด ก็ยังพยายามหาทางอื่นเผื่อไว้ให้)

และ ... ใช่แล้วค่ะ อ่านไม่ผิด .... ไม่ใช่ทุกเคสที่ถูกปฏิเสธ และถือ Bridging visa แล้วจะต้องติด Section 48 Bar

บางเคส น้องยังอยู่ในภาวะที่ยังสามารถทำอะไรซักอย่างให้ตัวเองไม่ติด Section 48 Bar ได้ (เช่นเคสนี้)

บางเคส กว่าน้องจะมาถึงคนเขียน ก็เลยช่วงเวลาที่จะทำอะไรซักอย่างได้แล้ว แต่การสัมภาษณ์เจาะลึกเพื่อที่จะเข้าใจ timeframe ต่างๆในชีวิตน้อง (หมายถึง timeframe ของวีซ่า) อาจจะช่วยให้คนเขียนพิจารณาได้ว่าจริงๆแล้วน้องติดหรือไม่ติด Section 48 Bar

       
สรุปว่า .... ส่วนใหญ่แล้ว เคสที่ถูกปฏิเสธวีซ่า เคสรออุทธรณ์ และลูกความถือ Bridging visa จะติด Section 48 Bar คือยื่นวีซ่าส่วนใหญ่ในประเทศออสเตรเลียไม่ได้   ..... แต่ (ตัวโตๆ) ... ไม่เสมอไป


  • เคสนี้ คนเขียนแนะนำแนวทางเพื่อที่น้องจะไม่ติด Section 48 Bar ให้ทราบ
  • นายจ้างอีเมล์ตอบกลับมา .... ขอบคุณคนเขียน และบอกว่าไปปรึกษาทนายอีกคน และเค้ามีแนวทางและความเห็นไม่เหมือนคนเขียน และความเห็นของทนายคนนั้นคือ .. บลา ..บลา ...บลา
  • คนเขียนตอบไปว่า ความเห็นและคำแนะนำของคนเขียนยังเหมือนเดิม จะทำตามหรือไม่ทำตาม แล้วแต่คุณ
  • คนเขียนไม่มีหน้าที่มา Justify ความเห็นของตัวเอง ทุกครั้งที่มีคนเห็นต่าง ไม่ว่าจะเป็นทนายความ หรือเอเจนต์ท่านอื่น หรือเพื่อนของลูกความ คนเขียนใช้เวลาในการอ่านเคส ในการวิเคราะห์ อ่านข้อกฏหมาย และ Research ในแต่ละเคสก่อนให้คำแนะนำเสมอ .... สำหรับเคสนี้ ใช้เวลาไป 3 ชั่วโมง .... คุณจะเชื่อ และเอาแนวทางไปปรับใช้ หรือจะไม่เชื่อ และไม่เอาแนวทางไปปรับใช้ ก็เป็นสิทธิ์ของคุณ

ปี 2021 น้องลูกความที่เป็นแฟน (วีซ่าติดตาม ในภาษาน้องๆคนไทย) ติดต่อมาขอนัดปรึกษาสำหรับเคสตัวเอง และไม่ได้ท้าวความอะไรเกี่ยวกับเคสข้างบนเลย

แต่พอส่งเอกสารมา คนเขียนเห็นชื่อคนถือวีซ่าหลัก คนเขียนนึกเคสออกเลยว่าเคสไหน เคสหน้าตาเป็นยังไง เคยให้คำแนะนำอะไรไว้กับคนถือวีซ่าหลัก และนายจ้าง (ขนาดไม่เคยทำเคสให้นะ บางเคส คนเขียนก็มี Photographic memory เคสนี้จำรายละเอียดเคส และคำแนะนำของตัวเองในปี 2018 & 2019 ได้ โดยไม่ต้องดูเอกสารย้อนหลัง !!!  สมองเป็นอะไรที่แปลกมาก)


  • สรุปว่า 2 ปีผ่านไป เคสน้องยังอยู่ที่ AAT 
  • สรุปว่า ที่แนะนำให้ทำ เพื่อที่จะไม่ติด Section 48 Bar ไม่ได้ทำ (เพราะเมื่อปี 2019 ทำตามคำแนะนำของทนายอีกท่านนึง)  ... สรุปว่าติด Section 48 Bar
  • ตอนนี้คนถือวีซ่าหลักจะยื่น 186 ก็ยังยื่นไม่ได้ เพราะเคสยังค้างอยู่ที่ AAT และภาษาอังกฤษก็ยังไม่มี
  • น้อง (คนติดตาม) ต้องการให้ดูว่าเค้าจะสมัครเป็นคนถือ 482 หลักได้ไหม เพราะตอนนี้มีนายจ้างต้องการสปอนเซอร์ 
 
ปัญหาคือ


  1. น้องติด Section 48 ฺBar ต้องบินออกไปยื่นแบบนอกประเทศออสเตรเลีย
  2. น้องจะขอ Bridging visa B ผ่านรึเปล่า เพราะปัญหา COVID-19 ถ้าเหตุผลไม่ดีจริง อิมมิเกรชั่นอาจจะไม่ให้ออก
  3. ถ้าได้ Bridging visa B มา .... ออกไปแล้ว จะกลับเข้ามาได้รึเปล่า มีน้องๆหลายคนที่ออกไปแล้วด้วย Bridging visa B นี่แหละ และก็ติดอยู่นอกประเทศเลย เพราะ COVID-19 และขอ Travel Exemption ไม่ผ่าน
  4. ถ้ายินดีที่จะติดอยู่นอกประเทศ รอ 482 ออก .... แล้วถ้า Nomination และ/หรือวีซ่า 482 ถูกปฏิเสธล่ะ (และเคส AAT ของคนที่ถือวีซ่าหลัก ดูแนวโน้มแล้วมีโอกาสไม่รอดสูง เพราะประโยคๆเดียว)

ถ้าตอนปี 2019 น้อง action อย่างที่คนเขียนแนะนำ น้องก็จะไม่ติด Section 48 Bar น้องคนติดตามก็ยื่น 482 ในประเทศออสเตรเลียได้ และก็จะได้ ฺBridging visa มาถืออีกหนึ่งตัว ถ้าเคสผ่าน ปัญหาที่มีอยู่ก็จบ ถ้าเคสไม่ผ่าน น้องก็ยังยื่นอุทธรณ์ได้ พัฒนาเคสตัวเองต่อไปในออสเตรเลีย (hindsight is a wonderful thing) แต่ตอนนี้ทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว

ป.ล. ทนายความและเอเจนต์แต่ละคน มีสไตล์การทำงานไม่เหมือนกัน มองเคสไม่เหมือนกัน วาง Strategy การทำเคสไม่เหมือนกัน คุณมั่นใจคนไหน คุณใช้บริการคนนั้น หรือทำตามคำแนะนำของคนนั้น

คนเขียนจบเคสอุทธรณ์ AAT 186/187 Nomination & Visa applications ไป 3 เคส (ชนะทั้ง 3  เคส และ 2 ใน 3 เคสนี้ เป็น Self Sponsor) จะแชร์ประสบการณ์ให้อ่านกันในโพสหน้านะคะ  ..... ขอบคุณที่ติดตามค่ะ


Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com



Q & A : สปอนเซอร์ / Sponsor สำหรับ Partner visa

24/1/2021

 
Q: สอบถามเรื่อง partner visaค่ะ

แฟนเป็น citizen ค่ะ เคยประสบอุบัติเหตุ รัฐบาลว่าเป็น disability ตอนนี้กลับไปทำงานปกติ และลาออกจากงานแล้วเพราะกำลังจะมี business ร่วมกัน  จากข้อมูลเบื้องต้น แฟนสามารถเป็น sponsor ให้ได้ไหมคะ


A: มีคำถามประมาณนี้มาให้ตอบอยู่เรื่อยๆนะคะ ขอตอบในนี้แล้วกันจะได้เป็นประโยชน์กับคนอื่นด้วย

สำหรับกฏหมาย ณ ปัจจุบัน สปอนเซอร์จะตกงาน จะ disable หรือจะทำธุรกิจส่วนตัว ไม่ใช่ประเด็นที่อิมมิเกรชั่นจะดูในส่วนของสปอนเซอร์ค่ะ



Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com


Q & A : ป่วยระหว่างรอผลวีซ่า 186

28/12/2020

 
Q: ผมยื่นวีซ่า 186 แต่ตอนนี้วีซ่ายังไม่ออกครับ ระหว่างรอผมมีปัญหาสุขภาพและไม่ได้ไปทำงาน ตอนนี้ถือบริดจิ้ง 186 ถ้าผมรอที่นี่ไปเรื่อยๆ วีซ่าจะโดนแคลเซิลไหมครับ หรือ มีสิทธิ์ที่วีซ่าจะออกไหมครับ แล้ว ถ้ากรณีโดนยกเลิกวีซ่า ขออุทธรณ์ได้ไหมครับ

ปล. ทางร้านไม่แจ้งอิมและยังจ่ายเงินเดือนมาให้เรื่อยๆต่ออีกหลายเดือนครับ


A: เป็นอะไรที่ตอบยากนะคะ เพราะข้อมูลไม่ละเอียดพอ  ขอตอบให้คร่าวๆละกันค่ะ

ถ้าไม่ได้ไปทำงานเพราะป่วย คือลาป่วย และนายจ้างยังจ่ายค่าจ้างระหว่างรอให้น้องสุขภาพดีขึ้นและกลับมาทำงานได้ตามปกติ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรนะคะ โอกาสที่จะได้วีซ่าก็ยังมีค่ะ เก็บเอกสารทุกอย่างไว้ เผื่อจำเป็นต้องใช้ ถ้าถูกปฏิเสธก็ยื่นอุทธรณ์ได้ค่ะ

ถ้าไม่ได้ไปทำงานเพราะป่วยจนไม่สามารถทำงานในตำแหน่งที่ได้รับการสปอนเซอร์ได้อีกต่อไปแบบถาวร โอกาสที่ Nomination application และ/หรือ 186 visa application จะถูกปฏิเสธก็มีค่ะ และถ้าได้วีซ่ามา โอกาสที่จะถูกยกเลิกวีซ่าก็มีเช่นกัน อุทธรณ์ได้ค่ะ ส่วนจะชนะหรือไม่อีกเรื่องนึง ต้องทราบรายละเอียดมากกว่านี้ โอกาสที่จะไปต่อในชั้นการพิจารณาอื่นอาจจะมี ขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่แท้จริงของเคสและเอกสารประกอบการพิจารณา 



Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com



แชร์ประสบการณ์ Subclass 186 visa

11/7/2020

 
โพสนี้ Advance อีกแล้ว เป็นเคส 457 Transitional arrangements ต่อยอดไป 186

Transitional arrangements คืออะไร ???


  • คือกฏเก่า สำหรับคนที่ ณ วันที่ (หรือก่อนวันที่) 18 April 2017 ถือ 457 หรือคนที่ยื่นใบสมัครไปแล้วและอยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาและในที่สุดก็ได้ 457 มาครอง
  • เงื่อนไขคือ ทำงานกับนายจ้างในตำแหน่งที่ได้รับการสปอนเซอร์อย่างน้อย 2 ปี ก็จะขอ 186 / 187 ได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าตอนยื่น 186 / 187 สาขาอาชีพจะยังอยู่ในลิสสำหรับยื่น 186 / 187 หรือไม่ (ไม่เกี่ยวเลย)

เคสนี้เรายื่น Nomination และ 457 visa application เดือน March 2017 ปรากฏว่าเดือน April 2017 (ระหว่างการพิจารณา) กฏเปลี่ยนครั้งใหญ่ก็มา แบบไม่บอกล่วงหน้า บอกปุ๊บก็บังคับใช้เลย

  • หลายสาขาอาชีพหายไปจากลิสสำหรับการสปอนเซอร์ = สาขาอาชีพของลูกความก็หายไปด้วย !
  • กฏเปลี่ยนนี้บังคับใช้ทั้งกับเคสใหม่ และเคสที่อยู่ระหว่างการพิจารณาด้วย = ลูกความก็โดนด้วยสิ !!
  • คนเขียนก็ทั้งเหวอและมึน อยู่ๆก็เจอ Dead case ซะอย่างงั้น

คนเขียนก็ได้รับจดหมายจากอิมมิเกรชั่นเชิญให้นายจ้างถอน Nomination application ถ้าไม่ถอน ก็จะถูกปฏิเสธ เพราะสาขาอาชีพถูกตัดออกไปจากลิสแล้ว ยังไงก็อนุมัติไม่ได้ ..... ทำยังไงดีล่ะ??? ..... ก็ถอนเรื่องสิคะ ไม่มีทางเลือก

และเมื่อไม่มี Nomination วีซ่า 457 ก็ไปต่อไม่ได้ ถ้าไม่ถอนเรื่องก็จะถูกปฏิเสธ ..... ลูกความร้องไห้ อนาคตหายวับไปกับกฏเปลี่ยน ..... คนเขียนก็บอกลูกความแบบมึนๆว่า อย่าเพิ่งถอน Visa application นะ ขอคิดก่อน (มันต้องมีทางสิ)

จริงๆคนเขียนไม่ต้องทำอะไรเลยก็ได้ เพราะหน้าที่ในความรับผิดชอบของตัวเองก็ทำไปแล้ว ยื่น Decision Ready application รอแค่ผลการพิจารณาอย่างเดียว กฏเปลี่ยนกะทันหัน เป็นอะไรที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ..... แต่ ..... ในเมื่อมาเป็นลูกความกันแล้ว เราก็ต้องไม่ทิ้งกันใช่ไหม

หลังจากหายเหวอ หายมึน ก็ใช้เวลาคิดและทำ Research ไปหลายอาทิตย์ (ไม่ใช่แค่หลายวัน) ..... ฟรีด้วย ไม่ได้คิดตังค์เพิ่ม ส่วนนึงเพราะสงสารลูกความ อีกส่วนเพราะการหาทางช่วย Dead case มันท้าทาย เหนื่อยแต่สนุก

คิดอยู่หลายทาง บางทางก็แพ๊งแพงและเสี่ยงมาก ..... และแล้วไอเดียบรรเจิดก็มา เรายื่น Nomination ใหม่ นายจ้างเดิม ตำแหน่งเดิม (เคสนี้ลูกความขยับไปตำแหน่งอื่นไม่ได้ เพราะเป็น Skills ที่เฉพาะทางมากๆ) ..... ลูกความก็สุดแสนจะไว้ใจ ให้คนเขียนลองอะไรใหม่ๆ  คือจริงๆลูกความก็ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ถ้าลองอาจจะได้วีซ่า ถ้าไม่ลองก็เป็น Dead case แพ๊คกระเป๋ากลับบ้าน

สรุปว่าอิมมิเกรชั่นใช้เวลาพิจารณา Nomination ใหม่ไอเดียบรรเจิดของคนเขียนไปเกือบปี ในที่สุดคุณลูกความก็ได้วีซ่า 457 มาครอง (ไม่มีขอเอกสารเพิ่ม แต่คิดนานมากกกกก) ..... รอ 1 ปี ได้วีซ่า 2 ปี

ทำไมคนเขียนแนะนำให้ลูกความไม่ถอนเรื่อง ทั้งๆที่ถ้าไม่ถอนเรื่องอาจจะถูกปฏิเสธวีซ่า ..... เพราะลูกความยื่นใบสมัคร 457 ก่อนที่กฏจะเปลี่ยน ถ้าวีซ่าผ่านขึ้นมา ลูกความก็จะเข้า Transitional arrangements (ทำงานกับนายจ้างครบ 2 ปี มีสิทธิ์ยื่นขอพีอาร์ไม่ว่าสาขาอาชีพจะอยู่ใน Short term list หรือ Medium/Long list หรือหายไปจากลิสก็ตาม) แต่ถ้าถอนเรื่องแล้วยื่นใหม่ สาขาอาชีพใน Short term list จะต่อยอดไป 186 ไม่ได้ (Strategy การทำงานสำคัญเสมอ)

และแล้วลูกความก็ทำงานครบ 2 ปี ได้เวลายื่นพีอาร์ ถ้าวันนั้นถอดใจไม่ยอมเสี่ยงลุยต่อ คงไม่มีวันนี้ที่ลูกความจะได้ยื่นพีอาร์ ..... แต่ปัญหาไม่จบสิ ..... ใครที่เคยยื่น 457 หรือ 482 และรอยื่นพีอาร์ คงพอทราบว่าการยื่น Nomination นายจ้างจะต้องพิสูจน์ว่าเงินเดือนที่เสนอให้เราเป็น Annual Market Salary Rate คือจะต้องไม่ต่ำกว่าเงินเดือนที่จ่ายลูกจ้างออสซี่ที่ทำงานตำแหน่งเดียวกับเรา หรือถ้าไม่มีลูกจ้างที่เป็นออสซี่ ก็ต้องไปหาหลักฐานอย่างอื่น (ตามที่กฏหมายกำหนด) มาโชว์ว่าเงินเดือนที่เสนอให้เรามันสมเหตุสมผลและเป็นราคาตลาด

เนื่องจากเคสนี้ ทั้งบริษัทมีแค่ Director และมีลูกจ้างเพียงคนเดียวคือลูกความ ไม่มีลูกจ้างออสซี่เลย และลูกความทำงานในตำแหน่งที่ใช้ Skills เฉพาะทางมากๆ หาหลักฐาน Annual Market Salary Rate ตามที่กฏหมายกำหนดไม่ได้เลย ..... ไอเดียบรรเจิดก็ต้องมี งานโฆษณาชวนเชื่อก็ต้องมา และก็ลุ้นกันต่อว่าจะรอดหรือไม่รอด

สรุปว่ารอดค่ะ ยื่น February 2020 ก่อน COVID-19 .... ทั้ง Nomination & วีซ่า 186 ผ่านเมื่อวันก่อน (แบบไม่ขออะไรเพิ่มเลย) ..... 5 เดือนพอดี  บริษัทนี้ก็ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ต้องปิดชั่วคราวและขาดรายได้เหมือนหลายๆธุรกิจ ซึ่งหลายๆเคสตอนนี้อาจจะเจอขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตำแหน่งที่ยื่นขอ เช่นยังจำเป็นต้องมี ต้องสปอนเซอร์ไหม และสถานะการเงินดีพอที่จะจ่ายค่าแรงหรือไม่ (เตรียมตัวกันไว้ด้วยนะคะ)

หลายๆคนที่ถือ 457 Transitional arrangements (ทำงานครบ 2 ปี ยื่นขอพีอาร์ได้) อาจจะสงสัยว่า ถ้าได้วีซ่ามาแค่ 2 ปี จะยื่น 186 ได้ไหม หรือต้องต่อ 482 ไปก่อน คำตอบคือถ้า Manage ดีๆ ไม่มี unpaid leave เลย และตอนที่ได้วีซ่า 457 ก็อยู่ในประเทศออสเตรเลียและทำงานกับนายจ้างอยู่แล้ว มีความเป็นไปได้สูงค่ะ (case by case)


Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com


Subclass 186 in progress

9/7/2020

 
สำหรับน้องๆที่ยื่น Subclass 186 คงทราบว่าช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหา COVID-19 อิมมิเกรชั่นไปโฟกัสที่สาขาอาชีพที่อยู่ใน Critical sectors เช่นหมอ พยาบาล 

ใครที่ยื่นในสาขาอาชีพ Non-critical sectors ก็รอกันไป

ข่าวดีคืออิมมิเกรชั่นเริ่มพิจารณา Subclass 186 non-critical occupations แล้วนะคะ เมื่อวานคนเขียนก็ได้แจ้งข่าวดีกับลูกความไป .... เคสนี้เรายื่นเดือน February และวีซ่าออกเมื่อวาน ....  ก็ 5 เดือนพอดีค่ะ

เคสนี้ยากและประสบปัญหามาตั้งแต่การยื่นวีซ่า 457 เดี๋ยวว่างๆคนเขียนจะมาแชร์ประสบการณ์ให้อ่านกันนะคะ

ใครที่กำลังรอเรื่องอยู่ ก็ทำใจร่มๆนะคะ เดี๋ยวก็ถึงคิวเรา

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com


Partner visa วีซ่าคู่ครอง กฏเปลี่ยนกำลังจะมา

29/11/2018

 
UPDATE: 12 April 2019

ถึงแม้กฏหมายใหม่เกี่ยวกับ family sponsorship จะให้มีผลบังคับใช้วันที่ 17 April 2019

ทางอิมมิเกรชั่นได้ชี้แจ้งมาว่า ในวันที่ 17 April 2019 กฏหมายใหม่นี้จะนำมาปรับใช้กับวีซ่าใหม่ก่อน ซึ่งก็คือ วีซ่าผู้ปกครอง (วีซ่าพ่อแม่) แบบชั่วคราว  Sponsored Parent (Temporary) visa

ส่วนวีซ่าคู่ครอง Partner visa จะยังไม่เอากฏใหม่นี้มาปรับใช้  สรุปว่าเคสของน้องๆที่วีซ่าใกล้จะหมดและยังไม่ได้ยื่น Partner visa ก็ยังพอมีเวลาค่ะ   ส่วนเคสที่ได้ยื่นไปแล้วก่อนหน้าที่จะมีประกาศนี้  ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีค่ะ เพราะอิมมิเกรชั่นก็ไม่ได้แจ้งมาว่าจะนำกฏหมายใหม่มาปรับใช้กับ Partner visa เมื่อไหร่  ซึ่งก็แปลว่าเมื่อไหร่ก็ได้นับแต่วันที่ 17 April 2019 เป็นต้นไป เพราะมีกฏหมายมารับรองแล้ว

ค่ายื่นวีซ่าต่างๆ ก็จะมีการขึ้นราคาอีก 5.4% นับจากวันที่ 1 July 2019


UPDATE: 9 April 2019

กฏใหม่ จะเริ่มปรับใช้วันที่ 17 April 2019 นะคะ


UPDATE: 23 January 2019

จากที่คนเขียนโพสไปเมื่อวันที่ 29 November 2018 ว่ามีร่างกฏหมายผ่านทั้งสภาล่างและสภาสูงเมื่อวันที่ 28 November 2018 (อ่านเนื้อหาเดิมได้ด้านล่าง)

ร่างกฏหมายนี้ ออกมาเป็นกฏหมายเมื่อวันที่ 10 December 2018 นะคะ ที่คนเขียนไม่ได้อัพเดทให้ทราบก่อนหน้านี้ เพราะต้องการจะรอดูว่าจะให้มีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ และในทางปฏิบัติอิมมิเกรชั่นจะปรับใช้ยังไง จะได้อัพเดทให้ทราบกันรอบเดียว .... แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า

.... แปลว่า..จะปรับใช้เมื่อไหร่ก็ได้ในช่วง 6 เดือนนับจากวันที่ผ่านเป็นกฏหมาย ส่วนอิมมิเกรชั่นจะประกาศกฏเปลี่ยนให้ทราบล่วงหน้า หรือประกาศแล้วปรับใช้ทันทีเลย ก็ต้องรอดูกันต่อไปค่ะ


Original post: 29 November 2018

โพสนี้มาแบบสั้นๆ แต่สำคัญอีกแล้วค่ะ

มีร่างกฏหมายผ่านทั้งสภาล่างและสภาสูงเมื่อวานนี้นะคะ ยังไม่เป็นกฏหมาย แต่เนื่องจากผ่านทั้งสองสภามาแล้ว ก็คาดว่าจะเป็นกฏหมายเร็วๆนี้ ส่วนรายละเอียดลึกๆจะเป็นยังไง จะมีผลบังคับใช้เร็วหรือช้าแค่ไหน ต้องคอยดูกันต่อไป อาจจะประกาศออกมาก่อนและปรับใช้ใน 1-6 เดือน (แจ้งล่วงหน้า) หรืออาจจะเหมือนตอนกฏเปลี่ยนของ 457 ประกาศแล้วมีผลเลย ก็เซอร์ไพร์สและรับสภาพกันไป

กฏปัจจุบัน - ใบสมัครวีซ่าคู่ครอง (Partner visa) และใบสมัครสปอนเซอร์จะยื่นไปพร้อมๆกัน หรือจะยื่นใบสมัครสปอนเซอร์ตามหลังก็ได้

กฏที่ "คาดว่า" จะนำมาปรับใช้ (จากจุดประสงค์ของร่างกฏหมายฉบับนี้ บวกกับข้อมูลที่อิมมิเกรชั่นได้ประกาศไว้นานแล้ว)  คือต้องการให้สปอนเซอร์ยื่นใบสมัครของตัวเองตังหากก่อน   และเมื่อใบสมัครของสปอนเซอร์ผ่านแล้ว ผู้สมัคร Partner visa ถึงจะสามารถยื่นใบสมัครวีซ่าได้

ปกติแล้วคนเขียนจะไม่โพสอะไรที่ยังไม่เป็นตัวบทกฏหมาย แต่ร่างกฏหมายฉบับนี้สำคัญสำหรับคนที่วีซ่ากำลังจะหมด ถ้ามาเจอกฏเปลี่ยนกระทันหัน ต้องรอให้สปอนเซอร์ยื่นใบสมัครและได้รับการ Approve ก่อน ก็อาจจะยื่น Partner visa ไม่ทันก่อนที่วีซ่าตัวปัจจุบันจะหมดอายุ 

เคสที่อยู่ระหว่างเตรียมเอกสารหรือเอกสารยังไม่แน่น ก็ต้องเลือกเอาระหว่างยื่นแบบหลวมๆ เสี่ยงถูกปฏิเสธวีซ่า หรือเสี่ยงเข้ากฏใหม่ ยื่นไม่ทันเพราะต้องรอสปอนเซอร์ Approval ก่อน และอาจจะต้องยื่นวีซ่าตัวอื่นเข้าไปแทน

เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน จุดประสงค์ของโพสนี้ ไม่ได้เป็นการแนะนำว่าให้ทุกคนรีบยื่นก่อนกฏเปลี่ยน แค่ต้องการแจ้งข่าวให้ทราบ จะได้เอาไปประกอบการพิจารณา .... อย่าลืมว่าเคสแต่ละเคสมีที่มาที่ไปไม่เหมือนกัน วิธีการทำงานก็แตกต่างกันไปนะคะ.... There is no "one size fits all" scenario.

มีความคืบหน้า ก็จะมาอัพเดทให้ทราบในโพสนี้นะคะ

ที่มา: Migration Amendment (Family Violence and Other Measures) Bill 2016

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

AAT review application - Subclass 186 NOmination

15/11/2018

 
เคสที่คนเขียนจะแชร์วันนี้เป็นเคสมหาหิน และเป็นเคสที่ใช้ชั่วโมงการทำงานเยอะมากถึงมากที่สุด

ข้อคิดในเคสนี้อยู่ในเนื้อหา (ไม่มี ป.ล. 1, 2, 3, 4) หวังว่าน้องๆจะได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดในเคสนี้ และเอาไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์กับเคสตัวเองนะคะ 

โพสนี้แอดวานซ์นิดนึงนะคะ สำหรับคนที่พอมีความเข้าใจเงื่อนไขของวีซ่า 186 หรือ 187 มาบ้างแล้ว สำหรับมือใหม่ รบกวนตามอ่านลิงค์ที่ให้ไว้ตัวแดงๆในโพสนี้ก่อน จะได้พอเข้าใจว่าคนเขียนพูดถึงอะไร และสำคัญยังไง

คุณลูกความติดต่อมาขอคำแนะนำหลังจากอิมมิเกรชั่นปฏิเสธ Nomination สำหรับวีซ่า Subclass 186 แบบ Temporary Residence Transition Stream (TRT) ..... เหตุผลที่ปฏิเสธก็มี 2 ข้อด้วยกัน คือ

  • นายจ้างมีประวัติไม่ทำตามเงื่อนไขการเป็นสปอนเซอร์หลายข้อ เคยถูกปรับ เคยติดบาร์ห้ามสปอนเซอร์พนักงานเพิ่ม
  • เนื่องจากอิมมิเกรชั่นเจอว่าลูกจ้างทำหน้าที่อื่นนอกเหนือจากหน้าที่ของตำแหน่งที่ได้รับการสปอนเซอร์มา อิมมิเกรชั่นเลยตัดสินว่าลูกจ้างไม่ได้ทำงานในตำแหน่งที่จ้างครบ 2 ปี ในระหว่างที่ถือวีซ่า 457
(จริงๆแล้วเหตุผลการปฏิเสธคือข้อล่างเท่านั้น แต่ข้อบนเป็นที่มาที่ไปสำคัญของการถูกปฏิเสธ เพราะฉะนั้นจากคำตัดสิน เคสนี้มี 2 ประเด็น)

เท้าความข้อกฏหมายนิดนึง....... เคสนี้เข้ากฏเก่า (Transitional arrangements) ...... คือต้องทำงานในระหว่างถือวีซ่า 457 อย่างน้อย 2 ปี ถึงจะขอพีอาร์ได้ (กฏปัจจุบันคือต้องทำงานในวีซ่า 457 / TSS-482 อย่างน้อย 3 ปี ถึงจะขอพีอาร์ได้)

จากข้อมูลที่ลูกความให้มา คนเขียนคิดว่าเราน่าจะหาข้อโต้แย้งเหตุผลทั้ง 2 ข้อนี้ได้ (หมายถึงโต้แย้งกันทางข้อกฏหมายนะคะ ไม่ใช่โต้แย้งแบบตามใจฉัน)

เคสนี้จริงๆยื่นใหม่ได้ เพราะลูกความยังถือวีซ่า 457 อยู่อีกระยะใหญ่ แต่แนวโน้มที่จะถูกปฏิเสธอีกรอบก็มีสูง  และลูกความก็ยังไม่มีผลภาษาอังกฤษสำหรับกฏปัจจุบัน (เทียบเป็น IELTS ก็ 6 ทุกพาร์ท) ..... สรุปว่าเคสนี้การยื่นอุทธรณ์ดูแล้วจะเข้าท่าที่สุด (จริงๆยื่นอุทธรณ์ด้วย และเมื่อได้ผลภาษาอังกฤษก็ยื่นใหม่ด้วยก็ได้ แต่ลูกความไม่สน ไม่สอบ วัดใจกันไปเลยค่ะ ลุยทางเดียว บอกว่าถ้าไม่ชนะที่ชั้นอุทธรณ์ก็จะแพ๊คกระเป๋ากลับบ้าน .... คนเขียนแอบเครียดเลย กลัวครอบครัวนี้ต้องแพ๊คกระเป๋าจริงๆ)

ว่าแล้วลูกความก็เซ็นสัญญาให้คนเขียนดูแลเคสอุทธรณ์ .... และแล้วเซอร์ไพร์สก็มา ....... งานงอกแบบจริงๆจังๆ ไม่เคยมีเคสไหนงานงอกขนาดนี้

เบื้องลึกของเคส ..... ข้อมูลที่ไม่ได้ระบุในคำตัดสิน แต่เจอระหว่างทางคือ

  • ลูกความใช้วันลา (annual leave เพื่อกลับไทย) เกินไปเยอะมาก รวมระยะเวลาทำงานอยู่ในประเทศออสเตรเลียทั้งหมด (นับแล้วนับอีก นับไป 5-6 รอบ - wishful thinking) นับยังไงก็ได้ไม่ถึง 2 ปี ณ วันยื่น Nomination (ถามว่าทำไม๊ ทำไม ทำไปได้ไง รออีกนิดให้มันครบ 2 ปี++++ แล้วค่อยยื่นไม่ได้เหรอ วีซ่าเหลืออีกตั้งนาน จะรีบไปไหน - ไม่แอบเครียดแล้ว เครียดอย่างแรง)
  • รายละเอียด Leave period ที่ให้ไปที่ชั้นอิมมิเกรชั่นก็ไม่ถูกต้อง อิมมิเกรชั่นเช็คได้จาก Movement record (เครียดหนักเข้าไปอีก) - ลูกความบอกว่า honest mistake แต่ Tribunal อาจจะมองว่าโกหกก็ได้ เพราะ Leave period ที่ไม่ถูกต้องนับเวลาได้ครบ 2 ปี แต่พอเช็คจาก Movement record แล้ว กลับนับเวลาได้ไม่ถึง 2 ปี - เครียดไหมล่ะ เริ่มเห็น Credibility issue (ปัญหาความน่าเชื่อถือ) ที่ปลายขอบฟ้า
  • เอเจนต์เดิมเอาค่าเทรนนิ่ง (Training expenditure) ที่เกิดขึ้นก่อนที่นายจ้างจะได้เป็นสปอนเซอร์มานัวๆเป็นค่าเทรนนิ่งในระหว่างที่มีลูกจ้างถือ 457 (คือมันใช้ไม่ได้นะคะ)  -         ลูกความบอกว่าไม่รู้ ก็จ่ายตามที่เอเจนต์แนะนำให้จ่าย และอิมมิเกรชั่นก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องเทรนนิ่ง ก็แปลว่าไม่มีปัญหาสิ - คือจริงๆแล้ว
    • อิมมิเกรชั่นไม่จำเป็นต้องลิสทุกเหตุผลที่สามารถปฏิเสธได้ ลิสเหตุผลเดียวก็ปฏิเสธได้แล้วค่ะ
    • และถึงแม้อิมมิเกรชั่นจะนัวๆโอเคกับบางเรื่อง    Tribunal ไม่จำเป็นต้องนัวๆโอเคด้วยนะคะ เพราะการพิจารณา Nomination refusal outcome เป็นการพิจารณาใหม่หมดในทุกเงื่อนไขของ Nomination และต้องบอกว่า Tribunal แม่นข้อกฏหมายกว่าอิมมิเกรชั่นเยอะมาก ... ข้อดีคือเราคุยภาษาเดียวกัน (ภาษากฏหมาย) ข้อเสียคือถ้าหาข้อกฏหมายมาสนับสนุนข้อเท็จจริง (ที่ไม่ค่อยจะสวยหรู) ไม่ได้ เคสก็ Hopeless
  • สัญญาระบุให้จ่ายค่าจ้างทุกอาทิตย์ แต่จ่ายกันรายเดือนมั่ง รายสองอาทิตย์มั่ง ทุกวันที่ 15 มั่ง สรุปว่าผิดตั้งแต่ไม่ทำตามที่สัญญาระบุไว้ แถมยังนำเสนอว่ามีการจ่ายเงินครบถ้วนได้ยากมาก .... ทำยังไงดีล่ะ ...... ไม่นำเสนอ-เคสก็อาจจะไปไม่รอด นำเสนอ-เคสก็อาจจะดูไม่ดี (สรุปว่าต้องเลือกเอาระหว่างสถานการณ์ที่แย่กับแย่กว่า)

และบลา...บลา...บลา.... คือมีปัญหาอื่นอีกมากมาย เงื่อนไขการพิจารณา Nomination มีกี่ข้อ มีปัญหาเกือบทุกข้อ .....คนเขียนก็คิดไม่ถึงว่าสาระพันปัญหามันจะมารวมกันอยู่ในเคสๆเดียวนี้แหละ (ลูกความสามารถมาก) ปรากฏว่าอธิบายยังไงลูกความก็ไม่เข้าใจว่าเคสตัวเองอาการหนักมาก  Positive thinking สุดๆ (ซึ่งก็เข้าใจได้ คนส่วนใหญ่ก็คิดว่าเมื่อตัวเองคิดดีทำดี ก็ต้องได้ดี ทำผิดพลาดแบบไม่ตั้งใจก็พยายามแก้ไข ก็ต้องให้อภัยกันสิ ... ในความเป็นจริงกฏหมายอิมมิเกรชั่นโหดร้ายกว่านั้นนะคะ ........  บางครั้ง Tribunal ก็มองอีกมุม เช่นกฏหมายเป็นอะไรที่คุณต้องรู้ จะมาบอกไม่รู้ไม่ได้ ไม่อย่างงั้นทุกคนก็อ้างแบบนี้ ก็ได้วีซ่ากันหมดสิ ..... หรือมองว่าคุณพยายามโกหก สร้างเรื่องเพื่อให้ได้วีซ่ารึเปล่า .... บางครั้ง Tribunal ก็เห็นใจ แต่กฏหมายอาจจะไม่เปิดช่องให้ใช้ความเห็นใจมาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณา)

สรุปว่าหายใจเข้าลึกๆหายใจออกยาวๆ ทำ Research หาข้อกฏหมายมาแก้ปัญหาไปทีละเปลาะ ส่วนที่ไม่มีข้อกฏหมายมาช่วย คนเขียนก็ไปนำเสนอมุมมองใหม่ๆเอาที่ Tribunal ละกัน 

เคสนี้ก็ลูกความในฝันอีกแล้วค่ะ เคสยากมากจริงๆ แต่แนะนำอะไร ลูกความทำทุกอย่าง .... ทำให้คนเขียนแก้ไขปัญหาหลายๆจุดให้คุณลูกความได้ทางเอกสาร และเหลือประเด็นหลักๆ (ซีเรียสๆ) ไว้ลุยกันวัน Hearing เพราะเอกสารอย่างเดียวเอาไม่อยู่

ปรากฏว่าวัน Hearing คนเขียนแอบกุมขมับ เพราะรู้สึกว่า Tribunal member ออกแนวติดลบกับเคสพอสมควร (ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะประเด็นที่ซีเรียสและไม่น่าจะให้ผ่านมีหลายประเด็น ประกอบกับลูกความและพยานก็ตื่นเต้นตอบคำถามได้ไม่ดีและไม่ละเอียดพอ) คนเขียนก็มีการโต้เถียงทางข้อกฏหมายกับ Tribunal member ในวันนัด แต่เนื่องจากมีหลายประเด็น เวลาก็หมดซะก่อน แต่ Tribunal member ก็ยังอนุญาติให้คนเขียนทำ Written Submissions โต้เถียงเคสเพิ่มเติมได้ (โอกาสสุดท้ายของเรา) .... สรุปว่าผ่านค่ะ .... ลูกความไม่ต้องแพ๊คกระเป๋ากลับบ้านแล้ว ... เย้ ... หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง  (เคสนี้ลูกความอยู่คนละรัฐกับคนเขียน ตั้งแต่ต้นจนจบเรายังไม่เคยเจอกันตัวเป็นๆ ..... อ้าว แล้ว Hearing กันยังไง??? - Video conference คือคำตอบ) 

คนเขียนจะไม่ลงรายละเอียดว่าโต้เถียงอะไรไปบ้าง แค่ Submissions โต้เถียงทางข้อกฏหมายอย่างเดียวก็ 10 หน้าแล้ว เอกสารประกอบรวมๆในเคสนี้ก็น่าจะราวๆ 400-600 หน้า และแนวทางการโต้เถียงและการแก้ปัญหาของแต่ละเคสก็ไม่เหมือนกัน   แค่ยื่นต่างช่วงเวลากันก็อาจจะใช้กฏหมายกันคนละตัวแล้ว   ถึงแม้นายจ้างจะเคยมีประวัติถูกปรับหรือติดบาร์เหมือนกัน เหตุผลที่มาที่ไปของการถูกปรับหรือติดบาร์ก็ต่างกัน  ถึงแม้ลูกจ้างจะเคยถูกกล่าวหาว่าทำหน้าที่อื่นนอกเหนือจากหน้าที่ของตำแหน่งที่ได้รับสปอนเซอร์เหมือนกัน แต่ลักษณะงาน ธุรกิจ หรือเอกสารประกอบต่างกัน แนวทางการทำเคสก็ต่างกัน (สรุปว่าเคสใครเคสมันค่ะ เคสอุทธรณ์ไม่มีแพทเทิร์น) ....      แต่สิ่งที่ลูกความเคสอุทธรณ์ทุกคนควรมีคือ Being proactive ใส่ใจและเต็มที่กับเคสตัวเองค่ะ อย่าคาดหวังว่าเมื่อมีเอเจนต์หรือทนายความดูแลแล้ว เราจะไม่ต้องทำอะไรเลย ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ค่ะ เราทำงานกันเป็นทีม ทีมข้อกฏหมาย + ทีมข้อเท็จจริง (คุณลูกความนั่นเอง)  ลูกความยกความดีความชอบให้คนเขียนเต็มๆ แต่คนเขียนคืนกลับไปครึ่งนึง ถ้าลูกความไม่ใส่ใจเคสตัวเอง เคสก็ออกมาดีไม่ได้ เราไม่มีเวทมนต์ hard work + team work ล้วนๆค่ะ

หวังว่าข้อมูลในโพสนี้จะเป็นประโยชน์กับน้องๆที่หมายตาวีซ่า Subclass 186 หรือ 187 นะคะ

ขอบคุณที่อ่าน ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ ก็แชร์ได้เลยค่ะ ไม่ต้องขออนุญาตกัน

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

457 กฏเปลี่ยน 2

8/5/2017

 
วีซ่า 457 ยังอยู่นะคะ จนกว่าวีซ่าตัวใหม่ Temporary Skill Shortage (TSS) จะมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2018

แต่... คนเขียนขอสรุปกฏเปลี่ยนที่มีผลแล้ว และที่จะมีผลในอนาคตอันใกล้ตามนี้ค่ะ

กฏที่บังคับใช้ตั้งแต่ 19 เมษายน 2017

@ ลิสสาขาอาชีพเปลี่ยนจาก SOL  เป็น MLTSSL และ จาก CSOL เป็น STSOL
    เพราะว่าอ่านจากตัวกฏหมายไม่ง่าย และน่าเบื่อ (คนเขียนยังเบื่อเลย แต่ต้องอ่าน) คนเขียนเลยให้ลิงค์ไปที่
    เวปของอิมมิเกรชั่นแทนนะคะ แต่ถ้าใครสนใจอ่านจากกฏหมายโดยตรงก็คลิ๊กที่นี่เลยค่ะ

@ มี 216 อาชีพถูกตัดออกไปจากลิส
    คนที่ยื่น Nomination และ/หรือ วีซ่า 457 ไปก่อนกฏเปลี่ยน แต่ยังรอผลอยู่ ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกันค่ะ
   อิมมิเกรชั่นแนะนำให้ถอนเรื่องและขอรีฟัน ถ้าไม่ถอนเรื่องก็จะถูกปฏิเสธและไม่ได้เงินค่ายื่นคืน แต่... คนเขียนคิด
   ว่าในบางเคสการถอนเรื่องและขอรีฟันอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด  ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละเคสนะคะ

@ บางอาชีพที่อยู่ในลิสใหม่ อิมมิเกรชั่นมีเงื่อนไขบางอย่าง (Caveats) เพิ่มขึ้นมา (อาชีพยอดฮิตของเรา Massage
    Therapist, Cook, Chef & Restaurant Manager โดนด้วยค่ะ)
    Restaurant Manager จะต้องไม่ใช่ร้าน fast food, takeaway, ร้านที่ออกแนว Casual - ร้านที่ก่ำกึ่งว่าอาจจะมี
    ปัญหาก็คือร้านประเภทคาเฟ่ หรือ coffee shop ซึ่งก็ต้องมาดูกันเป็นเคสๆไปนะคะ
    Chef, Cook ก็เหมือนๆกันนะคะ และก็จะต้องไม่ใช่การทำงานในโรงงาน หรือ mass production
    Accountant (General) หน้าที่จะต้องเป็นนักบัญชี ไม่ใช่เสมียนบัญชีหรือ book keeper ธุรกิจจะต้องมีรายได้ต่อ
    ปีอย่างน้อย 1 ล้านเหรียญ และมีพนักงานไม่น้อยกว่า 5 คน

   แปลว่า... เช็ค Caveats กันก่อนนะคะ ว่าเราจะมีสิทธิ์ลุ้น Nomination & Visa application หรือไม่
  ใช้คำว่ามีสิทธ์ลุ้น เพราะบางเคสเป็นเคสก่ำกึ่ง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ เคสแบบนี้คงต้องมีการทำสรุป
   (โฆษณาชวนเชื่อกันนิดนึง)

   สำหรับเคสที่อยู่ระหว่างพิจารณา แต่ตอนนี้ทราบแล้วว่าติด Caveats แน่ๆ (ไม่ใช่เคสก่ำกึ่งแบบมีสิทธิ์ลุ้น)
   อิมมิเกรชั่นให้ถอนเรื่องรับเงินคืนได้ค่ะ แต่ (ขอใช้ประโยคเดิม) ในบางเคสการถอนเรื่องและขอรีฟันอาจจะไม่ใช่
   ทางเลือกที่ดีที่สุด  ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละเคสนะคะ
   
@ วีซ่า 457 ที่จะออกหลังจากนี้ ถ้าอาชีพที่อยู่ใน MLTSSL จะได้วีซ่า 4 ปี และ STSOL จะได้วีซ่า 2 ปี (ปรับใช้กับ
    เคสที่ยื่นก่อนกฏเปลี่ยนและยังอยู่ในระหว่างพิจารณาด้วยนะคะ)

จากวันที่ 1 กรกฏาคม 2017

@ การจ่ายค่าจ้าง $96,4000 เพื่อยกเว้นผลภาษาอังกฤษ จะถูกยกเลิก

@ ต้องยื่นใบตำรวจแล้วนะคะ ก่อนหน้านี้ไม่ต้องยื่น(ยกเว้นว่าถูกขอ)

@ คาดว่าจะมีการเพิ่มอาชีพที่ต้องทำ skills assessment นะคะ
   ถึงแม้จะเป็นเคสที่ไม่มีระบุให้ต้องทำ skills assessment อิมมิเกรชั่นก็มีสิทธิ์ขอได้อยู่แล้วค่ะ ถ้าไม่เชื่อว่าเรามี
   คุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งจริง

@ ในส่วนของเจ้าของธุรกิจ (Sponsor) อิมมิเกรชั่นจะเข้มงวดขึ้นในเรื่องการเทรนพนักงานที่เป็นซิติเซ่นหรือ
    พีอาร์  (... ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะเข้มยังไง) 

@ คาดว่าจะมีการปรับเปลี่ยนสาขาอาชีพอีกนะคะ (ชีวิตอยู่บนความไม่แน่นอน ต้องตามข่าวกันค่ะ)
     
ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2017

@ อิมมิเกรชั่นจะมีการเก็บข้อมูลเลขที่ภาษีของคนถือวีซ่า 457 และวีซ่าถาวรแบบนายจ้างสปอนเซอร์ และลิงค์
    กับ ATO (แปลว่าถ้าตกลงค่าแรงกันไว้ที่ $55000 แต่จ่ายจริงไม่ถึง ก็อาจจะเกิดปัญหาได้ค่ะ)
        
@ Sponsor ที่ไม่ทำตามหน้าที่ เช่นไม่ทำเทรนนิ่ง ไม่จ่ายค่าแรงตามที่ตกลงกัน ถ้าถูกจับได้ และมีความผิดจริง
   ก็อาจจะมีการลงโทษ (Sanctioned) คาดว่าคนทั่วไปก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูลพวกนี้ได้ (Sanctioned มีมา
   นานแล้ว แต่ "publication of sanctioned sponsors" ยังไม่มีค่ะ เริ่มธันวานะคะ)

มีนาคม 2018

@ Bye bye 457

@ Hello TSS (Temporary Skill Shortage)


ข้อมูลจาก:
www.border.gov.au
www.legislation.gov.au

บทความต่อไป ผลกระทบของกฏเปลี่ยนต่อการขอพีอาร์ผ่านนายจ้างสปอนเซอร์

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com

Subclass 457 VISA  -  April 2015  -  กฏเปลี่ยนอีกแล้วค่ะ

18/4/2015

 
กฏเปลี่ยนรอบนี้น่าจะเป็นข่าวดีสำหรับน้องๆหลายคนที่สอบ IELTS มาหลายรอบ แต่ไม่ได้ 5 ทุกพาร์ทซะที ซึ่งรัฐบาลก็เกริ่นๆมาว่าจะแก้ไขมาพักใหญ่แล้ว และในที่สุดก็มีผลบังคับใช้แล้วค่ะ ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 18 April 2015 (คนเขียนไม่เข้าใจว่าทำไมเริ่มมีผลวันเสาร์ @#$%^&^@# ความช่างสงสัยนี่เป็นธรรมชาติของนักกฏหมายค่ะ น้องๆก็ไม่ต้องสงสัยตามหรอกนะคะ รู้แค่ว่ามีผลบังคับใช้แล้วก็พอค่ะ)

เริ่มเลย

IELTS ตอนนี้เปลี่ยนจากที่ต้องได้ 5 ทุกพาร์ท มาเป็นค่าเฉลี่ย 5 โดยที่ต้องได้อย่างน้อย 4.5 ทุกพาร์ท
นอกจากนี้อิมก็ยอมรับผลภาษาอังกฤษประเภทอื่นด้วย คือ

    -     Occupational English Test (OET)
    -     Test of English as a Foreign Language internet-based test (TOEFL iBT)
    -    
Pearson Test of English Academic (PTE)
    -     Cambridge English: Advanced test (CAE) - ผลของ CAE จะต้องหลักจากวันที่ 1 มกราคม 2015 นะคะ

ว่าแล้วก็ตัดแปะผลภาษาอังกฤษตามที่กฏใหม่กำหนดไว้มาให้ดูเลยละกันนะคะ
Picture
ส่วนใครที่คิดว่าถึงแม้จะลดผลคะแนน IELTS ก็แล้ว เพิ่มประเภทการสอบภาษาอังกฤษก็แล้ว ก็ยังไม่รอดอยู่ดี ลองมาดูข้อยกเว้นผลภาษาอังกฤษกันค่ะ

1. ได้รับเสนอเงินเดือนอย่างน้อย $96,400 ต่อปี คนเขียนอยากบอกว่า อิมจะนำปัจจัยอื่นๆมาประกอบการ                    พิจารณาด้วยนะคะ คือไม่ใช่ว่าได้รับการเสนอเงินเดือนเท่านี้ แปลว่าได้วีซ่าแน่ๆ

2. ถือพาสปอร์ตของ UK, US, Canada, NZ and Ireland

3. เรียน full-time เป็นภาษาอังกฤษ ใน secondary and/or higher education institution มาอย่างน้อย 5 ปี            กฏนี้มีการเปลี่ยนแปลงนะคะ จากเดิมจะต้องเป็น 5 ปีต่อเนื่อง ตอนนี้นับรวมได้ 5 ปีเป็นอันใช้ได้ แปลว่าเรียนมา         2 ปี พักการเรียนไป 1 ปี กลับมาเรียนต่ออีก 3 ปี ก็โอเคค่ะ พิสูจน์ให้ได้ก็แล้วกัน

แถมท้ายด้วย


ค่าแรงขั้นต่ำ (TSMIT) สำหรับลูกจ้างที่ขอ 457 ยังคงเดิมค่ะ คือ $53,900
ค่าแรงของลูกจ้าง สำหรับนายจ้างที่ไม่ต้องการโชว์ Market Rate ลดลงจาก $250,000 เป็น $180,000 
(อัฟเดทค่ะ เนื่องจากเรทใหม่ $180,000 ที่ประกาศให้ใช้เมื่อ 18 เมษายน 2015 ไม่ผ่านที่ The Senate - นับจาก 17 มิถุนายน 2015 - เรทเปลี่ยนกลับมาเป็น $250,000 ตามเดิมนะคะ)

โดยภาพรวมแล้ว ต้องบอกว่าเป็นข่าวดีสำหรับน้องๆที่รอยื่่นวีซ่า 457 นะคะ ไม่มีกฏที่ทำให้ชีวิตยุ่งยากขึ้นเลย มีแต่หย่อนลง แต่อย่าลืมนะคะว่าเงื่อนไขการยื่นวีซ่า 457 ไม่ได้มีแค่ที่เอ่ยถึงข้างต้น เพราะฉะนั้นตรวจเช็คให้แน่ใจก่อนว่าเรามีโอกาสได้วีซ่าแน่ๆค่อยยื่นนะคะ


Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com

แชร์ประสบการณ์ และสาระพันข้อเตือนใจ

21/8/2014

 
คนเขียนได้รับความไว้วางใจให้ช่วยเหลือลูกความท่านหนึ่ง (เรียกว่าครอบครัวหนึ่งดีกว่า เพราะมีสมาชิกหลายคนอยู่) คุณลูกความถูกปฏิเสธวีซ่า 457 มา และเรื่องอยู่ที่ชั้นอุทธรณ์ MRT คุณลูกความถามว่ามีทางรอดไหม ทนายที่ทำเรื่องให้ไม่ใส่ใจเลย อยากให้คนเขียนดูแลเคสที่ MRT ให้ หลังจากคนเขียนศึกษาเคส นั่งคิดนอนคิดอยู่หลายตลบ ได้ตอบกลับไปว่ายากค่ะ ยื่นใหม่ง่ายกว่า แต่ก็ยังยากอยู่ดี แค่ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับการลุยต่อในชั้นอุทธรณ์เท่านั้นเอง  โน๊ตตัวโตๆ กรุณาอย่ายึดเอาประโยคข้างต้นเป็นสรณะ คนเขียนไม่ได้หมายความว่าทุกเคสที่ถูกปฏิเสธแล้วยื่นใหม่ง่ายกว่าที่จะไปสู้ที่ชั้นอุทธรณ์ แต่ละเคสมีสถานะภาพ และสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นทางออกย่อมไม่เหมือนกัน

         ข้อเตือนใจที่ 1 -
อย่าเอาเคสคนอื่นมาเปรียบเทียบ หรือมาปรับใช้กับเคสเรา เราอาจจะมีสถานะภาพและสถานการณ์หลายๆอย่างคล้ายเคสเพื่อนเรา แต่รับรองได้ว่าไม่มีสองเคสไหนที่เหมือนกันเด๊ แต่ละเคสจึงควรได้รับการวินิจฉัยอย่างละเอียด โดยไม่เอาไปเปรียบเทียบกับเคสของคนอื่น


รายละเอียดในเคสนี้มีมากค่ะ เล่าไปสามวันก็ไม่จบ และก็ไม่เล่าด้วยเพราะขี้เกียจพิมพ์ สั้นๆคือทนายคนที่ช่วยเหลือคุณลูกความในการยื่นครั้งที่ถูกปฏิเสธมานี่ (ไม่ใช่คนเขียนนะ ขอบอก) ยื่นเอกสารที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัวเข้าไป เห็นเอกสารแล้ว ถ้าคนเขียนเป็นอิมก็คงปฏิเสธเคสนี้เหมือนกัน

สรุปว่าคุณลูกความไว้ใจให้ทำเคสให้ค่ะ คนเขียนแนะนำว่ายื่นใหม่ แต่คิดว่าเก็บเคสเดิมที่ MRT ไว้เป็น Backup ก่อน ก็ยื่นไปแล้ว เสียตังค์ไปแล้วนี่ แต่ที่เก็บไว้ก่อนนี่ไม่ได้เผื่อชนะนะคะ เพราะไม่คิดว่าจะรอด แต่เก็บไว้เพื่อประโยชน์อื่น (ประโยชน์อะไรเอ่ย ยาวค่ะ ขอเป็นคราวอื่นนะคะ เดี๋ยวจะแหวกแนวจนงงว่าพูดเรื่องอะไรกันแน่)

ทำเคสนี้เครียดค่ะ มากด้วย เพราะถ้าพลาด สมาชิกในครอบครัวได้แพ๊คกระเป๋ากลับบ้านกันทั้งครอบครัว เคสนี้อยู่ในระดับยากมากถึงมากที่สุด
ก็เอกสารที่อิมมีอยู่แล้ว (ไอ้ที่มันขัดกันเองอยู่น่ะ) จะทำยังไงให้มันหายไปล่ะ ไม่ต้องคิดมากค่ะ ไม่ใช่คำถามแต่เป็นประโยคบอกเล่า สรุปว่าเอกสารที่อิมมีอยู่แล้ว มันไม่มีทางหายไปได้ มันยากตรงนี้แหละ จะยื่นเอกสารยังไงให้ถูกต้องตามกฏหมาย ไม่ขัดแย้งกับของเดิมที่ก็ขัดแย้งกันอยู่ในตัว และเข้าข่ายที่จะได้วีซ่า สัมภาษณ์เจาะลึกถึงลึกที่สุดเท่านั้นค่ะ แล้วเอาข้อมูลมาประกอบกับข้อกฏหมายและนโยบายปัจจุบัน รวมถึงคำวินิจฉัยต่างๆของศาล ยื่นเอกสารที่มีคำตอบอยู่ในตัว และอุดช่องโหว่ทุกช่องที่คิดได้ (แต่ถ้าคุณไม่รู้ว่าอะไรคือช่องโหว่ คุณก็คงไม่หาทางอุดเนอะ บางอย่างสอนกันไม่ได้ค่ะ ประสบการณ์และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น)

สรุปว่าเคสนี้ผ่านไปได้ด้วยดี แต่ขอบอกว่าหินมาก ลูกความดีใจมาก คนเขียนก็ดีใจมากเช่นกันที่ส่งคุณลูกความ (และครอบคร้ว) ถึงที่หมาย เหมือนยกภูเขาออกจากอก จากนี้ก็ได้แต่หวังว่าคุณลูกความจะไม่ทำชีวิตตัวเองให้ยุ่งยากขึ้นมาอีกในช่วง 2 ปีที่รอยื่นขอ PR (อย่าคิดว่าคนเขียนพูดเล่นนะคะ หลายๆคนมีความสามารถมากมายในการทำชีวิตให้มีสีสัน และยุ่งยากต่อการช่วยเหลือ)

        ข้อเตือนใจที่ 2 -
เลือกให้ดี
บางครั้งการเลือกทนายหรือเอเจนต์ ก็เหมือนการเลือกคู่ เลือกได้ดีก็ดีไป เลือกได้ไม่ดี กว่าจะรู้ก็เสียเงินเสียเวลา และอาจจะถึงเสียอนาคตด้วย  อ่านวิธีการเลือกทนายหรือเอเจนต์ได้ที่นี่ 

        ข้อเตือนใจที่ 3 -
เมื่อเลือกได้แล้ว เข้าใจล่ะว่าเราไว้ใจเค้าในระดับหนึ่ง แต่กรุณาอย่าปล่อยทุกอย่างให้อยู่ในมือทนายหรือเอเจนต์ ชีวิตเรา อนาคตเราที่ฝากไว้กับเค้า ตามงานบ้าง ถามบ้างว่าเค้าตั้งใจจะยื่นเอกสารอะไร เอกสารหน้าตาเป็นอย่างไร อย่างน้อยเค้าจะได้ทราบว่าเราใส่ใจ เผื่อเค้าคิดอยู่ว่าจะทำงานแบบเรื่อยๆเฉื่อยๆ เค้าก็อาจจะตั้งใจทำงานมากขึ้นนะ

        ข้อเตือนใจที่ 4 -
อย่ายื่นเอกสารให้ทนายหรือเอเจนต์เอาวินาทีสุดท้าย เหลือเวลาให้เค้าทำงานบ้าง มีความตั้งใจทำงานอย่างเดียวไม่พอนะคะ ต้องมีเวลาด้วย  ให้เวลาเค้า = เพิ่มโอกาสให้เราได้วีซ่า
                       
ขอสารภาพว่าคนเขียนแอบตุ่ยๆกับคุณลูกความท่านนี้เล็กน้อย เพราะต้องตามงานกันบ่อยครั้ง (ไม่ใช่ลูกความตามคนเขียนนะ แต่คนเขียนต้องตามคุณลูกความ ก็เล่นเงียบหายไปเป็นระยะๆ) เข้าใจละว่าเค้าไว้วางใจเรา แต่ไม่ให้ข้อมูลไม่ให้เอกสาร ประกอบกับคนเขียนนั่งเทียนไม่เป็น สรุปว่างานมันไม่เดิน แต่ Deadline มันไม่รอ ก็ต้องมีการเตือนกัน (อย่างพี่เตือนน้องนะ แอบดุ แต่ด้วยความหวังดี) ว่าอย่าให้คนตั้งใจทำงานเสียความตั้งใจนะจ๊ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องวีซ่าเป็นเรื่องอนาคตของเรา เราซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องต้องใส่ใจและจัด Priority ให้ถูกต้อง  ถ้าคุณลูกความท่านนี้มาอ่านคงรู้ว่าคนเขียนหมายถึงเค้านะ  ขอบอกว่าอย่าคิดมากน้อง ไม่มีใครรู้ว่าน้องคือใคร ยกเว้นน้องจะไปบอกใครๆว่าพี่เค้าหมายถึงชั้นเองล่ะเทอ  (ซึ่งจริงๆ พี่อาจจะพูดถึงเคสอื่นที่มีข้อมูลใกล้เคียงกันอยู่ก็ได้ เพราะลูกความพี่ส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มที่ชอบสร้างสีสันให้ชีวิตซะด้วย) อีกอย่างคือคิดซะว่าเราได้ร่วมด้วยช่วยกันให้ข้อมูล แชร์ข้อคิดกับคนอื่นๆที่อาจจะอยู่ในสถานะการณ์ใกล้เคียงกับเราเนอะ
 
        ข้อเตือนใจที่ 5 -
ทนายหรือเอเจนต์ ไม่มีเวทมนต์นะจ๊ะ ทำได้แค่เต็มที่ นี่พูดถึงคนที่มีใจรักงานและมีความจริงใจกับลูกความนะคะ จะให้มารับปากว่าผ่านแน่ ได้วีซ่าแน่ เป็นไปไม่ได้ เพราะทนายหรือเอเจนต์ไม่ใช่คนตัดสินเคส คนที่หวังจะได้ยินประโยคสวยหรูให้ความหวัง รับประกันว่าได้วีซ่าแน่ คุณจะไม่ได้ยินประโยคพวกนี้จากคนที่มีจรรยาบรรณในการทำงาน เพราะฉะนั้นอย่าให้ใครมาหลอกเรา และที่สำคัญเราอย่าหลอกตัวเอง มีความหวังได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง เข้าใจสถานะภาพและสถานการณ์ที่แท้จริงของเราเองดีที่สุด


Hope for the best and prepare for the worst - Good luck, everyone.

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com

1 กรกฏาคม 2014 จะมีกฏอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง

19/6/2014

 
เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและความต้องการทางด้านแรงงานของประเทศ ทางอิมมิเกรชั่น & รัฐบาลของประเทศออสเตรเลีย มีการปรับเปลี่ยนกฏหมายและนโยบายด้านคนเข้าเมืองอยู่เรื่อยๆค่ะ

โดยเฉพาะวันที่ 1 กรกฏาคม ของทุกปี จะเป็นวันที่(หลัก) ที่จะมีการเปลี่ยนแปลง อัพเดทกฏหมายและนโยบายทางด้านคนเข้าเมือง

แล้ววันที่ 1 กรกฏาคม ปีนี้ (2014) จะมีอะไรเปลี่ยนบ้างล่ะ?????

กฏหมายก็ทยอยๆออกมานะคะ คนเขียนก็ต้องอัพเดทอยู่เรื่อยๆ แต่ที่คนเขียนทราบ ณ ตอนนี้
ก็คือ

1. อาชีพ Chef จะเข้าไปอยู่ใน Skilled Occupations List หรือที่เรียกสั้นๆว่า (SOL)

ผลของมันคืออะไร?? ก็คือคนที่มีอาชีพนี้ และ/หรือเรียนมาสายนี้ อาจจะสามารถขอวีซ่าแบบอิสระ (Independent) โดยไม่จำเป็นต้องมีนายจ้างสปอนเซอร์ได้ ถ้ามีคุณสมบัติอื่นๆเข้าข่ายตามที่กฏหมายกำหนดด้วยนะคะ

คนที่เรียนมาสายนี้ แต่คุณสมบัติไม่พอที่จะขอ PR ได้ ก็อาจจะมีสิทธิขอวีซ่า 485 (Graduate Temporary visa) ได้ ซึ่งถ้าได้วีซ่ามา ก็สามารถอยู่และทำงานเต็มเวลาในประเทศออสเตรเลียได้อีก 18 เดือน ซึ่งก็อาจจะทำให้มีโอกาสในการขอพีอาร์ (PR) ได้
ในอนาคต ไม่ว่าจะด้วยยื่นด้วยตัวเองผ่าน Independent visa หรือแบบนายจ้างสปอนเซอร์

2. นอกจากอาชีพ Chef แล้ว ยังมีอาชีพ Bricklayer และ Wall and Floor Tiler ด้วยนะคะ ที่ได้รับการเพิ่มเข้าไปใน Skilled Occupations List (SOL) ผลของมันก็เหมือนกับข้อ 1. ค่ะ

3. อาชีพ Hydrogeologist และ Exercise Physiologist จะได้รับการเพิ่มเข้าไปใน Consolidated Sponsored Occupations List (CSOL)

ผลของมันคืออะไร?? ก็จะเป็นอีก 2 อาชีพ ที่มีโอกาสได้รับการสปอนเซอร์จากนายจ้าง หรือรัฐบาลไงคะ

4. ผลของ S
kills Assessment จะมีอายุได้ยาวที่สุดที่ 3 ปีค่ะ ถ้าผลของ Skills Assessment ระบุวันหมดอายุไว้สั้นกว่า 3 ปี ก็ให้เป็นไปตามนั้น

ก่อนวันที่ 1 July 2014 Skills Assessment ไม่มีวันหมดอายุค่ะ เพราะฉะนั้นใครที่ Skills Assessment กำลังจะหมดอายุ ก็มี 2 ทางเลือกค่ะ ทำ Skills Assessment ใหม่อีกรอบ หรือยื่นขอวีซ่าก่อนวันที่ 1 กรกฏาคม 2014 เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะต้องเข้าไปอยู่ในกฏใหม่นะคะ

5. มีข่าวมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาว่าอาชีพ Accountant จะถูกลบออกจาก SOL แต่ ณ ตอนนี้ คนเขียนเข้าใจว่าอาชีพนี้จะยังอยู่ เพียงแต่ลดโควต้า หรือจำนวนคนที่อิมมิเกรชั่นจะออกวีซ่าให้ในอาชีพนี้จะน้อยลง แปลว่ารอนานขึ้นนั่นแหละค่ะ

ติดตามอัพเดทได้ที่นี่ค่ะ

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

จะยื่นวีซ่า จำเป็นต้องใช้ Migration Agent หรือไม่

10/10/2013

 
คำตอบคงแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนตอบแต่ถ้าถามคนเขียน แน่นอนว่าคำตอบต้องเป็นว่า "ควรจะ" หรือในบางกรณี "ต้องใช้" ถ้าไม่อยากเสียเงิน เสียเวลา เสียประวัติ และในบางเคสเสียอนาคตที่จะได้อยู่ในประเทศนี้

การที่เรายื่นขอวีซ่าแล้วจะได้หรือไม่ได้วีซ่านั้น อิมพิจารณาอยู่บนพื้นฐานของ:-
    1.  ตัวบทกฏหมายคนเข้าเมือง และ
    2.  นโยบายของรัฐบาลในช่วงเวลานั้นๆ 
อย่างที่เคยกล่าวมาแล้ว บางครั้งเรายื่นเอกสารตาม checklist ที่หาได้จากเวปของอิม ไม่เพียงพอ และมีหลายเคสที่ถูกปฏิเสธทั้งที่ยื่นเอกสารทุกอย่างที่อิมต้องการ  เหตุผลส่วนใหญ่ของการถูกปฏิเสธก็เพราะเอกสารที่ยื่นไปไม่มีคุณภาพ

ในความเห็นของคนเขียนนะคะ คนที่อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้บริการของ Registered Migration Agent (RMA) หรือ Immigration Lawyer ก็คือคนที่ยื่นวีซ่าที่ไม่มีความซับซ้อนมาก เช่นวีซ่าท่องเที่ยว, อ่านข้อมูลจากอิมแล้วเข้าใจ, และไม่ได้มีประวัติทางอิมมิเกรชั่นที่ซับซ้อน เช่นไม่เคยถูกปฏิเสธ หรือยกเลิกวีซ่า, ไม่เป็นผี, วีซ่าตัวปัจจุบันไม่มีเงื่อนไขที่ทำให้ยากต่อการยื่น

คนที่ "ควรจะ" หรือ "ต้องใช้" บริการของ Professional ก็คือคนที่ยื่นวีซ่าที่ค่อนข้างซับซ้อน และมีข้อกำหนดมากมาย เช่น 457, ENS, RSMS, Partner visa และคนที่มีประวัติทางอิมมิเกรชั่นที่ยุ่งเหยิง ส่วนใหญ่เจ้าตัวจะรู้ดีว่าประวัติตัวเองมีความเสี่ยงหรือไม่

ยกตัวอย่าง Partner visa

หลายคนอาจจะเถียงอยู่ในใจว่า Partner visa ง่ายนิดเดียวทำเองก็ได้  สำหรับคนเขียนคิดว่าจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก ขึ้นอยู่กับเคสแต่ละเคส  คนที่ทำเองและได้วีซ่ามาแล้ว ก็ต้องว่าง่ายล่ะ  คนที่ทำเองแล้วถูกปฏิเสธมา ก็มานั่งเสียใจว่า รู้อย่างงี้ใช้บริการ Professional ตั้งแต่แรกดีกว่า

คนเขียนมีคนที่ถูกปฏิเสธ Partner visa ติดต่อเข้ามามากมาย บางคนก็ใช้บริการ Agent ที่ไม่ใส่ใจ ไม่ตาม และสะเพร่าในการทำงาน บางคนก็อ่านเอง ทำเอง, ทำตามเพื่อนบอก, แฟนออสซี่ยืนยันว่าเค้าทำได้ สารพัดเหตุผล ......ปัญหาก็คือ เมื่อมาถึงจุดที่ถูกปฏิเสธวีซ่า บางเคสก็โชคดีพอมีทางแก้ไข แต่เสียตังค์เพิ่ม และแน่นอนเสียเวลา ..... บางเคสก็ไม่มีทางแก้ นอกจากจะต้องออกจากประเทศออสเตรเลีย

เมื่อเร็วๆนี้คนเขียนได้ให้คำปรึกษากับลูกความชาวเม็กซิกัน ซึ่งมาหาคนเขียนหลังจากที่ได้ยื่น Partner visa เข้าไปเอง รอมาปีกว่า ก็ได้รับจดหมายจากอิมขอเอกสารเพิ่มเติม เจ้าตัวเริ่มกังวลว่าควรยื่นเอกสารอะไรบ้าง เพื่อที่วีซ่าจะได้ผ่านแน่ๆ  หลังจากคนเขียนได้อ่านจดหมายจากอิม และซักถามประวัติอยู่ชั่วโมงกว่า ก็สรุปได้ว่า....ไม่ว่ายื่นเอกสารอะไรเข้าไปเคสนี้ก็ไม่ผ่าน (ถ้าผ่านก็ฟลุกล่ะ)  ลูกความร้องไห้ พร้อมบอกคนเขียนว่าก่อนยื่นก็ไปหา Agent มา Agent บอกว่าไม่มีปัญหายื่นได้ เจ้าตัวก็เลยยื่นเอง คนเขียนก็ตอบไม่ได้ (เพราะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์) ว่า Agent คนนั้นไม่ดูเคสให้ละเอียด หรือไม่เชี่ยวชาญพอเลยให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือให้ข้อมูลถูกต้อง แต่ลูกความต้องการประหยัดเลยทำไปตามมีตามเกิด (และตามความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง)  ผลสุดท้ายเคสนี้แทนที่จะเป็นการประหยัดตังค์ กลายเป็นเคสที่ทั้งแพง เพราะจะต้องเสียตังค์ซ้ำซ้อน และเสียเวลาไปอีกอย่างน้อยๆ 2-3 ปี .....  ณ จุดนี้จะไม่ให้ Professional ทำก็ไม่ได้แล้ว เพราะกลายเป็น Complex case ซึ่งแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายสูงไปตามความยากของงาน ..... ถามว่าคุ้มกันไหม กับเวลาที่เสียไป

นอกจากปัญหาวุ่นวายนี้แล้ว ตลอดเวลาปีว่าที่รอเรื่องมา ลูกความท่านนี้ถือ Bridging visa ที่ไม่สามารถทำงานได้ ด้วยความไม่รู้ และไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง ก็ทำงานหลบๆซ่อนๆ เสี่ยงต่อการถูกจับมาปีกว่า ทั้งๆที่ไม่จำเป็นเลย เพราะลูกความท่านนี้จริงๆแล้วสามารถที่จะขอเปลี่ยนเงื่อนไขให้ทำงานได้

บางครั้งความไม่รู้ ทำให้เราพลาดสิ่งที่ไม่ควรจะพลาด เสียโอกาสที่ไม่ควรจะเสีย

คนเขียนไม่ได้บอกว่าทุกคนจำเป็นต้องใช้บริการของ Registered Migration Agent หรือ Immigration Lawyer นะคะ  แต่ละคนก็ต้องใช้วิจารณญานของตัวเอง ว่าเคสของเราจำเป็นต้องใช้บริการของ Professional หรือไม่  เราเข้าใจข้อกฏหมายและนโยบายที่อิมจะเอามาปรับใช้แค่ไหน และยอมรับความเสี่ยงที่จะทำเองและอาจมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้หรือไม่

คนเขียนแค่รู้สึกเสียดายโอกาสของหลายๆคน ที่ถ้าทำให้ถูกต้องตั้งแต่แรก ก็คงไม่มาอยู่ที่จุดนี้ที่ต้องเสียตังค์ซ้ำซ้อน และชีวิตก็จะยังไม่แน่นอนไปอีกหลายปี

สำหรับคนที่เดินผิดพลาด เอาใจช่วยค่ะ
สำหรับคนที่กำลังตัดสินใจว่าจะทำเองดีหรือไม่ คิดให้ถี่ถ้วน อ่านแล้วอ่านอีก ถ้ามั่นใจ ลุยเลยค่ะ แต่อย่าทำอะไรครึ่งๆกลางๆ ถ้าจะทำเองทำให้ดีที่สุด จะได้ไม่มาเสียใจทีหลัง ถ้าไม่มั่นใจในความสามารถตัวเอง ใช้บริการ Professional ค่ะ มีมากมายทั้งคนไทย และชาติอื่น รวมถึงออสซี่ด้วย

Blog ถัดไป .... วิธีเลือก Registered Migration Agent / Immigration Lawyer ....

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

ยื่น 457 ก่อน 1 กรกฏาคม 2013 ต้องใช้ IELTS 5 หรือไม่

31/7/2013

 
เมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม 2013 ทางรัฐบาลได้ออกกฏใหม่มาบังคับใช้กับวีซ่า 457 มากมาย จากบางอาชีพที่เคยได้รับยกเว้นไม่ต้องโชว์ผลภาษาอังกฤษ (IELTS 5)    -    หลังวันที่ 1 กรกฏาคม 2013 ผู้สมัครทุกอาชีพ ต้องโชว์ภาษาอังกฤษหมดค่ะ ยกเว้นว่าจะได้รับยกเว้นทางอื่น

มีน้องๆหลายคนที่ได้ยื่นสมัครวีซ่า 457 ไปก่อนวันที่ 1 กรกฏาคม ซึ่งกฏ ณ ตอนยื่น น้องบางคนไม่ต้องโชว์ภาษาอังกฤษเพราะอาชีพที่สมัครได้รับการยกเว้น -- คำถามที่เข้ามาคือ แล้วตอนนี้ล่ะ เรื่องยังค้างคาอยู่ที่อิม อิมจะขอผลภาษาอังกฤษหรือไม่

ก่อนวันที่เขียน post นี้ ได้ตอบน้องๆหลายคนไปว่า ตามกฏใหม่อิมสามารถขอได้ค่ะ และมีบางคนที่ถูกขอ IELTS แล้ว แต่เนื่องจากกฏยังใหม่อยู่มาก เราก็ต้องดูเป็นกรณีๆไป และเรามารอดูกันว่าจะมีการผ่อนปรนให้คนที่ยื่นก่อน 1 กรกฏาคม หรือไม่

กฏใหม่ (ใหม่กว่าวันที่ 1 กรกฏาคม) ออกมาเมื่อวานค่ะ และจะมีผลบังคับใช้พรุ่งนี้ (1 สิงหาคม 2013)

 ภาษากฏหมาย อาจทำให้งงๆกันนะคะ เอาสั้นๆง่ายๆแล้วกัน เนื้อหาหลักๆ มีอยู่ว่า- ถ้าทั้ง nomination และวีซ่า 457 ได้ยื่นเข้าไปก่อนวันที่ 1 กรกฏาคม และอาชีพ ณ ตอนยื่น (ก่อน 1 กรกฏาคม 2013) ได้รับยกเว้นภาษาอังกฤษ (เช่น Restaurant Manager, Program or Project Adminstrator เป็นต้น)

ถ้า nomination ผ่าน (Approved nomination) - ผู้สมัครวีซ่า 457 ไม่ต้องโชว์ผลภาษาอังกฤษค่ะ
แล้วถ้า nomination ไม่ผ่านล่ะ - ง่ายนิดเดียวค่ะ วีซ่า 457 ก็ไม่ผ่านไปด้วยค่ะ - ใครที่เข้าข่ายนี้ ก็ต้องมาดูแล้วว่าทางเลือกเรามีอะไรบ้าง

นับว่าเป็นข่าวที่น่ายินดีสำหรับน้องหลายๆคนที่กำลังรอผลวีซ่า 457 อยู่นะคะ ที่อิมออกกฏมาผ่อนปรนให้กับคนที่ยื่นใบสมัครก่อน 1 กรกฏาคม 2013 ขอให้ทุกคนโชคดี และได้วีซ่าสมใจนะคะ 

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

วีซ่า 457 กฏเปลี่ยนอีกแล้ว เมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม 2013 -  ภาค 2 ค่ะ

19/7/2013

 
เพิ่มเติมจาก Post ที่แล้วค่ะ

นายจ้าง จากที่แค่ต้องโชว์ว่าเรามีความตั้งใจ (commitment) จะเทรน์พนักงาน ตอนนี้ไม่พอแล้วค่ะ ต้องมีการเทรน์จริงด้วย ไม่อย่างนั้นอาจจะมีปัญหาเมื่ออิมมาตรวจ หรือตอนขอ sponsor ครั้งต่อไปนะคะ

คาดว่าปลายปีนี้จะมีกฏบังคับเพิ่มให้นายจ้างประกาศหาลูกจ้างทั่วไป ก่อนที่จะมีการ Sponsor ลูกจ้างด้วย 457 ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าหาคนมาทำในตำแหน่งที่ต้องการ Sponsor ไม่ได้จริงๆ   รายละเอียดของข้อบังคับนี้คงต้องรอดูกันต่อไปค่ะว่านายจ้างจะต้องทำอะไรบ้าง เป็นระยะเวลานานเท่าไหร่

มาต่อเรื่องเงินๆ ทองๆ กันค่ะ

ค่าแรงขั้นต่ำ (TSMIT) สำหรับลูกจ้างที่ขอ 457 เพิ่มขึ้นจาก $51,400 เป็น $53,900
ค่าแรงสำหรับคนที่ต้องการขอยกเว้นภาษาอังกฤษ (IELTS 5 ทุก part) เพิ่มขึ้นจาก $92,000 เป็น $96,400
ค่าแรงของลูกจ้าง สำหรับนายจ้างที่ไม่ต้องการโชว์ Market Rate เพิ่มขึ้นจาก $180,000 เป็น $250,000

ค่าใบสมัคร หลังวันที่ 1 กรกฏาคม 2013 ตามนี้ค่ะ

Sponsorship                                                      $420
Nomination                                                       $330
457 Main applicant                                          $900
457 ติดตาม อายุเกิน 18                                      $900
457 ติดตาม อายุไม่เกิน 18                                  $255  
โบนัสสำหรับคนที่เคยขอวีซ่าชั่วคราวในประเทศออสเตรเลียมาแล้ว เพิ่มไปอีก   $700 ค่ะ 

จะเห็นว่าแพงขึ้นจากเดิมมากเลยค่ะ นอกจากนี้กฏใหม่ยังให้อิมสามารถปฏิเสธใบสมัครได้ง่ายกว่าเดิมด้วยค่ะ เพราะฉนั้นควรจะเตรียมเอกสารให้แน่น และให้พร้อมค่ะ เพราะอิมอาจจะปฏิเสธใบสมัครโดยที่ไม่ให้เวลาอธิบาย หรือข้อเอกสารเพิ่มเติม  ถ้าพลาดแล้ว นอกจากจะเสียดายตังค์ที่เสียไป บางคนอาจจะโชคร้ายถูก Section 48 bar ด้วยค่ะ 

!@#5#$^&%$R& Section 48 bar คืออะไร รอ Post ถัดไปค่ะ             

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

วีซ่า 457 กฏเปลี่ยนอีกแล้ว เมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม 2013

5/7/2013

 
คาดว่าคงมีคนไทยไม่กี่คน ที่ไม่รู้ว่ากฏสำหรับวีซ่า 457 เปลี่ยนอีกแล้ว หลายๆคนถามเข้ามาว่ากฏเปลี่ยนไปยังไง และจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง อันนี้คงตอบยากนะคะ เพราะขึ้นอยู่กับสถานะการณ์เฉพาะของแต่ละคน รวมถึงนโยบายของอิมที่ ณ ตอนนี้ออกมาไม่หมด แต่ตอบได้รวมๆประมาณนี้ค่ะ

มีผลกระทบใครบ้าง

สั้นๆง่ายๆ กฏใหม่มีผลกระทบทั้งต่อนายจ้างและลูกจ้างที่
1. ยื่นใบสมัครก่อนวันที่ 1 กรกฏาคม 2013 ที่ยังอยู่ในชั้นพิจารณาหลังวันที่ 1 กรกฏาคม 2013
2. ยื่นใบสมัครหลังวันที่ 1 กรกฏาคม 2013

 สำหรับคนที่ถือวีซ่า 457 อยู่แล้ว แต่ต้องการเปลี่ยนนายจ้าง หรือเปลี่ยนตำแหน่งงาน (นายจ้างคนเดิม) ก็อาจจะได้รับผลกระทบด้วยนะคะ

มีผลกระทบอย่างไรบ้าง

ระยะเวลาของ Approved Sponsor สำหรับธุรกิจตั้งใหม่ จะได้แค่ 12 เดือนค่ะ ลูกจ้างที่ขอ 457 ก็จะได้วีซ่าแค่ 12 เดือนตามไปด้วย เมื่อใกล้หมด และยื่นใบสมัครเพื่อต่ออายุ ถ้าเข้าเงื่อนไข และมีเอกสารตามที่อิมกำหนด อิมก็จะให้ระยะเวลาของ Approved Sponsor เป็นปกติค่ะ ซึ่งก็คือ 3 ปี

ที่ผ่านมานายจ้างไม่ต้องระบุว่าจะ sponsor ลูกจ้างกี่คน แต่กฏใหม่นายจ้างต้องให้จำนวนลูกจ้างที่คาดว่าจะ sponsor แล้วนะคะ

สำหรับคนที่ถือวีซ่า 457 และต้องเปลี่ยนงาน จากที่ต้องหานายจ้่างใหม่ภายใน 28 วัน อิมเพิ่มให้เป็น 90 วันค่ะ ซึ่งเป็นข่าวที่น่ายินดี และสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง

ข่าวที่ไม่น่ายินดีอย่างแรง ก็คือ ภาษาอังกฤษค่ะ หมดแล้วค่ะ ไม่มีอาชีพไหนที่ได้รับยกเว้นภาษาอังกฤษ เพราะฉนั้นลูกจ้างไม่ว่าจะอาชีพไหน ก็ต้องยื่นหลักฐานว่าเรามี Vocation English หรือ คะแนน IELTS 5 ทุก part ยกเว้นว่าจะได้รับยกเว้นภาษาอังกฤษทางอื่น เช่น ได้รับเงินเดือนสูงตามระดับที่อิมกำหนด หรือเรียน full time เป็นภาษาอังกฤษ ในระดับ secondary หรือ higher education มาอย่างน้อย 5 ปี หรือถือ Passport ของบางประเทศ ที่จะไม่เอ่ยถึง เพราะคาดว่าไม่ค่อยเกี่ยวกับคนไทยเท่าไหร่

นอกจากนี้อิมยังได้เพิ่มอาชีพที่จำเป็นต้องทำ skills assessment ด้วย ซึ่งก็คืออาชีพ Program and Project Administrator และ Specialist Manager not elsewhere classified อาชีพอื่นที่ต้องทำ skills assessment ยังคงเหมือนเดิมค่ะ

มีอย่างอื่นอีกมั๊ย  มีค่ะ ไว้มีเวลา แล้วจะมาเพิ่มเติมให้นะคะ

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

    Author


    พี่เก๋ - กนกวรรณ ศุโภทยาน เป็นทนายความไทย และทนายความของประเทศออสเตรเลีย (Immigration Lawyer)

    มีประสบการณ์เป็นทนายความเฉพาะทาง ด้าน IMMIGRATION ของประเทศออสเตรเลีย รับวางแผนการขอวีซ่า ยื่นใบสมัครขอวีซ่าทุกประเภท ช่วยเหลือในชั้นอุทธรณ์ที่ Administrative Appeals Tribunal และในชั้นศาลค่ะ

    ต้องการคำแนะนำ หรือความช่วยเหลือ ติดต่อได้ที่ Immigration Success Australia
    mb: 0428 191 889 หรือ www.immigrationsuccessaustralia.com

    Archives

    July 2021
    June 2021
    March 2021
    February 2021
    January 2021
    December 2020
    November 2020
    October 2020
    September 2020
    July 2020
    June 2020
    May 2020
    April 2020
    March 2020
    February 2020
    March 2019
    January 2019
    November 2018
    October 2018
    August 2018
    July 2018
    June 2018
    April 2018
    October 2017
    September 2017
    August 2017
    May 2017
    April 2017
    August 2015
    April 2015
    December 2014
    September 2014
    August 2014
    June 2014
    March 2014
    January 2014
    October 2013
    September 2013
    July 2013
    June 2013

    Categories

    All
    วีซ่า
    อุทธรณ์
    วีซ่าคู่ครอง
    101
    102
    103
    143
    173
    186
    187
    190
    300
    309
    4020
    408
    445
    457
    462
    476
    482
    485
    489
    491
    500
    870
    AAT
    Accountant
    Administrative Appeals Tribunal
    Adoption Visa
    Approved Nomination
    Australia
    Australian
    Australian Citizenship
    Australian Immigration
    Bar
    Bricklayer
    Bridging Visa
    Bridging Visa A
    Bridging Visa E
    BVA
    BVE
    Changes To Immigration Law
    Changing Courses
    Chef
    Child Visa
    Consolidated Sponsored Occupations List
    COVID 19
    COVID-19
    CSOL
    Decision Ready
    Decision-ready
    Decision Ready Application
    Decision-ready Application
    De Facto Relationship
    Employer Sponsored
    English Exemption
    ENS
    Exercise Physiologist
    Family
    Family Violence
    Federal Circuit Court
    Graduate Work
    GTE
    Hydrogeologist
    Ielts
    Immigration
    Immigration Lawyer
    Judicial Review
    Jurisdictional Error
    Migration Agent
    Migration Review Tribunal
    MRT
    Nomination
    Orphan Relative Visa
    Overstay
    Parent
    Partner Visa
    PIC 4020
    Post Study Work
    Processing Period
    Protection Visa
    Public Interest Criteria
    Public Interest Criterion
    Regional Australia
    Regional Visas
    Registered Migration Agent
    Rma
    RSMS
    Section 48
    Section 48 Bar
    Self Sponsorship
    Skilled Migration
    Skilled Occupations List
    Skilled Work Regional
    Skills Assessment
    SOL
    Sponsor
    Sponsorship
    Student Visa
    Substantive Visa
    Training
    Tsmit
    Unlawful
    Visa Cancellation
    Visa Refusal
    Wall And Floor Tiler
    Working And Holiday Visa

    RSS Feed

Powered by Create your own unique website with customizable templates.