คือคนเขียนไม่ใช่นักเขียนมืออาชีพนะคะ ต้องมี Mood เหมาะๆถึงจะเขียนออก บวกกับต้องมีเวลาด้วย นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงภาษาที่ใช้ด้วย พยายามให้อ่านและเข้าใจได้ง่าย และไม่วิชาการจนเกินไป -- ไม่รู้สำเร็จรึเปล่า
เอาเป็นว่าในที่สุดโพสต์นี้ก็คลอดแล้ว คนเขียนหวังว่าคนอ่านจะได้ประโยชน์และข้อคิดจากโพสต์บ้างนะคะ
เรื่องมีอยู่ว่าคุณลูกความมาขอคำปรึกษาค่ะ เริ่มด้วยการแจ้งคนเขียนว่า ตอนนี้คุณลูกความถือ Bridging visa อยู่ เพราะยื่นอุทธรณ์ไปที่ MRT (ตอนนี้เป็น AAT แล้วนะคะ) แต่เนื่องจากเรื่องอุทธรณ์ไม่ประสบความสำเร็จ ฺBridging visa ที่ถืออยู่ก็กำลังจะหมดไป คุณลูกความเล่าว่าทนายคนที่ทำเรื่องให้แจ้งว่ามีอยู่ 2 ทางเลือก คือ
A. กลับไปยื่นใบสมัครขอวีซ่าตัวที่ต้องการยื่น (ซึ่งเป็นวีซ่าชั่วคราว) มาใหม่จากไทย หรือ
B. ยื่นอุทธรณ์ไปที่ศาล (Federal Circuit Court) โดยทนายคนนี้บอกว่านอกจากมีโอกาสชนะแล้ว การยื่นเรื่อง
ไปที่ศาลก็จะทำให้ได้ Bridging visa ที่จะอยู่ที่ออสเตรเลียต่อไปอย่างถูกกฏหมาย
คุณลูกความอยากทราบความเห็นคนเขียนว่าจะเลือกทางไหนดี ถึงจะมีโอกาสได้วีซ่าคืนมามากที่สุด
ฟังดูแล้วเหมือนจะดีนะ มีตั้ง 2 ทางเลือก ไม่ได้ประชดนะคะ บางเคสถึงแม้จะไม่ประสบความสำเร็จ ก็ยังมีหลายทางเลือกได้ จริงๆนะ .......แต่ ไม่ใช่เคสนี้.....
หลังจากสัมภาษณ์กันอยู่นานสองนาน เพื่อให้แน่ใจว่าคนเขียนได้ข้อมูลที่ถูกต้อง คนเขียนก็สรุปข่าวร้ายให้คุณลูกความฟังเป็นข้อๆดังนี้
1. คุณลูกความไม่ได้ถือวีซ่ามานานมากแล้ว ที่คิดว่าถือ Bridging Visa อยู่นั้น มันไม่จริง จากประวัติที่ลูกความให้มา รับรองได้ว่าเป็นผีมานานแล้ว คุณลูกความคิดว่าคนเขียนล้อเล่น แหม่..ใครจะมาล้อเล่นเรื่องแบบนี้ ว่าแล้วก็ขอเช็คสถานะวีซ่าจากระบบ VEVO ของอิมให้เลย ซึ่งก็ไม่ได้โชว์ว่าคุณลูกความถือวีซ่าอะไรอยู่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วก็แปลว่าไม่ได้ถือวีซ่านั่นแหละค่ะ (โดยส่วนน้อยแปลว่าอาจจะมีการขัดข้องทางเทคนิคเกิดขึ้น)
ลูกความแย้งว่า เป็นไปไม่ได้นะ เพราะใช้บริการทนายความมาตั้งแต่ต้น จะมีปัญหาแบบนี้ได้ยังไง และทนายก็บอกเองว่าถือ Bridging visa อยู่ ... ว่าแล้วก็ตั้งท่าจะร้องไห้ .... คือกฏหมายด้านนี้เปลี่ยนบ่อยและซับซ้อนค่ะ สำหรับเคสนี้ ทนายอาจจะเข้าใจข้อกฏหมายผิดๆมาตั้งแต่ต้น หรือไม่ก็หลอกลูกความมาโดยตลอด คนเขียนไม่อาจทราบได้
2. การกลับไปยื่นวีซ่าตัวที่ต้องการจากไทยก็ทำไม่ได้ เนื่องจากประวัติและความที่เป็นผีมานาน ทำให้เมื่อกลับออกไปก็ไม่สามารถขอวีซ่าตัวที่ต้องการซึ่งเป็นวีซ่าชั่วคราวได้ เพราะจะติดบาร์ไปอีก 3 ปี
3. การยื่นเรื่องไปที่ศาล (Federal Circuit Court) ก็ไม่มีโอกาสชนะ เพราะจากที่คนเขียนได้อ่านข้อวินิจฉัยของอิมมิเกรชั่นและของ MRT (อุทธรณ์) คำตัดสินของทั้งสองชั้นก็เป็นไปตามหลักกฏหมาย (คนเขียนอยากบอกว่าจริงๆแล้ว เคสนี้มีสิทธิ์ชนะที่ MRT แต่คุณทนายลืม(รึเปล่า?)แจ้งลูกความให้ไปขึ้นศาล และตัวเองก็ลืม(รึเปล่า?)ไปศาล (MRT) ด้วย!! - MRT ก็เลยตัดสินไปตามเอกสารเดิมที่มี คือเห็นตามอิมนั่นเอง) เมื่อเคสเป็นแบบนี้แล้ว คิดว่าการยื่นอุทธรณ์ไปที่ Federal Circuit Court จะชนะหรือคะ ถ้าแพ้คดีที่ Federal Circuit Court คุณลูกความก็จะเสียค่าทนายความและค่าขึ้นศาลให้ทั้งฝ่ายของตัวเองและฝ่ายของอิมมิเกรชั่นด้วย (ซึ่งคาดว่าเกินหมื่นเหรียญแน่ๆ) แล้วจะทำไปเพื่ออะไร นอกจากนั้นยื่นเรื่องไปก็ไม่ได้ทำให้ได้ Bridging visa เหมือนที่ทนายได้บอกไว้ เพราะคุณลูกความไม่มีสิทธิได้ Bridging visa มาตั้งแต่ต้น ถึงได้เป็นผีมาตั้งนานแล้ว!!!!
จบแล้วค่ะ คำแนะนำที่ให้กับคุณลูกความ (ข่าวร้ายล้วนๆ) - จริงๆแล้วรายละเอียดเยอะมาก เล่าได้ไม่หมดค่ะ
วันถัดมาคุณลูกความเข้าไปหาอิมและโทรกลับมายืนยันว่า ตัวเองเป็นผีมานานแล้วจริงๆ แถมยังถูกอิมโวยมาอีกตังหากว่าเป็นไปได้ยังไงเป็นผีมาตั้งนานแล้วไม่รู้ตัว ให้เวลา 2 อาทิตย์สำหรับแพ็คกระเป๋ากลับบ้าน!!
เคสนี้น่าสงสารมากค่ะ เพราะลูกความลงทุนทำธุรกิจของตัวเองด้วย สุดท้ายต้องบอกขายแบบขาดทุนในระยะเวลา 2 อาทิตย์ เพราะอิมไม่ขยายเวลาให้อยู่ต่อ เนื่องจากไม่เชื่อว่าคุณลูกความเป็นผีโดยไม่ได้ตั้งใจ - แต่คนเขียนเชื่อ
ถ้ารออ่านว่าคนเขียนจะทำอะไรให้ได้บ้าง บอกเลยว่าทำอะไรให้คุณลูกความไม่ได้ กว่าจะถึงมือคนเขียนก็สายเกินแก้ คือว่าไม่ได้มีเวทมนต์นะคะ เป็นนักกฏหมายค่ะ ก็ต้องว่ากันไปตามตัวบทกฏหมาย คนเขียนก็พยายามแก้ทุกโจทย์นะคะ แต่ไม่ใช่ว่าทุกโจทย์จะมีทางแก้
สุดท้ายก่อนจากกัน คนเขียนแจ้ง (ข่าวดีเล็กๆ) แก่คุณลูกความว่ามีวีซ่าชนิดที่ไม่ติดบาร์ 3 ปีอยู่นะ พร้อมแจ้งเงื่อนไขหลักๆของวีซ่าที่คุณลูกความอาจจะมีสิทธิ์ในอนาคต ลูกความรู้สึกดีขึ้นมานิดนึง แต่ก็ต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งกันใหม่จากไทย เพราะเจ้าตัวยังมีคุณสมบัติไม่ถึงสำหรับวีซ่าชนิดที่ไม่ติดบาร์นี้
บทเรียนราคาแพงสำหรับลูกความท่านนี้ สอนอะไรคนอ่านบ้างคะ
# Second opinion (ความเห็นที่สอง) บางครั้งก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ... แต่ควรจะหา Second opinion ให้ถูกเวลาด้วยนะคะ คือก่อนการตัดสินใจทำอะไรซักอย่าง -- จริงๆแล้วเคสนี้ คุณลูกความก็มาหา Second opinion ก่อนที่จะเดินสเต็ปต่อไปนะคะ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีมาก เพียงแต่ว่าเคสนี้พลาดมาตั้งแต่ต้นแล้ว Second opinion เลยช่วยอะไรไม่ได้มาก นอกจากการได้รู้สถานะจริงๆของตัวเอง และไม่ต้องเสียเงินทอง หรือถูกหลอก(รึเปล่า?)อีกต่อไป
## เมื่อทนายความ หรือเอเจนต์ที่ดูแลเรา แจ้งว่าเราได้วีซ่าแล้ว หรือแจ้งว่าตอนนี้เราถือวีซ่าตัวใดตัวหนึ่งอยู่ (เช่น ในกรณีนี้ Bridging visa ) เพื่อป้องกันความผิดพลาด เราก็ควรขอหลักฐานการถือวีซ่าตัวนั้นๆไว้ด้วยนะคะเพื่อความแน่ใจ ถ้าเกรงใจไม่กล้าขอ หรือขอแล้วไม่ให้ เช็คเองได้ค่ะ จาก VEVO
ป.ล. ถ้าถึงจุดที่ต้องเกรงใจไม่กล้าขอ หรือขอแล้วไม่ให้ คนเขียนว่าเปลี่ยนทนายความ หรือเอเจนต์จะดีกว่าค่ะ
Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com