น้องบอกว่าไม่ไหวแล้วค่ะพี่ รอมา 23 เดือน กำลังจะใกล้ยื่นเอกสารวีซ่าคู่ครองแบบถาวร (Stage 2 - Permanent Partner visa) แต่ถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงทำร้ายทรัพย์สินด้วย ทนจนทนไม่ไหวแล้ว .... ว่าแล้วถามว่า 'เอะ...หรือหนูควรจะทน เพราะใกล้ได้พีอาร์แล้ว'
ในมุมมองของคนเขียนนะคะ ต่อให้รอมา 23 เดือน ก็ไม่ควรทนอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้อีกต่อไป ใช่ค่ะ อีก 1 เดือนก็จะถึงเวลายื่นเอกสารสำหรับ stage 2 - Permanent Partner visa แต่ก็ไม่ใช่ว่ายื่นเอกสารปุ๊บจะได้วีซ่าปั๊บ เดี๋ยวนี้รอผลกันร่วมปี เผลอๆเลยปีด้วย วันนี้อาจจะแค่เจ็บตัว วันหน้าอาจจะเสียโฉม พิการ ถึงตาย ไม่มีใครตอบได้ คุ้มไหมกับการได้พีอาร์
ป.ล. เคสวีซ่าคู่ครองที่ความสัมพันธ์สิ้นสุดลงระหว่างทาง มี 3 กรณีด้วยกันที่ผู้สมัครอาจจะได้พีอาร์
- สปอนเซอร์ตาย
- มีลูกด้วยกัน
- มีความรุนแรงเกิดขึ้นในครอบครัว จะเป็นทางร่างกายหรือทางจิตใจก็ได้ แต่ทางร่างกายอาจจะหาหลักฐานมาพิสูจน์ได้ง่ายกว่า
เคสนี้สปอนเซอร์ก็ไม่ได้ตาย ลูกก็ไม่มี แต่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ถือเป็นเคสที่มีความเป็นไปได้
เคสนี้น้องไม่เคยแจ้งตำรวจ ไม่เคยไปหาหมอ จิตแพทย์ หรือนักสังคมสงเคราะห์ หลักฐานความรุนแรงที่น้องมี คือรูป 3 ใบ (3 ใบเท่านั้น!!!!) โชว์รอยถลอกที่เกิดกับน้อง 1 ใบ และการบาดเจ็บของสปอนเซอร์ที่ทำร้ายน้อง 2 ใบ และข้อความโต้ตอบกันผ่านไลน์ ซึ่งก็แรงด้วยกันทั้งคู่ สรุปว่าหลักฐานโชว์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นน้อยมาก และเป็นหลักฐานที่อิมมิเกรชั่นอาจจะตีความเป็นอื่นได้ (รูปสปอนเซอร์บาดเจ็บเนี่ยนะ ตกลงใครทำร้ายใครกันแน่ ใช่ค่ะคนเขียนเชื่อลูกความ ไม่มีเหตุผลที่จะไม่เชื่อ แต่คนทำงานต้องมองทุกมุม มองเผื่อมุมที่อิมมิเกรชั่นอาจจะมองด้วย - ก็เค้าเป็นคนตัดสินเคส)
เคสนี้คนเขียนอธิบายให้น้องฟังว่า มี 3 ทางคือ
- แพ๊คกระเป๋ากลับบ้าน
- หาวีซ่าอื่นเพื่อจะอยู่ที่ออสเตรเลียต่อไป
- ลุยไปข้างหน้ายื่น Permanent Partner visa ผ่าน Family violence provisions ซึ่งก็คือการยื่นเอกสารเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวเข้าไป แต่ต้องเผื่อใจเพราะเราอาจจะต้องไปถึงชั้นอุทธรณ์ (เพราะเอกสารน้อยและไม่แน่น) และเราอาจจะแพ้ที่ชั้นอุทธรณ์ก็ได้ (ว่าแล้วก็แจ้งประโยคเดิมๆให้น้องฟังว่า ไม่สามารถรับประกันความสำเร็จของงานได้ แต่รับประกันได้ว่าจะทำเคสให้ดีที่สุด เต็มความสามารถ)
มีหลายเคสมากที่คนเขียนแจ้งล่วงหน้าเลยว่าเคสอาจจะไปถึงชั้นอุทธรณ์ บางเคสแจ้งค่าบริการชั้นอุทธรณ์ล่วงหน้าเลยด้วย บางคนอาจจะรู้สึกห่อเหี่ยว แต่คนเขียนคิดว่าเราควรเอาความเป็นจริงมาคุยกัน จะได้เอาข้อมูล (ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยง ระยะเวลา และค่าใช้จ่าย) ไปประกอบการตัดสินใจ และก็หลายเคสมากที่เราไม่ต้องไปชั้นอุทธรณ์ และได้วีซ่ามาที่ชั้นอิมมิเกรชั่นนั่นแหละ
คนเขียนจริงใจ ตรงไปตรงมาค่ะ ถ้ารับได้ เชื่อใจกันก็ทำงานด้วยกันได้ สรุปว่าน้องลุย คนเขียนก็ลุยค่ะ
..... สรุปว่าคนเขียนวางแผนเคสไปกุมขมับไป
เริ่มแรกเลย เราแจ้งอิมมิเกรชั่นค่ะว่าความสัมพันธ์ของเราจบลงแล้ว (เคส Partner visa ที่ยังอยู่ในการพิจารณา ไม่ว่าระหว่างรอผลวีซ่า Stage 1 หรือ Stage 2 ของ Partner visa ถ้าความสัมพันธ์สิ้นสุดลง ผู้สมัครมีหน้าที่แจ้ง
อิมมิเกรชั่น) เมื่อเรามีหน้าที่ เราทำหน้าที่ค่ะ ดูดีไว้ก่อน (ดีกว่าสปอนเซอร์เป็นคนแจ้งหรือเพื่อนผู้ไม่หวังดีเป็นคนแจ้งเป็นไหนๆ) แต่ไม่ใช่แจ้งแล้วไม่ทำอะไรเลยนะคะ การวางแผนงาน (Strategies ต่างๆ) ต้องมีแล้วตั้งแต่ก่อนแจ้ง (หมดเวลากุมขมับ แผนต้องมา งานต้องเดิน) เพราะเมื่อแจ้งแล้ว อิมมิเกรชั่นก็จะเริ่มขอเอกสารและคำอธิบายซึ่งมีกำหนดเวลาให้ตอบคำถาม ไม่ตอบตามเวลาเราอาจจะได้ไปชั้นอุทธณ์ทั้งที่ยังไม่ได้สู้ที่ชั้นอิมมิเกรชั่นเลย
ถึงแม้เคสน้องจะไม่ใช่เคสในฝัน คือมันไม่ง่าย แต่น้องเป็นลูกความในฝัน แนะนำให้ทำอะไรน้องทำทุกอย่าง อย่างรวดเร็วและเต็มที่ ถึงแม้จะสับสนในชีวิตและจิตตก เราก็ทำงานกันไปปลอบกันไป คนเขียนตีเอกสารกลับไปหลายรอบ ส่วนใหญ่เป็น Statements (หมายถึงจดหมายคำอธิบายของน้องและเพื่อนๆ ไม่ใช่แบงค์สเตทเมนท์) คือเอกสารไม่แน่นไม่ปึ๊ก เอกสารคลาดเคลื่อนคลุมเครือ เราไม่ยื่น คือหลักฐานในเคสนี้ก็น้อยอยู่แล้ว ขืนส่ง Statements และเอกสารแบบเกือบดีเข้าไป เราคงได้ไปชั้นอุทธรณ์จริงๆ
ตีเอกสารกลับ ฟังดูโหด แต่จริงๆคือการขอให้แก้ไขนั่นแหละค่ะ พร้อมไกด์ให้ว่าควรจะแก้ไขประมาณไหน เพิ่มข้อมูลอะไร หาหลักฐานประเภทไหนเพิ่ม เคสที่มีหลักฐานน้อย คนเขียนก็ต้องมีไอเดียบรรเจิด ก็ต้องคิดนอกกรอบกันนิดนึง (บางคนอาจจะไม่แคร์ ลูกความมีเอกสารแค่ไหนก็ยื่นไปแค่นั้น แต่สำหรับคนเขียน...การช่วยลูกความคิดหาเอกสารเพิ่มเติม คนเขียนถือเป็นเนื้องาน อะไรช่วยได้ และอยู่ในกรอบของกฏหมาย คนเขียนทำทั้งนั้น)
สรุปว่าในที่สุดเอกสารเราก็แน่นค่ะ (ก็แน่นเท่าที่แน่นได้นั่นแหละค่ะ) .... 1 ปี + 1 เดือนนับจากที่เราแจ้งอิมมิเกรชั่นว่าความสัมพันธ์สิ้นสุดลง น้องก็ได้พีอาร์มาครองสมใจ เคสนี้ ...
- ไม่มีการถูกสัมภาษณ์
- ไม่มีการขอเอกสารเพิ่มเติม
- ไม่มีการส่งตัวไปหา Independent expert (ถ้าอิมมิเกรชั่นไม่เชื่อว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นจริง ลูกความก็จะถูกส่งตัวไปหา Independent expert ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ทางด้านจิตวิทยาของอิมมิเกรชั่น/รัฐบาลเพื่อขอความเห็นว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และความเห็นของเค้าก็เป็นที่สุด)
เคสนี้ น้องก็เป็นอีกหนึ่งลูกความที่อยู่คนละรัฐกับคนเขียน การทำงานของเราก็ผ่านโทรศัพท์ อีเมล์และไลน์ ตั้งแต่เริ่มการปรึกษาเบื้องต้นจนน้องได้พีอาร์ไปแล้วเราก็ยังไม่เคยเจอกันเลย
ป.ล.1 เคส Family violence ไม่ได้พิสูจน์แค่ว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นนะคะ ก่อนที่อิมมิเกรชั่นจะดูเรื่องความรุนแรง อิมมิเกรชั่นดูก่อนว่าเรากับสปอนเซอร์มีความสัมพันธ์กันจริงหรือเปล่า เพราะฉะนั้นหลักฐานความสัมพันธ์ก็จะต้องมีเช่นกัน บางเคสที่คนเขียนทำมา ลูกความถูกยึดพาสปอร์ต กลับเข้าบ้านไม่ได้ ไม่มีเอกสารจะพิสูจน์ความสัมพันธ์เลย เพราะคุณสปอนเซอร์เก็บไว้ หรือทำลายไปหมด เคสแบบนี้ก็เป็นเคสที่ต้องใช้ไอเดียบรรเจิด ช่วยลูกความหาเอกสาร
ป.ล.2 เคส Partner visa เป็นเคสที่ต้องเก็บเอกสารความสัมพันธ์อยู่แล้วจนกว่าจะได้พีอาร์มาครอง น้องๆทั้งหลาย ไม่ว่าจะมีปัญหาหรือไม่มีปัญหากับแฟนก็ควรจะเก็บเอกสารพวกนี้ไว้เองด้วย เช่นแสกนลง USB ถ่ายรูปเก็บไว้ในมือถือ หรือเก็บใน cloud account เผื่อเกิดปัญหาขึ้นมากลับเข้าบ้านไม่ได้ เอกสารถูกยึดถูกทำลาย อย่างน้อยก็ยังมีบางอย่างที่เราพอจะมีและเอามาใช้ได้
.... รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม .... มีประโยชน์โปรดแชร์ ....
Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com