MRT คืออะไร ชื่อเต็มๆก็ตามหัวเรื่องเลยค่ะ Migration Review Tribunal
ถ้าตามภาษาของนักแปลนี่เรียกยากและยาวมาก จะมีคำว่า 'ทวิภาคี' อะไรซักอย่างอยู่ด้วย ถ้าคุณนักแปลมาอ่านเจอเข้าก็แจ้งชื่อเต็มๆเข้ามาได้นะคะ
คนเขียนก็ไม่ใช่นักแปลและบอกตรงๆว่าจำไม่ได้จริงๆว่าเค้าเรียกกันเต็มๆว่ายังไง เอาภาษาชาวบ้านและคำอธิบายแบบยาวๆไปแล้วกันนะคะ จะได้เห็นภาพ
MRT คือหน่วยงานรับอุทธรณ์สำหรับคนที่ถูกปฏิเสธหรือยกเลิกวีซ่าโดยอิมมิเกรชั่น ลักษณะก็จะคล้ายๆศาลเล็กๆ แต่ก็ไม่ใช่ศาล และไม่มีพิธีรีตรองมากเท่าศาล คนที่มีหน้าที่ตัดสินเคส ภาษาอังกฤษเรียกว่า Tribunal Member ก็มีหน้าที่พิจารณาเอกสาร สืบพยานบุคคล ไต่ถาม ซักถามคำถามมากมาย เพื่อพิจารณาว่าจะตัดสินยืนตามอิมมิเกรชั่นดี หรือจะมีคำสั่งให้อิมมิเกรชั่นเอาเคสกลับไปพิจารณาใหม่
ป.ล.1. เราจะไม่คุยกันเรื่อง RRT หรือ Refugee Review Tribunal นะคะ เพราะเป็นหน่วยรับอุทธรณ์ของ Protection/Humanitarian visa ซึ่งไม่ค่อยเกี่ยวกับคนไทยซักเท่าไหร่
กลับมาเรื่อง MRT กันต่อ
ไม่ใช่ว่าทุกเคสที่ถูกปฏิเสธหรือยกเลิกวีซ่า จะมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ไปที่ MRT นะคะ และสำหรับเคสที่มีสิทธิ ก็ไม่ได้หมายความว่าควรจะยื่นอุทธรณ์เสมอไป กลับมาที่ประโยคเดิมๆ คือเราต้องพิจารณาสถานการณ์เฉพาะตัวของเคสนั้นๆ ว่าควรจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ ถ้าตัดสินใจได้แล้วว่าควรยื่น ก็ต้องยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กฏหมายกำหนดไว้ ซึ่งก็คือภายใน 21 วัน (หรือ 70 วัน ในกรณีที่ผู้สมัครอยู่นอกประเทศออสเตรเลีย) นับจากวันที่ถือว่าได้รับแจ้งว่าถูกปฏิเสธวีซ่า หรือ ภายใน 7 วัน นับจากวันที่ถือว่าได้รับแจ้งว่าถูกยกเลิกวีซ่า
ป.ล.2 ถูกปฏิเสธวีซ่า กับถูกยกเลิกวีซ่าไม่เหมือนกันนะคะ ตามนี้ค่ะ
ป.ล.3 นับจากวันที่ถือว่าได้รับแจ้งว่า ถูกปฏิเสธวีซ่า หรือถูกยกเลิกวีซ่า ไม่ได้แปลว่าจะนับจากวันที่(จริงๆ) ที่เราได้รับรู้หรือได้รับแจ้งข้อมูลเสมอไปนะคะ การนับวันขึ้นอยู่กับวิธีการแจ้งของอิมว่าแจ้งทาง
อีเมล์หรือทางไปรษณีย์ (หรือ by hand, by fax) ในหนังสือแจ้ง (notification letter) จะระบุวิธีการ นับวันไว้ให้ค่ะ นับดีๆ อย่าให้พลาดนะคะ การยื่นเลยกำหนดแม้เพียง 1 วัน ก็อาจจะมีผลโดย กฏหมายทำให้ MRT ไม่สามารถพิจารณาเคสของเราได้ ภาษากฏหมายเรียกว่า "no jurisdiction" หรือการไม่มีอำนาจในการพิจารณา
จำเป็นต้องใช้บริการจาก Registered Migration Agent หรือ Immigration Lawyer ในการดำเนินเรื่องที่ MRT หรือไม่
คำตอบคือไม่จำเป็นค่ะ - ถ้าเรารู้ว่าเราถูกปฏิเสธหรือถูกยกเลิกวีซ่าเพราะอะไร และทราบว่าจะตอบคำถามยังไง หรือยื่นเอกสารอะไรในชั้นอุทธรณ์เพื่อที่จะได้มีโอกาสในการได้วีซ่าคืนมาให้มากที่สุด ซึ่งต้องบอกว่าไม่ง่าย เพราะถ้าง่าย คนเขียนและ Professional(s) คนอื่นๆคงตกงานกันไปหมดแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจำเป็นต้องมีคนช่วยในการทำอุทธรณ์ สรุปว่า Solo ได้ค่ะ
เกิดอะไรขึ้นในวันพิจารณาเคส (MRT hearing)
ผู้ยื่นอุทธรณ์และพยาน (ถ้ามี) ก็จะถูกซักถามโดย Tribunal Member (คนที่มีหน้าพิจารณาและตัดสินเคส) ถ้าภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง อย่าลืมขอใช้บริการล่ามไว้ล่วงหน้าด้วยนะคะ โดยทาง MRT จะเป็นคนจัดหาล่ามให้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มค่ะ และ MRT ก็จะไม่ใช้ล่ามที่หามาเอง หรือทนายหรือเอเจนต์หามาให้ด้วย (ขอบอก) เพราะฉะนั้นใครที่คิดว่าจะเอาเพื่อนมาเป็นล่าม เผื่อช่วยเราได้ก็ลืมความคิดนี้ไปได้เลย และสำหรับใครที่ถูกทนายความ หรือเอเจนต์เรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนค่าบริการของล่ามสำหรับ MRT hearing .... คิดเอาเองนะคะ ว่าควรจะทำยังไงดี
ปัญหาที่พบบ่อย ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการพิจารณาคือ การตอบไม่ตรงคำถาม หรือตอบตรงคำถามแต่ไม่คลอบคลุม ข้อมูลบางอย่าง Tribunal Member อาจจะไม่ได้ถาม แต่ถ้าเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์และสามารถช่วยเคสเราได้ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเอ่ยถึงในช่วงเวลาที่เหมาะสม หรือยื่นเอกสารเพิ่มเติม ปัญหาของคนที่ทำเคสเองก็คือไปไม่ถึงจุดที่ว่านี่ คือมองไม่เห็นข้อมูลหรือเอกสารที่อาจจะช่วยเคสของเราได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วเป็นข้อมูลที่ต้องนำข้อกฏหมายและนโยบายมาประกอบการพิจารณา รวมถึงการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกเพื่อหาข้อมูลที่ว่านี่ ถ้ามีหรือหาเจอ ก็ต้องมาพิจารณาว่าสมควรจะดึงข้อมูลที่ว่านี่ออกมาให้ใช้หรือไม่ หรือรูปคดีอาจจะเปลี่ยนไปเมื่อเจอข้อมูลที่ว่านี่ (คิดไม่ออกว่าจะยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมยังไงดีโดยที่ไม่ต้องเท้าความกันแบบยาวๆ ขอติดไว้ก่อน)
ผลการพิจารณาของ MRT
ถ้า MRT ไม่เห็นตามคำวินิจฉัยของอิม (ภาษาชาวบ้าน คือเราชนะคดี) โดยส่วนใหญ่แล้วก็จะมีคำสั่งให้อิมเอาเคส
กลับไปพิจารณาใหม่ตามแนวทางที่ MRT ระบุไว้ ในบางเคสก็อาจจะมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งไปเลย โดยไม่ต้องมีการพิจารณาใหม่โดยอิมมิเกรชั่น
ถ้า MRT ยืนตามคำวินิจฉัยของอิม (เราแพ้คดีนั่นเอง) เราก็มีเวลา 28 วันที่จะแพ๊คกระเป๋ากลับบ้าน ยกเว้นแต่ว่าเรายังถือวีซ่าอื่น หรือมีทางเลือกอื่นที่ทำให้เราสามารถอยู่ในประเทศออสเตรเลียได้อย่างถูกกฏหมาย
วิชาการไปมั๊ยเนี่ยะ???
Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com