visa blog : สำหรับคนไทยค่ะ
  • Home
  • Blog

แชร์ประสบการณ์ 482 Genuine Temporary Entrant (GTE)

24/7/2022

 
Q: อุ๊ย 482 มี GTE ด้วยเหรอ ??
A: มีค่ะ สำหรับอาชีพที่อยู่ใน Short term list (STSOL)

Q: เอิ่ม .... GTE คืออะไร ???
A: GTE หรือ Genuine Temporary Entrant คือประเด็นการพิจารณาของบางวีซ่า เช่นวีซ่านักเรียน วีซ่าทำงาน วีซ่าท่องเที่ยว ที่อิมมิเกรชั่นจะต้องเชื่อว่าน้องเข้ามาเรียน มาทำงาน มาท่องเที่ยว แล้วก็จะกลับประเทศของตัวเอง วีซ่านักเรียนและวีซ่าท่องเที่ยวถูกปฏิเสธด้วยประเด็นนี้เยอะมาก

ประเด็น GTE ปกติแล้วไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับการขอ 482 STSOL .... แต่ต้องระวัง ถ้า
* อยู่ออสเตรเลียมานานหลายปีแล้ว
* ถือ 457 หรือ 482 STSOL มาแล้ว และต้องการขอ 482 STSOL รอบที่ 2 หรือ 3 หรือ 4 ....
* มีประวัติเคยยื่นขอวีซ่าถาวร !!!

เคสที่คนเขียนจะแชร์วันนี้ เป็นเคสรวมมิตร รวมทั้ง 3 ประเด็นเลย
* น้องถือ 457 รุ่นเก่า ที่ทำงานกับนายจ้างครบ 2 ปี สามารถต่อยอดไปขอวีซ่าถาวร 186 ได้
* น้องไม่มีผลภาษาอังกฤษ ทนายของน้องแนะนำให้ยื่น 186 บอกว่าผ่านแน่นอนโดยใช้ผลการเรียนที่เป็นภาษาอังกฤษ 5 ปี
* ยื่นไปได้ 20 วัน น้องถูกปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่าไม่มีผลการเรียน 5 ปี
* ทนายของน้องแนะนำให้ยื่นอุทธรณ์ บอกว่าผ่านแน่นอนที่ชั้นอุทธรณ์

น้องมาปรึกษาคนเขียน ขอความเห็นที่สองเกี่ยวกับเคสอุทธรณ์ และแนวทางว่าจะอยู่ที่นี่ต่อยังไง เพราะวีซ่า 457 ที่ถืออยู่กำลังจะหมด

ความเห็นของคนเขียนคือ
* เคสอุทธรณ์ 186 ไม่น่าจะรอด เพราะน้องไม่มีผลการเรียนที่เป็นภาษาอังกฤษ 5 ปีจริงๆ (ถ้าจะรอด ก็คือฟลุ๊ก Tribunal member เห็นใจ แอบหลับตาข้างนึง)
* ยื่น 482 ได้ เสี่ยงถูกปฏิเสธ เพราะ
    - น้องอยู่มา 13 ปีแล้ว
    - ถือ 457 มาแล้ว 4 ปี และกำลังจะขอ 482 STSOL
    - มีประวัติการยื่นขอวีซ่าถาวร 186 และตอนนี้เรื่องอยู่ที่ชั้นอุทธรณ์ ..... แต่น้องกำลังจะเชิญชวนให้อิมมิเกรชั่นเชื่อว่าน้องต้องการที่จะอยู่ที่ออสเตรเลียชั่วคราว เพื่อทำงาน และอนาคตก็จะกลับไปใช้ชีวิตที่ไทย

....  เคสนี้เราให้ข้อมูลประเด็นนี้ไปแล้วรอบนึงตอนยื่นใบสมัคร คาดไว้แล้วว่าเราอาจจะเจอรอบ 2 (แต่แอบหวังว่าจะไม่เจอ) พอเราได้จดหมายให้เวลา 28 วัน เพื่อตอบประเด็นนี้อีกรอบ คนเขียนเฉยๆ น้องก็ไม่ตกใจ เพราะเราเข้าใจตรงกันตั้งแต่ต้นแล้ว ... ให้ทำอะไร น้องทำ ... ขออะไร น้องหาให้

.... สุดท้ายน้องก็ได้ 482 .....  มีเวลาหายใจ มีเวลาปรับแผนชีวิต มีเวลาสอบภาษาอังกฤษ

ทั้งน้องและนายจ้าง อยากให้คนเขียนทำเคสอุทธรณ์ 186 ที่ทนายคนเดิมยื่นไว้ .... ปกติแล้วคนเขียนไม่ค่อยปฏิเสธลูกความที่คนเขียนเคยทำเคสให้ ... แต่คณิตคิดง่าย
.... ทนายคนเดิมของน้อง มีความเห็นว่าเคสอุทธรณ์ผ่านแน่ๆ และน้องก็เสียตังค์ค่าบริการไปแล้ว 
.... ส่วนคนเขียนคิดว่าเคสไม่น่าจะไม่รอด แล้วจะรับทำเคส ให้น้องเสียตังค์เพิ่มโดยใช่เหตุไปเพื่ออะไร
.... ก็ให้น้องอยู่กับทนายเดิมไป  ถ้าเคสผ่านคนเขียนก็ดีใจไปกับน้องด้วย .... ถ้าไม่ผ่าน ก็เป็นไปตามที่แจ้งไว้ และก็ได้ให้แนวทางไว้แล้วว่าระหว่างนี้ ควรทำอะไร และปรับแผนชีวิตยังไง ส่วนน้องจะทำ หรือจะแค่รอความหวังกับเคสอุทธรณ์ที่ทนาย 2 คนเห็นไม่เหมือนกัน ก็แล้วแต่น้อง 

น้องบางคนอ่านโพสนี้อาจจะคิดว่า

Q: อ้าว ขนาดทนายด้วยกันยังเห็นไม่เหมือนกัน แล้วชีวิตชั้นจะรอดไหม ????
A: เป็นเรื่องปกติมากที่ทนายความหรือเอเจนต์จะมีความเห็นไม่ตรงกัน หรือมีสไตล์การทำงานที่ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะด้วยประสบการณ์การทำงานที่ต่างกัน หรือตีความกฏหมายต่างกัน บางคนลืมเช็คข้อกฏหมายก่อนให้คำแนะนำลูกความ หรือลืมเช็คข้อกฏหมายก่อนยื่นใบสมัคร  (อย่าลืมว่ากฏหมายคนเข้าเมือง เปลี่ยนบ่อยมาก)

Q: โอเค เข้าใจที่พูดมา แต่ในทางปฏิบัติ ชั้นทำอะไรได้บ้าง
A: หาความเห็นที่ 2 (หรือ 3 หรือ 4... ) หาคนที่ใช่ ที่น้องมั่นใจ คนที่คลิ๊กค์และคุยกันรู้เรื่อง ....  การนัดปรึกษาเบื้องต้นเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เป็นโอกาสที่คุณจะได้คุยเบื้องต้น หาแนวทางสำหรับอนาคต หรือหาแนวทางสำหรับเคสที่กำลังเจอปัญหา เปรียบเทียบและพิจารณาว่าคำแนะนำไหน Make sense มากที่สุด (อย่าลืมทำการบ้านเองด้วย ก่อนคุยเคส น้องจะได้ประโยชน์มากกว่า) นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่น้องจะได้พิจารณาบุคลิก การพูดจา สไตล์การทำงาน ความน่าเชื่อถือ ของคนที่เราอาจจะใช้บริการด้วย



Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com



HOT NEWS ข่าวดีของคนติด Section 48 bar

30/10/2021

 
Hot news ..... ใครติด Section 48 Bar .... สามารถยื่นวีซ่า

  • Subclass 190 -Skilled Nominated visa
  • Subclass 491Skilled Work Regional (Provisional) visa
  • Subclass 494 Skilled Employer Sponsored Regional (Provisional) visa

แบบในประเทศออสเตรเลียได้ตั้งแต่วันที่ 13 November 2021

โพสนี้ มาเร็ว ไปเร็ว แค่ต้องการแจ้งข่าวดี

คนเขียนเชื่อว่าต้องมีน้องหลายๆคนที่จะได้ประโยชน์จากข่าวนี้ ดีใจด้วยนะคะ



Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com


แชร์ประสบการณ์ Consultation & Section 48 Bar

4/9/2021

 

น้องลูกความเคสนี้ ไม่ใช่คนไทยค่ะ  Referred มาจากอดีตลูกความที่คนเขียนเคยทำ 457 และ 186 ให้ และน้องเป็นซิติเซ่นไปเรียบร้อยแล้ว

น้องเริ่มมาปรึกษาคนเขียนหนแรกปี 2018


  • น้องถือวีซ่า 457 และต้องการยื่นพีอาร์  ENS 186
  • หลังจากซักถามกันอยู่พักนึง คำแนะนำของคนเขียนคือ น้องมีทุกอย่าง ยกเว้น Competent English ซึ่งน้องจะต้องมีก่อนยื่นวีซ่า สรุปคือยังขอพีอาร์วีซ่า 186 ไม่ได้
  • น้องถามว่า แล้วจะทำไงเพราะ 457 ใกล้หมดอายุ และอิมมิเกรชั่นก็ยกเลิกวีซ่าประเภท 457 ไปแล้ว ยื่นอีกไม่ได้แล้ว
  • คนเขียนแนะนำว่าน้องยื่น 482 ได้ และไม่ได้กระทบกับการขอพีอาร์ 186 ในอนาคต แต่ต้องยื่น 186 ก่อน mid-March 2022 เนื่องจากเป็นเคส Transitional arrangements

ปี 2019 นายจ้างของน้อง ติดต่อมาหาคนเขียน

  • สรุปว่านายจ้างและน้องตัดสินใจยื่น 482 Nomination & visa applications ..... DIY ... ทำเองค่ะ !!!!
  • คนเขียนไม่เคยทำเคสให้นายจ้างหรือน้องลูกความ และไม่ได้คาดหวังว่าลูกความจะต้องมาใช้บริการ แต่ก็ไม่คิดว่าจะทำกันเอง  ใจกล้ามากค่ะ .... เคสนายจ้างสปอนเซอร์มีหลายประเด็นที่ต้องระวัง พลาดนิดเดียว เคสปลิวได้เลย
  • สรุปว่า Nomination ผ่าน แต่วีซ่าไม่ผ่าน
  • อ่านคำตัดสิน และขอเอกสารต่างๆมานั่งดู ทำ Research และเช็คข้อกฏหมาย (ใช้เวลาไป 3 ชั่วโมง ชาร์จลูกความ 1 ชั่วโมง)
  • คำแนะนำของคนเขียนคือ ถูกปฏิเสธเพราะประโยคเดียวที่น้องเขียน (นายจ้างช่วยเขียน เพราะคิดว่าจะช่วยเคส) ประโยคเดียวจริงๆ จบเคสนี้ไปเลย ..... ปกติแล้วพออ่านคำตัดสิน คนเขียนจะพอเห็นแนวทางการโต้เถียง แล้วเราค่อยมา Perfect เคสกันระหว่างรอ Hearing จะชนะ หรือไม่ชนะ ไม่รู้ แต่อย่างน้อยเราเห็นแนวทาง .... แต่สำหรับเคสนี้ ณ ตอนให้คำปรึกษา คนเขียนคิดไม่ออกจริงๆว่าจะเถียงกับ AAT ยังไงให้เคสรอด
  • การทำเคสเอง บางทีก็เจอแบบนี้ เจ้าตัวคิดว่าเขียนอย่างนี้ ต้องช่วยเคสแน่ๆ ปรากฏว่าสำหรับเคสนี้ ไม่ใช่เลย ตายสงบ ศพไม่สีชมพู ศพเกรียม
  • ด้วยสถานการณ์เฉพาะของเคสนี้ คนเขียนบอกลูกความตามตรงว่าเคส AAT มีความหวังน้อย  แต่เห็นวิธีที่น้องลูกความจะไม่ติด section 48 และสามารถยื่นวีซ่าต่อในประเทศออสเตรเลียได้ ในระหว่างยื่นอุทธรณ์ และถือ ฺBridging visa (เห็นไหมว่าแคร์ คิดว่าเคส AAT อาจจะไม่รอด ก็ยังพยายามหาทางอื่นเผื่อไว้ให้)

และ ... ใช่แล้วค่ะ อ่านไม่ผิด .... ไม่ใช่ทุกเคสที่ถูกปฏิเสธ และถือ Bridging visa แล้วจะต้องติด Section 48 Bar

บางเคส น้องยังอยู่ในภาวะที่ยังสามารถทำอะไรซักอย่างให้ตัวเองไม่ติด Section 48 Bar ได้ (เช่นเคสนี้)

บางเคส กว่าน้องจะมาถึงคนเขียน ก็เลยช่วงเวลาที่จะทำอะไรซักอย่างได้แล้ว แต่การสัมภาษณ์เจาะลึกเพื่อที่จะเข้าใจ timeframe ต่างๆในชีวิตน้อง (หมายถึง timeframe ของวีซ่า) อาจจะช่วยให้คนเขียนพิจารณาได้ว่าจริงๆแล้วน้องติดหรือไม่ติด Section 48 Bar

       
สรุปว่า .... ส่วนใหญ่แล้ว เคสที่ถูกปฏิเสธวีซ่า เคสรออุทธรณ์ และลูกความถือ Bridging visa จะติด Section 48 Bar คือยื่นวีซ่าส่วนใหญ่ในประเทศออสเตรเลียไม่ได้   ..... แต่ (ตัวโตๆ) ... ไม่เสมอไป


  • เคสนี้ คนเขียนแนะนำแนวทางเพื่อที่น้องจะไม่ติด Section 48 Bar ให้ทราบ
  • นายจ้างอีเมล์ตอบกลับมา .... ขอบคุณคนเขียน และบอกว่าไปปรึกษาทนายอีกคน และเค้ามีแนวทางและความเห็นไม่เหมือนคนเขียน และความเห็นของทนายคนนั้นคือ .. บลา ..บลา ...บลา
  • คนเขียนตอบไปว่า ความเห็นและคำแนะนำของคนเขียนยังเหมือนเดิม จะทำตามหรือไม่ทำตาม แล้วแต่คุณ
  • คนเขียนไม่มีหน้าที่มา Justify ความเห็นของตัวเอง ทุกครั้งที่มีคนเห็นต่าง ไม่ว่าจะเป็นทนายความ หรือเอเจนต์ท่านอื่น หรือเพื่อนของลูกความ คนเขียนใช้เวลาในการอ่านเคส ในการวิเคราะห์ อ่านข้อกฏหมาย และ Research ในแต่ละเคสก่อนให้คำแนะนำเสมอ .... สำหรับเคสนี้ ใช้เวลาไป 3 ชั่วโมง .... คุณจะเชื่อ และเอาแนวทางไปปรับใช้ หรือจะไม่เชื่อ และไม่เอาแนวทางไปปรับใช้ ก็เป็นสิทธิ์ของคุณ

ปี 2021 น้องลูกความที่เป็นแฟน (วีซ่าติดตาม ในภาษาน้องๆคนไทย) ติดต่อมาขอนัดปรึกษาสำหรับเคสตัวเอง และไม่ได้ท้าวความอะไรเกี่ยวกับเคสข้างบนเลย

แต่พอส่งเอกสารมา คนเขียนเห็นชื่อคนถือวีซ่าหลัก คนเขียนนึกเคสออกเลยว่าเคสไหน เคสหน้าตาเป็นยังไง เคยให้คำแนะนำอะไรไว้กับคนถือวีซ่าหลัก และนายจ้าง (ขนาดไม่เคยทำเคสให้นะ บางเคส คนเขียนก็มี Photographic memory เคสนี้จำรายละเอียดเคส และคำแนะนำของตัวเองในปี 2018 & 2019 ได้ โดยไม่ต้องดูเอกสารย้อนหลัง !!!  สมองเป็นอะไรที่แปลกมาก)


  • สรุปว่า 2 ปีผ่านไป เคสน้องยังอยู่ที่ AAT 
  • สรุปว่า ที่แนะนำให้ทำ เพื่อที่จะไม่ติด Section 48 Bar ไม่ได้ทำ (เพราะเมื่อปี 2019 ทำตามคำแนะนำของทนายอีกท่านนึง)  ... สรุปว่าติด Section 48 Bar
  • ตอนนี้คนถือวีซ่าหลักจะยื่น 186 ก็ยังยื่นไม่ได้ เพราะเคสยังค้างอยู่ที่ AAT และภาษาอังกฤษก็ยังไม่มี
  • น้อง (คนติดตาม) ต้องการให้ดูว่าเค้าจะสมัครเป็นคนถือ 482 หลักได้ไหม เพราะตอนนี้มีนายจ้างต้องการสปอนเซอร์ 
 
ปัญหาคือ


  1. น้องติด Section 48 ฺBar ต้องบินออกไปยื่นแบบนอกประเทศออสเตรเลีย
  2. น้องจะขอ Bridging visa B ผ่านรึเปล่า เพราะปัญหา COVID-19 ถ้าเหตุผลไม่ดีจริง อิมมิเกรชั่นอาจจะไม่ให้ออก
  3. ถ้าได้ Bridging visa B มา .... ออกไปแล้ว จะกลับเข้ามาได้รึเปล่า มีน้องๆหลายคนที่ออกไปแล้วด้วย Bridging visa B นี่แหละ และก็ติดอยู่นอกประเทศเลย เพราะ COVID-19 และขอ Travel Exemption ไม่ผ่าน
  4. ถ้ายินดีที่จะติดอยู่นอกประเทศ รอ 482 ออก .... แล้วถ้า Nomination และ/หรือวีซ่า 482 ถูกปฏิเสธล่ะ (และเคส AAT ของคนที่ถือวีซ่าหลัก ดูแนวโน้มแล้วมีโอกาสไม่รอดสูง เพราะประโยคๆเดียว)

ถ้าตอนปี 2019 น้อง action อย่างที่คนเขียนแนะนำ น้องก็จะไม่ติด Section 48 Bar น้องคนติดตามก็ยื่น 482 ในประเทศออสเตรเลียได้ และก็จะได้ ฺBridging visa มาถืออีกหนึ่งตัว ถ้าเคสผ่าน ปัญหาที่มีอยู่ก็จบ ถ้าเคสไม่ผ่าน น้องก็ยังยื่นอุทธรณ์ได้ พัฒนาเคสตัวเองต่อไปในออสเตรเลีย (hindsight is a wonderful thing) แต่ตอนนี้ทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว

ป.ล. ทนายความและเอเจนต์แต่ละคน มีสไตล์การทำงานไม่เหมือนกัน มองเคสไม่เหมือนกัน วาง Strategy การทำเคสไม่เหมือนกัน คุณมั่นใจคนไหน คุณใช้บริการคนนั้น หรือทำตามคำแนะนำของคนนั้น

คนเขียนจบเคสอุทธรณ์ AAT 186/187 Nomination & Visa applications ไป 3 เคส (ชนะทั้ง 3  เคส และ 2 ใน 3 เคสนี้ เป็น Self Sponsor) จะแชร์ประสบการณ์ให้อ่านกันในโพสหน้านะคะ  ..... ขอบคุณที่ติดตามค่ะ


Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com



แชร์ประสบการณ์ Consultation & Bridging visa

15/7/2021

 
วันนี้คนเขียนมาแชร์ประสบการณ์ ทำเคสเอง ดีใจเอง เผลอๆดีใจมากกว่าลูกความซะอีก เพราะทราบว่าผล Bridging visa ตัวนี้ ให้ประโยชน์ลูกความมากมาย ..... ถ้าน้องจะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์

น้องโทรมาถามว่า Bridging visa E (BVE) ใกล้จะหมด ทำยังไงได้บ้าง  คนเขียนถามคร่าวๆว่าไปทำอะไร ยังไง ก่อนจะถือ ฺBridging visa E  น้องก็ตอบมาแบบงงๆ  คนเขียนก็งงๆ ไปกับน้องด้วย  เคสน้องค่อนข้างยุ่งเหยิงค่ะ คนเขียนขอไม่ลงรายละเอียด  .... แต่ .... สรุปว่าต้องนัด Consultation ค่ะ   และก็เป็นไปตามคาด  น้องก็บอกตามความเข้าใจ  แต่เอกสารมาอีกเรื่องนึงเลย  และเอกสารก็มีไม่ครบเพราะทำเองบ้าง เพื่อนช่วยบ้าง เพื่อนของเพื่อนช่วยบ้าง .... สรุปว่า ข้อมูลบางอย่างคนเขียนต้องคาดเดาเอาเอง (จากประสบการณ์)

ลูกความ :      พี่ ... ทำยังไงได้บ้าง BVE ผมกำลังจะหมด และพาสปอร์ตผมก็หมดอายุไปแล้วด้วย
คนเขียน :     น้องต่อ BVE ใหม่ได้ค่ะ แต่คิดว่าไม่จำเป็น เพราะเท่าที่ดู เหมือนจะมีความผิดพลาดที่ระบบ คือ ฺBVE ของน้อง ยังไม่ควรจะมีวันหมดอายุ ควรจะโชว์ indefinite .... พาสปอร์ตไม่ใช่ปัญหา
ลูกความ :     อุ๊ย .... เหรอพี่ .... ผมต่อ BVE ได้อีกใช่ไหม ค่อยโล่งใจหน่อย
คนเขียน :     ใช่ค่ะ ต่อได้ (ก็เพิ่งบอกไป) .... แต่ไม่ควรต่อ .... ควรจะเถียงกับอิมมิเกรชั่น ให้ BVE ตัวเดิม ยืดอายุออกไปถึงจะถูก
คนเขียน :      ............ เงียบ ............ (เงียบไป แปลว่าอ่านหรือจด ---- เงียบนี้ คือกำลังอ่านข้อกฏหมายอยู่ และปรับเทียบกับประวัติของน้องลูกความ)
คนเขียน :     .... อืม .... ดูเอกสารน้องแล้ว เหมือนน้องน่าจะมีสิทธิ์ได้ Bridging visa A (BVA) นะคะ .... แต่เสี่ยงอยู่ เพราะเอกสารตัวที่อยากเห็น และจะใช้อ้างอิง น้องไม่มี แต่จากประสบการณ์ และการนับนิ้ว คิดว่าเคสนี้มีลุ้น

เคสนี้คนเขียนต้องนับวันค่ะ .... วันที่ เป็นอะไรที่สำคัญมาก .... จะรอดหรือไม่รอด ขึ้นอยู่วันที่ของ Bridging visa ตัวเดิมที่ลูกความเคยถือ ว่าหมดอายุเมื่อไหร่ (แต่ลูกความไม่มี !!!)
 
Big deal มากนะคะ !!!!!     BVA ดีกว่า BVE มากมาย .... ถือ BVA สามารถยื่นขอ BVB เพื่อออกนอกประเทศออสเตรเลียได้ เปิดโอกาสให้ลูกความยื่นวีซ่าตัวอื่นแบบนอกประเทศออสเตรเลียได้ และกลับมารอวีซ่าในประเทศได้ (สำหรับเคส section 48 bar)  ในขณะที่ BVE น้องออกไปไหนไม่ได้เลย (คือ ออกได้ แต่กลับเข้ามาไม่ได้)

อ่านโพสเกี่ยวกับ Bridging visa ได้ที่นี่ค่ะ

คนเขียนให้น้องเลือกเองระหว่าง 

1. BVA ค่าบริการสูงกว่า เพราะเคสยากกว่า จะได้รึเปล่าไม่รู้ แต่มีลุ้น กับ
2. BVE ค่าบริการถูกกว่า และได้แน่ๆ ไม่ว่าจะเป็น BVE ตัวเดิมแต่เปลี่ยนจากมีวันหมดอายุ เป็นไม่มีวันหยุดอายุ หรือ BVE ตัวใหม่


     ....... ติ๊กต๊อก .... ติ๊กต๊อก .......


น้องตัดสินใจให้คนเขียนลองยื่นขอ BVA ให้ ......  Good decision ค่ะ  (คนเขียนอยากลอง เพราะเชื่อว่ามีลุ้น แต่นี่ชีวิตของลูกความ ตังค์ของลูกความ ก็ต้องให้ลูกความตัดสินใจเอง)

........ ปรากฏว่า อิมมิเกรชั่นได้ใบสมัคร BVA วันที่ 13 .... ปฏิเสธ BVA วันนั้นเลย ! ..... แอบผิดหวังไป 10 วิ (ก่อนอ่านคำตัดสิน)

คนเขียนคิดว่าถ้าปฏิเสธเพราะเรื่องวันที่ (ที่เราไม่มีเอกสารอ้างอิง แต่อิมมิเกรชั่นมีในระบบ) เราก็ต้องยอมรับผลคำตัดสินนั้น ..... ปรากฏว่าไม่ใช่ค่ะ .... ถูกปฏิเสธเพราะเจ้าหน้าที่อ้างว่าน้องเคยถือ BVE มาแล้ว จะกลับมาถือ BVA ไม่ได้ !  

........ โดยส่วนใหญ่แล้ว .... ใช่ค่ะ .... ถือ ฺBVE แล้ว จะกลับมาถือ BVA ไม่ได้ ..... แต่ .... ไม่เสมอไป

เคสนี้คนเขียนไม่คิดตังค์ลูกความเพิ่มด้วย .... แต่ขอ fight หน่อย เคืองใจมาก .... เจ้าหน้าที่ตัดสินแบบไม่ดูข้อกฏหมายได้ยังไง ... คนเขียนส่งอีเมล์ ระบุข้อกฏหมายที่ถูกต้องไปให้อิมมิเกรชั่น และขอให้พิจารณาใหม่ (เราไม่ยื่นใบสมัครใหม่ และเราก็ไม่ยื่นอุทธรณ์ด้วย)

คนเขียนบอกน้องว่า BVA ถูกปฏิเสธนะ แต่รอก่อนกำลัง fight ให้อยู่ จะหมู่หรือจ่า เดี๋ยวอีกวันสองวันคงรู้เรื่อง

วันนี้ อิมมิเกรชั่นส่ง BVA grant letter มาค่ะ .... ไม่มี condition ใดๆ เรียนได้ ทำงานได้ (ออกนอกประเทศได้ด้วย BVB) .......  ถูกปฏิเสธวันที่ 13 เปลี่ยนเป็น Visa grant ให้วันที่ 15 ..... สรุปว่าอิมมิเกรชั่นยอมรับว่าตัดสินผิด และข้อมูลที่คนเขียนต้องเดาและนับนิ้วจากประสบการณ์ ก็ถูกต้อง และตรงกับข้อมูลในระบบของอิมมิเกรชั่นค่ะ ..... เคสจบไปได้ด้วยดี ..... เย้


........ ถือวีซ่าผิด ชีวิตเปลี่ยน  .....

........ ตัดสินใจผิด ชีวิตเปลี่ยน ....

ฝากไว้ให้คิด บางครั้งโอกาสก็มากับการใช้เวลาขุดคุ้ย และมองลึก อ่านแล้วอ่านอีก ...... VEVO หรือวีซ่าที่ออกให้ ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป คำตัดสินของอิมมิเกรชั่นก็ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป


Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com


Q & A : Bridging visa E ต้องขอก่อนหรือหลังวีซ่าหมด

7/11/2020

 
Q: อยากสอบถามเรื่อง Bridging Visa E ค่ะ พอดีว่าติด Section 48 bar จาก 485 visa refusal แล้วต้องกลับไทยภายใน 28 วัน แต่ว่ายังหาไฟลท์กลับไทยไม่ได้ เลยต้องการยื่นขอ BVE ไม่ทราบว่าต้องขอก่อนหรือหลังวีซ่าหมดหรอคะ

A: ถ้าตอนนี้ถือ BVE อยู่แล้ว = ต่อก่อนวีซ่าหมด
ถ้าตอนนี้ถือวีซ่าอื่น เช่น BVA = ต่อวันถัดไปหลังวีซ่าหมด (เช่น BVA หมดวัน 14, ยื่นใบสมัคร BVE วันที่ 15)

ป.ล.1    วีซ่าถูกปฏิเสธ น่าจะมี 35 วันนะคะ ไม่ใช่ 28 วัน ลองเช็ค VEVO ดูอีกครั้งว่าวีซ่าหมดวันไหนแน่
ป.ล.2    ในกรณี 485 ถูกปฏิเสธ น่าจะมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์นะคะ ลองพิจารณาดูว่าเป็นเคสที่ควรจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่



Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com


Partner visa - Grant time for Stage 2 - PR

7/5/2020

 
ช่วงนี้เทรนการพิจารณา Stage 2 Partner visa (PR) คือ เร็วถึงเร็วมากนะคะ คนเขียนมีโอกาสได้แจ้งข่าวดีให้กับน้องๆหลายคนเลย

ต้องขอบคุณอิมมิเกรชั่นที่ถึงแม้จะไม่ได้ประกาศอะไรออกมา แต่เราก็ทราบได้จากการกระทำว่าหน่วยงานใน
อิมมิเกรชั่นเองก็พยายามช่วยหลายๆคนให้ได้พีอาร์โดยเร็ว

พอได้พีอาร์แล้ว หลายๆคนก็อาจจะได้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินที่รัฐบาลเสนอช่วยอยู่ ณ ตอนนี้ เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19

น้องๆที่ยื่นเอกสาร Stage 2 Partner visa ไปแล้ว อาจจะสงสัยว่าเราจะได้วีซ่าเร็วๆกับเค้าบ้างไหม ไม่มีใครตอบได้ แต่อย่างนึงที่น้องๆทำได้คือ

- เช็คเอกสารของตัวเองว่ายื่นเอกสารครบตามที่อิมมิเกรชั่นต้องการหรือไม่ (Decision Ready Application)

- ยื่นเอกสารครบไม่พอนะคะ เอกสารที่ยื่นต้องมีคุณภาพด้วย

- มีประเด็นอะไรที่อาจจะเป็นปัญหาหรือไม่ ถ้ามี เป็นประเด็นง่ายๆที่เราสามารถนำเสนอได้เลย เพื่อความรวดเร็วในการพิจารณา หรือเป็นประเด็นที่เราไม่ควรจะไปเปิดประเด็น (งงใช่ไหมล่า .... มันอธิบายยากนะตรงนี้ มันคือ Strategy การทำงานของแต่ละเคส)  ถ้าแนวโน้มเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ ก็คงไม่ต้องหวังการพิจารณาที่รวดเร็วนะคะ เอาแค่หวังผ่านดีกว่า เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น

ในเคส Stage 2 ของคนเขียน ก็มีประเด็นแตกต่างกันไป ยกตัวอย่าง 2 เคส

เคสนี้ประเด็นง่าย แต่ลูกความคิดมากเกินไป overthinking ไม่อยากให้ใส่รายละเอียดบางอย่าง เพราะกลัวว่าเคสจะเกิดปัญหา แต่ถ้าไม่ให้รายละเอียดก็ดูเหมือนความสัมพันธ์จะไม่แน่น คนเขียนพิจารณาแล้วไม่เห็นว่ามันจะเป็นปัญหาตรงไหน อยู่ที่การนำเสนอมากกว่า สรุปลูกความยอมทำตามคำแนะนำ เคสผ่านไปแล้วอย่างรวดเร็ว นอกจากจะได้พีอาร์เร็วแล้ว ยังได้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลด้วย

อีกเคสนึง ลูกความทำ Stage 1 กับเอเจนต์อื่น แต่ไม่แฮ๊ปปี้ มาให้คนเขียนดูแล Stage 2 ให้ (ค่ะ เปลี่ยนเอเจนต์ระหว่างทางก็ทำได้ ถ้าไม่แฮ๊ปปี้ อย่าทน)   แน่นอนเคสแบบนี้ต้องเช็คประวัติและเอกสารกันค่อนข้างเยอะ โดยสรุปคือ
- ลูกความถึงกำหนดยื่น Stage 2 ตั้งแต่ 15 เดือนก่อนที่จะมาเจอคนเขียน (คือเลทไป 15 เดือนแล้ว ยังไม่ได้ยื่นเอกสารเลย) คือเอเจนต์ไม่ได้แจ้งให้ทราบ ไม่ได้แนะนำอะไรเลย
- ถามไปถามมาน้องมีลูกด้วย ลูกแต่ละคน ก็มีปัญหาเฉพาะของตัวเอง และมีทั้งอยู่ไทย และที่ออสเตรเลีย แถมคนที่อยู่ที่ออสเตรเลียวีซาก็กำลังจะหมด
- สปอนเซอร์ก็มีประวัติคดีอาญาชนิดที่ถ้าพ่วงลูกด้วย เคสอาจจะมีปัญหา
- การเงินก็ต้องเอามาพิจารณา เนื่องจากมีลูกหลายคน พ่วงลูกด้วยค่าใช้จ่ายโดยรวมถูกกว่าการได้พีอาร์คนเดียวแล้วค่อยมาทำวีซ่าให้ลูกๆภายหลัง
- จะยื่น Stage 2 คนเดียว หรือจะพ่วงลูกด้วยดี ตอนนี้ก็เลทมาตั้ง 15 เดือนแล้ว จะพ่วงลูกมีหลายสเต็ปที่ต้องทำ ยิ่งเลทไปกันใหญ่  บวกประวัติคดีอาญาของสปอนเซอร์เข้าไปให้กังวลอีก

อ่านข้างบน อาจจะคิดว่าคนเขียนคงแนะนำให้ยื่นคนเดียวให้รอดก่อนค่อยหาทางเอาลูกมา แต่ไม่ค่ะ หลังจากนั่งคิดนอนคิดตีลังกาคิด บวกกับการทำ Research และวางแผนงาน (Strategy) คนเขียนแนะนำให้ทำเรื่องพ่วงลูกเลย  ไหนๆก็เลทมา 15 เดือนแล้ว ก็เลทกันต่อไป (Why not?) แต่เลทแบบอยู่ในความดูแลของคนเขียน แผนต้องมา งานต้องเดิน ไม่ใช่เลทแบบตามมีตามเกิดไม่ทำอะไรเลย  ถ้านับจากวันที่ Stage 2 Partner visa พร้อมพิจารณา เคสนี้ใช้เวลา 5 เดือน ซึ่งถือว่าเร็วมากสำหรับเคสแบบนี้ (ก่อนหน้านี้เราก็ลุยกับเคสของลูกๆและประวัติของสปอนเซอร์ไป เหนื่อยแต่จบ ได้พีอาร์พร้อมกันทุกคน แถมประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้อีกเยอะ)

ป.ล.1  ไม่ใช่ทุกเคสที่ควรจะพ่วงลูกนะคะ บางเคสก็ต้องยอมยืดเยื้อ และเสียค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า เอาตัวเองให้รอดก่อน เรื่องลูกค่อยว่ากันภายหลัง

ป.ล. 2   ช่วงนี้มีน้องๆถามกันมาเยอะนะคะว่าเคยถูกปฏิเสธวีซ่า หรือเคยถูกยกเลิกวีซ่า ติด Section 48 บาร์ หรือตอนนี้ไม่ถือวีซ่า จะยื่น Partner visa ในประเทศออสเตรเลียได้ไหม  ...... คำตอบคือยื่นได้ค่ะ คนเขียนทำเคสประมาณนี้มาแล้วหลายเคส เช่นเคสนี้ หรือโพสนี้ ....แต่... เคสที่ติด Section 48 บาร์ ไม่ใช่ทุกเคสนะคะที่เหมาะสมกับการยื่นแบบในประเทศออสเตรเลีย

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

แชร์ประสบการณ์ ความสำคัญของความเห็นที่สอง

24/1/2019

 
เคสนี้เป็นเรื่องของลูกความแถบยุโรบคู่หนึ่งที่มาด้วย Working Holiday visa และทำวีซ่า 457 กับเอเจนต์อื่น

ลูกความติดต่อมาหาคนเขียนครั้งแรกกลางปี 2016 Standard Business Sponsorship (SBS) application          ถูกปฏิเสธเพราะเอเจนต์คำนวนค่าเทรนนิ่งผิด เอเจนต์แนะนำให้ยื่นอุทธรณ์ คนเขียนแนะนำให้ยื่นเรื่องใหม่เข้าไปที่อิมมิเกรชั่น เพราะเป็นประเด็นที่แก้ไขได้ และยื่นใหม่เร็วกว่ายื่นอุทธรณ์แน่นอน ลูกความอยากเปลี่ยนมาให้คนเขียนดูแล แต่นายจ้างยังมั่นคงกับเอเจนต์เดิม (ปัญหาโลกแตก ต้องปล่อยให้นายจ้างลูกจ้างตกลงกันเอาเอง)

เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ลูกความติดต่อมาอีกครั้งเมื่อธันวาคม 2018 และจะให้คนเขียนยื่นขอพีอาร์ให้

คนเขียนก็คิดว่าลูกความต้องการต่อยอดจาก 457 เป็นวีซ่าพีอาร์ 186 .... คือดูจากเวลาแล้วน่าจะใช่ น่าจะถือ 457 (เข้ากฏเก่า) มาแล้ว 2 ปี

ปรากฏว่าความเป็นจริงห่างไกลจากที่คิดไว้เยอะเลยค่ะ ที่หายไป 2 ปีกว่า คนเขียนวิเคราะห์ได้ตามข้างล่าง คือต้องวิเคราะห์เองจากเอกสาร เพราะถามอะไรลูกความก็ทำหน้างงๆ --- คืองงอะไร ไม่เข้าใจ จะว่าภาษาไม่ดีก็ไม่ใช่ เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาเกิด ....... สรุปว่าเพราะเอเจนต์ไม่เคยอธิบายอะไรเลย ....และลูกความก็เกรงใจ ....... ไม่กล้าถาม!!!! .....เอกสารที่คนเขียนขอไป ตอนแรกก็ไม่มีให้ คือเกรงใจไม่กล้าขอจากเอเจนต์ จนคนเขียนต้องบอกว่าถ้าไม่มีเอกสารก็ไม่ต้องมา หมดปัญญาช่วย .... คือจะให้นั่งเทียนหรือไง ถามอะไรก็ตอบไม่ได้ ขออะไรก็ไม่มี

สรุปว่าเคสนี้

1. SBS ที่แนะนำให้ยื่นใหม่ ผ่านไปได้ด้วยดี
2. Nomination ไม่ผ่าน และตอนนี้เรื่องอยู่ที่ชั้นอุทธรณ์
3. วีซ่า 457 ก็แน่นอน..ไม่ผ่าน (เพราะ Nomination ไม่ผ่าน) และเรื่องอยู่ที่ชั้นอุทธรณ์เหมือนกัน (และเอเจนต์ก็ยื่นใบสมัครวีซ่าเลท คือหลังวันที่ 18 April 2017 ต่อให้ลูกความได้วีซ่า ก็เข้ากฏใหม่ อาชีพ STSOL ต่อยอดจาก 457 ไปพีอาร์ไม่ได้)

ที่หนักกว่านั้นคือเช็ค VEVO แล้วไปเจอว่าจากที่เคยถือ Bridging visa B (BVB) อยู่ กลายเป็นตอนนี้ไม่มีวีซ่า

..... สรุปว่าสองคนที่นั่งอยู่ตรงหน้าคนเขียนไม่มีวีซ่า!!!!!  แต่ต้องการยื่นพีอาร์ (แบบในประเทศออสเตรเลียด้วยนะ)

..... เอิ่ม......แก้ปัญหาสำคัญก่อนดีไหม ..... ทำไมอยู่ๆถึงไม่มีวีซ่า

เหมือนเดิมค่ะ ลูกความตอบไม่ได้ ตอบได้แต่ว่าหลังจากที่เช็ค VEVO เองแล้วเจอว่าไม่มีวีซ่า ก็รีบบอกเอเจนต์       เอเจนต์ก็รีบยื่นเรื่องขอ Bridging visa E (BVE) ให้   ตอนนี้คือกำลังรออิมมิเกรชั่นออก BVE ให้

คนเขียนก็ .... เอะ .... แล้วมันใช่เหรอ .... จากที่ถือ BVB อยู่ดีๆ ไปเป็นผีได้ยังไง????

..... คนทำงานด้านนี้ต้องถามคำถามนี้ซิคะ จะหลับหูหลับตายื่น BVE ให้ลูกความโดยไม่หาคำตอบได้ยังไง และประวัติลูกความก็เสียไปจากการอยู่แบบไม่ถือวีซ่า .... มันใช่เหรอ

ถ้ามันมีเหตุผลอันสมควร มีที่มาที่ไปทำให้กลายเป็นคนไม่มีวีซ่า ก็ต้องยอมรับสภาพ
แต่จากที่คนเขียนสัมภาษณ์ลูกความ และวิเคราะห์จากเอกสาร คนเขียนไม่เจอเหตุอะไรเลยที่อยู่ๆลูกความจะกลายเป็นผี ไม่มีวีซ่า คือค่อนข้างมั่นใจว่าต้องมีความผิดพลาดอะไรบางอย่างเกิดขึ้น และลูกความควรจะยังถือ BVB อยู่

แต่....เนื่องจากคนเขียนก็ไม่ใช่เอเจนต์ที่ดูแลลูกความ จะมาฟันธง รู้ดีไปกว่าเจ้าของเคสได้ยังไง (ใช่ไหม?)
คนเขียนเลยแนะนำให้ลูกความเป็นกบฏกับเอเจนต์!   เอ้ย....ไม่ใช่...
.... แนะนำให้ถามเอเจนต์ถึงเหตุผลที่มาที่ไปของการที่อยู่ๆลูกความไม่มีวีซ่า ถ้าหาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้ ก็ต้องไปสู้รบกับอิมมิเกรชั่นเอา BVB คืนมาให้ลูกความ ไม่ใช่ไปสมัคร BVE ให้ลูกความ (BVE คือวีซ่าตัวที่แย่ที่สุดในบรรดา BV ทั้งหมด ถ้าเรามีสิทธิ์ถือ BV ที่ดีกว่า ทำไมจะยอมถือ BVE - อ่านเรื่อง BV ต่างๆได้ที่นี่)

ลองนึกเล่นๆถึงสถานะของลูกความในกรณีที่ถือ BVB vs BVE ดูนะคะ

การกลับมาถือ BVE แน่นอนว่าเปลี่ยนสถานะจากผี เป็นมีวีซ่า .... สำหรับเอเจนต์เป็นทางออกที่ง่ายที่สุด ไม่ต้องคิด ไม่ต้องทำ Research ไม่ต้องไปนั่งทบทวนประวัติลูกความ ไม่ต้องไปง้างกับอิมมิเกรชั่น .... แต่ผลกระทบต่อลูกความตามมาแบบยาวๆ  เพราะตอนนี้ลูกความติด section 48 จากการถูกปฏิเสธวีซ่า 457 ทำให้ยื่นพีอาร์ในประเทศไม่ได้ จะออกไปยื่นพีอาร์แบบนอกประเทศแล้วกลับมารอเรื่องในประเทศก็ไม่ได้ เพราะ BVE ออกไปได้ กลับเข้ามาไม่ได้ ก็ต้องรอผลวีซ่าอยู่นอกประเทศเท่านั้น ลองนึกต่อว่าถ้าวีซ่าพีอาร์ไม่ผ่าน และต้องการจะขอวีซ่าชั่วคราวเพื่อกลับมา ก็คาดว่าจะติดบาร์ 3 ปี จากประวัติที่เคยอยู่แบบไม่มีวีซ่านั่นเอง)  ..... อีกทางเลือกนึง ก็คือต้องรอจน Nomination ที่ชั้นอุทธรณ์ผ่านและได้วีซ่า 457 ก่อนค่อยยื่นพีอาร์แบบในประเทศ ... แล้วถ้า Nomination ไม่ผ่าน ไม่ได้วีซ่า 457 ล่ะ (ย้อนกลับไปอ่านย่อหน้านี้อีกรอบค่ะ)

การกลับมาถือ BVB แน่นอนลูกความยังติด section 48 จากการถูกปฏิเสธวีซ่า 457 .... แต่ก็สามารถบินออกไปเพื่อยื่นพีอาร์แบบนอกประเทศและกลับมารอพีอาร์ในประเทศได้ในระหว่างที่รอผลอุทธรณ์ของ 457 .... ในกรณีที่วีซ่า 457 ไม่ผ่าน หรือวีซ่าพีอาร์ไม่ผ่าน .... ลูกความก็ยังมีสิทธิ์ยื่นขอวีซ่าชั่วคราวตัวอื่นเพื่อจะกลับเข้ามาในประเทศออสเตรเลียได้โดยไม่ติดบาร์ 3 ปี (เพราะไม่เคยมีประวัติเป็นผีมาก่อน)

โพสนี้แอดวานซ์นิดนึง อ่านแล้วงงก็ไม่แปลก ...... ถ้าอ่านแล้วเข้าใจหมดเลย ก็เก่งมากค่ะ แสดงว่าเข้าใจกฏหมายอิมมิเกรชั่นได้ดีระดับนึงเลยทีเดียว

สิ่งที่อยากจะบอกก็คือ การมีเอเจนต์หรือทนายความดูแลเคสให้เราเป็นเรื่องที่ดี แต่หัดตั้งคำถาม หัดวิเคราะห์เองด้วย ถ้าไม่แน่ใจในแนวทาง ก็หาความเห็นที่สองค่ะ ชีวิตเป็นของเรา เราต้องดูแลชีวิตและอนาคตของตัวเองด้วย

เคสนี้ ลูกความโทรมาขอบคุณที่อธิบายจนเค้าเข้าใจเคสตัวเองและฮึดไปไฟท์กับเอเจนต์ จนเอเจนต์ต้องถอน BVE application  และไฟท์กับอิมมิเกรชั่นจนได้ BVB คืนมาในที่สุด (ถือวีซ่าผิด  ชีวิตเปลี่ยนนะคะ)   ..... ส่วนวีซ่าพีอาร์ที่ลูกความต้องการยื่น เราก็หาทางจนได้ค่ะ (457 ต่อยอดไปพีอาร์ ...ไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกคน ...ไม่ง้อก็ได้)

.... รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม .... มีประโยชน์ โปรดแชร์ ....

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

แชร์ประสบการณ์ เคสอุทธรณ์ AAT Review application

11/7/2018

 
เมื่อสองสามวันมานี้ คนเขียนนั่งเตรียมเคส เตรียมลูกความสำหรับ AAT Hearing ในวันพรุ่งนี้

วีซ่าของน้องถูกปฏิเสธเพราะเอเจนต์เดิมไม่เข้าใจข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง และให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเข้าไปที่ชั้นอิมมิเกรชั่น (ด้วยความเข้าใจผิดในข้อกฏหมาย)

ตอนน้องติดต่อมา เราเริ่มด้วยการทำ Consultation (คือการให้คำปรึกษาเบื้องต้น) เพื่อที่คนเขียนจะได้อ่านคำ
ตัดสินของอิมมิเกรชั่น และสัมภาษณ์น้องเพื่อที่จะดูความเป็นไปได้ของเคส คือพยายามหาแนวทางแก้ไขเคส
เบื้องต้น ... ซึ่งจากการสัมภาษณ์น้อง คนเขียนเชื่อว่าเคสมีความเป็นไปได้สูง อยู่ที่ว่าเราจะพยายามนำเสนอให้ AAT เห็นตามเราได้ยังไง ในเมื่อ AAT ก็มีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องที่เอเจนต์ยื่นเข้าไปก่อนหน้านี้ที่ชั้นอิมมิเกรชั่น

เริ่มแรกเลย... คนเขียนก็พยายามอธิบายเคสให้น้องฟังว่ามันเป็นเคสที่มีความเป็นไปได้อยู่นะ แต่เนื่องจากว่าเคสนี้เกี่ยวข้องกับคอนเซ็ปทางข้อกฏหมายและการตีความทางกฏหมาย พยายามอธิบายให้ง่ายยังไง คนฟังก็ยังงงอยู่ดี คือเหมือนจะเข้าใจแต่เข้าใจไม่ทั้งหมด ก็ขนาดเอเจนต์เองยังไม่เข้าใจ คนเขียนก็ไม่คาดหวังว่าน้องจะเข้าใจเคสตัวเองได้อย่างถ่องแท้

ในเคสนี้ถึงแม้คนเขียนจะเชื่อว่าเคสมีความหวังสูงอยู่ ก็ไม่กล้าให้ความหวังน้องมาก เพราะการไป AAT ไม่ได้มีแค่การยื่นเอกสาร แต่มี Hearing ด้วย ซึ่งเจ้าตัวก็ต้องไปที่ AAT และถูกซักถามมากมาย บางคนก็ทำได้ดี บางคนก็ทำได้ไม่ดี บางคนเคสดีแต่สื่อสารได้ไม่ดี บางคนความจำเสื่อมขึ้นมากระทันหัน (คือสมองว่างเปล่าด้วยความตื่นเต้น)

เคสนี้น้องและคนเขียนอยู่คนละรัฐ แต่เราติดต่อกันเป็นระยะๆ น้องโทรถามโทรอัพเดทชีวิตให้ฟัง  เรามีการคุยกันเรื่องการเตรียมเอกสารเพื่อยื่นเพิ่มเติม และเรามีการยื่นเอกสารเพิ่มเติมล่วงหน้าก่อน Hearing รวมถึงข้อสรุปทางกฏหมายเพื่อจะช่วยเคสของน้องด้วย  (ป.ล.วิธีการทำงานและวางแผนเคสอุทธรณ์ในแต่ละเคสก็ไม่เหมือนกันนะคะ คนเขียนดูหน้างาน และก็มานั่งคิด นอนคิด ตีลังกาคิดว่าเราจะเดินเคสแต่ละเคสยังไง)

เมื่อวานและวันนี้เราอยู่ในระหว่างเตรียมน้องให้พร้อมไป Hearing .... ซึ่งในความเป็นจริง ไม่มีลูกความคนไหนพร้อมจริงๆ... ส่วนใหญ่ไม่เคยไป AAT มาก่อนและตื่นเต้น บวกกับความกังวลเรื่องภาษา (ซึ่งคนเขียนขอย้ำว่าขอล่ามได้นะคะ ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มด้วยค่ะ) 

เคสนี้เป็นเคสที่โชคดีมากค่ะ เนื่องจาก AAT เมื่อได้พิจารณาเอกสารและข้อโต้แย้งทางกฏหมายที่เรายื่นเข้าไปแล้ว ก็เห็นด้วยกับเรา คนเขียนก็ได้รับจดหมายวันนี้ว่า พรุ่งนี้ไม่ต้องมา Hearing แล้วนะ ไม่เกิน 2 อาทิตย์จะส่งคำตัดสิน (ที่เป็นบวก) มาให้ (เย้)

เคสของน้องเป็นเคสที่ต้องพิจารณาทั้งข้อเท็จจริงบวกกับข้อกฏหมายที่คนเขียนระบุไปทาง AAT ว่า ข้อมูลเดิมไม่ถูกต้อง ข้อมูลใหม่ถูกต้องและเข้าข้อกฏหมาย ซึ่งเคสที่ต้องพิจารณาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฏหมายแบบเคสนี้ มีน้อยมากที่ AAT จะตัดสินโดยไม่ต้องไป Hearing  ลูกความดีใจมาก (บวกกับงงๆว่าเกิดอะไรขึ้น) คนเขียนก็ดีใจมากเช่นกัน (เพราะลึกๆคนเขียนก็แอบห่วงอยู่ว่าน้องจะตอบได้ดีหรือไม่)

โดยส่วนใหญ่แล้ว เคสที่ AAT อาจจะตัดสินโดยไม่ต้องไป Hearing จะเป็นเคสที่ไม่ต้องลงไปพิจารณาข้อเท็จจริง แต่จะเป็นเคสประมาณลืมยื่นเอกสารบางอย่างที่ชั้นอิมมิเกรชั่น แต่มีมายื่นที่ชั้น AAT  เช่นผลภาษาอังกฤษ หลักฐานประกันสุขภาพ ใบตำรวจ เป็นต้น (ป.ล. ในบางเคสการลืมยื่นเอกสารประเภทนี้ที่ชั้นอิมมิเกรชั่น ก็ไม่ทำให้ชนะที่ชั้นอุทธรณ์นะคะ ขึ้นอยู่กับเคสแต่ละเคสค่ะ)

นี่คือเหตุผลที่คนเขียนต้องขอให้นัดทำคอนซัลก่อนที่จะพิจารณารับเคสอุทธรณ์นะคะ จะได้เข้าใจตรงกันว่าเป็นเคสที่น่าจะมีความหวังหรือไม่ (น้องบางคนอาจจะงงๆว่า ก็แค่อยากรู้ว่าจะรับทำรึเปล่าและค่าบริการเท่าไหร่)......สำหรับคนเขียน ถ้าไม่ได้อ่านคำตัดสิน ไม่ได้สัมภาษณ์หาข้อมูลเพิ่มเติม คนเขียนจะไม่รับทำเคส หลายๆเคสอ่านคำตัดสินเจอประเด็นนึง เมื่อรับงานมาและดูเอกสารกันลึกๆเจอประเด็นเพิ่มอีกหลายประเด็นเลยค่ะ อันนี้เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เมื่อรับงานมาแล้ว เราก็ดูแลกันไป

......... แถม.... อีกหนึ่งประสบการณ์เมื่อเร็วๆนี้...

เคสนี้น้องติดต่อมาว่าจะทำยังไงดี วีซ่าถูกปฏิเสธ น้องยื่นอุทธรณ์ด้วยตัวเองไปแล้ว แต่ไปทำอีท่าไหนไม่รู้ไม่ได้จ่ายเงินค่าอุทธรณ์ให้ AAT

เมื่อเรานัดคอนซัลและดูเอกสารที่น้องส่งมา .... คนเขียนคาดว่าน้อง Tick ผิดช่องทำให้ใบสมัครของน้องแทนที่จะเป็น Migration review application กลายเป็น Refugee review application ซึ่งทำให้น้องยื่นใบสมัครได้โดยไม่ต้องชำระเงิน (ไม่ต้องลองนะคะ มันไม่ใช่เทคนิคการประหยัดเงิน แต่มันเป็นความผิดพลาดที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น - อ่านต่อไปจะเข้าใจค่ะ)

เคส Migration review application ยังไงก็ต้องมีการชำระเงินก่อนที่ระบบออนไลน์จะรับเรื่องค่ะ

เคสนี้น้องยื่นเอง นอกจาก Tick ผิดช่องทำให้ยื่น Migration review application โดยไม่ต้องชำระเงินแล้ว มีการกรอกแบบฟอร์มผิดอีกตังหาก แต่ AAT ก็ใจดียอมรับเรื่องกรอกแบบฟอร์มผิด ส่งจดหมายมาขอให้ชำระเงินค่าอุทธรณ์เท่านั้นเอง

แล้วปัญหามันอยู่ตรงไหน????

ปัญหามันอยู่ที่การยื่นอุทธรณ์ประเภทที่มีค่ายื่นอุทธรณ์ จะต้องมีทั้งการยื่นใบสมัครและมีการชำระเงินด้วย และทั้งสองอย่างนี้จะต้องเกิดขึ้นภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการยื่นอุทธรณ์ ในเคสนี้คือ 21 วันนับจากได้รับแจ้งว่าถูกปฏิเสธวีซ่า

น้องยื่นใบสมัครอุทธรณ์ทันเวลา (แบบไม่จ่ายตังค์)   AAT ส่งจดหมายแจ้งให้น้องจ่ายตังค์ ซึ่งโชคดีที่ยังเหลือเวลาอีก 1 วันครึ่ง ให้น้องจ่ายตังค์ได้ทันเวลา  ปัญหาคือน้องไม่ได้จ่ายตังค์ใน 1 วันครึ่งที่เหลืออยู่นี่ซิคะ ตอนที่ติดต่อมาหาคนเขียนนี่คือเลยระยะเวลา 21 วันตามที่กฏหมายกำหนดไปเรียบร้อยแล้ว

น้องบอกว่าน้องมีเหตุผล ระบบอีเมล์ของน้องไม่ดี กว่าอีเมล์จะเด้งขึ้นมาให้น้องเห็น ก็เลยเวลา 21 วันไปแล้ว (ถ้าเราให้อีเมล์เป็นช่องทางการติดต่อ เราต้องมั่นใจว่าเราจะเช็คอีเมล์และระบบอีเมล์ของเราดีนะคะ ไม่อย่างงั้นน้องอาจจะเจอประสบการณ์คล้ายๆกับน้องคนนี้) ในเคสนี้ น้องอาจจะลองทำคำอธิบายเข้าไปที่ AAT ว่าทำไมถึงชำระค่ายื่นอุทธรณ์ไม่ทันเวลา แต่คนเขียนคิดว่ามีเปอร์เซ็นต์น้อยมากที่ AAT จะยอมรับเคสนี้ไว้พิจารณา แนวทางการตัดสินของ AAT ในกรณีแบบนี้คือ No Jurisdiction (AAT ไม่มีอำนาจในการพิจารณาเคสของน้องแล้ว) เพราะถือว่าเป็นการยื่นอุทธรณ์ Out of time (เลยเวลาที่อนุญาตให้ยื่นอุทธรณ์) แต่เนื่องจากว่าน้องไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ไม่ลองไม่รู้ ถ้าลองเขียนคำอธิบายเข้าไป น้องอาจจะโชคดี AAT เห็นใจ แต่ถ้า AAT ไม่เห็นใจ ก็เป็นอะไรที่คาดไว้อยู่แล้ว

เคสนี้ วีซ่าที่น้องยื่นอุทธรณ์ไม่ทันเป็นวีซ่าพีอาร์ด้วยค่ะ ซึ่งน่าเสียดายมาก และเนื่องจากน้องถูกปฏิเสธวีซ่าและตอนนี้ก็ถือ Bridging visa น้องก็ติด section 48 บาร์ คาดว่าเคสนี้น้องจะต้องกลับไปยื่นวีซ่าตัวใหม่จากไทยค่ะ

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

Protection visa

23/8/2017

 
วีซ่าผู้ลี้ภัย (Protection visa) เป็นอีกวีซ่านึงที่น้องๆโทรถามอยู่เรื่อยๆ ส่วนใหญ่ถามว่ารับทำไหม และค่าใช้จ่ายเท่าไหร่  แปลกใจที่ไม่มีใครถามว่าตัวเองเข้าข่ายมีโอกาสที่จะได้วีซ่าตัวนี้หรือไม่

คนเขียนสงสัยว่าน้องๆไปเอาความคิดที่จะขอ Protection visa มาจากไหน น้องที่โทรมาส่วนใหญ่จะฟันธงมาเลยว่าต้องการให้ทำ Protection visa ไม่ถามด้วยว่าตัวเองมีทางเลือกอื่นหรือไม่

วีซ่าตัวนี้มีไว้สำหรับคนที่ไม่สามารถกลับไปประเทศของตัวเองได้ เพราะเหตุผลตามลิงค์นี้ เช่นในบางประเทศไม่ยอมรับคนที่รักชอบเพศเดียวกัน คนที่นับถือศาสนาหรือลัทธิย่อย หรือชนกลุ่มน้อย หรือในบางประเทศก็มีกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมือง จนเป็นเหตุให้มีความกลัวว่าจะถูกทำร้ายหรือจะถูกฆ่าตาย โดยที่กฏหมาย
ผู้รักษากฏหมายและรัฐบาลไม่สามารถปกป้องคุ้มครองเค้าได้ หรือไม่สนใจที่จะคุ้มครอง หรือคุ้มครองไปตามพิธีแต่ไม่ให้ความเป็นธรรม นอกจากนี้ยังต้องมาดูว่าการย้ายไปอยู่พื้นที่อื่นจะทำให้ปัญหาความกลัวว่าจะถูกทำร้ายและ
ไม่ได้รับความเป็นธรรมหมดไปหรือไม่ 

คนไทยแทบจะไม่มีเหตุที่เข้าข่ายว่าจะได้ Protection visa เลย (ใช้คำว่าแทบจะ เพราะบางเคสก็มีความเป็นไปได้ และก็เคยมีคนไทยได้ Protection visa มาแล้ว... แต่น้อยมากๆ) เคสที่ดูเหมือนจะเข้าข่าย ก็ยังไม่ทราบเลยว่าจะได้วีซ่ามารึเปล่าขึ้นอยู่กับน้ำหนักพยานหลักฐานและความน่าเชื่อถือ

เคสประมาณยืมเงินแล้วหนีหนี้มาออสเตรเลียเพราะถูกเจ้าหนี้ทวงหรือจะถูกฟ้องศาล ไปก่อคดีอาญามาและกำลังจะถูกจับ อยู่เมืองไทยตกงานเลยอยากมาอยู่ออสเตรเลียเพราะหางานทำง่าย ไม่ใช่สาเหตุที่ออสเตรเลียจะออก Protection visa ให้นะคะ 

เวลาน้องๆโทรมา คนเขียนจะถามว่าเหตุผลที่ต้องการขอ Protection visa คืออะไร กลัวอะไรที่ทำให้กลับประเทศไทยไม่ได้ คำตอบที่ได้คือไม่มีค่ะ เห็นเพื่อนๆขอกัน เห็นได้อยู่ต่อ เห็นได้ทำงาน เห็นทนาย/เอเจนต์บอกว่าเดี๋ยววีซ่าออกก็จะได้พีอาร์เลย เห็นว่าทำง่ายใครๆก็ทำกัน (สงสัยว่า "ใครๆ" ที่ว่านี่ มีใครได้ Protection visa กันบ้าง)

สำหรับน้องๆที่ยังถือวีซ่าอยู่ เช่นวีซ่าท่องเที่ยว วีซ่านักเรียน วีซ่า 457 ขอร้องว่าอย่าตัดอนาคตตัวเองด้วยการยื่น Protection visa ถ้าตัวเองไม่มีเหตุแห่งความกลัวตามลิงค์  ....ถ้าจำเป็นจะต้องยื่นวีซ่าอะไรซักอย่างเพื่ออยู่ต่อ ก็ควรจะยื่นวีซ่าที่ตัวเองอาจจะมีสิทธิ์ได้วีซ่านั้น (ไม่ว่าจะที่ชั้นอิมมิเกรชั่น หรือที่ชั้นอุทธรณ์) จะดีกว่า

ปกติแล้วคนเขียนไม่รับทำ Protection visa นะคะ .... ใช้คำว่าปกติ เพราะก็มีกรณีไม่ปกติที่คนเขียนอาจจะพิจารณารับทำอยู่บ้าง... ซึ่งน้อยมาก (ตั้งแต่ทำงานด้านนี้มา มีไม่ถึง 10 เคส และมีอยู่เคสเดียวในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา) เคสที่รับทำก็จะเป็นเคสที่ไม่มีทางเลือกอื่น (นอกจากการกลับออกไปและอาจจะไม่ได้กลับเข้ามา) และที่ทำก็เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกความได้ไปต่อในการพิจารณาชั้นอื่น ที่อาจจะทำให้ได้วีซ่าไม่ว่าจะวีซ่าชั่วคราวหรือวีซ่าถาวร (ใช้คำว่า "อาจจะ" เพราะผลลัพท์จริงๆ จะได้หรือไม่ได้วีซ่า จะได้วีซ่าชั่วคราวหรือวีซ่าถาวร วีซ่าที่ได้จะมีเงื่อนไขอะไร หรือจะต้องแพ็คกระเป๋ากลับไทยในที่สุด ไม่มีใครตอบได้ ... ซึ่งลูกความก็ต้องยอมรับความเสี่ยงและผลลัพธ์ที่อาจจะไม่ใช่อย่างใจคิดให้ได้ ก่อนที่จะเริ่มงานกัน)

ชักงงรึเปล่า ประโยคนึงบอกว่าการยื่น Protection visa เป็นการตัดอนาคต อีกประโยคบอกว่าเป็นการเปิดโอกาส

สรุปดีกว่า.... เคส Protection visa ของคนไทยส่วนใหญ่เป็นเคสที่จะไม่ประสบความสำเร็จ เป็นการชะลอเวลากลับบ้าน และเมื่อถูกปฏิเสธก็คาดว่าจะติด section 48 บาร์ ซึ่งอาจจะทำให้ไม่สามารถยื่นวีซ่าแบบในประเทศตัวอื่นที่อาจจะมีสิทธิ์ยื่นได้ในอนาคต เคสที่ปั้นเรื่องขึ้นมาก็อาจจะถูกปฏิเสธพร้อมติดบาร์ 3 ปีจาก Public Interest Criterion 4020 ..... ถ้าทราบอยู่แล้วว่าผลลัพธ์จะเป็นประมาณนี้ แล้วยังอยากจะทำ Protection visa ก็ไม่มีใครห้ามได้ (แต่คนเขียนไม่รับทำ)  ถ้าไม่ทราบเพราะถูกหลอกว่าทำได้ง่ายๆและในที่สุดจะได้พีอาร์ ก็ทราบซะนะคะว่าตัวเองถูกหลอก (เคส Protection visa ของคนไทยที่เข้าข่ายจะได้วีซ่า คนเขียนคิดว่ามีไม่ถึง 1%)
..... มีน้องๆมาบอกว่าเห็นเพื่อนๆ คนรู้จักทำกับนายหน้าบ้าง เอเจนต์บ้าง บางคนทำกับทนายความด้วย เสียเงินเป็นหมื่นเหรียญและเค้าสัญญาว่าจะได้พีอาร์ พอถามว่าแล้วตกลงเพื่อนได้พีอาร์รึเปล่า น้องบอกยังไม่เห็นมีใครได้เลย บางคนแพ็คกระเป๋ากลับบ้านไปแล้ว.... อ้าว... รู้อย่างนี้แล้ว จะมาถามหา อยากทำ Protection visa เพื่ออะไร..... ถ้าจะเสียเงินเป็นหมื่นเหรียญ เอาเงินนี้ไปเสียกับการทำวีซ่าที่ตัวเองมีสิทธิ์ลุ้นดีกว่าไหมคะ

เคสที่คนเขียนอาจจะพิจารณารับทำคือเคสที่ไม่มีทางเลือกอื่นที่เหมาะสมกว่านอกจากการยื่น Protection visa และมีเหตุผลที่น่าเห็นใจที่เข้าข่ายว่าอาจจะมีโอกาสได้วีซ่า ณ จุดใดจุดหนึ่งในกระบวนการทางด้านคนเข้าเมืองซึ่งก็ไม่ได้มีแค่การยื่นวีซ่าและการยื่นอุทธรณ์เท่านั้น (ซึ่งเหตุผลน่าเห็นใจ ก็อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเหตุผลทาง Protection visa เลย แต่ต้องน่าเห็นใจจริงๆ)  และเคสประมาณนี้เราดูแลกันเป็นปีหรือหลายปี เพราะเคสจะไม่ได้จบแค่การยื่น Protection visa นะคะ

ปล. "เข้าข่ายว่าอาจจะมีโอกาสได้วีซ่า" แปลว่ามีความเป็นไปได้ มีความน่าจะเป็น โดยพิจารณาจากเทรนการตัดสิน และนโยบายของรัฐบาลหรือรัฐมนตรีว่าการคนเข้าเมืองในช่วงเวลานั้นๆ ไม่ได้แปลว่าจะได้วีซ่าแน่ๆ นะคะ เพราะไม่ว่าจะรัฐบาล รัฐมนตรี หรือนโยบาย ก็มีการเปลี่ยนแปลงได้ ... ถึงได้บอกว่าไม่ว่าใครก็รับประกันความสำเร็จของงานไม่ได้...

ไม่ได้บอกว่าคนไทยไม่มีสิทธิ์ได้ Protection visa แค่บอกว่าโอกาสได้ยากมาก
ไม่ได้บอกว่าคนเขียนไม่รับทำ Protection visa อ่านเงื่อนไขก็จะทราบว่าคนเขียนรับทำ (น้อยมาก)

ลิงค์จาก: www.border.gov.au

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

เมื่อวีซ่านักเรียนถูก Cancelled - student visa cancellation

8/3/2014

 
คงไม่มีใครอยากถูกยกเลิกวีซ่าหรอกนะคะ ทางที่ดีที่สุดคือตั้งใจเรียน ทำattendance ให้ครบตามจำนวนที่กำหนด สอบให้ผ่าน เพื่อที่จะได้ไม่เกิดปัญหา -- สรุปว่าปฏิบัติตามกฏ กติกา แล้วชีวีตจะปลอดภัย และอยู่ในออสเตรเลียได้อย่างมีความสุข

ในกรณีที่ปัญหาเกิดขึ้นแล้ว วีซ่านักเรียนได้ถูกยกเลิกไปเรียบร้อย ก็ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องพยายามแก้ปัญหากันไป คนเขียนมีอดีตนักเรียนหลายคนที่ติดต่อเข้ามาเพราะวีซ่านักเรียนถูกยกเลิก บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองอยู่แบบไม่มีวีซ่ามาเป็นปี ที่ติดต่อคนเขียนก็เพราะต้องการทำวีซ่าตัวอื่นเช่น วีซ่าคู่ครอง หรือวีซ่า 457 และก็ได้รู้ตอนที่เข้ามาคุยกับคนเขียนนั่นเองว่าตัวเองเป็นผี (แบบไม่รู้ตัวว่าเป็นผี) มานานมาก โชคดีที่ไม่ถูกจับ ส่งตัวกลับเมืองไทย

กรณีที่เห็นบ่อยก็เช่น เปลี่ยนที่อยู่ และ/หรือ อีเมล์ แต่ไม่ได้แจ้งให้ทางโรงเรียนและอิมทราบ ผลก็คือไม่ได้รับจดหมาย หรือ Notification ที่ทางโรงเรียน หรืออิมส่งมา และวีซ่าก็ถูกยกเลิกในที่สุด  ในกรณีที่ถือวีซ่าติดตามแฟน หากวีซ่าหลักถูกยกเลิก วีซ่าของคนที่ติดตามก็จะถูกยกเลิกตามไปด้วย

สำหรับอดีตนักเรียนหมาดๆ ที่วีซ่าเพิ่งจะถูกยกเลิกไป เราต้องคิดเร็ว และทำเร็วค่ะ เพราะต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ถือว่าได้รับ Notification ตามกฏหมาย
   
คนเขียนเสียดายแทนน้องหลายๆคน ที่ปล่อยให้ตัวเองพลาดอุทธรณ์ -- ในหลายๆเคส แม้เจ้าตัวจะคิดว่าไม่มีหวัง เมื่อเข้ามาคุยกัน ให้คนเขียนสัมภาษณ์แบบเจาะลึก บางเคสต้องบอกว่ามีโอกาสมากที่จะได้วีซ่าคืน เพราะฉะนั้นอย่าเสียโอกาสค่ะ  บางเคสก็เป็นเพียงแค่การชลอเวลากลับเมืองไทย สิ่งที่อยากจะบอกก็คือ อย่าเพิ่งถอดใจค่ะ และควรขอคำแนะนำจาก Professional โดยเร็วที่สุด

มีน้องบางคนบอกว่าไปปรึกษา Migration Agent แล้ว แต่ Agent บอกว่าเคสไม่มีหวัง เลยไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ คนเขียนอยากจะเปรียบเทียบการใช้บริการด้านนี้กับการไปหาหมอ อะไรที่สำคัญกับชีวิตและอนาคต ก็ควรมี Second opinion หรือ Third opinion เพราะหมอแต่ละคนก็มีความเห็น มุมมอง และวิธีการรักษาแตกต่างกันไป ไม่ต่างจาก Immigration Lawyer หรือ Migration Agent หรอกค่ะ  คนที่บอกว่าหมดหวัง เค้าอาจจะคิดแบบนั้นจริงๆ จะด้วยประสบการณ์ที่แตกต่าง มุมมองเฉพาะตัว หรืออาจจะไม่ได้สัมภาษณ์กันแบบเจาะลึก หลายๆครั้งเมื่อลงลึกในแต่ละเคส จากที่เหมือนจะไม่มีทางออกและหมดหวัง กลับกลายเป็นพอมีความหวัง แน่นอนว่าคงไม่มี Professional คนไหนรับประกันได้ว่าน้องจะได้วีซ่าคืนแน่ๆ แต่เมื่อมีความหวัง และยังอยากจะอยู่ที่นี่ต่อ ก็ต้องลุยไปข้างหน้า - ยื่นอุทธรณ์ (หรือไม่ก็แพ็คกระเป๋าเตรียมกลับบ้าน) 

Visa Cancellation ในความเห็นของคนเขียนถือเป็น Complex case คือเคสที่มีความซับซ้อน เนื่องจากว่าเมื่อวีซ่าถูกยกเลิกแล้ว ผลกระทบที่ตามมาก็คือ Section 48 Bar (คืออะไร?? อ่านได้ ที่นี่ ค่ะ) ยังไม่หมดค่ะ ยังถูก Bar ไม่ให้สมัครวีซ่าอีกหลายๆชนิด (รวมถึงวีซ่า 457) ในระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วีซ่าถูกยกเลิกด้วย ไม่ว่าจะยื่นใน หรือนอกประเทศออสเตรเลีย ในบางเคสก็อาจจะถูก Bar ด้วยกฏตัวอื่นๆเพิ่มขึ้นมาอีก

เห็นมั๊ยคะว่าเคสวีซ่า Cancellation นั้นไม่ง่ายเลย ยื่นอุทธรณ์ไปแล้วก็ไม่ควรปล่อยเลยตามเลย แต่ควรมีการวางแผนการใช้ชีวิตระหว่างรอ เพื่อที่จะทำให้เคสของเรามีความหวังมากที่สุด และมองหา Backup plan แต่ละเคส Backup plan ไม่เหมือนกันค่ะ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เฉพาะตัวของเคสนั้นๆ

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

Section 48 Bar คืออะไร

31/7/2013

 
คนเขียนกำลังมองหาทางออกให้น้องคนนึง ซึ่งอยู่เป็นผีมาหลายปี ซึ่งต้องลงไปดูหลายข้อกฏหมาย เลยนึกขึ้นได้ว่ายังไม่ได้ post เรื่อง Section 48 bar ที่สัญญาไว้เมื่อวันที่ 19/07/13

แล้วตกลง Section 48 Bar มันคืออะไร และสำคัญอย่างไร

Section 48 หรือมาตรา 48 ของกฏหมายคนเข้าเมือง เขียนไว้ว่า
คนที่ไม่ได้ถือ Substantive visa (ซึ่งก็คือวีซ่าทั้งหลาย ที่ไม่ใช่ Bridging visa) และนับจากที่เข้ามาในประเทศออสเตรเลียครั้งล่าสุด หากได้ถูกปฏิเสธ หรือยกเลิกวีซ่า คนเหล่านี้ไม่สามารถต่อวีซ่าในประเทศออสเตรเลียได้ ยกเว้นวีซ่าบางประเภทเท่านั้น

ป.ล. ถูกปฏิเสธ กับถูกยกเลิกวีซ่า ความหมายต่างกันนะคะ อ่านได้ที่ post แรก 14/06/13 ค่ะ

ในความเห็นคนเขียนนะคะ การปล่อยให้วีซ่าถูกปฏิเสธ หรือถูกยกเลิก โดยที่ไม่คิดให้ถี่ถ้วน หรือพยายามหาทางออกอื่น (ถ้ามี) ไม่ใช่เรื่องที่ดีเลยค่ะ เพราะท้ายที่สุดแล้วเจ้าตัวอาจจะได้รับผลกระทบของมาตรา 48 ไม่สามารถยื่นวีซ่าในประเทศออสเตรเลียได้

ก็ยื่นนอกประเทศสิ ไม่เห็นมีปัญหา???

อาจจะมี หรือไม่มีปัญหา ตอบไม่ได้ค่ะ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละเคส ขึ้นอยู่กับความจำเป็น และความอยากที่จะกลับเข้ามาอยู่ในประเทศออสเตรเลีย  ปัญหาที่เห็นคือ
1.     วีซ่าบางประเภทหากยื่นนอกประเทศแล้วไม่ผ่าน ผู้ยื่นไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ยกเว้นว่าจะมีความผิดพลาดทางข้อกฏหมายเกิดขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายก็จะสูง  ในขณะที่วีซ่าประเภทเดียวกัน หากยื่นในประเทศออสเตรเลีย แล้วถูกปฏิเสธจะมีสิทธิอุทธรณ์ (แต่ถ้าถูก Section 48 Bar ซะแล้ว ก็ไม่สามารถยื่นได้  ถูกมั๊ยคะ)
2.     วีซ่าบางประเภทแม้จะยื่นนอกประเทศ แล้วไม่ผ่านก็มีสิทธิอุทธรณ์ แต่การอุทธรณ์ส่วนใหญ่ใช้เวลานานค่ะ 12-15 เดือน ซึ่งผู้อุทธรณ์ส่วนใหญ่ก็จะไม่สามารถขอวีซ่ากลับเข้ามาในประเทศออสเตรเลียได้ในระหว่างอุทธรณ์

เพราะฉนั้น หากท่านใดอยู่ในระหว่างอิมพิจารณาเคส และก่ำกึ่ง ว่าจะติด Section 48 Bar ซึ่งที่ทำได้คือ ขอรับคำแนะนำที่ถูกต้องแต่เนิ่นๆค่ะ เพื่อจะได้มีเวลาวางแผนงาน โดยเฉพาะคนที่อยากเป็น PR บางครั้้งเราต้องมองยาว และวางแผนไกลๆค่ะ บางเคสอาจจะไม่มีทางเลือก ยังไงก็ต้องติด Section 48 Bar ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น เราก็ต้องมาแก้ปัญหากันไปหลังติดมาตรา 48 จะมีทางออกยังไง อันนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์รายบุคคลนะคะ

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

    Author


    พี่เก๋ - กนกวรรณ ศุโภทยาน เป็นทนายความไทย และทนายความของประเทศออสเตรเลีย (Immigration Lawyer)

    มีประสบการณ์เป็นทนายความเฉพาะทาง ด้าน IMMIGRATION ของประเทศออสเตรเลีย รับวางแผนการขอวีซ่า ยื่นใบสมัครขอวีซ่าทุกประเภท ช่วยเหลือในชั้นอุทธรณ์ที่ Administrative Appeals Tribunal และในชั้นศาลค่ะ

    ต้องการคำแนะนำ หรือความช่วยเหลือ ติดต่อได้ที่ Immigration Success Australia
    mb: 0428 191 889 หรือ www.immigrationsuccessaustralia.com

    Archives

    July 2021
    June 2021
    March 2021
    February 2021
    January 2021
    December 2020
    November 2020
    October 2020
    September 2020
    July 2020
    June 2020
    May 2020
    April 2020
    March 2020
    February 2020
    March 2019
    January 2019
    November 2018
    October 2018
    August 2018
    July 2018
    June 2018
    April 2018
    October 2017
    September 2017
    August 2017
    May 2017
    April 2017
    August 2015
    April 2015
    December 2014
    September 2014
    August 2014
    June 2014
    March 2014
    January 2014
    October 2013
    September 2013
    July 2013
    June 2013

    Categories

    All
    วีซ่า
    อุทธรณ์
    วีซ่าคู่ครอง
    101
    102
    103
    143
    173
    186
    187
    190
    300
    309
    4020
    408
    445
    457
    462
    476
    482
    485
    489
    491
    500
    870
    AAT
    Accountant
    Administrative Appeals Tribunal
    Adoption Visa
    Approved Nomination
    Australia
    Australian
    Australian Citizenship
    Australian Immigration
    Bar
    Bricklayer
    Bridging Visa
    Bridging Visa A
    Bridging Visa E
    BVA
    BVE
    Changes To Immigration Law
    Changing Courses
    Chef
    Child Visa
    Consolidated Sponsored Occupations List
    COVID 19
    COVID-19
    CSOL
    Decision Ready
    Decision-ready
    Decision Ready Application
    Decision-ready Application
    De Facto Relationship
    Employer Sponsored
    English Exemption
    ENS
    Exercise Physiologist
    Family
    Family Violence
    Federal Circuit Court
    Graduate Work
    GTE
    Hydrogeologist
    Ielts
    Immigration
    Immigration Lawyer
    Judicial Review
    Jurisdictional Error
    Migration Agent
    Migration Review Tribunal
    MRT
    Nomination
    Orphan Relative Visa
    Overstay
    Parent
    Partner Visa
    PIC 4020
    Post Study Work
    Processing Period
    Protection Visa
    Public Interest Criteria
    Public Interest Criterion
    Regional Australia
    Regional Visas
    Registered Migration Agent
    Rma
    RSMS
    Section 48
    Section 48 Bar
    Self Sponsorship
    Skilled Migration
    Skilled Occupations List
    Skilled Work Regional
    Skills Assessment
    SOL
    Sponsor
    Sponsorship
    Student Visa
    Substantive Visa
    Training
    Tsmit
    Unlawful
    Visa Cancellation
    Visa Refusal
    Wall And Floor Tiler
    Working And Holiday Visa

    RSS Feed

Powered by Create your own unique website with customizable templates.