visa blog : สำหรับคนไทยค่ะ
  • Home
  • Blog

แชร์ประสบการณ์เคส 482 ไม่ลองไม่รู้

9/2/2025

 
รายละเอียดเคสมีอยู่ว่า

1. น้องลูกความอยู่ไทย มีนายจ้างอยากสปอนเซอร์ไปทำงาน

2. มีประสบการณ์ครบตามเงื่อนไขของวีซ่า

3. เคยมาออสเตรเลีย และมีประวัติอยู่เกินวีซ่าไปหลายปี (ย้ำหลายปี ไม่ใช่หลายวัน) พอกลับไทยก็แน่นอน .... ติดบาร์ 3 ปี

4. ตอนที่ติดต่อมา บาร์ 3 ปี หมดอายุไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ..... แต่ ... ประวัติอยู่เกินวีซ่าไม่ได้หายไปนะคะ

         Q: แปลว่าอะไร ?? .
         A: แปลว่าถึงอิมมิเกรชั่นจะปฏิเสธวีซ่าด้วยประเด็นติดบาร์ไม่ได้แล้ว ... ถ้าประวัติไม่ดี และวีซ่าตัวที่จะยื่นเปิดช่องให้ใช้ประเด็นอื่นมาปฏิเสธได้ อิมมิเกรชั่นก็อาจจะทำ ..... เพราะฉะนั้น ใครที่คิดว่าจะมาออสเตรเลีย แล้วมาหนีวีซ่าเอาที่นี่ คิดให้ดีๆ


5. เคสนี้เป็นวีซ่า 482 กฏเก่า อาชีพอยู่ใน STSOL (short term list) ซึ่งประเด็นนึงที่อิมมิเกรชั่นจะพิจารณาคือน้องมีความตั้งใจที่จะขอวีซ่าเพื่ออยู่ชั่วคราวหรือไม่ ..... ประวัติที่น้องอยู่เกินวีซ่าซะหลายปี ไม่ได้ทำให้การพิจารณาประเด็นนี้ง่ายขึ้น

คนเขียนบอกน้องว่ามีนายจ้างอยากสปอนเซอร์ มีประสบการณ์ครบตามกฏหมายกำหนดเป็นเรื่องที่ดี แต่เคสนี้ยาก เพราะประวัติอยู่เกินวีซ่า ทำได้อย่างเดียวคือลอง ไม่ลองไม่รู้ แต่เป็นการลองที่จะเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก คนเขียนมีแนวทางในหัวสำหรับเคสนี้ แต่เราไม่รู้ว่าท้ายที่สุดผลจะเป็นยังไง และโอกาสเคสจะไม่ผ่านมีจริง คือต้องรับได้ว่าอาจจะเสียเงินมากมาย และไม่ได้วีซ่า ..... น้องเข้าใจความเสี่ยง ตัดสินใจลอง

แค่เคยมีประวัติอยู่เกินวีซ่าก็ยากอยู่แล้ว ปรากฏว่าประสบการณ์ที่บอกว่ามีครบ เป็นการทำงานแบบรับเงินสดทั้งหมด โอ๊ยปวดหัว เท่านั้นไม่พอ จากที่ตอนแรกบอกว่าไม่เคยมีประวัติคดีอาญา ปรากฏว่ามี นี่ยังไม่นับปัญหาจิปาถะอื่นๆที่ต้องแก้ไขกันก่อนการยื่น

อย่างที่บอก คนเขียนมีคิดแนวทาง (คร่าวๆ) ไว้แล้วว่าจะทำเคสนี้ยังไง .... แต่พอจะเอาแนวทางที่ว่ามาปรับใช้จริงๆ  บวกกับประเด็นอื่นที่เพิ่มเข้ามาระหว่างทาง ชีวิตไม่ง่ายเลย .... ใครบ้างคิดว่าคนเขียนต้องทำจดหมายชวนเชื่อให้เคสนี้หลายหน้ากระดาษ (ตอนแรกคนเขียนก็คิดไว้แบบนั้นแหละ) แต่ไอเดียบรรเจิด กับงานจบก่อนยื่น ไม่จำเป็นต้องตรงกันเสมอไป .... สุดท้ายคนเขียนตัดสินจบด้วยเอกสารอธิบาย 1 หน้ากระดาษ สั้น กระชับได้ใจความ ..... เคสนี้จบไปด้วยดี น้องลูกความได้วีซ่า ไม่มีการขอเอกสารหรือขอคำอธิบายอะไรเพิ่ม ..... บอกน้องแล้วว่า ไม่ลองไม่รู้ .....


ป.ล. ในช่วง 6 เดือนที่ห่างหายไป คนเขียนต้องแก้ประเด็นประวัติวีซ่าให้น้องๆหลายเคสเลย คือจะบอกว่าประวัติไม่ดีมันติดตัว และมันติดจริงๆ ไม่ได้ล้อเล่น .... บางเคส อิมมิเกรชั่นก็มองเคสเราในแง่ลบแล้ว เพราะประวัติอันไม่โสภาของเรานั่นเองค่ะ ..... ไม่ใช่ทุกเคสที่จบได้ด้วยจดหมาย 1 หน้ากระดาษ และไม่ใช่ทุกเคสที่จบโดยไม่มีการขอเอกสารเพิ่ม เคสแบบนี้ใช้เวลาการทำงานเยอะ ค่าใช้จ่ายสูง ความเสี่ยงสูง .... พยายามทำตามกฏหมาย และเงื่อนไขของวีซ่านะคะ ชีวิตจะได้ง่ายๆ


Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com


แชร์ประสบการณ์ เคส 482 ที่เกือบจะไม่ได้ทำ

25/4/2024

 
เคสนี้ลูกจ้างนัดปรึกษาเมื่อปลายปี 2023 ถือ Work and Holiday visa ต้องการทำวีซ่า 482 กับนายจ้างคนปัจจุบัน

สรุปได้ว่า


  • วีซ่าจะหมดเดือนมีนาคม 2024 และจะต่อวีซ่านี้อีกไม่ได้แล้ว
  • นับนิ้วดู ..... มีเวลาตั้ง 4 เดือน (สบายๆ) ......
  • สัมภาษณ์ประเด็นอื่นต่อ ...... เริ่มไม่สบายแล้ว
  • วีซ่าตัวปัจจุบัน ให้ทำงานกับนายจ้างได้แค่ 6 เดือน และธันวาคมนี้จะครบ 6 เดือน .... เหลือเวลา 1 เดือน !!!
    • ถ้าจะทำงานกับนายจ้างต่อ ก็ต้องยื่น 482 ภายในธันวาคม (จากนั้นก็ action สเต็ปอื่นต่อ และรอลุ้น)
    • ถ้าจะไม่ยื่นเดือนธันวาคม ต้องหานายจ้างคนใหม่
  • ความยากที่ 1 - อาชีพที่จะสปอนเซอร์ Customer Service Manager มีโอกาสถูกปฏิเสธสูงมาก (แปลว่าถ้าไม่จำเป็น ไม่อยากแตะอาชีพนี้)  และถ้า Nomination ไม่ผ่าน วีซ่าก็ไม่ผ่าน
  • ความยากที่ 2 - ลูกความมีประสบการณ์ไม่ถึง 2 ปี
    • ถ้ายื่นเดือนธันวาคม 2023 คนเขียนว่าโอกาสไม่รอดสูง (แปลว่าไม่แนะนำให้ยื่นตอนนี้)
    • ถ้ายื่นก่อนวีซ่าหมดเดือนมีนาคม 2024 คนเขียนว่า 50/50 เพราะประสบการณ์ก็ยังห่างไกล 2 ปีไปมาก แต่ก็ให้คำแนะนำลูกความว่าควรจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์กับเคสบ้างในเวลา 4 เดือนนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ตัวเอง และก็จะทำให้คนเขียนร่างจดหมายสนับสนุนเคสได้มีน้ำหนักมากขึ้นด้วย ... เพราะประสบการณ์ตรงมีไม่ถึง 3 เดือน ที่เหลือเป็นประสบการณ์ที่คนเขียนต้องทำโฆษณาชวนเชื่อขั้นสูงสุด .... ถ้าชวนแล้ว แต่อิมมิเกรชั่นไม่เชื่อ ก็จะถูกปฏิเสธวีซ่าไง
    • ถ้าไม่อยากยื่น 482 แบบเสี่ยงๆ ก็อาจจะพิจารณาวีซ่านักเรียน หาความรู้เพิ่มและเก็บประสบการณ์เพิ่มไปซักพัก(ใหญ่ๆ) ประมาณ 3 ปี เพราะวีซ่านักเรียนจำกัดชั่วโมงทำงาน

ลูกจ้างไม่อยากเรียน และนายจ้างก็ต้องการคนทำงาน full-time ไม่ใช่ part-time โอเคที่จะรับความเสี่ยงยื่นเดือนมีนาคมก่อนวีซ่าหมด แต่ถามว่าจะแก้ปัญหาที่กำลังจะทำงานกับนายจ้างครบ 6 เดือนตอนธันวาคมยังไง แล้วถ้าย้ายไปทำงานที่อื่นแล้ว นายจ้างนี้จะสปอนเซอร์ได้ไหม (ได้) ประสบการณ์การทำงานกับที่อื่นจะนับได้ไหม (ได้ ถ้าเหมาะสม)

คนเขียนต้องนัดเวลาสัมภาษณ์นายจ้าง เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา 6 เดือนที่ว่า และดูว่า Nomination จะใช่ Customer Service Manager แน่ๆไหม แอบหวังว่าจะเป็นอาชีพอื่นที่เหมาะสมกว่า

ได้ความว่านายจ้างเป็นธุรกิจที่มีการจัดตั้งค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งก็ทำให้ต้องระวังประเด็นอื่นตอนยื่น step 1 Standard Business Sponsorship  และ Step 2 Nomination แต่ในความซับซ้อนนี้เอง ก็ทำให้คนเขียนหาทางให้ลูกความทำงานกับนายจ้างต่อไปได้ โดยไม่ผิดเงื่อนไขวีซ่า แต่ที่แก้ไขไม่ได้และต้องลุยไปข้างหน้าคืออาชีพ Customer Service Manager ซึ่งทั้งนายจ้างและคนเขียนเห็นตรงกันว่าตรงกับเนื้องานของลูกความที่สุด แต่นายจ้างก็ต้องเข้าใจความเสี่ยงที่ Nomination จะถูกปฏิเสธด้วย

อาชีพนี้มีข้อจำกัด (Caveats) อยู่ 3 ข้อ

1. เงินเดือนต้องเกิน $65,000
2. เงินหมุนเวียนของบริษัทต้องไม่ต่ำกว่า $1mil 
3. ต้องไม่ใช่ Low skilled tasks

สองข้อแรกไม่ใช่ปัญหา วัดกันได้ง่าย ที่ไม่ง่ายคือข้อ 3. ซึ่งเป็นเหตุให้อาชีพนี้ถูกปฏิเสธกันเยอะ เหตุผลหลักๆคืออิมมิเกรชั่นมองว่าเนื้องานที่จะทำไม่ใช่อาชีพ Customer Service Manager แต่เป็นอาชีพอื่นที่ low skilled และไม่ได้อยู่ในลิสที่จะสปอนเซอร์ได้ หรือต่อให้เป็นอาชีพที่อยู่ในลิส แต่ถ้าเลือกอาชีพในใบสมัครไม่ถูกต้อง เคสก็ไม่ผ่านอยู่ดี

คนเขียนให้คำแนะนำว่าควรจะทำอย่างไรให้เคสมีโอกาสมากขึ้น นายจ้างกระตือรือร้นรับคำแนะนำและจะทำตาม เข้าใจความเสี่ยง จะใช้บริการ แต่ขอไปคุยกันภายในก่อนเพื่อขออนุมัติ คนเขียนขอให้เริ่มงานอย่างน้อย 8 อาทิตย์ก่อนวีซ่าหมด เคสก็ยากอยู่แล้ว ถ้าต้องรีบๆทำ โอกาสพลาดก็สูงขึ้น

6 อาทิตย์ก่อนวีซ่าหมด ลูกความติดต่อมาจะให้ทำเคสให้ .... ก่อนหน้านี้คนเขียนตามลูกความไหม คำตอบคือไม่ตามค่ะ เพราะลูกความอาจจะเปลี่ยนใจอยากใช้บริการคนอื่น จะได้ไม่ต้องลำบากใจหาคำพูดสวยๆมาตอบคนเขียน  อีกอย่างคือได้แจ้งให้ทราบแล้วว่าเคสยาก รู้ว่าวีซ่าหมดอายุเมื่อไหร่ รู้ค่าใช้จ่าย รู้ว่าคนเขียนต้องการเวลาแค่ไหนที่จะทำเคสดีๆให้ ก็ต้องปล่อยให้ลูกความพิจารณาว่าจะใช้บริการหรือไม่ และจะใช้เมื่อไหร่

แล้วเหลือเวลาน้อยกว่า 8 อาทิตย์ รับเคสไหม ? .... รับค่ะ .... ลูกความที่เคยนัดปรึกษากันมาก่อน ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงจริงๆ คนเขียนไม่ค่อยปฏิเสธ

ลูกจ้างเซ็นสัญญาทันที พร้อมเริ่มงาน
นายจ้าง ? ....... หายไปอีก 2 อาทิตย์ ..... ระหว่างนี้คนเขียนตามไหม ..... ตามค่ะ !!!! ก็ตอนนี้รู้แล้วว่าลูกความต้องการใช้บริการ และรับลูกจ้างมาดูแลแล้ว จะไม่รับนายจ้างก็ยังไงอยู่

4 อาทิตย์ก่อนวีซ่าหมด หลังจากตามแล้วตามอีก คนเขียนต้องบอกลูกจ้างว่าไม่ไหวแล้วนะ ถ้านายจ้างไม่เซ็นสัญญาภายในเที่ยงวันนี้ คนเขียนจะไม่รับเคสนายจ้าง ที่อดทนมาจนเหลือเวลา 4 อาทิตย์เพราะสงสารลูกจ้างที่อยากให้คนเขียนทำเคสให้ทั้งส่วนนายจ้างและลูกจ้าง (แต่จริงๆนายจ้างกับลูกจ้างใช้เอเจนต์หรือทนายคนละคนกันก็ได้นะคะ)

คนเขียนเคยโพสไว้ว่า .... เคสยากไม่กลัว กลัวลูกความยาก .... นี่เลยค่ะ ลูกความยาก .... พร้อมทิ้งเคสนายจ้างไหม ณ จุดนี้ ? .... พร้อมมาก (คนเขียนไม่โอเคกับการเสียเวลาแบบนี้) .... แต่นายจ้างเซ็นสัญญาก่อนเที่ยง 5 นาที ! 

สรุปว่าได้นายจ้างมาเป็นลูกความ .... แอบสงสารตัวเองมากๆ นี่ขนาดจะเซ็นสัญญาทำงานยังยากขนาดนี้  แล้ว 4 อาทิตย์ที่เหลือไว้ทำงาน จะยากขนาดไหน .... ก็อย่างที่คาดไว้เลยค่ะ .... ความเงียบหายต้องมา ..... ลูกจ้างก็รับโทรศัพท์จากคนเขียนถี่ๆ เพราะต้องขอให้ช่วยตามนายจ้างให้ .... สุดท้ายเราต้องมาเร่งทำงานเอาอาทิตย์สุดท้ายก่อนวีซ่าหมด และเรายื่นใบสมัครกัน 2 วันก่อนวีซ่าหมด .... สุดยอดของความเหนื่อย แต่รับงานมาแล้ว ก็ต้องทำให้ดีที่สุด

รออยู่ 4 อาทิตย์ .... Nomination ผ่าน 482 ผ่าน .... วันเดียวกัน .... ไม่มีการขอเอกสารเพิ่ม

ลูกจ้าง (เคสนี้ไม่ใช่คนไทย) ขอบคุณคนเขียนที่อดทนมาก และไม่บ่นเค้าเลยที่นายจ้างช้า .... ก็ไม่ใช่ความผิดเค้า จะไปบ่นเค้าได้ยังไง .... ว่าแล้ว ก็คุยกันเรื่องการขอวีซ่าให้แฟน ซึ่งจริงๆลูกจ้างได้ถามคนเขียนก่อนยื่นวีซ่าแล้วว่าเค้าจะพ่วงแฟนในใบสมัครเลยได้ไหม แต่จากลักษณะความสัมพันธ์ แต่งงานก็ไม่ใช่  หลักฐาน de facto ก็ไม่มี คำแนะนำคือไม่พ่วงค่ะ .... ยื่นทีหลัง เมื่อพร้อม

นายจ้าง .... ก็ขอบคุณคนเขียนเช่นกัน แถมบอกว่าเดี๋ยวมาใช้บริการใหม่นะ เร็วๆนี้ด้วย !! ..... [อยากจะบอกว่า ไม่ต้องเร็วๆนี้ก็ได้ ขอเวลาหายใจ และทำใจหลายๆเดือนเลย]  

เทรนตอนนี้คือ Nomination และ 482 มีถูกปฏิเสธกันเยอะขึ้นนะคะ และถ้าตามข่าว น่าจะทราบว่าเงื่อนไขการขอวีซ่าหลายๆประเภทปรับให้ยากขึ้น และลดโควต้าต่อปีลง .... คณิตคิดง่าย ถ้าคนสมัครมีมาก แต่โควต้ามีน้อยลง มีความเป็นไปได้อยู่ 2 อย่าง ระยะเวลารอวีซ่านานขึ้น และ/หรือวีซ่าถูกปฏิเสธเยอะขึ้น

เพราะฉะนั้น ยื่นใบสมัครวีซ่าด้วยความระมัดระวังนะคะ .... จะยื่นเอกสารอะไร จะให้ข้อมูลแบบไหน คิดให้รอบด้าน จะได้ไม่ต้องมาพยายามแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หรือตอนที่วีซ่าถูกปฏิเสธแล้ว และระวัง PIC 4020 การให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในใบสมัคร อาจจะถูกปฏิเสธ พร้อมติดบาร์ 3 ปี



Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com

แชร์ประสบการณ์ ธุรกิจตั้งใหม่สปอนเซอร์ 482 ได้ไหม

4/11/2023

 

"ธุรกิจตั้งใหม่" สำหรับอิมมิเกรชั่นคือ ธุรกิจที่เปิดดำเนินการมาไม่ถึง 1 ปี

เคสธุรกิจตั้งใหม่ ที่คนเขียนเพิ่งทำจบไปเร็วๆนี้ คนเขียนกำลังจะยื่นใบสมัครอยู่วันพรุ่งนี้แล้ว น้องลูกความบอกว่าแอบกังวลมากกลัวไม่ผ่าน เคยได้ยินมาว่าธุรกิจต้องดำเนินการมาแล้ว 6 เดือนขึ้นไป แต่เคสของน้องยังดำเนินการมาไม่ถึง 6 เดือน


นึกในใจ ...... อ้าว ? ... กังวล ? ... แล้วทำไมไม่คุยกับคนเขียนก่อนหน้านี้ จะก่อนเซ็นสัญญาทำงาน หรือระหว่างทำเคสก็ยังดี มาบอกเอาวันนี้ แล้วพรุ่งนี้จะยื่นใบสมัครเนี่ยะนะ ?? ... แล้วก็จะปล่อยให้คนเขียนยื่นใบสมัคร ทั้งๆที่ตัวเองกังวลเนี่ยะนะ ??? โอ๊ยปวดหัว


สิ่งที่พูดออกไป ......

► ต้องดำเนินการมาแล้ว 6 เดือน ?? .... ไม่จริงค่ะ

.... คนเขียนทำเคสที่ .....


► ธุรกิจเปิดดำเนินการมาได้ 2 วัน
► ธุรกิจเปิดดำเนินการมาได้ 4 อาทิตย์
► ธุรกิจที่เพิ่งซื้อขายเปลี่ยนเจ้าของกันเสร็จ (ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจตั้งใหม่เช่นกัน ... เคสนี้ไม่ใช่สปอนเซอร์ 482 ด้วย แต่สปอนเซอร์เป็นพีอาร์ 186 กันเลย)
► แต่ละเคส ขึ้นอยู่กับเอกสาร และข้อมูลที่จะนำเสนอค่ะ
► เคสน้อง คนเขียนไม่กังวล (แปลว่าน้องก็ไม่ต้องกังวล)

.... เคสนี้ คนเขียนยื่นใบสมัครวันเสาร์ เราทราบผลวันพุธ (3 วันทำการ)



สิ่งที่คนเขียนไม่ได้บอกน้องลูกความในวันนั้น .....

► คนเขียนทำเคสที่ธุรกิจยังไม่ได้เปิดดำเนินการเลยด้วยซ้ำ เรายื่นขอเป็นสปอนเซอร์แล้ว
► ในขณะเดียวกัน คนเขียนก็มีเคสที่ธุรกิจเปิดมาเกินปี ซึ่งถือว่าไม่ใช่ธุรกิจตั้งใหม่แล้ว .... แต่คนเขียนแนะนำให้รอไปก่อน ยังไม่ยื่น เพราะดูภาพรวมแล้ว น่าจะไม่ผ่าน


น้องที่เซ็นสัญญาการทำงานกับคนเขียนทุกคน


1. ถ้ากังวล .... ถาม .... และถามโดยเร็ว .... จะได้สบายใจโดยเร็ว .... หรือมีคนเขียนช่วยกังวลไปด้วยอีกคน .... หรือมีคนเขียนช่วยหาทางแก้ปัญหาโดยเร็ว
2. ถ้ากังวล แล้วเก็บไว้ในใจ แล้วคนเขียนจะรู้ไหม .... คนเขียนสามารถหลายอย่าง แต่อ่านใจไม่สามารถนะจ๊ะ
3. คนเขียนไม่สร้างโลกสวยให้ลูกความค่ะ คิดยังไง พูดอย่างงั้น

    .... ถ้าคิดว่าเคสจะไปไม่รอด จะบอกตั้งแต่ต้นเลยว่าไปไม่รอด
    .... ถ้าเสี่ยงมาก ก็บอกว่าเสี่ยงมาก
    .... ถ้าบอกว่าเคสนี้ คนเขียนไม่กังวล ก็แปลว่าไม่กังวล
    .... อย่างเดียวที่ไม่เคยบอกลูกความ คือเคสนี้ผ่านแน่ๆ .... จะบอกได้ยังไง ไม่ใช่คนตัดสินเคส



Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com


แชร์ประสบการณ์ นายจ้างถูกลงตรวจ กระทบลูกจ้างไหม

1/10/2023

 

วันนี้คนเขียนมาแชร์ประสบการณ์ เกี่ยวกับวีซ่าแบบมีนายจ้างสปอนเซอร์ เช่น 457 482 494 186 และ 187

          Q: 187 ??? - วีซ่าตัวนี้ไม่มีแล้วไม่ใช่เหรอ
          A: ยังทำได้ สำหรับคนกลุ่มเล็กๆที่ถือวีซ่า 457 หรือ 482

ประวัตินายจ้างสำคัญไหม - สำคัญมากค่ะ ไม่ว่าจะก่อนยื่น หรือหลังจากลูกจ้างได้วีซ่าแล้ว ถ้าอนาคตจะมีการสปอนเซอร์คนอื่นต่อ หรือจะมีการสปอนเซอร์ลูกจ้างที่ถือ Temporary visa เพื่อต่อยอดไปเป็นพีอาร์


เคสที่คนเขียนจะแชร์วันนี้เป็นเคสที่นายจ้างถูกอิมมิเกรชั่นลงตรวจหลังจากที่มีการสปอนเซอร์ลูกจ้างไปแล้ว 2 คน (ไม่ได้แปลว่าถ้าสปอนเซอร์แค่คนเดียวจะไม่ถูกลงตรวจ อยู่ที่นายจ้างไหนจะเจอแจ๊คพอต) .... เกิดอะไรขึ้น

1. อิมมิเกรชั่นเจอว่านายจ้างมีการแต่งตั้ง Director ใหม่ แล้วไม่ได้แจ้งให้อิมมิเกรชั่นทราบภายในเวลาที่กฏหมายกำหนด

          Q: มีต้องแจ้งด้วยเหรอ
          A: มีค่ะ ต้องแจ้งภายใน 28 วัน ... จริงๆ นายจ้างมีหน้าที่อย่างอื่นอีกหลายอย่าง

2. อิมมิเกรชั่นสัมภาษณ์พนักงานในร้าน รวมถึงลูกจ้างที่ได้รับการสปอนเซอร์ แล้วพบว่าลูกจ้างทำงานนอกเหนือหน้าที่ที่ได้รับการสปอนเซอร์ ..... [เช่น จ้างมาเป็น Backpacker Manager แต่มาช่วยทำความสะอาดห้องพัก ช่วยเก็บขยะ หรือจ้างมาเป็นพนักงานนวด เป็น Chef หรือ Cook แต่มาช่วยทำบัญชีร้าน] ..... น้องๆที่คิดว่าเราทำได้หลายอย่าง เราทำเกินหน้าที่ ดูดีมากๆเลย ...... ขอบอกว่าไม่จริง

เคสนี้นายจ้าง
          1) ถูกปรับ และ
          2) ถูกห้ามสปอนเซอร์พนักงานเพิ่ม


นายจ้างและลูกจ้าง1 ยื่นขอพีอาร์วีซ่า 186 คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะไม่ได้สปอนเซอร์พนักงานเพิ่ม แต่เป็นการสปอนเซอร์พนักงานเดิมเพื่อเป็นพีอาร์ .... เกิดอะไรขึ้น ????

นายจ้างถูกปฏิเสธ 186 Nomination เพราะประวัติที่ถูกลงตรวจและถูกลงโทษจากอิมมิเกรชั่น ...... แปลว่าวีซ่า 186 ของลูกจ้างก็ถูกปฏิเสธไปด้วย

ลูกจ้าง1 ติดต่อนัดปรึกษากับคนเขียน ถามว่าทำยังไงดี .... คนเขียนก็แนะนำทั้งส่วนการยื่นอุทธรณ์และการยื่นใบสมัครใหม่ไปที่อิมมิเกรชั่น พร้อมกับแจ้งว่าตัดสินใจโดยเร็ว อุทธรณ์มีระยะเวลาจำกัด และน่าจะมีกฏหมายเปลี่ยนเร็วๆนี้ ซึ่งจะกระทบกับเคส หากต้องการจะยื่นใหม่


ลูกจ้าง2 ซึ่งทำงานครบตามที่กฏหมายกำหนด และพร้อมจะยื่นวีซ่าพีอาร์ 186 ..... เมื่อเห็น Nomination & 186 visa applications ของเพื่อนถูกปฏิเสธเพราะนายจ้างมีประวัติถูกอิมมิเกรชั่นลงโทษ ก็เริ่มกังวลบ้าง เพราะตัวเองก็จะต้องใช้นายจ้างคนเดียวกัน .... ขอนัดปรึกษากับคนเขียนบ้าง ซึ่งได้รับคำแนะนำว่า

1. ก็ควรกังวลจริงๆแหละ เพราะแนวทางที่อิมมิเกรชั่นจะพิจารณาเคสของเพื่อนกับของน้องลูกจ้าง2 ก็ไม่ต่างกัน ประวัตินายจ้างมีผลกระทบกับเคสแน่ๆ


2. แต่ ..... เคสเพื่อนที่ถูกปฏิเสธ (ซึ่งคนเขียนไม่ได้เป็นคนทำเคส) จากที่อ่านคำตัดสิน อ่านเอกสารอื่น และซักถามเพิ่มเติม คนเขียนเชื่อว่ามีข้อโต้เถียงบางอย่างที่น่าจะช่วยเคส แต่เคสเพื่อนไม่ได้เอามาใช้ .... สรุปสั้นๆ คือถ้าคนเขียนเป็นคนทำเคส ก็จะเอาข้อโต้เถียงที่ว่ามาใช้ .... ตอบไม่ได้หรอกว่าเคสจะรอดหรือไม่ ... ไม่ลองไม่รู้

3. ถ้าไม่ต้องการเสี่ยงกับนายจ้างนี้ ก็ ....เริ่มใหม่ .... หานายจ้างใหม่ เสียเงินทำ sponsorship & visa กันใหม่ ถ้านายจ้างใหม่ยอมทำ 186 Direct Entry ให้เลย ก็โชคดีไป ถ้าไม่ยอม ก็ทำงานใน Temporary visa ไป จนกว่านายจ้างจะยอมสปอนเซอร์เป็นพีอาร์

น้องใช้เวลาคิดอยู่ 1 วัน ก่อนจะติดต่อกลับมาให้คนเขียนทำเคสให้  ใช้นายจ้างเดิม .... เสี่ยงเป็นเสี่ยง

เกิดอะไรขึ้นกับเคสลูกจ้าง2 .... คนเขียนทำสรุปประเด็นข้อกฏหมาย และโน้มน้าวอิมมิเกรชั่นว่าทำไมควรจะให้เคสนี้ผ่าน รวมถึงเหตุผลที่เคสลูกจ้าง1 ไม่ได้นำมาใช้ แต่คนเขียนคิดว่าสำคัญมากและควรนำมาใช้ (คนเขียนพูดเสมอว่าทนายความและเอเจนต์แต่ละคน มีวิธีการเก็บรายละเอียด มุมมองและแนวทางการทำเคส แตกต่างกันไป .... Strategy การทำเคสของแต่ละคน ไม่เหมือนกัน) ..... เคสนี้ คนเขียนเลือกที่จะเปิดประเด็นเลย ไม่รออิมมิเกรชั่นถาม

ผ่านไหม ..... ผ่านสิ .... ประเด็นนายจ้างมีประวัติ จบด้วยจดหมายฉบับเดียวที่คนเขียนทำสรุปเข้าไปนั่นแหละ (แต่อย่าคิดว่าจดหมายฉบับเดียว ใช้เวลานิดเดียวนะคะ กว่าจดหมายจะคลอด ใช้เวลาอ่านเอกสารเดิม เอกสารใหม่ และทำ Research เป็นร้อยหน้า)


ย้อนกลับมาที่ลูกจ้าง1 ...... น้องหายไป 3 - 4 เดือน จนในที่สุดกฏเปลี่ยนก็ประกาศออกมา มีเวลา 2 อาทิตย์ก่อนกฏหมายใหม่จะปรับใช้ .... น้องติดต่อมาหาคนเขียน จะให้ทำเคสให้ ยินดีชำระค่าบริการเพิ่มสำหรับเคสด่วน .... ไม่ทันแล้วค่ะ

          Q: ทำไมถึงช่วยไม่ได้ 2 อาทิตย์ไม่พอเหรอ
          A: 2 อาทิตย์พอค่ะ ถ้าสามารถทุ่มเวลาให้กับเคสน้องเคสเดียว .... แต่ความจริง ไม่ได้เป็นแบบนั้น

ทุกคนที่เซ็นสัญญาการทำงานกับคนเขียน ก็อยากให้เคสของตัวเองออกมาดีๆกันทั้งนั้น เมื่อรับงาน คนเขียนจะมีตารางการทำงานของแต่ละเคสชัดเจน ถ้ารับงานเพิ่มแล้วจะกระทบเคสของน้องๆที่เซ็นสัญญาการทำงานกับคนเขียนไว้ก่อนแล้ว ต่อให้อยากรับ ก็รับไม่ได้


เคสนายจ้างมีประวัติ ระวังให้มาก โอกาสเคสผ่านก็มี โอกาสเคสไม่ผ่านก็สูง และไม่ต้องมานัวๆคิดว่าอิมมิเกรชั่นอาจจะไม่เอาประวัตินายจ้างมาพิจารณา ..... เพราะอยู่ในลิสที่ต้องพิจารณา ยังไงก็ต้องพิจารณา อยู่ที่ว่าเราจะหาเหตุผลอะไร มาช่วยเคสเท่านั้นเอง

และจากตัวอย่างเคสนี้ อยากจะบอกว่านายจ้างมีประวัติคนเดียวกัน Nomination เคสนึงถูกปฏิเสธ ไม่ได้แปลว่า Nomination อีกเคสจะต้องถูกปฏิเสธด้วย ถ้าเริ่มต้นการทำเคสด้วยความระมัดระวัง และคิดรอบด้าน โอกาสที่จะผ่านก็มี

ย้อนกลับมาที่นายจ้าง ตอนถูกอิมมิเกรชั่นลงตรวจ ..... อิมมิเกรชั่นไม่ใช่ว่าพอเจออะไรไม่ถูกต้อง ก็จะหลับหูหลับตาลงโทษเลยนะคะ .... ให้โอกาสตอบว่าทำไมไม่ควรถูกลงโทษ ให้โอกาสเราโน้วน้าวว่าทำไมควรผ่อนโทษหนักให้เป็นเบา .... ขึ้นอยู่กับเรา นายจ้าง และ/หรือทนายความ เอเจนต์แล้วค่ะว่าจะทำเคสยังไง


Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com

แชร์ประสบการณ์วีซ่า 482 Work experience & De Facto partner

1/7/2023

 
วันนี้คนเขียนมาแชร์ประสบการณ์เคสวีซ่า 482 ที่น้องลูกความกังวลเรื่องประสบการณ์ และเรื่องการพ่วงแฟนในใบสมัครเดียวกัน

เคสนี้ น้องนัดปรึกษากับคนเขียนมา 2 รอบในเรื่องของตัวเอง และ 1 รอบในเรื่องของแฟน ก่อนที่จะตัดสินใจลุยงานกัน

น้องมีนายจ้างที่ต้องการสปอนเซอร์ แต่น้องมีประสบการณ์ไม่ถึง 2 ปีตามนโยบายของอิมมิเกรชั่น และน้องไม่มีวุฒิการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสายงาน

ดูเผินๆเหมือนไม่น่าจะทำได้ น้องไปหาคำปรึกษาจากหลายที่ ได้รับคำแนะนำว่าประสบการณ์ยังไม่ถึงบ้าง ทำไม่ได้บ้าง

มาถึงคนเขียน น้องได้รับคำแนะนำให้

1. สะสมประสบการณ์เพิ่ม คือรอไปก่อน หรือ
2. ใช้ประสบการณ์ที่มีเทียบวุฒิการศึกษา ซึ่งน่าจะช่วยให้น้องยื่น 482 ได้เร็วขึ้น

น้องเลือกที่จะเทียบวุฒิการศึกษา และยื่น 482 เลย ก่อนวีซ่าตัวปัจจุบันจะหมด

คนเขียนถือว่าเป็นเคสมีความเสี่ยง (แต่คนเขียนไม่กังวลเท่าไหร่ เพราะทำเคสประสบการณ์ไม่ตรง ประสบการณ์ไม่ถึงตามนโยบายของอิมมิเกรชั่นมาก็หลายเคส แต่ทำเคสคนอื่นผ่าน ไม่ได้แปลว่าเคสน้องจะต้องผ่านด้วย โดยสรุปคือจากประสบการณ์และเนื้อหาเคสน้อง คนเขียนว่าน่าจะรอด แต่จะมาให้ความหวัง 100% คงไม่ได้ 1. ไม่ใช่คนตัดสินเคส และ 2. เราไม่หลอกกัน เสี่ยงก็คือเสี่ยง ถ้าอยากจะยื่นเร็วต้องยอมรับสภาพ ถ้าไม่อย่างเสี่ยงก็ทำงานเก็บประสบการณ์ต่อไป)

ปัญหาที่คนเขียนกังวลมากกว่าเรื่องประสบการณ์ของน้อง คือการพ่วงแฟนน้อง น้องเป็นคู่เหมือน ไม่ได้แต่งงาน ไม่ได้จดทะเบียนความสัมพันธ์ (และไม่ใช่ทุกรัฐที่รับจดทะเบียนความสัมพันธ์) แฟนน้องเคยอยู่ออสเตรเลียด้วยกัน แต่ตอนนี้ติดอยู่นอกออสเตรเลีย แยกกันอยู่มาเกือบปี พยายามจะกลับเข้ามา แต่มาไม่ได้ ถูกปฏิเสธวีซ่ามาแล้ว 2 รอบ เอกสารหลักฐานความสัมพันธ์มีไม่เยอะ ไม่มี Joint อะไรซักอย่าง ไม่ว่าจะ Joint lease, Joint bank account หรือ Joint bill  เรื่องของเรื่องคือต้องคิดว่าจะทำยังไงให้อิมมิเกรชั่นเชื่อว่าสองคนนี้เป็นแฟนกันฉันท์ De facto จริง ไม่ใช่แค่เพื่อนกัน

อิมมิเกรชั่นขอเอกสารเพิ่มในเรื่องของความสัมพันธ์ (น้องยังมีถามอีกว่าไม่ขออะไรเพิ่มเรื่องประสบการณ์หรือคะพี่ คือยังกังวลไม่เลิก แต่ไม่มีค่ะ อิมมิเกรชั่น Happy กับเอกสารและการสรุปประเด็นกฏหมายที่คนเขียนทำขึ้นมาเพื่อช่วยน้อง)

เอกสารความสัมพันธ์เพิ่มเติม เป็นอะไรที่ต้องคิดเยอะมาก เพราะจริงๆคือเอกสารที่เป็นชิ้นเป็นอันยื่นไปหมดแล้ว ต้องเป็นการทำคำอธิบายแล้ว ณ จุดนี้ .... แต่ทั้งน้องและแฟนเขียนได้ .... ไม่โอเคเลย ..... คือ ... ให้รายละเอียดความสัมพันธ์ไม่พอนะคะ ต้องให้แบบตอบโจทย์ด้วย (การตอบโจทย์ในที่นี้ คือ จะให้รายละเอียดความสัมพันธ์ยังไง ให้อิมมิเกรชั่นสามารถเอาข้อกฏหมายมาปรับเทียบได้ง่ายๆ ว่าควรจะเชื่อดีไหมว่าสองคนนี้มี De facto relationship ต่อกันจริง)

หลายคนคิดว่าการทำงานของทนายความ เอเจนต์ ไม่เห็นมีอะไร แค่ส่งต่อเอกสารให้อิมมิเกรชั่น .... คนที่ทำแบบนั้นคงมีจริง แต่คนเขียนบอกเลยว่าทนายความและเอเจนต์ที่ทำงานจริงๆ เนื้องานไม่ใช่การส่งต่อเอกสารเลยค่ะ เนื้องานคือการพิจารณาเอกสารและข้อมูลที่ลูกความให้มา จากนั้นก็คิดว่าจะทำยังไงให้เอกสารและเนื้อหาของเคสเข้าข้อกฏหมายมากที่สุด เพิ่มโอกาสให้ลูกความได้วีซ่ามากที่สุด

เคสนี้ ตั้งแต่ต้นจนจบ รวมถึงที่อิมมิเกรชั่นขอเอกสารเพิ่ม ใช้เวลา 5 อาทิตย์ สรุปว่าประสบการณ์ของน้องโอเค และอิมมิเกรชั่นเชื่อในความสัมพันธ์ของน้องและแฟน ในที่สุดสองคนนี้ก็ได้กลับมาอยู่ด้วยกันตามเดิม
~The End~

ป.ล. ไม่รับปากว่าเคสจะต้องผ่าน ไม่ได้แปลว่าจะไม่ทำเต็มที่นะคะ

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com


แชร์ประสบการณ์ Skills Assessment

11/12/2021

 
วันนี้คนเขียนมาแชร์ประสบการณ์การทำ Skills Assessment ตำแหน่ง Restaurant Manager

เคสนี้ น้องติดต่อคนเขียนมา 5 เดือนก่อนวีซ่าหมดอายุ  ..... มองเผินๆเหมือนน้องติดต่อมาเนิ่นๆ เวลาเหลือเฟือ ... แต่พอมองระยะเวลาภาพรวม และวีซ่าที่น้องต้องการยื่น เวลาเหลือไม่เยอะเลย เพราะสเต็ปที่ต้องทำก่อนการยื่นวีซ่ามีเยอะ และแต่ละสเต็ปก็ต้องใช้เวลาในการเตรียมเคส และเวลาในการรอผล

ส่วนใหญ่น้องที่ให้คนเขียนทำ Skills Assessment ก็จะให้คนเขียนทำงานส่วนอื่นด้วย เพราะฉะนั้นต่อให้เราเริ่มงานกันที่ Skills Assessment คนเขียนไม่ได้พิจารณาเอกสารสำหรับการยื่น Skills Assessment เท่านั้น แต่พิจารณาเผื่อไปถึงสเต็ปอื่นด้วย

Skills Assessment เคสนี้ ระยะเวลาพิจารณาปกติคือ 10-12 อาทิตย์ (3 เดือน) และมี Option ให้เลือกเป็น Priority processing ได้ด้วย ซึ่งจะทราบผลภายใน 10 วันทำการ .... คนเขียนให้น้องเลือก เพราะระยะเวลายังพอยื่นแบบปกติได้ แต่น้องก็เลือกแบบ Priority processing

ข้อดีของ Priority processing คือเร็ว  ..... ข้อเสียคือจะไม่มีการขอเอกสารเพิ่ม ถ้าพลาด เอกสารไม่ครบ หรือไม่ดีพอ ก็ถูกปฏิเสธเลย 

เคสนี้ คนเขียนตีเอกสารกลับไปให้น้องแก้ รวมทั้งขอเอกสารเพิ่มหลายครั้ง เพราะเราพลาดไม่ได้ โดยเฉพาะเคสนี้ ที่น้องรับค่าจ้างเป็นเงินสด

Q:   เอะ รับเงินสดได้ด้วยเหรอ ???
A:   ได้สิ ไม่มีกฏหมายห้ามรับค่าจ้างเป็นเงินสด ... ตราบใดที่มีการจ่ายภาษี และทำทุกอย่างกันอย่างถูกต้องตามกฏหมาย (แต่รับเงินเข้าบัญชี ดีที่สุด เพราะพิสูจน์ง่ายกว่า = เคสมีความเสี่ยงน้อยกว่า)

น้องเห็นคนเขียนตีเอกสารกลับ ขอเอกสารเพิ่ม ก็กังวลว่าเคส Skills Assessment จะมีปัญหาไหม ซึ่งคนเขียนบอกเลยว่า ... ไม่ค่ะ ... คนเขียนมั่นใจว่าเคส Skills Assessment ไม่มีปัญหา .... แต่อย่างที่เกริ่นไป คนเขียนพิจารณาเอกสารเผื่อสเต็ปอื่นไปด้วยเลย (Why not?) ในเมื่อคนเขียนก็เป็นคนทำสเต็ปต่อไปให้ลูกความ และเห็นข้อมูลและปัญหาอื่นอยู่ เราก็มองไกลนิดนึง แก้ปัญหาล่วงหน้าไปพร้อมๆกับการเตรียมยื่น Skills Assessment เลย

เคสนี้ Skills Assessing Authority ตอบรับการพิจาณาเคสเป็นแบบ Priority Processing วันศุกร์ .... วันพุธ ตี 2 คนเขียนได้รับอีเมล์ว่า Skills Assessment ผ่านแล้ว .... ม้วนเดียวจบ ใช้เวลา 2 วันทำการ ! .
... รับเงินสด เอกสารก็แน่นได้ (ในบางเคส) .... จบไป 1 สเต็ป มีเวลาหายใจ และเตรียมสเต็ปถัดไป

ป.ล. เคสรับเงินสด แบบสดจริงๆ ไม่มีบันทึก ไม่จ่ายภาษี ไม่ต้องคิดเลยนะคะ เสมือนไม่ได้ทำงาน .... เพราะฉะนั้น ถ้าคิดว่าวันนึงอาจจะต้องการยื่นวีซ่าที่ต้องใช้ประสบการณ์การทำงาน .... หางานที่เข้าระบบ และเสียภาษี

คนเขียนมีน้องหลายคนที่มาปรึกษา ประสบการณ์การทำงานสูงหลายปีเลย แต่รับ cash in hand ทั้งหมด ไม่มี record อะไรทั้งสิ้น สะดวกนายจ้าง สะดวกลูกจ้าง รับเงินสดเต็มๆ แต่สุดท้ายจบอยู่ตรงนั้น ไปต่อไม่ได้ .... ฝากไว้ให้คิด

Tip: พยายามทำงานในสายอาชีพที่เลือกให้ได้อย่างน้อย 20 ชั่วโมงต่ออาทิตย์ .... เพราะ Skills Assessing Authority หลายๆที่ ไม่พิจารณาระยะเวลาการทำงานที่น้อยกว่า 20 ชั่วโมงต่ออาทิตย์เลยนะคะ



Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com 



แชร์ประสบการณ์ เคสอุทธรณ์นายจ้างสปอนเซอร์ 186 & 187 Nomination & Visa applications

4/12/2021

 
เมื่ออาทิตย์ก่อน คนเขียนเข้าร่วมสัมมนาที่จัดโดยหน่วยงานอุทธรณ์ Administrative Appeals Tribunal - AAT และหนึ่งในข้อมูลที่ได้รับจาก AAT คือ เคสธุรกิจ - นายจ้างสปอนเซอร์ มีเรทการชนะที่ชั้นอุทธรณ์ที่ 35% !!!

อนาคตไม่รู้ .... แต่ ณ วันนี้ เคสอุทธรณ์นายจ้างสปอนเซอร์ของคนเขียนทุกเคสอยู่ใน 35% นี้


การเตรียมเคสนายจ้างสปอนเซอร์ โดยเฉพาะเคสถูกปฏิเสธ Nomination ไม่ง่าย เพราะเป็นการพิสูจน์ใหม่หมดทุกประเด็น ไม่ใช่เฉพาะประเด็นที่ถูกปฏิเสธ และในความเห็นของคนเขียน ถ้าเตรียมเคสดีๆ ก็มีโอกาสสูงอยู่ เพราะส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่ไม่ Black / White แต่ออกแนว Grey คือเรามีโอกาสที่โน้มน้าวให้ Tribunal member (คนตัดสินเคส) เห็นตามแนวทางการโต้เถียงของเรา


สำหรับคนที่ไม่รู้ .....


  • Nomination application คือใบสมัครของนายจ้าง เสนอตำแหน่งงานให้ลูกจ้าง
  • Visa application ก็ชัดเจน คือใบสมัครของลูกจ้าง ซึ่งก็ต้องมีความรู้ และประสบการณ์ตามที่กฏหมายกำหนด เพื่อที่จะมาทำงานในตำแหน่งที่นายจ้างเสนอให้
  • Nomination & Visa applications จะยื่นพร้อมกันก็ได้ หรือจะยื่น Nomination application ก่อน รอจนผ่าน แล้วค่อยยื่น Visa application ก็ได้
  • เคสนายจ้างสปอนเซอร์ส่วนใหญ่ที่ชั้นอุทธรณ์ คือเคส Nomination ถูกปฏิเสธ
  • เมื่อ Nomination ถูกปฏิเสธ ถ้ามีการยื่น Visa application เข้าไปด้วย วีซ่าก็จะถูกปฏิเสธไปด้วย (ยกเว้นมีการถอนใบสมัครวีซ่า ก่อนที่จะถูกปฏิเสธ)
  • เมื่อมีการถูกปฏิเสธ ต้องมาดูว่าจะยื่นใหม่ดี หรือจะยื่นอุทธรณ์ดี
  • บางเคสก็ไม่มีโอกาสยื่นใหม่ บางเคสก็ไม่ควรยื่นใหม่
  • ถ้าทั้ง Nomination & Visa applications ถูกปฏิเสธ โดยส่วนใหญ่ก็จูงมือกันไปอุทธรณ์ (แต่ไม่เสมอไป)
  • ถ้า Nomination ผ่าน Visa ก็ยังมีโอกาสถูกปฏิเสธได้อยู่ดี ถ้าผู้สมัครไม่เข้าเงื่อนไขบางอย่าง เช่น ไม่มีผลภาษาอังกฤษ หรือมีประสบการณ์ไม่ถึงตามที่กฏหมายกำหนด
  • เคส Visa ถูกปฏิเสธ ส่วนใหญ่แล้ว Tribunal member จะพิจารณาเฉพาะประเด็นที่ถูกปฏิเสธ ถ้าทุกอย่างโอเค เคสก็จะถูกส่งกลับไปให้อิมมิเกรชั่นพิจารณาในประเด็นอื่นต่อไป

หลายคนอาจจะสงสัยว่า

Q: อ้าว ... แล้วจะยื่นไปพร้อมกันทำไม คือควรจะยื่น Nomination application และรอให้ผ่านก่อน แล้วค่อยยื่น Visa application ดีกว่าไหม

A: จะยื่นพร้อมกัน หรือยื่นแยกเป็นสเต็ป ไม่มีสูตรตายตัวค่ะ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง พิจารณากันไปเคสๆไป ทั้ง 2 แบบ มีข้อดี ข้อเสีย แตกต่างกัน บางคนอาจจะไม่มีทางเลือก เช่นวีซ่ากำลังจะหมด หรือกฏกำลังจะเปลี่ยน หรือบางคนมีทางเลือก แต่ก็ยังควรจะยื่นไปพร้อมๆกัน ด้วยเหตุผลเฉพาะของแต่ละเคส (การให้คำแนะนำเคสพวกนี้ ต้องสัมภาษณ์แบบเจาะลึกค่ะ)

Q: อุ๊ย ... ถ้า Nomination ถูกปฏิเสธ เราก็รีบถอนใบสมัครวีซ่า ก่อนถูกปฏิเสธสิ ???

A: ขึ้นอยู่กับเนื้อหา / สถานการณ์ของแต่ละเคสอีกแล้ว บางเคสก็ควรถอนเรื่อง บางเคสก็ควรปล่อยให้ถูกปฏิเสธแล้วไปอุทธรณ์ ยกตัวอย่างเช่น น้องยื่นวีซ่าก่อนกฏเปลี่ยน ถ้าถอนเรื่อง แล้วรอยื่นใหม่เมื่อพร้อม น้องก็ต้องยื่นให้เข้ากฏปัจจุบัน ซึ่งอาจจะเป็นไปไม่ได้สำหรับน้องบางคน (ถ้าถึงจุดที่ Nomination ถูกปฏิเสธ และไม่ทราบว่าควรจะถอนเรื่อง หรือปล่อยให้วีซ่าถูกปฏิเสธดี ควรจะนัดปรึกษาค่ะ เพราะบางเคส ต่อให้น้องเข้ากฏเก่า และคิดว่าควรจะปล่อยให้ถูกปฏิเสธ เพื่อไปอุทธรณ์ แต่ถ้า Nomination หรือ Visa application ไม่มีโอกาสชนะเลย การยื่นอุทธรณ์ก็อาจจะไม่ใช่ทางออก)

คนเขียนจบเคสอุทธรณ์ 186 / 187 Nomination & Visa applications ไป 3 เคสเมื่อไม่นานมานี้ ทั้ง 3 เคสเป็นเคสที่ยื่น Nomination & Visa applications ไปพร้อมกัน (2 ใน 3 เคสนี้ เป็นเคส Self-sponsorship) .... พอ Nomination  ไม่ผ่าน Visa ก็ไม่ผ่านด้วย ทั้ง 3 เคส Strategy ของเรา (ด้วยเหตุผลที่ต่างกัน แต่ผลลัพธ์เหมือนกัน) คือ .... จูงมือกันไปอุทธรณ์ทั้งส่วนของนายจ้าง และลูกจ้าง

ความน่าสนใจของลูกความ 3 เคสนี้

เคสที่ 1 - ลูกความ Proactive แบบสุดๆ แนะนำให้ทำอะไร ได้ดั่งใจทุกอย่าง ทั้งส่งเอกสาร ทั้งติดต่อคนเขียนเป็นระยะๆ อัพเดทกันตลอด มีคำถามอะไรเกี่ยวกับธุรกิจที่อาจจะกระทบกับเคส น้องโทรขอคำแนะนำก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไร หรือไม่ทำอะไร .... เคสยาก แต่ไม่มีความหนักใจเลย

เคสที่ 2 - แนะนำอะไรไป ก็ทำมั่ง ไม่ทำมั่ง และแอบทำเคสเละระหว่างรอ Hearing อีกตังหาก (ลูกความของคนเขียนทุกคน ยกหูโทรหาคนเขียนได้ตลอดไม่ต้องนัดล่วงหน้า ถ้าไม่รับสาย เดี๋ยวโทรกลับ ...  แต่น้องลูกความไม่โทร ไม่ถามนี่สิ) .... คนเขียนก็งานงอกซิคะ ต้องมานั่งแก้ปัญหาที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นหลายประเด็นตอนใกล้ Hearing เหนื่อยแบบสุดๆกับการคิด ว่าจะยื่นเอกสารอะไร จะเชิญชวนให้ Tribunal member เห็นดีเห็นงามไปกับคนเขียนได้ยังไงกับเคสที่ไม่ค่อยสวย .... จากนั้นก็มาลุ้นต่อว่าจะชนะหรือไม่

เคสที่ 3 - ลูกความรู้ดีกว่าคนเขียน (ใช่แล้ว บางทีเราก็ได้ลูกความที่รู้ดีกว่าเรา) .... เหนื่อยหนักกว่าเคสที่ 2 อีก กลัวเคสจะไปไม่รอด  .... ลองนึกถึงคนที่แนะนำอะไรไปก็เถียง ไม่ฟัง ให้เตรียมอะไรก็ไม่เตรียมเพราะมั่นใจในตัวเอง .... บอกตามตรงว่าคนเขียนมีโมเม้นต์ที่อยากจะเชิญลูกความให้เอาเคสกลับไปทำเอง

ทั้ง 3 เคส คนเขียนเคลียร์ประเด็นที่ถูกปฏิเสธโดยอิมมิเกรชั่นได้แบบไม่ยาก แต่เนื่องจาก AAT ดูเคส Nomination ใหม่หมดทุกประเด็น ไม่ใช่แค่ประเด็นที่ถูกปฏิเสธ เพราะฉะนั้นเราโฟกัสไปประเด็นที่ถูกปฏิเสธประเด็นเดียวไม่ได้  และทั้ง 3 เคสนี้ ประเด็นที่เป็นปัญหาจริงๆที่ชั้นอุทธรณ์ ก็ไม่ใช่ประเด็นที่ถูกปฏิเสธโดยอิมมิเกรชั่น (ความน่าปวดหัวของเคส Nomination อยู่ตรงนี้เอง)

..... ลองนึกภาพ

คนเขียน:  น้องคะ ประเด็นนี้ (xxx) คาดว่าจะเป็นประเด็นหลัก น้องเตรียมเอกสาร 1 2 3 4 และเตรียมข้อมูล (yyy) ไว้ด้วยนะคะ คาดว่าคำถามจะมาประมาณ บลา ... บลา ... บลา

ลูกความ:  โอ๊ยพี่ ไม่ต้องหรอก มั่นใจว่าประเด็นนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะ บลา ... บลา ... บลา (หลงประเด็น แต่มั่นใจ)

คนเขียน:  น้องถือสายรอแป๊บนึงนะคะ เดี๋ยวกลับมาอธิบายให้ฟังอีกรอบ [คนเขียนขอเอาหัวไปโขกเสา 3 รอบ และนับ 1 - 100 ก่อน] 

จริงๆ อธิบายย้ำไปอีกหลายรอบ .... แนะนำได้ แต่ถ้าลูกความไม่ทำ คนเขียนก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่ทำใจ

วัน Hearing:   ไม่ใช่แค่ประเด็นที่คาดไว้เท่านั้น แต่เป็นคำถามที่คาดไว้ด้วย น้องตอบไม่ได้ เพราะไม่ได้เตรียม (คนเขียนอยากจะบอกว่า I told you so!!)

.... คนเขียนจะไม่แคร์ก็ได้ เพราะพยายามแล้ว แนะนำแล้ว ซ้ำหลายรอบด้วย แต่น้องไม่ฟัง ไม่เตรียม

.... แล้วแคร์ไหม ? .... อยากจะไม่แคร์เหมือนกัน แต่ทำไม่ลง ... สำหรับคนเขียน ตราบใดที่เคสยังอยู่ในมือ ก็ต้องทำให้ดีที่สุด .... เราก็ต้องมีเทคนิคการช่วยลูกความ รวมถึงโดน Tribunal member โวยใส่แทนลูกความด้วย !!!! (แอบสงสารตัวเองนิดนึง) 

เห็นไหม ว่าทำไม การทำเคสแต่ละเคส เรารับประกันความสำเร็จของงานไม่ได้ .... ปัจจัยที่อาจจะทำให้เคสไม่ผ่าน มีเยอะแยะมากมาย รวมถึงปัจจัยที่ไม่ควรจะเกิดแบบเคสนี้ แนะนำแล้วไม่ทำ

สุดท้ายน้องมาขอโทษ ที่ไม่ฟัง และไม่เตรียมเคสตามที่แนะนำ และทำให้คนเขียนโดนโวย .... สำหรับคนเขียน การโดนโวยแทนลูกความเป็นเรื่อง จิ๊บ จิ๊บ ไม่คิดมาก [แต่ไม่โดนเลย ดีที่สุด] ....  แต่ที่เคืองคือน้องไม่ฟัง และทำเคสเกือบพัง .... คนเขียนพยายามฝ่ายเดียวไม่ได้นะคะ น้องลูกความต้องพยายามด้วย

นี่คือเหตุผลที่บางเคส คนเขียนก็ต้องเชิญลูกความให้ไปใช้บริการคนอื่น ถ้าไม่เชื่อ Strategy และคำแนะนำของคนเขียน ถ้าเชื่อคนอื่น หรือเชื่อตัวเองมากกว่า บอกเลยว่าช่วยยาก และเสียเวลามาก คนเขียนขอเอาเวลาอันมีค่า ไปช่วยคนที่มั่นใจในตัวคนเขียนดีกว่า 

ล่าม - ถ้าไม่มั่นใจในภาษาอังกฤษของตัวเอง หรือของพยาน ขอล่ามไว้ก่อน (ฟรี) .... คือมีล่าม แล้วไม่ใช้ก็ได้ แต่ถ้าจะใช้ แล้วไม่มี เดือดร้อนนะคะ เอเจนต์หรือทนายความช่วยแปลไม่ได้ เพื่อนน้องหรือพยาน ก็ช่วยแปลไม่ได้

ทั้ง 3 เคส คนเขียนขอล่ามให้ทุกเคส ลูกความของคนเขียน ก็มีทั้งแบบใช้ล่ามเป็นบางช่วง ไม่ใช้ล่ามเลยเพราะสื่อสารกันรู้เรื่อง เคสที่แอบปวดหัวคือเคสที่สื่อสารไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ก็ไม่ยอมใช้ล่าม (จุดประสงค์ของการ Hearing คือการสื่อสารกับ Tribunal member ถาม-ตอบ และให้ข้อมูลว่าเคสเราควรจะผ่านเพราะอะไร ไม่ใช่การโชว์ความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษ และถ้าสื่อสารแบบติดๆขัดๆ นอกจากจะไม่ได้ช่วยเคสแล้ว คุณก็ไม่ได้โชว์ความสามารถทางภาษาอยู่ดี)

ทั้ง 3 เคส เราชนะที่ชั้นอุทธรณ์ และเคสจบไปได้ด้วยดี .... 

ข้อมูลอีกอย่างที่ได้จากวันสัมมนา คือ ... 40% ของเคสธุรกิจ - นายจ้างสปอนเซอร์ที่ชั้นอุทธรณ์ใช้ระยะเวลารอเกิน 2 ปี .... เพราะฉะนั้น การตามเคสถี่ๆ ไม่ได้ทำให้เคสเร็วขึ้น คนอื่นเค้าก็รอเคสนานเหมือนคุณ ถ้าไม่มีเหตุผลอันสมควร ไม่ต้องคิดลัดคิว .... สิ่งที่จะช่วยคุณได้คือการใช้เวลาระหว่างรอเคสให้เป็นประโยชน์ที่สุด เก็บเอกสารหลักฐานที่จะต้องใช้ ... ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ปิดโอกาสตัวเองในระหว่างรอ อย่าลืมว่ากฏหมายด้านนี้เปลี่ยนบ่อยมาก คุณอาจจะมีโอกาสยื่นและได้วีซ่าตัวอื่นในระหว่างรอเรื่องก็ได้


Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com 



Q & A : วีซ่า 186 TRT Restaurant Manager ทำไมรอนาน

14/7/2021

 
Q: มีเรื่องอยากปรึกษา เกี่ยวกับ 186ens

หนูเคยถือ 457 restaurant managerใช้ visa หมดแล้ว 4 ปีคะ ตอนนี้ยื่น 186 ens สถานะ bridging อยู่คะ รอ pr มาแล้ว 2 ปี ไม่มีความเคลื่อนไหวที่จะผ่าน state 1 เลยคะ ขอเอกสารไปเมื่อ ปี xxxx  แล้วก้อเงียบ ตรวจสุขภาพแล้ว มี ielts เรียบร้อย เรื่องเงียบไปนานมาก เพราะอาจติดในเรื่อง covid จน xxx ที่ผ่านมา ขอเอกสารอีกเยอะเลยคะ แล้วก้อมี จม.ยืนยันจากร้านแล้วว่า sponsor เราไหว ทั้งๆที่ผ่านวิกฤติที่ปิด dine in เปิดแค่ takeaway covid มาแล้ว (ตัวหนูสงสัยนิดนึงคะ ว่าทำไมเค้ากดดันเรา แทนที่เค้าจะเห็นใจร้านว่าผ่านอะไรมาบ้าง) ร้านฟื้นตัวได้ดีนะคะหลังจาก covid ก้อส่งเอกสารยืนยันไปทั้งหมดแล้วว่า เราขายได้แบบมีกำไรมาบ้างไม่น่าเกียจ แต่ก้อยังเงียบคะ

ช่วงหนึ่งก้อเข้าใจ  แบบที่บทความพี่บอกว่าเราไม่ใช่ first criteria แต่หลังจาก covid ซา เมื่อต้นปีเพื่อนที่ได้ ielts พอๆ กับเรา 2-3 คน (chef) pr ผ่านหมดเลย บางคนยอดขายร้าน drop ด้วย ยังผ่าน เลยกังวลมากๆเลยคะว่าเกิดอะไรขึ้นกับ case เรา ( .... รายละเอียดอื่นที่เกี่ยวกับเอเจนต์ของน้อง คนเขียนไม่ลงในนี้นะคะ...เผื่อเอเจนต์มาอ่าน อาจจะทราบว่าน้องคือใคร เดี๋ยวจะเคืองกันซะเปล่าๆ...) 

ที่อยากจะถามคือ

- 186 รอนานสุด กี่ปีคะ ? (รอจนท้อมากเลยคะตอนนี้)
- เรา chat ถาม immi ใน web เกี่ยวกับความคืบหน้า visa ของเราได้มั้ยคะ ? (กลัวถามแล้ว เดี๋ยว visa โดน reject)
- ถ้าโดนปฎิเสธในช่วงนี้ โดนแบบไหนกันบ้างคะ?  (เพราะรู้สึกว่าตัวร้าน และหนูเองก้อ ค่อนข้างครบ) แต่ก้อเกรงๆว่า จะโดนหาเรื่องปฏิเสธจนได้



A: สงสารคนรอนาน .... แต่น้องเอาเคส Restaurant Manager ไปเทียบกับ Chef ไม่ได้ค่ะ เพราะ
1. Restaurant Manager อยู่ใน STSOL
2. Chef อยู่ใน MLTSSL และตอนนี้อยู่ใน PMSOL (priority list)  - เคสไปเร็วกว่าแน่นอน

ทำไมอิมมิเกรชั่นถึงขอเอกสารเพิ่มมากมาย
1. เพราะคนออสซี่ตกงานกันเยอะ อิมมิเกรชั่นต้องการทราบว่ายังจำเป็นไหมที่จะต้องสปอนเซอร์พนักงาน
2. เพราะเศรษฐกิจแย่ ร้านอยู่ได้ไหม และจะมีเงินจ่ายพนักงานที่ถือ 186 (น้องนั่นเอง) ไปอีก 2 ปีไหม

- 186 รอนานสุด กี่ปี?  .... ตอบไม่ได้เพราะคนเขียนไม่มีข้อมูลภาพรวมจากอิมมิเกรชั่น (เคยได้ยินมาว่าบางเคสรอไป 3-4 ปี ก็ยังรออยู่ แต่คนเขียนไม่ทราบว่าปัญหาของเคสเค้าคืออะไร)

ที่ตอบได้คือเคสของคนขียนเอง เคส 186 TRT Restaurant Manager (อาชีพเดียวกันกับน้อง) ที่ยื่นช่วงโควิด
.... เรายื่น Nomination & visa applications September 2020 และ
.... Nomination approved and 186 visa granted June 2021 ..... สรุปว่า 9 เดือนค่ะ (เคสนี้เป็น Cafe ด้วย ความเสี่ยงสูงกว่า Restaurant แต่เราพยายามทำเคสให้แน่นที่สุด และ Hope for the best)


- เรา chat ถาม immi ใน web เกี่ยวกับความคืบหน้า visa ของเราได้มั้ยคะ .... คนเขียนไม่ทราบว่าน้องหมายถึงตรงไหนของ Web และไม่คิดว่าเป็นช่องทางที่ถูกต้อง ..... และถ้ามีเอเจนต์ดูแลอยู่ ไม่ควรติดต่ออิมมิเกรชั่นเองค่ะ ควรจะเช็คกับเอเจนต์ ถ้าเหมาะสม เค้าคงจะตามให้ หรือเค้าโอเคไหมถ้าน้องจะลองตามเคสเอง .... คนทำงานจะดูแลเคสลำบากถ้าลูกความติดต่ออิมมิเกรชั่นเอง โดยเฉพาะ complex case ที่ strategy การทำงานเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราจะไม่ทราบเลยว่าลูกความให้ข้อมูลอะไรอิมมิเกรชั่นไปบ้างที่อาจจะสร้างปัญหาให้เคส  และถ้าคิดว่าเอเจนต์ไม่ดูแล ก็ถอนเคสไปใช้บริการคนที่น้องคิดว่าจะดูแลน้องได้ดีกว่า (ไม่ได้ประชดนะคะ หมายความตามนี้จริงๆ ถ้าไม่มั่นใจในตัวคนดูแล ต้องหาคนดูแลใหม่ค่ะ) แต่เท่าที่อ่าน คนเขียนว่าเอเจนต์ของน้องก็ใส่ใจนะคะ Proactive ด้วยซ้ำ เอกสารที่คนเขียนไม่ได้เอ่ยถึงในโพสนี้ แต่น้องเขียนมาในอีเมล์ คนเขียนคิดว่าควรรอจนอิมมิเกรชั่นขอค่ะ (ป.ล. เอเจนต์และทนายความแต่ละคน ก็มีสไตล์การทำงานต่างกันนะคะ)

- ถ้าโดนปฎิเสธในช่วงนี้ โดนแบบไหนกันบ้างคะ? .... การเงินของร้าน (มีสถานะทางการเงินดีพอที่จะสปอนเซอร์น้องต่อไปอีก 2 ปีหรือไม่) ประวัติการสปอนเซอร์โดยรวม เอกสารการทำงานของน้องกับร้าน ระยะเวลาการทำงานของน้องกับร้าน ผลภาษาอังกฤษของน้องมีก่อนยื่นไหม .... ยื่นเอกสารครบดีแล้วค่ะ แต่เอกสารต้องมีคุณภาพด้วยนะคะ   


เอาใจช่วยนะคะ ขอให้น้องได้รับข่าวดีเร็วๆนี้


Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com



กฏเปลี่ยน 1 July 2021

2/7/2021

 
ไม่ทั้งหมด แต่สรุปมาให้เท่าที่สรุปได้นะคะ

  1. Partner visa ที่มีข่าวว่าสปอนเซอร์จะต้องยื่นใบสมัครและได้รับอนุมัติก่อน ผู้สมัครถึงจะยื่นใบสมัครวีซ่าได้ ณ ตอนนี้ (2 July 21 9pm) ยังไม่ปรับใช้นะคะ คาดว่าจะปรับใช้ในปีนี้แหละค่ะ (เมื่อไหร่ ยังไม่ได้ประกาศออกมา)
  2. ค่ายื่นวีซ่าหลายๆตัว (แต่ไม่ทุกตัว) ขึ้นราคา เช็คค่ายื่นกันที่นี่ค่ะ
  3. ค่ายื่น Citizenship application ก็ขึ้นราคา เช็คได้ที่นี่
  4. ค่ายื่นอุทธรณ์ Migration Review application ขึ้นราคา เป็น $3000
  5.  ค่าอุทธรณ์ Refugee Review application (Protection visa ด้วย) = $1846 (ชำระถ้าแพ้คดี)
  6. ค่าตรวจสุขภาพก็ขี้นราคาค่ะ เช็คได้ที่นี่
  7. ใบสมัคร Bridging visa E ยื่นผ่านอีเมล์ไม่ได้แล้วนะคะ เป็นทาง ImmiAccount หรือทางเมล์/courier เท่านั้น (คนเขียนเชื่อว่าประเด็นนี้ไม่กระทบน้องๆเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ก็ยื่นผ่าน ImmiAccount กัน จะมีก็ Professionals บางคน รวมถึงคนเขียนด้วย ที่บางทีก็ยื่นผ่านอีเมล์ด้วยเหตุผลทางเทคนิค)
  8. อาชีพยอดฮิต Chef ตอนนี้อยู่ใน Priority Migration Skilled Occupation List (PMSOL) ด้วย  อาชีพอยู่ใน PMSOL ดียังไง ดีเพราะ Nomination และวีซ่าแบบมีนายจ้างสปอนเซอร์จะได้รับการพิจารณาเร็ว (Priority Processing)

The Priority Migration Skilled Occupation List
ตอนนี้มี 41 อาชีพ (* คืออาชีพที่เพิ่มมาเมื่อ June 2021):


  • Chief Executive or Managing Director (111111)
  • Construction Project Manager (133111)
  • Accountant (General) (221111)*
  • Management Accountant (221112)*
  • Taxation Accountant (221113)*
  • External Auditor (221213)*
  • Internal Auditor (221214)*
  • Surveyor (232212)*
  • Cartographer (232213)*
  • Other Spatial Scientist (232214)*
  • Civil Engineer (233211)*
  • Geotechnical Engineer (233212)*
  • Structural Engineer (233214)*
  • Transport Engineer (233215)*
  • Electrical Engineer (233311)*
  • Mechanical Engineer (233512)
  • Mining Engineer (excluding Petroleum) (233611)*
  • Petroleum Engineer (233612)*
  • Medical Laboratory Scientist (234611)*
  • Veterinarian (234711)
  • Orthotist or Prosthetist (251912)*
  • General Practitioner (253111)
  • Resident Medical Officer (253112)
  • Psychiatrist (253411)
  • Medical Practitioners nec (253999)
  • Midwife (254111)
  • Registered Nurse (Aged Care) (254412)
  • Registered Nurse (Critical Care and Emergency) (254415)
  • Registered Nurse (Medical) (254418)
  • Registered Nurse (Mental Health) (254422)
  • Registered Nurse (Perioperative) (254423)
  • Registered Nurses nec (254499)
  • Multimedia Specialist (261211)*
  • Analyst Programmer (261311)*
  • Developer Programmer (261312)
  • Software Engineer (261313)
  • Software and Applications Programmers nec (261399)*
  • ICT Security Specialist (262112)*
  • Social Worker (272511)
  • Maintenance Planner (312911)
  • Chef (351311)*

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com


Q & A : วีซ่า 187 กับการเรียน 5 ปี เพื่อยกเว้นผลภาษาอังกฤษ

25/6/2021

 
Q: พยายามสอบภาษาอังกฤษมาหลายรอบแล้ว แต่ไม่ผ่านซักที ได้ยินมาว่าวีซ่า 187 ยังใช้ผลการเรียน 5 ปี แทนผลภาษาอังกฤษได้อยู่ จริงไหมคะ

A: จริงค่ะ  สำหรับ 187 Temporary Residence Transition Stream (187TRT) เท่านั้น

แต่นโยบายการพิจารณาผลการเรียน 5 ปี ไม่นิ่ง ขึ้นอยู่กับการตีความของอิมมิเกรชั่นในแต่ละช่วงเวลา บางช่วงเวลาก็นับได้หมด ยกเว้น General English บางช่วงก็นับได้เฉพาะการเรียนระดับมัธยมและปริญญา .... จริงอยู่ นโยบายไม่ใช่ข้อกฏหมาย เราโต้เถียงได้ แต่ใครจะอยากเสี่ยงถูกปฏิเสธวีซ่า ถ้าไม่จำเป็น

เพราะฉะนั้น แนะนำว่าพยายามสอบภาษาอังกฤษ (เช่น IELTS, PTE) ให้ผ่านดีกว่าค่ะ ถ้าสอบไม่ผ่านจริงๆ ค่อยมาเสี่ยงใช้ผลการเรียน 5 ปี

 

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com


Q & A : ป่วยระหว่างรอผลวีซ่า 186

28/12/2020

 
Q: ผมยื่นวีซ่า 186 แต่ตอนนี้วีซ่ายังไม่ออกครับ ระหว่างรอผมมีปัญหาสุขภาพและไม่ได้ไปทำงาน ตอนนี้ถือบริดจิ้ง 186 ถ้าผมรอที่นี่ไปเรื่อยๆ วีซ่าจะโดนแคลเซิลไหมครับ หรือ มีสิทธิ์ที่วีซ่าจะออกไหมครับ แล้ว ถ้ากรณีโดนยกเลิกวีซ่า ขออุทธรณ์ได้ไหมครับ

ปล. ทางร้านไม่แจ้งอิมและยังจ่ายเงินเดือนมาให้เรื่อยๆต่ออีกหลายเดือนครับ


A: เป็นอะไรที่ตอบยากนะคะ เพราะข้อมูลไม่ละเอียดพอ  ขอตอบให้คร่าวๆละกันค่ะ

ถ้าไม่ได้ไปทำงานเพราะป่วย คือลาป่วย และนายจ้างยังจ่ายค่าจ้างระหว่างรอให้น้องสุขภาพดีขึ้นและกลับมาทำงานได้ตามปกติ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรนะคะ โอกาสที่จะได้วีซ่าก็ยังมีค่ะ เก็บเอกสารทุกอย่างไว้ เผื่อจำเป็นต้องใช้ ถ้าถูกปฏิเสธก็ยื่นอุทธรณ์ได้ค่ะ

ถ้าไม่ได้ไปทำงานเพราะป่วยจนไม่สามารถทำงานในตำแหน่งที่ได้รับการสปอนเซอร์ได้อีกต่อไปแบบถาวร โอกาสที่ Nomination application และ/หรือ 186 visa application จะถูกปฏิเสธก็มีค่ะ และถ้าได้วีซ่ามา โอกาสที่จะถูกยกเลิกวีซ่าก็มีเช่นกัน อุทธรณ์ได้ค่ะ ส่วนจะชนะหรือไม่อีกเรื่องนึง ต้องทราบรายละเอียดมากกว่านี้ โอกาสที่จะไปต่อในชั้นการพิจารณาอื่นอาจจะมี ขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่แท้จริงของเคสและเอกสารประกอบการพิจารณา 



Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com



Q & A : ยื่น 186 ที่ 23 เดือน

27/7/2020

 
Q: ผมมีข้อสงสัยรบกวนถามครับผม ผมถือ Visa 457 Transitional arrangements จะทำงานครบ2ปี กับนายจ้างใหม่ ในวันที่10 September นี้ครับ ผมได้อ่านเจอบทความหนึ่งบอกว่าสามารถเริ่มยื่นapply Visa 186 ได้ตอนทำงานครบ23เดือน เลย ไม่ต้องรอให้ครบ 24เดือนหรือ 2ปี เต็ม เป็นความจริงหรือเปล่าครับ ขอบคุณครับ

A: (ตอบสั้นๆ) จริงค่ะ

(ตอบยาวๆ) เป็น Policy (นโยบาย) นะคะ กฏหมายไม่ได้ระบุว่าทำได้  นโยบายเปลี่ยนได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องผ่านสภา ......... ณ ตอนที่คนเขียนตอบคำถามนี้ (ค่ะ...เช็คให้...ก่อนตอบ) นโยบายนี้ยังใช้อยู่  

สำหรับคนเขียน ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ จะไม่ยื่นที่ 23 เดือน และถ้าไม่จำเป็นจริงๆ จะไม่ follow policy ที่ไม่มีกฏหมายมารองรับ

ถ้าน้องจำเป็นต้องยื่นที่ 23 เดือนจริงๆ ต้องแน่ใจว่าน้องเช็คเงื่อนไขทุกข้ออย่างละเอียดนะคะ No room for mistakes  ในโพสนี้คนเขียนให้รายละเอียดไว้ค่อนข้างเยอะ (เคสนี้ไม่ได้ยื่นที่ 23 เดือนเพราะนโยบายนี้ยังไม่เกิด แต่ลูกความยื่นที่ 2 ปี .... ยังเกิดปัญหา)

ป.ล. วีซ่าแต่ละตัวไม่ได้มีเงื่อนไขเดียว และสถานการณ์ของแต่ละเคสก็ไม่เหมือนกัน โฟกัสไปที่จุดๆเดียว/ประเด็นเดียวไม่ได้ค่ะ  คนเขียนเสียเวลามากกว่าในการตอบยาวๆ แต่เต็มใจ เผื่อน้องจะได้ประโยชน์มากกว่า ขนาดคนเขียนคุยกับเพื่อนที่ทำงานด้านเดียวกัน รู้ข้อกฏหมาย/นโยบายเหมือนกัน เรายังไม่ตอบกันแค่ Yes/No เลยค่ะ เหมือนจะได้อะไร แต่ไม่ได้อะไร

เมื่อวานเพื่อนคนเขียนที่เป็นทนายอยู่เมลเบิร์นโทรมาถามว่าเคส Child visa (วีซ่าลูก) แพ้ที่ชั้นอุทธรณ์ AAT จะยื่นอุทธรณ์ต่อไปที่ Federal Circuit Court ได้ไหม คำตอบสั้นๆคือได้ ไม่ถึงนาทีจบ แต่เราคุยกัน 45 นาที สุดท้ายคนเขียนบอกเพื่อนให้ไปหาข้อมูลเกี่ยวกับเคสเพิ่มเติมก่อน ค่อยมาคุยกันอีกรอบ ก่อนตัดสินใจยื่น


Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com


Q & A : ความเห็นที่สอง 457 Transitional Arrangements

15/7/2020

 
Q: ผมอ่านโพสของพี่เกี่ยวกับวีซ่า 457 Transitional arrangements แล้วสมัคร 186 แล้วผมก็งงกับชีวิต คือผมถือ 457 มาตั้งแต่กุมภา 2017 และทำตำแหน่ง Restaurant Manager กับนายจ้างมาเกิน 3 ปีแล้ว (คือผมคิดว่าต้องทำครบ 3 ปี) พอผมติดต่อไปที่เอเจนต์เพื่อยื่นขอพีอาร์ เอเจนต์บอกว่า Restaurant Manager ยื่นขอ 186 ไม่ได้แล้ว ให้ผมไปหางานตำแหน่ง Chef แทนเพราะอยู่ในลิสที่ขอพีอาร์ได้  พออ่านโพสของพี่ ผมเลยไม่แน่ใจ พี่คิดว่ายังไงครับ

A: น้องถือวีซ่า 457 ก่อนวันที่ 18 April 2017 น้องก็เข้า Transitional arrangements สำหรับการต่อยอดไปวีซ่า 186

ตำแหน่ง Restaurant Manager = ok
ทำงานครบ 2 ปี = ok


ไม่มีความจำเป็นต้องไปหางานใหม่ ให้เสียเงิน เสียเวลา

ป.ล. น้องหมายถึงโพสนี้ค่ะ

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com


แชร์ประสบการณ์ Subclass 186 visa

11/7/2020

 
โพสนี้ Advance อีกแล้ว เป็นเคส 457 Transitional arrangements ต่อยอดไป 186

Transitional arrangements คืออะไร ???


  • คือกฏเก่า สำหรับคนที่ ณ วันที่ (หรือก่อนวันที่) 18 April 2017 ถือ 457 หรือคนที่ยื่นใบสมัครไปแล้วและอยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาและในที่สุดก็ได้ 457 มาครอง
  • เงื่อนไขคือ ทำงานกับนายจ้างในตำแหน่งที่ได้รับการสปอนเซอร์อย่างน้อย 2 ปี ก็จะขอ 186 / 187 ได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าตอนยื่น 186 / 187 สาขาอาชีพจะยังอยู่ในลิสสำหรับยื่น 186 / 187 หรือไม่ (ไม่เกี่ยวเลย)

เคสนี้เรายื่น Nomination และ 457 visa application เดือน March 2017 ปรากฏว่าเดือน April 2017 (ระหว่างการพิจารณา) กฏเปลี่ยนครั้งใหญ่ก็มา แบบไม่บอกล่วงหน้า บอกปุ๊บก็บังคับใช้เลย

  • หลายสาขาอาชีพหายไปจากลิสสำหรับการสปอนเซอร์ = สาขาอาชีพของลูกความก็หายไปด้วย !
  • กฏเปลี่ยนนี้บังคับใช้ทั้งกับเคสใหม่ และเคสที่อยู่ระหว่างการพิจารณาด้วย = ลูกความก็โดนด้วยสิ !!
  • คนเขียนก็ทั้งเหวอและมึน อยู่ๆก็เจอ Dead case ซะอย่างงั้น

คนเขียนก็ได้รับจดหมายจากอิมมิเกรชั่นเชิญให้นายจ้างถอน Nomination application ถ้าไม่ถอน ก็จะถูกปฏิเสธ เพราะสาขาอาชีพถูกตัดออกไปจากลิสแล้ว ยังไงก็อนุมัติไม่ได้ ..... ทำยังไงดีล่ะ??? ..... ก็ถอนเรื่องสิคะ ไม่มีทางเลือก

และเมื่อไม่มี Nomination วีซ่า 457 ก็ไปต่อไม่ได้ ถ้าไม่ถอนเรื่องก็จะถูกปฏิเสธ ..... ลูกความร้องไห้ อนาคตหายวับไปกับกฏเปลี่ยน ..... คนเขียนก็บอกลูกความแบบมึนๆว่า อย่าเพิ่งถอน Visa application นะ ขอคิดก่อน (มันต้องมีทางสิ)

จริงๆคนเขียนไม่ต้องทำอะไรเลยก็ได้ เพราะหน้าที่ในความรับผิดชอบของตัวเองก็ทำไปแล้ว ยื่น Decision Ready application รอแค่ผลการพิจารณาอย่างเดียว กฏเปลี่ยนกะทันหัน เป็นอะไรที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ..... แต่ ..... ในเมื่อมาเป็นลูกความกันแล้ว เราก็ต้องไม่ทิ้งกันใช่ไหม

หลังจากหายเหวอ หายมึน ก็ใช้เวลาคิดและทำ Research ไปหลายอาทิตย์ (ไม่ใช่แค่หลายวัน) ..... ฟรีด้วย ไม่ได้คิดตังค์เพิ่ม ส่วนนึงเพราะสงสารลูกความ อีกส่วนเพราะการหาทางช่วย Dead case มันท้าทาย เหนื่อยแต่สนุก

คิดอยู่หลายทาง บางทางก็แพ๊งแพงและเสี่ยงมาก ..... และแล้วไอเดียบรรเจิดก็มา เรายื่น Nomination ใหม่ นายจ้างเดิม ตำแหน่งเดิม (เคสนี้ลูกความขยับไปตำแหน่งอื่นไม่ได้ เพราะเป็น Skills ที่เฉพาะทางมากๆ) ..... ลูกความก็สุดแสนจะไว้ใจ ให้คนเขียนลองอะไรใหม่ๆ  คือจริงๆลูกความก็ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ถ้าลองอาจจะได้วีซ่า ถ้าไม่ลองก็เป็น Dead case แพ๊คกระเป๋ากลับบ้าน

สรุปว่าอิมมิเกรชั่นใช้เวลาพิจารณา Nomination ใหม่ไอเดียบรรเจิดของคนเขียนไปเกือบปี ในที่สุดคุณลูกความก็ได้วีซ่า 457 มาครอง (ไม่มีขอเอกสารเพิ่ม แต่คิดนานมากกกกก) ..... รอ 1 ปี ได้วีซ่า 2 ปี

ทำไมคนเขียนแนะนำให้ลูกความไม่ถอนเรื่อง ทั้งๆที่ถ้าไม่ถอนเรื่องอาจจะถูกปฏิเสธวีซ่า ..... เพราะลูกความยื่นใบสมัคร 457 ก่อนที่กฏจะเปลี่ยน ถ้าวีซ่าผ่านขึ้นมา ลูกความก็จะเข้า Transitional arrangements (ทำงานกับนายจ้างครบ 2 ปี มีสิทธิ์ยื่นขอพีอาร์ไม่ว่าสาขาอาชีพจะอยู่ใน Short term list หรือ Medium/Long list หรือหายไปจากลิสก็ตาม) แต่ถ้าถอนเรื่องแล้วยื่นใหม่ สาขาอาชีพใน Short term list จะต่อยอดไป 186 ไม่ได้ (Strategy การทำงานสำคัญเสมอ)

และแล้วลูกความก็ทำงานครบ 2 ปี ได้เวลายื่นพีอาร์ ถ้าวันนั้นถอดใจไม่ยอมเสี่ยงลุยต่อ คงไม่มีวันนี้ที่ลูกความจะได้ยื่นพีอาร์ ..... แต่ปัญหาไม่จบสิ ..... ใครที่เคยยื่น 457 หรือ 482 และรอยื่นพีอาร์ คงพอทราบว่าการยื่น Nomination นายจ้างจะต้องพิสูจน์ว่าเงินเดือนที่เสนอให้เราเป็น Annual Market Salary Rate คือจะต้องไม่ต่ำกว่าเงินเดือนที่จ่ายลูกจ้างออสซี่ที่ทำงานตำแหน่งเดียวกับเรา หรือถ้าไม่มีลูกจ้างที่เป็นออสซี่ ก็ต้องไปหาหลักฐานอย่างอื่น (ตามที่กฏหมายกำหนด) มาโชว์ว่าเงินเดือนที่เสนอให้เรามันสมเหตุสมผลและเป็นราคาตลาด

เนื่องจากเคสนี้ ทั้งบริษัทมีแค่ Director และมีลูกจ้างเพียงคนเดียวคือลูกความ ไม่มีลูกจ้างออสซี่เลย และลูกความทำงานในตำแหน่งที่ใช้ Skills เฉพาะทางมากๆ หาหลักฐาน Annual Market Salary Rate ตามที่กฏหมายกำหนดไม่ได้เลย ..... ไอเดียบรรเจิดก็ต้องมี งานโฆษณาชวนเชื่อก็ต้องมา และก็ลุ้นกันต่อว่าจะรอดหรือไม่รอด

สรุปว่ารอดค่ะ ยื่น February 2020 ก่อน COVID-19 .... ทั้ง Nomination & วีซ่า 186 ผ่านเมื่อวันก่อน (แบบไม่ขออะไรเพิ่มเลย) ..... 5 เดือนพอดี  บริษัทนี้ก็ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ต้องปิดชั่วคราวและขาดรายได้เหมือนหลายๆธุรกิจ ซึ่งหลายๆเคสตอนนี้อาจจะเจอขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตำแหน่งที่ยื่นขอ เช่นยังจำเป็นต้องมี ต้องสปอนเซอร์ไหม และสถานะการเงินดีพอที่จะจ่ายค่าแรงหรือไม่ (เตรียมตัวกันไว้ด้วยนะคะ)

หลายๆคนที่ถือ 457 Transitional arrangements (ทำงานครบ 2 ปี ยื่นขอพีอาร์ได้) อาจจะสงสัยว่า ถ้าได้วีซ่ามาแค่ 2 ปี จะยื่น 186 ได้ไหม หรือต้องต่อ 482 ไปก่อน คำตอบคือถ้า Manage ดีๆ ไม่มี unpaid leave เลย และตอนที่ได้วีซ่า 457 ก็อยู่ในประเทศออสเตรเลียและทำงานกับนายจ้างอยู่แล้ว มีความเป็นไปได้สูงค่ะ (case by case)


Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com


Subclass 186 in progress

9/7/2020

 
สำหรับน้องๆที่ยื่น Subclass 186 คงทราบว่าช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหา COVID-19 อิมมิเกรชั่นไปโฟกัสที่สาขาอาชีพที่อยู่ใน Critical sectors เช่นหมอ พยาบาล 

ใครที่ยื่นในสาขาอาชีพ Non-critical sectors ก็รอกันไป

ข่าวดีคืออิมมิเกรชั่นเริ่มพิจารณา Subclass 186 non-critical occupations แล้วนะคะ เมื่อวานคนเขียนก็ได้แจ้งข่าวดีกับลูกความไป .... เคสนี้เรายื่นเดือน February และวีซ่าออกเมื่อวาน ....  ก็ 5 เดือนพอดีค่ะ

เคสนี้ยากและประสบปัญหามาตั้งแต่การยื่นวีซ่า 457 เดี๋ยวว่างๆคนเขียนจะมาแชร์ประสบการณ์ให้อ่านกันนะคะ

ใครที่กำลังรอเรื่องอยู่ ก็ทำใจร่มๆนะคะ เดี๋ยวก็ถึงคิวเรา

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com


ถาม-ตอบ COVID-19 กับผลกระทบต่อวีซ่า

28/3/2020

 
โพสนี้ คนเขียนรวบรวมคำถามที่น้องๆถามเข้ามาเกี่ยวกับผลกระทบกับวีซ่าจาก COVID-19 นะคะ

Original post: 28 March 2020 ตัวหนังสือสีเทาอ่อน
Update 1: 4 April 2020 ตัวหนังสือสีน้ำเงิน          



ถือวีซ่าท่องเที่ยว ไม่ติด 8503 (No further stay condition)

===>>  ยื่นขอต่อวีซ่าท่องเที่ยว หรือมีวีซ่าตัวอื่นที่เรามีคุณสมบัติถึงก่อนวีซ่าตัวเดิมหมดอายุ


ถือวีซ่าที่ติด No further stay condition : 8503, 8534 หรือ 8535

===>>  ยื่นขอยกเว้นเงื่อนไข No further stay แต่เนิ่นๆ 2 เดือนก่อนวีซ่าตัวเดิมหมดอายุ เพราะระยะการพิจารณาต้องใช้เวลาพอสมควร

===>> เมื่ออิมมิเกรชั่นยกเว้นเงื่อนไข ก็สามารถยื่นขอวีซ่าท่องเที่ยวหรือวีซ่าตัวอื่นที่เรามีคุณสมบัติถึง

===>> ยื่นขอวีซ่าตัวใหม่ก่อนได้รับยกเว้นเงื่อนไข = Invalid application 


ถือวีซ่า 457 หรือ 482 แต่นายจ้างให้หยุดงานชั่วคราว เพราะธุรกิจต้องปิดให้บริการตามรัฐบาลกำหนด

===>>  ใช้ Annual leave (paid leave) ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน Employment Contract นอกจากจะยังมีรายได้แล้ว ยังสามารถนับเวลาสำหรับการยื่น PR ได้ด้วย

===>>  นายจ้างให้หยุดแบบไม่จ่ายค่าจ้าง (stand down) หรือมีการทำ Leave without pay ควรมีการทำบันทึกไว้ด้วยนะคะเผื่ออิมมิเกรชั่น (Monitoring Unit) มาตรวจในภายหลัง อย่าลืมว่านายจ้างมีหน้าที่ต้อง Keep records

===>> ตามนโยบายของอิมมิเกรชั่น Leave without pay 3 เดือนไม่น่าจะมีปัญหา โน๊ตว่าตอนนี้อิมมิเกรชั่นใช้ Flexible approach (ยืดหยุ่นให้ตามสถานการณ์ของแต่ละเคส ย้ำที่ขีดเส้นใต้) ซึ่ง ณ จุดนี้ยังไม่ชัดเจนว่า Flexible approach คือแค่ไหน ยังไงบ้าง  โน๊ตว่าระยะเวลาที่ใช้ Leave without pay โดยปกติจะนับเป็นเวลาสะสมสำหรับการยื่น PR ไม่ได้นะคะ (ถ้านโยบายเปลี่ยน หรือมีอัพเดทอะไร ก็จะมาอัพเดทให้ทราบที่โพสนี้)

===>>  สามารถนับเวลาระหว่างหยุดงานชั่วคราวสำหรับการยื่น PR ได้ ไม่ว่าจะหยุดแบบได้รับหรือไม่ได้รับค่าจ้าง

===>>  รัฐอนุญาตให้ถอนเงินจาก Superannuation fund ได้ $10,000 สำหรับปีภาษีนี้


ถือวีซ่า 457 หรือ 482 แต่นายจ้างให้หยุดงานชั่วคราว เพราะธุรกิจต้องปิดให้บริการตามรัฐบาลกำหนด สามารถทำงานที่อื่นในระหว่างที่นายจ้างให้หยุดงานได้ไหม

===>>  ตามกฏหมายแล้วไม่ได้ค่ะ  สำหรับวีซ่า 457 ผิดเงื่อนไข 8107  ส่วนวีซ่า 482 ผิดเงื่อนไข 8607
คือนายจ้างใหม่ต้องมี Approved Nomination ก่อน เราถึงจะทำงานได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขวีซ่า พอนายจ้างเดิมเรียกตัวกลับไปทำงาน นายจ้างเดิมก็ต้องทำ Nomination ใหม่และรอ Approve ก่อน เราถึงจะกลับไปทำงานได้ค่ะ

===>>  แล้วจะอยู่ยังไง ยังต้องกินต้องใช้ ยังมีค่าใช้จ่าย นั่นแหละคือปัญหา ซึ่งอิมมิเกรชั่นทราบ และคนเขียนคาดว่า (wishful thinking) อิมมิเกรชั่นจะมีประกาศแนวทางที่ยืดหยุ่นในประเด็นนี้เร็วๆนี้ค่ะ  (ถ้ามีความคืบหน้า จะมาอัพเดทให้ที่โพสนี้นะคะ)
  
===>>  รัฐอนุญาตให้ถอนเงินจาก Superannuation fund ได้ $10,000 สำหรับปีภาษีนี้


ถือวีซ่า 457 หรือ 482 แต่นายจ้างเลิกจ้างถาวร

===>>  หางานใหม่ที่นายจ้างพร้อมจะสปอนเซอร์และยื่น Nomination application ภายใน 60 วัน 

===>>  ตอนนี้อิมมิเกรชั่นใช้ Flexible approach (ยืดหยุ่นให้ตามสถานการณ์ของแต่ละเคส) อาจจะยืดหยุ่นในเรื่องเวลา แต่ก็ยังไม่มีประกาศออกมา เพราะฉะนั้น พยายามหานายจ้างใหม่ให้ได้ภายใน 60 วัน  ถ้าหาไม่ได้ ก็ไปลุ้นกับ Flexible approach ของอิมมิเกรชั่นเอาดาบหน้าค่ะ

===>>  รัฐระบุว่าถ้าถูกเลิกจ้างและหาสปอนเซอร์ใหม่ไม่ได้ภายในเงื่อนไข 60 วัน ก็ควรจะกลับออกไปค่ะ (คือยังไม่มีความยืดหยุ่นในส่วนนี้) 

===>>  ถ้ามีการ Re-employed หลังจากเรื่อง COVID-19 จบลง ก็สามารถนับเวลาการทำงานในประเทศออสเตรเลียสำหรับการยื่น PR ได้ (โน๊ตว่าตอนนี้คนเขียนไม่แน่ใจว่าหมายถึงการ Re-employed โดยนายจ้างเดิมเท่านั้น หรือนายจ้างใหม่ก็สามารถนับเวลาได้ด้วย รอประกาศเพิ่มเติมค่ะ)



ถือวีซ่า 457 หรือ 482 แต่นายจ้างลดชั่วโมงการทำงาน และลดค่าจ้าง

===>>  จริงๆแล้วทำไม่ได้นะคะ เพราะ 457 และ 482 เป็นวีซ่าที่นายจ้างสปอนเซอร์มาทำงาน full-time ในตำแหน่งที่ขาดแคลน

===>>  ตอนนี้ยังไม่มีประกาศจากอิมมิเกรชั่นที่จะยกเว้นเงื่อนไข full-time แต่คนเขียนคิดว่า (wishful thinking อีกแล้ว) อิมมิเกรชั่นน่าจะประกาศแนวทางที่ยืดหยุ่นในประเด็นนี้เร็วๆนี้ เพราะเป็นสถานการณ์ที่ธุรกิจส่วนใหญ่จะต้องเลือกระหว่างลดชั่วโมง ลดค่าจ้าง vs หยุดงานแบบไม่มีค่าจ้าง vs เลิกจ้าง

===>>  ถ้านายจ้างไม่มีทางเลือกและจำเป็นที่จะต้องลดชั่วโมงการทำงานและลดค่าจ้าง อย่างนึงที่ควรจะต้องทำให้ได้ คือจ่ายค่าจ้างในเรทที่ถูกต้องในลักษณะ Pro-rata คือเคยจ่ายชั่วโมงละเท่าไหร่ตอนทำงาน full-time ก็จ่ายชั่วโมงละเท่าเดิม ไม่มีการลดเรทค่าแรงนะคะ 

===>>  นายจ้างสามารถลดชั่วโมงการทำงานได้โดยไม่ผิด Sponsorship obligations และลูกจ้างก็ไม่ผิดเงื่อนไขวีซ่า 


ถือ Bridging visa A ระหว่างรอผลการพิจารณาวีซ่า 186 แต่นายจ้างให้หยุดงานชั่วคราวแบบไม่จ่ายค่าจ้าง เพราะธุรกิจต้องปิดให้บริการตามที่รัฐบาลกำหนด

===>>  ไม่มีปัญหาค่ะ ธุรกิจเปิดเมื่อไหร่ก็กลับไปทำต่อนะคะ

===>>  รัฐอนุญาตให้ถอนเงินจาก Superannuation fund ได้ $10,000 สำหรับปีภาษีนี้


ตอนนี้ยื่นใบสมัครวีซ่าถาวร หรือวีซ่า 820 (Stage1 Partner visa) ไปแล้ว อยู่ระหว่างรอการพิจารณา

===>>  ขอ Medicare ได้ค่ะ ไม่จำเป็นต้องรอให้วีซ่าเดิมหมดอายุ ยื่นใบสมัครเรียบร้อยก็ยื่นขอ Medicare ได้เลยค่ะ

===>> ขอ Stimulus package จาก Centrelink ไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิ์ของคนที่ถือพีอาร์ หรือเป็น Australian citizen เท่านั้น

===>>  ตอนนี้มีหลายๆหน่วยงานพยายามล๊อบบี้ให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือคนที่ถือวีซ่าชั่วคราวด้วย แต่ยังไม่มีนโยบายอะไรออกมานะคะ

===>>  รัฐอนุญาตให้ถอนเงินจาก Superannuation fund ได้ $10,000 สำหรับปีภาษีนี้


ตอนนี้ถือวีซ่าทำงาน 491, 494 (Regional visas)

===>>  ขอ Medicare ได้ค่ะ  แต่ขอ Stimulus package จาก Centrelink ไม่ได้ (อ่านข้างบนนะคะ)

===>>  รัฐอนุญาตให้ถอนเงินจาก Superannuation fund ได้ $10,000 สำหรับปีภาษีนี้


ตอนนี้อยู่ที่ออสเตรเลีย แต่วีซ่าหมดอายุไปแล้ว

===>>  ติดต่อขอคำแนะนำค่ะ อาจจะยังมีวีซ่าที่สามารถยื่นได้

===>>  ถ้าต้องการแค่รอเวลาสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย กลับไทยได้เมื่อไหร่ก็จะกลับและไม่ได้คิดที่จะขอวีซ่าอื่น ติดต่ออิมมิเกรชั่นเพื่อขอ Bridging visa E เพื่อที่จะอยู่ที่นี่ได้อย่างถูกกฏหมายในระหว่างรอ


ตอนนี้อยู่ประเทศไทย แต่กลับมาที่ออสเตรเลียไม่ได้ และ Bridging visa B หมดอายุ

===>>  Bridging visa B ต่ออายุไม่ได้ และไม่สามารถสมัครได้ถ้าอยู่นอกประเทศออสเตรเลีย เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย อาจจะลองยื่นใบสมัครวีซ่าท่องเที่ยว หรือวีซ่าอื่นที่มีคุณสมบัติถึง


ตอนนี้อยู่ประเทศไทย ถือวีซ่านักเรียน แต่กลับเข้ามาไม่ได้

===>>  ติดต่อโรงเรียน หรือ Education Agent เพื่อทำเรื่องขอ Defer คอร์ส

===>>  ถ้าวีซ่านักเรียนหมดอายุในระหว่างที่อยู่ไทย เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ก็ต้องยื่นใบสมัครเพื่อขอวีซ่านักเรียนตัวใหม่ค่ะ


ตอนนี้เรื่องอยู่ที่ชั้นอุทธรณ์ AAT จะต้องรออีกนานไหม

===>>  AAT ยังพิจารณาเคสอยู่นะคะ การ Hearing ก็จะเป็นทางโทรศัพท์ หรือ Video link แทน ความล่าช้า (จากที่ปกติก็ล่าช้าอยู่แล้ว) ก็เป็นอะไรที่เข้าใจได้นะคะ เพราะต้องปรับเปลี่ยนหลายอย่างให้เหมาะสมกับสถานการณ์ COVID-19 แต่อย่างน้อย AAT ก็ยังไม่ได้มีประกาศหยุดการพิจารณา


ป.ล. มีหลายคำถามที่คนเขียนก็ไม่มีคำตอบให้นะคะ ต้องรอรัฐบาลหรืออิมมิเกรชั่นประกาศเพิ่มเติม ก็ตอบให้เท่าที่ตอบได้ และจะมาอัพเดทให้เมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติม  คำถามเกี่ยวกับ Centrelink รบกวนถามหน่วยงานโดยตรงนะคะ


Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

แชร์ประสบการณ์ ความสำคัญของความเห็นที่สอง

24/1/2019

 
เคสนี้เป็นเรื่องของลูกความแถบยุโรบคู่หนึ่งที่มาด้วย Working Holiday visa และทำวีซ่า 457 กับเอเจนต์อื่น

ลูกความติดต่อมาหาคนเขียนครั้งแรกกลางปี 2016 Standard Business Sponsorship (SBS) application          ถูกปฏิเสธเพราะเอเจนต์คำนวนค่าเทรนนิ่งผิด เอเจนต์แนะนำให้ยื่นอุทธรณ์ คนเขียนแนะนำให้ยื่นเรื่องใหม่เข้าไปที่อิมมิเกรชั่น เพราะเป็นประเด็นที่แก้ไขได้ และยื่นใหม่เร็วกว่ายื่นอุทธรณ์แน่นอน ลูกความอยากเปลี่ยนมาให้คนเขียนดูแล แต่นายจ้างยังมั่นคงกับเอเจนต์เดิม (ปัญหาโลกแตก ต้องปล่อยให้นายจ้างลูกจ้างตกลงกันเอาเอง)

เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ลูกความติดต่อมาอีกครั้งเมื่อธันวาคม 2018 และจะให้คนเขียนยื่นขอพีอาร์ให้

คนเขียนก็คิดว่าลูกความต้องการต่อยอดจาก 457 เป็นวีซ่าพีอาร์ 186 .... คือดูจากเวลาแล้วน่าจะใช่ น่าจะถือ 457 (เข้ากฏเก่า) มาแล้ว 2 ปี

ปรากฏว่าความเป็นจริงห่างไกลจากที่คิดไว้เยอะเลยค่ะ ที่หายไป 2 ปีกว่า คนเขียนวิเคราะห์ได้ตามข้างล่าง คือต้องวิเคราะห์เองจากเอกสาร เพราะถามอะไรลูกความก็ทำหน้างงๆ --- คืองงอะไร ไม่เข้าใจ จะว่าภาษาไม่ดีก็ไม่ใช่ เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาเกิด ....... สรุปว่าเพราะเอเจนต์ไม่เคยอธิบายอะไรเลย ....และลูกความก็เกรงใจ ....... ไม่กล้าถาม!!!! .....เอกสารที่คนเขียนขอไป ตอนแรกก็ไม่มีให้ คือเกรงใจไม่กล้าขอจากเอเจนต์ จนคนเขียนต้องบอกว่าถ้าไม่มีเอกสารก็ไม่ต้องมา หมดปัญญาช่วย .... คือจะให้นั่งเทียนหรือไง ถามอะไรก็ตอบไม่ได้ ขออะไรก็ไม่มี

สรุปว่าเคสนี้

1. SBS ที่แนะนำให้ยื่นใหม่ ผ่านไปได้ด้วยดี
2. Nomination ไม่ผ่าน และตอนนี้เรื่องอยู่ที่ชั้นอุทธรณ์
3. วีซ่า 457 ก็แน่นอน..ไม่ผ่าน (เพราะ Nomination ไม่ผ่าน) และเรื่องอยู่ที่ชั้นอุทธรณ์เหมือนกัน (และเอเจนต์ก็ยื่นใบสมัครวีซ่าเลท คือหลังวันที่ 18 April 2017 ต่อให้ลูกความได้วีซ่า ก็เข้ากฏใหม่ อาชีพ STSOL ต่อยอดจาก 457 ไปพีอาร์ไม่ได้)

ที่หนักกว่านั้นคือเช็ค VEVO แล้วไปเจอว่าจากที่เคยถือ Bridging visa B (BVB) อยู่ กลายเป็นตอนนี้ไม่มีวีซ่า

..... สรุปว่าสองคนที่นั่งอยู่ตรงหน้าคนเขียนไม่มีวีซ่า!!!!!  แต่ต้องการยื่นพีอาร์ (แบบในประเทศออสเตรเลียด้วยนะ)

..... เอิ่ม......แก้ปัญหาสำคัญก่อนดีไหม ..... ทำไมอยู่ๆถึงไม่มีวีซ่า

เหมือนเดิมค่ะ ลูกความตอบไม่ได้ ตอบได้แต่ว่าหลังจากที่เช็ค VEVO เองแล้วเจอว่าไม่มีวีซ่า ก็รีบบอกเอเจนต์       เอเจนต์ก็รีบยื่นเรื่องขอ Bridging visa E (BVE) ให้   ตอนนี้คือกำลังรออิมมิเกรชั่นออก BVE ให้

คนเขียนก็ .... เอะ .... แล้วมันใช่เหรอ .... จากที่ถือ BVB อยู่ดีๆ ไปเป็นผีได้ยังไง????

..... คนทำงานด้านนี้ต้องถามคำถามนี้ซิคะ จะหลับหูหลับตายื่น BVE ให้ลูกความโดยไม่หาคำตอบได้ยังไง และประวัติลูกความก็เสียไปจากการอยู่แบบไม่ถือวีซ่า .... มันใช่เหรอ

ถ้ามันมีเหตุผลอันสมควร มีที่มาที่ไปทำให้กลายเป็นคนไม่มีวีซ่า ก็ต้องยอมรับสภาพ
แต่จากที่คนเขียนสัมภาษณ์ลูกความ และวิเคราะห์จากเอกสาร คนเขียนไม่เจอเหตุอะไรเลยที่อยู่ๆลูกความจะกลายเป็นผี ไม่มีวีซ่า คือค่อนข้างมั่นใจว่าต้องมีความผิดพลาดอะไรบางอย่างเกิดขึ้น และลูกความควรจะยังถือ BVB อยู่

แต่....เนื่องจากคนเขียนก็ไม่ใช่เอเจนต์ที่ดูแลลูกความ จะมาฟันธง รู้ดีไปกว่าเจ้าของเคสได้ยังไง (ใช่ไหม?)
คนเขียนเลยแนะนำให้ลูกความเป็นกบฏกับเอเจนต์!   เอ้ย....ไม่ใช่...
.... แนะนำให้ถามเอเจนต์ถึงเหตุผลที่มาที่ไปของการที่อยู่ๆลูกความไม่มีวีซ่า ถ้าหาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้ ก็ต้องไปสู้รบกับอิมมิเกรชั่นเอา BVB คืนมาให้ลูกความ ไม่ใช่ไปสมัคร BVE ให้ลูกความ (BVE คือวีซ่าตัวที่แย่ที่สุดในบรรดา BV ทั้งหมด ถ้าเรามีสิทธิ์ถือ BV ที่ดีกว่า ทำไมจะยอมถือ BVE - อ่านเรื่อง BV ต่างๆได้ที่นี่)

ลองนึกเล่นๆถึงสถานะของลูกความในกรณีที่ถือ BVB vs BVE ดูนะคะ

การกลับมาถือ BVE แน่นอนว่าเปลี่ยนสถานะจากผี เป็นมีวีซ่า .... สำหรับเอเจนต์เป็นทางออกที่ง่ายที่สุด ไม่ต้องคิด ไม่ต้องทำ Research ไม่ต้องไปนั่งทบทวนประวัติลูกความ ไม่ต้องไปง้างกับอิมมิเกรชั่น .... แต่ผลกระทบต่อลูกความตามมาแบบยาวๆ  เพราะตอนนี้ลูกความติด section 48 จากการถูกปฏิเสธวีซ่า 457 ทำให้ยื่นพีอาร์ในประเทศไม่ได้ จะออกไปยื่นพีอาร์แบบนอกประเทศแล้วกลับมารอเรื่องในประเทศก็ไม่ได้ เพราะ BVE ออกไปได้ กลับเข้ามาไม่ได้ ก็ต้องรอผลวีซ่าอยู่นอกประเทศเท่านั้น ลองนึกต่อว่าถ้าวีซ่าพีอาร์ไม่ผ่าน และต้องการจะขอวีซ่าชั่วคราวเพื่อกลับมา ก็คาดว่าจะติดบาร์ 3 ปี จากประวัติที่เคยอยู่แบบไม่มีวีซ่านั่นเอง)  ..... อีกทางเลือกนึง ก็คือต้องรอจน Nomination ที่ชั้นอุทธรณ์ผ่านและได้วีซ่า 457 ก่อนค่อยยื่นพีอาร์แบบในประเทศ ... แล้วถ้า Nomination ไม่ผ่าน ไม่ได้วีซ่า 457 ล่ะ (ย้อนกลับไปอ่านย่อหน้านี้อีกรอบค่ะ)

การกลับมาถือ BVB แน่นอนลูกความยังติด section 48 จากการถูกปฏิเสธวีซ่า 457 .... แต่ก็สามารถบินออกไปเพื่อยื่นพีอาร์แบบนอกประเทศและกลับมารอพีอาร์ในประเทศได้ในระหว่างที่รอผลอุทธรณ์ของ 457 .... ในกรณีที่วีซ่า 457 ไม่ผ่าน หรือวีซ่าพีอาร์ไม่ผ่าน .... ลูกความก็ยังมีสิทธิ์ยื่นขอวีซ่าชั่วคราวตัวอื่นเพื่อจะกลับเข้ามาในประเทศออสเตรเลียได้โดยไม่ติดบาร์ 3 ปี (เพราะไม่เคยมีประวัติเป็นผีมาก่อน)

โพสนี้แอดวานซ์นิดนึง อ่านแล้วงงก็ไม่แปลก ...... ถ้าอ่านแล้วเข้าใจหมดเลย ก็เก่งมากค่ะ แสดงว่าเข้าใจกฏหมายอิมมิเกรชั่นได้ดีระดับนึงเลยทีเดียว

สิ่งที่อยากจะบอกก็คือ การมีเอเจนต์หรือทนายความดูแลเคสให้เราเป็นเรื่องที่ดี แต่หัดตั้งคำถาม หัดวิเคราะห์เองด้วย ถ้าไม่แน่ใจในแนวทาง ก็หาความเห็นที่สองค่ะ ชีวิตเป็นของเรา เราต้องดูแลชีวิตและอนาคตของตัวเองด้วย

เคสนี้ ลูกความโทรมาขอบคุณที่อธิบายจนเค้าเข้าใจเคสตัวเองและฮึดไปไฟท์กับเอเจนต์ จนเอเจนต์ต้องถอน BVE application  และไฟท์กับอิมมิเกรชั่นจนได้ BVB คืนมาในที่สุด (ถือวีซ่าผิด  ชีวิตเปลี่ยนนะคะ)   ..... ส่วนวีซ่าพีอาร์ที่ลูกความต้องการยื่น เราก็หาทางจนได้ค่ะ (457 ต่อยอดไปพีอาร์ ...ไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกคน ...ไม่ง้อก็ได้)

.... รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม .... มีประโยชน์ โปรดแชร์ ....

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

AAT review application - Subclass 186 NOmination

15/11/2018

 
เคสที่คนเขียนจะแชร์วันนี้เป็นเคสมหาหิน และเป็นเคสที่ใช้ชั่วโมงการทำงานเยอะมากถึงมากที่สุด

ข้อคิดในเคสนี้อยู่ในเนื้อหา (ไม่มี ป.ล. 1, 2, 3, 4) หวังว่าน้องๆจะได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดในเคสนี้ และเอาไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์กับเคสตัวเองนะคะ 

โพสนี้แอดวานซ์นิดนึงนะคะ สำหรับคนที่พอมีความเข้าใจเงื่อนไขของวีซ่า 186 หรือ 187 มาบ้างแล้ว สำหรับมือใหม่ รบกวนตามอ่านลิงค์ที่ให้ไว้ตัวแดงๆในโพสนี้ก่อน จะได้พอเข้าใจว่าคนเขียนพูดถึงอะไร และสำคัญยังไง

คุณลูกความติดต่อมาขอคำแนะนำหลังจากอิมมิเกรชั่นปฏิเสธ Nomination สำหรับวีซ่า Subclass 186 แบบ Temporary Residence Transition Stream (TRT) ..... เหตุผลที่ปฏิเสธก็มี 2 ข้อด้วยกัน คือ

  • นายจ้างมีประวัติไม่ทำตามเงื่อนไขการเป็นสปอนเซอร์หลายข้อ เคยถูกปรับ เคยติดบาร์ห้ามสปอนเซอร์พนักงานเพิ่ม
  • เนื่องจากอิมมิเกรชั่นเจอว่าลูกจ้างทำหน้าที่อื่นนอกเหนือจากหน้าที่ของตำแหน่งที่ได้รับการสปอนเซอร์มา อิมมิเกรชั่นเลยตัดสินว่าลูกจ้างไม่ได้ทำงานในตำแหน่งที่จ้างครบ 2 ปี ในระหว่างที่ถือวีซ่า 457
(จริงๆแล้วเหตุผลการปฏิเสธคือข้อล่างเท่านั้น แต่ข้อบนเป็นที่มาที่ไปสำคัญของการถูกปฏิเสธ เพราะฉะนั้นจากคำตัดสิน เคสนี้มี 2 ประเด็น)

เท้าความข้อกฏหมายนิดนึง....... เคสนี้เข้ากฏเก่า (Transitional arrangements) ...... คือต้องทำงานในระหว่างถือวีซ่า 457 อย่างน้อย 2 ปี ถึงจะขอพีอาร์ได้ (กฏปัจจุบันคือต้องทำงานในวีซ่า 457 / TSS-482 อย่างน้อย 3 ปี ถึงจะขอพีอาร์ได้)

จากข้อมูลที่ลูกความให้มา คนเขียนคิดว่าเราน่าจะหาข้อโต้แย้งเหตุผลทั้ง 2 ข้อนี้ได้ (หมายถึงโต้แย้งกันทางข้อกฏหมายนะคะ ไม่ใช่โต้แย้งแบบตามใจฉัน)

เคสนี้จริงๆยื่นใหม่ได้ เพราะลูกความยังถือวีซ่า 457 อยู่อีกระยะใหญ่ แต่แนวโน้มที่จะถูกปฏิเสธอีกรอบก็มีสูง  และลูกความก็ยังไม่มีผลภาษาอังกฤษสำหรับกฏปัจจุบัน (เทียบเป็น IELTS ก็ 6 ทุกพาร์ท) ..... สรุปว่าเคสนี้การยื่นอุทธรณ์ดูแล้วจะเข้าท่าที่สุด (จริงๆยื่นอุทธรณ์ด้วย และเมื่อได้ผลภาษาอังกฤษก็ยื่นใหม่ด้วยก็ได้ แต่ลูกความไม่สน ไม่สอบ วัดใจกันไปเลยค่ะ ลุยทางเดียว บอกว่าถ้าไม่ชนะที่ชั้นอุทธรณ์ก็จะแพ๊คกระเป๋ากลับบ้าน .... คนเขียนแอบเครียดเลย กลัวครอบครัวนี้ต้องแพ๊คกระเป๋าจริงๆ)

ว่าแล้วลูกความก็เซ็นสัญญาให้คนเขียนดูแลเคสอุทธรณ์ .... และแล้วเซอร์ไพร์สก็มา ....... งานงอกแบบจริงๆจังๆ ไม่เคยมีเคสไหนงานงอกขนาดนี้

เบื้องลึกของเคส ..... ข้อมูลที่ไม่ได้ระบุในคำตัดสิน แต่เจอระหว่างทางคือ

  • ลูกความใช้วันลา (annual leave เพื่อกลับไทย) เกินไปเยอะมาก รวมระยะเวลาทำงานอยู่ในประเทศออสเตรเลียทั้งหมด (นับแล้วนับอีก นับไป 5-6 รอบ - wishful thinking) นับยังไงก็ได้ไม่ถึง 2 ปี ณ วันยื่น Nomination (ถามว่าทำไม๊ ทำไม ทำไปได้ไง รออีกนิดให้มันครบ 2 ปี++++ แล้วค่อยยื่นไม่ได้เหรอ วีซ่าเหลืออีกตั้งนาน จะรีบไปไหน - ไม่แอบเครียดแล้ว เครียดอย่างแรง)
  • รายละเอียด Leave period ที่ให้ไปที่ชั้นอิมมิเกรชั่นก็ไม่ถูกต้อง อิมมิเกรชั่นเช็คได้จาก Movement record (เครียดหนักเข้าไปอีก) - ลูกความบอกว่า honest mistake แต่ Tribunal อาจจะมองว่าโกหกก็ได้ เพราะ Leave period ที่ไม่ถูกต้องนับเวลาได้ครบ 2 ปี แต่พอเช็คจาก Movement record แล้ว กลับนับเวลาได้ไม่ถึง 2 ปี - เครียดไหมล่ะ เริ่มเห็น Credibility issue (ปัญหาความน่าเชื่อถือ) ที่ปลายขอบฟ้า
  • เอเจนต์เดิมเอาค่าเทรนนิ่ง (Training expenditure) ที่เกิดขึ้นก่อนที่นายจ้างจะได้เป็นสปอนเซอร์มานัวๆเป็นค่าเทรนนิ่งในระหว่างที่มีลูกจ้างถือ 457 (คือมันใช้ไม่ได้นะคะ)  -         ลูกความบอกว่าไม่รู้ ก็จ่ายตามที่เอเจนต์แนะนำให้จ่าย และอิมมิเกรชั่นก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องเทรนนิ่ง ก็แปลว่าไม่มีปัญหาสิ - คือจริงๆแล้ว
    • อิมมิเกรชั่นไม่จำเป็นต้องลิสทุกเหตุผลที่สามารถปฏิเสธได้ ลิสเหตุผลเดียวก็ปฏิเสธได้แล้วค่ะ
    • และถึงแม้อิมมิเกรชั่นจะนัวๆโอเคกับบางเรื่อง    Tribunal ไม่จำเป็นต้องนัวๆโอเคด้วยนะคะ เพราะการพิจารณา Nomination refusal outcome เป็นการพิจารณาใหม่หมดในทุกเงื่อนไขของ Nomination และต้องบอกว่า Tribunal แม่นข้อกฏหมายกว่าอิมมิเกรชั่นเยอะมาก ... ข้อดีคือเราคุยภาษาเดียวกัน (ภาษากฏหมาย) ข้อเสียคือถ้าหาข้อกฏหมายมาสนับสนุนข้อเท็จจริง (ที่ไม่ค่อยจะสวยหรู) ไม่ได้ เคสก็ Hopeless
  • สัญญาระบุให้จ่ายค่าจ้างทุกอาทิตย์ แต่จ่ายกันรายเดือนมั่ง รายสองอาทิตย์มั่ง ทุกวันที่ 15 มั่ง สรุปว่าผิดตั้งแต่ไม่ทำตามที่สัญญาระบุไว้ แถมยังนำเสนอว่ามีการจ่ายเงินครบถ้วนได้ยากมาก .... ทำยังไงดีล่ะ ...... ไม่นำเสนอ-เคสก็อาจจะไปไม่รอด นำเสนอ-เคสก็อาจจะดูไม่ดี (สรุปว่าต้องเลือกเอาระหว่างสถานการณ์ที่แย่กับแย่กว่า)

และบลา...บลา...บลา.... คือมีปัญหาอื่นอีกมากมาย เงื่อนไขการพิจารณา Nomination มีกี่ข้อ มีปัญหาเกือบทุกข้อ .....คนเขียนก็คิดไม่ถึงว่าสาระพันปัญหามันจะมารวมกันอยู่ในเคสๆเดียวนี้แหละ (ลูกความสามารถมาก) ปรากฏว่าอธิบายยังไงลูกความก็ไม่เข้าใจว่าเคสตัวเองอาการหนักมาก  Positive thinking สุดๆ (ซึ่งก็เข้าใจได้ คนส่วนใหญ่ก็คิดว่าเมื่อตัวเองคิดดีทำดี ก็ต้องได้ดี ทำผิดพลาดแบบไม่ตั้งใจก็พยายามแก้ไข ก็ต้องให้อภัยกันสิ ... ในความเป็นจริงกฏหมายอิมมิเกรชั่นโหดร้ายกว่านั้นนะคะ ........  บางครั้ง Tribunal ก็มองอีกมุม เช่นกฏหมายเป็นอะไรที่คุณต้องรู้ จะมาบอกไม่รู้ไม่ได้ ไม่อย่างงั้นทุกคนก็อ้างแบบนี้ ก็ได้วีซ่ากันหมดสิ ..... หรือมองว่าคุณพยายามโกหก สร้างเรื่องเพื่อให้ได้วีซ่ารึเปล่า .... บางครั้ง Tribunal ก็เห็นใจ แต่กฏหมายอาจจะไม่เปิดช่องให้ใช้ความเห็นใจมาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณา)

สรุปว่าหายใจเข้าลึกๆหายใจออกยาวๆ ทำ Research หาข้อกฏหมายมาแก้ปัญหาไปทีละเปลาะ ส่วนที่ไม่มีข้อกฏหมายมาช่วย คนเขียนก็ไปนำเสนอมุมมองใหม่ๆเอาที่ Tribunal ละกัน 

เคสนี้ก็ลูกความในฝันอีกแล้วค่ะ เคสยากมากจริงๆ แต่แนะนำอะไร ลูกความทำทุกอย่าง .... ทำให้คนเขียนแก้ไขปัญหาหลายๆจุดให้คุณลูกความได้ทางเอกสาร และเหลือประเด็นหลักๆ (ซีเรียสๆ) ไว้ลุยกันวัน Hearing เพราะเอกสารอย่างเดียวเอาไม่อยู่

ปรากฏว่าวัน Hearing คนเขียนแอบกุมขมับ เพราะรู้สึกว่า Tribunal member ออกแนวติดลบกับเคสพอสมควร (ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะประเด็นที่ซีเรียสและไม่น่าจะให้ผ่านมีหลายประเด็น ประกอบกับลูกความและพยานก็ตื่นเต้นตอบคำถามได้ไม่ดีและไม่ละเอียดพอ) คนเขียนก็มีการโต้เถียงทางข้อกฏหมายกับ Tribunal member ในวันนัด แต่เนื่องจากมีหลายประเด็น เวลาก็หมดซะก่อน แต่ Tribunal member ก็ยังอนุญาติให้คนเขียนทำ Written Submissions โต้เถียงเคสเพิ่มเติมได้ (โอกาสสุดท้ายของเรา) .... สรุปว่าผ่านค่ะ .... ลูกความไม่ต้องแพ๊คกระเป๋ากลับบ้านแล้ว ... เย้ ... หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง  (เคสนี้ลูกความอยู่คนละรัฐกับคนเขียน ตั้งแต่ต้นจนจบเรายังไม่เคยเจอกันตัวเป็นๆ ..... อ้าว แล้ว Hearing กันยังไง??? - Video conference คือคำตอบ) 

คนเขียนจะไม่ลงรายละเอียดว่าโต้เถียงอะไรไปบ้าง แค่ Submissions โต้เถียงทางข้อกฏหมายอย่างเดียวก็ 10 หน้าแล้ว เอกสารประกอบรวมๆในเคสนี้ก็น่าจะราวๆ 400-600 หน้า และแนวทางการโต้เถียงและการแก้ปัญหาของแต่ละเคสก็ไม่เหมือนกัน   แค่ยื่นต่างช่วงเวลากันก็อาจจะใช้กฏหมายกันคนละตัวแล้ว   ถึงแม้นายจ้างจะเคยมีประวัติถูกปรับหรือติดบาร์เหมือนกัน เหตุผลที่มาที่ไปของการถูกปรับหรือติดบาร์ก็ต่างกัน  ถึงแม้ลูกจ้างจะเคยถูกกล่าวหาว่าทำหน้าที่อื่นนอกเหนือจากหน้าที่ของตำแหน่งที่ได้รับสปอนเซอร์เหมือนกัน แต่ลักษณะงาน ธุรกิจ หรือเอกสารประกอบต่างกัน แนวทางการทำเคสก็ต่างกัน (สรุปว่าเคสใครเคสมันค่ะ เคสอุทธรณ์ไม่มีแพทเทิร์น) ....      แต่สิ่งที่ลูกความเคสอุทธรณ์ทุกคนควรมีคือ Being proactive ใส่ใจและเต็มที่กับเคสตัวเองค่ะ อย่าคาดหวังว่าเมื่อมีเอเจนต์หรือทนายความดูแลแล้ว เราจะไม่ต้องทำอะไรเลย ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ค่ะ เราทำงานกันเป็นทีม ทีมข้อกฏหมาย + ทีมข้อเท็จจริง (คุณลูกความนั่นเอง)  ลูกความยกความดีความชอบให้คนเขียนเต็มๆ แต่คนเขียนคืนกลับไปครึ่งนึง ถ้าลูกความไม่ใส่ใจเคสตัวเอง เคสก็ออกมาดีไม่ได้ เราไม่มีเวทมนต์ hard work + team work ล้วนๆค่ะ

หวังว่าข้อมูลในโพสนี้จะเป็นประโยชน์กับน้องๆที่หมายตาวีซ่า Subclass 186 หรือ 187 นะคะ

ขอบคุณที่อ่าน ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์ ก็แชร์ได้เลยค่ะ ไม่ต้องขออนุญาตกัน

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

กฏเปลี่ยน - ค่า Training - วีซ่า 457 482 186 และ 187

10/8/2018

 
กฏใหม่สำหรับค่า Training ที่นายจ้างจะต้องชำระในการยื่น Nomination จะเริ่มปรับใช้แล้วนะคะ

รายละเอียดตามข้างล่างค่ะ

  • เริ่มปรับใช้วันที่ 12 สิงหาคม 2018
  • สำหรับวีซ่า 457, 482, 186 & 187   -    ใช่ค่ะ...สำหรับวีซ่า 457 ด้วย (ไม่ได้พิมพ์ผิด) .... คือสำหรับนายจ้างที่ต้องการยื่น Nomination เพื่อสปอนเซอร์คนที่ถือวีซ่า 457 อยู่แล้ว
  • ปรับใช้กับ  Nomination ที่ยื่นตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคมเป็นต้นไป ไม่มีผลย้อนหลัง
  • ค่า Training จ่ายเต็มตอนยื่น Nomination application
รายละเอียดค่า Training
Nomination สำหรับวีซ่า 457 & 482
  • รายได้ของธุรกิจต่ำกว่า 10ล้าน ชำระ $1200 x จำนวนปีที่ต้องการสปอนเซอร์พนักงาน
  • รายได้ของธุรกิจสูงกว่า 10ล้าน ชำระ $1800 x จำนวนปีที่ต้องการสปอนเซอร์พนักงาน

Nomination สำหรับวีซ่า 186 & 187
  • รายได้ของธุรกิจต่ำกว่า 10ล้าน ชำระ $3000
  • รายได้ของธุรกิจสูงกว่า 10ล้าน ชำระ $5000

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

457 กฏเปลี่ยน 1

28/4/2017

 
รัฐบาลเปลี่ยนลิสสาขาอาชีพสำหรับวีซ่า 457 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2017

จาก Skilled Occupation List (SOL)  เป็น  Medium and Long-term Strategic Skills List (MLTSSL) และ
จาก Consolidated Sponsored Occupation List (CSOL)  เป็น  Short-term Skilled Occupation List (STSOL)

วันนี้ก็มีน้องๆโทรมาถามคนเขียนว่า ได้ข่าวมาว่ารัฐบาลเปลี่ยนกลับมาใช้ SOL และ CSOL อีกแล้ว จริงรึเปล่า คือน้องๆดีใจค่ะ คนเขียนก็จะดีใจมากๆเลยค่ะถ้าเปลี่ยนกลับมาใช้ลิสเดิมจริง แต่

ขอตอบว่า ไม่จริงค่ะ 

ณ ตอนนี้ (28 เมษายน เวลา 2.55pm) ลิสที่ใช้ยังคงเป็นลิสใหม่ MLTSSL และ STSOL ที่ตัดหลายๆสาขาอาชีพออกไปอยู่นะคะ อาชีพยอดฮิตของน้องๆเช่น Restaurant Manager, Cook และ Massage Therapist ยังคงอยู่ใน STSOL นะคะ ซึ่งแปลว่าถ้าได้ 457 ก็จะได้ 2 ปี

น้องๆที่ตามรายละเอียดลึกๆเช่นกฏหมายฉบับที่ออกมาเกี่ยวกับการเปลี่ยนสาขาอาชีพ อาจจะเห็นว่ากฏหมายฉบับที่ว่านี้ได้ถูกยกเลิกไป และคิดว่ารัฐบาลเอาลิสเก่า SOL และ CSOL กลับมาใช้ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ค่ะ กฏหมายฉบับนั้นถูกยกเลิกจริง แต่ไม่ได้ยกเลิกไปเลย รัฐบาลเอาเนื้อหาของกฏหมายฉบับนั้นไปรวมไว้กับกฏหมายอีกฉบับนึง (ฉบับเก่า) เท่านั้นเองค่ะ

สรุปอีกรอบนะคะ ณ เวลานี้ ลิสที่ใช้คือ MLTSSL และ STSOL

คนเขียนเข้าใจความกังวลของน้องๆนะคะ คนเขียนเองก็มีลูกความที่อยู่ในภาวะที่ไม่ทราบอนาคตตัวเองอยู่หลายคน และกำลังหาทางช่วยเหลืออยู่เช่นกันค่ะ

ปล. หัวข้อ 457 กฏเปลี่ยน 1 แปลว่าจะมี 457 กฏเปลี่ยน 2 ค่ะ (ขอเวลาทำงานก่อนนะคะ)

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com

แชร์ประสบการณ์ และสาระพันข้อเตือนใจ

21/8/2014

 
คนเขียนได้รับความไว้วางใจให้ช่วยเหลือลูกความท่านหนึ่ง (เรียกว่าครอบครัวหนึ่งดีกว่า เพราะมีสมาชิกหลายคนอยู่) คุณลูกความถูกปฏิเสธวีซ่า 457 มา และเรื่องอยู่ที่ชั้นอุทธรณ์ MRT คุณลูกความถามว่ามีทางรอดไหม ทนายที่ทำเรื่องให้ไม่ใส่ใจเลย อยากให้คนเขียนดูแลเคสที่ MRT ให้ หลังจากคนเขียนศึกษาเคส นั่งคิดนอนคิดอยู่หลายตลบ ได้ตอบกลับไปว่ายากค่ะ ยื่นใหม่ง่ายกว่า แต่ก็ยังยากอยู่ดี แค่ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับการลุยต่อในชั้นอุทธรณ์เท่านั้นเอง  โน๊ตตัวโตๆ กรุณาอย่ายึดเอาประโยคข้างต้นเป็นสรณะ คนเขียนไม่ได้หมายความว่าทุกเคสที่ถูกปฏิเสธแล้วยื่นใหม่ง่ายกว่าที่จะไปสู้ที่ชั้นอุทธรณ์ แต่ละเคสมีสถานะภาพ และสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นทางออกย่อมไม่เหมือนกัน

         ข้อเตือนใจที่ 1 -
อย่าเอาเคสคนอื่นมาเปรียบเทียบ หรือมาปรับใช้กับเคสเรา เราอาจจะมีสถานะภาพและสถานการณ์หลายๆอย่างคล้ายเคสเพื่อนเรา แต่รับรองได้ว่าไม่มีสองเคสไหนที่เหมือนกันเด๊ แต่ละเคสจึงควรได้รับการวินิจฉัยอย่างละเอียด โดยไม่เอาไปเปรียบเทียบกับเคสของคนอื่น


รายละเอียดในเคสนี้มีมากค่ะ เล่าไปสามวันก็ไม่จบ และก็ไม่เล่าด้วยเพราะขี้เกียจพิมพ์ สั้นๆคือทนายคนที่ช่วยเหลือคุณลูกความในการยื่นครั้งที่ถูกปฏิเสธมานี่ (ไม่ใช่คนเขียนนะ ขอบอก) ยื่นเอกสารที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัวเข้าไป เห็นเอกสารแล้ว ถ้าคนเขียนเป็นอิมก็คงปฏิเสธเคสนี้เหมือนกัน

สรุปว่าคุณลูกความไว้ใจให้ทำเคสให้ค่ะ คนเขียนแนะนำว่ายื่นใหม่ แต่คิดว่าเก็บเคสเดิมที่ MRT ไว้เป็น Backup ก่อน ก็ยื่นไปแล้ว เสียตังค์ไปแล้วนี่ แต่ที่เก็บไว้ก่อนนี่ไม่ได้เผื่อชนะนะคะ เพราะไม่คิดว่าจะรอด แต่เก็บไว้เพื่อประโยชน์อื่น (ประโยชน์อะไรเอ่ย ยาวค่ะ ขอเป็นคราวอื่นนะคะ เดี๋ยวจะแหวกแนวจนงงว่าพูดเรื่องอะไรกันแน่)

ทำเคสนี้เครียดค่ะ มากด้วย เพราะถ้าพลาด สมาชิกในครอบครัวได้แพ๊คกระเป๋ากลับบ้านกันทั้งครอบครัว เคสนี้อยู่ในระดับยากมากถึงมากที่สุด
ก็เอกสารที่อิมมีอยู่แล้ว (ไอ้ที่มันขัดกันเองอยู่น่ะ) จะทำยังไงให้มันหายไปล่ะ ไม่ต้องคิดมากค่ะ ไม่ใช่คำถามแต่เป็นประโยคบอกเล่า สรุปว่าเอกสารที่อิมมีอยู่แล้ว มันไม่มีทางหายไปได้ มันยากตรงนี้แหละ จะยื่นเอกสารยังไงให้ถูกต้องตามกฏหมาย ไม่ขัดแย้งกับของเดิมที่ก็ขัดแย้งกันอยู่ในตัว และเข้าข่ายที่จะได้วีซ่า สัมภาษณ์เจาะลึกถึงลึกที่สุดเท่านั้นค่ะ แล้วเอาข้อมูลมาประกอบกับข้อกฏหมายและนโยบายปัจจุบัน รวมถึงคำวินิจฉัยต่างๆของศาล ยื่นเอกสารที่มีคำตอบอยู่ในตัว และอุดช่องโหว่ทุกช่องที่คิดได้ (แต่ถ้าคุณไม่รู้ว่าอะไรคือช่องโหว่ คุณก็คงไม่หาทางอุดเนอะ บางอย่างสอนกันไม่ได้ค่ะ ประสบการณ์และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น)

สรุปว่าเคสนี้ผ่านไปได้ด้วยดี แต่ขอบอกว่าหินมาก ลูกความดีใจมาก คนเขียนก็ดีใจมากเช่นกันที่ส่งคุณลูกความ (และครอบคร้ว) ถึงที่หมาย เหมือนยกภูเขาออกจากอก จากนี้ก็ได้แต่หวังว่าคุณลูกความจะไม่ทำชีวิตตัวเองให้ยุ่งยากขึ้นมาอีกในช่วง 2 ปีที่รอยื่นขอ PR (อย่าคิดว่าคนเขียนพูดเล่นนะคะ หลายๆคนมีความสามารถมากมายในการทำชีวิตให้มีสีสัน และยุ่งยากต่อการช่วยเหลือ)

        ข้อเตือนใจที่ 2 -
เลือกให้ดี
บางครั้งการเลือกทนายหรือเอเจนต์ ก็เหมือนการเลือกคู่ เลือกได้ดีก็ดีไป เลือกได้ไม่ดี กว่าจะรู้ก็เสียเงินเสียเวลา และอาจจะถึงเสียอนาคตด้วย  อ่านวิธีการเลือกทนายหรือเอเจนต์ได้ที่นี่ 

        ข้อเตือนใจที่ 3 -
เมื่อเลือกได้แล้ว เข้าใจล่ะว่าเราไว้ใจเค้าในระดับหนึ่ง แต่กรุณาอย่าปล่อยทุกอย่างให้อยู่ในมือทนายหรือเอเจนต์ ชีวิตเรา อนาคตเราที่ฝากไว้กับเค้า ตามงานบ้าง ถามบ้างว่าเค้าตั้งใจจะยื่นเอกสารอะไร เอกสารหน้าตาเป็นอย่างไร อย่างน้อยเค้าจะได้ทราบว่าเราใส่ใจ เผื่อเค้าคิดอยู่ว่าจะทำงานแบบเรื่อยๆเฉื่อยๆ เค้าก็อาจจะตั้งใจทำงานมากขึ้นนะ

        ข้อเตือนใจที่ 4 -
อย่ายื่นเอกสารให้ทนายหรือเอเจนต์เอาวินาทีสุดท้าย เหลือเวลาให้เค้าทำงานบ้าง มีความตั้งใจทำงานอย่างเดียวไม่พอนะคะ ต้องมีเวลาด้วย  ให้เวลาเค้า = เพิ่มโอกาสให้เราได้วีซ่า
                       
ขอสารภาพว่าคนเขียนแอบตุ่ยๆกับคุณลูกความท่านนี้เล็กน้อย เพราะต้องตามงานกันบ่อยครั้ง (ไม่ใช่ลูกความตามคนเขียนนะ แต่คนเขียนต้องตามคุณลูกความ ก็เล่นเงียบหายไปเป็นระยะๆ) เข้าใจละว่าเค้าไว้วางใจเรา แต่ไม่ให้ข้อมูลไม่ให้เอกสาร ประกอบกับคนเขียนนั่งเทียนไม่เป็น สรุปว่างานมันไม่เดิน แต่ Deadline มันไม่รอ ก็ต้องมีการเตือนกัน (อย่างพี่เตือนน้องนะ แอบดุ แต่ด้วยความหวังดี) ว่าอย่าให้คนตั้งใจทำงานเสียความตั้งใจนะจ๊ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องวีซ่าเป็นเรื่องอนาคตของเรา เราซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องต้องใส่ใจและจัด Priority ให้ถูกต้อง  ถ้าคุณลูกความท่านนี้มาอ่านคงรู้ว่าคนเขียนหมายถึงเค้านะ  ขอบอกว่าอย่าคิดมากน้อง ไม่มีใครรู้ว่าน้องคือใคร ยกเว้นน้องจะไปบอกใครๆว่าพี่เค้าหมายถึงชั้นเองล่ะเทอ  (ซึ่งจริงๆ พี่อาจจะพูดถึงเคสอื่นที่มีข้อมูลใกล้เคียงกันอยู่ก็ได้ เพราะลูกความพี่ส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มที่ชอบสร้างสีสันให้ชีวิตซะด้วย) อีกอย่างคือคิดซะว่าเราได้ร่วมด้วยช่วยกันให้ข้อมูล แชร์ข้อคิดกับคนอื่นๆที่อาจจะอยู่ในสถานะการณ์ใกล้เคียงกับเราเนอะ
 
        ข้อเตือนใจที่ 5 -
ทนายหรือเอเจนต์ ไม่มีเวทมนต์นะจ๊ะ ทำได้แค่เต็มที่ นี่พูดถึงคนที่มีใจรักงานและมีความจริงใจกับลูกความนะคะ จะให้มารับปากว่าผ่านแน่ ได้วีซ่าแน่ เป็นไปไม่ได้ เพราะทนายหรือเอเจนต์ไม่ใช่คนตัดสินเคส คนที่หวังจะได้ยินประโยคสวยหรูให้ความหวัง รับประกันว่าได้วีซ่าแน่ คุณจะไม่ได้ยินประโยคพวกนี้จากคนที่มีจรรยาบรรณในการทำงาน เพราะฉะนั้นอย่าให้ใครมาหลอกเรา และที่สำคัญเราอย่าหลอกตัวเอง มีความหวังได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง เข้าใจสถานะภาพและสถานการณ์ที่แท้จริงของเราเองดีที่สุด


Hope for the best and prepare for the worst - Good luck, everyone.

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com

1 กรกฏาคม 2014 จะมีกฏอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง

19/6/2014

 
เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและความต้องการทางด้านแรงงานของประเทศ ทางอิมมิเกรชั่น & รัฐบาลของประเทศออสเตรเลีย มีการปรับเปลี่ยนกฏหมายและนโยบายด้านคนเข้าเมืองอยู่เรื่อยๆค่ะ

โดยเฉพาะวันที่ 1 กรกฏาคม ของทุกปี จะเป็นวันที่(หลัก) ที่จะมีการเปลี่ยนแปลง อัพเดทกฏหมายและนโยบายทางด้านคนเข้าเมือง

แล้ววันที่ 1 กรกฏาคม ปีนี้ (2014) จะมีอะไรเปลี่ยนบ้างล่ะ?????

กฏหมายก็ทยอยๆออกมานะคะ คนเขียนก็ต้องอัพเดทอยู่เรื่อยๆ แต่ที่คนเขียนทราบ ณ ตอนนี้
ก็คือ

1. อาชีพ Chef จะเข้าไปอยู่ใน Skilled Occupations List หรือที่เรียกสั้นๆว่า (SOL)

ผลของมันคืออะไร?? ก็คือคนที่มีอาชีพนี้ และ/หรือเรียนมาสายนี้ อาจจะสามารถขอวีซ่าแบบอิสระ (Independent) โดยไม่จำเป็นต้องมีนายจ้างสปอนเซอร์ได้ ถ้ามีคุณสมบัติอื่นๆเข้าข่ายตามที่กฏหมายกำหนดด้วยนะคะ

คนที่เรียนมาสายนี้ แต่คุณสมบัติไม่พอที่จะขอ PR ได้ ก็อาจจะมีสิทธิขอวีซ่า 485 (Graduate Temporary visa) ได้ ซึ่งถ้าได้วีซ่ามา ก็สามารถอยู่และทำงานเต็มเวลาในประเทศออสเตรเลียได้อีก 18 เดือน ซึ่งก็อาจจะทำให้มีโอกาสในการขอพีอาร์ (PR) ได้
ในอนาคต ไม่ว่าจะด้วยยื่นด้วยตัวเองผ่าน Independent visa หรือแบบนายจ้างสปอนเซอร์

2. นอกจากอาชีพ Chef แล้ว ยังมีอาชีพ Bricklayer และ Wall and Floor Tiler ด้วยนะคะ ที่ได้รับการเพิ่มเข้าไปใน Skilled Occupations List (SOL) ผลของมันก็เหมือนกับข้อ 1. ค่ะ

3. อาชีพ Hydrogeologist และ Exercise Physiologist จะได้รับการเพิ่มเข้าไปใน Consolidated Sponsored Occupations List (CSOL)

ผลของมันคืออะไร?? ก็จะเป็นอีก 2 อาชีพ ที่มีโอกาสได้รับการสปอนเซอร์จากนายจ้าง หรือรัฐบาลไงคะ

4. ผลของ S
kills Assessment จะมีอายุได้ยาวที่สุดที่ 3 ปีค่ะ ถ้าผลของ Skills Assessment ระบุวันหมดอายุไว้สั้นกว่า 3 ปี ก็ให้เป็นไปตามนั้น

ก่อนวันที่ 1 July 2014 Skills Assessment ไม่มีวันหมดอายุค่ะ เพราะฉะนั้นใครที่ Skills Assessment กำลังจะหมดอายุ ก็มี 2 ทางเลือกค่ะ ทำ Skills Assessment ใหม่อีกรอบ หรือยื่นขอวีซ่าก่อนวันที่ 1 กรกฏาคม 2014 เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะต้องเข้าไปอยู่ในกฏใหม่นะคะ

5. มีข่าวมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาว่าอาชีพ Accountant จะถูกลบออกจาก SOL แต่ ณ ตอนนี้ คนเขียนเข้าใจว่าอาชีพนี้จะยังอยู่ เพียงแต่ลดโควต้า หรือจำนวนคนที่อิมมิเกรชั่นจะออกวีซ่าให้ในอาชีพนี้จะน้อยลง แปลว่ารอนานขึ้นนั่นแหละค่ะ

ติดตามอัพเดทได้ที่นี่ค่ะ

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

ยื่น 457 ก่อน 1 กรกฏาคม 2013 ต้องใช้ IELTS 5 หรือไม่

31/7/2013

 
เมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม 2013 ทางรัฐบาลได้ออกกฏใหม่มาบังคับใช้กับวีซ่า 457 มากมาย จากบางอาชีพที่เคยได้รับยกเว้นไม่ต้องโชว์ผลภาษาอังกฤษ (IELTS 5)    -    หลังวันที่ 1 กรกฏาคม 2013 ผู้สมัครทุกอาชีพ ต้องโชว์ภาษาอังกฤษหมดค่ะ ยกเว้นว่าจะได้รับยกเว้นทางอื่น

มีน้องๆหลายคนที่ได้ยื่นสมัครวีซ่า 457 ไปก่อนวันที่ 1 กรกฏาคม ซึ่งกฏ ณ ตอนยื่น น้องบางคนไม่ต้องโชว์ภาษาอังกฤษเพราะอาชีพที่สมัครได้รับการยกเว้น -- คำถามที่เข้ามาคือ แล้วตอนนี้ล่ะ เรื่องยังค้างคาอยู่ที่อิม อิมจะขอผลภาษาอังกฤษหรือไม่

ก่อนวันที่เขียน post นี้ ได้ตอบน้องๆหลายคนไปว่า ตามกฏใหม่อิมสามารถขอได้ค่ะ และมีบางคนที่ถูกขอ IELTS แล้ว แต่เนื่องจากกฏยังใหม่อยู่มาก เราก็ต้องดูเป็นกรณีๆไป และเรามารอดูกันว่าจะมีการผ่อนปรนให้คนที่ยื่นก่อน 1 กรกฏาคม หรือไม่

กฏใหม่ (ใหม่กว่าวันที่ 1 กรกฏาคม) ออกมาเมื่อวานค่ะ และจะมีผลบังคับใช้พรุ่งนี้ (1 สิงหาคม 2013)

 ภาษากฏหมาย อาจทำให้งงๆกันนะคะ เอาสั้นๆง่ายๆแล้วกัน เนื้อหาหลักๆ มีอยู่ว่า- ถ้าทั้ง nomination และวีซ่า 457 ได้ยื่นเข้าไปก่อนวันที่ 1 กรกฏาคม และอาชีพ ณ ตอนยื่น (ก่อน 1 กรกฏาคม 2013) ได้รับยกเว้นภาษาอังกฤษ (เช่น Restaurant Manager, Program or Project Adminstrator เป็นต้น)

ถ้า nomination ผ่าน (Approved nomination) - ผู้สมัครวีซ่า 457 ไม่ต้องโชว์ผลภาษาอังกฤษค่ะ
แล้วถ้า nomination ไม่ผ่านล่ะ - ง่ายนิดเดียวค่ะ วีซ่า 457 ก็ไม่ผ่านไปด้วยค่ะ - ใครที่เข้าข่ายนี้ ก็ต้องมาดูแล้วว่าทางเลือกเรามีอะไรบ้าง

นับว่าเป็นข่าวที่น่ายินดีสำหรับน้องหลายๆคนที่กำลังรอผลวีซ่า 457 อยู่นะคะ ที่อิมออกกฏมาผ่อนปรนให้กับคนที่ยื่นใบสมัครก่อน 1 กรกฏาคม 2013 ขอให้ทุกคนโชคดี และได้วีซ่าสมใจนะคะ 

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

    Author


    พี่เก๋ - กนกวรรณ ศุโภทยาน เป็นทนายความไทย และทนายความของประเทศออสเตรเลีย (Immigration Lawyer)

    มีประสบการณ์เป็นทนายความเฉพาะทาง ด้าน IMMIGRATION ของประเทศออสเตรเลีย รับวางแผนการขอวีซ่า ยื่นใบสมัครขอวีซ่าทุกประเภท ช่วยเหลือในชั้นอุทธรณ์ที่ Administrative Appeals Tribunal และในชั้นศาลค่ะ

    ต้องการคำแนะนำ หรือความช่วยเหลือ ติดต่อได้ที่ Immigration Success Australia
    mb: 0428 191 889 หรือ www.immigrationsuccessaustralia.com

    Archives

    December 2023
    November 2023
    October 2023
    July 2023
    September 2022
    July 2022
    January 2022
    December 2021
    November 2021
    October 2021
    September 2021
    July 2021
    June 2021
    March 2021
    February 2021
    January 2021
    December 2020
    November 2020
    October 2020
    September 2020
    July 2020
    June 2020
    May 2020
    April 2020
    March 2020
    February 2020
    March 2019
    January 2019
    November 2018
    October 2018
    August 2018
    July 2018
    June 2018
    April 2018
    October 2017
    September 2017
    August 2017
    May 2017
    April 2017
    August 2015
    April 2015
    December 2014
    September 2014
    August 2014
    June 2014
    March 2014
    January 2014
    October 2013
    September 2013
    July 2013
    June 2013

    Categories

    All
    วีซ่า
    อุทธรณ์
    วีซ่าคู่ครอง
    101
    102
    103
    143
    173
    186
    187
    190
    300
    309
    4020
    408
    417
    445
    457
    462
    476
    482
    485
    489
    491
    494
    500
    870
    AAT
    Accountant
    Administrative Appeals Tribunal
    Adoption Visa
    Agriculture Visa
    Approved Nomination
    Australia
    Australian
    Australian Citizenship
    Australian Immigration
    Bar
    Bricklayer
    Bridging Visa
    Bridging Visa A
    Bridging Visa E
    BVA
    BVE
    Changes To Immigration Law
    Changing Courses
    Chef
    Child Visa
    Consolidated Sponsored Occupations List
    COVID 19
    COVID-19
    CSOL
    Decision Ready
    Decision-ready
    Decision Ready Application
    Decision-ready Application
    De Facto Relationship
    Employer Sponsored
    English Exemption
    ENS
    Exercise Physiologist
    Family
    Family Violence
    Federal Circuit Court
    Graduate Work
    GTE
    Hydrogeologist
    Ielts
    Immigration
    Immigration Lawyer
    Judicial Review
    Jurisdictional Error
    Migration Agent
    Migration Review Tribunal
    MRT
    Nomination
    Orphan Relative Visa
    Overstay
    Parent
    Partner Visa
    PIC 4020
    Post Study Work
    Processing Period
    Protection Visa
    Public Interest Criteria
    Public Interest Criterion
    Regional Australia
    Regional Visas
    Registered Migration Agent
    Rma
    RSMS
    Section 48
    Section 48 Bar
    Self Sponsorship
    Skilled Migration
    Skilled Occupations List
    Skilled Work Regional
    Skills Assessment
    SOL
    Sponsor
    Sponsorship
    Student Visa
    Substantive Visa
    Training
    Travel Exemption
    Tsmit
    Unlawful
    Visa Cancellation
    Visa Refusal
    Wall And Floor Tiler
    Working And Holiday Visa

    RSS Feed

Powered by Create your own unique website with customizable templates.