visa blog : สำหรับคนไทยค่ะ
  • Home
  • Blog

ถาม-ตอบ COVID-19 กับผลกระทบต่อวีซ่า

28/3/2020

 
โพสนี้ คนเขียนรวบรวมคำถามที่น้องๆถามเข้ามาเกี่ยวกับผลกระทบกับวีซ่าจาก COVID-19 นะคะ

Original post: 28 March 2020 ตัวหนังสือสีเทาอ่อน
Update 1: 4 April 2020 ตัวหนังสือสีน้ำเงิน          



ถือวีซ่าท่องเที่ยว ไม่ติด 8503 (No further stay condition)

===>>  ยื่นขอต่อวีซ่าท่องเที่ยว หรือมีวีซ่าตัวอื่นที่เรามีคุณสมบัติถึงก่อนวีซ่าตัวเดิมหมดอายุ


ถือวีซ่าที่ติด No further stay condition : 8503, 8534 หรือ 8535

===>>  ยื่นขอยกเว้นเงื่อนไข No further stay แต่เนิ่นๆ 2 เดือนก่อนวีซ่าตัวเดิมหมดอายุ เพราะระยะการพิจารณาต้องใช้เวลาพอสมควร

===>> เมื่ออิมมิเกรชั่นยกเว้นเงื่อนไข ก็สามารถยื่นขอวีซ่าท่องเที่ยวหรือวีซ่าตัวอื่นที่เรามีคุณสมบัติถึง

===>> ยื่นขอวีซ่าตัวใหม่ก่อนได้รับยกเว้นเงื่อนไข = Invalid application 


ถือวีซ่า 457 หรือ 482 แต่นายจ้างให้หยุดงานชั่วคราว เพราะธุรกิจต้องปิดให้บริการตามรัฐบาลกำหนด

===>>  ใช้ Annual leave (paid leave) ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน Employment Contract นอกจากจะยังมีรายได้แล้ว ยังสามารถนับเวลาสำหรับการยื่น PR ได้ด้วย

===>>  นายจ้างให้หยุดแบบไม่จ่ายค่าจ้าง (stand down) หรือมีการทำ Leave without pay ควรมีการทำบันทึกไว้ด้วยนะคะเผื่ออิมมิเกรชั่น (Monitoring Unit) มาตรวจในภายหลัง อย่าลืมว่านายจ้างมีหน้าที่ต้อง Keep records

===>> ตามนโยบายของอิมมิเกรชั่น Leave without pay 3 เดือนไม่น่าจะมีปัญหา โน๊ตว่าตอนนี้อิมมิเกรชั่นใช้ Flexible approach (ยืดหยุ่นให้ตามสถานการณ์ของแต่ละเคส ย้ำที่ขีดเส้นใต้) ซึ่ง ณ จุดนี้ยังไม่ชัดเจนว่า Flexible approach คือแค่ไหน ยังไงบ้าง  โน๊ตว่าระยะเวลาที่ใช้ Leave without pay โดยปกติจะนับเป็นเวลาสะสมสำหรับการยื่น PR ไม่ได้นะคะ (ถ้านโยบายเปลี่ยน หรือมีอัพเดทอะไร ก็จะมาอัพเดทให้ทราบที่โพสนี้)

===>>  สามารถนับเวลาระหว่างหยุดงานชั่วคราวสำหรับการยื่น PR ได้ ไม่ว่าจะหยุดแบบได้รับหรือไม่ได้รับค่าจ้าง

===>>  รัฐอนุญาตให้ถอนเงินจาก Superannuation fund ได้ $10,000 สำหรับปีภาษีนี้


ถือวีซ่า 457 หรือ 482 แต่นายจ้างให้หยุดงานชั่วคราว เพราะธุรกิจต้องปิดให้บริการตามรัฐบาลกำหนด สามารถทำงานที่อื่นในระหว่างที่นายจ้างให้หยุดงานได้ไหม

===>>  ตามกฏหมายแล้วไม่ได้ค่ะ  สำหรับวีซ่า 457 ผิดเงื่อนไข 8107  ส่วนวีซ่า 482 ผิดเงื่อนไข 8607
คือนายจ้างใหม่ต้องมี Approved Nomination ก่อน เราถึงจะทำงานได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขวีซ่า พอนายจ้างเดิมเรียกตัวกลับไปทำงาน นายจ้างเดิมก็ต้องทำ Nomination ใหม่และรอ Approve ก่อน เราถึงจะกลับไปทำงานได้ค่ะ

===>>  แล้วจะอยู่ยังไง ยังต้องกินต้องใช้ ยังมีค่าใช้จ่าย นั่นแหละคือปัญหา ซึ่งอิมมิเกรชั่นทราบ และคนเขียนคาดว่า (wishful thinking) อิมมิเกรชั่นจะมีประกาศแนวทางที่ยืดหยุ่นในประเด็นนี้เร็วๆนี้ค่ะ  (ถ้ามีความคืบหน้า จะมาอัพเดทให้ที่โพสนี้นะคะ)
  
===>>  รัฐอนุญาตให้ถอนเงินจาก Superannuation fund ได้ $10,000 สำหรับปีภาษีนี้


ถือวีซ่า 457 หรือ 482 แต่นายจ้างเลิกจ้างถาวร

===>>  หางานใหม่ที่นายจ้างพร้อมจะสปอนเซอร์และยื่น Nomination application ภายใน 60 วัน 

===>>  ตอนนี้อิมมิเกรชั่นใช้ Flexible approach (ยืดหยุ่นให้ตามสถานการณ์ของแต่ละเคส) อาจจะยืดหยุ่นในเรื่องเวลา แต่ก็ยังไม่มีประกาศออกมา เพราะฉะนั้น พยายามหานายจ้างใหม่ให้ได้ภายใน 60 วัน  ถ้าหาไม่ได้ ก็ไปลุ้นกับ Flexible approach ของอิมมิเกรชั่นเอาดาบหน้าค่ะ

===>>  รัฐระบุว่าถ้าถูกเลิกจ้างและหาสปอนเซอร์ใหม่ไม่ได้ภายในเงื่อนไข 60 วัน ก็ควรจะกลับออกไปค่ะ (คือยังไม่มีความยืดหยุ่นในส่วนนี้) 

===>>  ถ้ามีการ Re-employed หลังจากเรื่อง COVID-19 จบลง ก็สามารถนับเวลาการทำงานในประเทศออสเตรเลียสำหรับการยื่น PR ได้ (โน๊ตว่าตอนนี้คนเขียนไม่แน่ใจว่าหมายถึงการ Re-employed โดยนายจ้างเดิมเท่านั้น หรือนายจ้างใหม่ก็สามารถนับเวลาได้ด้วย รอประกาศเพิ่มเติมค่ะ)



ถือวีซ่า 457 หรือ 482 แต่นายจ้างลดชั่วโมงการทำงาน และลดค่าจ้าง

===>>  จริงๆแล้วทำไม่ได้นะคะ เพราะ 457 และ 482 เป็นวีซ่าที่นายจ้างสปอนเซอร์มาทำงาน full-time ในตำแหน่งที่ขาดแคลน

===>>  ตอนนี้ยังไม่มีประกาศจากอิมมิเกรชั่นที่จะยกเว้นเงื่อนไข full-time แต่คนเขียนคิดว่า (wishful thinking อีกแล้ว) อิมมิเกรชั่นน่าจะประกาศแนวทางที่ยืดหยุ่นในประเด็นนี้เร็วๆนี้ เพราะเป็นสถานการณ์ที่ธุรกิจส่วนใหญ่จะต้องเลือกระหว่างลดชั่วโมง ลดค่าจ้าง vs หยุดงานแบบไม่มีค่าจ้าง vs เลิกจ้าง

===>>  ถ้านายจ้างไม่มีทางเลือกและจำเป็นที่จะต้องลดชั่วโมงการทำงานและลดค่าจ้าง อย่างนึงที่ควรจะต้องทำให้ได้ คือจ่ายค่าจ้างในเรทที่ถูกต้องในลักษณะ Pro-rata คือเคยจ่ายชั่วโมงละเท่าไหร่ตอนทำงาน full-time ก็จ่ายชั่วโมงละเท่าเดิม ไม่มีการลดเรทค่าแรงนะคะ 

===>>  นายจ้างสามารถลดชั่วโมงการทำงานได้โดยไม่ผิด Sponsorship obligations และลูกจ้างก็ไม่ผิดเงื่อนไขวีซ่า 


ถือ Bridging visa A ระหว่างรอผลการพิจารณาวีซ่า 186 แต่นายจ้างให้หยุดงานชั่วคราวแบบไม่จ่ายค่าจ้าง เพราะธุรกิจต้องปิดให้บริการตามที่รัฐบาลกำหนด

===>>  ไม่มีปัญหาค่ะ ธุรกิจเปิดเมื่อไหร่ก็กลับไปทำต่อนะคะ

===>>  รัฐอนุญาตให้ถอนเงินจาก Superannuation fund ได้ $10,000 สำหรับปีภาษีนี้


ตอนนี้ยื่นใบสมัครวีซ่าถาวร หรือวีซ่า 820 (Stage1 Partner visa) ไปแล้ว อยู่ระหว่างรอการพิจารณา

===>>  ขอ Medicare ได้ค่ะ ไม่จำเป็นต้องรอให้วีซ่าเดิมหมดอายุ ยื่นใบสมัครเรียบร้อยก็ยื่นขอ Medicare ได้เลยค่ะ

===>> ขอ Stimulus package จาก Centrelink ไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิ์ของคนที่ถือพีอาร์ หรือเป็น Australian citizen เท่านั้น

===>>  ตอนนี้มีหลายๆหน่วยงานพยายามล๊อบบี้ให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือคนที่ถือวีซ่าชั่วคราวด้วย แต่ยังไม่มีนโยบายอะไรออกมานะคะ

===>>  รัฐอนุญาตให้ถอนเงินจาก Superannuation fund ได้ $10,000 สำหรับปีภาษีนี้


ตอนนี้ถือวีซ่าทำงาน 491, 494 (Regional visas)

===>>  ขอ Medicare ได้ค่ะ  แต่ขอ Stimulus package จาก Centrelink ไม่ได้ (อ่านข้างบนนะคะ)

===>>  รัฐอนุญาตให้ถอนเงินจาก Superannuation fund ได้ $10,000 สำหรับปีภาษีนี้


ตอนนี้อยู่ที่ออสเตรเลีย แต่วีซ่าหมดอายุไปแล้ว

===>>  ติดต่อขอคำแนะนำค่ะ อาจจะยังมีวีซ่าที่สามารถยื่นได้

===>>  ถ้าต้องการแค่รอเวลาสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย กลับไทยได้เมื่อไหร่ก็จะกลับและไม่ได้คิดที่จะขอวีซ่าอื่น ติดต่ออิมมิเกรชั่นเพื่อขอ Bridging visa E เพื่อที่จะอยู่ที่นี่ได้อย่างถูกกฏหมายในระหว่างรอ


ตอนนี้อยู่ประเทศไทย แต่กลับมาที่ออสเตรเลียไม่ได้ และ Bridging visa B หมดอายุ

===>>  Bridging visa B ต่ออายุไม่ได้ และไม่สามารถสมัครได้ถ้าอยู่นอกประเทศออสเตรเลีย เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย อาจจะลองยื่นใบสมัครวีซ่าท่องเที่ยว หรือวีซ่าอื่นที่มีคุณสมบัติถึง


ตอนนี้อยู่ประเทศไทย ถือวีซ่านักเรียน แต่กลับเข้ามาไม่ได้

===>>  ติดต่อโรงเรียน หรือ Education Agent เพื่อทำเรื่องขอ Defer คอร์ส

===>>  ถ้าวีซ่านักเรียนหมดอายุในระหว่างที่อยู่ไทย เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ก็ต้องยื่นใบสมัครเพื่อขอวีซ่านักเรียนตัวใหม่ค่ะ


ตอนนี้เรื่องอยู่ที่ชั้นอุทธรณ์ AAT จะต้องรออีกนานไหม

===>>  AAT ยังพิจารณาเคสอยู่นะคะ การ Hearing ก็จะเป็นทางโทรศัพท์ หรือ Video link แทน ความล่าช้า (จากที่ปกติก็ล่าช้าอยู่แล้ว) ก็เป็นอะไรที่เข้าใจได้นะคะ เพราะต้องปรับเปลี่ยนหลายอย่างให้เหมาะสมกับสถานการณ์ COVID-19 แต่อย่างน้อย AAT ก็ยังไม่ได้มีประกาศหยุดการพิจารณา


ป.ล. มีหลายคำถามที่คนเขียนก็ไม่มีคำตอบให้นะคะ ต้องรอรัฐบาลหรืออิมมิเกรชั่นประกาศเพิ่มเติม ก็ตอบให้เท่าที่ตอบได้ และจะมาอัพเดทให้เมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติม  คำถามเกี่ยวกับ Centrelink รบกวนถามหน่วยงานโดยตรงนะคะ


Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

ฺBE honest โปรดแจ้งชื่อเดิม และประวัติที่ถูกต้องในใบสมัครวีซ่า

8/2/2020

 
นานๆทีก็จะมีน้องโทรมาถามประมาณนี้

"พี่ครับผมเคยไปออสเตรเลียและหนีวีซ่ามาระยะนึง ถูกจับได้และส่งกลับ ตอนนี้อยู่ไทย เอเจนต์แนะนำให้ผมเปลี่ยนชื่อแล้วไปขอพาสปอร์ตด้วยชื่อใหม่ นี่ผมไปเปลี่ยนชื่อมาแล้ว กำลังจะไปทำพาสปอร์ต พี่ว่าผมจะได้วีซ่าไหมครับ "

อารมณ์คนเขียนก็ประมาณ

"โอ้โหน้อง เอเจนต์ที่ไหนคะเนี่ยแนะนำแบบนี้" 

เอเจนต์คงไม่ได้แนะนำให้เปลี่ยนชื่อ เผื่อชื่อใหม่จะทำให้ดวงดีได้วีซ่าหรอกค่ะ  คาดว่าเอเจนต์ตั้งใจจะยื่นวีซ่าให้โดยใช้ชื่อใหม่ ไม่แจ้งชื่อเดิม เผื่ออิมมิเกรชั่นจะไม่เจอว่าน้องเคยมีประวัติหนีวีซ่า

การไม่แจ้งชื่อเดิมในใบสมัคร อาจจะมีผลกระทบกับวีซ่าได้นะคะ โดยเฉพาะในกรณีที่ชื่อเดิมมีประวัติไม่ดีแบบนี้ ถ้าอิมมิเกรชั่นตรวจเจอเข้าในระหว่างพิจารณาวีซ่า นอกจากอาจจะถูกปฏิเสธวีซ่าเพราะประวัติเดิมแล้ว ยังอาจจะถูกติดบาร์ 3 ปี (PIC 4020) จากการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงด้วย ถ้าบังเอิญโชคดีได้วีซ่า ก็ไม่ได้แปลว่าอนาคตจะไม่มีปัญหา ต่อให้หมกเม็ดไปตลอดรอดฝั่งจนได้พีอาร์ ได้เป็นพลเมือง อิมมิเกรชั่นก็อาจจะมาเจอประวัติเก่าเข้าจนได้

คนเขียนเอาเคสที่เพิ่งอ่านเจอเมื่อเร็วๆนี้มาแชร์นะคะ

เคสนี้คือเข้ามาด้วยวีซ่าท่องเที่ยว พบรัก แต่งงาน ขอวีซ่าคู่ครอง ความสัมพันธ์ไปไม่รอด ไม่ได้พีอาร์และกลับประเทศไป  ต่อมาพบรักใหม่กับออสซี่อีกคน แทนที่จะขอวีซ่าคู่ครองตามปกติซึ่งก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เอเจนต์กลับแนะนำให้เปลี่ยนชื่อก่อนยื่น เพื่อที่จะยื่นวีซ่าคู่ครองด้วยชื่อใหม่โดยไม่แจ้งชื่อเดิม คือประวัติใสค่ะ เสมือนไม่เคยขอวีซ่า

สรุปว่าได้วีซ่าคู่ครองกับแฟนใหม่ด้วยชื่อใหม่ และต่อมาก็ได้เป็นพลเมืองด้วยชื่อใหม่ ......18 ปีผ่านไปอิมมิเกรชั่นไปเจอเข้าโดยบังเอิญ (เดี๋ยวนี้ระบบคอมพิวเตอร์เค้าเริ่ดนะคะ) โดนยกเลิกการเป็นพลเมือง เจ้าตัวขอความเห็นใจว่าเค้ามีลูกและก็ลงหลักปักฐานที่นี่มา 18 ปีแล้ว และที่ทำแบบนั้นก็เพราะเอเจนต์แนะนำให้ทำ ....  คืออิมมิเกรชั่นหรือศาลไม่ค่อยฟังหรอกนะคะเหตุผลประมาณนี้ เพราะคุณเองก็ต้องมีวิจารณญาณคิดได้เองด้วยว่าอะไรควรอะไรไม่ควร ใบสมัครของคุณถือว่าคุณเป็นคนให้ข้อมูลจะมีคนช่วยหรือไม่ก็แล้วแต่ (เพราะฉะนั้นต่อให้ใช้บริการเอเจนต์หรือทนาย ก็ต้องใส่ใจเคสตัวเองค่ะ no ifs no buts)

ถ้าตั้งใจจะเปลี่ยนชื่อเพื่อให้ประวัติใสสะอาด อย่าทำค่ะ ไม่คุ้ม

ถ้าเปลี่ยนชื่อเพราะเชื่อเรื่องดวง แต่งงาน หย่า หรือด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ แจ้งชื่อเก่าและประวัติเก่าให้อิมมิเกรชั่นทราบด้วยค่ะ จะได้พีอาร์ และอนาคตจะต่อยอดไปเป็นพลเมือง ก็เอาให้แน่ใจว่าได้มาแล้วมันจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต 

คนเขียนมีเคสน้องคนนึงเคยถือวีซ่าท่องเที่ยว จากนั้นก็ถือวีซ่านักเรียนอีก 2-3 ตัว น้องมาให้คนเขียนดูแลในส่วนของวีซ่าคู่ครองให้   ถามไปถามมาได้ความว่าในใบสมัครวีซ่าท่องเที่ยวและวีซ่านักเรียน น้องแจ้งว่า Never married (ไม่เคยแต่งงาน / โสด) และไม่เคยมีชื่ออื่น แต่ในความเป็นจริงน้องเคยแต่งงาน เคยหย่า และเคยเปลี่ยนชื่อมา 6 หน !!!

คนเขียนแจ้งให้น้องทราบถึงโอกาสที่จะเกิดปัญหา PIC 4020 (การให้ข้อมูลไม่ถูกต้องในใบสมัครเดิม อาจจะทำให้ใบสมัครใหม่ถูกปฏิเสธและติดบาร์ 3 ปี)  น้องบอกว่า "แหมพี่คะ พี่ก็ทำให้มันเหมือนที่เอเจนต์เดิมทำสิคะ ไม่ต้องแจ้งอะไรทั้งนั้น" คนเขียนก็บอกว่า "น้องคะ น้องมาทางไหนน้องไปทางนั้นเลยค่ะ" .... ล้อเล่นค่ะ ไม่ได้พูด (แค่คิดในใจ)

คนเขียนบอกน้องว่าทำแบบนั้นไม่ได้ค่ะ 1. ผิดจรรยาบรรณ   2. พีอาร์เป็นวีซ่าถาวร น้องอยากได้พีอาร์ระยะสั้น หรือพีอาร์ระยะยาว ถ้าได้พีอาร์แล้วถูกยกเลิกภายหลัง หรือได้เป็นพลเมืองแล้วถูกยกเลิก รับได้ไหม

มีทางเลือกให้น้อง 2 ทางคือ 1. ใช้บริการคนเขียน Declare ทุกอย่างตามความเป็นจริง แน่นอนคนเขียนจะช่วยอย่างเต็มที่เท่าที่ทนายคนนึงจะทำได้โดยไม่ผิดจรรยาบรรณ เคสเสี่ยงถูกปฏิเสธไหม เสี่ยงแน่นอน แต่ถ้าผ่านเราก็ได้วีซ่ามาอย่างถูกต้อง ไม่ต้องมากังวลว่ากรรมจะตามทันเหมือนเคสที่เล่าให้ฟังข้างบน  2. ไปใช้บริการคนอื่นได้เลยค่ะ

น้องตัดสินใจใช้บริการค่ะ เคสแบบนี้เป็นเคสต้องคิดเยอะค่ะ Strategy การทำงานต้องมี ว่าจะนำเสนอเคสแบบไหนให้เคสดูดีที่สุด ต้องคิดเผื่อแผนสอง แผนสาม (อย่ามาถามหาการันตี เคสง่ายแค่ไหนก็ไม่เคยการันตี เพราะคนเขียนไม่ใช่คนตัดสินเคส)  เราทำเต็มที่แล้วเราก็ลุ้นผลไปด้วยกัน เตรียมใจเผื่อต้องยื่นอุทธรณ์กันไว้เรียบร้อย แล้วเราก็ผ่านมันมาได้ที่ชั้นอิมมิเกรชั่น โดยไม่มีการขอเอกสารหรือข้อมูลเพิ่มเติมเลย ตอนนี้น้องก็เป็นพีอาร์ไปแล้ว เมื่อพร้อมขอเป็นพลเมืองก็ไม่น่าจะเจอปัญหาอะไร เพราะเราเซ็ตข้อมูลของลูกความให้อิมมิเกรชั่นทราบอย่างถูกต้องแล้ว ไม่ต้องกลัวเผลอ ไม่ต้องกลัวเจอประวัติหมกเม็ดอีกต่อไป .....จริงๆ ระหว่างทางเราก็เจอประวัติคดีอาญาของน้องด้วย หลังจากที่ Declare ไปแล้วว่าไม่มีประวัติ น้องบอกว่า "หนูไม่รู้ หนูลืม" Great! - คนเขียนไม่รู้เหมือนกันว่าเรารอดมาได้ยังไง

สรุปว่า Declare (แจ้ง) ชื่อทุกชื่อ สถานะ และประวัติของเราอย่างถูกต้องค่ะ ถ้าปัญหาจะเกิดก็ให้มันเกิดซะตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะขอวีซ่าชั่วคราว หรือวีซ่าพีอาร์ ถ้าหมกเม็ดแล้วต้องมาตามแก้ปัญหา = ความเสี่ยงสูง/ ค่าใช้จ่ายสูง/ เสียเครดิต (หมดความน่าเชื่อถือ) หมกเม็ดไปเรื่อยๆก็อาจจะเจอแจ็คพอตแบบเคสข้างบน ถูกยกเลิกการเป็นพลเมืองหลังจากลงหลักปักฐานสร้างอนาคตที่นี่ไปเรียบร้อยแล้ว (เคสที่ถูกยกเลิกการเป็นพลเมืองมีอยู่เรื่อยๆนะคะ นี่แค่ตัวอย่างเดียว บางเคสที่หมกเม็ดเอาไว้ เรื่องก็มาแดงเอาตอนขอเป็นพลเมืองนี่แหละค่ะ ผลคือถูกปฏิเสธการเป็นพลเมือง และก็ถูกยกเลิกพีอาร์ บางเคสไม่ได้กระทบแค่ตัวเอง ลูกและคู่ครองก็พลอยโดนไปด้วย)

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com

แชร์ประสบการณ์ ความสำคัญของความเห็นที่สอง

24/1/2019

 
เคสนี้เป็นเรื่องของลูกความแถบยุโรบคู่หนึ่งที่มาด้วย Working Holiday visa และทำวีซ่า 457 กับเอเจนต์อื่น

ลูกความติดต่อมาหาคนเขียนครั้งแรกกลางปี 2016 Standard Business Sponsorship (SBS) application          ถูกปฏิเสธเพราะเอเจนต์คำนวนค่าเทรนนิ่งผิด เอเจนต์แนะนำให้ยื่นอุทธรณ์ คนเขียนแนะนำให้ยื่นเรื่องใหม่เข้าไปที่อิมมิเกรชั่น เพราะเป็นประเด็นที่แก้ไขได้ และยื่นใหม่เร็วกว่ายื่นอุทธรณ์แน่นอน ลูกความอยากเปลี่ยนมาให้คนเขียนดูแล แต่นายจ้างยังมั่นคงกับเอเจนต์เดิม (ปัญหาโลกแตก ต้องปล่อยให้นายจ้างลูกจ้างตกลงกันเอาเอง)

เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ลูกความติดต่อมาอีกครั้งเมื่อธันวาคม 2018 และจะให้คนเขียนยื่นขอพีอาร์ให้

คนเขียนก็คิดว่าลูกความต้องการต่อยอดจาก 457 เป็นวีซ่าพีอาร์ 186 .... คือดูจากเวลาแล้วน่าจะใช่ น่าจะถือ 457 (เข้ากฏเก่า) มาแล้ว 2 ปี

ปรากฏว่าความเป็นจริงห่างไกลจากที่คิดไว้เยอะเลยค่ะ ที่หายไป 2 ปีกว่า คนเขียนวิเคราะห์ได้ตามข้างล่าง คือต้องวิเคราะห์เองจากเอกสาร เพราะถามอะไรลูกความก็ทำหน้างงๆ --- คืองงอะไร ไม่เข้าใจ จะว่าภาษาไม่ดีก็ไม่ใช่ เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาเกิด ....... สรุปว่าเพราะเอเจนต์ไม่เคยอธิบายอะไรเลย ....และลูกความก็เกรงใจ ....... ไม่กล้าถาม!!!! .....เอกสารที่คนเขียนขอไป ตอนแรกก็ไม่มีให้ คือเกรงใจไม่กล้าขอจากเอเจนต์ จนคนเขียนต้องบอกว่าถ้าไม่มีเอกสารก็ไม่ต้องมา หมดปัญญาช่วย .... คือจะให้นั่งเทียนหรือไง ถามอะไรก็ตอบไม่ได้ ขออะไรก็ไม่มี

สรุปว่าเคสนี้

1. SBS ที่แนะนำให้ยื่นใหม่ ผ่านไปได้ด้วยดี
2. Nomination ไม่ผ่าน และตอนนี้เรื่องอยู่ที่ชั้นอุทธรณ์
3. วีซ่า 457 ก็แน่นอน..ไม่ผ่าน (เพราะ Nomination ไม่ผ่าน) และเรื่องอยู่ที่ชั้นอุทธรณ์เหมือนกัน (และเอเจนต์ก็ยื่นใบสมัครวีซ่าเลท คือหลังวันที่ 18 April 2017 ต่อให้ลูกความได้วีซ่า ก็เข้ากฏใหม่ อาชีพ STSOL ต่อยอดจาก 457 ไปพีอาร์ไม่ได้)

ที่หนักกว่านั้นคือเช็ค VEVO แล้วไปเจอว่าจากที่เคยถือ Bridging visa B (BVB) อยู่ กลายเป็นตอนนี้ไม่มีวีซ่า

..... สรุปว่าสองคนที่นั่งอยู่ตรงหน้าคนเขียนไม่มีวีซ่า!!!!!  แต่ต้องการยื่นพีอาร์ (แบบในประเทศออสเตรเลียด้วยนะ)

..... เอิ่ม......แก้ปัญหาสำคัญก่อนดีไหม ..... ทำไมอยู่ๆถึงไม่มีวีซ่า

เหมือนเดิมค่ะ ลูกความตอบไม่ได้ ตอบได้แต่ว่าหลังจากที่เช็ค VEVO เองแล้วเจอว่าไม่มีวีซ่า ก็รีบบอกเอเจนต์       เอเจนต์ก็รีบยื่นเรื่องขอ Bridging visa E (BVE) ให้   ตอนนี้คือกำลังรออิมมิเกรชั่นออก BVE ให้

คนเขียนก็ .... เอะ .... แล้วมันใช่เหรอ .... จากที่ถือ BVB อยู่ดีๆ ไปเป็นผีได้ยังไง????

..... คนทำงานด้านนี้ต้องถามคำถามนี้ซิคะ จะหลับหูหลับตายื่น BVE ให้ลูกความโดยไม่หาคำตอบได้ยังไง และประวัติลูกความก็เสียไปจากการอยู่แบบไม่ถือวีซ่า .... มันใช่เหรอ

ถ้ามันมีเหตุผลอันสมควร มีที่มาที่ไปทำให้กลายเป็นคนไม่มีวีซ่า ก็ต้องยอมรับสภาพ
แต่จากที่คนเขียนสัมภาษณ์ลูกความ และวิเคราะห์จากเอกสาร คนเขียนไม่เจอเหตุอะไรเลยที่อยู่ๆลูกความจะกลายเป็นผี ไม่มีวีซ่า คือค่อนข้างมั่นใจว่าต้องมีความผิดพลาดอะไรบางอย่างเกิดขึ้น และลูกความควรจะยังถือ BVB อยู่

แต่....เนื่องจากคนเขียนก็ไม่ใช่เอเจนต์ที่ดูแลลูกความ จะมาฟันธง รู้ดีไปกว่าเจ้าของเคสได้ยังไง (ใช่ไหม?)
คนเขียนเลยแนะนำให้ลูกความเป็นกบฏกับเอเจนต์!   เอ้ย....ไม่ใช่...
.... แนะนำให้ถามเอเจนต์ถึงเหตุผลที่มาที่ไปของการที่อยู่ๆลูกความไม่มีวีซ่า ถ้าหาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้ ก็ต้องไปสู้รบกับอิมมิเกรชั่นเอา BVB คืนมาให้ลูกความ ไม่ใช่ไปสมัคร BVE ให้ลูกความ (BVE คือวีซ่าตัวที่แย่ที่สุดในบรรดา BV ทั้งหมด ถ้าเรามีสิทธิ์ถือ BV ที่ดีกว่า ทำไมจะยอมถือ BVE - อ่านเรื่อง BV ต่างๆได้ที่นี่)

ลองนึกเล่นๆถึงสถานะของลูกความในกรณีที่ถือ BVB vs BVE ดูนะคะ

การกลับมาถือ BVE แน่นอนว่าเปลี่ยนสถานะจากผี เป็นมีวีซ่า .... สำหรับเอเจนต์เป็นทางออกที่ง่ายที่สุด ไม่ต้องคิด ไม่ต้องทำ Research ไม่ต้องไปนั่งทบทวนประวัติลูกความ ไม่ต้องไปง้างกับอิมมิเกรชั่น .... แต่ผลกระทบต่อลูกความตามมาแบบยาวๆ  เพราะตอนนี้ลูกความติด section 48 จากการถูกปฏิเสธวีซ่า 457 ทำให้ยื่นพีอาร์ในประเทศไม่ได้ จะออกไปยื่นพีอาร์แบบนอกประเทศแล้วกลับมารอเรื่องในประเทศก็ไม่ได้ เพราะ BVE ออกไปได้ กลับเข้ามาไม่ได้ ก็ต้องรอผลวีซ่าอยู่นอกประเทศเท่านั้น ลองนึกต่อว่าถ้าวีซ่าพีอาร์ไม่ผ่าน และต้องการจะขอวีซ่าชั่วคราวเพื่อกลับมา ก็คาดว่าจะติดบาร์ 3 ปี จากประวัติที่เคยอยู่แบบไม่มีวีซ่านั่นเอง)  ..... อีกทางเลือกนึง ก็คือต้องรอจน Nomination ที่ชั้นอุทธรณ์ผ่านและได้วีซ่า 457 ก่อนค่อยยื่นพีอาร์แบบในประเทศ ... แล้วถ้า Nomination ไม่ผ่าน ไม่ได้วีซ่า 457 ล่ะ (ย้อนกลับไปอ่านย่อหน้านี้อีกรอบค่ะ)

การกลับมาถือ BVB แน่นอนลูกความยังติด section 48 จากการถูกปฏิเสธวีซ่า 457 .... แต่ก็สามารถบินออกไปเพื่อยื่นพีอาร์แบบนอกประเทศและกลับมารอพีอาร์ในประเทศได้ในระหว่างที่รอผลอุทธรณ์ของ 457 .... ในกรณีที่วีซ่า 457 ไม่ผ่าน หรือวีซ่าพีอาร์ไม่ผ่าน .... ลูกความก็ยังมีสิทธิ์ยื่นขอวีซ่าชั่วคราวตัวอื่นเพื่อจะกลับเข้ามาในประเทศออสเตรเลียได้โดยไม่ติดบาร์ 3 ปี (เพราะไม่เคยมีประวัติเป็นผีมาก่อน)

โพสนี้แอดวานซ์นิดนึง อ่านแล้วงงก็ไม่แปลก ...... ถ้าอ่านแล้วเข้าใจหมดเลย ก็เก่งมากค่ะ แสดงว่าเข้าใจกฏหมายอิมมิเกรชั่นได้ดีระดับนึงเลยทีเดียว

สิ่งที่อยากจะบอกก็คือ การมีเอเจนต์หรือทนายความดูแลเคสให้เราเป็นเรื่องที่ดี แต่หัดตั้งคำถาม หัดวิเคราะห์เองด้วย ถ้าไม่แน่ใจในแนวทาง ก็หาความเห็นที่สองค่ะ ชีวิตเป็นของเรา เราต้องดูแลชีวิตและอนาคตของตัวเองด้วย

เคสนี้ ลูกความโทรมาขอบคุณที่อธิบายจนเค้าเข้าใจเคสตัวเองและฮึดไปไฟท์กับเอเจนต์ จนเอเจนต์ต้องถอน BVE application  และไฟท์กับอิมมิเกรชั่นจนได้ BVB คืนมาในที่สุด (ถือวีซ่าผิด  ชีวิตเปลี่ยนนะคะ)   ..... ส่วนวีซ่าพีอาร์ที่ลูกความต้องการยื่น เราก็หาทางจนได้ค่ะ (457 ต่อยอดไปพีอาร์ ...ไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกคน ...ไม่ง้อก็ได้)

.... รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม .... มีประโยชน์ โปรดแชร์ ....

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

Partner visa วีซ่าคู่ครอง กฏเปลี่ยนกำลังจะมา

29/11/2018

 
UPDATE: 12 April 2019

ถึงแม้กฏหมายใหม่เกี่ยวกับ family sponsorship จะให้มีผลบังคับใช้วันที่ 17 April 2019

ทางอิมมิเกรชั่นได้ชี้แจ้งมาว่า ในวันที่ 17 April 2019 กฏหมายใหม่นี้จะนำมาปรับใช้กับวีซ่าใหม่ก่อน ซึ่งก็คือ วีซ่าผู้ปกครอง (วีซ่าพ่อแม่) แบบชั่วคราว  Sponsored Parent (Temporary) visa

ส่วนวีซ่าคู่ครอง Partner visa จะยังไม่เอากฏใหม่นี้มาปรับใช้  สรุปว่าเคสของน้องๆที่วีซ่าใกล้จะหมดและยังไม่ได้ยื่น Partner visa ก็ยังพอมีเวลาค่ะ   ส่วนเคสที่ได้ยื่นไปแล้วก่อนหน้าที่จะมีประกาศนี้  ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีค่ะ เพราะอิมมิเกรชั่นก็ไม่ได้แจ้งมาว่าจะนำกฏหมายใหม่มาปรับใช้กับ Partner visa เมื่อไหร่  ซึ่งก็แปลว่าเมื่อไหร่ก็ได้นับแต่วันที่ 17 April 2019 เป็นต้นไป เพราะมีกฏหมายมารับรองแล้ว

ค่ายื่นวีซ่าต่างๆ ก็จะมีการขึ้นราคาอีก 5.4% นับจากวันที่ 1 July 2019


UPDATE: 9 April 2019

กฏใหม่ จะเริ่มปรับใช้วันที่ 17 April 2019 นะคะ


UPDATE: 23 January 2019

จากที่คนเขียนโพสไปเมื่อวันที่ 29 November 2018 ว่ามีร่างกฏหมายผ่านทั้งสภาล่างและสภาสูงเมื่อวันที่ 28 November 2018 (อ่านเนื้อหาเดิมได้ด้านล่าง)

ร่างกฏหมายนี้ ออกมาเป็นกฏหมายเมื่อวันที่ 10 December 2018 นะคะ ที่คนเขียนไม่ได้อัพเดทให้ทราบก่อนหน้านี้ เพราะต้องการจะรอดูว่าจะให้มีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ และในทางปฏิบัติอิมมิเกรชั่นจะปรับใช้ยังไง จะได้อัพเดทให้ทราบกันรอบเดียว .... แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า

.... แปลว่า..จะปรับใช้เมื่อไหร่ก็ได้ในช่วง 6 เดือนนับจากวันที่ผ่านเป็นกฏหมาย ส่วนอิมมิเกรชั่นจะประกาศกฏเปลี่ยนให้ทราบล่วงหน้า หรือประกาศแล้วปรับใช้ทันทีเลย ก็ต้องรอดูกันต่อไปค่ะ


Original post: 29 November 2018

โพสนี้มาแบบสั้นๆ แต่สำคัญอีกแล้วค่ะ

มีร่างกฏหมายผ่านทั้งสภาล่างและสภาสูงเมื่อวานนี้นะคะ ยังไม่เป็นกฏหมาย แต่เนื่องจากผ่านทั้งสองสภามาแล้ว ก็คาดว่าจะเป็นกฏหมายเร็วๆนี้ ส่วนรายละเอียดลึกๆจะเป็นยังไง จะมีผลบังคับใช้เร็วหรือช้าแค่ไหน ต้องคอยดูกันต่อไป อาจจะประกาศออกมาก่อนและปรับใช้ใน 1-6 เดือน (แจ้งล่วงหน้า) หรืออาจจะเหมือนตอนกฏเปลี่ยนของ 457 ประกาศแล้วมีผลเลย ก็เซอร์ไพร์สและรับสภาพกันไป

กฏปัจจุบัน - ใบสมัครวีซ่าคู่ครอง (Partner visa) และใบสมัครสปอนเซอร์จะยื่นไปพร้อมๆกัน หรือจะยื่นใบสมัครสปอนเซอร์ตามหลังก็ได้

กฏที่ "คาดว่า" จะนำมาปรับใช้ (จากจุดประสงค์ของร่างกฏหมายฉบับนี้ บวกกับข้อมูลที่อิมมิเกรชั่นได้ประกาศไว้นานแล้ว)  คือต้องการให้สปอนเซอร์ยื่นใบสมัครของตัวเองตังหากก่อน   และเมื่อใบสมัครของสปอนเซอร์ผ่านแล้ว ผู้สมัคร Partner visa ถึงจะสามารถยื่นใบสมัครวีซ่าได้

ปกติแล้วคนเขียนจะไม่โพสอะไรที่ยังไม่เป็นตัวบทกฏหมาย แต่ร่างกฏหมายฉบับนี้สำคัญสำหรับคนที่วีซ่ากำลังจะหมด ถ้ามาเจอกฏเปลี่ยนกระทันหัน ต้องรอให้สปอนเซอร์ยื่นใบสมัครและได้รับการ Approve ก่อน ก็อาจจะยื่น Partner visa ไม่ทันก่อนที่วีซ่าตัวปัจจุบันจะหมดอายุ 

เคสที่อยู่ระหว่างเตรียมเอกสารหรือเอกสารยังไม่แน่น ก็ต้องเลือกเอาระหว่างยื่นแบบหลวมๆ เสี่ยงถูกปฏิเสธวีซ่า หรือเสี่ยงเข้ากฏใหม่ ยื่นไม่ทันเพราะต้องรอสปอนเซอร์ Approval ก่อน และอาจจะต้องยื่นวีซ่าตัวอื่นเข้าไปแทน

เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน จุดประสงค์ของโพสนี้ ไม่ได้เป็นการแนะนำว่าให้ทุกคนรีบยื่นก่อนกฏเปลี่ยน แค่ต้องการแจ้งข่าวให้ทราบ จะได้เอาไปประกอบการพิจารณา .... อย่าลืมว่าเคสแต่ละเคสมีที่มาที่ไปไม่เหมือนกัน วิธีการทำงานก็แตกต่างกันไปนะคะ.... There is no "one size fits all" scenario.

มีความคืบหน้า ก็จะมาอัพเดทให้ทราบในโพสนี้นะคะ

ที่มา: Migration Amendment (Family Violence and Other Measures) Bill 2016

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

Partner visa & Domestic and family violence ความรุนแรงในครอบครัว และวีซ่าคู่ครอง

13/10/2018

 
เมื่อไม่นานมานี้คนเขียนได้แจ้งข่าวดีให้กับลูกความคนนึง ตอนน้องติดต่อมาหาคนเขียน น้องถือวีซ่าคู่ครองแบบชั่วคราว (stage 1 - Temporary Partner visa) แต่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว (ภาษากฏหมายคือ Family violence หรือ Domestic violence)

น้องบอกว่าไม่ไหวแล้วค่ะพี่ รอมา 23 เดือน กำลังจะใกล้ยื่นเอกสารวีซ่าคู่ครองแบบถาวร (Stage 2 - Permanent Partner visa) แต่ถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงทำร้ายทรัพย์สินด้วย ทนจนทนไม่ไหวแล้ว .... ว่าแล้วถามว่า 'เอะ...หรือหนูควรจะทน เพราะใกล้ได้พีอาร์แล้ว'

ในมุมมองของคนเขียนนะคะ ต่อให้รอมา 23 เดือน ก็ไม่ควรทนอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้อีกต่อไป ใช่ค่ะ อีก 1 เดือนก็จะถึงเวลายื่นเอกสารสำหรับ stage 2 - Permanent Partner visa แต่ก็ไม่ใช่ว่ายื่นเอกสารปุ๊บจะได้วีซ่าปั๊บ เดี๋ยวนี้รอผลกันร่วมปี เผลอๆเลยปีด้วย วันนี้อาจจะแค่เจ็บตัว วันหน้าอาจจะเสียโฉม พิการ ถึงตาย ไม่มีใครตอบได้ คุ้มไหมกับการได้พีอาร์ 

ป.ล. เคสวีซ่าคู่ครองที่ความสัมพันธ์สิ้นสุดลงระหว่างทาง มี 3 กรณีด้วยกันที่ผู้สมัครอาจจะได้พีอาร์
  1. สปอนเซอร์ตาย
  2. มีลูกด้วยกัน
  3. มีความรุนแรงเกิดขึ้นในครอบครัว จะเป็นทางร่างกายหรือทางจิตใจก็ได้ แต่ทางร่างกายอาจจะหาหลักฐานมาพิสูจน์ได้ง่ายกว่า

เคสนี้สปอนเซอร์ก็ไม่ได้ตาย ลูกก็ไม่มี แต่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ถือเป็นเคสที่มีความเป็นไปได้

เคสนี้น้องไม่เคยแจ้งตำรวจ ไม่เคยไปหาหมอ จิตแพทย์ หรือนักสังคมสงเคราะห์ หลักฐานความรุนแรงที่น้องมี คือรูป 3 ใบ (3 ใบเท่านั้น!!!!) โชว์รอยถลอกที่เกิดกับน้อง 1 ใบ และการบาดเจ็บของสปอนเซอร์ที่ทำร้ายน้อง 2 ใบ และข้อความโต้ตอบกันผ่านไลน์ ซึ่งก็แรงด้วยกันทั้งคู่ สรุปว่าหลักฐานโชว์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นน้อยมาก และเป็นหลักฐานที่อิมมิเกรชั่นอาจจะตีความเป็นอื่นได้ (รูปสปอนเซอร์บาดเจ็บเนี่ยนะ ตกลงใครทำร้ายใครกันแน่ ใช่ค่ะคนเขียนเชื่อลูกความ ไม่มีเหตุผลที่จะไม่เชื่อ แต่คนทำงานต้องมองทุกมุม มองเผื่อมุมที่อิมมิเกรชั่นอาจจะมองด้วย - ก็เค้าเป็นคนตัดสินเคส)

เคสนี้คนเขียนอธิบายให้น้องฟังว่า มี 3 ทางคือ
  1. แพ๊คกระเป๋ากลับบ้าน
  2. หาวีซ่าอื่นเพื่อจะอยู่ที่ออสเตรเลียต่อไป
  3. ลุยไปข้างหน้ายื่น Permanent Partner visa ผ่าน Family violence provisions ซึ่งก็คือการยื่นเอกสารเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวเข้าไป แต่ต้องเผื่อใจเพราะเราอาจจะต้องไปถึงชั้นอุทธรณ์ (เพราะเอกสารน้อยและไม่แน่น) และเราอาจจะแพ้ที่ชั้นอุทธรณ์ก็ได้ (ว่าแล้วก็แจ้งประโยคเดิมๆให้น้องฟังว่า ไม่สามารถรับประกันความสำเร็จของงานได้ แต่รับประกันได้ว่าจะทำเคสให้ดีที่สุด เต็มความสามารถ)

มีหลายเคสมากที่คนเขียนแจ้งล่วงหน้าเลยว่าเคสอาจจะไปถึงชั้นอุทธรณ์ บางเคสแจ้งค่าบริการชั้นอุทธรณ์ล่วงหน้าเลยด้วย บางคนอาจจะรู้สึกห่อเหี่ยว แต่คนเขียนคิดว่าเราควรเอาความเป็นจริงมาคุยกัน จะได้เอาข้อมูล (ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยง ระยะเวลา และค่าใช้จ่าย) ไปประกอบการตัดสินใจ และก็หลายเคสมากที่เราไม่ต้องไปชั้นอุทธรณ์ และได้วีซ่ามาที่ชั้นอิมมิเกรชั่นนั่นแหละ

คนเขียนจริงใจ ตรงไปตรงมาค่ะ ถ้ารับได้ เชื่อใจกันก็ทำงานด้วยกันได้ สรุปว่าน้องลุย คนเขียนก็ลุยค่ะ

..... สรุปว่าคนเขียนวางแผนเคสไปกุมขมับไป

เริ่มแรกเลย เราแจ้งอิมมิเกรชั่นค่ะว่าความสัมพันธ์ของเราจบลงแล้ว (เคส Partner visa ที่ยังอยู่ในการพิจารณา ไม่ว่าระหว่างรอผลวีซ่า Stage 1 หรือ Stage 2 ของ Partner visa ถ้าความสัมพันธ์สิ้นสุดลง ผู้สมัครมีหน้าที่แจ้ง
อิมมิเกรชั่น)  เมื่อเรามีหน้าที่ เราทำหน้าที่ค่ะ ดูดีไว้ก่อน (ดีกว่าสปอนเซอร์เป็นคนแจ้งหรือเพื่อนผู้ไม่หวังดีเป็นคนแจ้งเป็นไหนๆ)  แต่ไม่ใช่แจ้งแล้วไม่ทำอะไรเลยนะคะ  การวางแผนงาน (Strategies ต่างๆ) ต้องมีแล้วตั้งแต่ก่อนแจ้ง (หมดเวลากุมขมับ แผนต้องมา งานต้องเดิน) เพราะเมื่อแจ้งแล้ว อิมมิเกรชั่นก็จะเริ่มขอเอกสารและคำอธิบายซึ่งมีกำหนดเวลาให้ตอบคำถาม ไม่ตอบตามเวลาเราอาจจะได้ไปชั้นอุทธณ์ทั้งที่ยังไม่ได้สู้ที่ชั้นอิมมิเกรชั่นเลย

ถึงแม้เคสน้องจะไม่ใช่เคสในฝัน คือมันไม่ง่าย แต่น้องเป็นลูกความในฝัน แนะนำให้ทำอะไรน้องทำทุกอย่าง อย่างรวดเร็วและเต็มที่ ถึงแม้จะสับสนในชีวิตและจิตตก เราก็ทำงานกันไปปลอบกันไป  คนเขียนตีเอกสารกลับไปหลายรอบ ส่วนใหญ่เป็น Statements (หมายถึงจดหมายคำอธิบายของน้องและเพื่อนๆ ไม่ใช่แบงค์สเตทเมนท์) คือเอกสารไม่แน่นไม่ปึ๊ก เอกสารคลาดเคลื่อนคลุมเครือ เราไม่ยื่น คือหลักฐานในเคสนี้ก็น้อยอยู่แล้ว ขืนส่ง Statements และเอกสารแบบเกือบดีเข้าไป เราคงได้ไปชั้นอุทธรณ์จริงๆ

ตีเอกสารกลับ ฟังดูโหด แต่จริงๆคือการขอให้แก้ไขนั่นแหละค่ะ พร้อมไกด์ให้ว่าควรจะแก้ไขประมาณไหน เพิ่มข้อมูลอะไร หาหลักฐานประเภทไหนเพิ่ม เคสที่มีหลักฐานน้อย คนเขียนก็ต้องมีไอเดียบรรเจิด ก็ต้องคิดนอกกรอบกันนิดนึง (บางคนอาจจะไม่แคร์ ลูกความมีเอกสารแค่ไหนก็ยื่นไปแค่นั้น แต่สำหรับคนเขียน...การช่วยลูกความคิดหาเอกสารเพิ่มเติม คนเขียนถือเป็นเนื้องาน อะไรช่วยได้ และอยู่ในกรอบของกฏหมาย คนเขียนทำทั้งนั้น)

สรุปว่าในที่สุดเอกสารเราก็แน่นค่ะ (ก็แน่นเท่าที่แน่นได้นั่นแหละค่ะ)  .... 1 ปี + 1 เดือนนับจากที่เราแจ้งอิมมิเกรชั่นว่าความสัมพันธ์สิ้นสุดลง น้องก็ได้พีอาร์มาครองสมใจ  เคสนี้ ...
  1. ไม่มีการถูกสัมภาษณ์
  2. ไม่มีการขอเอกสารเพิ่มเติม
  3. ไม่มีการส่งตัวไปหา Independent expert (ถ้าอิมมิเกรชั่นไม่เชื่อว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นจริง ลูกความก็จะถูกส่งตัวไปหา Independent expert ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ทางด้านจิตวิทยาของอิมมิเกรชั่น/รัฐบาลเพื่อขอความเห็นว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และความเห็นของเค้าก็เป็นที่สุด)

เคสนี้ น้องก็เป็นอีกหนึ่งลูกความที่อยู่คนละรัฐกับคนเขียน การทำงานของเราก็ผ่านโทรศัพท์ อีเมล์และไลน์ ตั้งแต่เริ่มการปรึกษาเบื้องต้นจนน้องได้พีอาร์ไปแล้วเราก็ยังไม่เคยเจอกันเลย

ป.ล.1   เคส Family violence ไม่ได้พิสูจน์แค่ว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นนะคะ ก่อนที่อิมมิเกรชั่นจะดูเรื่องความรุนแรง อิมมิเกรชั่นดูก่อนว่าเรากับสปอนเซอร์มีความสัมพันธ์กันจริงหรือเปล่า เพราะฉะนั้นหลักฐานความสัมพันธ์ก็จะต้องมีเช่นกัน  บางเคสที่คนเขียนทำมา ลูกความถูกยึดพาสปอร์ต กลับเข้าบ้านไม่ได้ ไม่มีเอกสารจะพิสูจน์ความสัมพันธ์เลย เพราะคุณสปอนเซอร์เก็บไว้ หรือทำลายไปหมด เคสแบบนี้ก็เป็นเคสที่ต้องใช้ไอเดียบรรเจิด ช่วยลูกความหาเอกสาร

ป.ล.2   เคส Partner visa เป็นเคสที่ต้องเก็บเอกสารความสัมพันธ์อยู่แล้วจนกว่าจะได้พีอาร์มาครอง น้องๆทั้งหลาย ไม่ว่าจะมีปัญหาหรือไม่มีปัญหากับแฟนก็ควรจะเก็บเอกสารพวกนี้ไว้เองด้วย เช่นแสกนลง USB ถ่ายรูปเก็บไว้ในมือถือ หรือเก็บใน cloud account เผื่อเกิดปัญหาขึ้นมากลับเข้าบ้านไม่ได้ เอกสารถูกยึดถูกทำลาย อย่างน้อยก็ยังมีบางอย่างที่เราพอจะมีและเอามาใช้ได้

.... รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม .... มีประโยชน์โปรดแชร์ ....

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

ค่ายื่นใบสมัครอุทธรณ์ Administrative Appeals Tribunal (AAT)

24/8/2018

 
วันนี้มาให้ข้อมูลสั้นๆเกี่ยวกับค่ายื่นใบสมัครอุทธรณ์ (Review application) ที่ชั้น AAT หรือชื่อเต็มๆว่า Administrative Appeals Tribunal

Migration review application เป็นการยื่นอุทธรณ์ในกรณีถูกปฏิเสธวีซ่า ถูกปฏิเสธ Nomination หรือ Sponsorship หรือการถูกยกเลิกวีซ่า เป็นต้น

  • ค่ายื่นอุทธรณ์คือ $1,764
  • ถ้าชนะที่ชั้นอุทธรณ์ได้ค่ายื่นคืน 50%
  • ใครชนะที่ชั้นอุทธรณ์แล้วไม่เห็นเงินนี้ภายใน 4 อาทิตย์ ก็ควรติดต่อ AAT, ทนายความ หรือเอเจนต์ที่ดูแลเคสของเราค่ะ
Refugee review application เป็นการยื่นอุทธรณ์เกี่ยวกับวีซ่าลี้ภัย

  • ตอนยื่นไม่มีค่าใช้จ่าย
  • ถ้าแพ้ที่ชั้นอุทธรณ์ จะต้องชำระค่ายื่นให้ AAT $1,764
  • เบี้ยวไม่ชำระ ถือว่าติดหนี้รัฐ อาจจะมีผลกระทบกับวีซ่าตัวถัดไป
ป.ล. อาจจะไม่บ่อยเท่าค่ายื่นวีซ่า แต่ค่ายื่นอุทธรณ์ก็มีการขึ้นราคานะคะ

รายละเอียดอื่นเกี่ยวกับ AAT เขียนไว้ในโพสนี้ ซึ่งตอนที่เขียน ชื่อหน่วยงานคือ MRT (Migration Review Tribunal)


.... รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม .... มีประโยชน์โปรดแชร์ ....

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

กฏเปลี่ยน - ค่า Training - วีซ่า 457 482 186 และ 187

10/8/2018

 
กฏใหม่สำหรับค่า Training ที่นายจ้างจะต้องชำระในการยื่น Nomination จะเริ่มปรับใช้แล้วนะคะ

รายละเอียดตามข้างล่างค่ะ

  • เริ่มปรับใช้วันที่ 12 สิงหาคม 2018
  • สำหรับวีซ่า 457, 482, 186 & 187   -    ใช่ค่ะ...สำหรับวีซ่า 457 ด้วย (ไม่ได้พิมพ์ผิด) .... คือสำหรับนายจ้างที่ต้องการยื่น Nomination เพื่อสปอนเซอร์คนที่ถือวีซ่า 457 อยู่แล้ว
  • ปรับใช้กับ  Nomination ที่ยื่นตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคมเป็นต้นไป ไม่มีผลย้อนหลัง
  • ค่า Training จ่ายเต็มตอนยื่น Nomination application
รายละเอียดค่า Training
Nomination สำหรับวีซ่า 457 & 482
  • รายได้ของธุรกิจต่ำกว่า 10ล้าน ชำระ $1200 x จำนวนปีที่ต้องการสปอนเซอร์พนักงาน
  • รายได้ของธุรกิจสูงกว่า 10ล้าน ชำระ $1800 x จำนวนปีที่ต้องการสปอนเซอร์พนักงาน

Nomination สำหรับวีซ่า 186 & 187
  • รายได้ของธุรกิจต่ำกว่า 10ล้าน ชำระ $3000
  • รายได้ของธุรกิจสูงกว่า 10ล้าน ชำระ $5000

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

แชร์ประสบการณ์ เคสอุทธรณ์ AAT Review application

11/7/2018

 
เมื่อสองสามวันมานี้ คนเขียนนั่งเตรียมเคส เตรียมลูกความสำหรับ AAT Hearing ในวันพรุ่งนี้

วีซ่าของน้องถูกปฏิเสธเพราะเอเจนต์เดิมไม่เข้าใจข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง และให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเข้าไปที่ชั้นอิมมิเกรชั่น (ด้วยความเข้าใจผิดในข้อกฏหมาย)

ตอนน้องติดต่อมา เราเริ่มด้วยการทำ Consultation (คือการให้คำปรึกษาเบื้องต้น) เพื่อที่คนเขียนจะได้อ่านคำ
ตัดสินของอิมมิเกรชั่น และสัมภาษณ์น้องเพื่อที่จะดูความเป็นไปได้ของเคส คือพยายามหาแนวทางแก้ไขเคส
เบื้องต้น ... ซึ่งจากการสัมภาษณ์น้อง คนเขียนเชื่อว่าเคสมีความเป็นไปได้สูง อยู่ที่ว่าเราจะพยายามนำเสนอให้ AAT เห็นตามเราได้ยังไง ในเมื่อ AAT ก็มีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องที่เอเจนต์ยื่นเข้าไปก่อนหน้านี้ที่ชั้นอิมมิเกรชั่น

เริ่มแรกเลย... คนเขียนก็พยายามอธิบายเคสให้น้องฟังว่ามันเป็นเคสที่มีความเป็นไปได้อยู่นะ แต่เนื่องจากว่าเคสนี้เกี่ยวข้องกับคอนเซ็ปทางข้อกฏหมายและการตีความทางกฏหมาย พยายามอธิบายให้ง่ายยังไง คนฟังก็ยังงงอยู่ดี คือเหมือนจะเข้าใจแต่เข้าใจไม่ทั้งหมด ก็ขนาดเอเจนต์เองยังไม่เข้าใจ คนเขียนก็ไม่คาดหวังว่าน้องจะเข้าใจเคสตัวเองได้อย่างถ่องแท้

ในเคสนี้ถึงแม้คนเขียนจะเชื่อว่าเคสมีความหวังสูงอยู่ ก็ไม่กล้าให้ความหวังน้องมาก เพราะการไป AAT ไม่ได้มีแค่การยื่นเอกสาร แต่มี Hearing ด้วย ซึ่งเจ้าตัวก็ต้องไปที่ AAT และถูกซักถามมากมาย บางคนก็ทำได้ดี บางคนก็ทำได้ไม่ดี บางคนเคสดีแต่สื่อสารได้ไม่ดี บางคนความจำเสื่อมขึ้นมากระทันหัน (คือสมองว่างเปล่าด้วยความตื่นเต้น)

เคสนี้น้องและคนเขียนอยู่คนละรัฐ แต่เราติดต่อกันเป็นระยะๆ น้องโทรถามโทรอัพเดทชีวิตให้ฟัง  เรามีการคุยกันเรื่องการเตรียมเอกสารเพื่อยื่นเพิ่มเติม และเรามีการยื่นเอกสารเพิ่มเติมล่วงหน้าก่อน Hearing รวมถึงข้อสรุปทางกฏหมายเพื่อจะช่วยเคสของน้องด้วย  (ป.ล.วิธีการทำงานและวางแผนเคสอุทธรณ์ในแต่ละเคสก็ไม่เหมือนกันนะคะ คนเขียนดูหน้างาน และก็มานั่งคิด นอนคิด ตีลังกาคิดว่าเราจะเดินเคสแต่ละเคสยังไง)

เมื่อวานและวันนี้เราอยู่ในระหว่างเตรียมน้องให้พร้อมไป Hearing .... ซึ่งในความเป็นจริง ไม่มีลูกความคนไหนพร้อมจริงๆ... ส่วนใหญ่ไม่เคยไป AAT มาก่อนและตื่นเต้น บวกกับความกังวลเรื่องภาษา (ซึ่งคนเขียนขอย้ำว่าขอล่ามได้นะคะ ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มด้วยค่ะ) 

เคสนี้เป็นเคสที่โชคดีมากค่ะ เนื่องจาก AAT เมื่อได้พิจารณาเอกสารและข้อโต้แย้งทางกฏหมายที่เรายื่นเข้าไปแล้ว ก็เห็นด้วยกับเรา คนเขียนก็ได้รับจดหมายวันนี้ว่า พรุ่งนี้ไม่ต้องมา Hearing แล้วนะ ไม่เกิน 2 อาทิตย์จะส่งคำตัดสิน (ที่เป็นบวก) มาให้ (เย้)

เคสของน้องเป็นเคสที่ต้องพิจารณาทั้งข้อเท็จจริงบวกกับข้อกฏหมายที่คนเขียนระบุไปทาง AAT ว่า ข้อมูลเดิมไม่ถูกต้อง ข้อมูลใหม่ถูกต้องและเข้าข้อกฏหมาย ซึ่งเคสที่ต้องพิจารณาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฏหมายแบบเคสนี้ มีน้อยมากที่ AAT จะตัดสินโดยไม่ต้องไป Hearing  ลูกความดีใจมาก (บวกกับงงๆว่าเกิดอะไรขึ้น) คนเขียนก็ดีใจมากเช่นกัน (เพราะลึกๆคนเขียนก็แอบห่วงอยู่ว่าน้องจะตอบได้ดีหรือไม่)

โดยส่วนใหญ่แล้ว เคสที่ AAT อาจจะตัดสินโดยไม่ต้องไป Hearing จะเป็นเคสที่ไม่ต้องลงไปพิจารณาข้อเท็จจริง แต่จะเป็นเคสประมาณลืมยื่นเอกสารบางอย่างที่ชั้นอิมมิเกรชั่น แต่มีมายื่นที่ชั้น AAT  เช่นผลภาษาอังกฤษ หลักฐานประกันสุขภาพ ใบตำรวจ เป็นต้น (ป.ล. ในบางเคสการลืมยื่นเอกสารประเภทนี้ที่ชั้นอิมมิเกรชั่น ก็ไม่ทำให้ชนะที่ชั้นอุทธรณ์นะคะ ขึ้นอยู่กับเคสแต่ละเคสค่ะ)

นี่คือเหตุผลที่คนเขียนต้องขอให้นัดทำคอนซัลก่อนที่จะพิจารณารับเคสอุทธรณ์นะคะ จะได้เข้าใจตรงกันว่าเป็นเคสที่น่าจะมีความหวังหรือไม่ (น้องบางคนอาจจะงงๆว่า ก็แค่อยากรู้ว่าจะรับทำรึเปล่าและค่าบริการเท่าไหร่)......สำหรับคนเขียน ถ้าไม่ได้อ่านคำตัดสิน ไม่ได้สัมภาษณ์หาข้อมูลเพิ่มเติม คนเขียนจะไม่รับทำเคส หลายๆเคสอ่านคำตัดสินเจอประเด็นนึง เมื่อรับงานมาและดูเอกสารกันลึกๆเจอประเด็นเพิ่มอีกหลายประเด็นเลยค่ะ อันนี้เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ เมื่อรับงานมาแล้ว เราก็ดูแลกันไป

......... แถม.... อีกหนึ่งประสบการณ์เมื่อเร็วๆนี้...

เคสนี้น้องติดต่อมาว่าจะทำยังไงดี วีซ่าถูกปฏิเสธ น้องยื่นอุทธรณ์ด้วยตัวเองไปแล้ว แต่ไปทำอีท่าไหนไม่รู้ไม่ได้จ่ายเงินค่าอุทธรณ์ให้ AAT

เมื่อเรานัดคอนซัลและดูเอกสารที่น้องส่งมา .... คนเขียนคาดว่าน้อง Tick ผิดช่องทำให้ใบสมัครของน้องแทนที่จะเป็น Migration review application กลายเป็น Refugee review application ซึ่งทำให้น้องยื่นใบสมัครได้โดยไม่ต้องชำระเงิน (ไม่ต้องลองนะคะ มันไม่ใช่เทคนิคการประหยัดเงิน แต่มันเป็นความผิดพลาดที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น - อ่านต่อไปจะเข้าใจค่ะ)

เคส Migration review application ยังไงก็ต้องมีการชำระเงินก่อนที่ระบบออนไลน์จะรับเรื่องค่ะ

เคสนี้น้องยื่นเอง นอกจาก Tick ผิดช่องทำให้ยื่น Migration review application โดยไม่ต้องชำระเงินแล้ว มีการกรอกแบบฟอร์มผิดอีกตังหาก แต่ AAT ก็ใจดียอมรับเรื่องกรอกแบบฟอร์มผิด ส่งจดหมายมาขอให้ชำระเงินค่าอุทธรณ์เท่านั้นเอง

แล้วปัญหามันอยู่ตรงไหน????

ปัญหามันอยู่ที่การยื่นอุทธรณ์ประเภทที่มีค่ายื่นอุทธรณ์ จะต้องมีทั้งการยื่นใบสมัครและมีการชำระเงินด้วย และทั้งสองอย่างนี้จะต้องเกิดขึ้นภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้สำหรับการยื่นอุทธรณ์ ในเคสนี้คือ 21 วันนับจากได้รับแจ้งว่าถูกปฏิเสธวีซ่า

น้องยื่นใบสมัครอุทธรณ์ทันเวลา (แบบไม่จ่ายตังค์)   AAT ส่งจดหมายแจ้งให้น้องจ่ายตังค์ ซึ่งโชคดีที่ยังเหลือเวลาอีก 1 วันครึ่ง ให้น้องจ่ายตังค์ได้ทันเวลา  ปัญหาคือน้องไม่ได้จ่ายตังค์ใน 1 วันครึ่งที่เหลืออยู่นี่ซิคะ ตอนที่ติดต่อมาหาคนเขียนนี่คือเลยระยะเวลา 21 วันตามที่กฏหมายกำหนดไปเรียบร้อยแล้ว

น้องบอกว่าน้องมีเหตุผล ระบบอีเมล์ของน้องไม่ดี กว่าอีเมล์จะเด้งขึ้นมาให้น้องเห็น ก็เลยเวลา 21 วันไปแล้ว (ถ้าเราให้อีเมล์เป็นช่องทางการติดต่อ เราต้องมั่นใจว่าเราจะเช็คอีเมล์และระบบอีเมล์ของเราดีนะคะ ไม่อย่างงั้นน้องอาจจะเจอประสบการณ์คล้ายๆกับน้องคนนี้) ในเคสนี้ น้องอาจจะลองทำคำอธิบายเข้าไปที่ AAT ว่าทำไมถึงชำระค่ายื่นอุทธรณ์ไม่ทันเวลา แต่คนเขียนคิดว่ามีเปอร์เซ็นต์น้อยมากที่ AAT จะยอมรับเคสนี้ไว้พิจารณา แนวทางการตัดสินของ AAT ในกรณีแบบนี้คือ No Jurisdiction (AAT ไม่มีอำนาจในการพิจารณาเคสของน้องแล้ว) เพราะถือว่าเป็นการยื่นอุทธรณ์ Out of time (เลยเวลาที่อนุญาตให้ยื่นอุทธรณ์) แต่เนื่องจากว่าน้องไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ไม่ลองไม่รู้ ถ้าลองเขียนคำอธิบายเข้าไป น้องอาจจะโชคดี AAT เห็นใจ แต่ถ้า AAT ไม่เห็นใจ ก็เป็นอะไรที่คาดไว้อยู่แล้ว

เคสนี้ วีซ่าที่น้องยื่นอุทธรณ์ไม่ทันเป็นวีซ่าพีอาร์ด้วยค่ะ ซึ่งน่าเสียดายมาก และเนื่องจากน้องถูกปฏิเสธวีซ่าและตอนนี้ก็ถือ Bridging visa น้องก็ติด section 48 บาร์ คาดว่าเคสนี้น้องจะต้องกลับไปยื่นวีซ่าตัวใหม่จากไทยค่ะ

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

ฺฺBridging visa

13/4/2018

 
Bridging visa คืออะไร

คนเขียนมักจะอธิบายแบบสั้นๆง่ายๆให้ลูกความฟังว่า Bridging visa คือวีซ่า "รอ" .... รออะไร ... ก็รอผลการพิจารณาของวีซ่าตัวจริงที่เรายื่นขอไปไงคะ เช่นวีซ่านักเรียน วีซ่าคู่ครอง วีซ่าทำงาน  อิมมิเกรชั่นเรียกวีซ่าตัวจริงพวกนี้ว่า "Substantive visa"

วีซ่า "รอ" (Bridging visa) กับวีซ่าตัวจริง (Substantive visa) มีความสัมพันธ์กันอยู่ค่ะ

  • พอเรายื่นขอวีซ่าตัวจริงอะไรซักอย่างเข้าไปที่อิมมิเกรชั่น เช่นวีซ่านักเรียน วีซ่าคู่ครอง วีซ่าทำงาน
  • อิมมิเกรชั่นก็จะออก Bridging visa มาให้ เพื่อที่ผู้สมัครจะได้ "รอ" ผลการพิจารณาวีซ่าอยู่ในประเทศออสเตรเลียได้อย่างถูกกฏหมาย
  • โดยส่วนใหญ่แล้วอิมมิเกรชั่นจะออก Bridging visa ให้โดยอัตโนมัติเมื่อมีการยื่นขอ Substantive visa .... ใช้คำว่า "โดยส่วนใหญ่" เพราะก็มีบางกรณีที่ Bridging visa ไม่ได้ออกให้อัตโนมัติ คือต้องกรอกแบบฟอร์มยื่นขอกันตังหาก
  • ถ้าอิมมิเกรชั่นพิจารณาออกวีซ่าตัวจริง (Substantive visa) ให้ ผู้สมัครก็จะเปลี่ยนจากการถือวีซ่า "รอ"  (Bridging visa) ไปถือวีซ่าตัวจริงโดยอัตโนมัติ
  • ถ้าอิมมิเกรชั่นปฏิเสธไม่ให้วีซ่า ตัว Bridging visa ที่ถืออยู่ก็จะหมดไป 28 วัน หรือ 35 วัน หลังจากที่ผู้สมัครได้รับแจ้งการถูกปฏิเสธวีซ่า
                                     Q: ทำไมต้องมี 28 วัน หรือ 35 วันด้วย??
                                     A: ก็เพราะมีกฏเปลี่ยนเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2016

                                      Q: แล้วจะทราบได้ยังไงว่า Bridging visa หมดอายุเมื่อไหร่กันแน่
                                      A: ถ้า Bridging visa ออกก่อนวันที่ 19 พฤศจิการยน 2016 - 28 วัน
                                          ถ้าออกวันที่ 19 พฤศจิการยน 2016 หรือหลังจากนั้น - 35 วัน
                                          ทางที่ดีที่สุด เช็ค VEVO ค่ะ

  • ถ้าถูกปฏิเสธวีซ่า และมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ไปที่ AAT และได้ยื่นอุทธรณ์ไปที่ AAT .... Bridging visa แทนที่จะหมดอายุใน 28 หรือ 35 วัน ก็จะยืดออกโดยอัตโนมัติ ...คือไม่หมดอายุ... คือรอต่อไป รอผลการพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ (คนเขียนถึงเรียก Bridging visa เป็นภาษาไทยสั้นๆว่าวีซ่า "รอ")  - นอกเรื่องนิดนึง...
                    - ทุกครั้งที่เขียนเกี่ยวกับการยื่นอุทธรณ์ คนเขียนจะย้ำเสมอว่า อุทธรณ์ไม่ใช่ทางออกของทุกเคส
                      นะคะ (ครั้งนี้ก็ต้องย้ำ) คือมันไม่ใช่สูตรนะคะว่าพอถูกปฏิเสธจะต้องยื่นอุทธรณ์ ต้องดูความเหมาะสม
                      ของเคสด้วย ว่าควรยื่นอุทธรณ์หรือไม่
                    - บางเคสมีโอกาสยื่นขอวีซ่าไปที่อิมมิเกรชั่นใหม่ และการยื่นใหม่อาจจะดีกว่าการยื่นอุทธรณ์
                    - บางเคสถึงจะมีโอกาสยื่นขอวีซ่าใหม่อีกครั้ง แต่การยื่นอุทธรณ์น่าจะมีโอกาสได้วีซ่ามากกว่า
                    - บางเคสเมื่อพิจารณาตัวบทกฏหมายและสถานการณ์ของเคส ไม่ว่าจะทำยังไงก็ไม่มีโอกาสชนะที่
                      ชั้นอุทธรณ์ ก็ไม่ควรยื่น
                    - บางเคสถึงจะไม่มีโอกาสผ่านที่ชั้นอุทธรณ์ก็ควรยื่น (แต่ก็ไม่ใช่ทุกเคส เพราะถ้าการยื่นไม่ได้ให้
                      ประโยชน์อะไรกับเราเลย นอกจากการเสียตังค์ ก็ไม่ทราบว่าจะเสียตังค์ไปทำไม)
                    - บางเคสก็ควรจะยื่นอุทธรณ์ด้วย ยื่นใหม่ด้วย เพื่อเป็นการเปิดทางเลือกให้มากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่า
                      ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นตามโอกาสที่มากขึ้น (ย้ำอีกครั้งว่า นี่ไม่ใช่สูตร ไม่ได้ใช้ได้กับทุกเคสทุกสถานการณ์
                      ในบางเคสก็เป็นการใช้เงินโดยเปล่าประโยชน์)
      
  • ในกรณีที่เคสชนะที่ชั้นอุทธรณ์ เคสก็จะถูกส่งกลับไปให้อิมมิเกรชั่นพิจารณาอีกครั้ง วีซ่า "รอ" ก็ยังคงอยู่ เพราะก็ยังรอผลการพิจารณาจากอิมมิเกรชั่นอยู่
  • ถ้าแพ้ที่ชั้นอุทธรณ์ ก็ย้อนกลับไปดูข้างบน ระยะเวลา 28 หรือ 35 วัน ก็จะเริ่มหลังจากที่ได้รับการแจ้งผลอุทธรณ์
                   - บางเคสมีทางไปต่อนะคะ แต่หลังจากนี้จะเป็นอะไรที่ค่อนข้างซับซ้อนแล้ว

ฺฺคนเขียนขอสรุปวีซ่า "รอ" ที่เจอกันเป็นปกตินะคะ  (แบบไม่ปกติขอไม่พูดถึง)

Bridging visa A - รออยู่ในประเทศเท่านั้น ออกไปเที่ยวนอกประเทศระหว่างรอไม่ได้ (จริงๆ คือ ออกได้ แต่จะไม่ได้กลับเข้ามา)
               
Bridging visa B - สำหรับคนที่ต้องการออกไปเที่ยว ไปเยี่ยมญาติ ไปทำธุระนอกประเทศระหว่างรอการพิจารณาวีซ่าตัวจริง Bridging visa B นี่เป็นวีซ่าแบบที่อิมมิเกรชั่นไม่ได้ออกให้โดยอัตโนมัตินะคะ ต้องสมัครและเสียตังค์ด้วย และเฉพาะคนที่ถือ ฺBridging visa A เท่านั้นนะคะ ที่จะขอ Bridging visa B ได้ 

Bridging visa C - จะออกให้กับคนที่มีสถานะเป็นผี (ไม่มีวีซ่า) หรือถือ Bridging visa (ที่ไม่ใช่ Bridging visa E) ตอนยื่นขอวีซ่าตัวจริง

Bridging visa E - จะออกให้กับคนที่มีสถานะเป็นผี ที่ต้องการเตรียมตัวเดินทางกลับออกไป หรือมีการยื่นอุทธรณ์ในกรณีวีซ่าถูกยกเลิก หรือมีการยื่นอุทธรณ์ไปหารัฐมนตรีด้านคนเข้าเมือง ในกรณีแบบนี้ต้องมีการยื่นขอนะคะ
อิมมิเกรชั่นไม่ได้ออก  Bridging visa E ให้โดยอัตโนมัติ และสำหรับคนที่เป็นผีและเคยได้รับ Bridging visa E มาแล้ว และมีการยื่นขอวีซ่าตัวจริงเข้าไป โดยส่วนใหญ่แล้วก็จะได้ Bridging visa E โดยอัตโนมัติ

ในกรณีที่เคสค่อนข้างซับซ้อน ก็อาจจะมีอาการงงๆกันนิดนึงว่าตกลงถือ Bridging visa ตัวไหนกันแน่ บางคนก็ได้ Bridging visa มาหลายตัวเพราะยื่นขอวีซ่าหลายตัว หรือมีการยื่นอุทธรณ์ด้วย ขอวีซ่าใหม่ด้วยเป็นต้น

คิดอะไรไม่ออก เช็ค VEVO ค่ะ

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

แชร์ประสบการณ์ Partner visa - Schedule 3 waiver Request

13/10/2017

 
คนเขียนเพิ่งแจ้งข่าวดีให้กับลูกความคู่นึงไป ข่าวดีของคนที่ยื่นวีซ่าก็คงไม่มีอะไรนอกจากวีซ่าออกแล้ว

เคสนี้เป็นเคสที่เราดูแลกันมายาวนานพอสมควร ลูกความติดต่อคนเขียนมาตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว ลูกความไม่ถือวีซ่ามาระยะใหญ่ แต่มีแฟนออสซี่ แต่เนื่องจากกฏเกณฑ์นโยบายการขอวีซ่าคู่ครองของคนที่ไม่มีวีซ่า ก็เปลี่ยนมาระยะนึงแล้ว ซึ่งทำให้โอกาสการได้วีซ่าในเคสแบบนี้ยากขึ้นมาก

ทางเลือกของคนไม่ถือวีซ่าที่ต้องการยื่นวีซ่าคู่ครอง (ก็ได้เคยโพสไปแล้วว่า) มีอยู่สองทาง คือการกลับออกไปยื่นวีซ่าแบบนอกประเทศออสเตรเลีย หรือเสี่ยงยื่นวีซ่าแบบในประเทศออสเตรเลียถ้าคิดว่าเคสของเรามีเหตุผลที่น่าเห็นใจจริงๆ (Schedule 3 waiver request) คนเขียนใช้คำว่า"เสี่ยง" เพราะต่อให้เราคิดว่าเรามีเหตุผลน่าเห็นใจแค่ไหน เหตุผลอาจจะไม่มากพอในมุมมองของอิมมิเกรชั่น ซึ่งก็อาจจะทำให้เราถูกปฏิเสธวีซ่าได้ เมื่อถูกปฏิเสธวีซ่าในกรณีแบบนี้ ก็มีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งอุทธรณ์ก็มีความเสี่ยง อาจจะชนะหรือแพ้ ไม่มีใครตอบได้

จากประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้ คนเขียนคิดว่าเคสนี้เป็นเคสที่น่าเห็นใจจริงๆ แต่เนื่องจากว่าคนเขียนก็ไม่ใช่คนตัดสินเคส ลูกความก็ต้องเป็นคนตัดสินใจเองว่าจะเลือกทางไหนที่ตัวเองพอรับได้ ระหว่าง

1. กลับไปยื่นที่ไทย ซึ่งการพิจารณาน่าจะเร็วกว่าและมีโอกาสได้วีซ่าสูงกว่า (ถ้าความสัมพันธ์หนักแน่นมั่นคงและมีหลักฐานสนับสนุนที่ดี) แต่ก็คงจะต้องรออยู่ที่ไทยจนกว่าจะได้วีซ่า เพราะการขอวีซ่าท่องเที่ยวมาในระหว่างรอคงไม่ผ่านเนื่องจากเคยอยู่เป็นผีที่ออสเตรเลียมาระยะใหญ่ และถ้าวีซ่าคู่ครองไม่ผ่านจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ก็คงต้องรออยู่ที่ไทยจนกว่าอุทธรณ์จะผ่าน หรือได้วีซ่าประเภทอื่น

หรือ

2. เสี่ยงยื่นที่นี่ ซึ่งโอกาสที่จะถูกปฏิเสธที่ชั้นอิมมิเกรชั่นก็สูงพอสมควร แต่โอกาสที่จะชนะที่ชั้นอุทธรณ์ก็พอมี ถ้าถูกปฏิเสธ ก็มีโอกาสตัดสินใจว่าจะกลับไปวีซ่ายื่นใหม่ที่ไทยดี หรือจะเสี่ยงลุยต่อไปชั้นอุทธรณ์ดี ถ้าไม่ผ่านที่ชั้นอุทธรณ์ ก็คงจะได้กลับไปยื่นใหม่ที่ไทยจริงๆ ยกเว้นว่าจะมีเหตุให้อุทธรณ์ต่อในชั้นอื่นได้ (ซึ่งในบางเคสก็มีความเป็นไปได้)

คนเขียนง่ายๆ ถ้าลูกความลุย คนเขียนก็ลุยค่ะ แต่ก่อนลุย ลูกความต้องเข้าใจพื้นฐานเคสของตัวเองจริงๆก่อน ...
ทำงานกับคนเขียนไม่มีการเพ้นท์ภาพสวยหรู ไม่มีโลกสวย เราเอาเรื่องจริงมาคุยกัน คนเขียนไม่เห็นประโยชน์ที่จะบอกลูกความว่าเคสง่ายๆเดี๋ยวก็ได้วีซ่า ถ้าในความเป็นจริงมันไม่ใช่

สรุปว่าลูกความเลือกเสี่ยงยื่นที่นี่ คนเค้ารักกันอยากอยู่ดูแลกัน (และที่สำคัญมีเหตุผลน่าเห็นใจ) คนเขียนก็ลุย ลูกความก็ลุยค่ะ และเราก็ถูกปฏิเสธ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดคาด แต่ผิดหวัง คนเขียนก็ถามว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือจะกลับไปยื่นที่ไทย ในใจก็นึกว่าในเมื่อลุยมาถึงตรงนี้แล้ว ก็ควรจะลุยต่อ ไม่อย่างงั้นก็ควรยื่นที่ไทยตั้งแต่แรก นึกแต่ไม่ได้พูดเพราะนี่คือชีวิตของลูกความ และทั้งสองทางต่างก็มีข้อดี/ข้อเสียของมันเอง ก็ต้องให้ลูกความเลือกและตัดสินใจเอาเอง คนเขียนไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินใจแทน แต่มีหน้าที่ให้คำแนะนำประกอบการตัดสินใจ

ลูกความตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ คนเขียนชื่นใจมาก ไม่ได้ชื่นใจเพราะลูกความตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ แต่เพราะขออะไรไปก็จะพยายามหาให้อย่างรวดเร็ว แบบไม่ต้องตามไม่ต้องถามซ้ำ (proactive แบบสุดๆ) และเราก็ชนะที่ชั้นอุทธรณ์ เคสถูกส่งกลับไปให้อิมมิเกรชั่นพิจารณาต่อ และในที่สุดคุณลูกความก็ได้วีซ่าสมใจ ซึ่งในเคสนี้ลูกความได้วีซ่าคู่ครองแบบถาวรเลยด้วยค่ะ  .... คนเขียนชื่นใจและดีใจเหมือนได้วีซ่าซะเอง  ... นับรวมเวลาตั้งแต่เข้ามาขอคำปรึกษาเบื้องต้นจนถึงวันนี้ 4 ปี กับอีก 2 เดือน

หลายๆคนอาจจะสงสัยว่าแล้วจะบอกไหมว่าเหตุผลที่น่าเห็นใจมันคืออะไร ... ไม่บอก ... ความลับของลูกความบอกไม่ได้ ... และบอกไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะแต่ละเคสก็มีลักษณะเฉพาะตัว ก็ต้องพิจารณากันเป็นเคสๆไป  สำหรับบางคนที่เหมารวมว่าคนไม่มีวีซ่า/ผีจะไม่มีทางขอวีซ่าคู่ครองแบบในประเทศได้และต้องกลับไปยื่นแบบนอกประเทศเท่านั้น ก็ต้องบอกว่าไม่จริงเสมอไป

คนเขียนเคยโพสไว้นานแล้วว่าเคสบางเคสทนายหรือเอเจนต์ต้องทำงานกับเรานานเป็นปีๆ เลือกคนที่คลิ๊กกับเรานะคะ จะได้ทำงานด้วยกันอย่างสบายใจ

นอกเรื่อง .... มีน้องๆถามเกี่ยวกับ Bridging visa มาค่อนข้างเยอะ คนเขียนร่างไว้แล้วแต่ยังไม่เสร็จ รออีกแป๊บ...
ที่ถามๆกันมาก็จะพยายามตอบให้นะคะ (ถ้าตอบได้) อาจจะตอบเป็นการส่วนตัว หรือทาง Blog ในหัวข้อ ถาม-ตอบ จิปาถะ (ไม่มีความจำเป็นต้องเช็ค Blog ทุกวันนะคะ ถ้าตอบทาง Blog จะแจ้งให้ทราบว่าตอบให้แล้วใน Blog)
คำถามที่คนเขียนไม่ได้ตอบ คือคำถามที่ต้องดูเอกสารประกอบหรือต้องซักถามกันเพิ่มเติมหรือต้องอธิบายกันแบบยาวๆ ในกรณีแบบนี้รบกวนนัดปรึกษารับคำแนะนำกันแบบเป็นเรื่องเป็นราวนะคะ

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

จดทะเบียนความสัมพันธ์ (Relationship Registration) South Australia

27/8/2017

 
เมื่อเดือนที่แล้วคนเขียนไปเจอมาว่าร่างกฏหมายการจดทะเบียนความสัมพันธ์ของรัฐ South Australia ผ่านสภามาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2016 แล้ว คนเขียนเชื่อว่าน่าจะมีผลบังคับใช้เร็วๆนี้ .... คือจริงๆน่าจะบังคับใช้มาตั้งนานแล้ว ก็ไม่ทราบว่ารัฐบาลรออะไร ....

คนเขียนเลยบอกน้องๆลูกความที่อยู่ในความสัมพันธ์ฉันท์ De facto แต่ยังไม่ครบ 12 เดือน (หรือเกิน 12 เดือนแล้ว แต่หลักฐานไม่แน่น) ให้คอยติดตามกับทางหน่วยงานรัฐบาลว่าเมื่อไหร่กฏหมายตัวนี้จะบังคับใช้ 

และตอนนี้ (เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2017) ที่ South Australia ก็สามารถจดทะเบียนความสัมพันธ์ได้แล้วนะคะ ลูกความของคนเขียนคาดว่าจะเป็นคู่แรกๆที่ได้ใช้กฏหมายนี้

ป.ล.1      รัฐอื่นที่ยังไม่มีกฏหมายรองรับการจดทะเบียนความสัมพันธ์ ก็อาจจะมีได้ซักวันนึงนะคะ
               เพราะฉะนั้นอย่าด่วนสรุป ไม่อย่างงั้นเราอาจจะพลาดโอกาสดีๆได้

ป.ล.2      เงื่อนไขการจดทะเบียนความสัมพันธ์ของแต่ละรัฐไม่เหมือนกันนะคะ 
               บางรัฐที่รับจดทะเบียนความสัมพันธ์อยู่แล้ว ก็อาจจะมีการเปลี่ยนเงื่อนไขได้
               ก่อนจะยื่นใบสมัครก็เช็คเงื่อนไขกันด้วยนะคะ จะได้เตรียมเอกสารให้ครบ ไม่เสียเวลาหรือเสียตังค์ฟรี

ข้อมูลการจดทะเบียนความสัมพันธ์ของ South Australia อยู่ที่ https://www.sa.gov.au/topics/family-and-community/births,-deaths-and-marriages/register-a-relationship

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

สรุปเคสน่าสนใจ..... บุตรบุญธรรม

23/8/2017

 
คนเขียนมีเคสน่าสนใจที่จะมาสรุปให้ฟังค่ะ ไม่ใช่เคสของคนเขียนเองนะคะแต่เป็นเคสที่ตีพิมพ์ไว้ และประชาชนคนทั่วไปก็สามารถเข้าไปอ่านได้  (ถ้าเป็นเคสของตัวเอง คนเขียนจะลงลึกไม่ได้ เพราะมีหน้าที่รักษาความลับของลูกความ)

เคสนี้เป็นวีซ่าบุตรบุญธรรมที่ถูกปฏิเสธในชั้นอิมมิเกรชั่น และก็ไม่ประสบความสำเร็จที่ชั้นอุทธรณ์ Administrative Appeals Tribunal (AAT) ก็เลยมาร้องต่อศาล Federal Circuit Court และก็ไม่ประสบความสำเร็จอยู่ดี

เคสนี้เป็นเคสที่ป้าหรือน้าไม่แน่ใจ (เรียกว่า"ป้า" แล้วกันนะคะ เพื่อความสะดวก) ซึ่งเป็นพลเมืองของออสเตรเลียแล้ว ต้องการที่จะนำหลานอายุ 17 มาอยู่ด้วย (ซึ่งเป็นลูกของพี่หรือลูกของน้องก็ไม่แน่ใจ - คิดซะว่าเป็นลูกของน้องนะคะ เพื่อความสะดวก)  - พ่อแม่แท้ๆจะแก่หรืออ่อนกว่าพ่อแม่บุญธรรมในกรณีนี้ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ และภาษาอังกฤษใช้คำว่า sister คนเขียนก็ไม่ทราบว่าใครแก่กว่าใคร รู้แค่ว่าแม่ที่แท้จริงกับคนที่อยากเป็นแม่บุญธรรมเป็นพี่น้องกัน)

เคสนี้ตามที่อ่าน ป้าไม่ได้มีการทำเรื่องบุตรบุญธรรมที่ประเทศไทย (คือไม่มีหลักฐานว่าทำ) แต่มีการร้องขอต่อศาลที่ประเทศออสเตรเลีย (Family Court of Australia) ให้มีสิทธิ์ในการปกครอง (parenting orders) หลานอายุ 17 คนนี้  ซึ่งพ่อแม่ที่แท้จริงของหลานก็ยังมีชีวิตอยู่และเซ็นยินยอมให้สิทธิ์ในการปกครองลูกตัวเองแก่ป้า เพื่อที่จะได้มาเรียน มาอาศัยอยู่ที่ออสเตรเลีย

ตอนแรกป้าเริ่มด้วยวีซ่า Orphan relative แปลเป็นไทยว่าวีซ่าสำหรับญาติที่เป็นกำพร้า วีซ่าถูกปฏิเสธเพราะพ่อแม่แท้จริงก็ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ได้ตาย ไม่ได้สูญหาย ไม่ได้พิการ

ป้าเลยยื่นวีซ่าบุตรบุญธรรมแทน ประเด็นสำคัญที่โต้เถียงโดยป้าคือ

1. ป้าอ้างถึงคำสั่งของศาลออสเตรเลียที่ให้อำนาจป้าปกครองหลาน (parenting orders)

  - ศาลบอกว่าให้อำนาจปกครองหลาน ไม่ได้เป็นเอกสารที่แปลว่าหลานได้กลายเป็นบุตรบุญธรรมของป้าแล้ว

2. ป้าบอกว่าไปหา Department of Family and Community Services (FACS) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่พิจารณาอนุมัติการรับบุตรบุญธรรมแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับพิจารณา (เพราะหน่วยงานจะพิจารณาอนุมัติบุตรบุญธรรม ที่ไม่ใช่แบบญาติรับญาติมาเป็นบุตร) ป้าโต้เถียงว่า การที่ FACS ไม่ยอมรับเรื่องพิจารณาการรับบุตรบุญธรรมของป้า ป้าถือเป็นการอนุมัติบุตรบุญธรรมแล้วโดยปริยาย (???? ตรงนี้ คนเขียนงงๆนะคะ ว่าการไม่รับเรื่องไว้พิจารณา จะถือว่าเป็นการอนุมัติได้อย่างไร อาจจะมีรายละเอียดทางเอกสารมากกว่าที่เขียนไว้ในคำตัดสินเคสนี้นะคะ ถึงทำให้ป้าคิดแบบนี้)

  - ศาลบอกว่าการที่ FACS ปฏิเสธที่จะพิจารณาเคสญาติรับญาติมาเป็นบุตรบุญธรรม จะมานัวๆว่ามีการอนุมัติได้ยังไง ต้องมีเอกสารอนุมัติที่ชัดเจนสิ

3. ป้าบอกว่าจริงๆแล้วป้าเป็นแม่บุญธรรมตามธรรมเนียมไทย (Customary/informal adoption) มานานแล้ว เพราะที่ประเทศไทยหลานมักจะอยู่ในความดูแลของปู่ย่าตายาย ในกรณีนี้นอกจากตายายแล้ว ป้าก็ช่วยดูแลและรับภาระทางการเงินส่งหลานเรียน ทำไม AAT (หน่วยรับอุทธรณ์แรก) ไม่ถามถึงจุดนี้ในวันพิจารณา และไม่ยอมพิจารณาในประเด็นนี้

  - ศาลบอกว่า ถ้าคิดว่าประเด็นไหนสำคัญและอยากให้พิจารณา ป้ามีหน้าที่นำเสนอต่อ AAT นะคะ ... AAT ไม่ได้มีหน้าที่ๆจะต้องถามทุกอย่างที่ป้าอยากให้ถาม

  - และถ้าป้าจะบอกว่า ป้าได้นำเสนอต่อ AAT แล้ว ว่าป้าเป็นแม่บุญธรรมตามธรรมเนียมไทยมานานแล้ว แต่ AAT กลับไม่เอามาพิจารณา ศาลบอกว่าไหนล่ะหลักฐานว่าได้นำเสนอต่อ AAT แล้ว ไม่เห็นเอามาแสดงต่อศาล (Federal Circuit Court) เลย ... อ้างลอยๆไม่ได้นะ

  - และหลักฐานที่ศาลมีในเคสนี้ ก็ไม่มีชิ้นไหนเลยที่สื่อว่าได้มีการรับบุตรบุญธรรมกันมาก่อนแล้วจากประเทศไทย มีแต่เอกสารที่สื่อว่าป้าและสามีมาพยายามทำเรื่องรับบุตรบุญธรรมในประเทศออสเตรเลีย
 
           ... เคสอิมมิเกรชั่นเป็นเคสที่ว่ากันตามหลักฐาน และการพิสูจน์หลักฐานนะคะ
                                                 ไม่ว่าจะที่ชั้นอิมมิเกรชั่น ชั้นอุทธรณ์ที่ AAT
                             ชั้นอุทธรณ์ที่ Federal Circuit Court / Federal Court หรือ High court
                                                  หรือชั้นอื่นๆที่บางเคสเปิดโอกาสให้ไปได้

ศาลโน๊ตไว้ด้วยว่า เคสนี้จริงๆแล้วเป็นเคสที่ต้องยื่นแบบนอกประเทศเท่านั้น แต่ตัวหลานอยู่ในประเทศออสเตรเลียตอนยื่น (ซึ่งแค่จุดนี้จุดเดียวก็ไม่รอดแล้ว และ AAT จะไม่พิจารณาจุดอื่นเลยก็ได้)

คนเขียนโน๊ตว่าป้าและสามีไม่ได้แต่งทนายมาช่วยในเคส Federal Circuit Court (อาจจะมีคนช่วยอยู่เบื้องหลัง
รึเปล่า อันนี้ไม่แน่ใจ)

เคสบุตรบุญธรรมในกรณีที่ผู้ขอรับบุตรธรรมเป็นพีอาร์ หรือพลเมืองของออสเตรเลียไปแล้ว มีความซับซ้อนสูง และความเสี่ยงสูง ต้องใช้เวลาพิจารณากันนานเพราะข้อมูลเยอะ และต้องพิจารณากันเป็นเคสๆไปนะคะ

ปกติแล้วคนเขียนจะโพสที่มาของข้อมูล แต่เนื่องจากเคสนี้เป็นเคสคนไทย แหล่งข้อมูลระบุชื่อนามสกุลชัดเจน
ถึงแม้ว่าเคสนี้จะได้ตีพิมพ์ให้คนทั่วไปหาอ่านได้  และคนเขียนก็ไม่ได้มีหน้าที่รักษาความเป็นส่วนตัวให้กับป้าและหลานในเคสนี้  แต่ด้วยวัฒนธรรมไทยและเคารพในความเป็นส่วนตัวของป้าหลานคู่นี้ คนเขียนขอแจ้งแหล่งข้อมูลแค่ว่าเป็นคำตัดสินของ Federal Circuit Court ปี 2017

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

Partner visa กับคนที่วีซ่าขาด

17/8/2017

 

มีน้องๆที่วีซ่าขาดติดต่อเข้ามาอยู่เรื่อยๆนะคะ หนู/ผมมีแฟนเป็นชาวออสเตรเลีย/เป็นพีอาร์ จะยื่นวีซ่าคู่ครองที่นี่ได้ไหม

คำตอบคือถ้าไม่มีเหตุผลน่าเห็นใจจริงๆ ยากค่ะ  แปลว่าถ้ามีเหตุผลที่หนักแน่นจริงและสามารถนำเสนอได้ พิสูจน์ได้  ก็ยังมีโอกาส (แต่ไม่ง่ายเหมือนเมื่อก่อน)

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ถ้าสามารถพิสูจน์ความสัมพันธ์ได้ถึงสองปี หรือมีลูกด้วยกัน หรือมีเหตุผลน่าเห็นใจพอสมควรก็โอเคแล้ว

แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ อิมมิเกรชั่นปรับเปลี่ยนนโยบายภายในใหม่ (ตัวบทกฏหมายยังคงเดิม) การพิจารณาก็จะเพ็งเล็งไปที่ทำไมผู้สมัครถึงไม่มีวีซ่า ทำไมเป็นผีมาหลายปี ได้พยายามติดต่ออิมมิเกรชั่นเพื่อแก้ไขสถานะของตัวเองหรือไม่ หรืออยู่เป็นผีไปเพื่อรอเวลายื่นวีซ่า

ในบางเคสถึงแม้จะมีเหตุผลน่าเห็นใจจริงๆ (เช่นมีลูกเล็กด้วยกัน สปอนเซอร์ป่วยไม่สบาย ต้องการคนดูแล) อิมมิเกรชั่นก็ยังไม่สนใจ ปฏิเสธแบบไม่เห็นใจใดๆทั้งสิ้น สนใจอย่างเดียวคือการมีประวัติการอยู่เป็นผีมาก่อนการยื่นวีซ่า

เพราะฉะนั้นใครที่ยังไม่เป็นผี ก็ไม่ต้องพยายามจะเป็นนะคะ (จริงๆแล้ว ไม่ต้องเคสผีหรอกค่ะ เคสถือ Bridging visa ก็ต้องพิสูจน์เหตุผลน่าเห็นใจด้วยเช่นกัน)

เคสผี และเคส ฺBridging visa ถ้าไม่มีเหตุผลที่น่าเห็นใจจริงๆ ก็ต้องแนะนำให้กลับไปยื่นแบบนอกประเทศ แปลว่าจะไปยื่นไปรอที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่ในประเทศออสเตรเลีย แต่เพราะว่าระยะเวลาการรอก็ประมาณ 8-12 เดือน หรือนานกว่านั้นในบางเคส ส่วนใหญ่ก็จะกลับไปยื่นไปรอที่ประเทศบ้านเกิดของตัวเองกัน

ประวัติการอยู่เป็นผีมาก่อน เช่นการอยู่เลยกำหนดวีซ่า การเคยถูกปฏิเสธเพราะอิมมิเกรชั่นไม่เชื่อว่าตั้งใจจะเป็นนักเรียนจริง หรือการถูกยกเลิกวีซ่าเพราะทำผิดเงื่อนไขวีซ่า โดยทั่วไปแล้วไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับการยื่นวีซ่าคู่ครองแบบนอกประเทศ ถ้าหลักฐานความสัมพันธ์แน่น โอกาสผ่านก็สูงค่ะ การติดบาร์ 3 ปี จากการอยู่เลยกำหนดวีซ่าหรือการถูกยกเลิกวีซ่า ไม่ได้มีผลกับวีซ่าคู่ครองแบบนอกประเทศนะคะ

เคสที่น่ากังวัลคือเคสที่มีประเด็นอื่นพ่วงมาด้วย เช่น มีปัญหาสุขภาพ มีประวัติคดีอาญา เคยถูกปฏิเสธหรือถูกยกเลิกวีซ่าเพราะเคยให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในใบสมัครเก่า หรือเคยมีการปลอมแปลงเอกสาร  ประเด็นพวกนี้อาจจะมีผลกับการพิจารณา ซึ่งก็ต้องมาดูว่าควรจะเสี่ยงออกไปหรือไม่ เพราะออกไปแล้วอาจจะไม่ได้กลับเข้ามา

คนเขียนมีลูกความทั้งสองประเภทนะคะ ประเภทที่ต้องแนะนำให้ยื่นแบบนอกประเทศ เพราะไม่มีเหตุผลน่าเห็นใจอะไรที่เข้าข่ายให้ได้ลุ้นเลย

กับประเภทที่เข้าข่ายมีเหตุผลน่าเห็นใจที่อิมมิเกรชั่นอาจจะพิจารณาออกวีซ่าคู่ครองแบบในประเทศให้ ซึ่งเทรนปัจจุบันต้องบอกว่ายาก และอาจจะมีหวังที่ชั้นอุทธรณ์ซะมากกว่า  ลูกความกลุ่มนี้ก็ต้องยอมรับว่าค่าใช้จ่ายจะสูงเพราะมีแนวโน้มไปถึงชั้นอุทธรณ์ และก็ต้องยอมรับความไม่แน่นอน เพราะถ้าอุทธรณ์ไม่ผ่าน ก็ต้องเสียตังค์เสียเวลาต่อเพราะอาจจะต้องยื่นแบบนอกประเทศในที่สุด

คนเขียนมีเคสนึงที่เพิ่งชนะที่ชั้นอุทธรณ์เมื่อเร็วๆนี้ เคสนี้ถึงแม้จะมีเหตุผลที่น่าเห็นใจ คนเขียนก็ยังเสนอแนะให้ยื่นแบบนอกประเทศ เพราะห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายและความไม่แน่นอนว่าเคสจะไปจบตรงไหน ค่าใช้จ่ายจะปานปลายไปเท่าไหร่ ในขณะที่ถ้ายื่นแบบนอกประเทศ เคสนี้ไม่ควรจะติดปัญหาอะไรเลย แต่ลูกความก็ยืนยันจะยื่นที่นี่เพราะความรักและความต้องการที่จะดูแลกัน (บวกกับความกลัวว่าจะไม่ได้กลับมา ทั้งๆที่บอกแล้วว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรถ้ายื่นนอกประเทศ)  ลูกความลุยคนเขียนก็ลุยค่ะ แล้วเราก็ถูกปฏิเสธที่ชั้นอิมมิเกรชั่น.... (แน่นอนว่าลูกความเศร้า แต่รับได้ เพราะทราบความเสี่ยงมาตั้งแต่ต้นแล้วก่อนตัดสินใจยื่นแบบในประเทศ) ....เราก็ลุยต่อ และเราก็ชนะที่ชั้นอุทธรณ์...... เย้

คนเขียนก็มาลุยมาลุ้นเคสอื่นที่รออุทธรณ์ต่อ...  ไม่ได้แปลว่าเคสที่ไปถึงอุทธรณ์แล้วจะต้องผ่านทุกเคสนะคะ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่างประกอบกัน ที่สำคัญมากคือลูกความต้องเต็มร้อยกับงาน

คนเขียนไม่โลกสวยนะคะ และแนะนำลูกความอย่างจริงใจตรงไปตรงมา ยากก็บอกว่ายาก ไม่น่าจะมีปัญหาก็บอกว่าไม่น่าจะมีปัญหา แต่ผ่านแน่ๆได้วีซ่าแน่ๆบอกไม่ได้ เพราะไม่ใช่คนตัดสินเคส .... แถมบางเคสก็งานงอกระหว่างทาง เช่นลืมแจ้งชื่อเดิม ลืมแจ้งว่ามีลูก ลืมว่าเคยมีคดี ลืมว่าเคยเปลี่ยนชื่อ ลืมแจ้งสถานะว่าเคยแต่งงาน (มีลืมว่าเคยแต่งงานมาก่อนด้วยนะ !!)

เขียนซะยาว หวังว่าข้อมูลจะเป็นประโยชน์นะคะ... คนเขียนไม่มีแพท์เทิร์น เขียนเมื่ออยากเขียน เขียนเมื่อมีเวลา ... ขอบคุณน้องๆที่โทรมาบอกว่ายังติดตาม.... จะพยายามเขียนถี่ขึ้น...

เดี๋ยวคราวหน้ามาต่อกันด้วย Protection visa วีซ่ายอดฮิตของคนบางกลุ่ม (จริงๆ ร่างไว้นานแล้ว แต่ยังไม่มีเวลาขัดเกลา รอต่อไปอีกนิดนะคะ)


Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

อย่ารอจนวินาทีสุดท้าย

26/5/2017

 
คนเขียนจะบอกลูกความ และน้องๆที่โทรมาขอคำปรึกษาเสมอว่า อย่ารอจนวินาทีสุดท้ายนะคะ พร้อมแล้วยื่นเลย (ในบางเคสไม่พร้อมที่สุด ยังต้องยื่นเลยเพราะรอแล้วอาจจะพลาดโอกาสได้)

"ยื่น" ที่ว่านี่คือ ยื่นใบสมัครวีซ่า ยื่นอุทธรณ์นะคะ

จริงๆแล้วมันเป็นอะไรที่เข้าใจได้ง่าย แต่บางคนไม่พยายามที่จะเข้าใจ หรือไม่ได้ใส่ใจ แต่บางอย่างพลาดแล้วพลาดเลยนะคะ ...... ยกตัวอย่างดีกว่าจะได้เห็นภาพ

ตัวอย่างที่ 1

น้องอยู่ในวีซ่า 485 กำลังจะหมดอายุ น้องยื่นวีซ่านักเรียนเข้าไปก่อนวีซ่าหมดอายุ 1 วัน ชำระค่าใบสมัครวีซ่าผ่านบัตรเครดิต ปรากฏว่าเงินค่าประกันสุขภาพตัดบัตรวันนั้นพอดี วงเงินที่เหลือไม่พอให้อิมมิเกรชั่นหักค่าใบสมัครวีซ่านักเรียน กว่าอิมมิเกรชั่นจะแจ้งให้ทราบ กว่าจะมีเงินพอให้หักค่าวีซ่านักเรียน วีซ่า 485 ก็หมดอายุไปแล้ว 4 วัน

แปลว่าไม่สามารถยื่นวีซ่านักเรียนในประเทศออสเตรเลียได้ เพราะวีซ่าที่ยื่นไปถึงแม้ว่าจะทันเวลา แต่เก็บค่ายื่นไม่ได้ เป็น invalid application  พอเก็บค่ายื่นได้ วีซ่า 485 ก็หมดอายุไปแล้ว ก็เป็น invalid application อยู่ดี

"invalid application" คือใบสมัครที่อิมมิเกรชั่นไม่สามารถพิจารณาได้ คือจะออกวีซ่าให้ก็ไม่ได้ จะปฏิเสธก็ไม่ได้ (ก็ไม่ต้องหวังยื่นอุทธรณ์ด้วย เพราะไม่มีการปฏิเสธวีซ่าเกิดขึ้น) อิมมิเกรชั่นทำได้อย่างเดียว คืนเงินค่าสมัครให้

ตัวอย่างที่ 2

น้องอยู่ในวีซ่านักเรียน กำลังจะหมดอายุ น้องจะยื่นวีซ่านักเรียนต่อ เอเจนต์งานยุ่ง น้องก็ยุ่งกับภาระกิจอื่น เอเจนต์บอกว่าไม่เป็นไรน้องยังยื่นวีซ่านักเรียนได้ภายใน 28 วันหลังวีซ่านักเรียนตัวเดิมหมดอายุ

ถูกต้องนะคะ ทำได้ค่ะ แต่หนเดียวเท่านั้น ปรากฏว่าเอเจนต์ไม่ทราบว่าใช้ได้แค่หนเดียว หรือไม่ทราบว่าน้องเคยยื่นช้ามาแล้วหนนึง เลยเรื่อยเฉื่อยๆและยื่นวีซ่านักเรียนตัวใหม่เข้าไปหลังวีซ่านักเรียนหมดอายุ

เหมือนข้อ 1 ค่ะ ไม่สามารถยื่นวีซ่านักเรียนในประเทศออสเตรเลียได้แล้ว และวีซ่าที่ยื่นไปก็เป็น invalid application

ตัวอย่างที่ 3

น้องถือวีซ่า 457 ซึ่งไม่มีทางต่อยอดไปเป็นพีอาร์หรือต่อ 457 อีกครั้งได้ (ด้วยเหตุผลหลายๆอย่างที่จะไม่เอ่ยถึง) น้องไปหาเอเจนต์นักเรียนเพื่อจะขอวีซ่านักเรียนใหม่ (บางเคสมีลุ้นนะคะ อาจจะผ่าน อาจจะไม่ผ่าน ไม่ลองไม่รู้)

น้องไปหาเอเจนต์แต่เนิ่นๆ จ่ายเงิน เลือกคอร์ส ส่งเอกสาร เอเจนต์งานยุ่งลืมยื่น เลยวันที่วีซ่า 457 หมดอายุไปสองวัน แถมบอกน้องว่าไม่เป็นไรวีซ่าหมดอายุก็ยื่นได้ ถ้ายื่นภายใน 28 วัน

ไม่ถูกต้องนะคะ วีซ่า 457 ไม่อยู่ในลิสของวีซ่าที่ถ้าหมดอายุแล้วจะยังยื่นวีซ่านักเรียนได้ภายใน 28 วัน

แปลว่าในเคสนี้ก็ไม่สามารถยื่นวีซ่านักเรียนในประเทศออสเตรเลียได้แล้วค่ะ และวีซ่าที่ยื่นไปเป็น invalid application

ตัวอย่างที่ 4

น้องถูกปฏิเสธวีซ่า ต้องยื่นอุทธรณ์ไปที่ AAT ให้ทันเวลา (21 วัน นับจากวันที่ถือว่าได้รับแจ้ง) ตั้งใจจะยื่นวันสุดท้ายและวินาทีสุดท้าย ระบบขัดข้องปิดปรับปรุง พลาดค่ะ เลยกำหนดยื่นไป 1 วัน

แปลว่า AAT ไม่มีสิทธิ์พิจารณาเคสอุทธรณ์นี้ค่ะ (no jurisdiction)

ตัวอย่างที่ 5

เคสนี้หลายปีมากแล้วนะคะ ลูกความติดต่อคนเขียนมาเนิ่นๆ ขอคำปรึกษาจะทำพีอาร์ผ่านวีซ่า 457 ที่ถือมาเกิน 2 ปีแล้ว ลูกความอายุเกิน 50 ภาษาอังกฤษไม่ได้ คนเขียนแจ้งว่าถ้าจะยื่นก็ต้องรีบยื่นนะคะ ก่อน 30 มิถุนายน (ปีอะไรจำไม่ได้แล้ว) พลาดแล้วพลาดเลยเพราะกฏจะเปลี่ยนวันที่ 1 กรกฏาคม บอกด้วยว่าเป็น Paper application นะคะ และขอยกเว้นทั้งอายุและภาษาต้องทำ Submissions + เอกสารอีกมากมาย ถ้าจะยื่นแจ้งกันแต่เนิ่นๆ จะได้มีเวลา
เตรียมเคสให้แน่นๆ เผื่อเวลาสำหรับส่งไปรษณีย์ courier อะไรไว้ด้วย

คนเขียนตามลูกความอยู่หลายครั้ง เพราะกลัวจะพลาดโอกาสสุดท้ายและพีอาร์จะหลุดลอยไป 

ปรากฏว่าลูกความติดต่อมาให้ทำเคสให้ในวันที่ 30 มิถุนายน ... สี่โมงเย็น .....
....วันสุดท้ายที่มีสิทธิ์ยื่น .... และเป็นวันเสาร์ ...............


พอแล้วมั้งคะสำหรับตัวอย่าง พอเห็นภาพนะคะ ..... สรุปสั้นๆ

1. เคสส่วนใหญ่ เมื่อพร้อมก็ควรยื่น อย่ารอจนวินาทีสุดท้าย

2. เคสบางเคส ต้องดูลาดเลาว่ายื่นตอนไหนถึงจะเหมาะสม และเพิ่มโอกาสในการได้วีซ่า

3. เคสบางเคสไม่พร้อมก็ต้องยื่น เพราะวีซ่ากำลังจะหมด เวลาการยื่นอุทธรณ์ใกล้เข้ามา หรือกฏกำลังจะเปลี่ยน

4. ไม่มีคำแนะนำแบบตายตัว ที่จะปรับใช้ได้กับทุกเคสนะคะ แต่ละเคสมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง  ไม่แน่ใจว่าเคสของตัวเองควรจะทำยังไง หาคำแนะนำแต่เนิ่นๆ จะได้มีเวลาเตรียมตัวทำเคสแน่นๆ

5. รับผิดชอบชีวิตตัวเองด้วยนะคะ อย่าเอาชีวิตตัวเองไปฝากไว้กับคนอื่นอย่างเดียว
(ไม่ได้แนะนำให้ทำเคสเองหรือไม่ทำเคสเอง ... ทำเองได้ถ้าสามารถ ... แต่หมายความว่าถ้าจะใช้บริการเอเจนต์ก็ติดตามเคสตัวเองด้วยว่าเคสไปถึงไหนแล้ว ต้องการอะไรเพิ่ม จะยื่นได้ทันเวลาไหม ... เราต้อง Proactive ค่ะ)

ป.ล.1 คนเขียนชอบลูกความที่ Proactive ค่ะ โทรถาม โทรตาม โทรขออัพเดท โทรเช็คเอกสาร ไม่ว่าเลย ชอบด้วยซ้ำ ... ถามซ้ำเดิมๆก็ได้ สงสัยถามมา อธิบายแล้วอธิบายอีกก็ได้ไม่ว่ากัน

แถม ตัวอย่างที่ 6 (เมื่อเร็วๆนี้เองค่ะ)

น้องถือวีซ่านักเรียนที่กำลังจะหมด จะต่อวีซ่านักเรียน จ่ายเงิน ส่งเอกสาร รอเอเจนต์ยื่นเรื่องให้ รอแล้วรออีก โทรมาถามคนเขียนว่าทำยังไงดีคะ เอเจนต์ไม่ยื่นให้ซะที กังวลมากเหลืออีก 2 วันวีซ่าจะหมดอายุ

คนเขียนแจ้งน้องให้ทราบว่าวีซ่านักเรียนหมด ก็ยังสามารถต่อวีซ่านักเรียนภายใน 28 วันได้หนึ่งครั้ง แต่อย่าสบายใจเพราะน้องอาจจะไม่ทราบว่าตัวเองเคยใช้สิทธิ์นี้มาแล้วหรือยัง เอเจนต์อาจจะเคยยื่นช้าแต่ไม่ได้แจ้งน้อง หรือถึงไม่เคยยื่นช้าเลย ทำไมจะต้องเคยด้วย ถ้าเรายังอยู่ในภาวะที่สามารถยื่นได้ทันเวลา

สรุปว่าคนเขียนแนะนำให้น้องไปนั่งกดดันเอเจนต์ให้ยื่นให้ทันเวลา ไม่ยื่นไม่ต้องกลับ นั่งอยู่ที่นั่นแหละ (ไม่รู้ว่าน้องจะกล้ารึเปล่านะ) อีกทางเลือกนึง เปลี่ยนเอเจนต์ค่ะ

ป.ล.2 คนเขียนไม่ได้โพสทุกคำถามคำตอบที่ส่งเข้ามานะคะ ถ้าข้อมูลไม่เพียงพอที่จะพิจารณาและให้คำตอบที่เอาไปปรับใช้ได้จริง ก็จะไม่ได้ตอบนะคะ

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

ข้อคิดในการใช้บริการด้านวีซ่า

10/5/2017

 
มีน้องๆโทรมาหาคนเขียนบ่อยมาก เรื่องปัญหาถูกเอเจนต์ลอยแพ หรือถ้าไม่อยากถูกลอยแพก็ต้องชำระเงินเพิ่ม

วันนี้ก็เช่นกันค่ะ น้องใช้บริการเอเจนต์ในการยื่นอุทธรณ์ไปที่ Administrative Appeals Tribunal (AAT)
[เมื่อก่อนคือ Migration Review Tribunal (MRT) บทความเดิมที่คนเขียนๆไว้นานแล้ว ยังคงปรับใช้ได้อยู่นะคะ]
น้องรอเรื่องที่ยื่นไปที่ AAT มาเกีอบปี ตอนนี้มีเอกสารเรียกให้ไป AAT Hearing (คืออะไร ช่วยอ่านบทความเดิมนะคะ)  เอเจนต์แจ้งน้องว่าถ้าจะให้ช่วยต่อ จะต้องชำระเงินเพิ่ม ไม่อย่างงั้นก็จะเลิกช่วย  น้องไม่มีเงินที่จะชำระเพิ่ม ตอนนี้ก็ต้องเตรียมตัวไป AAT ตามลำพัง เหลือเวลาเตรียมตัวอยู่นิดเดียว เอกสารก็ไม่มี ติดต่อ AAT ก็ไม่เป็น คนเขียนก็แนะนำเท่าที่แนะนำได้นะคะ

ขอนอกเรื่องนิดนึงนะคะ ทุกครั้งที่คนเขียนสะกดคำว่า Agent เป็นภาษาไทย ก็เกิดอาการไม่แน่ใจทุกทีว่าที่ถูกควรเป็น "เอเจนต์" หรือ "เอเจนท์" ... แต่คนเขียนชอบ "เอเจนต์" มากกว่าก็จะสะกดแบบนี้ จนกว่าจะมีคนแจ้งเข้ามาว่าสะกดผิดนะคะ

เข้าเรื่องกันต่อ... เรื่องขอเรื่องคืออยากให้ข้อคิดและข้อมูลที่น้องๆบางคนอาจจะไม่ทราบ

1. กฏข้อบังคับของ Registered Migration Agent ระบุว่าเอเจนต์จะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนเริ่มงาน           ว่าบริการที่เอเจนต์เสนอจะทำให้ลูกความมีอะไรบ้าง ประมาณการณ์ค่าบริการและค่าใช้จ่ายอื่นๆเช่นค่ายื่นใบ
    สมัครวีซ่า/ค่ายื่นอุทธรณ์   ค่าตรวจสุขภาพ ค่าใบตำรวจ เป็นต้น

2. ในส่วนของค่าบริการ บางเอเจนต์อาจจะให้จ่ายรวดเดียวเป็นก้อนใหญ่เลย ซึ่งคลอบคลุมงานทั้งหมดที่ต้องทำ
    บางเอเจนต์อาจจะให้มีการผ่อนจ่ายเป็นงวดๆ บางเอเจนต์อาจจะให้มีการจ่ายตามสเต็ปของงานที่ทำหรือจะทำ
    ในอนาคต หรือจะมีการคิดค่าบริการกันเป็นรายชั่วโมง ขึ้นอยู่กับการตกลงกันค่ะ แต่ละเอเจนต์ก็มีวิธีการคิดและ
    วิธีชำระค่าใช้จ่ายและค่าบริการแตกต่างกันไป

3. การเรียกค่าใช้จ่ายในการทำงานเพิ่ม ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิด ถ้า

         * มีการแจ้งค่าใช้จ่าย ค่าบริการกันล่วงหน้าแล้ว และเรียกชำระกันเป็นงวดๆ (Instalment) หรือตามสเต็ป
            ของงานที่จะเกิดขี้น
            (ซึ่งจริงๆในกรณีนี้ไม่ถือเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่ม ถ้าได้มีการตกลงกันแบบนี้ไว้ล่วงหน้าแล้ว คือทราบอยู่แล้วว่าจะ
            มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นเมื่อเวลาใดเวลาหนึ่งมาถึง หรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น)

        * เป็นงานที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย เช่น กฏหมายเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน งานงอกเพราะลูกความ
            บอกไม่หมด หรืองานงอกเพราะอิมมิเกรชั่นไปเจอข้อมูลที่ลูกความก็ไม่เคยทราบมาก่อน แล้วกลาย
            เป็นปัญหาที่จำเป็นต้องมีการแก้ไข และเป็นเหตุให้เอเจนต์ต้องใช้เวลาเกินกว่าที่คาดไว้ในการทำเคส

4. การเรียกค่าใช้จ่ายที่ไม่โอเค คืออยู่ๆนึกอยากเรียกเก็บก็เรียกเก็บ ลูกความไม่ทราบมาก่อน ไม่ได้มีการตกลงกัน
    ไว้ล่วงหน้า ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจ และที่สำคัญไม่ได้เตรียมเงินไว้

ในกรณีของน้องที่ยกตัวอย่างข้างบน การที่เอเจนต์เรียกเก็บเงินเมื่อมีเอกสารจาก AAT เรียกให้ไป Hearing คงไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดแต่อย่างใด ถ้าเอเจนต์ได้มีการแจ้งเป็นลายลักษณ์ให้ลูกความทราบตั้งแต่แรกแล้วว่าเมื่อ AAT เรียกมาจะมีค่าบริการเท่านั้นเท่านี้ที่ต้องชำระ (ก็คือต่างฝ่ายต่างเข้าใจตรงกัน ลูกความก็มีหน้าที่เก็บเงินเผื่อค่าใช้จ่ายตรงนี้ เมื่อถึงเวลาเรียกเก็บก็ชำระ ถ้าลูกความไม่สามารถชำระได้ เอเจนต์จะไม่ทำงานต่อก็เป็นสิทธิ์ของ
เอเจนต์)  แต่ถ้าลูกความไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าจะมีค่าใช้จ่ายงอกขึ้นมา ก็ไม่ได้มีการเก็บเงินเผื่อไว้ เอเจนต์จะมาแจ้งค่าบริการเพิ่มภายหลัง ด้วยเงื่อนไขว่าถ้าไม่จ่ายจะถอนตัว คนเขียนว่าไม่แฟร์ และที่สำคัญไม่ถูกต้องตามกฏข้อบังคับของ Registered Migration Agent นะคะ

*** ทำวีซ่า ทำอุทธรณ์... ทำสัญญาการทำงานเป็นลายลักษณ์อักษรนะคะ
     ก่อนเซ็น... อ่าน
     สงสัย... ถามก่อนเซ็น


บทความเก่าของคนเขียนเกี่ยวกับการเลือก Registered Migration Agent หรือ Immigration Lawyer ยังคงปรับใช้ได้อยู่นะคะ

ป.ล. Registered Migration Agent ไม่ได้เป็นทนายความกันทุกคน
       ทนายความก็ไม่ได้เป็น Registered Migration Agent กันทุกคน
       แต่ทนายความที่จะให้การช่วยเหลือทางด้านวีซ่าได้จะต้องเป็น Registered Migration Agent ด้วย
       Registered Migration Agent ทุกคนจะมีเลขประจำตัว (MARN) 7 หลัก

ทุกคนมีวิธีพิจารณาและตัดสินใจเลือกเอเจนต์ใดเอเจนต์หนึ่งแตกต่างกันไป แต่อย่างน้อยๆก่อนตัดสินใจก็ควรจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องสำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจนะคะ

หน่วยงานที่ควบคุมดูแล Registered Migration Agent คือ Office of the Migration Agents Registration Authority

น้องสามารถใส่ชื่อ, นามสกุล, ชื่อธุรกิจ, สถานที่ตั้ง หรือเลขประจำตัว (MARN) 7 หลัก เพื่อเช็คได้ว่า
- เป็นเอเจนต์จริงๆ ไม่ได้มีการแอบอ้าง
- เป็นเอเจนต์ที่ยังมีใบอนุญาติอยู่ ไม่ได้หมดอายุ หรือถูกยกเลิกไปแล้ว
- เป็นเอเจนต์ที่เป็นทนายความด้วยหรือไม่ เอเจนต์ที่เป็นทนายความด้วย ก็จะมีคำว่า "This registered
  migration agent is also an Australian Legal Practitioner."
- เอเจนต์อยู่ในฐานะอะไร เช่น เป็น Employee, consultant หรือ Owner / Director
- เอเจนต์ทำงานกี่ที่ (บางคนไม่ได้ทำงานประจำ แต่เป็น consultant / subcontractor ให้กับเอเจนต์อื่นอีกที)
- ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และ website (ถ้ามี)


Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

457 กฏเปลี่ยน 2

8/5/2017

 
วีซ่า 457 ยังอยู่นะคะ จนกว่าวีซ่าตัวใหม่ Temporary Skill Shortage (TSS) จะมีผลบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2018

แต่... คนเขียนขอสรุปกฏเปลี่ยนที่มีผลแล้ว และที่จะมีผลในอนาคตอันใกล้ตามนี้ค่ะ

กฏที่บังคับใช้ตั้งแต่ 19 เมษายน 2017

@ ลิสสาขาอาชีพเปลี่ยนจาก SOL  เป็น MLTSSL และ จาก CSOL เป็น STSOL
    เพราะว่าอ่านจากตัวกฏหมายไม่ง่าย และน่าเบื่อ (คนเขียนยังเบื่อเลย แต่ต้องอ่าน) คนเขียนเลยให้ลิงค์ไปที่
    เวปของอิมมิเกรชั่นแทนนะคะ แต่ถ้าใครสนใจอ่านจากกฏหมายโดยตรงก็คลิ๊กที่นี่เลยค่ะ

@ มี 216 อาชีพถูกตัดออกไปจากลิส
    คนที่ยื่น Nomination และ/หรือ วีซ่า 457 ไปก่อนกฏเปลี่ยน แต่ยังรอผลอยู่ ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกันค่ะ
   อิมมิเกรชั่นแนะนำให้ถอนเรื่องและขอรีฟัน ถ้าไม่ถอนเรื่องก็จะถูกปฏิเสธและไม่ได้เงินค่ายื่นคืน แต่... คนเขียนคิด
   ว่าในบางเคสการถอนเรื่องและขอรีฟันอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด  ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละเคสนะคะ

@ บางอาชีพที่อยู่ในลิสใหม่ อิมมิเกรชั่นมีเงื่อนไขบางอย่าง (Caveats) เพิ่มขึ้นมา (อาชีพยอดฮิตของเรา Massage
    Therapist, Cook, Chef & Restaurant Manager โดนด้วยค่ะ)
    Restaurant Manager จะต้องไม่ใช่ร้าน fast food, takeaway, ร้านที่ออกแนว Casual - ร้านที่ก่ำกึ่งว่าอาจจะมี
    ปัญหาก็คือร้านประเภทคาเฟ่ หรือ coffee shop ซึ่งก็ต้องมาดูกันเป็นเคสๆไปนะคะ
    Chef, Cook ก็เหมือนๆกันนะคะ และก็จะต้องไม่ใช่การทำงานในโรงงาน หรือ mass production
    Accountant (General) หน้าที่จะต้องเป็นนักบัญชี ไม่ใช่เสมียนบัญชีหรือ book keeper ธุรกิจจะต้องมีรายได้ต่อ
    ปีอย่างน้อย 1 ล้านเหรียญ และมีพนักงานไม่น้อยกว่า 5 คน

   แปลว่า... เช็ค Caveats กันก่อนนะคะ ว่าเราจะมีสิทธิ์ลุ้น Nomination & Visa application หรือไม่
  ใช้คำว่ามีสิทธ์ลุ้น เพราะบางเคสเป็นเคสก่ำกึ่ง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ เคสแบบนี้คงต้องมีการทำสรุป
   (โฆษณาชวนเชื่อกันนิดนึง)

   สำหรับเคสที่อยู่ระหว่างพิจารณา แต่ตอนนี้ทราบแล้วว่าติด Caveats แน่ๆ (ไม่ใช่เคสก่ำกึ่งแบบมีสิทธิ์ลุ้น)
   อิมมิเกรชั่นให้ถอนเรื่องรับเงินคืนได้ค่ะ แต่ (ขอใช้ประโยคเดิม) ในบางเคสการถอนเรื่องและขอรีฟันอาจจะไม่ใช่
   ทางเลือกที่ดีที่สุด  ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละเคสนะคะ
   
@ วีซ่า 457 ที่จะออกหลังจากนี้ ถ้าอาชีพที่อยู่ใน MLTSSL จะได้วีซ่า 4 ปี และ STSOL จะได้วีซ่า 2 ปี (ปรับใช้กับ
    เคสที่ยื่นก่อนกฏเปลี่ยนและยังอยู่ในระหว่างพิจารณาด้วยนะคะ)

จากวันที่ 1 กรกฏาคม 2017

@ การจ่ายค่าจ้าง $96,4000 เพื่อยกเว้นผลภาษาอังกฤษ จะถูกยกเลิก

@ ต้องยื่นใบตำรวจแล้วนะคะ ก่อนหน้านี้ไม่ต้องยื่น(ยกเว้นว่าถูกขอ)

@ คาดว่าจะมีการเพิ่มอาชีพที่ต้องทำ skills assessment นะคะ
   ถึงแม้จะเป็นเคสที่ไม่มีระบุให้ต้องทำ skills assessment อิมมิเกรชั่นก็มีสิทธิ์ขอได้อยู่แล้วค่ะ ถ้าไม่เชื่อว่าเรามี
   คุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งจริง

@ ในส่วนของเจ้าของธุรกิจ (Sponsor) อิมมิเกรชั่นจะเข้มงวดขึ้นในเรื่องการเทรนพนักงานที่เป็นซิติเซ่นหรือ
    พีอาร์  (... ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะเข้มยังไง) 

@ คาดว่าจะมีการปรับเปลี่ยนสาขาอาชีพอีกนะคะ (ชีวิตอยู่บนความไม่แน่นอน ต้องตามข่าวกันค่ะ)
     
ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2017

@ อิมมิเกรชั่นจะมีการเก็บข้อมูลเลขที่ภาษีของคนถือวีซ่า 457 และวีซ่าถาวรแบบนายจ้างสปอนเซอร์ และลิงค์
    กับ ATO (แปลว่าถ้าตกลงค่าแรงกันไว้ที่ $55000 แต่จ่ายจริงไม่ถึง ก็อาจจะเกิดปัญหาได้ค่ะ)
        
@ Sponsor ที่ไม่ทำตามหน้าที่ เช่นไม่ทำเทรนนิ่ง ไม่จ่ายค่าแรงตามที่ตกลงกัน ถ้าถูกจับได้ และมีความผิดจริง
   ก็อาจจะมีการลงโทษ (Sanctioned) คาดว่าคนทั่วไปก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูลพวกนี้ได้ (Sanctioned มีมา
   นานแล้ว แต่ "publication of sanctioned sponsors" ยังไม่มีค่ะ เริ่มธันวานะคะ)

มีนาคม 2018

@ Bye bye 457

@ Hello TSS (Temporary Skill Shortage)


ข้อมูลจาก:
www.border.gov.au
www.legislation.gov.au

บทความต่อไป ผลกระทบของกฏเปลี่ยนต่อการขอพีอาร์ผ่านนายจ้างสปอนเซอร์

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com

457 กฏเปลี่ยน 1

28/4/2017

 
รัฐบาลเปลี่ยนลิสสาขาอาชีพสำหรับวีซ่า 457 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2017

จาก Skilled Occupation List (SOL)  เป็น  Medium and Long-term Strategic Skills List (MLTSSL) และ
จาก Consolidated Sponsored Occupation List (CSOL)  เป็น  Short-term Skilled Occupation List (STSOL)

วันนี้ก็มีน้องๆโทรมาถามคนเขียนว่า ได้ข่าวมาว่ารัฐบาลเปลี่ยนกลับมาใช้ SOL และ CSOL อีกแล้ว จริงรึเปล่า คือน้องๆดีใจค่ะ คนเขียนก็จะดีใจมากๆเลยค่ะถ้าเปลี่ยนกลับมาใช้ลิสเดิมจริง แต่

ขอตอบว่า ไม่จริงค่ะ 

ณ ตอนนี้ (28 เมษายน เวลา 2.55pm) ลิสที่ใช้ยังคงเป็นลิสใหม่ MLTSSL และ STSOL ที่ตัดหลายๆสาขาอาชีพออกไปอยู่นะคะ อาชีพยอดฮิตของน้องๆเช่น Restaurant Manager, Cook และ Massage Therapist ยังคงอยู่ใน STSOL นะคะ ซึ่งแปลว่าถ้าได้ 457 ก็จะได้ 2 ปี

น้องๆที่ตามรายละเอียดลึกๆเช่นกฏหมายฉบับที่ออกมาเกี่ยวกับการเปลี่ยนสาขาอาชีพ อาจจะเห็นว่ากฏหมายฉบับที่ว่านี้ได้ถูกยกเลิกไป และคิดว่ารัฐบาลเอาลิสเก่า SOL และ CSOL กลับมาใช้ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ค่ะ กฏหมายฉบับนั้นถูกยกเลิกจริง แต่ไม่ได้ยกเลิกไปเลย รัฐบาลเอาเนื้อหาของกฏหมายฉบับนั้นไปรวมไว้กับกฏหมายอีกฉบับนึง (ฉบับเก่า) เท่านั้นเองค่ะ

สรุปอีกรอบนะคะ ณ เวลานี้ ลิสที่ใช้คือ MLTSSL และ STSOL

คนเขียนเข้าใจความกังวลของน้องๆนะคะ คนเขียนเองก็มีลูกความที่อยู่ในภาวะที่ไม่ทราบอนาคตตัวเองอยู่หลายคน และกำลังหาทางช่วยเหลืออยู่เช่นกันค่ะ

ปล. หัวข้อ 457 กฏเปลี่ยน 1 แปลว่าจะมี 457 กฏเปลี่ยน 2 ค่ะ (ขอเวลาทำงานก่อนนะคะ)

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer

www.immigrationsuccessaustralia.com

1 กรกฏาคม 2014 จะมีกฏอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง

19/6/2014

 
เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและความต้องการทางด้านแรงงานของประเทศ ทางอิมมิเกรชั่น & รัฐบาลของประเทศออสเตรเลีย มีการปรับเปลี่ยนกฏหมายและนโยบายด้านคนเข้าเมืองอยู่เรื่อยๆค่ะ

โดยเฉพาะวันที่ 1 กรกฏาคม ของทุกปี จะเป็นวันที่(หลัก) ที่จะมีการเปลี่ยนแปลง อัพเดทกฏหมายและนโยบายทางด้านคนเข้าเมือง

แล้ววันที่ 1 กรกฏาคม ปีนี้ (2014) จะมีอะไรเปลี่ยนบ้างล่ะ?????

กฏหมายก็ทยอยๆออกมานะคะ คนเขียนก็ต้องอัพเดทอยู่เรื่อยๆ แต่ที่คนเขียนทราบ ณ ตอนนี้
ก็คือ

1. อาชีพ Chef จะเข้าไปอยู่ใน Skilled Occupations List หรือที่เรียกสั้นๆว่า (SOL)

ผลของมันคืออะไร?? ก็คือคนที่มีอาชีพนี้ และ/หรือเรียนมาสายนี้ อาจจะสามารถขอวีซ่าแบบอิสระ (Independent) โดยไม่จำเป็นต้องมีนายจ้างสปอนเซอร์ได้ ถ้ามีคุณสมบัติอื่นๆเข้าข่ายตามที่กฏหมายกำหนดด้วยนะคะ

คนที่เรียนมาสายนี้ แต่คุณสมบัติไม่พอที่จะขอ PR ได้ ก็อาจจะมีสิทธิขอวีซ่า 485 (Graduate Temporary visa) ได้ ซึ่งถ้าได้วีซ่ามา ก็สามารถอยู่และทำงานเต็มเวลาในประเทศออสเตรเลียได้อีก 18 เดือน ซึ่งก็อาจจะทำให้มีโอกาสในการขอพีอาร์ (PR) ได้
ในอนาคต ไม่ว่าจะด้วยยื่นด้วยตัวเองผ่าน Independent visa หรือแบบนายจ้างสปอนเซอร์

2. นอกจากอาชีพ Chef แล้ว ยังมีอาชีพ Bricklayer และ Wall and Floor Tiler ด้วยนะคะ ที่ได้รับการเพิ่มเข้าไปใน Skilled Occupations List (SOL) ผลของมันก็เหมือนกับข้อ 1. ค่ะ

3. อาชีพ Hydrogeologist และ Exercise Physiologist จะได้รับการเพิ่มเข้าไปใน Consolidated Sponsored Occupations List (CSOL)

ผลของมันคืออะไร?? ก็จะเป็นอีก 2 อาชีพ ที่มีโอกาสได้รับการสปอนเซอร์จากนายจ้าง หรือรัฐบาลไงคะ

4. ผลของ S
kills Assessment จะมีอายุได้ยาวที่สุดที่ 3 ปีค่ะ ถ้าผลของ Skills Assessment ระบุวันหมดอายุไว้สั้นกว่า 3 ปี ก็ให้เป็นไปตามนั้น

ก่อนวันที่ 1 July 2014 Skills Assessment ไม่มีวันหมดอายุค่ะ เพราะฉะนั้นใครที่ Skills Assessment กำลังจะหมดอายุ ก็มี 2 ทางเลือกค่ะ ทำ Skills Assessment ใหม่อีกรอบ หรือยื่นขอวีซ่าก่อนวันที่ 1 กรกฏาคม 2014 เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะต้องเข้าไปอยู่ในกฏใหม่นะคะ

5. มีข่าวมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาว่าอาชีพ Accountant จะถูกลบออกจาก SOL แต่ ณ ตอนนี้ คนเขียนเข้าใจว่าอาชีพนี้จะยังอยู่ เพียงแต่ลดโควต้า หรือจำนวนคนที่อิมมิเกรชั่นจะออกวีซ่าให้ในอาชีพนี้จะน้อยลง แปลว่ารอนานขึ้นนั่นแหละค่ะ

ติดตามอัพเดทได้ที่นี่ค่ะ

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

surprise announcement จากอิม!!!!!

2/6/2014

 
นับจากวันนี้ (2 มิถุนายน 2014) เป็นต้นไป ไม่สามารถยื่นขอวีซ่าตามลิสข้างล่างได้อีกแล้วนะคะ ทั้งแบบยื่นในประเทศ และยื่นนอกประเทศ

1. Parent visa
2. Aged Parent visa
3. Aged Dependent Relative visa
4. Carer visa
5. Remaining Relative visa


แต่
Contributory Parent visa และ Contributory Aged Parent visa หรือวีซ่าผู้ปกครองแบบเสียตังค์เยอะๆให้รัฐยังอยู่นะคะ  ใครที่เป็น PR หรือ Citizen และอยากให้คุณพ่อคุณแม่มาอยู่ด้วยแบบถาวร ก็ต้องใช้เวลาเก็บตังค์กันหน่อยละค่ะ  ส่วนใครที่อยากเอาญาติผู้ใหญ่หรือญาติสนิทมาอยู่ด้วย หรือมาดูแลคนป่วย ท่าทางจะยากแล้วนะคะ

ณ ตอนนี้ คนเขียนไม่คิดว่าอิมจะออกวีซ่าอะไรมาทดแทนวีซ่าตัวที่หายไป  ถ้ามีอะไรคืบหน้าก็จะมาโพสให้ทราบกันนะคะ

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

เมื่อวีซ่านักเรียนถูก Cancelled - student visa cancellation

8/3/2014

 
คงไม่มีใครอยากถูกยกเลิกวีซ่าหรอกนะคะ ทางที่ดีที่สุดคือตั้งใจเรียน ทำattendance ให้ครบตามจำนวนที่กำหนด สอบให้ผ่าน เพื่อที่จะได้ไม่เกิดปัญหา -- สรุปว่าปฏิบัติตามกฏ กติกา แล้วชีวีตจะปลอดภัย และอยู่ในออสเตรเลียได้อย่างมีความสุข

ในกรณีที่ปัญหาเกิดขึ้นแล้ว วีซ่านักเรียนได้ถูกยกเลิกไปเรียบร้อย ก็ไม่มีทางเลือกนอกจากต้องพยายามแก้ปัญหากันไป คนเขียนมีอดีตนักเรียนหลายคนที่ติดต่อเข้ามาเพราะวีซ่านักเรียนถูกยกเลิก บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองอยู่แบบไม่มีวีซ่ามาเป็นปี ที่ติดต่อคนเขียนก็เพราะต้องการทำวีซ่าตัวอื่นเช่น วีซ่าคู่ครอง หรือวีซ่า 457 และก็ได้รู้ตอนที่เข้ามาคุยกับคนเขียนนั่นเองว่าตัวเองเป็นผี (แบบไม่รู้ตัวว่าเป็นผี) มานานมาก โชคดีที่ไม่ถูกจับ ส่งตัวกลับเมืองไทย

กรณีที่เห็นบ่อยก็เช่น เปลี่ยนที่อยู่ และ/หรือ อีเมล์ แต่ไม่ได้แจ้งให้ทางโรงเรียนและอิมทราบ ผลก็คือไม่ได้รับจดหมาย หรือ Notification ที่ทางโรงเรียน หรืออิมส่งมา และวีซ่าก็ถูกยกเลิกในที่สุด  ในกรณีที่ถือวีซ่าติดตามแฟน หากวีซ่าหลักถูกยกเลิก วีซ่าของคนที่ติดตามก็จะถูกยกเลิกตามไปด้วย

สำหรับอดีตนักเรียนหมาดๆ ที่วีซ่าเพิ่งจะถูกยกเลิกไป เราต้องคิดเร็ว และทำเร็วค่ะ เพราะต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ถือว่าได้รับ Notification ตามกฏหมาย
   
คนเขียนเสียดายแทนน้องหลายๆคน ที่ปล่อยให้ตัวเองพลาดอุทธรณ์ -- ในหลายๆเคส แม้เจ้าตัวจะคิดว่าไม่มีหวัง เมื่อเข้ามาคุยกัน ให้คนเขียนสัมภาษณ์แบบเจาะลึก บางเคสต้องบอกว่ามีโอกาสมากที่จะได้วีซ่าคืน เพราะฉะนั้นอย่าเสียโอกาสค่ะ  บางเคสก็เป็นเพียงแค่การชลอเวลากลับเมืองไทย สิ่งที่อยากจะบอกก็คือ อย่าเพิ่งถอดใจค่ะ และควรขอคำแนะนำจาก Professional โดยเร็วที่สุด

มีน้องบางคนบอกว่าไปปรึกษา Migration Agent แล้ว แต่ Agent บอกว่าเคสไม่มีหวัง เลยไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ คนเขียนอยากจะเปรียบเทียบการใช้บริการด้านนี้กับการไปหาหมอ อะไรที่สำคัญกับชีวิตและอนาคต ก็ควรมี Second opinion หรือ Third opinion เพราะหมอแต่ละคนก็มีความเห็น มุมมอง และวิธีการรักษาแตกต่างกันไป ไม่ต่างจาก Immigration Lawyer หรือ Migration Agent หรอกค่ะ  คนที่บอกว่าหมดหวัง เค้าอาจจะคิดแบบนั้นจริงๆ จะด้วยประสบการณ์ที่แตกต่าง มุมมองเฉพาะตัว หรืออาจจะไม่ได้สัมภาษณ์กันแบบเจาะลึก หลายๆครั้งเมื่อลงลึกในแต่ละเคส จากที่เหมือนจะไม่มีทางออกและหมดหวัง กลับกลายเป็นพอมีความหวัง แน่นอนว่าคงไม่มี Professional คนไหนรับประกันได้ว่าน้องจะได้วีซ่าคืนแน่ๆ แต่เมื่อมีความหวัง และยังอยากจะอยู่ที่นี่ต่อ ก็ต้องลุยไปข้างหน้า - ยื่นอุทธรณ์ (หรือไม่ก็แพ็คกระเป๋าเตรียมกลับบ้าน) 

Visa Cancellation ในความเห็นของคนเขียนถือเป็น Complex case คือเคสที่มีความซับซ้อน เนื่องจากว่าเมื่อวีซ่าถูกยกเลิกแล้ว ผลกระทบที่ตามมาก็คือ Section 48 Bar (คืออะไร?? อ่านได้ ที่นี่ ค่ะ) ยังไม่หมดค่ะ ยังถูก Bar ไม่ให้สมัครวีซ่าอีกหลายๆชนิด (รวมถึงวีซ่า 457) ในระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วีซ่าถูกยกเลิกด้วย ไม่ว่าจะยื่นใน หรือนอกประเทศออสเตรเลีย ในบางเคสก็อาจจะถูก Bar ด้วยกฏตัวอื่นๆเพิ่มขึ้นมาอีก

เห็นมั๊ยคะว่าเคสวีซ่า Cancellation นั้นไม่ง่ายเลย ยื่นอุทธรณ์ไปแล้วก็ไม่ควรปล่อยเลยตามเลย แต่ควรมีการวางแผนการใช้ชีวิตระหว่างรอ เพื่อที่จะทำให้เคสของเรามีความหวังมากที่สุด และมองหา Backup plan แต่ละเคส Backup plan ไม่เหมือนกันค่ะ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เฉพาะตัวของเคสนั้นๆ

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

จะเลือก Registered Migration Agent หรือ Immigration Lawyer คนไหนดี

10/10/2013

 
อยากจะบอกว่าเลือกคนเขียนสิคะ ....... เอ่อ... ไม่ใช่ค่ะ ....... ตามนี้ค่ะ
  1. ราคา ... ถูกอย่างเดียวไม่พอ เพราะส่วนใหญ่แล้วคุณภาพก็สมราคา ของถูกและดีไม่ใช่ไม่มี แต่หายากค่ะ ถ้าราคาถูกแล้วเค้าไม่ใส่ใจเรา ไม่ทำเคสเราอย่างเต็มที่ หรือถูกเพราะรู้งูๆปลาๆ .... คนเขียนว่าแพงนะ
  2. เข้าไปคุยค่ะ ... ถามให้มาก จะเสียตังค์ใช้บริการทั้งทีก็เพราะเราอยากได้วีซ่า เพราะฉะนั้นก็หาคนที่เราคิดว่าเค้ามีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์พอ เค้าใส่ใจเราหรือไม่ ถ้าในออฟฟิตมีพนักงานหลายคน ใครจะเป็นดูแลเคสของเรา ถ้าเรามีคำถามใครจะเป็นคนตอบคำถามเรา อย่างลืมว่าไม่ใช่ทุกคนในออฟฟิตจะเป็น Registered Migration Agent (RMA) หรือ Immigration Lawyer ทุกคน และถึงจะเป็นก็ไม่ใช่ทุกคนจะมีความรู้ ความสามารถเท่ากัน
  3. ทำการบ้านก่อนเข้าไปคุยค่ะ ..... ถ้าเรารู้รายละเอียดของวีซ่าที่เราจะสมัครมาบ้างแล้ว จะทำให้เราพิจารณาได้ง่ายขึ้นว่าคนที่อยู่ต่อหน้าเรารู้มาก รู้จริงแค่ไหน หรือให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องกับเรา
  4. หลังจากที่เราคุยกับเค้า นอกเหนือจากราคา และความรู้ความสามารถแล้ว เรารู้สึกยังไงกับเค้า เราชอบ Style การทำงานของเค้าหรือไม่ อย่าลืมว่าคนที่เราเลือกจะเป็นคนดูแลเคสของเรา และทำงานกับเราไปอีกหลายเดือน หรืออาจจะเป็นปี ... หรือหลายปี  ถ้าเรารู้สึกอึดอัด ไม่กล้าถาม ไม่กล้าตาม หรือเค้าทำให้เรารู้สึกกลัว ไปหาคนอื่นค่ะ ..... แน่นอนว่า Registered Migration Agent หรือ Immigration Lawyer ไม่ใช่เพื่อนเรา และคงไม่มานั่งคุยเล่นในลักษณะเพื่อน แต่ควรจะเป็นคนที่ Approachable หรือเราสามารถเข้าถึงได้ โดยที่ไม่รู้สึกอึดอัดค่ะ  ถ้าการสื่อสารขัดข้อง จะทำงานร่วมกันยังไงให้ออกมาดี ถูกมั๊ยคะ
  5. หา feedback ค่ะ ถามเพื่อน หรือคนที่เคยใช้บริการ ว่าคนๆนั้นทำงานเป็นยังไง มีประสบการณ์หรือไม่ และจะดูแลเคสของเราได้ดีแค่ไหน
  6. ถ้า RMA หรือ Immigration Lawyer คนไหน รับรอง (Guarantee) ว่า ได้วีซ่าแน่ๆ ถอยออกมาตั้งหลักค่ะ  ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถ Guarantee ได้ว่าคุณจะได้วีซ่าแน่ๆ เพราะแต่ละเคสมีเงื่อนไข ปัจจัยมากมายที่ต้องพิจารณา ทั้งตัวลูกความเอง ข้อมูลที่่ให้มา คุณภาพของเอกสารที่มี รวมถึงเจ้าหน้าที่อิมมิเกรชั่นที่พิจารณาเคสของเรา และกฏหมายข้อบังคับที่อาจจะเปลี่ยนเมื่อไหร่ก็ได้  ที่สำคัญที่สุดกฏข้อบังคับมารยาทของ RMA ไม่อนุญาติให้ RMA Guarantee ค่ะ .... สำหรับคนเขียน ไม่เคยรับรองใครเลยค่ะว่าถ้าให้คนเขียนทำเคสให้จะได้วีซ่าแน่ๆ (แม้ในบางเคส จากประสบการณ์จะรู้อยู่แก่ใจว่ายังไงเคสนี้ก็ต้องผ่าน) คนเขียนบอกได้เพียงว่าจะดูแลเคสอย่างใส่ใจ  และจะทำให้ดีที่สุด .... สำหรับ Style การทำงานของคนเขียน ... ถ้าเคสซับซ้อน มีความเสี่ยงสูงก็จะบอกตามนั้น มีความเสี่ยงน้อยมีความเป็นไปได้สูงก็บอกตามนั้นเหมือนกัน .... ชอบที่จะให้ลูกความอยู่ในโลกแห่งความจริงค่ะ ตกลงมาจะได้ไม่เจ็บมาก
  7. ถ้าตกลงใจได้แล้วว่าคนนี้แหละใช่เลย .... อ่านสัญญาค่ะ อย่าหลับหูหลับตาเซ็น ถ้ามีคำถาม ถามค่ะ เพราะสัญญาผูกมัดทั้งสองฝ่าย  ถ้าถูกเร่งรัดให้เซ็น หรือเค้าไม่พอใจที่เรามีคำถาม ถอยออกมาตั้งหลักค่ะ ถามตัวเองว่าเราจะทำงานร่วมกันไปอีกหลายเดือน หรือปีกับคนๆนี้ได้มั๊ย  อย่าลืมว่า RMA หรือ Immigration Agent ไม่มีเวทมนต์ที่จะเสกเอกสารประกอบการยื่นวีซ่าให้เราได้ เค้าต้องได้เอกสาร(ที่มีคุณภาพ)จากเรา แต่ถ้าเค้าไม่บอกว่าเอกสารที่มีคุณภาพที่เค้าต้องการจากเราคืออะไร เราก็ไม่มีให้เค้า  ... ที่อยากจะบอกก็คือ การสื่อสารระหว่างกันเป็นสิ่งสำคัญค่ะ ถ้าสื่อสารกันไม่ได้ แล้วจะทำงานด้วยกันอย่างไร ???????

หวังว่าข้อมูลนี้จะมีประโยชน์แก่คนที่กำลังมองหา RMA หรือ Immigration Lawyer บ้างนะคะ
ขอให้ทุกคนโชคดีค่ะ  .....Seek and you shall find.....

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

จะยื่นวีซ่า จำเป็นต้องใช้ Migration Agent หรือไม่

10/10/2013

 
คำตอบคงแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนตอบแต่ถ้าถามคนเขียน แน่นอนว่าคำตอบต้องเป็นว่า "ควรจะ" หรือในบางกรณี "ต้องใช้" ถ้าไม่อยากเสียเงิน เสียเวลา เสียประวัติ และในบางเคสเสียอนาคตที่จะได้อยู่ในประเทศนี้

การที่เรายื่นขอวีซ่าแล้วจะได้หรือไม่ได้วีซ่านั้น อิมพิจารณาอยู่บนพื้นฐานของ:-
    1.  ตัวบทกฏหมายคนเข้าเมือง และ
    2.  นโยบายของรัฐบาลในช่วงเวลานั้นๆ 
อย่างที่เคยกล่าวมาแล้ว บางครั้งเรายื่นเอกสารตาม checklist ที่หาได้จากเวปของอิม ไม่เพียงพอ และมีหลายเคสที่ถูกปฏิเสธทั้งที่ยื่นเอกสารทุกอย่างที่อิมต้องการ  เหตุผลส่วนใหญ่ของการถูกปฏิเสธก็เพราะเอกสารที่ยื่นไปไม่มีคุณภาพ

ในความเห็นของคนเขียนนะคะ คนที่อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้บริการของ Registered Migration Agent (RMA) หรือ Immigration Lawyer ก็คือคนที่ยื่นวีซ่าที่ไม่มีความซับซ้อนมาก เช่นวีซ่าท่องเที่ยว, อ่านข้อมูลจากอิมแล้วเข้าใจ, และไม่ได้มีประวัติทางอิมมิเกรชั่นที่ซับซ้อน เช่นไม่เคยถูกปฏิเสธ หรือยกเลิกวีซ่า, ไม่เป็นผี, วีซ่าตัวปัจจุบันไม่มีเงื่อนไขที่ทำให้ยากต่อการยื่น

คนที่ "ควรจะ" หรือ "ต้องใช้" บริการของ Professional ก็คือคนที่ยื่นวีซ่าที่ค่อนข้างซับซ้อน และมีข้อกำหนดมากมาย เช่น 457, ENS, RSMS, Partner visa และคนที่มีประวัติทางอิมมิเกรชั่นที่ยุ่งเหยิง ส่วนใหญ่เจ้าตัวจะรู้ดีว่าประวัติตัวเองมีความเสี่ยงหรือไม่

ยกตัวอย่าง Partner visa

หลายคนอาจจะเถียงอยู่ในใจว่า Partner visa ง่ายนิดเดียวทำเองก็ได้  สำหรับคนเขียนคิดว่าจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก ขึ้นอยู่กับเคสแต่ละเคส  คนที่ทำเองและได้วีซ่ามาแล้ว ก็ต้องว่าง่ายล่ะ  คนที่ทำเองแล้วถูกปฏิเสธมา ก็มานั่งเสียใจว่า รู้อย่างงี้ใช้บริการ Professional ตั้งแต่แรกดีกว่า

คนเขียนมีคนที่ถูกปฏิเสธ Partner visa ติดต่อเข้ามามากมาย บางคนก็ใช้บริการ Agent ที่ไม่ใส่ใจ ไม่ตาม และสะเพร่าในการทำงาน บางคนก็อ่านเอง ทำเอง, ทำตามเพื่อนบอก, แฟนออสซี่ยืนยันว่าเค้าทำได้ สารพัดเหตุผล ......ปัญหาก็คือ เมื่อมาถึงจุดที่ถูกปฏิเสธวีซ่า บางเคสก็โชคดีพอมีทางแก้ไข แต่เสียตังค์เพิ่ม และแน่นอนเสียเวลา ..... บางเคสก็ไม่มีทางแก้ นอกจากจะต้องออกจากประเทศออสเตรเลีย

เมื่อเร็วๆนี้คนเขียนได้ให้คำปรึกษากับลูกความชาวเม็กซิกัน ซึ่งมาหาคนเขียนหลังจากที่ได้ยื่น Partner visa เข้าไปเอง รอมาปีกว่า ก็ได้รับจดหมายจากอิมขอเอกสารเพิ่มเติม เจ้าตัวเริ่มกังวลว่าควรยื่นเอกสารอะไรบ้าง เพื่อที่วีซ่าจะได้ผ่านแน่ๆ  หลังจากคนเขียนได้อ่านจดหมายจากอิม และซักถามประวัติอยู่ชั่วโมงกว่า ก็สรุปได้ว่า....ไม่ว่ายื่นเอกสารอะไรเข้าไปเคสนี้ก็ไม่ผ่าน (ถ้าผ่านก็ฟลุกล่ะ)  ลูกความร้องไห้ พร้อมบอกคนเขียนว่าก่อนยื่นก็ไปหา Agent มา Agent บอกว่าไม่มีปัญหายื่นได้ เจ้าตัวก็เลยยื่นเอง คนเขียนก็ตอบไม่ได้ (เพราะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์) ว่า Agent คนนั้นไม่ดูเคสให้ละเอียด หรือไม่เชี่ยวชาญพอเลยให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือให้ข้อมูลถูกต้อง แต่ลูกความต้องการประหยัดเลยทำไปตามมีตามเกิด (และตามความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง)  ผลสุดท้ายเคสนี้แทนที่จะเป็นการประหยัดตังค์ กลายเป็นเคสที่ทั้งแพง เพราะจะต้องเสียตังค์ซ้ำซ้อน และเสียเวลาไปอีกอย่างน้อยๆ 2-3 ปี .....  ณ จุดนี้จะไม่ให้ Professional ทำก็ไม่ได้แล้ว เพราะกลายเป็น Complex case ซึ่งแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายสูงไปตามความยากของงาน ..... ถามว่าคุ้มกันไหม กับเวลาที่เสียไป

นอกจากปัญหาวุ่นวายนี้แล้ว ตลอดเวลาปีว่าที่รอเรื่องมา ลูกความท่านนี้ถือ Bridging visa ที่ไม่สามารถทำงานได้ ด้วยความไม่รู้ และไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง ก็ทำงานหลบๆซ่อนๆ เสี่ยงต่อการถูกจับมาปีกว่า ทั้งๆที่ไม่จำเป็นเลย เพราะลูกความท่านนี้จริงๆแล้วสามารถที่จะขอเปลี่ยนเงื่อนไขให้ทำงานได้

บางครั้งความไม่รู้ ทำให้เราพลาดสิ่งที่ไม่ควรจะพลาด เสียโอกาสที่ไม่ควรจะเสีย

คนเขียนไม่ได้บอกว่าทุกคนจำเป็นต้องใช้บริการของ Registered Migration Agent หรือ Immigration Lawyer นะคะ  แต่ละคนก็ต้องใช้วิจารณญานของตัวเอง ว่าเคสของเราจำเป็นต้องใช้บริการของ Professional หรือไม่  เราเข้าใจข้อกฏหมายและนโยบายที่อิมจะเอามาปรับใช้แค่ไหน และยอมรับความเสี่ยงที่จะทำเองและอาจมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นได้หรือไม่

คนเขียนแค่รู้สึกเสียดายโอกาสของหลายๆคน ที่ถ้าทำให้ถูกต้องตั้งแต่แรก ก็คงไม่มาอยู่ที่จุดนี้ที่ต้องเสียตังค์ซ้ำซ้อน และชีวิตก็จะยังไม่แน่นอนไปอีกหลายปี

สำหรับคนที่เดินผิดพลาด เอาใจช่วยค่ะ
สำหรับคนที่กำลังตัดสินใจว่าจะทำเองดีหรือไม่ คิดให้ถี่ถ้วน อ่านแล้วอ่านอีก ถ้ามั่นใจ ลุยเลยค่ะ แต่อย่าทำอะไรครึ่งๆกลางๆ ถ้าจะทำเองทำให้ดีที่สุด จะได้ไม่มาเสียใจทีหลัง ถ้าไม่มั่นใจในความสามารถตัวเอง ใช้บริการ Professional ค่ะ มีมากมายทั้งคนไทย และชาติอื่น รวมถึงออสซี่ด้วย

Blog ถัดไป .... วิธีเลือก Registered Migration Agent / Immigration Lawyer ....

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

Decision-ready application ------ what is it?

20/9/2013

 
Decision-ready application มันคืออะไร

หลายๆคนอาจจะเคยได้ยินมาแล้ว หลายๆคนอาจจะเพิ่งเคยได้ยิน(อ่าน)เป็นครั้งแรก  Decision-ready application ก็ตามชื่อเลยค่ะ มันคือการยื่นใบสมัครวีซ่าพร้อมกับเอกสารทุกอย่างที่อิมจะใช้ในการประกอบการพิจารณา และตัดสินเคสได้เลย โดยไม่ต้องขอเอกสารเพิ่มเติมภายหลัง

ประโยชน์ของการยื่น Decision-ready application ก็คือใบสมัครของเราอาจจะได้รับการพิจารณาเร็วขึ้น ดังนั้นสำหรับคนที่อยากได้วี่ซ่าอย่างรวดเร็วก็ควรจะพยายามที่จะยื่นเอกสารทุกอย่างเข้าไปพร้อมกับใบสมัครค่ะ  แต่...

โดยส่วนตัวแล้วคนเขียนนิยมยื่น Decision-ready application ค่ะ  ลูกความที่ใช้บริการของคนเขียนจะทราบดี และได้ยินคำว่า Decision-ready application ตั้งแต่วันแรกๆที่คุยกันเลยทีเดียว ทำไม???

1. การเห็นเอกสารทุกอย่าง และเอาเอกสารนั้นมาประกอบการพิจารณาก่อนยื่น ทำให้เรารู้ว่าจุดอ่อนของเคสเราอยู่ตรงไหน มีอะไรบ้างที่จะช่วยทำให้เคสเรามีโอกาสมากขึ้น
2. ลูกความได้วีซ่าเร็วขึ้น ข้อนี้สำคัญค่ะ  ใครๆก็อยากได้วีซ่าเร็วๆ เพราะได้แล้ว ก็สามารถวางแผนชีวิต และทำในสิ่งที่อยากทำ หรือต้องทำได้เร็วขึ้น เช่นบางคนหางานไม่ได้ เพราะนายจ้างไม่อยากรับคนที่ถือ Bridging visa  บางคนอยากทำธุรกิจส่วนตัว แต่ไม่กล้าเพราะกลัวว่าจะมีปัญหาหากไม่ได้วีซ่า

...แต่ ขอย้ำว่าการยื่นเอกสารครบ (Decision-ready application) ไม่ได้หมายความว่าจะได้วีซ่าเร็วขึ้น แต่แปลว่าจะได้รับการพิจารณาเร็วขึ้น ส่วนจะได้วีซ่าหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าเอกสารที่เรายื่นเข้าไปเป็นเอกสารที่มีคุณภาพหรือไม่ บางครั้งและบ่อยครั้งที่เอกสารตาม Checklist ไม่เพียงพอ

มีลูกความหลายคนที่ติดต่อเข้ามาหาคนเขียนหลังจากถูกอิมปฏิเสธวีซ่า พร้อมกับบอกคนเขียนว่า "ไม่เข้าใจทำไมถูกปฏิเสธ ก็ยื่นเอกสารทุกอย่างตาม Checklist" พอคนเขียนอ่านเหตุผลของอิมที่ปฏิเสธวีซ่า และดูเอกสารที่ใช้ประกอบการยื่น ก็ถึงบางอ้อ คิดได้เหมือนอิม เพราะเอกสารไม่พอ และ/หรือ ไม่มีคุณภาพค่ะ

ปีนี้อิมได้ขึ้นราคาค่าใบสมัครเกือบทุกวีซ่าซะแพงลิบลิ่ว แพงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน สิ่งที่ผู้สมัครทำได้ก็คือพยายามยื่นใบสมัคร และเอกสารประกอบที่มีคุณภาพมากที่สุด เพื่อที่จะได้มีโอกาสที่จะได้วีซ่ามากที่สุด & เร็วที่สุด เพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปเสียตังค์เพิ่มเป็นค่าอุทธรณ์ หรือค่าวีซ่าตัวอื่น 

ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่นค่ะ ขอให้ทุกคนโชคดี และได้วีซ่าสมใจนะคะ

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com

Section 48 Bar คืออะไร

31/7/2013

 
คนเขียนกำลังมองหาทางออกให้น้องคนนึง ซึ่งอยู่เป็นผีมาหลายปี ซึ่งต้องลงไปดูหลายข้อกฏหมาย เลยนึกขึ้นได้ว่ายังไม่ได้ post เรื่อง Section 48 bar ที่สัญญาไว้เมื่อวันที่ 19/07/13

แล้วตกลง Section 48 Bar มันคืออะไร และสำคัญอย่างไร

Section 48 หรือมาตรา 48 ของกฏหมายคนเข้าเมือง เขียนไว้ว่า
คนที่ไม่ได้ถือ Substantive visa (ซึ่งก็คือวีซ่าทั้งหลาย ที่ไม่ใช่ Bridging visa) และนับจากที่เข้ามาในประเทศออสเตรเลียครั้งล่าสุด หากได้ถูกปฏิเสธ หรือยกเลิกวีซ่า คนเหล่านี้ไม่สามารถต่อวีซ่าในประเทศออสเตรเลียได้ ยกเว้นวีซ่าบางประเภทเท่านั้น

ป.ล. ถูกปฏิเสธ กับถูกยกเลิกวีซ่า ความหมายต่างกันนะคะ อ่านได้ที่ post แรก 14/06/13 ค่ะ

ในความเห็นคนเขียนนะคะ การปล่อยให้วีซ่าถูกปฏิเสธ หรือถูกยกเลิก โดยที่ไม่คิดให้ถี่ถ้วน หรือพยายามหาทางออกอื่น (ถ้ามี) ไม่ใช่เรื่องที่ดีเลยค่ะ เพราะท้ายที่สุดแล้วเจ้าตัวอาจจะได้รับผลกระทบของมาตรา 48 ไม่สามารถยื่นวีซ่าในประเทศออสเตรเลียได้

ก็ยื่นนอกประเทศสิ ไม่เห็นมีปัญหา???

อาจจะมี หรือไม่มีปัญหา ตอบไม่ได้ค่ะ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละเคส ขึ้นอยู่กับความจำเป็น และความอยากที่จะกลับเข้ามาอยู่ในประเทศออสเตรเลีย  ปัญหาที่เห็นคือ
1.     วีซ่าบางประเภทหากยื่นนอกประเทศแล้วไม่ผ่าน ผู้ยื่นไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ยกเว้นว่าจะมีความผิดพลาดทางข้อกฏหมายเกิดขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายก็จะสูง  ในขณะที่วีซ่าประเภทเดียวกัน หากยื่นในประเทศออสเตรเลีย แล้วถูกปฏิเสธจะมีสิทธิอุทธรณ์ (แต่ถ้าถูก Section 48 Bar ซะแล้ว ก็ไม่สามารถยื่นได้  ถูกมั๊ยคะ)
2.     วีซ่าบางประเภทแม้จะยื่นนอกประเทศ แล้วไม่ผ่านก็มีสิทธิอุทธรณ์ แต่การอุทธรณ์ส่วนใหญ่ใช้เวลานานค่ะ 12-15 เดือน ซึ่งผู้อุทธรณ์ส่วนใหญ่ก็จะไม่สามารถขอวีซ่ากลับเข้ามาในประเทศออสเตรเลียได้ในระหว่างอุทธรณ์

เพราะฉนั้น หากท่านใดอยู่ในระหว่างอิมพิจารณาเคส และก่ำกึ่ง ว่าจะติด Section 48 Bar ซึ่งที่ทำได้คือ ขอรับคำแนะนำที่ถูกต้องแต่เนิ่นๆค่ะ เพื่อจะได้มีเวลาวางแผนงาน โดยเฉพาะคนที่อยากเป็น PR บางครั้้งเราต้องมองยาว และวางแผนไกลๆค่ะ บางเคสอาจจะไม่มีทางเลือก ยังไงก็ต้องติด Section 48 Bar ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น เราก็ต้องมาแก้ปัญหากันไปหลังติดมาตรา 48 จะมีทางออกยังไง อันนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์รายบุคคลนะคะ

Blog writer: Kanokwan Subhodyana
Immigration Lawyer
www.immigrationsuccessaustralia.com
Forward>>

    Author


    พี่เก๋ - กนกวรรณ ศุโภทยาน เป็นทนายความไทย และทนายความของประเทศออสเตรเลีย (Immigration Lawyer)

    มีประสบการณ์เป็นทนายความเฉพาะทาง ด้าน IMMIGRATION ของประเทศออสเตรเลีย รับวางแผนการขอวีซ่า ยื่นใบสมัครขอวีซ่าทุกประเภท ช่วยเหลือในชั้นอุทธรณ์ที่ Administrative Appeals Tribunal และในชั้นศาลค่ะ

    ต้องการคำแนะนำ หรือความช่วยเหลือ ติดต่อได้ที่ Immigration Success Australia
    mb: 0428 191 889 หรือ www.immigrationsuccessaustralia.com

    Archives

    July 2021
    June 2021
    March 2021
    February 2021
    January 2021
    December 2020
    November 2020
    October 2020
    September 2020
    July 2020
    June 2020
    May 2020
    April 2020
    March 2020
    February 2020
    March 2019
    January 2019
    November 2018
    October 2018
    August 2018
    July 2018
    June 2018
    April 2018
    October 2017
    September 2017
    August 2017
    May 2017
    April 2017
    August 2015
    April 2015
    December 2014
    September 2014
    August 2014
    June 2014
    March 2014
    January 2014
    October 2013
    September 2013
    July 2013
    June 2013

    Categories

    All
    วีซ่า
    อุทธรณ์
    วีซ่าคู่ครอง
    101
    102
    103
    143
    173
    186
    187
    190
    300
    309
    4020
    408
    445
    457
    462
    476
    482
    485
    489
    491
    500
    870
    AAT
    Accountant
    Administrative Appeals Tribunal
    Adoption Visa
    Approved Nomination
    Australia
    Australian
    Australian Citizenship
    Australian Immigration
    Bar
    Bricklayer
    Bridging Visa
    Bridging Visa A
    Bridging Visa E
    BVA
    BVE
    Changes To Immigration Law
    Changing Courses
    Chef
    Child Visa
    Consolidated Sponsored Occupations List
    COVID 19
    COVID-19
    CSOL
    Decision Ready
    Decision-ready
    Decision Ready Application
    Decision-ready Application
    De Facto Relationship
    Employer Sponsored
    English Exemption
    ENS
    Exercise Physiologist
    Family
    Family Violence
    Federal Circuit Court
    Graduate Work
    GTE
    Hydrogeologist
    Ielts
    Immigration
    Immigration Lawyer
    Judicial Review
    Jurisdictional Error
    Migration Agent
    Migration Review Tribunal
    MRT
    Nomination
    Orphan Relative Visa
    Overstay
    Parent
    Partner Visa
    PIC 4020
    Post Study Work
    Processing Period
    Protection Visa
    Public Interest Criteria
    Public Interest Criterion
    Regional Australia
    Regional Visas
    Registered Migration Agent
    Rma
    RSMS
    Section 48
    Section 48 Bar
    Self Sponsorship
    Skilled Migration
    Skilled Occupations List
    Skilled Work Regional
    Skills Assessment
    SOL
    Sponsor
    Sponsorship
    Student Visa
    Substantive Visa
    Training
    Tsmit
    Unlawful
    Visa Cancellation
    Visa Refusal
    Wall And Floor Tiler
    Working And Holiday Visa

    RSS Feed

Powered by Create your own unique website with customizable templates.